Thu 29 Jul 2021

LOW-PRICE SPECIAL BOOK SET

หนังสือวรรณกรรมราคาประหยัดจากเหล่าสำนักพิมพ์ที่อยากให้ทุกคนเข้าถึงการอ่านได้ง่ายๆ

ภาพ: 24celsiusc

     ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกอยากอ่านวรรณกรรมสักเล่ม แต่เดินเข้าร้านหนังสือ หรือเข้าเว็บสั่งซื้อออนไลน์ทีไร เป็นต้องล้มพับอาการอยากอ่านนั้นไว้ เพราะราคาต่อเล่มช่างสูงลิ่วเกินจะควักเงินซื้อได้เหลือเกิน

     ไม่เป็นไรนะ ซาราห์ เพราะตอนนี้เหล่าคนทำสำนักพิมพ์เขารับรู้ปัญหานั้นแล้ว และร่วมกันหาทางคิด หาทางทดลองจนได้ออกมาเป็น ‘ชุดวรรณกรรมราคาประหยัด’ ที่นอกจากราคาจะสบายกระเป๋า ยังการันตีคุณภาพของเนื้อหาเหมือนเดิม

     ถ้าไม่เชื่อล่ะก็ ลองคลิกดูรีวิวเรียกน้ำย่อยจากพวกเราใน ‘พิมพ์นิยม’ คอลัมน์ที่จะมาพูดถึงสิ่งพิมพ์ที่พวกเราชื่นชอบกันได้เลย!

     แต่เดี๋ยวก่อน หากใครอยากข้ามขั้นตอนไปซื้อเลย เราแนะนำให้กดไปที่ bit.ly/3igG6jT โดยเร็วไว ตอนนี้หลายเล่มหมดไปแล้ว ถ้าใครอยากได้ต้องรีบกดเลย แล้วพอซื้อเสร็จ ระหว่างรอหนังสือมาส่ง ก็ขอชวนทุกคนกลับมาอ่านรีวิวจากพวกเรากันต่อ อย่าเพิ่งทิ้งเราไป ?

     ทุกวันนี้การพกเงิน 1,000 บาทเข้าร้านหนังสือ เราอาจได้พ็อกเก็ตบุ๊กทั้งไทยและเทศประมาณ 2-3 เล่ม แต่กับเงินจำนวนเดียวกัน หากคุณสั่งชุดวรรณกรรมราคาประหยัด ซึ่งเป็นโปรเจกต์พิเศษที่เกิดขึ้นเพราะงานเทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 หรือ Bangkok Book Festival 2021 คุณจะได้หนังสือทั้งหมด 8 เล่ม

     ‘เรื่องลึกลับในห้องสมุด’ (Mysterious Story of Library) โดย ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ ในราคา 100 บาท

     ‘ยูโทเปีย’ (Utopia) โดย ‘เซอร์ โทมัส มอร์’ ในราคา 119 บาท

     ‘เสื้อโค้ต’ (The Overcoat) โดย ‘นิโคไล โกโกล’ ในราคา 119 บาท

     ‘ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ’ (Rashomon and Other Stories) โดย ‘ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ’ ในราคา 119 บาท

     ‘บอด’ (Blindness) โดย ‘ฌูเซ่ ซารามากู’ ในราคา 180 บาท

     ‘จดหมายถึงพ่อ’ (A Letter to His Father) โดย ‘ฟรันซ์ คาฟคา’ ในราคา 70 บาท

     ‘เทียนสีแดงของนางเงือก’ (The Red Candles and The Mermaid) โดย ‘โองาวะ มิเม’ ในราคา 99 บาท

     ‘ชำเรา’ โดย ‘พิราอร กรวีร์’ ในราคา 85 บาท

     รวมทั้งหมดแล้ว 891 บาท

พระเจ้าช่วย มันประหยัดไปได้มาก!

     แต่ถ้าคุณรู้สึกว่านี่ยังไม่ประหยัดอยู่ดี เราเลยไปลองรวบรวมมาว่า ถ้าซื้อหนังสือทั้งหมดนี้ในรูปแบบการพิมพ์ปกติ (ซึ่งไม่สามารถซื้อได้ครบด้วย เพราะบางเล่มก็เพิ่งตีพิมพ์ครั้งแรก บางเล่มก็ขาดตลาด บางเล่มก็เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจากเล่มอื่น) คุณอาจต้องเสียเงินราวๆ 1,500 บาท แล้วยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับหนังสือที่ในเวอร์ชั่นปกติขายในราคา 380 บาทอย่าง ‘บอด’ แต่พอเป็นเวอร์ชั่นนี้ เหลือเพียงแค่ 180 บาทด้วยแล้ว ก็น่าจะทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่า ราคาที่ถูกตั้งขึ้นมาสำหรับเวอร์ชั่นนี้ ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของผู้อ่านไปได้จริงๆ

     แต่ก็ต้องยอมรับว่าการตีพิมพ์เวอร์ชั่นนี้ แลกมากับการลดทอนและลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ

     เชื่อว่าคอหนังสือบ้านเรา โดยเฉพาะสายวรรณกรรมแปล ช่วงหลังๆ คงจะคุ้นเคยกับพื้นผิวแปลกๆ ของปกหนังสือแต่ละเล่ม บ้างให้สัมผัสสากๆ บ้างให้สัมผัสหยุ่นๆ บ้างก็ใช้เทคนิคอลังการในการตีพิมพ์ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือหนึ่งในต้นทุนที่ถูกนำไปคิดราคาขายทั้งนั้น

     ด้วยเหตุนี้ คณะผู้จัดทำชุดวรรณกรรมราคาประหยัดจึงหันมาใช้กระดาษที่น่าจะช่วยเซฟต้นทุนได้มากที่สุดอย่างกระดาษอาร์ตการ์ดหน้าเดียว หนา 230 แกรม พิมพ์ 4 สี และเคลือบวอเตอร์เบส Gloss protection ซึ่งสำหรับสเปคนี้ ในแง่ของสัมผัส อาจไม่ได้ให้ความรู้สึกแตกต่างจากหนังสือที่พิมพ์ตามตลาดทั่วๆ ไปเท่าไหร่ เพราะหลายสำนักพิมพ์ก็ใช้กระดาษชนิดนี้ แต่อาจต่างกันที่ความหนา ส่วนการเคลือบวอเตอร์เบสก็จะช่วยให้ปกมีความเงานิดหน่อย สัมผัสแล้วรู้สึกลื่นๆ และช่วยเสริมความทนทาน ช่วยให้การพกพาไปอ่านเป็นไปอย่างสบายใจ

     ส่วนทางด้านเนื้อใน เป็นกระดาษที่ชื่อว่ากระดาษปรู๊ฟบูรพา หนา 49 แกรม พิมพ์สีเดียวคือสีดำ ซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆ ก็อาจให้ความรู้สึกเหมือนเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษของ ‘ขายหัวเราะ’ ทำนองนั้น คือไม่ได้ให้ความรู้สึกหรูหรา แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นกระดาษที่รับไม่ได้ (ถ้าจับนานๆ อาจจะหมึกติดมือนิดหน่อย) ขณะเดียวกัน เรารู้สึกว่านี่เป็นการกลับไปสู่จุดสามัญอยู่เหมือนกัน คือเวลาอ่านหนังสือ เราก็สนใจแต่สารในนั้น บางทีกระดาษเป็นอย่างไร เราก็ไม่ได้สนใจมันเท่าไหร่หรอก

     แต่ถึงจะบอกว่าลดต้นทุนต่างๆ เราก็รู้สึกว่าในแง่ของการดีไซน์ก็ยังทำออกมาได้ไม่น้อยหน้า โดยเฉพาะหน้าปกที่นอกจากจะมีฟอร์แมตเหมือนๆ กันแล้ว ภาพที่นำเสนอออกมา แม้จะดูเป็นนามธรรม หากก็ดึงดูด ชวนให้ค้นหาและอยากลองเปิดอ่านหนังสือเหล่านั้น

     นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราซึ่งมีหนังสือบางเล่มอยู่แล้ว ตัดสินใจซื้อทุกเล่มมาเก็บไว้ เพื่อจะได้จัดเรียงเป็นเซตสวยงาม และมาป้ายยาพวกคุณอีกที (แม้ตอนนี้จะหมดไปหลายเล่มแล้วก็ตาม /ร้องไห้)

     ส่วนเลย์เอาต์ด้านใน ก็จัดทำตามสไตล์ของแต่ละสำนักพิมพ์ ที่อาจจะดูแตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็ดูเป็นเอกลักษณ์ และเชื่อว่าใครที่เป็นแฟนๆ สำนักพิมพ์เหล่านี้อยู่แล้วก็น่าจะคุ้นเคยกับการจัดรูปเล่มอย่างดี

     อ้อ ส่วนเรื่องเนื้อหา แม้จะเป็นชุดราคาประหยัด แต่เนื้อหาก็ไม่ได้ประหยัดนะ ไม่มีการตัดออกแต่อย่างใด อยู่ครบถ้วนเหมือนเดิม

     ในฐานะของคนอ่านหนังสือ เรารู้สึกว่าโปรเจกต์นี้น่าสนใจ และหลังจากได้สัมผัสกับรูปเล่มจริงๆ แล้ว ก็พบว่าเป็นโปรเจกต์ที่ดูดีเข้าไปใหญ่ เพราะต่อให้พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘ชุดวรรณกรรมราคาประหยัด’ แต่สิ่งที่นักอ่านอย่างเราจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นในแง่เนื้อหา รูปเล่ม หรือใดๆ กลับมีมูลค่ามากกว่านั้น

     แม้ว่าครั้งนี้ การร่วมงานกันจะมีแค่ไม่กี่สำนักพิมพ์ (อันได้แก่ ไลบรารี่ เฮ้าส์, เจลิตเติ้ล, เม่นวรรณกรรม, สมมติ และกำมะหยี่) แต่เราก็อยากส่งแรงเชียร์ให้พวกเขาลงมือทำสิ่งนี้กันอีก และก็อาจจะดีถ้าสำนักพิมพ์อื่นๆ หันมาทำกันบ้าง โดยอาจจะหยิบเล่มที่เคยตีพิมพ์ไปแล้วมาทำใหม่ก็ได้ หรืออาจจะเริ่มต้นกับเล่มใหม่ๆ ที่จะตามมาในอนาคต

     เราเชื่อว่าถ้าใครติดตามข่าวสารวงการหนังสือมาบ้าง ก็อาจเคยได้ยินเรื่องราวการเล่าขานจุดกำเนิดของสำนักพิมพ์เพนกวิน ที่ว่าพวกเขาอยากทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กราคาประหยัด พกพาง่ายๆ ดีไซน์เรียบๆ แต่ดูดีออกวางขาย ซึ่งแน่นอนว่าสำนักพิมพ์เพนกวินทำสำเร็จ และเป็นต้นแบบให้กับสำนักพิมพ์อื่นๆ มากมายทั่วโลก

     เราเองก็หวังว่า ‘ชุดวรรณกรรมราคาประหยัด’ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้หลายสำนักพิมพ์ได้ทางออกใหม่ๆ สำหรับการตีพิมพ์หนังสือในช่วงบ้านเมืองแปรปรวนอย่างนี้ เพราะนอกจากจะทำให้ชาวสำนักพิมพ์ลดต้นทุนได้บ้าง วงการหนังสือบ้านเราก็อาจมีหนังสือราคาเข้าถึงได้ง่าย และเปิดโอกาสให้กลุ่มคนใหม่ๆ ที่อยากลิ้มลองวรรณกรรมไปหามาอ่านสักเล่มสองเล่ม

     ไม่แน่ว่าวันหนึ่งกลุ่มคนอ่านวรรณกรรมอาจขยาย เราอาจะได้เห็นหนังสือมูราคามิวางอยู่ในร้านตัดผม เห็นหนังสือของซารามากูอยู่ในร้านข้าวตามสั่ง เห็นเพื่อนพกหนังสือของเซอร์ โทมัส มอร์ ติดกระเป๋า และเราอาจเห็นใครต่อใคร พกหนังสือชุดนี้ไปอ่านตามที่ต่างๆ เป็นเรื่องปกติก็ได้