Tue 23 May 2023

MILAN KUNDERA

ความเบาหวิว/หนักอึ้ง เรื่องชวนหัว และความเขลา เรื่องเล่าที่กระชากกรอบคิดของโลกร่วมสมัย

ภาพ: ms.midsummer

ความเบาหวิว/หนักอึ้ง

     16 ปีก่อน / ในร้านหนังสือของมหาวิทยาลัยใจกลางเมืองที่แทบไม่มีคนเข้า (ซึ่งอีกสองปีต่อมาจะปิดตัวลงเงียบๆ และเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนในระยะเวลาอันสั้น) / หนังสือสีดำยับเยิน / จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คบไฟ / สันและขอบถลอกปอกเปิก / หน้าปกเป็นรูปภาพพิมพ์ไม้เชยสะบัด / แต่ดูก็รู้ว่ามันถูกหยิบขึ้นอ่าน พลิกไปพลิกมา แล้ววางกลับเข้าที่มาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบครั้ง / ก็สมกับชื่อภาษาไทยของมัน / ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต / ใครหลายคนที่หยิบขึ้นมาคงรู้สึกถึงความเหลือทนบางอย่าง พวกเขาจึงตัดสินใจวางหนังสือเล่มนั้นไว้ดังเก่า / นักอ่านอ่อนหัดอย่างผมในวัย 18 ปี ไม่รู้จักนามของนักเขียนที่ประทับหราอยู่บนหน้าปกของหนังสือเล่มนั้นมาก่อน / ผมเปิดอ่านหน้าแรก / นิยายเปิดเรื่องด้วยทฤษฎี ‘การอุบัติซ้ำชั่วนิรันดร์’ (Eternal Return) ของ ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) ที่มักทำให้นักปรัชญาคนอื่นในยุคเดียวกันฉงน และตั้งคำถามในประโยคสุดท้ายของย่อหน้าว่า แท้จริงแล้วทฤษฎีนี้หมายความว่าอะไรกันแน่ / ผมหยิบหนังสือแสนโดดเดี่ยวเล่มนั้นออกจากชั้นวาง / ไม่! มันไม่ได้เบาหวิวอย่างที่คิด… / หรือไม่ก็เป็นความเบาหวิวของชีวิตนั่นแหละที่ผมตามหา / ผมตัดใจสินใจคว้ามัน / เดินไปจ่ายเงินตรงเคาน์เตอร์ / และนั่นเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาศิลปะปี 1 เช่นผมได้ทำความรู้จักกับคำศัพท์ทางปรัชญายากๆ อย่าง Kitsch หรือที่ ภัควดี วีระภาสพงษ์—ผู้แปล แปลไว้ได้อย่างครบความและงดงามว่า ‘รสนิยมสาธารณ์’ ก่อนจะได้ยินมันอีกครั้งในคาบเรียนวิชาสุนทรียศาสตร์ในเวลาถัดมา / และชื่อของ มิลาน คุนเดอรา (Milan Kundera) ก็ถูกประทับลงในความทรงจำของผมนับแต่นั้น….

     คุนเดอราพิมพ์ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต หรือในชื่อภาษาอังกฤษ The Unbearable Lightness of Being ในปี 1984 หรือสี่ปีก่อนผมจะลืมตาดูโลก นั่นคือผลงานเล่มที่ 5 ในชีวิตเขา ดังนั้น ตอนที่ผมได้อ่านมันครั้งแรก เขาจึงกลายเป็นนักเขียนใหญ่ของแวดวงวรรณกรรรมโลกไปแล้ว นามของเขาเลื่องระบือไปไกล หนังสือหลายเล่มถูกแปลหลายภาษา โดยเฉพาะ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ที่ถูกยกขึ้นหิ้งให้เป็นหนังสือคลาสสิกของนักเขียนร่วมสมัยผู้ยังมีลมหายใจ

     นิยายหน้าปกเยินๆ ที่ผมซื้อมาในวันนั้น ว่าด้วยเรื่องหลากชีวิตแสนวายป่วงของชาย-หญิงสองคู่ และสุนัขอีกหนึ่งตัว พวกเขามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกกันว่า ‘ปรากสปริง’ (Prague Spring) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 1968 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดเสรีภาพทางการเมืองในเชโกสโลวาเกีย ภายใต้ยุคสมัยการปกครองของสหภาพโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

     มันเราพาไปสำรวจชีวิตของศิลปินและปัญญาชน ทั้งอุดมการณ์อันน่าเชิดชู หรือกระทั่งด้านมืดอันน่าชิงชังในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ก่อนการมาถึงของเหตุการณ์การบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เมื่อสหภาพโซเวียตและพันธมิตรหลักรุกรานเชโกสโลวาเกียเพื่อยับยั้งการปฏิรูปทางการเมืองของ อเล็กซานเดอร์ ดุปเชค (Alexander Dubček) เลขาธิการเอกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชโกสโลวาเกีย (KSČ) ผู้ต้องการกระจายอำนาจของเศรษฐกิจและประชาธิปไตยให้แก่รัฐและประชาชนของตน 

     ในนิยาย ผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชีวิตของคนสองคู่ต้องแยกขาด และคนรอบข้างพวกเขาต้องเผชิญชะตากรรมอันน่าระทม—ใช่…นั่นรวมถึงชีวิตจริงของนักเขียนอย่างคุนเดอราเอง ผู้มีบทบาทค่อนข้างสูงในฐานะนักคิดของการปฏิวัติครั้งนั้นด้วย เพราะหนังสือของเขาแทบทั้งหมดถูกสั่งแบน เขาต้องแอบเขียนวิพากษ์วิจารณ์หลายสิ่งหลายอย่างผ่านหลายนามปากกา และจำต้องลี้ภัยสู่ฝรั่งเศสในปี 1975

     ชีวิตเจอเหตุการณ์หนักหน่วงเช่นนั้น แต่ทำไมเขาถึงยังยืนยันจะใช้คำว่า ‘Unbearable Lightness of Being’ มาตั้งเป็นชื่อนิยายเล่มที่ 5 ของตนกันล่ะ?

     ผมอ่าน และพบว่าคำตอบอาจปรากฏเด่นชัดตั้งแต่หน้าแรกแล้วก็เป็นได้ เมื่อคุนเดอราพยายามเล่นล้อให้เรื่องราวดำเนินไปบนทฤษฎี ‘การอุบัติซ้ำชั่วนิรันดร์’ ของนีตซ์เชที่เสนอว่า เอกภพและเหตุการณ์ต่างๆ เคยอุบัติมาแล้วทั้งสิ้น และมันจะอุบัติซ้ำต่อไปจวบจนนิรันดร์

     สรุปให้สั้นก็คือ หากเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ดำเนินไปตามกฎแปลกประหลาดเช่นนี้จริง ชีวิตที่เราเคยคิดว่ามันช่างหนักอึ้งเหลือเกินก็อาจถูกมองได้ว่าช่างเบาหวิวเหลือทนเหมือนขนนกที่ปลิดปลิวไปตามลม—ซึ่งอาจหมายถึงชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้วซ้ำๆ ซากๆ 

     หรือในทางตรงข้าม หากปฏิเสธทฤษฎีของนีตซ์เชทิ้งไปเสีย โดยเชื่อไปเลยว่า เราต่างเกิดมาและมีชีวิตเพียงครั้งเดียวก่อนจะสิ้นสูญจากกันไป ดังนั้น คำถามคือ ทำไมเราต้องแคร์อะไรต่างๆ ในชีวิตขนาดนั้นด้วย? ชีวิตก็อาจเป็นความเบาหวิวในแง่นี้ได้เช่นกัน

     ความเบาหวิวถูกแสดงให้เห็นผ่านตัวละครหลักอย่าง ‘โทมัส’ ศัลยแพทย์และปัญญาชนหนุ่ม ผู้ใช้ชีวิตเซ็กซ์อย่างสุรุ่ยสุร่าย เขามองเซ็กซ์และความรักเป็นสองสิ่งที่แยกขาด เขามีเซ็กซ์กับผู้หญิงมากหน้า แต่ก็ยังรักภรรยาอย่าง ‘เทราซา’ (ผู้ใช้ชีวิตในขั้วตรงข้าม นั่นคือการแบกรับความหนักอึ้งทุกอย่างเอาไว้) ไปได้พร้อมๆ กัน และหนึ่งในชู้รักของเขาก็คืออีกหนึ่งตัวละครสำคัญอย่าง ‘ซาบินา’ ผู้เป็นภาพแทนของความเบาหวิวเช่นเดียวกัน 

     ซาบินาคือจิตรกรสาวผู้ประกาศชัดแจ้งว่า ‘สงคราม’ ไม่ต่างอะไรกับ ‘ศิลปะอันสาธารณ์’ มันเป็นรสนิยมชวนคลื่นเหียนที่มวลชนคล้อยตามไปในทิศทางเดียวกันได้โดยง่าย ภาพชัดเจนที่สุดอาจจะเป็นการเดิน ‘ขบวนอันเกรียงไกร’ ที่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยความล้มเหลวไม่เป็นท่าของ ‘ฤดูใบไม้ผลิแห่งปราก’

     ตอนนั้น เธอมีคนรักอยู่แล้วชื่อ ‘ฟรานซ์’ ขณะที่เธอก็ลอบมีเซ็กซ์กับโทมัสไปพร้อมกัน ผู้เขียนบทความจะไม่สปอยล์เนื้อหาของนิยายไปมากกว่านี้ นอกจากจะขออนุญาตยกข้อความส่วนหนึ่งที่คุนเดอราเขียนไว้มาให้อ่าน (และต้องขออภัยที่ต้องแปลใหม่จากสำนวนแปลภาษาอังกฤษที่แปลจากภาษาเช็กของ ไมเคิล เฮนรี ไฮม์ (Michael Henry Heim) เพราะเล่มฉบับแปลภาษาไทยที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลไว้ได้หมดจดยิ่งกว่าได้สูญหายไประหว่างทางของ 16 ปีที่ทั้งหนักอึ้งและเบาหวิวของชีวิตผู้เขียนบทความไปเสียแล้ว)

     “…ยิ่งภาระที่เราต้องแบกหนักอึ้งขึ้นเท่าไร ชีวิตของเราก็ยิ่งแนบชิดกับโลกมากเท่านั้น มันยิ่งเป็นจริงเป็นจังและน่าเชื่อถือยิ่งไปอีก 

     “ในทางกลับกัน การปราศจากภาระอย่างเบ็ดเสร็จจะทำให้มนุษย์เบาหวิวยิ่งกว่าอากาศ ลอยล่องขึ้นสู่เบื้องบน ละทิ้งโลกและเรื่องราวทางโลกไป และกลายเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว การเคลื่อนไหวของเขาจึงมีเสรีภาพมากพอๆ กับภาวะอันไร้ซึ่งนัยสำคัญใดๆ 

     “แล้วเราควรเลือกอะไรล่ะ? ความหนักอึ้งหรือความเบาหวิวกันแน่นะ? 

     “พาร์เมนิดีส ชี้ให้เห็นคำถามนี้เมื่อหกศตวรรษก่อนการมาถึงของคริสตกาล เขามองโลกโดยแบ่งออกเป็นคู่ของขั้วตรงข้าม: ความสว่าง/ความดำมืด ความดีงาม/ความเลวทราม ความอบอุ่น/ความหนาวเหน็บ การดำรงอยู่/การดับสูญ เขาเรียกความแตกต่างในครึ่งแรกนี้ว่าแง่บวก (ความสว่าง, ความดีงาม, ความอบอุ่น, การดำรงอยู่) และครึ่งหลังคือแง่ลบ เราอาจเห็นว่าการแบ่งแง่บวก-แง่ลบเป็นสองขั้วเช่นนี้ช่างเรียบง่ายเหมือนความคิดของเด็กๆ ยกเว้นเสียแต่หนึ่งสิ่งที่แบ่งแยกได้ยากยิ่ง: นั่นคือ สิ่งไหนกันแน่คือแง่บวก—ความหนักอึ้ง หรือความเบาหวิว?

     “พาร์เมนิดีสตอบว่า ความเบาหวิวคือด้านบวก ส่วนความหนักอึ้งคือด้านลบ

     “แต่เขาคิดถูกจริงหรือเปล่า? นั่นคือคำถาม เมื่อสิ่งที่เที่ยงแท้เพียงหนึ่งเดียวในขั้วตรงข้ามระหว่าง ความเบาหวิว/ความหนักอึ้ง คือสิ่งที่ลี้ลับและคลุมเครือที่สุดของเรื่องราวทั้งหมดนี้”

     และ

     “เมื่อเราต้องการจะแสดงออกถึงสถานการณ์อันเศร้าโศกในชีวิต เรามักใช้อุปมาของความหนักอึ้ง เราพูดว่าบางสิ่งกลายเป็นภาระอันใหญ่ยิ่งที่ต้องแบกไว้ เราจะแบกรับภาระนั้น หรือไม่ก็จะต้องล้มเหลวและจมดิ่งลงเหวไปกับมันกันสักข้าง เราดิ้นรนต่อสู้มัน เพื่อชัยชนะ หรือไม่ก็เพื่อจะพ่ายแพ้ และซาบินา—เกิดอะไรขึ้นกับเธอกันแน่? ไม่เลย เธอทิ้งผู้ชายคนนั้น เพียงเพราะเธอรู้สึกอยากไปจากเขา เขาข่มเหงเธออย่างนั้นหรือ? เขาพยายามจะแก้แค้นเธอใช่ไหม? ไม่เลย ความระทมของเธอเป็นแค่เรื่องละครโศกฉากหนึ่ง แต่ไม่ใช่ละครโศกของความหนักอึ้ง มันคือเรื่องละครโศกของความเบาหวิว สิ่งที่ร่วงหล่นใส่ตัวเธอส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ภาระ แต่คือความเบาหวิวเหลือทนของชีวิตต่างหาก”

     ในเดือนสิงหาคม ปี 1968 สหภาพโซเวียตเคลื่อนพลบุกเชโกสโลวาเกีย คุนเดอราเขียนถึงฉากขบวนรถถังเลื่อนล้อผ่านถนนกลางกรุงปรากลงในนิยาย ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต 

     อเล็กซานเดอร์ ดุปเชค ถูกควบคุมตัวกลับไปยังสหภาพโซเวียต ที่ซึ่งเขาถูกทุบตีและลงทัณฑ์ กระทั่งถูกบังคับให้เซ็นข้อตกลงการประนีประนอมแห่งมอสโก 

     การกระทำของดุปเชคครั้งนั้นได้ช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมากจากการถูกประหาร แต่ก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องถูกเนรเทศ ต้องไปใช้แรงงานยังดินแดนห่างไกลอันหนาวเหน็บอย่างไซบีเรียด้วยเช่นกัน นั่นยังไม่นับรวมถึงการจำกัดการเดินทางและการทำงานของชาวเช็ก การปราบปรามกลุ่มต่อต้านและควบคุมเสรีภาพของสื่อมวลชน

     ต่อมาหลังอพยพสู่ฝรั่งเศส คุนเดอราตัดสินใจละทิ้งภาษาแม่ เริ่มเขียนผลงานในภาษาฝรั่งเศส แถมยังยืนยันว่าวรรณกรรมของเขาควรถูกจัดอยู่ในหมวดวรรณกรรมฝรั่งเศสศึกษามากกว่าวรรณกรรมเช็กศึกษาด้วยซ้ำ และหากจะถามว่าความเบาหวิวในชีวิตของคุนเดอราคืออะไร บางทีมันก็อาจเป็นเรื่องชวนหัวตั้งแต่ที่เขาลืมตาดูโลกในวันที่ 1 เมษายน หรือที่โลกสมัยใหม่รู้จักในฐานะ ‘วันเมษาหน้าโง่’ หรือ April Fool’s Day แล้วก็เป็นได้ หากว่าหนึ่งชีวิตของเรานั้น ‘อุบัติซ้ำชั่วนิรันดร์’ จริง การที่นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่สักคนจะเกิดมาบนโลกในวันบ้าบอเช่นนี้ นี่ก็ควรถูกนับเป็นเรื่องเบาหวิวอันน่าชวนหัวเรื่องหนึ่งไม่ใช่หรือ?

เรื่องชวนหัว

     จริงๆ แล้วหลายฉากที่เกิดขึ้นในนิยาย ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ย้อนกลับมาฉายชัดในห้วงความคิดผมอีกครั้ง เมื่อต้นปี 2022 

     ช่วงนั้นรัสเซียเพิ่งตัดสินใจรุกคืบเข้าสู่พรมแดนของยูเครน ขณะที่ผมเพิ่งย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจอร์เจีย ซึ่งมีอาณาเขตติดกับรัสเซียและมียูเครนตั้งตระหง่านอยู่ฝั่งตรงข้ามเพียงข้ามฟากทะเลดำได้แค่ราวสี่เดือน

     “ซวยอีกแล้ว” ผมพูดกับตัวเองแบบนี้

     แล้วชีวิตก็มักเป็นเรื่องชวนหัวที่ทั้งหนักอึ้งและเบาหวิวในคราวเดียวกันดังถ้อยคำของคุนเดอราจริงๆ

     ปลายปี 2022 สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความรุนแรง วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียประกาศเกณฑ์กำลังพลไม่หยุดหย่อน ชาวรัสเซียจำนวนมากหนีจากบ้านเกิด อพยพผ่านตะเข็บชายแดนต่างๆ และหนึ่งในดินแดนที่ง่ายที่สุดสำหรับการหลบหนีก็คือจอร์เจีย

     มีรายงานว่าตั้งแต่สงครามเกิดขึ้นจนถึงช่วงปลายปี 2022 มีชาวรัสเซียข้ามพรมแดนมาสู่จอร์เจียแล้วมากกว่า 130,000 คน นั่นคือเหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานในภาคเศรษฐกิจผันผวน สินค้าอุปโภคบริโภคขยับสูงขึ้น ค่าเช่าที่อยู่อาศัยถีบราคาชนิดก้าวกระโดด 

     ผมนั่งนึกถึงความหนักอึ้งและความเบาหวิวของเหตุการณ์นี้ มันหนักอึ้งหรือเบาหวิวกันแน่นะ? มันเป็นแง่บวกหรือแง่ลบกันล่ะ? หากเรื่องราวเหล่านี้ล้วนอุบัติซ้ำชั่วนิรินดร์จริงๆ 

     แล้วผมก็นึกถึงรสนิยมสาธารณ์ นึกว่ามันน่าชวนหัวเพียงใดที่ตัวเองอาจต้องหนีค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเหล่านี้กลับไปสู่ดินแดนที่ตัวเองเคยตัดสินใจหนีจากมาอีกครั้ง 

     ผมนึกถึงฉากนั้นด้วย ฉากเปิดในภาคที่หกของ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ที่คุนเดอราตั้งชื่อว่า The Grand March—และถ้าความทรงจำไม่ทรยศ ภัควดีน่าจะแปลไว้อย่างดงามว่า ‘การเดินขบวนอันเกรียงไกร’ โดยในบทที่หนึ่งของภาคนี้ (ขอถือวิสาสะแปลจากฉบับภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในมืออีกที) ขึ้นต้นด้วยเรื่องตลกเกี่ยวกับขี้… 

     “กระทั่งเลยทศวรรษ 1980 มาแล้ว เราถึงได้อ่านใน ซันเดย์ไทม์ ว่า ยาคอฟ บุตรชายของสตาลินตายอย่างไร เขาถูกจับกุมโดยทหารเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดนโยนเข้าค่ายกักกันแห่งเดียวกับพวกเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษ พวกเขาใช้ห้องส้วมร่วมกัน บุตรของสตาลินทิ้งสิ่งปฏิกูลไว้เรี่ยราดเป็นประจำ เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษไม่พอใจที่ส้วมของพวกเขาเปรอะไปด้วยขี้ แม้นั่นจะเป็นขี้ของบุตรของผู้มีอำนาจสูงสุดในโลกก็ตาม พวกเขายกเรื่องนี้มาคุยกับเขา ทว่าเขากลับรู้สึกไม่พอใจ พวกเขาย้ำเตือนให้ยาคอฟสนใจเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และพยายามทำให้เขายอมทำความสะอาดห้องส้วม แต่เขากลับเดือดดาล โต้เถียง และท้าตี สุดท้าย เขาร้องขอให้ผู้คุมค่ายช่วยพิจารณาข้อพิพาทนี้ เขาต้องการให้ผู้คุมเป็นคนชี้ขาด แต่ชาวเยอรมันผู้หยิ่งยโสกลับปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องขี้ บุตรของสตาลินทนต่อความอัปยศนี้ไม่ไหว เขาคร่ำครวญต่อสวรรค์ด้วยคำสาปแช่งภาษารัสเซียอันชวนสยดสยอง ก่อนจะกระโจนสู่รั้วลวดหนามไฟฟ้าที่ล้อมรอบค่ายอยู่ เขาพุ่งตัวเข้าไปแนบกับมัน ร่างกายเขา ซึ่งจะไม่มีวันสร้างความโสโครกให้ห้องส้วมของพวกอังกฤษอีกแล้ว ถูกตรึงไว้กับลวดหนาม”

     ผมนึกถึงฉากนี้ตอนที่เพิ่งกลับมาถึงไทยตอนต้นปี 2023 โดยมีผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นหนึ่งในเหตุผล ก่อนจะรู้ข่าวผ่านช่องทางออนไลน์ ว่านิยายเรื่องแรกของคุณเดอราอย่าง The Joke กำลังจะถูกพิมพ์ในภาคภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์บทจรด้วยเสียงพากษ์ของภัควดี วีระภาสพงษ์ อีกครั้ง 

     ผมนึกถึงมัน นึกถึงชื่อแปลไทยของนิยายเรื่องแรกของคุนเดอราที่แปลไว้เรียบง่ายว่า เรื่องตลก และพลันนึกถึงเรื่องตลกอื่นๆ

     นิยายเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ในภาษาเช็กเมื่อปี 1967 นี้ (ก่อนจะถูกแบนในเวลาต่อมา) เป็นเรื่องของปัญญาชนเจ้าคิดเจ้าแค้นผู้เคยมีศรัทธาแรงกล้าต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่กลับโดนขับไล่ออกจากพรรค (เช่นเดียวกับชีวิตจริงของคุนเดอรา….)

     นิยายเปิดเรื่องด้วยฉากของลุดวิก ตัวละครหลัก ที่กลับไปเยือนมอเรเวีย—บ้านเกิดของตน—เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และได้เจอกับหญิงสาวผู้หนึ่ง ก่อนจะจำเรื่องตลกที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาลในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ขึ้นมาได้ 

     ตอนนั้นเขาเป็นนักเรียนและผู้ศรัทธาในพรรคคอมมิวนิสต์ที่หัวดี ทรงเสน่ห์ แต่ระหว่างปิดเทอมภาคฤดูร้อนปีนั้นนั่นเอง เมื่อหญิงสาวในชั้นเรียนเขียนข้อความถึงเขาว่า “คนหนุ่มสาวผู้มองโลกในแง่บวกจะถูกเติมเต็มและเปี่ยมล้นไปด้วยจิตวิญญาณที่แข็งแรง” แต่ด้วยความเป็นมาร์กซิสม์ตัวยง เขากลับตอบอย่างฉุนเฉียวไปว่า “การมองโลกในแง่บวกคือฝิ่นของมนุษยชาติ! จิตวิญญาณที่แข็งแรงย่อมมีกลิ่นเหม็นหืนของความโง่เขลา! ทรอตสกีจงเจริญ!” 

     นั่นล่ะ! เรื่องราวชวนหัวเล็กจ้อยแบบเด็กน้อยเช่นนี้เองที่ทำให้เขาถูกขับไล่ออกจากพรรค และทำให้ชะตาชีวิตของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล จนนำมาสู่การวางแผนแก้แค้นอันยุ่งเหยิงในอีกหลายปีต่อมา

     อาจกล่าวได้ว่าผลงานตลอดชีวิตของคุนเดอราล้วนตั้งคำถามย้ำซ้ำอยู่ไม่กี่เรื่อง: สิ่งใดคือสารัตถะสำคัญของชีวิตกันแน่? อะไรคือสิ่งสำคัญ? ความเบาหวิวและความหนักอึ้งนั้นแยกขาดจากกันจริงหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วชีวิตก็เป็นแค่ ‘เรื่องตลก’ และไร้แก่นสารเรื่องหนึ่งเท่านั้น เมื่อชะตากรรมของเราล้วนแปลผันไปตามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่รสนิยมสาธารณ์พยายามขจัดออกไปจากสารบบอย่าง ‘ขี้’ หรือแม้กระทั่งเรื่องไม่งดงามเปี่ยมความหมายอื่นๆ: สงคราม หรือการประท้วง ควรจะขับเคลื่อนไปอย่างหมดจดและเกรียงไกรโดยปราศจากริ้วรอยของความน่าชัง—สองมือควรกำหมัดขึ้นหยัดชู โดยอีกมือหนึ่งไม่ควรจะกำลังล้วงตูดล้างขี้ของตน

     คำถามเหล่านี้เองที่มนุษยชาติขบคิดมาตลอดรายทางประวัติศาสตร์ และทำให้ผลงานของคุนเดอราแทบทุกเล่มน่าศึกษา 

     ในภาคที่หกของ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต คุนเดอราเขียนไว้อีกว่า

     “ถ้าการปฏิเสธและความเป็นอภิสิทธิ์ชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้ามันไม่มีความแตกต่างระหว่างความเลิศลอยอันสูงส่งและความเล็กจ้อยไร้ความหมาย ถ้าพระบุตรของพระเจ้าเผชิญกับการต้องถูกพิพากษาเรื่องเกี่ยวกับขี้ได้ เช่นนี้แล้วการดำรงอยู่ของมนุษยชาติจะสูญเสียมิติในตัวมันเองและกลายเป็นเรื่องเบาหวิวเหลือทนไป เมื่อบุตรของสตาลินวิ่งไปทางรั้วลวดหนามไฟฟ้า และเหวี่ยงร่างของตนเข้าใส่มัน รั้วแห่งนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากถาดของตาชั่งที่ยื่นออกมารองรับเขาไว้อย่างน่าสมเพช”

     และ

     “ด้วยสัญชาตญาณ โดยไม่เคยผ่านการศึกษาทางทฤษฎีมาก่อน ผมในฐานะเด็กน้อยคนหนึ่ง รู้ซึ้งถึงความไม่ลงร่องลงรอยของพระเจ้าและขี้ได้ และด้วยเหตุนี้ คำถามเกี่ยวกับพื้นฐานของข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องราวทางมานุษยวิทยาในศาสนาคริสต์จึงเกิดขึ้น กล่าวคือหากมนุษย์ถูกรังสรรค์ตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด: นั่นคือมนุษย์แต่ละคนถูกสร้างขึ้นจากพระฉายาของพระเจ้า—และมีลำไส้ หรือไม่ก็พระเจ้าไม่มีลำไส้—และมนุษย์ไม่ได้คล้ายคลึงกับพระองค์

     “พวกไญยนิยมโบราณรู้สึกเช่นเดียวกับที่เด็กน้อยวัยห้าขวบเช่นผมรู้สึก ในศตวรรษที่ 2 ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่และเปี่ยมความรู้อย่างนักบุญวาเลนตินุสได้แก้ปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ โดยอ้างว่าพระเยซู ‘กินและดื่ม แต่ไม่ได้ถ่ายอุจจาระ’

     “ขี้เป็นปัญหาเชิงเทววิทยาที่หนักอึ้งยิ่งกว่าความชั่วช้า เนื่องด้วยพระเจ้าประทานอิสรภาพให้มนุษย์ ถ้าเราต้องการ  เราก็จะยอมรับแนวคิดที่ว่าพระองค์ไม่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมของมนุษย์ได้ และนั่นคืออาชญากรรมสำหรับเรื่องขี้ อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบสำหรับขี้นั้น ก็ยังขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของพระเจ้าผู้สร้างมนุษย์อย่างเบ็ดเสร็จอยู่ดี”

ความเขลา

     ผมเกือบลืมไปแล้ว ว่าเรื่องหลักๆ ที่คุนเดอรามักพูดถึงอีกเรื่องก็คือ ‘ความเขลา’ ของมนุษย์ 

     ผมนึกถึงมันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง เมื่อทริปสู่การกลายเป็นคนจรในทวีปอเมริกาใต้ของตัวเองที่วางแผนมานานหลายเดือนต้องล่มไม่เป็นท่า เพียงเพราะสายการบินเปลี่ยนแปลงรอบเวลาการบินจนไม่สมเหตุสมผล และทำให้ผมต้องเลิกล้มแผนการเดินทางกะทันหัน ทั้งๆ ที่จองที่พัก วางแผนทุกอย่าง แถมยังเรียนภาษาสเปนขั้นพื้นฐานไว้แล้วล่วงหน้า ฯลฯ

     ระหว่างจ่อมจมอยู่กับความผิดหวัง ผมนึกถึงประโยคหนึ่งในผลงานเล่มที่ 9 ของคุนเดอราที่ชื่อ Ignorance หรือในชื่อไทย ความเขลา (แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คบไฟ) ที่พูดถึงการโหยหาแผ่นดินเกิด การเนรเทศ และความทรงจำ โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์และสภาพโซเวียตขึ้นมา 

     นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ในปี 2000 หรือตอนที่คุนเดอรามีชีวิตอยู่บนโลกมาแล้ว 71 ปี ก่อนที่ช่วงปลายปี 2019 หรืออีก 19 ปีให้หลังเขาจะได้รับสัญชาติดั้งเดิมของตนกลับคืน หลังโดนรัฐบาลเช็กถอนสัญชาติในปี 1979 หรือ 40 ปีก่อนหน้านี้

     พิธีการเกิดขึ้นอย่างเรียบง่าย คุนเดอราแค่หยิบเอกสารไปและกล่าวขอบคุณ ทุกอย่างจบลงแค่นั้น แต่ในท่อนหนึ่งของ ความเขลา (ขอถือวิสาสะแปลจากฉบับภาษาอังกฤษที่แปลอีกทีจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสโดย ลินดา แอชเชอร์ (Linda Asher)) เขาเขียนไว้อย่างลึกซึ้งว่า

     “คำภาษากรีกสำหรับ ‘การหวนกลับ’ คือ นอสทอส (nostos) ส่วน อัลกอส (Algos) หมายถึง ‘ความทุกข์ทรมาน’ ดังนั้น อาการคิดถึงบ้าน (nostalgia) จึงหมายถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดจากความโหยหาอันแสนปั่นป่วนของการได้หวนคืน”

     ผมนั่งนิ่ง นึกถึงความเขลาของตน และนึกขำ รู้สึกหนักอึ้งและเบาหวิวไปพร้อมๆ กัน 

     ผมสับสนเสียใจที่ไม่ได้เดินทาง แต่ก็คิดว่าดีเหมือนกันที่จะได้มีโอกาสอยู่ในประเทศบ้านเกิดนานกว่านี้สักหน่อย และคิดถึงผู้ชื่นชอบการอ่านคนอื่นๆ ขึ้นมา ว่าสักวัน สักเล่มหนึ่ง สักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะเบาหวิวหรือหนักอึ้ง ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือเป็นลบ แต่มันก็น่าจะคุ้มค่าพอที่เราจะสละเวลาอ่านผลงานสักเล่มของมิลาน คุนเดอรา ผู้ยังเขียนงานต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี แม้อายุจะล่วงเลยมาแล้วเก้าทศวรรษ

     มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่ง ฟิลิป รอธ (Philip Roth) นักเขียนชาวอเมริกันผู้มีบทบาทสำคัญในการแนะนำให้นักอ่านอเมริกันรู้จักคุนเดอรา ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าสำหรับนักเขียนฝั่งตะวันตกแล้วนั้น “ทุกอย่างดำเนินไป และไม่มีอะไรสำคัญ” ขณะที่นักเขียนผู้ติดอยู่ในหลุมพลางของคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวาเกียเห็นว่า “ไม่มีอะไรดำเนินไป และทุกสิ่งล้วนสำคัญ” ส่วนคุนเดอราผู้อพยพสู่ฝรั่งเศส และดูเหมือนจะเปลี่ยนดีเอ็นเอของตนเป็นนักเขียนพันธุ์ทางอันแสนลึกลับไปแล้วนั้น กลับเขียนเรื่องเล่าด้วยแนวคิดที่ว่า “ทุกสิ่งดำเนินไป และทุกสิ่งก็สำคัญ” ได้อย่างเรียบง่ายและมหัศจรรย์พันลึกยิ่ง

     จากที่กล่าวมาทั้งหมด ด้วยความจริงจังและจริงใจ ผู้เขียนบทความจึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านลิ้มลองผลงานของนักเขียนที่ว่ากันว่ามีชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสขาวรรณกรรมมากที่สุดคนหนึ่ง (แม้ยังไม่เคยได้เลย) ผู้นี้สักครั้ง …ในชีวิตที่ทั้งเบาหวิวและหนักอึ้งเหลือทนชีวิตนี้