Thu 13 May 2021

Korean diaspora—and Korean Independence Movement

เมื่อชาวเกาหลีย้ายประเทศกันเก่งมาตั้งแต่อดีต และอิมแพ็คของเกาหลีพลัดถิ่นที่ส่งผลต่อเอกราชของประเทศ

ภาพ: NJORVKS

     ‘ทีมเกาหลี’ 

     ‘มาเรียนต่อ แล้วหางานทำ’ 

     ‘มาแต่งงาน แล้วสร้างครอบครัว’

     หนึ่งในกระแสที่ร้อนแรงสุดๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องย้ายประเทศ 

     หลังจากที่คนรุ่นใหม่เห็นความอยุติธรรม จนเริ่มหมดความหวัง จึงหาช่องทางย้ายถิ่นฐาน ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่ดีกว่า และรวมตัวกันจนกลายเป็นกลุ่ม ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ มีการแนะนำ รีวิว วิธีการต่างๆ เพื่อย้ายออกจากประเทศนี้ 

     ‘เกาหลีใต้’ ก็กลายเป็นประเทศหนึ่งที่ค่อนข้างฮอต และเป็นตัวเลือกของหลายๆ คนที่อยากให้ประเทศนี้เป็นบ้านใหม่ (รวมถึงของเราด้วยเช่นกัน)

     วันนี้ คอลัมน์ (K)ULTURE ไม่ได้จะมาแนะนำวิธีย้ายประเทศ แต่ชวนไปดูประวัติศาสตร์การย้ายประเทศของชาวเกาหลี ซึ่งถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีคนย้ายออกจำนวนมากตั้งแต่ช่วงยุคสงคราม 

     ชาวเกาหลีในต่างแดนไปสร้างวัฒนธรรมอะไรในแต่ละประเทศบ้าง และมูฟเมนต์ของคนเกาหลีนอกประเทศ สร้างอิมแพ็คอะไรให้กับในประเทศบ้าง ไปดูกัน

ชาวเกาหลี กับการย้ายประเทศ
และการปักหมุดยืนหนึ่งเลือกทีม USA

     ขณะที่คนไทยเลือกทีมกันมากมายว่าอยากจะย้ายไปประเทศไหน ชาวเกาหลีใต้ในอดีตก็มีการเลือกทีมย้ายประเทศเช่นกัน และแน่นอนว่าต้องเป็น #ทีมUSA หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศอันดับ 1 จนถึงปัจจุบัน ที่ชาวเกาหลีนิยมย้ายกันไปมากที่สุด 

     โดยพบว่า มีชาวเกาหลีย้ายไปสหรัฐฯ ตั้งแต่สหรัฐฯ และเกาหลี (ซึ่งตอนนั้นยังไม่แบ่งเหนือ-ใต้) มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 1884 ซึ่งมักเป็นกลุ่มนักเรียน ที่หลังจากนั้น นักเรียนเกาหลีคนแรกในสหรัฐฯ ก็กลายเป็นผู้อพยพไปด้วย

     หลังจากนั้นชาวเกาหลีก็เริ่มอพยพมาสหรัฐฯ อย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 1900 โดยมีปลายทางสำคัญคือ ฮาวาย เพื่อมาทำงานทั้งในไร่สัปปะรด และโรงงานน้ำตาล ซึ่งช่วงนั้นล้วนแต่เป็นช่วงที่เกาหลีเผชิญกับความอดอยาก บรรยากาศทางการเมืองวุ่นวาย ราชวงศ์ใกล้ล้มสลาย และกำลังจะถูกญี่ปุ่นยึดครอง

     มิชชันนารีและผู้เผยศาสนาในสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จมากในการสอนและเผยแพร่ศาสนาให้แก่ผู้อพยพชาวเกาหลี ทำให้ชาวเกาหลีมากกว่าครึ่งในสหรัฐฯ นับถือศาสนาคริสต์ และยังมีการตั้งคริสตจักรเกาหลีแห่งแรกในโฮโนลูลู ฮาวายด้วย ซึ่งความเป็นกลุ่มก้อนของศาสนานี้ ก็มักจะคอยช่วยชาวเกาหลีที่ย้ายมาใหม่ๆ ทั้งในเรื่องภาษาและการปรับตัว

     ส่วนคลื่นลูกที่ 2 ของการอพยพเกิดขึ้นในช่วงสงครามเกาหลี ที่ประเทศกลายเป็นสงครามตัวแทน แบ่งแยกเหนือ-ใต้ 

     ชาวเกาหลีจำนวนมากเลือกย้ายหนีสงครามไปยังสหรัฐฯ อีกครั้ง แต่คราวนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ชาวเกาหลีทั่วๆ ไปที่เป็นนักธุรกิจหรือปัญญาชนอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่มภรรยาชาวเกาหลีของทหารอเมริกัน ที่ไปตั้งฐานในเกาหลีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และลูกๆ หรือเด็กกำพร้าจากสงครามที่ครอบครัวชาวอเมริกันพากลับไปสหรัฐฯ ด้วย

     สหรัฐฯ ยังคงเป็นทีมโปรดตลอดกาลของชาวเกาหลี โดยช่วงหลังปี 1965 สหรัฐฯ ได้ยกเลิกระบบโควตาในการจำกัดผู้อพยพในพระราชบัญญัติการเข้าเมืองและการแปลงสัญชาติ ทำให้ชาวเกาหลีที่มีทักษะเริ่มอพยพมามากขึ้น โดยเฉพาะการอพยพเป็นครอบครัวจำนวนมาก นึกภาพได้จากครอบครัวลีในภาพยนตร์ Minari รวมไปถึงคนที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งในช่วงนั้น มีตัวเลขว่าวิศวกร (87%) นักสังคมศาสตร์ (91%) และนักวิทยาศาสตร์ (97%) ที่ไปศึกษาต่อ เลือกที่จะไม่กลับมาประเทศเกาหลี

     เหตุผลที่ทำให้คนเกาหลีส่วนใหญ่เลือกทิ้งแผ่นดินเกิด เพราะต้องการหนีจากตัวเลขอัตราการว่างงานที่สูง ความไม่มั่นคงทางการเมือง และการปกครองแบบเผด็จการทหารในเกาหลีใต้ ทำให้ชาวเกาหลีอพยพมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่ม มีคอมมูนิตี้ ทั้งในทางศาสนาและวัฒนธรรมร่วมกันในสหรัฐฯ ซึ่งเราจะพบโคเรียทาวน์ได้ในหลายๆ เมืองใหญ่ หรืออย่างนิวยอร์กเอง ก็มีย่านที่ถูกเรียกว่า โคเรีย ไทม์สแควร์ และยังมีรุ่นลูก รุ่นหลานต่อๆ มา จนกลายเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่หลากหลายในสหรัฐฯ

     ในตอนนี้ สหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นประเทศหลักยืนหนึ่งที่ชาวเกาหลีเลือกไป ตามมาด้วยประเทศใกล้เคียงอย่างจีน ญี่ปุ่น และประเทศที่รับผู้อพยพจำนวนมากอย่างแคนาดา 

     แต่ประเทศหนึ่งที่เรียกได้ว่าเซอร์ไพรส์มาก และเป็น 1 ใน Top 5 นี้ คือ ‘อุซเบกิสถาน’ เนื่องจากมีชาวเกาหลีถูกเนรเทศจากสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1930 จนกลายเป็นมี ‘Koryo-sarams’ หรือชาวเกาหลีเกือบสองแสนคนในปัจจุบัน 

     ทั้งนี้ชาวเกาหลีใต้ในอุซเบกิซสถาน ยังเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้มาตลอด ไม่แพ้ชาวเกาหลีใต้ในที่อื่นๆ เห็นได้จากการมีอนุสาวรีย์ความสัมพันธ์ของสองประเทศ มีสมาคมวัฒนธรรม และมูลนิธิชาวเกาหลีโพ้นทะเลในประเทศนี้ด้วย

เมื่อชาวเกาหลีในสหรัฐฯ รวมแรงกันช่วยทีมเกาหลี

     ประเด็นหนึ่งที่มาพร้อมกับเรื่องการย้ายประเทศ คือการมองว่า หากคนย้ายออกจากประเทศเยอะๆ อาจทำให้แรงงานหายไป อาจทำให้จำนวนคนที่ยังอยู่น้อยลง ซึ่งส่งผลต่อการต่อสู้เรียกร้องประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะทางการเมือง 

     แต่สำหรับเกาหลีเอง เคยมีกรณีที่ชาวเกาหลีโพ้นทะเลในสหรัฐฯ ที่แม้จะย้ายประเทศไปแล้ว หรือเกิดและเติบโตในประเทศใหม่ แต่ก็ยังร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นในประเทศแม่ และหวังใช้อิทธิพลในต่างประเทศช่วยกดดันเรื่องการเมืองในประเทศด้วย

     เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเกาหลียังรวมกันเป็นเกาหลีเดียว ในช่วงที่เกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครอง หลังจากเหตุการณ์ชุมนุม 1 มีนาคม 1919 ที่ชาวเกาหลีลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องอิสรภาพจากญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะจบด้วยการนองเลือด ถูกญี่ปุ่นปราบ มีคนเสียชีวิต บาดเจ็บ และโดนจับ แต่เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสปลดแอกจากญี่ปุ่น 

     หลังจากวันนั้นเอง ชาวเกาหลีในอเมริกาก็เริ่มขยับและรวมตัวกัน เพื่อสร้างมูฟเมนต์การเรียกร้องอิสรภาพของเกาหลีในต่างแดน

     จุดเริ่มต้นนี้ มี ซอ แจพิล (Seo Jae-pil) หรือ ฟิลิป ไจซอห์น (Philip Jaisohn) ชาวเกาหลีที่ได้สัญชาติอเมริกันคนแรกเป็นผู้ริเริ่ม ด้วยการรวมชาวเกาหลีในสหรัฐฯ ที่รัฐฟิลาเดเฟีย ผ่านการจัดประชุม ซึ่งก็มี อี ซึงมัน (Seung Man Rhee) คนที่ภายหลังกลายมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีเข้าร่วมด้วย 

     การประชุมนี้มีการลงนามคำประกาศอิสรภาพ และยังมีจุดประสงค์ว่า จะรวมตัวเพื่อต่อสู้ และหวังกระจายเรื่องนี้เข้าไปในหมู่ชาวอเมริกัน เพื่อให้สหรัฐฯ แทรกแซง และช่วยเหลือเกาหลีปลดแอกจากญี่ปุ่น โดยซอและอียังได้ก่อตั้งกลุ่ม League of the Friends of Korea ทั่วสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งตอนแรกมีสมาชิกเพียง 90 คน

     สมาชิกคนสำคัญของ League of the Friends of Korea ที่มีส่วนขับเคลื่อนจนประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากชาวสหรัฐฯ คือ ยาง ยูชาน (Yang Yuchan) นักศึกษามหาวิทยาลัยบอสตัน ผู้มักขึ้นเวทีพูดเรื่องอิสรภาพของเกาหลีในที่ต่างๆ และดึงนักศึกษาในบอสตัน นักการเมือง ผู้ประกอบกิจการ และชาวคริสต์ให้มาสนใจได้จำนวนมาก 

     อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่า ศาสนาคริสต์ประสบความสำเร็จมากในการเผยแพร่ศาสนาแก่ชาวเกาหลีพลัดถิ่น และในตอนนั้น ชาวเกาหลีเหล่านี้ก็ใช้ประเด็นศาสนาคริสต์กับชาวอเมริกันกลับด้วยเช่นกัน โดยการเน้นย้ำไปที่เรื่องประชาธิปไตย และเหตุผลทางศีลธรรมว่า การเป็นอิสรภาพจากญี่ปุ่น มีผลต่ออนาคตของศาสนาคริสต์ในเกาหลี ส่งผลให้ League of the Friends ในบอสตัน มีจำนวนคนเพิ่มถึง 1,500 คนในเวลาไม่กี่ปี

     ประเด็นต่างๆ ที่ยางตีแผ่ ได้ลงหนังสือพิมพ์และกลายเป็นที่สนใจมาก ทำให้ชาวอเมริกันไปถึงชาวจีน หนึ่งในประเทศที่ก็ถูกญี่ปุ่นกดขี่ช่วงนั้น หันมาเห็นด้วยกับการเรียกร้องอิสรภาพของเกาหลี 

     แม้ว่าเกาหลีจะปลดแอกจากญี่ปุ่นได้ในอีกหลายสิบปีต่อมา จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือ แต่ก็มีการมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชเกาหลีของชาวชุมชนเกาหลีพลัดถิ่นในสหรัฐฯ ที่ร่วมกันสนับสนุนอย่างไม่หยุดยั้ง โดยยางมักเผยแพร่ข่าวชาวคริสต์ โบสถ์ และมิชชันนารีต่างๆ ในเกาหลีที่ถูกญี่ปุ่นคุกคาม ฆาตกรรม และความโหดร้ายต่างๆ ของจักรวรรดิญี่ปุ่น จนทำให้ชาวอเมริกาหันมาสนับสนุนการประกาศอิสรภาพเกาหลีจำนวนมาก

     หลังจากเกาหลีปลดแอกได้ อี ซึงมัน คนเดียวกันนั้น ก็ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีเกาหลี ซึ่งแม้ว่าเขาจะถูกมองว่าเป็นผู้นำเผด็จการ และมีส่วนทำให้เกาหลีเข้าสู่สงครามระหว่างเหนือ-ใต้ในเวลาต่อมา แต่ก็ถูกจดจำเช่นกันว่ามีส่วนในการผลักดันอิสรภาพเกาหลีจากต่างแดน รวมถึงยางเอง ก็ถูกแต่งตั้งเป็นทูตเกาหลีคนแรกในสหรัฐฯ ด้วย

ปัญหาของชาวเกาหลี ที่ไม่อยากเลือกทีมเกาหลี

     กลับมาที่ปัจจุบัน เราอาจจะเห็นภาพชาวเกาหลีจากหลากหลายประเทศ ที่กลับมาทำตามความฝัน มาเป็นไอดอล นักร้อง หรือนักแสดงในประเทศแม่อย่างเกาหลี อย่าง เจสสิก้า อดีตวง Girls’ Generation และน้องสาว คริสตัล วง f(x) หรือหนุ่มๆ ในวง NCT จนกลายเป็นกระแสที่หลายๆ วงต้องมีสมาชิกเกาหลีที่มาจากต่างประเทศ 

     แต่ถึงเราจะเห็นภาพคนที่กลับมา ในความเป็นจริงนั้น เกาหลีใต้ก็ยังคงเป็นประเทศที่มีประชากรใฝ่ฝัน เฝ้าหวังจะออกนอกประเทศอยู่ตลอดเช่นกัน

     คนในประเทศนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย กลับมองว่าประเทศของตัวเองเป็นนรก และอยากย้ายออก 

     จากการสำรวจกลุ่มชาวเกาหลีอายุ 19-59 ปี จำนวน 5,000 คนเมื่อปี 2020 มีมากกว่า 70% ที่อยากย้ายออก โดยเป็นผู้หญิง 79.1% และผู้ชาย 72.1% ทั้งยังมีสถิติว่า ชาวเกาหลีเริ่มหางานในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมากในเวลาไม่กี่ปี โดยเฉพาะกลุ่มงานด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกร

     ทั้งจากการสำรวจและสัมภาษณ์ของสื่อก็พบว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้พวกเขาอยากย้าย เช่น ความเครียดในการเรียน วัฒนธรรมการทำงานที่หนัก ระบบอาวุโส ไปจนถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศโดยเฉพาะในที่ทำงาน

     แต่ถึงแม้ว่าชาวเกาหลีจะมีความฝันอยากออกจากประเทศไม่แพ้ชาวไทยในตอนนี้ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นแตกต่างคงจะเป็นนโยบายและวิธีรับมือของรัฐบาล ซึ่งเกาหลีใต้มีประสบการณ์และพยายามดึงคนเกาหลีกลับมาอยู่บ้านเกิดโดยตลอด ตั้งแต่ยุค 1980 

     เห็นได้จากการมีนโยบายเพื่อป้องกันสมองไหลหรือดึงคนที่เก่งๆ ให้กลับมา ไม่ว่าจะเสนอเงินและเสนองาน จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีและภาคเอกชนก็ตระหนักว่าประเด็นนี้จะเป็นปัญหาในอนาคต จึงมีการพยายามพูดคุยในที่ประชุมต่างๆ รวมถึงเสนอว่าควรมีแผนระยะยาวดึงดูดคนหนุ่มสาว หามาตรการดูแลและรักษาคนกลุ่มนี้ และแม้ว่าอาจจะยังไม่สำเร็จในเร็ววัน แต่ก็ยังถือว่ามีความหวัง จากการเริ่มพูดคุยและมองเห็นว่า การไม่ยอมปล่อยคนหนุ่มสาวที่มีความสามารถให้ไหลออกไปจากประเทศ เป็นเรื่องสำคัญ

อ้างอิง:

sites.bu.edu/koreandiaspora/issues/history-of-korean-immigration-to-america-from-1903-to-present/

sites.bu.edu/koreandiaspora/issues/the-korean-independence-movement-and-boston-university/

koreatimes.co.kr/www/biz/2021/02/367_297539.html

thematter.co/social/brain-drain-and-reverse/142260

thediplomat.com/2017/07/south-koreas-brain-drain/