Sat 14 Aug 2021

CURRENTLY READING

KILLING COMMENDATORE สังหารจอมทัพอัศวิน โดย Haruki Murakami

ภาพ: NJORVKS

หนังสือ KILLING COMMENDATORE สังหารจอมทัพอัศวิน
Haruki Murakami เขียน
พรพิรุณ กิจสมเจตน์ แปล
สำนักพิมพ์กำมะหยี่

     ถ้าไม่นับ UNDERGROUND ที่เป็นสารคดี นี่ถือเป็นการกลับไปอ่านเรื่องแต่งของ ฮารูกิ มูราคามิ อีกครั้งของผม หลังจากเล่มล่าสุดคือ A PERFECT DAY FOR KANGAROOS ที่อ่านไปตั้งแต่ปี 2015 (เข้าใจว่าตีพิมพ์ครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2014)
     เหตุผลที่ห่างหายจากงานเรื่องแต่งเฮียมูฯ ไปนาน ส่วนหนึ่งก็เพราะช่วงหนึ่ง ผมเองแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสาวก ไล่เก็บงานของมูราคามิจนหมด อ่านจนอิ่มแปล้ ซึมซับกับบรรยากาศและเรื่องเล่าจนรู้สึกว่าตัวเองอยากจะเจอเรื่องประหลาดๆ แบบในนวนิยาย/เรื่องสั้นเหล่านั้นบ้างจัง แต่ก็ไม่รู้ทำไม ถึงจุดหนึ่งผมก็หยุดอ่านงานของเฮียแกไปดื้อๆ จะว่าไปแล้วก็คงเหมือนกับคนที่กินอิ่มแล้วไม่อยากอาหารล่ะมั้ง
     ผมกลับมากระหายเรื่องเล่าของมูราคามิอีกครั้ง หลังจากที่ปีนี้เห็น UNIQLO ออกลายเสื้อยืดจากนวนิยายเรื่องต่างๆ หรือเห็นข่าวคราวเรื่องภาพยนตร์ Drive My Car ที่สร้างจากเรื่องสั้นของเฮียเขา ผมเลยคิดตุตะเอาเองว่านี่ต้องเป็นสัญญาณเหมือนที่ตัวละครในหลายๆ เรื่องของเขาได้รับสัญญาณให้ไปทำอะไรสักอย่างแน่นอน
     แต่ตอนแรกที่เห็นความหนาของ KILLING COMMENDATORE สังหารจอมทัพอัศวิน ผมก็ท้อนิดหน่อยว่าจะอ่านจบจริงมั้ย เพราะด้วยความหนาจำนวน 1,016 หน้า เรียกได้ว่าถ้าไม่ชอบจริง อาจจะไปไม่รอด ซึ่งก็เกือบไปไม่รอดเหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงเล่มแรก (ตีพิมพ์แยกเป็นสองเล่ม) ผมรู้สึกว่าเฮียมูฯ แกย้ำคิดย้ำทำเหลือเกิน เล่าเรื่องเดิมๆ วนไปวนมา ราวกับกลัวว่าผู้อ่านจะลืมรายละเอียดที่เพิ่งเล่าไปเมื่อประมาณสิบหน้าที่แล้ว จนบางทีก็อยากจะบอกว่าพอเถอะคร้าบ เดินเรื่องต่อได้แล้ว
     เอาจริงๆ พวกตัวเรื่อง บรรยากาศ องค์ประกอบต่างๆ ก็ดูเป็นมูราคามิที่คุ้นเคย ตัวละครชายประสบปัญหาด้านชีวิตคู่ ไปฉาวๆ กับสาวๆ ที่เพิ่งรู้จัก ใช้ชีวิตแต่ละวันไปกับการฟังดนตรีคลาสสิกและแจ๊ซ กิมดื่มแบบชนชั้นกลาง ระหว่างที่มุ่งมั่นหาแนวทางใหม่ๆ ให้กับการวาดรูปของตัวเอง (เขาเป็นศิลปินวาดภาพพอร์เทรต) ก็พบกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ เจอเรื่องลึกลับแปลกประหลาด ที่ต้องไปพัวพันกับหลุมๆ บ่อๆ บรรดาตัวละครลึกลับๆ และหญิงสาว
     บอกตามตรงว่าพอไม่ได้อ่านงานเฮียแกนานก็คิดถึงจังหวะการเล่าเรื่องแบบนี้อยู่หน่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง ผมเลยรู้สึกว่านี่แทบจะเป็นการหยิบเอาองค์ประกอบความเป็นมูราคามิมาใส่ไว้ในเรื่องเล่าแทบจะทั้งหมดเลยก็ว่าได้ คือถ้าใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ ผมว่าน่าจะฟิน
     แต่สำหรับผมแล้วนั้น ก็อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าบางจุดเขาก็เล่าย้ำๆ เหลือเกิน ซึ่งในทางหนึ่ง ก็อาจเป็นข้อดี เพราะหนังสือหนาขนาดนี้ ถ้าเกิดหลงลืมตอนไหนไป คงต้องพลิกย้อนกันตาแหก แต่ขณะเดียวกัน ผมว่าก็อาจเป็นข้อเสีย เพราะถ้าใครอ่านแบบติดๆ กัน ไม่ได้เว้นช่วงไว้นานนัก ก็อาจจะขัดใจที่ตัวเรื่องไม่ไปถึงไหน เพราะต้องเจอกับการเล่าจุดนั้นจุดนี้ซ้ำๆ แล้วเพิ่มเติมรายละเอียดอีกแค่นิดหน่อย
     ผมเดาไปเองว่ามูราคามิคงอยากจะวางโครงสร้างให้แน่นหนา เพื่อตอนท้ายๆ จะได้ลุยไปทีเดียวจนจบ ซึ่งถึงจุดหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าอ่านแล้วติดจริงๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอยากอ่านให้จบแล้วหรือรู้สึกสนุกเหมือนกัน เพราะเอาจริงๆ แล้ว ผมคิดว่าช่วงท้ายๆ ของเรื่องน่าจะถูกขยายได้อีกสักหน่อย ยิ่งถ้าเทียบกับตอนต้นๆ ที่มูราคามิเล่าละเอียดลออเหลือเกิน ช่วงท้ายๆ เลยรู้สึกเหมือนผ่านไปไวอย่างน่าเสียดาย
     อย่างไรก็ตาม เมื่อพลิกถึงหน้าสุดท้าย ผมก็เพิ่งรู้ตัวว่าการอ่าน KILLING COMMENDATORE นั้นเหนื่อยเหลือเกิน (แม้จะไม่ได้อ่านแบบรวดเดียวจบ) ไม่ใช่เพราะว่าทนอ่านเรื่องที่ไม่ชอบ กลับกัน ผมว่าเป็นเล่มที่เพลิดเพลินไม่น้อย แต่ที่รู้สึกว่าเหนื่อย จริงอยู่ว่าส่วนหนึ่งคงเพราะจำนวนหน้าหลักพันต้นๆ แต่อีกส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าเป็นเพราะเรื่องราวที่ถูกจัดวางในหนังสือเล่มนี้นั้น ให้ความรู้สึกไม่ต่างอะไรกับการวิ่งมาราธอน—กิจกรรมที่มูราคามิชื่นชอบเลย
     มันมีจุดเริ่มต้น มันมีจุดที่รู้สึกเหมือนเป็นเนินให้เราไต่ และมันมีจุดที่เป็นเหมือนเส้นชัยให้เราเห็นอยู่ไกลๆ ซึ่งเราจะวิ่งไปให้สุดแรง หรือจะค่อยๆ ผ่อนคลายร่างกายแล้วเดินข้ามเส้นไปก็ได้
     ผมไม่รู้เหมือนกันว่าตอนเขียนเล่มนี้ มูราคามิรู้สึกยังไง แต่สำหรับคนอ่านอย่างผมแล้ว รู้สึกเหมือนมูราคามิใช้แรงไปเสียเยอะกับช่วงต้นๆ กลางๆ พอถึงช่วงท้ายๆ เขาเลยไม่เร่งรีบ ไม่เคร่งเครียด และเดินเข้าเส้นชัยอย่างสบายๆ
     แต่ใครจะชื่นชอบการเข้าเส้นชัยแบบนี้หรือไม่ ผมว่าไม่สำคัญ (และมูราคามิก็คงไม่สนใจด้วย) สิ่งที่สำคัญและน่าสนใจกว่าของหนังสือเล่มนี้ คือเรื่องเล่าหนาปึ้กที่เหมือนท้าทายคนอ่าน ว่าเราพร้อมมั้ยที่จะกล้าเข้าไปสู่โลกของมูราคามิ
     โลกที่มี ‘จอมทัพอัศวิน’ รอการสังหารจากคุณอยู่
     ป.ล. เพื่ออรรถรสในการอ่าน หากอ่านเล่มนี้จบแล้ว ผมอยากแนะนำ ‘คนที่ไม่ใช่ ยังไงก็สังหารจอมทัพอัศวินไม่ได้’ ที่ ‘อุทิศ เหมะมูล’ เขียนถึงหนังสือเล่มนี้เอาไว้ใน a day 241: ฉบับรวมเรื่องสั้น ‘สถาน ณ กาลไม่ปกติ’ หรือถ้าใครสนใจช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในแบ็กกราวนด์สำคัญของเรื่องนี้ ผมขอผายมือให้ทุกคนได้ลองอ่านรีวิวหนังสือ WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ’ กันก่อน