Wed 03 Mar 2021

THERE ARE A FEW OF MY FAVORITE THINGS

คุยกับอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร ‘เล่มโปรด’ นิตยสารที่ทำมาเพื่อให้เด็กๆ มีทางเลือกในการอ่าน ตั้งแต่เรื่องสั้น วรรณกรรมแปล การ์ตูน อัตชีวประวัติ และฮาวทูตอบปัญหาวัยรุ่น

     หลายคืนก่อน ชาว CONT. ตั้งแต่พี่ใหญ่ไปจนถึงน้องเล็กของทีม ไปเปิดวงสนทนาบน Clubhouse แพลตฟอร์มที่เปิดให้คนแปลกหน้ามาล้อมวงคุยเรื่องเดียวกันในหัวข้อ 14 อีกครั้ง ซึ่งเป็นหัวข้อที่ชาวคณะคุยกันเป็นประจำแบบออฟไลน์ในออฟฟิศ ไม่ว่าจะเพลง หนัง ละคร หรือแม้แต่การจีบกันของคนต่างยุค

     ถ้าไม่มีงานที่รออยู่ตอนเช้า เป็นไปได้ว่าห้องสนทนานี้จะเปิดยาวข้ามไปอีกวัน

     ระหว่างฟังคนนับสิบแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ปลายสาย ฉันปิดเสียงพูดของตัวเอง ทบทวนเรื่องราวตอนอายุ 14 อยู่ลำพัง ซึ่งเรื่องมันก็นานมาแล้ว นานจนจำไม่ได้ 

     อยู่ๆ เพลง ฝนดาวตก (流星雨) ของ F4, ฉากน้อยหน่ากระโดดยางในหนังเรื่อง แฟนฉัน และหนังสือชุด Harry Potter ก็ผุดขึ้นมาในความทรงจำ

     หลังจากรู้จักแฮร์รี่ รอน และเฮอร์ไมโอนี ชีวิตของฉันก็เปลี่ยนไปตลอดกาล 

     หนังสือ ร้านหนังสือ และห้องสมุด คือหลุมหลบภัยของฉัน 

     ค้นกล่องความทรงจำต่อไปอีกนิด ว่าในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ตัวฉันในตอนนั้นรู้จักหนังสือและหนังสนุกๆ จากที่ไหน ก็พบว่านิตยสารคือคำตอบ 

     ก่อนอื่น ขอดูมือคนที่เกิดทันนิตยสาร เล่มโปรด หน่อยค่ะ

     ฉันก็เป็นเหมือนแฟนคลับแฮร์รี่ พอตเตอร์ หลายๆ คนที่เริ่มรู้จักนิตยสาร เล่มโปรด จากหน้าปก เจ.เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) เพราะในยุคนั้นไม่ค่อยมีสื่อให้ติดตามนักเขียนในดวงใจเท่าไหร่ รู้ตัวอีกทีก็สมัครสมาชิก และไม่เคยพลาดเสื้อกับกระเป๋า ของสมนาคุณที่ทำพิเศษสำหรับสมาชิกเลยสักรุ่น 

     เล่มโปรด คือนิตยสารเพื่อนรักนักอ่าน ที่แม้จะเป็นนิตยสารภายใต้สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ แต่เป้าหมายหลักไม่ใช่การขายหนังสือ จุดประสงค์ของ เล่มโปรด คือ มาเพื่อส่งเสริมการอ่านและเขียน

     หลังเปิดตัวฉบับแรกปี 2544 หน้าปก เดวิด เบ็คแฮม (David Beckham) นักฟุตบอลชื่อดังชาวอังกฤษ นิตยสาร เล่มโปรด ก็เข้าไปนั่งในใจหนอนหนังสือหลากหลายวัย ด้วยการหยิบวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปลมาลงให้อ่านเป็นตอนๆ ซึ่งหลายเรื่องก็สนุกจนวางไม่ลง เรื่องสั้นหลากหลายแนวที่ชวนติดตาม เรื่องรู้ใจวัยรุ่น ไปจนถึงความเรียงผลงานเดบิวต์สำหรับผู้มีความฝันทุกท่าน 

     ฉันรู้สึกเสียดายแทนคนรุ่นใหม่ ที่พลาดนิตยสารอ่านสนุกเล่มนี้ เพราะ เล่มโปรด ฉบับสุดท้าย คือฉบับที่ 119 วางแผงไปเมื่อปี 2554

     เพราะคิด (แต่ไม่) ถึง คิด คิด (แต่ไม่) ถึงเธอ จึงถือโอกาสทำคอลัมน์ Back Issue ตอนใหม่ พูดคุยกับ ‘พี่นี—รังสินี เห็นศิริศักดิ์’ อดีตบรรณาธิการบริหารผู้อยู่เบื้องหลังนิตยสาร เล่มโปรด ตั้งแต่วันแรก ถึงเรื่องราวสมัยที่ยังทำนิตยสาร เล่มโปรด บรรยากาศการอ่านหนังสือในยุคนั้น การค้นหาความสนใจของผู้อ่าน การเข้ามาของเทคโนโลยี การปรับเนื้อหาและเปลี่ยนรูปเล่มตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และด้วยสถานการณ์โรคระบาดในช่วงเดือนมกราคม เราจึงต้องต่อสายคุยกันแบบทางไกล กรุงเทพฯ-กาญจนบุรีแทนการพบหน้า ซึ่งปัจจุบัน พี่นีทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือเด็กของสำนักพิมพ์ Monkey Books

     ยิ่งคุยก็คิดถึงตัวเองในเวอร์ชั่นที่เป็นเด็กแว่นผู้เต็มไปด้วยความฝัน ตัดภาพกลับมาวันนี้ก็ถือว่าไม่เลวนะ (“เก่งมากจ่ะๆ” ฉันคิดพลางใช้มือขวาตบที่ไหล่ซ้ายของตัวเอง) 

     ว่าแต่ว่า อมก. (โอ้ว มายก้อด) ไม่น่าเชื่อว่า เล่มโปรด ฉบับที่ถืออยู่ในมือ กำลังจะมีอายุครบ 20 ปีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ยังจำได้อยู่เลยว่าดีใจแค่ไหนตอนรับมันจากมือพี่ไปรษณีย์ 

     จากที่คิดจะยื่นเรื่องสนุกๆ แล้วชี้ชวนให้ชาวกราฟิกฯ ดูการจัดเรียงหน้าแบบบ้านๆ ในนิตยสาร อวดของดีประจำรุ่นแก่รุ่นน้องในออฟฟิศ ฉันรีบเก็บมันกลับมาที่โต๊ะของตัวเองแทบไม่ทัน

     จะว่าไปวิธีคิดของ CONT. ในวันนี้ก็เหมือนนิตยสาร เล่มโปรด ในวันนั้นเหมือนกันนะ

อะไรคือโจทย์ตอนทำนิตยสาร เล่มโปรด

     เดิมเราเป็นบรรณาธิการหนังสือเด็กของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ วันหนึ่ง คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา เจ้าของสำนักพิมพ์ ไปเจอนิตยสารจีนที่มีเด็กอ่านเยอะมาก และมีเรื่องสนุกๆ เต็มเลย เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากมีนิตยสารอ่านสนุกสำหรับเด็กไทยบ้าง โดยเฉพาะเด็กชั้นประถมปลายถึงมัธยมต้น ซึ่งเป็นวัยที่จะอ่านหนังสือน้อยลง เพราะเขาได้เจอสิ่งแปลกใหม่ที่น่าสนใจเต็มไปหมด การบ้านก็เยอะ กิจกรรมก็แยะ เวลาสำหรับอ่านหนังสือจึงน้อยลง เล่มโปรด จึงเกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่อยากให้เด็กๆ มีทางเลือกในการอ่านหนังสือ 

กลุ่มเป้าหมายของ เล่มโปรด คือใคร หนอนหนังสือหรือคนทั่วไปที่อยากให้เริ่มอ่านหนังสือ 

     เราอยากทำให้เด็กที่ไม่ชอบอ่านหนังสือได้เริ่มอ่านหนังสือ เพราะเราเชื่อว่าคนที่ไม่อ่านหนังสือ เขาอาจจะยังไม่เจอสิ่งที่เขาถูกใจ ถ้าเขาได้เจอเรื่องที่เขาถูกใจ เขาก็จะอยากอ่าน งานของเราคือพาเขาไปเจอสิ่งที่ถูกใจ 

     เราไม่ได้มองว่าการอ่านต้องหมายถึงวรรณกรรมอย่างเดียว คนที่อ่านหนังสือแนวฮาวทู คนที่ชอบเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือชอบแนวสารคดี เราไม่ได้ตัดสินกันที่หนังสือที่เขาอ่าน ทุกคนเป็นนักอ่านได้เหมือนกัน

การจะทำนิตยสารที่ทำให้เด็กรักการอ่าน ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

     หนึ่ง เนื้อหาที่มีความหลากหลาย เพราะคนอ่านมีความสนใจไม่เหมือนกัน บางคนชอบสารคดีความรู้ บางคนชอบวรรณกรรม ซึ่งนอกจากวรรณกรรมแปลแล้ว ยังมีงานเขียนของนักเขียนไทยหลายรุ่น นักเขียนรุ่นเก่าจะมาเล่าประสบการณ์และเรื่องราวในอดีต ขณะที่นักเขียนรุ่นใหม่ก็จะมีลูกเล่นที่เด็กๆ ชอบ หรือมีประเด็นที่ใกล้เคียงกับความสนใจของเด็กๆ

     สอง เรื่องที่เป็นความรู้กว้างออกไป เรื่องที่เปิดโลกใหม่ๆ ให้ผู้อ่าน เช่น ความรู้เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เรื่องเล่าตำนานเทพและเทวดาที่มักปรากฏอยู่ในหนังสือวรรณกรรมแปลต่างๆ และบทสัมภาษณ์ที่ทำให้รู้จักนักเขียนและแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง

     และสาม พื้นที่แสดงความสามารถ เมื่ออ่านหนังสือถึงจุดหนึ่ง เขาจะเริ่มอยากเขียน เราต้องมีพื้นที่ให้เขาได้เขียน

จำเป็นไหมว่าคนทำนิตยสารต้องมีความสนใจที่หลากหลายด้วย

     เราคิดว่าเราเป็นนักคัดสรรมากกว่า เราก็ไม่ได้อ่านหนังสือทุกแนว ส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านนิยาย ชอบการ์ตูน และอ่านวรรณกรรมเยาวชนบ้าง แต่เราต้องรู้ว่ามันมีแนวไหนบ้าง แล้วคัดสรรเรื่อง คัดสรรนักเขียนที่ตรงกับความต้องการให้มาอยู่ในนิตยสารของเรา

ประสบการณ์จากการทำหนังสือเด็ก ช่วยให้ทำนิตยสารสำหรับเด็กง่ายขึ้นมั้ย

     ตอนทำหนังสือเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือแนวความรู้ทั่วไปสำหรับเด็ก กับวรรณกรรมกึ่งการ์ตูนที่สอดแทรกเรื่องวิทยาศาสตร์และเรื่องราวการสืบสวนสอบสวน พอต้องมาทำนิตยสาร ตอนแรกก็รู้สึกว่ายาก ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดีมั้ย ตลาดจะเปิดรับแค่ไหน กังวลว่าเราจะหาเรื่องที่เด็กวัยนี้สนใจแล้วอยากอ่าน และทำเรื่องให้เขาอยากอ่านได้อย่างไร แม้ระหว่างที่นิตยสารเสร็จแล้วก็ยังกังวลอยู่ จนเมื่อมีน้องๆ ส่งเรื่องเข้ามาลงในนิตยสาร นั่นแปลว่าเขาได้อ่านนิตยสารเราจริงๆ เพราะเขาอ่านแล้ว เขาอยากแสดงความสามารถของเขาออกมา

พอไปศึกษาแล้ว อะไรคือเรื่องที่เด็กชอบอ่าน

     เด็กชอบอ่านเรื่องสั้นแนวสยองขวัญ เรื่องแนววิทยาศาสตร์ สืบสวนสอบสวน และเรื่องที่ต้องอ่านต่อยาวๆ อย่างวรรณกรรมแปล ซึ่งเราตัดมาลงเป็นตอนๆ 

     เด็กๆ ชอบอ่านเรื่องที่เข้าถึงง่ายๆ หรือใกล้ตัวเขา เช่น เรื่อง ถึงแม่เพี้ยน หนูก็รัก (The Illustrated Mum) ของ แจ๊กเกอลีน วิลสัน (Jacqueline Wilson) นักเขียนชาวอังกฤษ เป็นเรื่องของแม่ที่มีรอยสักเต็มตัว แต่ลูกๆ ก็รักและภูมิใจในตัวแม่ของเธอ แจ๊กเกอลีนมีพรสวรรค์ในการเข้าถึงเด็กๆ เธอเขียนแทนความรู้สึกของเด็กได้จริงๆ หรืองานของนักเขียนไทยอย่าง อรุณวดี อรุณมาศ เจ้าของคอลัมน์ ‘เรื่องราวของแม่’ และ ‘หมาทุกตัวล้วนต้องตาย…!’ นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนด้วย การ์ตูนเรื่องแรกคือ มารี คูรี (Marie Curie) นักเคมีผู้ค้นพบรังสีเรเดียมที่ใช้ยับยั้งการขยายตัวของมะเร็ง

     ส่วนเรื่องที่อยากให้เด็กอ่าน ได้แก่ วรรณกรรมคลาสสิกทั้งของไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงที่มาที่ไปของวรรณกรรมชาติต่างๆ เช่น ของบางประเทศจะมีเรื่องเทพเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีคอลัมน์ ‘เทวดา-นางฟ้า’ เพื่อเขาจะได้มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องนั้น 

ตอนไหนที่เริ่มรู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว

     ช่วงที่เตรียมทำนิตยสารเป็นช่วงเดียวกับที่สำนักพิมพ์เปิดตัวหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาษาไทย ซึ่งประสบความสำเร็จมาก เมื่อก่อนก็มีหนังสือสำหรับเด็กอยู่บ้าง แต่ไม่เยอะและไม่เคยถูกพูดถึง เด็กๆ เลยไม่เคยรู้ว่ามีหนังสือที่อ่านสนุกๆ แบบนี้อยู่ แต่หลังจากที่ทุกคนรู้จักแฮร์รี่ พอตเตอร์ หนังสือวรรณกรรมเยาวชนก็ได้รับความนิยมขึ้นมา เราคิดว่าที่เด็กๆ ชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเขาและเต็มไปด้วยจินตนาการ ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่า ถ้ามีหนังสือที่อ่านสนุกให้เด็กอ่าน เด็กก็อ่านนะ

หากต้องถอดรหัส คุณคิดว่าวรรณกรรมเยาวชนดึงดูดผู้คนได้อย่างไร

     นอกจากเนื้อหาและวิธีการเล่าเหมาะสมกับเด็ก วรรณกรรมเยาวชนมักมีตัวละครหลักอยู่ในวัยเดียวกันกับคนอ่าน เนื้อเรื่องสนุก เข้าถึงอารมณ์และจิตใจของเด็ก เป็นเรื่องที่เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี เราจะเห็นว่าผู้ใหญ่ก็อ่านวรรณกรรมเด็กได้ ซึ่งประสบการณ์ในชีวิตก็ทำให้มองเห็นเรื่องราวในมุมมองที่ต่างออกไป ตอนเป็นเด็กเราก็รู้สึกว่าเรื่องนี้สนุก แต่พออ่านตอนโต เราก็จะเห็นข้อคิดที่ผู้เขียนสอดแทรกไว้ในเนื้อเรื่อง เรื่องที่เคยคิดว่ายิ่งใหญ่มากในตอนเด็ก จริงๆ แล้วไม่ได้ใหญ่โตขนาดนั้น หรือสิ่งที่ตัวละครพูดหรือทำ ก็ให้แง่คิดหรือแนวทางให้เรานำไปปรับใช้ได้จริงๆ

ทำไมเราจึงไม่ค่อยเห็นวรรณกรรมเยาวชนไทย

     จริงๆ ก็พอมีอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่างานของนักเขียนต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะไม่ค่อยประชาสัมพันธ์ มีให้เลือกน้อย ไม่ค่อยมีใครเลือกพิมพ์

     ข้อจำกัดของงานวรรณกรรมเยาวชนไทยคือ เนื้อเรื่องอาจจะยังไม่ค่อยหลากหลาย ผู้อ่านไม่ค่อยนิยมอ่าน มีให้เลือกน้อยเมื่ออยู่ท่ามกลางวรรณกรรมแปล ตัวพล็อตเรื่องก็อาจจะยังไม่เข้าถึงเด็กๆ มากนัก บางเรื่องก็เขียนในมุมมองผู้ใหญ่เกินไป

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ เล่มโปรด แตกต่างจากนิตยสารสำหรับเยาวชนเล่มอื่น

     เล่มโปรด น่าจะเป็นนิตยสารที่เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านแสดงความสามารถด้านการเขียนมากที่สุด โดยไม่จำเป็นว่าต้องเขียนเก่งแบบนักเขียน ขอแค่อยากเขียน เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานการเขียนไม่เท่ากัน บางคนเพิ่งเริ่มต้นเขียน ก็สามารถส่งผลงานเรื่องเล่าจากประสบการณ์สั้นๆ 4-5 บรรทัดมาได้ เด็กคนไหนอยากเขียนเรื่องสั้นเราก็เปิดรับ 

     นอกจากจะได้โอกาสตีพิมพ์ในนิตยสารแล้ว ในส่วนของเรื่องสั้น เรายังมีบรรณาธิการตัวจริงมาให้ความเห็นท้ายบท ว่าเรื่องราวนี้มีจุดเด่นตรงไหน ส่วนไหนในเรื่องควรปรับปรุง เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักเขียนหน้าใหม่ และผู้อ่านที่อยู่ทางบ้าน หรือใครถนัดเขียนเชิงสารคดี เราก็มีคอลัมน์ บ.ก.เยาวชนเล่มโปรด ให้รวมทีมคนชอบขีดเขียนและถ่ายภาพส่งเรื่องเข้ามา

ทำไม เล่มโปรด เล่มแรกจึงเป็นเรื่องของเดวิด เบ็คแฮม

     ที่เลือกเดวิด เบ็คแฮม เพราะเราอยากจูงใจให้เด็กผู้ชายมาอ่านหนังสือ คนมักคิดว่านักอ่านส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง เราเลยอยากให้เด็กผู้ชายหันมาอ่านหนังสือด้วย นอกจากนี้ในเล่มเราก็มีลงเรื่องราวชีวิตของเบ็คแฮมเป็นตอนๆ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเด็กผู้ชายหลายๆ คน

ทำไมเด็กๆ จึงควรอ่านเรื่องแนวชีวประวัติ

     เพราะในชีวประวัติสอนประสบการณ์มากมาย เส้นทางกว่าที่คนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากความพยายามอย่างหนัก การอ่านเรื่องราวของคนที่เขาชื่นชอบจะช่วยให้เขาซึมซับเรื่องที่สอดแทรกอยู่ในนั้น 

หลัง เล่มโปรด ฉบับแรกวางแผง ผลตอบรับเป็นอย่างไร

     เล่มโปรด ได้รับความสนใจจากเด็กๆ โดยเฉพาะแฟนคลับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งแฟนคลับตัวจริงต้องมี เล่มโปรด เล่มที่ 4 หน้าปก เจ.เค. โรว์ลิง และเล่มที่ 5 หน้าปกแดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliffe) ผู้รับบทแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาพยนตร์ เราคิดว่าสิ่งที่ดึงดูดคนอ่านคือ เรื่องสั้นที่มีความหลากหลาย แต่ถ้าถามถึงในแง่ธุรกิจ ช่วงที่ทำเล่มแรกๆ เราแทบไม่มีโฆษณาเลย มีบ้างแต่น้อยมาก อาศัยรายได้จากระบบสมาชิก 

นิตยสาร เล่มโปรด ในช่วงเวลา 10 ปี เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

     เริ่มจากรูปเล่มที่เปลี่ยนไป จากปัญหาว่านิตยสารของเราช่วงปีแรกนั้นจมไปกับนิตยสารเล่มอื่นๆ บนแผง ทำให้เด็กๆ หานิตยสารของเราไม่เจอ เราถึงถือโอกาสเปลี่ยนโฉมในเล่มที่ 13 จากเล่มขนาดกะทัดรัดสู่นิตยสารเล่มยาววางแล้วโดดเด่นบนแผงหนังสือ ซึ่งถูกใจผู้อ่านวัยรุ่นที่ชอบความแปลกใหม่

     นอกจากรูปเล่มที่เปลี่ยนไป เนื้อหาก็มีการปรับเพิ่มลดอยู่เสมอ ทีมงานจะมีการทำโฟกัสกรุ๊ปว่าผู้อ่านชอบเรื่องแนวไหน นำคอลัมน์ไปให้น้องๆ กลุ่มตัวอย่างอ่าน มีการทำแบบสอบถามว่าผู้อ่านชอบคอลัมน์ไหน อยากให้มีคอลัมน์อะไรใน เล่มโปรด บ้าง โดยปรับความคิดเห็นส่วนใหญ่ภายใต้ความเชื่อและทิศทางเดิมของหนังสือ

เกิดอะไรขึ้นในช่วงปีท้ายๆ ของการทำ เล่มโปรด

     ตอนทำ เล่มโปรด มักจะมีเด็กๆ ส่งจดหมายมาบอกเสมอว่า เขานำเรื่องไหนในเล่มไปใช้ในห้องเรียนบ้าง ตรงไหนเหมือนที่ครูสอน พอดีกับช่วงปีท้ายๆ ของการทำนิตยสาร เรามีโจทย์ว่าอยากให้ เล่มโปรด เข้าไปอยู่ในโรงเรียนมากขึ้น ให้ครูได้ใช้ เล่มโปรด เป็นหนึ่งในสื่อการสอน จึงเพิ่มเนื้อหา มีคอลัมน์เกี่ยวกับภาษาไทยเข้ามา และเปลี่ยนเป็น เล่มโปรด classroom magazine และมีการทำฉบับพิเศษสำหรับครูด้วย เพื่อบอกว่าคอลัมน์ไหนนำไปปรับใช้กับวิชาอะไร แต่อาจจะเป็นเพราะครูมีเนื้อหาที่ต้องสอนเยอะอยู่แล้ว ก็เลยไม่ประสบความสำเร็จนัก ทำได้เพียงสองปี เล่มโปรด ก็กลับมาเป็นนิตยสารที่เล่าเรื่องวรรณกรรมเยาวชนและการอ่านเหมือนเดิม

การเข้ามาของเทคโนโลยีส่งผลต่อการทำ เล่มโปรด อย่างไร

      พอมีเทคโนโลยี ความสนใจของเด็กก็ไปอยู่ที่ตรงนั้น อยากรู้อะไรก็ค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้ทันที เด็กๆ หันไปอ่านอย่างอื่นได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น การรออ่านนิตยสารรายเดือนสักเล่มไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

     ก่อนหน้านี้ เราเคยคิดจะทำอีบุ๊กเหมือนกัน แต่นิตยสารปิดตัวไปเสียก่อน จริงๆ เทคโนโลยีอาจส่งผลดีกับเราอยู่บ้าง จากเดิมคนจะรู้จัก เล่มโปรด เมื่อไปที่ร้านหนังสือเท่านั้น แต่อินเทอร์เน็ตอาจทำให้นิตยสารของเราไปเจอคนอ่านได้กว้างขึ้น ส่วนเขาจะเลือกซื้อหรือเลือกอ่านนิตยสารเล่มไหนหรือเปล่าก็เป็นสิทธิของเขา

ถ้าวันนี้ เล่มโปรด ยังอยู่จะเป็นไปในรูปแบบไหน

     ในความคิดของพี่ไม่อยากทำเป็นอีบุ๊ก เพราะแม้จะช่วยให้สะดวกขึ้น แต่มันไม่มีความเป็นชุมชน เราอยากให้ เล่มโปรด เป็นชุมชนของคนที่อ่านหนังสือ 

     ถ้าต้องทำจริงๆ เราอยากให้เป็นชุมชนในเว็บไซต์มากกว่า มีเรื่องให้คนอ่าน และมีพื้นที่ให้เด็กๆ เขียน โดยมีคนที่เป็นผู้รู้สามารถบอกกับเด็กๆ ได้ว่า งานนี้มีจุดที่ดีหรือควรปรับปรุงยังไง หรือให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทาง สร้างเขาให้เป็นนักเขียนที่เก่งยิ่งขึ้น ซึ่งโจทย์ยากคือ ท่ามกลางข้อมูลมหาศาล ถ้าเราอยากให้การอ่านยังคงอยู่ เราจะทำให้เด็กๆ เข้ามาอ่านเว็บไซต์นี้ได้ยังไง

อะไรคือเนื้อหาหลักที่จะพูดถึงในเว็บไซต์ของนิตยสาร เล่มโปรด ปี 2021

     เราอยากสร้างเวทีแสดงความคิดเห็นผ่านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ การเขียนผ่านระบบไตร่ตรองความคิด รู้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ทบทวนความรู้สึก ไม่ได้เขียนแสดงอารมณ์เพราะบางทีก็ไปละเมิดคนอื่น เราคิดว่าสังคมมีการแสดงออกทำนองนั้นค่อนข้างเยอะแล้ว

หากวันนี้เราจะสร้างสังคมแห่งการอ่าน อะไรคือสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก

     การอ่านเป็นพื้นฐานของชีวิต ไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้ แต่ช่วยให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ให้ทัศนคติ ให้แรงบันดาลใจ ให้แนวทางในการดำเนินชีวิต เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และความร่วมมือ 

     เริ่มจากที่บ้าน บางคนไม่เคยซื้อนิทานให้ลูกอ่าน เพราะคิดว่าลูกไม่ชอบอ่าน หรือลูกยังเล็กอยู่ ซึ่งเด็กๆ เมื่อตอนยังเล็ก การอ่านไม่ใช่หน้าที่ของเขา แต่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องอ่านให้เขาฟัง ถ้าอยากให้ลูกรักการอ่าน เราต้องอ่านให้เขาฟัง อ่านให้เขาเห็น เป็นแบบอย่างของการอ่าน และชวนเขาอ่านหนังสือ แวะร้านหนังสือบ้าง แล้วชวนกันเลือกหรือปล่อยให้เขาคิดเองว่าต้องการอ่านอะไร เราต้องยอมรับว่าบางทีหนังสือก็ราคาสูง ซึ่งถ้าผู้ปกครองมีงบประมาณจำกัด เด็กๆ ก็จะต้องเลือกเรื่องที่เขาชอบจริงๆ

     ที่โรงเรียนก็ต้องช่วยกัน ห้องสมุดจัดกิจกรรม สำนักพิมพ์ผลิตหนังสือที่น่าสนใจให้เด็กเลือกอ่าน หลากหลายแนว ถ้าเราอยากให้เด็กอ่านหนังสือเยอะๆ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

มีตัวอย่างหนังสือในต่างประเทศที่เรานำมาปรับใช้ได้บ้างไหม

     เราชอบดูของอังกฤษ หนังสือเด็กในอังกฤษเป็นมากกว่าหนังสือ ตัวเล่มมีความหลากหลาย นอกจากการอ่าน เด็กๆ จะได้เล่น ได้ลงมือทดลอง เช่น หนังสือที่สอนเรื่องแมงมุม มีสอนประดิษฐ์แมงมุม มีทดลองเรื่องใยแมงมุม ช่วยให้เด็กสนุกและตื่นเต้นมากขึ้น ทุกวันนี้เรามีหนังสือ interactive เป็นเทคโนโลยีที่ใช้โทรศัพท์มือถือส่องไปที่ภาพ เพื่อจะเห็นการเคลื่อนไหว แต่เราอยากให้หนังสือชวนเด็กให้ลงมือทำจริงๆ เป็นมากกว่าหนังสือที่อ่านแล้วได้ความรู้เฉยๆ

รู้สึกยังไงเวลาคนบอกว่าเด็กๆ ยุคนี้อ่านหนังสือน้อยลง

     ไม่ได้น้อยลงแต่แค่เปลี่ยนรูปแบบ โลกที่มีอินเทอร์เน็ต เด็กๆ เขาจะอ่านอะไรก็ได้ หาความรู้เรื่องต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่หนังสือมีคือ มี บ.ก.คัดกรองให้ระดับหนึ่ง ว่าหนังสือเล่มนี้มีการตรวจสอบแล้วนะ ทั้งเรื่องความถูกต้องและเรื่องการใช้ภาษา แต่สิ่งที่เขาหาได้จากอินเทอร์เน็ต เขาก็ต้องใช้วิจารณญาณและความคิดพิจารณาว่าสิ่งนี้มันถูกมั้ย การใช้ภาษาแบบนี้ถูกหรือเหมาะสมแค่ไหน ซึ่งทั้งครอบครัวและโรงเรียนก็มีส่วนช่วยได้ ถ้าเด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดี เขาก็จะไตร่ตรองได้ว่า อะไรที่ควรเชื่อ อะไรควรปฏิบัติตาม แน่นอนว่า การอ่านจะทำให้เขาเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นและกว้างขึ้น

ถ้าสิ่งที่คนรุ่นใหม่อ่านไม่ใช่หนังสือ ยังเรียกเขาว่านักอ่านได้อยู่ไหม

     ไม่จำกัดว่าอ่านจากไหนนะ สำคัญคืออ่านแล้วต้องได้อะไร ไม่ใช่การอ่านไปเรื่อยๆ อ่านนั่นนิด อ่านนี่หน่อยโดยที่จับประเด็นอะไรไม่ได้ ซึ่งไม่ต่างจากการเปิดหนังสือดูไปเรื่อยๆ การอ่านต้องได้ประโยชน์และมีความต่อเนื่อง แม้จะอ่านจากอินเทอร์เน็ต อ่านอีบุ๊ก ก็ถือว่าเป็นนักอ่านได้เหมือนกัน