Mon 23 Jan 2023

The Makanai: Cooking for the Maiko House

ทำความรู้จัก ‘ไมโกะ’ และ ‘เกอิโกะ’

ภาพ: ms.midsummer

     The Makanai: Cooking for the Maiko House เล่าเรื่องของ ‘คิโยะ’ (รับบทโดย นานะ โมริ) และ ‘สุมิเระ’ (รับบทโดย นัตสึกิ เดกุจิ) สองเด็กสาวจากเมืองอาโอโมริ ผู้ออกเดินทางจากบ้านมาที่เกียวโตเพื่อฝึกฝนการเป็นไมโกะ ขณะที่สุมิเระกำลังทำได้ดี คิโยะกลับถูกมองว่าเธออาจไม่เหมาะกับการเป็นไมโกะ และจำใจต้องลากกระเป๋าออกจากบ้านเอเอฟไป

     แต่ก่อนเรื่องราวจะดราม่าไปมากกว่านี้ คิโยะได้โอกาสแสดงฝีมือทำอาหารจนคนในบ้านต้องร้องอูมามิ เธอจึงถูกจ้างมาทำหน้าที่มากาไน หรือแม่ครัวประจำบ้านไมโกะที่จะคอยดูแลทุกคนด้วยอาหารแสนอร่อยแทน

     ซีรีส์เรื่องนี้ดัดแปลงจากมังงะ Maiko-san chi no Makanai-san ผลงานของ ‘ไอโกะ โคยามะ’ (Aiko Koyama) เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2016 ก่อนจะคว้ารางวัลมังงะโชเน็นยอดเยี่ยม (มันโชเน็นตรงไหน) จากเวที Shogakukan Manga Awards ครั้งที่ 65 มาครอง และถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะซีรีส์ในปี 2021

     นอกเหนือจากงานภาพตระการตาที่ถ่ายทอดทั้งวัฒนธรรมเก่าแก่ อาหารสุดน่ากิน และความสัมพันธ์ของเหล่าหญิงสาวออกมาได้อย่างดี สิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้บอกเราคือ ไมโกะและเกอิโกะคืออะไร ทำไมเด็กสาวสิบห้าหยกๆ สิบหกหย่อนๆ ต้องมากินนอนร่วมกับคนแปลกหน้า แล้วตกลงเกอิโกะกับเกอิชาเหมือนกันไหม ไม่ต้องเก็บงำความสงสัยไว้คนเดียวอีกต่อไป เพราะวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับพวกเธอโดยไม่ต้องบินไปถึงเกียวโต 

     ก่อนอื่นต้องแถลงไขว่าคำว่า ‘เกอิโกะ’ มีความหมายเดียวกับ ‘เกอิชา’ ทุกประการ คืออาชีพของผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ และมอบความบันเทิงให้ผู้ชม แต่เกอิโกะเป็นคำเรียกเฉพาะในเกียวโต ส่วนพื้นที่อื่นๆ จะเรียกว่าเกอิชา ซึ่งในบทความนี้จะขอใช้คำว่าเกอิโกะตามที่อิงจากซีรีส์

     ไมโกะคือเด็กฝึกหัดที่จะโตไปเป็นเกอิโกะ โดยส่วนมากจะเริ่มเทรนกันตั้งแต่อายุประมาณ 15 ปี เหมือนกับที่คิโยะกับสุมิเระมาเริ่มฝึกหลังเรียนจบ ม.ต้น เพื่อให้มีภาพลักษณ์ของเด็กสาวสดใส ใครมาเห็นก็แช่มชื่นหัวใจ 

     ในช่วงแรกของการฝึกจะเรียกว่า ‘ชิโคมิ’ แปลว่าเตรียมตัว เหล่าเด็กสาวต้องรับใช้บรรดาพี่สาวกับคุณแม่ของบ้าน และเริ่มเรียนศิลปะเบื้องต้นเป็นระยะเวลาหนึ่งจึงจะมีการประเมินว่าพวกเธอมีความสามารถพอที่จะเป็นไมโกะมั้ย อย่างคิโยะที่ดูจะปั้นต่อไม่ได้ก็ถูกปลดและกลายมาเป็นมากาไนในเวลาต่อมา

     โดยทั่วไปไมโกะจะใช้เวลาฝึกราวๆ 5 ปี ในตอนกลางวันพวกเธอต้องเรียนรู้ศาสตร์การร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรี ชงชาแบบดั้งเดิม และจัดดอกไม้ ส่วนตอนกลางคืนก็จะไปให้ความบันเทิงกับเหล่าแขกในร้านอาหาร มีทั้งโชว์การแสดง เล่นเกม รวมไปถึงรินเครื่องดื่ม เมื่อไมโกะอายุครบ 20 ปีก็จะได้เดบิวต์เป็นเกอิโกะดั่งใจฝัน

     ปัจจุบันไมโกะและเกอิโกะในเกียวโตพำนักอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ฮะนะมะชิ’ (เมืองดอกไม้) ซึ่งประกอบไปด้วยย่านกิองโคบุ, ย่านกิองฮิกาชิ, ย่านมิยะกะวะ, ย่านปนโจโตะ และย่านคะมิชิจิเคง

     หากว่ากันตามหน้าที่ ไมโกะและเกอิโกะคือศิลปินผู้ให้ความบันเทิงเหมือนกัน แต่ทั้งคู่มีภาพลักษณ์ที่แสดงออกมาต่างกัน เริ่มจากทรงผม ของไมโกะที่เกล้ามวยสวยงามนั้นมาจากผมของพวกเธอทั้งหมด ถ้าดูซีรีส์จะเห็นฉากที่ไมโกะต้องไปทำผมที่ร้าน และเข้านอนมันทั้งอย่างนั้นด้วยหมอนทรงสูงกว่าปกติ 

     ที่ผมของไมโกะจะตกแต่งด้วย ‘คันซาชิ’ หรือปิ่นปักผมสุดอลังการ ถ้าเป็นไมโกะปีแรกจะมีช่อดอกไม้ตุ้งติ้งประดับไปด้วย ขณะที่พี่สาวเกอิโกะจะทำผมทรงอะไรก็ได้ เมื่อถึงเวลาออกแสดงก็แค่หยิบวิกมาใส่ ส่วนคันซาชิก็จะเรียบง่ายและสั้นกว่า ตามประสาตัวแม่จะแคร์เพื่อ

     กิมิโนก็เป็นอีกสิ่งที่เห็นได้ชัด ชุดของไมโกะจะเรียกว่า ‘ฟุริโซเดะ’ เป็นกิมิโนสีสันสดใส ลวดลายสวยงาม และมีช่วงแขนเสื้อยาวกว่าปกติ 

     มีการใช้ ‘โปชชิริ’ เครื่องประดับที่ทำจากอัญมณีที่บริเวณโอบิ (ผ้าคาดเอว) ด้านหน้า ส่วนด้านหลังจะปล่อยชายโอบิให้ยาวลงมาเกือบถึงระดับข้อเท้า และใส่ ‘โอโคโบะ’ รองเท้าไม้ที่มีความสูงราว 10 เซนติเมตร และมีกระดิ่งน้อยๆ ข้างใน เพื่อให้เวลาเดินจะได้ส่งเสียงกุ๊งกิ๊งน่ารักฟรุ้งฟริ้ง

     ส่วนชุดของเกอิโกะจะเป็นกิมิโนธรรมดาสีโทนสุภาพ ไม่มีการตกแต่งด้วยโปชชิริ พับชายโอบิให้พองๆ ด้านหลัง ไม่รุงรัง และสวมรองเท้าสำหรับชุดกิโมโนปกติ 

     สาเหตุที่ไมโกะและเกอิโกะต้องผัดแป้งให้หน้าขาวจั๊วะ เป็นเพราะในอดีตพวกเธอต้องทำการแสดงในตอนกลางคืน การทาหน้าขาวทำให้ใบหน้าโดดเด่นท่ามกลางแสงไฟอันน้อยนิด

     ปีแรกของการเป็นไมโกะจะทาลิปแค่ริมฝีปากล่าง เพื่อแสดงถึงความเยาว์วัย เมื่อขึ้นปีสองก็จะเริ่มทาลิปบางๆ ที่ริมฝีปากบน จนเมื่อเป็นเกอิโกะเต็มตัวถึงจะได้เป็นสาวปากแดงสักที

     ไมโกะจะทาสีขาวตั้งแต่ใบหน้าจนถึงหน้าอก แต่เว้นช่วงหลังคอที่จะเผยผิวจริงเป็นแนวแหลมๆ มีสองแบบคือ 1 ภูเขา หมายถึงเวลามองไปจะเห็นเส้นผิวจริงสองแนว กับ 2 ภูเขาที่เห็นเส้นผิวจริงสามแนวซึ่งมักทำในวันที่มีพิธีทางการ เช่น ฉากที่สุมิเระเปิดตัวในฐานะไมโกะ ส่วนเกอิโกะจะทาสีขาวทั้งหมด

อ้างอิง

facebook.com/kyoto4seasons/
youtube.com/watch?v=PoJc9l4-mJM&t=1s
youtube.com/watch?v=VJnXwyN4qPk
mai-ko.com/travel/culture-in-japan/geisha/what-is-a-geisha/
mai-ko.com/travel/culture-in-japan/geisha/differences-between-maiko-and-geisha-and-geiko/