Fri 15 Jul 2022

JANE AUSTEN'S WATCHLIST

รวมหนังรักใสๆ หัวใจ 7 ดวงของ ‘เจน ออสเตน’

ภาพ: NJORVKS

     แม้ตลอดชีวิตจะมีผลงานนิยายแค่ไม่กี่เล่ม แต่ ‘เจน ออสเตน’ (Jane Austen) นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชีวิตโลดแล่นในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 ก็ถือเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีเอฟซีมากมาย

     เรื่องราวในนิยายของออสเตนเน้นหนักไปที่ความสัมพันธ์ ขณะเดียวกันก็สะท้อนสภาพสังคมในยุคนั้นที่พูดถึงบทบาทสถานะของผู้หญิง เรื่องราวทางชนชั้น ซึ่งแม้แต่ละเรื่องจะถูกเขียนขึ้นมานานหลายร้อยปี แต่เมื่อเปิดอ่านทุกวันนี้ก็ยังคงติดหนึบ อินไปกับตัวละคร แถมยังทำให้เห็นร่องรอยของความโรแมนติกที่ออสเตนได้ริเริ่มเอาไว้ให้กับหนังและหนังสือยุคถัดมา

     แม้เวลาจะผ่านมาสองร้อยกว่าปี แต่นิยายของออสเตนก็ยังถูกอ่านโดยนักอ่านรุ่นใหม่ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย ไม่ใช่แค่กับแวดวงนักเขียนเท่านั้น เพราะในวงการภาพยนตร์ เราก็จะเห็นร่องรอยของออสเตนปรากฏอยู่เต็มไปหมด อย่างวันนี้ Netflix ก็เพิ่งปล่อย Persuasion ภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายเรื่องท้ายๆ ในชีวิตของเธอให้สตรีมมิงดูกันได้

     เราเลยไปรวบรวมและคัดสรรภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานของออสเตนมาฝาก เผื่อว่าใครอยากสัมผัสงานของเธอแล้วยังไม่มีเวลาอ่าน ก็ไปเลือกดูกันได้

SENSE AND SENSIBILITY

     นิยายเรื่องแรกของออสเตน ตีพิมพ์ปี 1811 เล่าเรื่องราวของตระกูลแดชวูด โดยเจาะจงไปที่ ‘เอลินอร์’ และ ‘แมรีแอนน์’ สองพี่น้องที่ไม่ได้เดินตามพี่ชาย แต่เดินตามแม่ผู้อาภัพกับน้องสาวอีกหนึ่งคน เพราะหลังจากพ่อตายไป ภรรยาคนแรกกับลูกชายก็ยึดครองมรดกเอาไว้ ทำให้พวกเธอต้องไปหาที่อยู่ใหม่ และที่แห่งนี้เองที่จะทำให้สองพี่น้อง ซึ่งคนหนึ่งใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง และคนหนึ่งใช้อารมณ์เป็นเข็มทิศนำทาง ได้เรียนรู้ถึงความหมายของคำว่ารัก และได้รู้ว่าเรื่องราวของความสัมพันธ์ แค่รักกันก็อาจยังไม่พอ

     Sense & Sensibility เคยถูกสร้างเป็นทั้งซีรีส์และภาพยนตร์ เวอร์ชั่นที่ได้รับความนิยมคือภาพยนตร์ปี 1995 กำกับโดย ‘อั้ง ลี่’ (Ang Lee) ผู้กำกับชาวไต้หวันที่หลังจากนั้นจะโด่งดังกับ ‘Brokeback Mountain’ นำแสดงโดย ‘เอ็มมา ทอมป์สัน’ (Emma Thompson) และ ‘เคต วินสเลต’ (Kate Winslet) ซึ่งนอกจากทอมป์สันจะรับบทเป็นเอเลนอร์ หญิงสาวผู้ไม่เคยยอมให้อารมณ์มาทำให้ไขว้เขว ในชีวิตจริงเธอยังเป็นคนเขียนบทเรื่องนี้ด้วยตัวเอง และที่เจ๋งไปกว่านั้นคือเธอได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจากออสการ์ด้วย

     นอกจากนี้ สองพี่น้องแดชวูดยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อินเดียภายใต้ชื่อ Kandukondain Kandukondain ในปี 2000 ซึ่งกวาดทั้งรายได้และเสียงตอบรับ จนกลายเป็นหนึ่งในหนังทำเงินของอินเดียประจำปีนั้นไปเลย

PRIDE & PREJUDICE

     หนึ่งในนิยายเรื่องดังของออสเตน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1813 เล่าเรื่องราวของ ‘เอลิซาเบธ เบนเนตต์’ หญิงสาวที่ใช้ชีวิตหลุดจากกรอบของสังคมในช่วงเวลานั้น เป็นคนเก่งที่มั่น กล้า ซ่า ไม่ยอมทำตามความต้องการของพ่อแม่ที่อยากจับคู่ให้กับลูกสาว เอลิซาเบธอยากแต่งงานกับคนที่เธอรักเท่านั้น วันหนึ่งเธอได้เจอกับ ‘มิสเตอร์ดาร์ซี่’ ที่ดูทั้งเย่อหยิ่งและประหยัดถ้อยคำ แน่นอนว่าเอลิซาเบธย่อมไม่ถูกโฉลก แล้วก็ดั่งนรกชังหรือนักเขียนแกล้ง เพราะทั้งสองต้องมาเจอกันบ่อยๆ เป็นพ่อแง่แม่งอนที่เกิดขึ้นเพราะอคติทำให้ตาบอดแท้ๆ

     ด้วยพลอตที่กุ๊กกิ๊กและโรแมนติก ทำให้ Pride & Prejudice เป็นนิยายที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวบ่อยๆ โดยเวอร์ชั่นที่ถูกอกถูกใจใครต่อใครมักจะเป็นภาพยนตร์ปี 2005 ที่ว่ากันว่า ‘เคียรา ไนต์ลีย์’ (Keira Knightley) และ ‘แมทธิว แมคเฟย์เดน’ (Matthew Macfadyen) รับบทเป็นเอลิซาเบธและมิสเตอร์ดาร์ซี่ได้อย่างเหมาะสม แฟนๆ ดูแล้วต้องจิกหมอน ลุ้นตามไปกับความรักของพวกเขา

     เอลิซาเบธกับมิสเตอร์ดาร์ซี่ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรื่องเล่าอีกมากมาย อย่าง ‘Bridget Jones’s Diary’ นิยายชิคลิตที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1996 ว่าด้วยเรื่องราวของสาวบริดเจตกับรักวุ่นๆ ตัวผู้เขียนอย่าง ‘เฮเลน ฟีลดิง’ (Helen Fielding) ก็บอกว่าบริดเจต โจนส์ คือเอลิซาเบธสมัยใหม่ ถึงขนาดที่บริดเจตตกหลุมรักกับชายที่ชื่อดาร์ซี่ ซึ่งเมื่อถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2001 ทีมผู้สร้างยังเอา ‘โคลิน เฟิร์ท’ (Colin Firth) มารับบทเป็น ‘มาร์ก ดาร์ซี’ เพราะเฟิร์ทเคยเล่นเป็นมิสเตอร์ดาร์ซีในเวอร์ชั่นซีรีส์ปี 1995 มาก่อน

     ความสัมพันธ์ของเอลิซาเบธกับมิสเตอร์ดาร์ซี่ ไม่เพียงมีแต่ปิ๊งรักกันไปมา เพราะ ‘เซ็ท แกรห์ม-สมิธ’ (Seth Grahame-Smith) เจ้าพ่อนิยาย mash-up ได้เนรมิตเรื่องราวในศตวรรษที่ 19 ให้เต็มไปด้วยคาวเลือด เพราะเขาจับสองตัวละครเอกที่นักอ่านนิยายรู้จักกันดีไปปราบซอมบี้ พร้อมๆ กับปิ๊งรักกันใน ‘Pride & Prejudice & Zombies’ นิยายที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2009 ก่อนจะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2016

MANSFIELD PARK

     นิยายลำดับที่ 3 ของออสเตน ตีพิมพ์ปี 1814 เล่าเรื่องราวของ ‘แฟนนี ไพรซ์’ หญิงสาวอาภัพที่ถูกครอบครัวส่งไปให้ใช้ชีวิตอยู่ในคฤหาสน์กับบรรดาญาติๆ ผู้ร่ำรวย แต่ครอบครัวในคฤหาสน์หลังนั้นก็ไม่ได้เอ็นดูแฟนนีเท่าไหร่ แถมเธอยังอยู่ในยุคสมัยที่ผู้หญิงต้องแต่งงานโดยเร็วไว ทั้งด้วยเหตุผลหน้าตาในสังคมและเหตุผลของการได้ครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งแฟนนีก็ยังคงเอกลักษณ์ของตัวละครแบบออสเตนเอาไว้ คือแม้จะมีใครคาดหวังให้เธอเป็นอย่างไร แต่ถ้าไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ ใครก็บังคับเธอไม่ได้

     Mansfield Park ไม่ค่อยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และซีรีส์เท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นในปี 1999 ก็มีเวอร์ชั่นภาพยนตร์กำกับโดย ‘แพทริเซีย โรเซมา’ (Patricia Rozema) ซึ่งแม้จะมีบางเสียงบอกว่าดูได้อย่างเพลิดเพลิน แต่ก็มีบางเสียงที่บอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้บิดปรับเนื้อหาจนไม่ตรงกับหนังสือ ถ้าใครอยากพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ก็ต้องไปหาหนังสือมาอ่านต่อเลย

EMMA

     นิยายปี 1815 เรื่องราวของ ‘เอมมา วูดเฮาส์’ หญิงสาวสุดมั่น บ้านรวย สวย เก๋ ผู้คิดว่าตัวเองเป็นทินเดอร์เดินได้ อาสาจับคู่ให้คนใกล้ตัวไปทั่ว ทั้งที่บางคู่ก็ไม่ได้เข้ากัน แถมตัวเธอนั้นก็ไม่ได้มีประสบการณ์จนมองขาดไปหมดทุกอย่าง

     ออสเตนเคยเขียนเอาไว้ว่า เอมมาน่าจะเป็นตัวละครที่นอกจากตัวคนเขียนแล้ว คงไม่มีใครชอบ เพราะเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจ มีความเจ้ากี้เจ้าการ ซึ่งหลุดจากกรอบของขนบในช่วงเวลาที่ออสเตนเขียนเรื่องนี้

     อย่างไรก็ตาม Emma เป็นนิยายที่เล่าเรื่องได้ครบรส จนทำให้เวลาต่อมาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และซีรีส์อยู่บ่อยครั้ง อย่างล่าสุดเมื่อปี 2020 ก็เพิ่งมีเอมมาเวอร์ชั่นสวยเท่เก๋มั่นที่แสดงโดย ‘อันยา เทย์เลอร์-จอย’ (Anya Taylor-Joy) ซึ่งมาพร้อมคอสตูมสวยๆ หรือถ้าใครอยากดูเวอร์ชั่นที่ให้มู้ดแอนด์โทนไม่หวือหวาจนเกินไป มีความคลาสสิกๆ แบบนิยาย ก็มีเวอร์ชั่นปี 1996 ที่นำแสดงโดย ‘กวินเนท พัลโทรว์’ (Gwyneth Paltrow) 

     แต่ถ้าใครรู้สึกว่าอยากดูเอมมาในแบบตีความใหม่ ก็มี Clueless หนังวัยรุ่นอเมริกันที่แจ้งเกิดให้กับ ‘อลิเซีย ซิลเวอร์สโตน’ (Alicia Silverstone) เมื่อปี 1995 ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘แชร์ โฮโรวิตซ์’ หญิงสาวบ้านรวยแห่งเบเวอร์ลีฮิลส์ที่จับเพื่อนสาวมาปรับลุคและหาแฟนให้ ทั้งที่ตัวของแชร์เองนั้นไม่ได้รู้เรื่องราวเหล่านั้นดีเท่าไหร่ และเพื่อนที่เธอมองว่าไม่รู้เรื่องรู้ราว กลับมีความเชี่ยวชาญมากกว่าเธอเสียอีก

NORTHANGER ABBEY

     แม้ Northanger Abbey จะตีพิมพ์ในปี 1818 หลังจากออสเตนเสียชีวิตไปหกเดือน แต่ว่ากันว่าออสเตนเขียนเอาไว้นานแล้ว โดยเรื่องนี้เธอตั้งใจล้อเลียนนิยายแนวโกธิกที่มักจะดำเนินเรื่องด้วยการให้มีสถานที่ลึกลับ มีเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล ไว้ใจใครไม่ได้ ออสเตนเลยเขียนให้ ‘แคทเธอรีน มอร์แลนด์’ ตัวเอกของนิยายเรื่องนี้ เป็นคนที่ชื่นชอบการอ่านนิยายแนวโกธิกมาก จนทำให้เธอมักจินตนาการเรื่องราวเตลิดไปไกล 

     ในปี 2007 สถานี ITV ของอังกฤษทำโปรเจกต์ The Jane Austen Season หยิบเอานิยายของออสเตนมาทำเป็นภาพยนตร์ฉายทางโทรทัศน์ แล้ว Northanger Abbey ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกหยิบมาสร้าง แถมยังได้รับคำชมอย่างล้นหลาม โดยเวอร์ชั่นนี้นำแสดงโดย ‘เฟลิซิตี้ โจนส์’ (Felicity Jones) นักแสดงที่หลายคนอาจคุ้นชินจากการแสดงในเรื่อง The Theory of Everything

PERSUASION

     Persuasion เป็นนิยายที่ตีพิมพ์ครั้งแรกพร้อมกับ Northanger Abbey ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘แอนน์ เอลเลียต’ หญิงสาววัย 27 ปี กับ ‘เฟรเดอริก เวนต์เวิร์ท’ นายทหารเรือที่เคยหมั้นหมายกับแอนน์ แต่แอนน์กลับถูกหว่านล้อมจากคนรอบข้างว่าสถานะของทั้งสองไม่เหมาะสมกัน เธอจึงถอนหมั้นกับเวนต์เวิร์ทที่ตอนนั้นเป็นเพียงนายทหารธรรมดา ก่อนที่เจ็ดปีต่อมา พวกเขาทั้งสองจะกลับมาเจอกัน โดยที่สถานะทางสังคมของทั้งคู่มีความผกผัน ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

     นอกจากเวอร์ชั่นภาพยนตร์ที่นำแสดงโดย ‘ดาโกตา จอห์นสัน’ (Dakota Johnson), ‘คอสโม จาร์วิส’ (Cosmo Jarvis) และ ‘เฮนรี โกลดิง’ (Henry Golding) ซึ่งมีให้ดูในเน็ตฟลิกซ์แบบสดร้อนๆ ‘Persuasion’ ยังมีเวอร์ชั่นภาพยนตร์สำหรับฉายทางโทรทัศน์ ซึ่งถูกสร้างตั้งแต่ปี 2007 นำแสดงโดย ‘แซลลี ฮอว์กินส์’ (Sally Hawkins) ที่นอกจากจะเป็นเรื่องที่อยู่ในโปรเจกต์ The Jane Austen Season เหมือนกับ ‘Northanger Abbey’ แล้ว ยังเป็นเรื่องที่ส่งให้ฮอว์กินส์ได้รับรางวัลทางด้านการแสดงจาก Monte-Carlo Television Festival ด้วย

LADY SUSAN

     นิยายขนาดสั้นของออสเตนซึ่งมาในรูปแบบของจดหมาย เรื่องของ ‘เลดี้ซูซาน เวอร์นอน’ หญิงม่ายผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ เพราะความสัมพันธ์ลับๆ ที่เคยก่อไว้ กับเรื่องราวการโต้ตอบในจดหมายที่จะเผยให้เห็นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ รวมถึงเรื่องราวของลูกสาวที่ถูกเลดี้ซูซานบังคับให้แต่งงานกับชายที่เธอเลือกให้ 

     Lady Susan เป็นอีกเรื่องที่ไม่ค่อยถูกนำไปสร้างเท่าไหร่ ต้องรอถึงปี 2016 กว่าจะมี Love & Friendship ภาพยนตร์ที่นำ ‘เคต เบกคินเซล’ (Kate Beckinsale) มารับบทเป็นแม่ม่ายผู้คอยมองหาชายหนุ่มที่เพียบพร้อมทางด้านทรัพย์สินเงินทองให้กับทั้งตัวเองและกับลูก ซึ่งนอกจากจะได้คำชื่นชมด้านการแสดง ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้เสียงตอบรับว่าดัดแปลงนิยายที่เล่าเรื่องด้วยจดหมายออกมาได้อย่างติดตาม แถมยังมีอารมณ์ขัน จนถ้าใครชอบงานเขียนของเจน ออสเตน เป็นทุนเดิม ก็คงรักเรื่องนี้ได้ไม่ยาก