Fri 28 Apr 2023

FOR THE SAKE OF HAPPINESS

‘กิตติศักดิ์ คงคา’ นักเขียนผู้ลงทุนด้วยแพสชั่น 
เพื่อเป้าหมายที่ชื่อว่าความสำเร็จ และกำไรที่ชื่อว่าความสุข

     หลายเดือนก่อนมีภาพหนึ่งปรากฏบนฟีดเฟซบุ๊ก เป็นภาพถ่ายป้ายบิลบอร์ดที่เขียนว่า ‘WEBNOVEL SPIRITY AWARD 2022: GOLDEN PRIZE’ 

     ผมพอรู้มาบ้างว่า Webnovel.com คือเว็บไซต์อ่านนิยายออนไลน์ระดับโลก จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าภาพปกนิยายที่ปรากฏอยู่ในบิลบอร์ดนั้นคือนิยายที่ได้รับรางวัล 

     และเมื่อเพ่งมองดีๆ อีกครั้งก็เห็นว่า หนึ่งในนั้นมีชื่อเรื่องที่เขียนด้วยภาษาไทยว่า รักนี้ไม่มีถั่วฝักยาว

     ด้วยความสงสัยว่าใครเป็นคนเขียนจึงรีบเข้าไปดูในเว็บไซต์ คำตอบที่ตามหาวางตัวอยู่ใต้ชื่อนิยายวายชวนคิ้วขมวด (ถั่วฝักยาวมันไปเกี่ยวกับความรักได้ยังไงนะ?) ว่านักเขียนเจ้าของผลงานชื่อ ‘นายพินต้า (ninepinta)’ 

     ทึ่ง แต่ไม่ถึงกับแปลกใจ เพราะผมรู้ว่าเขาคือผู้เขียนนิยาย เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น ที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อนและถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ในชื่อเดียวกัน ไม่นับว่าหลังจากนั้นเขาก็ทุ่มเทให้กับการเขียนนิยายอีกหลายสิบเล่ม รวมถึงสารคดี และรวมเรื่องสั้นภายใต้ชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริง ‘กิตติศักดิ์ คงคา’ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 5 ปี นับจากวันที่เขาเริ่มเขียนหนังสือ

     ถ้าคนเราจะมีแพสชั่นในการเขียนล้นทะลักจนผลิตผลงานที่ดีได้ต่อเนื่อง จะแปลกอะไรถ้าเขาจะชนะรางวัลใหญ่สักครั้ง แต่ที่ชวนทึ่งพอๆ กับที่เขาได้รางวัลใหญ่ระดับสากล คือตอนที่ผมรู้ว่าเขาคือเจ้าของเพจ ‘ลงทุนศาสตร์’ เพจการเงินการลงทุนที่มียอดผู้ติดตามมากถึง 1 ล้านคน เจ้าของผลงาน Money Lecture เรียนหนึ่งครั้งใช้ได้ทั้งชีวิต, Stock Lecture ลงทุนหุ้นได้ในเล่มเดียว และผลงานล่าสุด Check Your Balance ยอดคนเงินเหลือ

     ถึงตรงนี้ผมไม่มั่นใจว่าจะแนะนำตัวเขาอย่างไรดี เป็นนักลงทุนที่เปิดเพจเขียนบทความให้ความรู้การเงิน นักเขียนนิยายวายที่ชนะการประกวดและถูกนำผลงานไปพัฒนาต่อเป็นซีรีส์ หรือนักเขียนหนังสือหุ้นที่มียอดขายหลายล้านบาท

     แต่จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ผมยืนยันได้แน่ๆ อย่างหนึ่งว่า เขาเป็นนักเขียนที่มีแพสชั่นและมีความสุขกับการเขียนจริงๆ

เคยอ่านสัมภาษณ์มาว่า หนังสือเล่มแรกๆ ที่ทำให้คุณชอบอ่านหนังสือคือ เพชรพระอุมา

     ใช่ ต้องย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ เราเรียนโรงเรียนเอกชนมาตลอด ที่บ้านค่อนข้างมีเงิน จนกระทั่งช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นอายุสักสิบสอง ฐานะที่บ้านไม่เหมือนเดิม พ่อแม่ต้องย้ายเราเข้าโรงเรียนรัฐ ซึ่งพอมาเรียนที่ใหม่ อาจเพราะเราเซลฟ์ด้วย ก็เลยโดนบูลลี่ เข้ากับคนอื่นไม่ได้เลย

     ทีนี้มีเพื่อนในห้องคนหนึ่งเอา เพชรพระอุมา มาอ่าน เราสนใจเลยไปหาอ่านในห้องสมุด สนุกมาก อ่านแล้วเราเชื่อว่าโลกที่นักเขียนสร้างขึ้นมามีจริง เหมือนเวอร์นะ แต่เวลาอ่านเราจะเห็นภาพ เห็นฉาก เหมือนมุดลงไปในโลกที่ไม่ต้องเป็นตัวเอง เราไปผจญภัยในโลกอื่นดีกว่า ยี่สิบปีที่แล้วมันไม่มีอะไรเลย ถ้าไม่ได้ชอบละคร ในโทรทัศน์ก็ไม่มีอะไรให้ดู นี่คือความบันเทิงก้อนใหญ่ ก็เป็นช่วงนั้นที่ได้ค้นพบว่าความสุขอย่างหนึ่งของเราคือการอ่านหนังสือ 

     โชคดีที่มันเป็นเล่มแรกที่อ่านแล้วชอบมากๆ เป็นเฟิร์สอิมเพรสชั่นที่ดี ทำให้เราอยากสร้างโลกให้ใครเข้าไปแบบนี้บ้าง แต่สุดท้ายตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้เขียน ไม่ได้ประกวดเลย เพิ่งจะมาทำจริงๆ ตอนอายุยี่สิบแปด

อ่าน เพชรพระอุมา จบแล้วไปไหนต่อ

     อาจจะประหลาดสักหน่อย คือช่วงมัธยมต้นเราอ่าน เพชรพระอุมา อยู่เรื่องเดียวเลย อ่านจบแล้วก็อ่านซ้ำ ตอนนั้นเราไม่สามารถหาหนังสือเล่มอื่นที่จะสนุกได้เท่านี้ จนกระทั่งมัธยมปลาย เราเริ่มอ่านนิยายรักของแจ่มใส ติดมาก ที่บ้านมีเป็นร้อยๆ เล่มเลย แต่พอแจ่มใสเริ่มเปลี่ยนแนวเป็นนิยายสไตล์เกาหลี เริ่มมีอีโมติคอนต่างๆ เราก็ต่อไม่ติดแล้ว 

     มันคงเป็นจังหวะชีวิตด้วย เรากลับมามีความสุขกับสังคม เพื่อน การเรียน เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เลยอ่านหนังสือเตรียมสอบแทน ค่อยๆ ห่างจากหนังสือนิยาย แล้วก็ยิงยาวมาจนถึงตอนเรียนเภสัชฯ คือเราเป็นคนที่อ่านหนังสือเรียนให้สนุกได้ด้วย เรียนจบแล้วก็ยังติดการอ่านพวกตำราเรียนหรือเทกซ์บุ๊กอยู่เลย

     ช่วงปี 2014 ก็มาสนใจโลกการเงิน ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนชีวิต มันบังคับให้เราต้องลองอ่านหนังสือการลงทุน หนังสือหุ้น ได้เจอโลกใหม่ ทำให้เริ่มอ่านหนังสือน็อนฟิกชั่น ทั้งเศรษฐศาสตร์ สังคม ประวัติศาสตร์ เขยิบมาอ่านบันทึกประสบการณ์ บันทึกการเดินทาง 

     ความคิดเราเปลี่ยนไป เราตั้งคำถามว่าทำไมต้องอ่านเรื่องไม่จริงด้วยวะ ก็เลยไม่ได้อ่านนิยายเลย จนกระทั่งวันหนึ่งจะเดินทางไปไต้หวัน ช่วงนั้นมูราคามิ (ฮารูกิ มูราคามิ) ดังมาก เราก็สงสัยว่าคนนี้คือใคร ทำไมดัง ก็เลยซื้อ ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ ขึ้นไปอ่านบนเครื่องบิน จนเครื่องลง ต่อแถว ตม. เราอ่านหน้าต่อหน้าไม่หยุด มาจบเอาตอนถึงโรงแรม เปลี่ยนโลกเลย มันดีมาก เรากระโจนมาอ่านวรรณกรรมตั้งแต่นั้น

ที่คุณบอกว่ากว่าจะเริ่มเขียนจริงๆ ก็ตอนอายุ 28 ปี อะไรคือสัญญาณที่บอกว่าต้องเขียนหนังสือแล้ว

     ปี 2018 เราจะฆ่าตัวตาย แต่ด้วยความที่เรียนเภสัชฯ มาก็คิดขึ้นว่า ไม่ได้ดิ เสียศักดิ์ศรีคนเรียนเภสัชฯ นะ มึงไม่รู้ตัวเหรอว่าป่วยและมันมียาช่วยได้ เราก็เลยคลานออกมาจากระเบียงแล้วไปหาหมอ 

     มีคำอธิบายอาการคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่อย่างหนึ่งคือ ภาวะสิ้นยินดี เราไม่มีความสุขกับอะไรเลย ข้าวยังไม่อยากกิน หมอก็ถามเพื่อให้เราคิดว่าอะไรที่ทำแล้วยังมีความสุขบ้าง ตอนนั้นเริ่มเขียนนิยายไปสองตอน ก็คิดได้ว่า เออ สิ่งนี้แหละ 

     สำหรับเรา การเขียนนิยายเหมือนการแสดง ไม่ต้องเป็นตัวเอง ได้กระโจนเข้าไปในโลกที่สร้าง แล้วเล่าผ่านมุมมองตัวละคร มันก็เลยเหมือนเราไม่ได้แบกปัญหาอะไรในชีวิตจริง เป็นอิสระอีกแบบหนึ่ง ซึ่งนิยายเรื่องที่เขียนตอนนั้นก็คือ เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น เป็นผลงานที่น่าจะได้รับความนิยมสูงสุดในชีวิตแล้ว 

เล่าถึงนิยายเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย

     เราเขียนจบแล้วก็ลองส่งสำนักพิมพ์ แต่ไม่ผ่าน คิดว่าไหนๆ ก็เขียนแล้วเอาลงเว็บดีกว่า ก็ทยอยลงในแอพลิเคชั่นนิยายออนไลน์ทุกวัน ใช้นามปากกา ไม่มีใครรู้จัก มีเสียงตอบรับจากคนอ่านมาเรื่อยๆ จนช่วงที่จะจบ แล้วมีคนอยากอ่านต่อ เราเองก็ยังมีพลอตในหัว คิดว่ายังไปต่อได้ ก็ทำต่ออีก 2 ภาค จนกระทั่งได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ แล้วก็ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำละคร 

     จริงๆ ตอนสำนักพิมพ์แรกปฏิเสธ เราร้องไห้อยู่ 7 วัน เพราะเป็นสำนักพิมพ์ที่เรารักมาก แต่มาคิดอีกทีเราก็ขอบคุณนะ เพราะการถูกปฏิเสธครั้งนั้นมันสอนหลายอย่าง เราแข็งแรงกับความผิดหวังมากขึ้น ไม่แน่ว่าถ้าวันนั้นผ่านการพิจารณาตั้งแต่แรก เราอาจจะหยุดพัฒนาตัวเองไปเลยก็ได้ 

วันที่มีคนบอกว่าอยากอ่านต่อ ได้รับการตีพิมพ์ จนถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำซีรีส์ คุณรู้สึกยังไง 

     เราเป็นมนุษย์ที่ชอบตามหาแพตเทิร์นของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต คล้ายๆ เวลานักลงทุนมองตลาดหุ้น ดังนั้นตอนเริ่มเขียน เรามองหาว่าอะไรที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในวงการนี้ เรามองว่ามีสามอย่าง 

     หนึ่ง—ถ้าเขียนงานแมส คุณต้องได้ทำละคร 

     สอง—ถ้าเขียนน็อนฟิกชั่น คุณต้องขายดี ต้องมียอดตีพิมพ์สูง 

     สาม—ถ้าเขียนงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ ก็ต้องชนะเวทีประกวดให้ได้

     เราเริ่มต้นเข้าวงการเขียนด้วยเป้าหมายสามอย่างนี้ ซึ่ง เกียร์สีขาวฯ พาไปถึงเป้าหมายแรกเร็วมาก วันนั้นมีความสุขมาก และเรายังใช้ความสุขจากเรื่องนี้เป็นตัวค้ำยันชีวิตในวันที่ไม่มั่นใจหรือผิดหวัง เราจะบอกตัวเองว่า เกียร์สีขาวฯ มียอดคนอ่านบนเว็บ 12.5 ล้านครั้งนะ ได้ทำละคร ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นหมื่นเล่มนะ ถือเป็นความโชคดีที่เรามีเสาค้ำยันชีวิตการเป็นนักเขียนตั้งแต่วันแรกๆ และพัฒนาตัวเองจากเสาต้นนั้น 

     พูดแล้วอาจจะตลกนะ แต่ตอนเขียน เกียร์สีขาวฯ เราคิดเผื่อไว้แล้วว่ามันต้องเอาไปทำละครได้ เลยดีไซน์ให้เรื่องเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ตัวละครไม่เยอะ แม้ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะได้ทำละครจริงๆ แต่เราดีไซน์รองรับไว้ก่อนแล้ว เราเลยมีความสุขกับการเขียนด้วยและสร้างโอกาสให้งานเราเติบโตไปด้วย 

คุณเพิ่งเขียนหนังสือมา 5 ปี แต่มีจำนวนผลงานหลายสิบเล่ม ทำไมต้องเขียนเยอะขนาดนั้น

     เราเคยถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เกือบทุกเจ้าในประเทศ มันทำให้เราไม่มีทางเลือกก็เลยทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง (13357 Publishing) พอลงทุนเองก็ไม่มีความกดดันว่างานเราจะตรงกับแนวทางของสำนักพิมพ์ไหนมั้ย อยากเขียนอะไรก็เขียน การเขียนคือความสุขของเรา เลยทำออกมาเรื่อยๆ แต่บางเล่มก็เจ๊งนะ

คุณบอกว่าเสียใจเมื่อโดนสำนักพิมพ์ปฏิเสธต้นฉบับ แล้วการเปิดสำนักพิมพ์เพื่อพิมพ์งานตัวเอง แต่บางเล่มทำออกมาแล้วคนไม่สนใจอ่าน ความรู้สึกมันเหมือนกันไหม 

     ไม่ เพราะอย่างน้อยหนังสือได้รับการตีพิมพ์ มีนักอ่านสักคนที่ได้อ่าน มันดีกว่าต้นฉบับกองอยู่เฉยๆ ที่บ้าน อันนี้น่าเจ็บปวดกว่า ถ้ามันขายไม่ดี เราก็ควรจะเรียนรู้ว่าเป็นเพราะอะไร ครั้งหน้าจะทำยังไงให้ขายดีขึ้น หรือบางเล่มอาจไม่ได้เหมาะวางขายเป็นเล่ม แต่เหมาะทำเป็นบทละคร เหมาะส่งงานประกวดหรือเปล่า ดังนั้นการเปิดสำนักพิมพ์เองทำให้เราต้องเรียนรู้ในมุมเจ้าของสำนักพิมพ์ด้วย ว่าจะบาลานซ์ระหว่างกำไรกับความสุขยังไง

อีกเป้าหมายหนึ่งของคุณคือการชนะงานประกวด และคุณก็เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ส่งงานประกวดเยอะมาก รางวัลจากการประกวดสำคัญกับคุณยังไง

     ถ้ามองในมุมกลยุทธ์ ไม่ว่าคุณจะเขียนดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่เคยชนะ ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครยอมรับ ก็ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในวงการวรรณกรรมสร้างสรรค์ คุณต้องได้รางวัลเพื่อที่จะทำให้คนรู้จัก รู้ว่าคุณมีอะไรอยากขาย มีอะไรอยากเล่า เราเชื่อว่าถ้าคนที่เคยชนะงานประกวดมาก่อนแล้วเดินไปเสนองานกับสำนักพิมพ์ โอกาสได้รับการพิจารณาต้นฉบับย่อมสูงกว่าคนที่ไม่เคยชนะ ทั้งที่งานอาจอยู่ในระดับเท่าๆ กันด้วยซ้ำ 

นอกจากเป็นกลยุทธ์หนึ่ง การชนะรางวัลมีความหมายสำหรับคุณในแง่อื่นไหม

     เราเป็นคนชอบสิ่งที่ชี้วัดได้ แค่จะเรียกตัวเองว่านักเขียนยังไม่กล้าเรียกเลย 

     เราตั้งคำถามเสมอว่าทำดีพอแล้วเหรอ เรามีสิทธิ์จะเรียกตัวเองว่านักเขียนมั้ย ยิ่งทำสำนักพิมพ์เอง เพราะเสนอต้นฉบับกับที่อื่นไม่ผ่าน มันก็ยิ่งทำให้ตั้งคำถามว่าเราไม่ได้มีความสามารถขนาดนั้นหรือเปล่า เพราะที่อื่นไม่ตีพิมพ์ให้เรา เราใช้เงินตัวเองพิมพ์ 

     วิธีหนึ่งที่จะตอบคำถามได้คือการให้กรรมการบอกว่าคุณผ่านนะ มันเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ตอบให้เราหายสงสัยว่า โอเค คุณมีดีพอจะอยู่วงการนี้ได้ รางวัลอาจไม่ใช่คำตอบของคำถามโดยตรง แต่มันก็ช่วยเราในวันที่หลงทาง เสียความเชื่อมั่น มีโล่รางวัลตั้งอยู่ที่ห้องทำงานให้เราหันไปมองว่า เฮ้ย ในตัวเราก็มีคุณค่าและความสามารถอยู่นะ 

แต่การส่งประกวดหลายสิบเวทีก็อาจทำให้คุณผิดหวังบ่อยไม่ต่างจากส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์เลย สำหรับคุณแล้ว การทำแบบนี้มันไม่เสี่ยงเกินไปใช่ไหม

     มีคนถามเหมือนกันว่าทำไมต้องส่งประกวดเยอะขนาดนี้ ตีพิมพ์หนังสือออกมาก็เยอะแล้ว ขายดีด้วย เราก็ต้องตอบไปว่าเราเป็นคนแบบนี้ (หัวเราะ) เราเป็นคนชอบการแข่งขัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ยินว่ามีงานประกวด เราจะขนลุกและอยากทำงานส่งทันที ก็แค่ทำสิ่งที่ชอบเท่านั้น 

     เราไม่เคยตั้งคำถามว่าการทำสิ่งที่ชอบจะทำร้ายเราแค่ไหน เพราะมันทำร้ายเราอยู่แล้ว และเพราะเราเป็นคนแบบนี้ไง ชีวิตถึงได้ขับเคลื่อนไปแบบนี้ มันคือการชนะงานประกวด มันคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นนายกสโมสรกิจกรรม มันคือการลงทุน มันคือการทำเพจ มันคือทุกช่วงของชีวิต ทุกครั้งที่ใครถามว่าทำไมเราต้อง sacrifice ตัวเองกับเป้าหมายขนาดนี้ เราก็จะตอบว่าไม่สามารถทำให้มันน้อยลงกว่านี้ได้เหมือนกัน 

อะไรทำให้คุณนอยด์กว่ากัน ระหว่างตกรอบงานประกวดกับถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธ

     ตกรอบนอยด์กว่า เรารู้ว่าสำนักพิมพ์มีปัจจัยด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ เราเองก็ทำสำนักพิมพ์ เคยมีคนส่งมาแล้วเราก็ต้องปฏิเสธไปเหมือนกัน งานนั้นอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่เงื่อนไขในการตัดสินใจตีพิมพ์มันไม่ใช่แค่เรื่องดีหรือไม่ดี มันดูไปถึงว่าเรื่องนั้นจะขายได้ไหม มีสลอตว่างพอจะตีพิมพ์หรือเปล่า แต่งานประกวดคือการเอาคนมานั่งตัดสินว่าดีหรือไม่ดี การตกรอบก็เลยเจ็บปวดกว่า…นิดนึง

การส่งประกวดส่งผลดีกับงานเขียนของคุณไหม 

     มากๆ ถ้าเป็นกราฟก็พุ่งทะยานเป็นกราฟเอกซ์โพเนนเชียลเลย การเขียนลงเว็บมันเขียนไปได้เรื่อยๆ คนอ่านจะชอบหรือไม่ก็เป็นเรื่องรสนิยม แต่งานประกวดจะมีเกณฑ์ชัดเจน มีกรรมการตัดสิน 

     เรายังจำเวทีแรกได้อยู่เลย เราตกรอบ นอยด์ แล้วก็ไปซื้อหนังสือคนที่ชนะมาอ่าน โอ้โห เหมือนเราเลเวล 0 แล้วเขาเลเวล 10 หลังจากนั้นเลยอ่านเรื่องสั้นปีละร้อยๆ เรื่อง พยายามศึกษาวิธีเล่า เราเหมาหนังสือจากทุกเวทีประกวดมาอ่าน พยายามเข้าใจว่างานประกวดที่ดีในวงการนี้คืออะไร แล้วก็กลับมาหาตัวตน พัฒนางานของเราให้ดี

     จริงอยู่ว่างานเขียนเป็นเรื่องรสนิยม แต่พอส่งประกวดปุ๊บ มันก็มีองค์ความรู้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราต้องเข้าใจก่อนว่ากรรมการมองหาอะไร แล้วดูว่างานเราออกนอกกรอบได้แค่ไหน สมมติงานของผู้ชนะทุกๆ ปีคือกรุงเทพฯ แต่งานของเราไปอุบลฯ มันก็ไม่ได้ แต่ถ้าเราเขียนแค่นนทบุรี ปทุมธานี ก็อาจมีลุ้น อย่าง สิงโตนอกคอก (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เขียน) ก็ไม่ใช่งานเขียนตามขนบ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต (วีรพร นิติประภา เขียน) ก็ไม่ใช่ เจ้าหงิญ (บินหลา สันกาลาคีรี เขียน) หรือ ความน่าจะเป็น (ปราบดา หยุ่น เขียน) ก็ไม่ใช่ เราก็ต้องไปหาคำตอบว่าทำไมงานเหล่านี้ถึงได้รางวัล แล้วจะได้เข้าใจว่าถ้าเราจะส่งบ้าง มันไปไกลได้แค่ไหน ไปถึงสระบุรีได้มั้ย (หัวเราะ) 

     สำหรับผมมันคือเกม ถ้าเราได้เขียนงานที่ชอบและชนะประกวดด้วย มันก็สนุกดี

ล่าสุด No Beans and Love Me More รักนี้ไม่มีถั่วฝักยาว ได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวด Webnovel Spirity Award 2022 ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ เล่าเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย

     เริ่มต้นจากเพื่อนนักเขียนบอกว่ามีเวทีนี้ แต่เงื่อนไขเยอะมากเลย เช่น ต้องเขียนอย่างน้อย 50 ตอน ขั้นต่ำ 1 แสนคำ ต้องลงในเว็บทุกวัน เงื่อนไขละเอียดมาก แต่เราชอบ ยิ่งเห็นยากๆ ยิ่งชอบ แล้วโชคดีอีกอย่างคือเขากำหนดกติกาว่านิยายวายที่ส่งปีนั้นต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กฝึกงาน แล้วพลอตที่เราคิดไว้เป็นเรื่องเด็กฝึกงานพอดี ตอนทำก็ขรุขระบ้าง เพราะเว็บนี้อาจไม่ใช่เว็บดังในประเทศเรา ยอดคนอ่านก็จะเงียบๆ หน่อย ก็พยายามโปรโมตกันไป สุดท้ายก็ได้รางวัล 

     ตอนที่รู้ว่าได้ก็ยังไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะเราก็เคยได้รางวัลมาบ้าง วันที่เห็นเขาเอาหน้าปกนิยายขึ้นบิลบอร์ด ก็ตื่นเต้นนะ แต่ยังไม่ได้อะไร จนกระทั่งวันที่บินไปฮ่องกง แล้วเขาทรีตเราในฐานะนักเขียนดีมากๆ เราว่านี่คือจุดเปลี่ยนในชีวิตเลย จะมีสักกี่ครั้งในชีวิตที่เราจะได้รับการดูแลแบบนี้ วันงานต้องขึ้นไปพูดสปีช จำได้ว่าพูดไปแล้วน้ำตาจะไหล เรารอเวลานี้มานานที่จะกล้าเรียกตัวเองว่านักเขียน เราสิ้นสงสัยแล้วว่าเป็นนักเขียนหรือยัง มันเหมือนเราถึงยอดเขา การเดินทางเสร็จสิ้นแล้ว ที่เหลือคืออิสระ คุณจะเขียนอะไรก็ไม่มีความกดดันแล้ว 

คุณประสบความสำเร็จครบทั้งสามด้านตามที่คิดไว้ พอจะสรุปหรือมีคำแนะนำอะไรให้กับคนที่กำลังสร้างงานของตัวเองบ้าง

     หนึ่ง—เราคิดว่าศิลปะของการเป็นนักเขียน คือการหาบาลานซ์สิ่งที่เราอยากเล่ากับสิ่งที่คนอยากฟัง คนส่วนใหญ่สนใจแต่สิ่งที่อยากเล่า คือเราเองก็ไม่ได้หาบาลานซ์เจอตั้งแต่วันแรก มันก็ผ่านการเรียนรู้ ผ่านการทำหนังสือเป็นสิบๆ เล่ม ต้องหาตรงกลาง ถ้าคุณเขียนแต่สิ่งที่อยากเล่าแล้วไม่มีคนอ่าน คุณก็จะหมดใจในที่สุด คุณต้องต่อรองกับตัวเองบ้าง อย่างเช่นในหนึ่งปีอาจมีเล่มที่คุณอยากเขียนสุดๆ ตามใจตัวเองสุดๆ แต่ก็ต้องมีอีกสักเล่มที่น่าจะขายดีด้วย 

     สอง—นักเขียนควรจะคิดภาพการทำหนังสือตลอดทั้งเส้นทาง ตั้งแต่เขียนไปจนถึงมือคนอ่าน ไม่ใช่แค่อยากเขียนก็เขียน ยกเว้นแต่คุณเป็นวีรพร นิติประภา ก็อาจจะง่าย เพราะมีคนมานั่งรอรับต้นฉบับอยู่แล้ว เราต้องคิดตั้งแต่ว่าเรื่องนี้ใครจะอ่าน เหมาะกับสำนักพิมพ์ไหน หรือว่าเราต้องทำเอง แล้วจะขายยังไง โปรโมตยังไง มีโอกาสต่อยอดเป็นละครมั้ย เขียนตามใจไปเรื่อยๆ มันก็ได้แหละ แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดและเราก็จะผิดหวัง

     สาม—เราต้องมีแพสชั่นในการเขียนอยู่เสมอ เราโชคดีมากที่เขียนงานเป็นร้อยชิ้นต่อปี ส่งประกวดแล้วได้รางวัลสักสิบครั้ง แต่เราก็ยังอยากเขียนต่อไป ปีนี้ตกรอบเวทีหนึ่ง เจ็บใจมาก ก็เลยกลับมาเขียนเรื่องสำหรับประกวดในปี 2566 รอไว้แล้ว 15 เรื่อง เพราะโมโหมาก เดี๋ยวเจอกู (หัวเราะ) เรามีแพสชั่นตลอด เพราะมีความสุขตั้งแต่เริ่มเขียน มันทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น 

ถ้าความสุขจากการเขียนคือสิ่งสำคัญ แล้วเรื่องที่คุณเพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนได้เต็มปาก มันสำคัญยังไง

     มันเป็นการพิสูจน์กับตัวเอง มันคือการวิ่งไปถึงยอดเขา แล้วก็จบลง แต่เราสามารถมีความสุขกับความสำเร็จนี้ได้ตลอดชีวิต อะไรที่ได้มายาก มันก็มีคุณค่าที่จะทำให้เรามีชีวิตต่อ 

     เราตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่ามีชีวิตอยู่ไปทำไม เราก็เลยต้องมีคำตอบให้ตัวเองชัดเจน พอตอบได้ว่าเราเป็นนักเขียน เรายอมรับในตัวเองได้ ก็ดำรงชีวิตต่อไปได้

แล้วกับบทบาทนักธุรกิจ-นักลงทุนล่ะ มันช่วยคุณในเรื่องงานเขียนบ้างไหม

     ช่วยในแง่ทำให้คิดเป็นระบบ น้องที่ช่วยทำงานสำนักพิมพ์เคยบอกว่า ข้อดีของเราคือไม่เป็นนักเขียนที่ติสท์จนเกินไป เราวางแผนเสมอว่าจะทำอะไร ขายใคร ออกแบบหน้าปกยังไง คิดคำโปรย คิดวิธีขาย ต่อรองธุรกิจต่างๆ เราทำด้วยหัวของผู้ประกอบการ ทำให้งานเราไปได้ไกลที่สุด มันก็เป็นลักษณะหนึ่งของผู้ประกอบการและนักลงทุน นี่อาจเป็นจุดเด่นของเราก็ได้ เพราะนักเขียนหลายคนอาจไม่ได้จริงจังกับสิ่งที่ต้องทำหลังเขียนเสร็จขนาดนี้ 

ในฐานะนักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ที่เป็นนักลงทุนด้วย คุณมองว่าภาพรวมธุรกิจหนังสือตอนนี้เป็นยังไง

     เป็นธุรกิจที่เหนื่อย แล้วก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันไม่ได้เป็นธุรกิจ rising star มาตั้งนานแล้ว เพราะต้องต่อสู้กับปัจจัยเวลาของผู้บริโภค 

     ย้อนกลับไปตอนเราเด็กๆ มันไม่มีความบันเทิงอื่นนอกจากอ่านหนังสือ หนังสือคือความสุขราคาถูก แต่ถ้าเทียบกับวันนี้มันต่างกันมหาศาล เราจึงต้องหาจุดเด่น หาจุดขายของหนังสือให้ได้ และต้องไม่ยึดติดวิธีเดิมๆ เพราะมันไม่ใช่หนังสือแบบที่เคยเป็นเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว 

     ผมเชื่อว่าหนังสือยังไม่ตายหรอก แค่อาจจะไม่ได้โตมากมาย และยังพอมีช่องทางให้เราเดินต่อ

คุณมีหลักคิดหรือกลยุทธ์การตีพิมพ์หนังสือยังไงในแง่ธุรกิจ

     ต้องเลือกเล่มที่ขายได้แน่ๆ มองเห็นหน้านักอ่านชัดเจน หนังสือเป็นสินค้าประหลาด มันเป็นสินค้าที่ทำการตลาดยาก ไม่เหมือนร้านอาหารหรือเสื้อผ้า มันต้องใช้การบอกปากต่อปาก ต้องดีจริง หนังสือที่อยู่ในตลาดนานเกิน 5 ปีอย่าง ความสุขของกะทิ ถามว่าเขาทำการตลาดเหรอ เคยส่งให้อินฟลูฯ เหรอ ก็ไม่ มันอยู่ได้ด้วยตัวเอง สินค้าต้องยอดเยี่ยม ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม แล้วสินค้าก็จะไปของมันได้เอง 

     ดังนั้นนักเขียนต้องให้ความสำคัญกับช่วงก่อนเขียนให้มากๆ เราต้องสวมหัวเป็นสำนักพิมพ์ตั้งแต่ก่อนเขียนเลย ลองคิดภาพว่าถ้ามีคนเสนอเรื่องคนแอบชอบกันในมหา’ลัย ถ้าเป็น บ.ก. เราจะซื้อพลอตนี้มั้ย แล้วจะขายยังไง เราว่ามันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นที่จะสวมหมวกทั้งสองใบ แค่บางคนอาจไม่เคยลองคิดอย่างจริงจัง 

เรื่องเงินดูเป็นเรื่องขมๆ ของนักเขียนไทย สำหรับคุณซึ่งมีอิสระทางการเงิน ไม่ต้องเครียดกับการหาเงินจากงานเขียน สิ่งนี้ถือเป็นแต้มต่อสำหรับคุณไหม

     ต้องเล่าแบบนี้ เราใส่เงินลงทุนกับสำนักพิมพ์ตัวเอง 1 ล้านบาท และตั้งใจว่าจะไม่เติมเงินเข้าไปอีก บอกตัวเองว่าถ้าทำแล้วไม่รอด ต้องยอมรับ อย่าเผาเงิน เจ๊งก็คือเจ๊ง 

     เราเริ่มทำสำนักพิมพ์เดือนมกราคม ปี 2020 พอถึงเดือนธันวาคม ปี 2021 จำได้ว่าเงินหมดแล้ว ไม่สามารถจ่ายค่า บ.ก.ได้แล้ว ก็เลยเลื่อนเปิดพรีออร์เดอร์ Stock Lecture เร็วขึ้นเพื่อจะได้มีเงินหมุน แล้วก็เป็นเล่มนั้นที่ปลดปล่อยทุกอย่าง เงินไหลเข้ามาเดือนเดียว 2-3 ล้าน สุดท้ายสำนักพิมพ์ก็รอดโดยที่เราไม่ได้เติมเงินเข้าไปอีก

     เราว่านักเขียนส่วนใหญ่รู้ว่ามีปัญหาเรื่องเงิน แต่เขาอาจไม่แคร์ ไม่คิดจะแก้ไขมัน เขาอาจไม่ได้ชื่นชอบการบริหารเงินขนาดนั้น ซึ่งจริงๆ อันนี้เป็นปัญหาของคนทุกอาชีพแหละ สุดท้ายเลยบอกไม่ได้ว่าเงินคือปัญหาของอาชีพนักเขียน หรือเป็นปัญหาของทุกคนบนโลกกันแน่

ขอคำแนะนำสัก 3 ข้อเกี่ยวกับการหารายได้จากงานเขียนหน่อย

     หนึ่ง—ต้องทำหนังสือที่ดีจริงๆ มีคนสร้างตำนานจากหนังสือดีๆ มากมาย ตัวอย่างชัดเจนคนหนึ่งคือ LADYS อย่างเล่ม Beau (is Non-Binary of Everything) ไม่มีสำนักพิมพ์ ไม่มีอะไรเลย แต่ขายได้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าหวยจะออกที่เราวันไหน แต่ถ้าวันนั้นหวยออกที่เราแล้ว งานเราก็ต้องดีด้วย ไม่ใช่ว่ามีคนมาเจอหนังสือคุณ แต่งานคุณไม่ดี มันก็เสียโอกาส ลองคิดว่าถ้ามีอินฟลูฯ สักคนหยิบไปอ่าน รอดหรือไม่รอด 

     สอง—ทำ personal branding ถ้าคุณเป็นนักเขียนที่เก่งมาก แต่บอกสำนักพิมพ์ว่าไม่ไปแจกลายเซ็นนะ ไม่สัมภาษณ์ ห้ามติดต่อ ให้ได้แค่นามปากกา เขาก็ไม่อยากยุ่งแล้ว เพราะจะโปรโมตยังไงล่ะ ชื่อนักเขียนมีผลต่องานเขียนเสมอ เราต้องให้ความสำคัญกับการทำการตลาดตัวเอง พาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มคนอ่านของคุณให้ได้ ทำไม นิ้วกลม หรือ หนุ่มเมืองจันท์ ถึงประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่เพราะงานเขียนของเขาเพียวๆ แต่เกิดจาก personal branding ที่แข็งแรงมาก 

     ต้องถามตัวเองว่าวันนี้เริ่มทำแล้วหรือยัง มีช่องทางติดต่อมั้ย คนอ่านชอบงานคุณแล้วเขาจะไปติดตามคุณต่อทางไหน ไม่อย่างนั้นก็เหมือนทำร้านอาหารแล้วไม่มีหน้าร้าน ทำอาหารไปวางไว้ มีคนมาหยิบกิน อร่อยดี แต่ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหนอีก 

     ถ้าลงรายละเอียดอีกหน่อยก็คือ คุณต้องมีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้ขายแค่งานเขียน แต่ต้องมีช่วง writer’s talk เพื่อบอกว่าคุณเป็นใคร ทำไมคนถึงจะสนใจคุณ ทำเพจก็ต้องมีคอนเทนต์อื่นๆ บ้าง ไม่ใช่โพสต์แค่ตอนจะขายหนังสือ ถ้าคุณไม่ใช่ JittiRain ที่โพสต์แล้วมีคนไลก์เป็นพันตลอด ก็อาจต้องบูสต์โพสต์บ้าง คิดคอนเทนต์อื่นๆ บ้าง 

     สาม—คุณต้องมีแพสชั่นกับสิ่งนี้ เพราะเราไม่รู้จริงๆ ว่าความสำเร็จจะมาถึงเมื่อไหร่ บางคนก็โชคดีมาถึงเร็วอย่าง ปราปต์ เขียน กาหลมหรทึก เล่มแรกแล้วประสบความสำเร็จเลย แต่บางคนก็อาจจะเป็นแบบ ศิริวร แก้วกาญจน์ เขียนหนังสือมานาน ชิงซีไรต์เป็นสิบรอบ แล้วเพิ่งมาได้รอบที่สิบ แต่ละคนมีช่วงประสบความสำเร็จไม่เหมือนกัน คุณแค่ต้องทำไปเรื่อยๆ และมีแผนสำรองว่าคุณจะใช้ชีวิตยังไง คุณมีความสุขหรือเปล่า จะหาเงินจากทางไหนบ้าง ไม่งั้นคุณก็หมดแรง

คุณไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งสามด้านแล้ว หลังจากนี้ชีวิตนักเขียนของคุณจะปีนขึ้นภูเขาลูกไหนต่อ

     ถ้าพูดแบบจริงจังเลยนะ รางวัลหนังสือของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) จะแบ่งออกเป็นหลายๆ หมวด เราลิสต์ไว้เลยว่าจะเขียนเรื่องอะไรส่งประกวดบ้าง แล้วทุกๆ ปีเราจะมีหนังสือ 12 เล่มส่งประกวด สพฐ. ในทุกหมวด

     เราไม่ได้คิดว่าจะชนะ แต่เป็นอารมณ์อยากลุ้น เหมือนส่งลูกไปวิ่งแข่ง เราอยากมีโจทย์ให้ชีวิต เป็นความสนุกของเราที่ได้ดีไซน์หนังสือที่ลุ้นรางวัลและขายได้ ฝั่งบทละครเราก็คิดแล้วว่าจะเอาบทไปขายช่องไหนบ้าง แต่ละช่องกำลังมองหาอะไร หนังสือขายดีอย่างหนังสือหุ้นก็คิดดีไซน์ไว้ว่าจะเขียนอะไร 

     สุดท้ายทุกเล่มที่ทำอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่มันก็มีความสุขที่ได้แก้โจทย์เหล่านี้ไปเรื่อยๆ แค่มันไม่เครียดเท่าเดิม ไม่โฟกัสมากเท่าเดิม เริ่มสนใจชีวิตด้านอื่นมากขึ้น ไปเรียนการแสดง เรียนร้องเพลง อยากทำแบรนด์เสื้อผ้า เพราะเราได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว

     ชีวิตนักเขียนมัน complete แล้ว อาจจะไม่ success เท่าคนอื่น 

     แต่เราพอใจแล้ว