Wed 23 Jun 2021

KAKUSHIGOTO

ชวนดู ‘ความลับ’ ของนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น โดยคนทำหนังสือชาวไทยที่เคยสงสัยว่าวันๆ นักเขียนเขาทำอะไรกันบ้าง

ภาพ: 24celsiusc

     ไม่รู้คนอื่นเป็นเหมือนกันมั้ย ที่เวลาเห็นตัวเอกในหนังสือ ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ประกอบอาชีพเดียวกันกับเราแล้ว ความตั้งใจในการอ่านหรือดูจะเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ จากที่นอนอย่างเหี่ยวๆ ก็ค่อยๆ ยืดหลังขึ้นมาอ่านหรือชมอย่างตั้งใจ พร้อมกับในหัวก็ประมวลผลไปด้วยว่า เฮ้ย สิ่งนี้มันเหมือนเราเลยนี่หว่า หรือ เฮ้ย มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ โม้หรือเปล่าเนี่ย

     อย่างผมเองประกอบอาชีพเป็นคนทำหนังสือ ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในสำนักพิมพ์ เวลาเห็นว่าตัวเอกเป็นนักเขียนหรือทำงานในวงการหนังสือ หูตาจะผึ่ง เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะอยากเปรียบเทียบว่าชีวิตคนทำหนังสือของคนอื่นเป็นอย่างไร เขาทำงานกับนักเขียนแบบไหน ซึ่งก็มีบ้างที่ดูแล้วไม่ค่อยสะใจ เพราะเขาหยิบมาแค่เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่เห็นรันทดเหมือนที่ผมเผชิญ (เดี๋ยวๆๆๆ) แต่ก็มีบ้างที่ดูแล้วจุใจ แถมยังปลุกไฟมากๆ จนรู้สึกอยากนำมาต่อยอดในหน้าที่การงาน

     แต่ก่อนที่จะพูดกันต่อไป ขอแวะเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้ผมมานั่งเขียนตัวอักษรเหล่านี้อยู่สักเล็กน้อย

     เรื่องมีอยู่ว่า ระหว่างที่ฟื้นฟูร่างจากการปิดเล่ม (แปลอย่างง่ายๆ ว่า ขั้นตอนสุดท้ายของการทำหนังสือให้สำเร็จพร้อมส่งไปตีพิมพ์เป็นเล่ม) ผมก็เข้าเน็ตฟลิกซ์ไปเจออนิเมะเรื่อง Kakushigoto: My Dad’s Secret Ambition ซึ่งด้วยความที่ไม่รู้จักอนิเมะเรื่องนี้มาก่อน แน่นอนสิครับว่าผมต้องไม่ดู (…) แต่แล้วก็มีเหตุให้โชคชะตาฟ้าลิขิต เมื่อวันหนึ่งมิตรสหายเปิดดูแล้วผมดันไปนั่งดูเล่นๆ ดูไปดูมาก็พบว่า การ์ตูนแนวอบอุ่นหัวใจ ดูได้สบายๆ ในวันเครียดๆ เรื่องนี้นั้นเล่าเรื่องของวงการหนังสือ แถมยังมีการจิกกัดทั้ง บ.ก.และนักเขียนได้อย่างหอมปากหอมคอ เป็นเหตุให้ผมนั่งดูต่อจนจบและต้องหาเวลามานั่งไล่ดูให้ครบ 12 ตอนในทันควัน

     เรื่องราวเป็นอย่างไรนั้น ผมขอพาทุกท่าน SKIP INTRO ไปพร้อมๆ กัน

Title: Kakushigoto: My Dad’s Secret Ambition
Year: 2020
Genre: Comedy
Episode: 12
Available on: Netflix 

ความลับของพ่อ

     ‘โกโต้ คาคุชิ’ คือคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างเป็นกังวล เพราะต้องคอยปกปิดความลับทางหน้าที่การจากงานจาก ‘โกโต้ ฮิเมะ’ ลูกสาววัย 10 ขวบ เพราะกลัวว่าลูกสุดที่รักจะล่วงรู้ความจริงว่าคุณพ่อเป็นนักเขียนการ์ตูน

     หลายคนอาจสงสัยว่าการเป็นนักเขียนการ์ตูนมันไม่ดีตรงไหน ก็ขอบอกว่านายโกโต้ คาคุชิ ไม่ใช่นักวาดการ์ตูนแนวต่อสู้บู๊ล้างผลาญแบบ One Piece หรือ Dragonball แต่การ์ตูนที่เขาวาดนั้นเป็นแนวทะลึ่งลามก ผลงานที่โด่งดังของเจ้าตัวนั้นชื่อว่า คนใหญ่ไข่สะท้านฟ้า ส่วนผลงานปัจจุบันชื่อว่า ถุงน่องจ้าวสายลม เป็นเรื่องของตัวละครที่สวมถุงน่องไว้บนหัว แล้วเล่นมุกทะลึ่งตึงตัง… ซึ่งตอนแรกเจ้าตัวก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับหน้าที่การงาน จนวันที่ลูกสาวลืมตาดูโลก ทันทีที่คุณหมอเห็นชื่อของผู้เป็นพ่อ ก็พูดทันทีว่าเป็นแฟนคลับของการ์ตูนทะลึ่งเรื่องนี้ จนทำให้เจ้าตัวกังวลไปถึงอนาคตว่าถ้าลูกสาวรู้ความจริงเข้าก็อาจจะรับคุณพ่อไม่ได้ ทำให้กลายเป็นเด็กมีปมไปเสียอย่างนั้น

     โกโต้จึงต้องใช้ชีวิตด้วยการลับ ลวง พราง แต่งตัวใส่สูทออกจากบ้านทุกวัน เพื่อให้ฮิเมะเข้าใจว่าตัวเองทำงานออฟฟิศ จากนั้นก็ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าระหว่างทาง เป็นเสื้อยืด กางเกงขาสั้น เครื่องแบบที่ว่ากันว่าทำให้เขาเขียนการ์ตูนได้อย่างสบายใจที่สุด แล้วไปนั่งทำงานในห้องแห่งหนึ่งที่เซตฉากให้ไม่เหมือนห้องสำหรับนักเขียนการ์ตูน เพราะกลัวว่าถ้าฮิเมะบุกมาถึงที่แล้วความจริงจะแพร่งพราย เป็นเหตุให้ต้องคอยซักซ้อมสถานการณ์ฉุกเฉิน (เหมือนเวลาเราซ้อมหนีไฟไหม้) กับทีมงานอยู่เรื่อยๆ ว่าถ้าฮิเมะมาที่นี่จะทำอย่างไร ซึ่งก็เพี้ยนและดูเหนื่อยแทนมากๆ

     แต่นั่นแหละครับ ด้วยหน้าที่การงานที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้แล้ว ชื่อเสียงที่ก็พอมีประมาณหนึ่ง กับเรื่องราวที่หากเรื่องนี้แพร่งพรายไป จะมีความลับอีกมากมายที่ถูกเปิดเผย โกโต้จึงต้องเก็บความลับนี้เอาไว้สุดชีวิต 

     อนึ่ง คำว่า Kakushigoto มีความหมายในภาษาญี่ปุ่นว่า ความลับ ขณะเดียวกันก็สามารถแปลว่า งานเขียน ได้ด้วย ทำให้เวลาพูดถึงคำนี้ โกโต้จะสะดุ้งทุกครั้งว่าลูกสาวรู้แล้วหรือเปล่าว่าเขาเป็นนักเขียน ซึ่งทาง ‘โคจิ คุเมตะ’ (Koji Kumeta) นักเขียนเรื่องนี้ก็ยังเล่นกับคำนี้ไปอีกขั้นด้วยการเอามาใช้เป็นชื่อของตัวละครหลัก—โกโต้ คาคุชิ เสียเลย 

     (อันที่จริง ชื่อของตัวละครในเรื่องล้วนมีความหมายแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโกโต้ ฮิเมะ ที่แปลว่า ความลับ เหมือนกัน หรือบรรดาผู้ช่วยที่ชื่อมีความหมายว่ายางลบ ไม่ก็แปลได้ว่าอย่าทำหมึกหก)

ความลับของนักเขียน

     เท่าที่ลองคิดแบบไวๆ ผมพบว่าเรื่องเล่าของคนทำหนังสือที่ติดอยู่ในใจมักมาจากฝั่งประเทศญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งอาจเพราะเติบโตมากับการอ่านการ์ตูนเป็นตั้งๆ และส่วนหนึ่งก็อาจเพราะการ์ตูนที่ผมได้อ่านทั้งหลายนี่เอง ทำให้ผมมีภาพจำกับการเป็นคนทำหนังสือ หรือที่มีชื่อเรียกแบบเป็นทางการว่า ‘บรรณาธิการ’ ในแบบที่ตำราไหนก็ไม่เคยสอน

     เพราะตลอดเวลาที่พบเห็นตามการ์ตูนต่างๆ หน้าที่ของ บ.ก.ไม่เห็นมีอะไรมากไปกว่าโผล่ไปที่บ้านของนักเขียน แล้วเอ่ยถามถึงต้นฉบับว่าเสร็จหรือยัง ทำให้ภาพจำของ บ.ก.สำหรับผมไม่ต่างอะไรจากการเป็นนักทวงหนี้ คอยรังควาญนักเขียนไม่ต่างจากผีรังควาญคนอยากลองของ จนได้มาทำงานในวงการหนังสือด้วยตัวเองจริงๆ ผมถึงได้เข้าใจว่า บ.ก. (อันหมายถึงกระผมเอง) ก็ไม่ต่างจากผีจริงๆ คือไม่ใช่แค่คอยไปถามนักเขียนว่างานเสร็จหรือยังนะครับเพียงอย่างเดียว แต่ยังกลายสภาพเป็นผีเพราะจัดการงานไม่ดี ปิดเล่มข้ามวันจนพระอาทิตย์กระแทกเบ้าตา พอหนังสือเข้าโรงพิมพ์ก็เหลือแต่วิญญาณเหี่ยวๆ ลอยกลับไปยังที่นอน

     ผมเลยอยากรู้นักอยากรู้หนาว่าผมทำอะไรผิดตรงไหนในหน้าที่การงาน ต้องทำอย่างไรกันหนอถึงจะได้ปิดเล่มแบบชิลล์ๆ ดีลงานกับนักเขียนได้สบายๆ ด้วยเหตุนี้ผมเลยชอบแสวงหาดูเรื่องเล่าเกี่ยวกับนักเขียน ซึ่ง Kakushigoto: My Dad’s Secret Ambition ก็ทำให้ผมได้เห็นอีกมุมของชีวิตด้านนี้ที่น่าสนใจ

นักเขียน นามปากกา และชื่อเรื่อง

     เรื่องนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก

     จากประสบการณ์ตรง การคิดนามปากกานั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่ซับซ้อน คือใช้ชื่อจริงของตัวเองไปเลย ไปจนถึงอยากปกปิดตัวตน หรือต้องการแบ่งประเภทงานเขียนให้เข้ากับแต่ละชื่อ บางครั้งการคิดชื่อของผู้เขียนจึงอาจใช้เวลาพอๆ กับการเขียนต้นฉบับ ซึ่งสำหรับอาจารย์โกโต้นั้น อาจด้วยความไม่คิดอะไรตั้งแต่แรก เขาก็เลยใช้ชื่อจริงของตัวเองไป เป็นเหตุให้หลังจากลูกสาวลืมตามาดูโลก เขาต้องคอยปกปิดมากมาย จนกลายเป็นว่าต้องคิดชื่อแฝงเพื่อใช้ในชีวิตจริงแทน…

     วันดีคืนดี ในตอนที่ 4 อาจารย์โกโต้ก็คิดว่าแล้วทำไมเขาไม่เปลี่ยนนามปากกาไปเลยจบๆ เขาจึงบอกกับ ‘โทมารุอิน ซัทสึกิ’ บ.ก.ผู้ดูแลต้นฉบับของเขาว่าจะขอเปลี่ยนนามปากกา ซึ่งไม่รู้ด้วยความเมายากันยุงหรืออะไร โทมารุอินก็ยินยอมให้โกโต้คิดชื่อใหม่ แล้วนำชื่อนี้ไปบอกกับสำนักพิมพ์ ที่แน่นอนว่าใครจะอนุมัติล่ะครับบบบ

     อันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้มากๆ เพราะในเรื่องนั้น โกโต้เป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ที่เผยแพร่ผลงานอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ที่แล้วยังบอกว่า ถุงน่องจ้าวสายลม เขียนโดยโกโต้อยู่เลย ตัดภาพมาสัปดาห์นี้เป็นชื่อใครก็ไม่รู้ นอกจากจะส่งผลให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่าเปลี่ยนคนเขียน ยังอาจส่งผลให้ความนิยมของเรื่องลดลงไป เพราะไม่รู้ว่าจะสนุกเหมือนเดิมหรือไม่ก็ได้

     อย่างไรก็ตาม ในตอนเดียวกันนั้นเอง Kakushigoto ก็เผยให้เห็นว่าเหตุการณ์เช่นนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่เอามาพูดขำๆ เพราะในเรื่องนั้นทางฝ่ายสำนักพิมพ์ถึงกับพูดขึ้นมาเลยว่าโกโต้ไปเจอกับพวกร่างทรงมาหรือเปล่า อารมณ์ประมาณว่าไม่ใช่แค่โกโต้คนเดียว แต่มีนักเขียนหลายคนมากที่อยู่ๆ ก็อยากเปลี่ยนนามปากกา หรืออยู่ๆ ก็เขียนไดอะล็อกในเรื่องยาวขึ้น เพราะถูกทักจากหมอดูหรือเจ้าลัทธิอะไรบางอย่างว่าถ้าทำแบบนี้แล้วหน้าที่การงานจะดีขึ้น

     ว่าไปแล้วนี่ก็อาจเหมือนการเปลี่ยนเบอร์มือถือเพื่อเปลี่ยนดวงชะตา ซึ่งถ้านักเขียนเปลี่ยนแล้วปั่นงานได้เร็วขึ้นก็น่าสนใจนะครับ (ซื้อซิมแจก) (…ไม่ใช่แล้ว!!!)

     นอกจากนามปากกา ยังมีเกร็ดเกี่ยวกับชื่อเรื่องด้วย โดยในตอนที่ 8 โกโต้รับลูกหมามาเลี้ยง เขาตั้งใจที่จะให้ฮิเมะเป็นคนตั้งชื่อ และได้กำชับกับคนใกล้ตัวที่พากันมาเสนอชื่อว่าอย่าให้เรียกชื่อที่คิดว่าจะใช้เป็นแค่ชื่อชั่วคราว เพราะถ้าเรียกไปแล้วก็จะผูกพันจนทำให้ไม่อยากเปลี่ยนชื่อ

     ถามว่าสิ่งนี้เกี่ยวกับการเขียนการ์ตูนยังไง ก็ต้องบอกว่านี่คือหนึ่งในทักษะช่างเชื่อมอันสุดเนียนของผู้เขียนอย่างโคจิ คุเมตะ เพราะพี่ท่านโยงการตั้งชื่อหมาไปกับการตั้งชื่อเรื่องการ์ตูนเสียอย่างนั้น โดยสื่อเป็นนัยๆ ว่าโกโต้ตั้งชื่อชั่วคราวแบบนี้บ่อย แถมไม่ได้เปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นด้วย ซึ่งหลักฐานก็ยืนยันอยู่กับ คนใหญ่ไข่สะท้านฟ้า และ ถุงน่องจ้าวสายลม ผลงานของเขานั่นแหละ…

นักเขียนกับผู้ช่วย

     อาจารย์โกโต้เป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ นั่นแปลว่ากิจวัตรประจำวันของเขาย่อมไม่มีอะไรมากไปกว่านั่งหลังขดหลังแข็งคิดเรื่องแล้วก็วาดมันออกมาให้เสร็จทันส่ง บ.ก. ซึ่งถ้าเอาประสบการณ์ของตัวเองไปคำนวณแล้ว ผมคิดว่าระยะเวลาในการทำต้นฉบับรายสัปดาห์นั้นไม่น่าจะมากเท่าไหร่

     ยกตัวอย่าง ถ้าต้องการให้หนังสือวางแผงในวันศุกร์ อย่างน้อยๆ นักเขียนก็ควรส่งต้นฉบับไม่เกินวันอังคาร-วันพุธ ทางทีมบรรณาธิการนำไปตรวจเช็ก ถ้าไม่มีปรับแก้ใดๆ ก็ส่งโรงพิมพ์ภายในวันพุธ-วันพฤหัสฯ ซึ่งผมคิดว่านี่คือระยะเวลาที่กระชั้นมากๆ และจะทำได้ก็ต่อเมื่อสำนักพิมพ์นั้นๆ มีโรงพิมพ์ที่ดีลกันไว้อย่างดี

     ด้วยเหตุนี้ จึงจะเห็นได้เลยว่าการเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์เป็นการทำงานแข่งกับเวลา ทุกๆ ตอนเราจึงจะเห็นโกโต้นั่งคิดนั่งเขียนเรื่อง เพื่อปั่นต้นฉบับราวๆ 20 หน้าส่งไปพิมพ์ให้ได้อยู่ตลอด ซึ่งสำหรับใครที่ไม่ได้คลุกคลีกับวงการการ์ตูนมาก่อน ก็อาจสงสัยว่าคนคนหนึ่งจะไปทั้งคิดและเขียนเรื่องคนเดียวได้ยังไงภายใต้เวลาอันจำกัด

     ใน Kakushigoto ก็แจกแจงให้ผู้ชมได้เห็นอย่างเด่นชัดถึงการทำงานของวงการนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะที่นั่นเขามีระบบการทำงานแบบอาจารย์กับผู้ช่วย คือตัวอาจารย์เป็นคนคิดเนื้อเรื่องทั้งหมด พร้อมกับวาดสเกตช์แบบไวๆ จากนั้นก็ส่งต่อให้บรรดาผู้ช่วยที่มีหน้าที่แตกต่างกันไป ทั้งเป็นคนตัดเส้น (หมายถึงการวาดเส้นให้สำเร็จออกมาสวยงาม) วาดฉากหลัง และลบพวกสเกตช์ทั้งหลายออกไปจากต้นฉบับ เพื่อให้เสร็จสรรพพร้อมส่ง บ.ก.ที่จะมาคอยรับทุกสัปดาห์

     สำหรับใครที่อยากเห็นการทำงานของผู้ช่วยสามารถกดไปดูตอน 3 ได้เลย เพราะจะเห็นบทบาทในหน้าที่การงานของพวกเขาคร่าวๆ ถ้าใครอยากเห็นว่าการวาดฉากคืออะไรก็สามารถกดไปดูตอน 4 ซึ่งนอกจากจะเล่าถึงความสำคัญของผู้ช่วย ยังจะได้เห็นว่าทุกวันนี้ผู้ช่วยในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นอาจมาจากทั่วโลกได้เหมือนกัน (แต่ในการ์ตูนนั้นไม่ได้ใช้ ก็เลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเวิร์กหรือไม่)

     นอกจากนี้ Kakushigoto ยังสอดแทรกประเด็นเรื่องผู้ช่วยที่ถึงเวลาหนึ่งก็มักจะไปเทิร์นโปรฯ เป็นนักเขียนการ์ตูนเองอยู่เรื่อยๆ ซึ่งตัวอาจารย์โกโต้นั้นมักจะถูกแซะว่าผู้ช่วยของเขาไม่ค่อยมีใครได้ดี แต่ถึงอย่างนั้นก็ดันมีเหตุการณ์ที่ว่าผู้ช่วยที่ไปเทิร์นโปรฯ แล้วเกิดวาดลายเส้นเหมือนอาจารย์โกโต้ จนนำมาสู่ประเด็นที่ว่าจริงหรือไม่ที่ผู้ช่วยกับอาจารย์จะมีลายเส้นเหมือนกัน ถ้าใครสนใจเรื่องนี้กดดูตอน 7 ได้เลย ซึ่งต้องบอกเลยว่าเปลี่ยนมุมมองผมเหมือนกัน เพราะจากที่เข้าใจว่าผู้ช่วยวาดจนชินลายเส้นของอาจารย์ตนเอง ในการ์ตูนกลับบอกว่าบางทีลายเส้นนั้นอาจเป็นเอกลักษณ์ของตัวผู้ช่วยเองก็ได้ แต่ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่าบางครั้งก็มีใบสั่งจากสำนักพิมพ์เองว่าให้วาดลายเส้นคล้ายๆ กับนักเขียนอีกสังกัดหนึ่ง เพื่อเป็นการเกาะกระแสความโด่งดังของการ์ตูนจากอีกค่าย

     อนึ่ง ถ้าใครอยากรู้เทคนิคการวาดภาพ เรื่องนี้ก็มีพูดอยู่หน่อยๆ เช่น ในตอนที่ 4 พูดเรื่องมุมมองในการเล่าเรื่อง ถือเป็นสูตรโกงสำหรับการวาดสิ่งที่ไม่ถนัด ส่วนในตอนที่ 5 นั้น พูดเรื่องเคล็ดลับดึงความสนใจผู้อ่าน คือโกโต้พูดประมาณว่าการเขียนการ์ตูนหนึ่งหน้า ควรเขียนให้สามารถอ่านจบได้ภายในหนึ่งเฮือกของการกลั้นหายใจ เพราะถ้าต้องใช้ระยะเวลาอ่านต่อหน้านานกว่านี้ ก็มีสิทธิสูงมากที่ผู้อ่านจะเลิกสนใจไปก่อน

นักเขียนกับผลิตภัณฑ์

     ด้วยความที่สำนักพิมพ์ที่ผมทำนั้นไม่ได้มีการผลิตภัณฑ์มากเท่าไหร่ หรือถ้าทำก็น้อยมาก คือถ้าเทียบกับพวกวงการการ์ตูนญี่ปุ่นนั้นไม่มีทางหลากหลายเท่าเลย เพราะบ้านเขาทำได้หลายอย่างตั้งแต่เสื้อยืด กระเป๋า รองเท้า เข็มกลัด ของกิน ไปยันกระดาษทิชชู่ ในมุมหนึ่งก็รู้สึกว่านักเขียนการ์ตูนบ้านเขาก็คงอู้ฟู่ สามารถหารายได้ทั้งจากต้นฉบับที่เขียน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำตามออกมา ซึ่งแน่นอนว่าใน Kakushigoto ก็พูดถึงประเด็นนี้เหมือนกัน

     แม้ทั้งเรื่องจะบอกว่าการ์ตูนของอาจารย์โกโต้ไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่ก็ปรากฏว่ามีการผลิตสิ่งของจาก ถุงน่องจ้าวสายลม กับเขาด้วย โดยสิ่งที่เห็นตั้งแต่ตอนที่ 1 เลยก็คือเสื้อยืด

     ผมเชื่อว่าแฟนการ์ตูนบ้านเราคงชินกับเสื้อยืดที่มีลวดลายการ์ตูนเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับลายสกรีนตัวละครใหญ่เป้ง ซึ่งผมเข้าใจว่าโคจิ คุเมตะ น่าจะเป็นนักเขียนที่จัดอยู่ในหมวดไม่ชอบเสื้อยืดที่สกรีนลายใหญ่ๆ เท่าไหร่ เพราะในเรื่องจะปรากฏฉากที่โกโต้เถียงกับโทมารุอิน เพราะนาย บ.ก.หนุ่มดันใส่เสื้อที่สกรีนลายจากการ์ตูนของโกโต้ไปหาเขาถึงบ้าน ซึ่งตอนนั้นมีแต่ฮิเมะอยู่ โกโต้เลยกลัวมากๆ ว่าความจะแตก จึงบ่นโทมารุอินยกใหญ่ว่าใส่เสื้อมาทำไม โทมารุอินก็เลยตอบออกมาแบบไม่แคร์ว่า “ก็ไม่อยากใส่หรอกนะ เสื้อที่มีลายน่าอายแบบนี้” (…)

     นั่นจึงนำมาสู่เกร็ดที่น่าสนใจว่านักเขียนเองนั้น มีศัพท์ที่ใช้เรียกการทำเสื้อว่า ‘เสื้อที่ใส่จริงได้’ เพราะอย่างโกโต้ก็จะบอกว่าถ้าปรินต์ลายใหญ่ๆ ลงเสื้อ คนก็คงไม่กล้าใส่ออกจากบ้าน แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายผลิตก็จะคิดว่า ถ้าทำเป็นตัวหนังสือ เงาตัวละคร หรือใส่แค่หน้าเล็กๆ คนก็จะไม่ซื้ออีก นี่จึงเป็นที่มาของการผลิตเสื้อที่ใส่จริงไม่ได้ในสายตานักเขียน ส่วนจะใส่จริงได้มั้ยสำหรับนักอ่าน ก็แล้วแต่ทุกท่านจะเห็นชอบ

นักเขียนกับเดดไลน์

     ผมไม่รู้ว่านักเขียนประเทศอื่นมีปัญหาเรื่องเดดไลน์มั้ย แต่คิดว่านักเขียน (โดยเฉพาะการ์ตูน) ที่ไทยกับญี่ปุ่นนั้นต้องประสบปัญหานี้แน่ๆ เพราะถ้าใครเคยอ่าน ขายหัวเราะ หรือพวกการ์ตูนอย่าง โดราเอมอน จะต้องเห็นฉาก บ.ก.มาทวงงานนักเขียนถึงโต๊ะกันบ่อยๆ ซึ่งอันนี้ต้องบอกเลยว่ามันทำให้ตอนแรกที่เข้ามาทำงานสำนักพิมพ์ ผมคิดว่าเราคงต้องเดินทางไปเยี่ยมนักเขียน แล้วนั่งรอจนกว่าเขาจะเขียนต้นฉบับเสร็จแน่ๆ

     แต่จากประสบการณ์หลายปี บอกเลยครับว่าผมแทบไม่เคยได้ทำแบบนั้นเลย ส่วนหนึ่งอาจเพราะทำงานในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟูพอดี ก็เลยติดต่อทางออนไลน์เป็นหลัก (แต่ก็เลยทำให้ติดต่อนักเขียนไม่ได้บ้างก็มี กระซิก) ซึ่งผมเข้าใจว่าวงการการ์ตูนญี่ปุ่นก็อาจมีการปรับเปลี่ยนเป็นส่งงานทางออนไลน์บ้างแล้ว แต่ที่ยังมีอยู่นั้น ก็อาจด้วยเหตุผลแบบใน  Kakushigoto ก็ได้ นั่นคือนักเขียนยังวาดลงกระดาษ ไม่ถนัดที่จะวาดลงคอมพิวเตอร์ ทำให้ บ.ก.ต้องคอยมารับต้นฉบับไปเองทุกสัปดาห์ 

     และด้วยความที่มีเดดไลน์มาจ่อคอหอยเป็นประจำ จึงต้องบอกเลยครับว่าคงมีน้อยคนนักที่จะทำงานแบบนี้ได้โดยไม่สติแตกไปเสียก่อน เท่าที่ผมรู้จักนักเขียนมา บางคนก็จะมีวิธีการเก็บตัวเขียนงานที่ต่างกันไป บางคนก็คือปิดแอคเคานต์โซเชียลเน็ตเวิร์กไปเลยเพื่อทุ่มสมาธิให้กับงานเขียน (เอ๊ะ หรือจริงๆ คือหนี บ.ก.) บางคนก็หอบต้นฉบับมานั่งทำที่สำนักพิมพ์ เพื่อจะได้โฟกัสให้จบๆ ไป บางคนก็คือขอหายตัวไปสักครึ่งเดือนแล้วกลับมาพร้อมต้นฉบับปึกใหญ่ 

     ใน Kakushigoto ก็มีเรื่องราวประมาณนี้เหมือนกัน ในตอนที่ 2 นั้น มีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าโรคคามาคุระ อันหมายถึงเรื่องราวของนักเขียนการ์ตูนที่เบื่อกับการนั่งปั่นต้นฉบับอยู่กับที่ จึงหอบหิ้วงานไปทำที่เมืองติดชายทะเล แต่ปรากฏว่าเขาต้องพบกับเหตุการณ์ระทึกขวัญ นั่นก็คือพอเป็นต่างจังหวัด จึงไม่มีผู้ช่วยตามไปด้วย อาหารการกินก็หาลำบาก เพราะร้านรวงปิดเร็ว แล้วไหนจะเจอพิษจากการอยู่ใกล้ทะเล ว่าหัวปากกาที่เขียนขึ้นสนิมไปอีก ทำให้แทนที่จะได้เขียนงานอย่างสบายใจ ต้องรีบกลับไปปั่นงานในที่ที่ตัวเองเพิ่งจากมาเสียอย่างนั้น

     นอกจากนี้ ยังมีการยกตัวอย่างว่าเวลาใกล้ๆ เดดไลน์ คนเรามักจะทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งาน อย่างในเรื่องจะเรียกการกระทำนี้ว่า การหนีความจริงก่อนเส้นตาย เพราะมีการเลื่องลือว่าเวลาใกล้เดดไลน์ นักเขียนการ์ตูนอาจจะจัดห้อง ทำอาหาร ซ่อมแอร์ คือไม่ได้ทำในสิ่งที่ให้ความบันเทิงแก่ตัวเอง แต่ทำในสิ่งที่ไม่ค่อยได้ทำ เหมือนเป็นเทคนิคกระตุ้น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่านักเขียนคนอื่นเป็นไง เพราะเวลาใกล้เดดไลน์ ผมติดต่อนักเขียนไม่ได้เลย… (และจริงๆ ก็มีบ้างที่พอใกล้เดดไลน์ก็ไปทำอย่างอื่นเหมือนกัน…)

     จะว่าไป เรื่องนี้ผมก็เข้าใจหัวอกนักเขียนนะครับ เพราะอย่างผมแค่ดีลงานกันเป็นระยะสั้น สามเดือนบ้าง หกเดือนบ้าง (หรือเป็นปีบ้าง) ก็จะเห็นเลยว่าพวกเขาต้องจัดสรรปันส่วนเวลามาเขียนหนังสือกัน (บ้านเราแทบไม่มีใครประกอบอาชีพด้วยการเขียนหนังสือกันอย่างเดียวกันหรอกครับ) ทำให้เวลาพักผ่อนนั้นน้อยแสนน้อย ซึ่งกับเหล่านักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์นั้น ผมพอจะนึกภาพออกเลยว่าพวกเขาคงหาเวลาอ้อยอิ่งได้ยากมาก ส่งงานแล้วก็แทบจะต้องคิดงานต่อทันที จนจะเห็นได้เลยว่าพวกเขาต้องปั่นงานกันไปยาวๆ แม้แต่ช่วงใกล้ปีใหม่ ก็ต้องเร่งทำงานให้เสร็จก่อนใคร เพราะต้องรีบทำงานให้เสร็จแล้วส่งเข้าโรงพิมพ์ก่อนวันหยุดยาว (ติดตามชมได้ในตอนที่ 9 และ 10) แถมยังมีตำนานเล่าขานกันว่านักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่นั้น ตลอดทั้งปีแทบไม่ป่วยหรอก จะมาป่วยกันก็หลังจากใช้พลังลมปราณส่งงานล่วงหน้าในช่วงวันหยุดยาวนี่แหละ ทำให้แทนที่จะได้ไปเที่ยว (ซึ่งก็มีเกร็ดอีกว่าพวกเขามักจะไปเที่ยวไกลๆ อย่างต่างประเทศไม่ค่อยได้ เพราะกลัวว่าจะถูกตามมาให้แก้งาน) ก็ต้องนอนซมป่วยไข้อยู่กับบ้านอย่างเศร้าๆ

นักเขียนกับความเครียด

     แม้จะเป็นการ์ตูนอบอุ่นหัวใจ แต่ผมก็คิดว่า Kakushigoto สะท้อนภาวะความไม่แน่นอนและความเครียดของนักเขียนการ์ตูนได้อยู่เหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากการที่โกโต้เคยคิดว่าตัวเองต้องเขียนการ์ตูนแนวที่อยู่ในกระแสนิยมหรือไม่ ไปจนถึงความกังวลที่หนักหนากว่านั่นก็คือถ้าการ์ตูนถูกตัดจบ เขาจะใช้ชีวิตหลังจากนี้อย่างไร

     การตัดจบของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นนั้น หมายถึงการที่การ์ตูนเรื่องดังกล่าวได้รับความนิยมลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งหากถึงจุดหนึ่งดูแววแล้วอันดับคงไม่กระเตื้องขึ้น การ์ตูนเรื่องดังกล่าวก็จะถูกกำหนดให้รีบจบโดยเร็วไว (กลับกัน ถ้าการ์ตูนเรื่องไหนได้รับความนิยม ทางกองบรรณาธิการก็อาจเรียกร้องให้เขียนในเส้นเรื่องแบบที่ผู้อ่านน่าจะชอบไปด้วย) ซึ่งสำหรับนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์แล้ว นั่นแปลว่าพวกเขาต้องคำนวณเงินทองให้ดูว่าจะพอใช้จ่ายกับชีวิตหลังจากนี้มั้ย

     เพราะการตัดจบไม่ได้การันตีว่าการขึ้นการ์ตูนเรื่องใหม่จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน ไม่ได้แปลว่าสำนักพิมพ์จะยินยอมตีพิมพ์งานให้เราด้วยซ้ำ อีกทั้งต้องคิดไปถึงเหล่าผู้ช่วยว่าจะจ่ายเงินเดือนไปก่อนในช่วงที่ยังไม่มีการ์ตูนเรื่องใหม่ตีพิมพ์ หรือยอมปล่อยตัวพวกเขาไป แล้วค่อยฟอร์มทีมใหม่หลังจากคิดเรื่องใหม่ได้แล้ว

     เรื่องราวนี้ถูกถ่ายทอดออกมาตั้งแต่ตอน 3 ก่อนจะถูกนำมาขยี้ซ้ำในตอนที่ 10 ซึ่งสำหรับผมที่พอจะคลุกคลีกับวงการนี้อยู่บ้าง ก็เรียกว่าเข้าใจหัวอกของโกโต้ได้เป็นอย่างดี และยิ่งซาบซึ้งเข้าไปอีกเมื่อนึกย้อนกลับไปถึงตอนที่ 7 ซึ่งโกโต้พูดถึงบัญญัติสิบประการของการเลี้ยงหมาที่จะมีประเด็นหลักเป็นเรื่องของการดูแลกันจนถึงวินาทีสุดท้าย โดยเจ้าตัวก็เอามาบิดเป็นบัญญัติสิบประการของนักเขียน ซึ่งน่าเสียดายมากที่ผมอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก เพราะซับฯ แปลไม่ครบ (หากใครอ่านได้ ช่วยบอกผมที) แต่หลักๆ ที่แปลให้ได้รู้ความหมายกันนั้นก็คือใจความที่ว่านักเขียนการ์ตูนเขียนได้ราวๆ สิบปี ก็อยากวิงวอนนักอ่านช่วยติดตามผลงาน กับถ้าไม่เป็นการรบกวนเกินไป ก็อยากให้นักอ่านส่งจดหมายหานักเขียนการ์ตูนกันบ้าง เพราะว่าถ้าไม่มีฟีดแบ็กจากผู้อ่านเลย พวกเขาก็คงเศร้าไม่น้อย

ความลับของบรรณาธิการ

     ขอปิดท้ายด้วยการพาไปส่องเรื่องราวของบรรณาธิการในเรื่อง ที่ค่อนข้างจะดูยโสโอหังน่าจิกน่าตบ (ซึ่งนักเขียนอาจจะมอง บ.ก.เป็นอย่างนี้กันก็ได้…) แถม บ.ก.ในเรื่องยังดูเป็นตัวป่วนให้เรื่องยุ่งๆ ไม่ได้ดูเอาจริงเอาจังแบบ บ.ก.ที่เคยพบเจอจากเรื่องอื่นๆ อย่าง Bakuman (การ์ตูนที่ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นเหมือนกัน)

     ถึงอย่างนั้น ก็มีช็อตที่ผมคิดว่าน่าสนใจ นั่นก็คือในตอนที่ 1 หลังจากฮิเมะอวยพรโกโต้ให้ได้ดิบได้ดีในอาชีพ เขาก็มีความคิดว่าจะเขียนการ์ตูนเรื่องใหม่ เปลี่ยนไปเขียนแนวดาร์กแฟนตาซีไปเลย พอ บ.ก.โทมารุอินรู้เข้า เจ้าตัวก็ได้ทีบอกว่าผมอยากทำสิ่งนี้มานานแล้ว นั่นก็คือการห้ามไม่ให้นักเขียนได้เขียนในเรื่องที่ตัวเองอยากทำ

     ฟังดูย้อนแย้งใช่มั้ยครับ ทำไมนักเขียนถึงจะเขียนในเรื่องที่ตัวเองอยากเล่าไม่ได้ คนเป็น บ.ก.ควรจะสนับสนุนในสิ่งที่นักเขียนอยากเล่าสิ!

     แต่ความจริงนั้น ผมพบว่านี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ บ.ก.อาจจะต้องเคยทำสักครั้งในชีวิตครับ สำหรับวงการการ์ตูน ผมเข้าใจว่ามันมีเคสที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ว่าเหล่านักเขียนที่ดังจากการ์ตูนเรื่องหนึ่ง พอขึ้นเรื่องใหม่ก็จะซัดในเรื่องที่ตัวเองอยากเล่า จะเป็นแนวไหน พล็อตแบบไหนก็ได้ที่ตัวเองอยากทำ เพราะเหมือนกับว่ามีพลังและฐานแฟนคลับที่น่าจะพร้อมอุดหนุน

     ความตลกปนเศร้าก็คือ พอเป็นแบบนี้ ผลงานส่วนใหญ่ของนักเขียนทั้งหลายมักจะร่วงไม่เป็นท่า คือยังไงก็ไม่ดังเท่าเรื่องฮิตๆ ของตัวเอง นั่นเลยทำให้ Kakushigoto หยิบประเด็นนี้มาจิกกัดว่าทำไมพวก บ.ก.ถึงมักห้ามไม่ให้นักเขียนได้เขียนในสิ่งที่ตัวเองอยากทำมากนัก

     ส่วนตัวผมเองนั้น ก็อาจมีบ้างที่ไปเบรกไม่ให้นักเขียนเล่าเรื่องในแบบที่อยากเล่า แต่ก็ไม่ถึงขั้นล้มโปรเจกต์ไม่ให้เขียนเลยนะครับ ส่วนใหญ่ก็จะพบกันครึ่งทาง นักเขียนอยากเล่าเรื่องแบบไหน สำนักพิมพ์อยากได้เรื่องประมาณไหน เราลองมาปรับจูนกันเพื่อจะได้ทำงานกันอย่างสบายใจทั้งสองฝ่าย (สำหรับใครที่สนใจส่งต้นฉบับ ลองกดตรงนี้นะครับ #ไทอินซะงั้น)

ความลับของวงการ

     อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ของ Kakushigoto โฟกัสไปที่ตัวนักเขียนมากกว่า แม้จะมีพูดเรื่องราวของฝั่ง บ.ก.บ้างก็อาจไม่เยอะ แต่ก็พอจะเห็นภาพมากขึ้นว่าอย่างน้อย บ.ก.ก็ไม่ได้มีหน้าที่แค่ไปเอาต้นฉบับจากนักเขียน ยังมีเรื่องของการตรวจทานต้นฉบับที่บางครั้งต้องเรียกตัวนักเขียนกลับมาแก้งานในนาทีสุดท้าย จนเกิดเป็นฉากการพาตัวนักเขียนไปขังจนกว่าจะแก้งานเสร็จ (ติดตามได้ในตอนที่ 5 ซึ่งมีเกร็ดอีกนิดหน่อยคือ พวกการ์ตูนวับๆ แวมๆ จะถูกแก้ในขั้นตอนนี้บ่อย) ไปจนถึงการวางแผนประชุมเพื่อหาต้นฉบับใหม่ๆ ซึ่งอาจจะมาจากนักเขียนหน้าใหม่ หรือนักเขียนผู้เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว และบางทีก็อาจสั่นสะเทือนนักเขียนที่มีเรื่องตีพิมพ์อยู่ก็ได้ เพราะนั่นอาจแปลว่าผลงานของเขาอาจถูกตัดจบ

     ทั้งนี้ก็มีหนึ่งสิ่งที่ผมคิดไม่ถึงและกำลังคิดว่าอยากนำมาลอกเลียนในชีวิตจริง นั่นก็คือในตอนที่ 8 อยู่ๆ โทมารุอินก็เดินเข้ามาบอกว่านิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่เจ้าตัวกับโกโต้ทำงานให้นั้น กำลังจะจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 38 ปี ซึ่งเอาจริงๆ มันดูเป็นตัวเลขที่แปลกใช่มั้ยครับ คือจะลง 40 ก็ไม่ใช่ จะครึ่งๆ แบบ 35 ก็ไม่เชิง และที่น่าตลกก็คือ เราสามารถพบการเฉลิมฉลองแบบครึ่งๆ กลางๆ ในชีวิตจริงแบบนี้ได้เหมือนกัน แต่เมื่อสืบทราบถึงเหตุผลจากที่ Kakushigoto บอกเอาไว้ก็เอาผมได้แต่หัวเราะแฮะๆ

     เพราะในเรื่องบอกเอาไว้ว่าการเฉลิมฉลองแบบแปลกๆ นี้ ในทางหนึ่งก็คือการกระตุ้นให้นักเขียนมีแรงผลิตผลงาน เผื่อปลุกไฟให้อยากเขียนการ์ตูนแบบแจ่มๆ ในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน นั่นก็อาจแปลได้ว่านิตยสารกำลังแย่แล้ว เฉลิมฉลองเพื่อหาทุนมาหมุนเวียนให้มีเม็ดเงินมาผลิตนิตยสารต่อไป และยิ่งประกอบกับคำพูดในช่วงท้ายๆ ของโทมารุอินที่พูดทำนองว่า วงการนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่ของโรงพิมพ์อีกแล้ว สำหรับโทมารุอินที่ก็ทำงานในวงการนี้ แต่กลับพูดมาหน้าตาเฉยว่าเป็น “ไอ้อุตสาหกรรมใกล้เจ๊งเต็มที” ก็ทำให้ผมทั้งขำ ทั้งจุก และชักหวั่นๆ ว่าอนาคตของสิ่งพิมพ์จะเป็นอย่างไร

     ก็ขนาดญี่ปุ่นที่เราเข้าใจว่าสิ่งพิมพ์เขายังอยู่ได้ มีความหลากหลาย ยังถูกนักเขียนคนหนึ่งเอามาจิกกัดได้ขนาดนี้ แล้วอุตสาหกรรมบ้านเราที่ก็ดูทรงๆ ทรุดๆ มาสักระยะ ความจริงแล้วมันเป็นอย่างไร มี ‘ความลับ’ อะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า

     จากการดูอนิเมชั่นเรื่องนี้ ผมคิดว่าคงจะดี ถ้าบ้านเรามีการเอาเรื่องในวงการต่างๆ มาเล่าเรื่องกันแบบนี้บ้าง คือไม่จำเป็นต้องจริงจัง เชิงวิชาการก็ได้ เอามาใช้เป็นองค์ประกอบ ใส่เติมเข้าไปในเส้นเรื่องให้พอขำๆ และพอเข้าใจได้ว่าแวดวงนี้เขาเป็นอย่างไร

     ถึงอย่างนั้น ก็ต้องยอมรับว่าโคจิ คุเมตะ นำเรื่องในวงการหนังสือมาเล่าและเชื่อมโยงกับคาแรกเตอร์คุณพ่อกับลูกสาวได้อย่างแนบเนียน เพราะนอกจากจะทำให้ได้รู้ความลับของวงการหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นแบบพอประมาณ ก็ยังทำให้ผู้ชมที่อาจไม่ได้อยากรู้เรื่องวงการหนังสือใดๆ เลย ได้ร่วมลุ้มไปกับความลับของพ่อกับลูกที่ไม่ได้มีแค่การปกปิดชีวิตการเขียนหนังสือการ์ตูนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปริศนาที่ชวนให้ติดตามว่าบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไรด้วย

     ซึ่งผมขอเก็บเป็นความลับไม่ขอนำมาพูดถึงในที่นี้นะครับ แต่ขอแง้มนิดหน่อยว่าสองตอนสุดท้ายนั้น ทำให้การ์ตูนที่ขำๆ มาตลอด กลายเป็นการ์ตูนอบอุ่นดราม่าครอบครัวไปเลย

     ป.ล. นอกจากมีให้ชมในเน็ตฟลิกซ์แล้ว ล่าสุด Kakushigoto มีหนังสือการ์ตูนฉบับแปลไทยออกมาแล้ว ใช้ชื่อว่า ความลับสุดยอดของคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Siam Inter Comics