Wed 09 Dec 2020

K-POP FOR DEMOCRACY

เมื่อการสนับสนุนศิลปินที่รัก แปรเปลี่ยนเป็นการเรียกร้องเพื่อสังคม และร่วมขับเคลื่อนเพื่อประชาธิปไตย

ภาพ: NJORVKS

     ปั่นแฮชแท็กคัมแบ็กให้โอปป้าจนติดเทรนด์ แชร์แฟนแคมการแสดงไลฟ์สด โดเนตเงินทำโปรเจกต์วันเกิด หรือจะซ้อมเต้นคัฟเวอร์เพลงเกาหลี 

     สิ่งเหล่านี้พูดไปหลายๆ คนอาจจะไม่เข้าใจ แต่มันคือกิจกรรมของเหล่าแฟนคลับวงการเคป๊อปหรือติ่งเกาหลี ที่ไม่ใช่แค่การซื้ออัลบั้มซีดีเพลง หรือเสพผลงานแบบทั่วๆ ไป หากยังมีการสนับสนุนในอีกหลายรูปแบบ ที่ต้องลงแรง ลงพลังรัก ไปถึงลงทุนในการสนับสนุน 

     แต่ในช่วงที่ผ่านมา จากกระแสการชุมนุมที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเดือนในประเทศไทย ไม่เพียงแค่พลังของผู้ชุมนุม ข้อเรียกร้อง และประเด็นในการพูดคุยที่ทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทลายกำแพง และทะลุเพดาน แต่เรายังได้เห็นรูปแบบของการชุมนุมแนวใหม่ ที่ทั้งออร์กานิก สร้างสรรค์ ทันสมัย ประชดประชัน แบบที่ประวัติศาสตร์การเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยยังไม่เคยมีมาก่อน 

     หนึ่งในนั้น คือการใช้วัฒนธรรมเคป๊อปหรือพลังของแฟนด้อมในวงการนี้ มาแปรเปลี่ยนจากการสนับสนุนแฟนคลับที่รัก เป็นการเรียกร้องสังคม การเมืองไทยที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่กับแค่การเมืองไทย แต่สำหรับในหลายๆ ประเทศ รวมถึงเกาหลีใต้เอง ก็มีการใช้วัฒนธรรมนี้ มาร่วมขับเคลื่อนพลังการประท้วงด้วย

การออร์กาไนซ์ที่ไม่แพ้ใคร

     วัฒนธรรมของกลุ่มแฟนคลับหรือแฟนด้อม ที่รวมตัวกันเสมือนองค์กร มีการจัดการเงิน จัดการคน ระดมทุน คิดโปรเจกต์ ทำพีอาร์ต่างๆ มาพร้อมๆ กับที่กระแสเคป๊อปเข้ามาในไทย หลายบ้านแฟนคลับมีอายุมากกว่า 10 ปี มีประสบการณ์ในการออร์กาไนซ์ต่างๆ ไม่แพ้ใคร เพียงแต่ตอนนี้ พวกเขาเปลี่ยนจากการสนับสนุนศิลปินที่รัก มาเป็นพลังเบื้องหลังการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแทน

     ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มแฟนคลับเกาหลีวงต่างๆ ได้กลายเป็น ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ รวบรวมเงินโดเนตเพื่อการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยได้มากกว่า 3 ล้านบาทแล้ว ทั้งในการซื้ออุปกรณ์สำหรับการชุมนุม อาหาร น้ำ ไปถึงเพื่อศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน สำหรับการจัดการคดีความต่างๆ

     ในฐานะติ่งเกาหลี และนักข่าวสาวของสำนักข่าว The MATTER เมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นมา เราจึงไม่พลาดที่จะทำสกู๊ป และสัมภาษณ์ Suju-thailand บ้านแฟนคลับของศิลปิน Super Junior ที่มีส่วนในการโดเนตครั้งนี้ ซึ่งบ้านเบสนี้ ก็ได้บอกเราว่า ในโอกาสที่พวกเขามีแฟนคลับที่ติดตามบ้านอยู่มากมาย จึงเป็นหนึ่งโอกาสที่จะเป็นกระบอกเสียง และรวบรวมความช่วยเหลือ 

     “เราเองเป็นคนที่เห็นด้วยกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนอยู่แล้ว แล้วเรามีบ้านเบสอยู่ในมือ ทำไมเราจะไม่ใช้เสียงตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ ก่อนที่จะออกมารับโดเนต เราคิดเยอะมากว่าถ้าออกมาแล้วจะเป็นยังไง เพราะพูดตรงๆ ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับครั้งนี้ แต่เราคิดว่ากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราสนับสนุนพลังบริสุทธิ์ของประชาชน”

     ไม่เพียงเท่านั้น บ้านแฟนด้อมต่างๆ ในทวิตเตอร์ ยังใช้แอ็กเคานต์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเหล่าฟอลโลเวอร์ติดตามเป็นจำนวนมากในการกระจายข้อมูล เป็นกระบอกเสียงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการชุมนุม จนกลายเป็นช่องทางหนึ่งในการส่งข่าวสารการเมือง ไปพร้อมๆ ข่าวของศิลปิน รวมไปถึงฟิกชั่น หรือนิยายแชต ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่แฟนคลับเคป๊อปเอง นักเขียนก็ใช้วิธีนี้ในการสอดแทรกข้อมูล แอบแซะรัฐบาลหรือเผด็จการไปกับส่วนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างตัวละครในเรื่องด้วย 

     ไม่ใช่ในไทยเท่านั้นที่เหล่าแฟนคลับในโลกออนไลน์มีส่วนกับการประท้วง แต่ช่วงกลางปี 2020 แฟนด้อมในสหรัฐฯ ก็มีส่วนกับการประท้วง Black Lives Matter ในสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน 

     หลังจากเกิดการประท้วงในหลายเมือง เจ้าหน้าที่ก็พยายามจะจับกุมผู้ประท้วง อย่างสถานีตำรวจของเมืองดัลลาสในรัฐเท็กซัส ได้ทวีตว่า พวกเขาเปิดแอพพลิเคชั่นให้คนส่งภาพหรือวิดีโอของผู้ที่อาจทำผิดกฎหมายจากการประท้วง เพื่อใช้เป็นหลักฐาน แต่ในเวลาเพียงไม่นานแอพนั้นก็ต้องล่มไป ด้วยอาวุธของแฟนด้อมที่เรียกว่า ‘แฟนแคม’ (Fan + Camera) โดยแฟนคลับพร้อมใจกันอัพวิดีโอของศิลปินที่มาจากการถ่ายด้วยตัวของแฟนคลับเองเข้าไปในแอพ เพื่อไม่ให้ตำรวจนำคลิปหลักฐานที่มีใบหน้าของผู้ประท้วงอย่างสันติไปตามจับกุมพวกเขาได้ 

     มิวสิกวิดีโอของวง BTS, คลิปของดาฮยอน วง Twice และไลฟ์การแสดงของ Red Velvet คือสิ่งที่แอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ @YGSHIT ของติ่งเคป๊อปชาวอเมริกันวัย 16 ปี ส่งเข้าไปในแอพ ซึ่งนอกจากตำรวจเมืองดัลลาสแล้ว ในเมืองต่างๆ อย่างแกรนด์แรพิดส์ในมิชิแกน หรือแม้แต่ FBI ที่เปิดช่องทางขอหลักฐานใบหน้าผู้ชุมนุมต่างก็ล้วนแต่โดนแฟนคลับเข้าไปถล่มด้วยแฟนแคมตามๆ กันไป 

 นอกจากนี้ ในช่วงของการประท้วง เหล่าแฟนด้อมยังเปลี่ยนจากการปั่นแฮชแท็กต่างๆ ของศิลปินให้ติดเทรนด์ มาเปิดทางให้ข่าวสารของการประท้วง เพื่อให้คนสนใจกระแส Black Lives Matter และยังช่วยกันสแปม และฟลัดไม่ให้คนเห็นข้อความเหยียดเชื้อชาติในแฮชแท็กอย่าง #whitelivesmatter และ #alllivesmatter ด้วยการลงรูป และวิดีโอคอนเสิร์ตของศิลปินในแฮชแท็กเหล่านั้นแทน 

     เช่นเดียวกับท่อน้ำเลี้ยงในไทย พวกเขาก็ยังระดมทุน เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับกลุ่ม Black Lives Matter ด้วยเช่นกัน 

ใช้เนื้อเพลง ให้กลายเป็นเมสเซจของการเรียกร้อง

     “ประยุทธ์ออกไป” “ไม่เอารัฐประหาร” “ภาษีกู” คือเมสเซจต่างๆ ในม็อบที่นอกจากจะถูกส่งผ่านการตะโกน การเขียนป้าย หรือการปราศรัยแล้ว คีย์เวิร์ดเหล่านี้ยังถูกส่งผ่านออกมาด้วยการเต้นของ ‘คณะราษแดนซ์’ กลุ่มที่รวมตัวกันเปลี่ยนพื้นท้องถนนให้เป็นฟลอร์การแสดง เปิดโชว์ให้ใครก็ได้ออกมาเต้น โดยเฉพาะการคัฟเวอร์เพลงเกาหลี พร้อมกับส่งเมสเซจออกมาผ่านชื่อเพลง และความหมายที่แฝงอยู่ 

‘I can’t stop me’ หยุดไม่ได้เพราะอยากมีประชาธิปไตย
‘Not Shy’ เราไม่อายที่อยากได้ความเท่าเทียม
รัฐประหารเหรอไม่ย้อนแล้วจ้า อย่ามา ‘Flashback’
เราอยากเห็นประเทศดีกว่านี้ ‘Into The New World’
หยุด ‘Fake Love’ โชว์รักปลอมๆ กับภาษีที่เสียจริง
ชอบเป็นทาสเหรอไง? ‘How you like that’
ภาษีที่เสียไป ‘Bang! Bang! Bang!’ ทำไมกลายเป็นกระสุนจริง?
ขอพรกับ ‘Genie’ ขอให้มีรัฐสวัสดิการ

     และอีกหลากหลายเพลง ถูกใช้กลายมาเป็นข้อความ ส่งสารในการชุมนุมครั้งนี้ 

    ในยุคที่วงการเคป๊อปบูมเป็นพลุแตกในไทย วัยรุ่น เยาวชน ไปถึงวัยทำงานหลายคนเติบโตมากับเพลงเหล่านี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้คุณอาจจะไม่ใช่ติ่งเกาหลี หรือติดตามวงการนี้ แต่ก็ต้องมีสักเพลงที่เคยเข้าไปในโสตประสาทบ้าง โดยจุดร่วมของการฟัง เต้น ร้อง และความบันเทิงของเพลงเคป๊อปนี้เอง ได้กลายมาเป็นจุดร่วมของการขับเคลื่อน และเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย ที่ในแต่ละม็อบ ก็ดูเหมือนจะมีพื้นที่สำหรับการเต้น เครื่องเสียงที่ใหญ่มากขึ้น ไปถึงจำนวนคนที่เข้าร่วม และยังขยายออกไปถึงการเต้นเพลง T-Pop ยุค 90s แล้วด้วย 

    ไม่ใช่แค่การชุมนุมในไทย แต่ในหลายประเทศยังมีการนำเพลงเกาหลีไปใช้ร้องกันด้วย ซึ่งแม้จะเรียกไม่ได้ว่าเป็นเพลงเคป๊อปโดยตรง แต่เนื้อร้อง ท่วงทำนอง และความหมายที่ปลุกใจของเพลง March for the Beloved เพลงประจำเหตุการณ์ 18 พฤษภา 1980 การชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยในกวางจูของเกาหลีใต้ ก็กลายมาเป็นหนึ่งเพลงสำคัญที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย รวมถึงมีการนำไปแปลเป็นภาษาของตนเอง ด้วยเนื้อเพลง ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความสามัคคีในบรรดาผู้รักเสรีภาพ 

    และหากพูดถึงการประท้วง ‘ฮ่องกง’ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีเหตุการณ์การแสดงพลังชุมนุมของประชาชนให้เราได้เห็นเป็นประจำ ซึ่งฮ่องกงก็เป็นที่แรกที่ได้เอาเพลง March for the Beloved มาใช้ในการประท้วง รวมถึงมีการแปลเป็นภาษากวางตุ้งตั้งแต่ปี 1984 ก่อนจะถูกนำมาใช้อีกหลายครั้งอย่างแพร่หลาย รวมถึงการประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุด ช่วงปี 2019-2020 ที่ผ่านมา โดยนอกจากฮ่องกงแล้ว เพลงนี้ยังถูกใช้ในการประท้วงที่ไต้หวัน มาเลเซีย หรือกัมพูชาด้วย 

การประท้วงของเกาหลีใต้ ที่มีเพลงและเคป๊อปขับเคลื่อนร่วมกันมา

     แน่นอนว่า หากหลายประเทศทั่วโลกใช้เคป๊อปในการประท้วงแล้ว เกาหลีใต้ก็ใช้วัฒนธรรมนี้ของพวกเขาเช่นกัน

     หากจะย้อนประวัติศาสตร์การใช้เพลงในการประท้วงของเกาหลี อาจย้อนได้ไปถึงต้นศตวรรษที่ 20 สมัยที่เกาหลีต้องการเอกราช และต่อต้านการยึดครองของจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งกองทัพได้มีเพลงมาร์ชของตัวเอง ที่มีข้อความแสดงการต่อต้านลัทธิอาณานิคม จนกระทั่งถึงทศวรรษ 1970 การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และของกลุ่มสหภาพแรงงานในเกาหลีก็เริ่มเอาเพลง โดยเฉพาะเพลงต่างชาติอย่าง Blowin ’in the Wind ของ บ๊อบ ดีแลน (Bob Dylan) หรือเพลง We Shall Overcome ของศาสนาคริสต์ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองมาใช้ด้วยเช่นกัน 

     เช่นเดียวกับ Into The New World เพลงเดบิวต์ของเกิร์ลกรุ๊ป Girls’ Generation ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2007 ได้กลายเป็นหนึ่งเพลงยอดฮิตสำหรับการประท้วงในเกาหลีใต้ (รวมไปถึงการประท้วงของไทยครั้งนี้ด้วย) ด้วยเพลงที่มีเนื้อหาว่าจะไม่เปลี่ยนใจ ไม่ยอมแพ้แม้มีอุปสรรคข้างหน้า และแม้เดินบนเส้นทางที่เหมือนวิ่งตามแสงไฟริบหรี่ ก็หวังจะไปสู่เส้นทางอนาคตที่ดีกว่าเดิมนี้ ก็ได้กลายมาเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในการประท้วงหลายๆ ครั้ง 

     ทั้งในการประท้วงของนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยอีฮวา ปี 2016 ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย ขับไล่อธิการบดีที่ดำเนินการต่างๆ โดยไม่สนใจนักศึกษา และแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งลามมาถึงการพบการทุจริต เส้นสายที่เกี่ยวข้องกับอดีตประธานาธิบดี พัค กึนฮเย (Park Guen-hye) จนกลายเป็นการขับไล่ผู้นำระดับประเทศ 

     การขับไล่อดีตประธานาธิบดีพัคยังมีการใช้เพลงประกอบซีรีส์ Secret Garden มาเป็นหนึ่งในเพลงประท้วงด้วย จากกรณีที่อดีตประธานาธิบดีได้ใช้ชื่อ ‘กิล ราอิม’ นางเอกของเรื่อง ในการเข้ารับบริการดูแลสุขภาพ และความงามในคลินิกสุดหรูในฐานะลูกค้า VIP ด้วย เพลงเคป๊อปและวัฒนธรรมแฟนด้อมได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่แค่กับการชุมนุม หลายครั้งในเกาหลีใต้ก็ยังใช้เพลงเหล่านี้กับประเด็นทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียง หรือเป็นเครื่องมือ ทั้งในการสานสัมพันธ์ และการโจมตีเกาหลีเหนือ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันกลายเป็นอาวุธอีกอย่างหนึ่งในการต่อสู้กับอำนาจ

     ซึ่งสำหรับเกาหลีแล้ว ไม่เพียงแค่เคป๊อป แต่วัฒนธรรมเอนเตอร์เทนเมนต์อื่นๆ ไม่ว่าจะซีรีส์หรือหนังเอง ก็มีส่วนในการปลูกฝังประชาธิปไตย หรือเป็นสื่อในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน 

อ้างอิง

http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20161120000252&ACE_SEARCH=1

https://www.thenation.com/article/archive/hong-kong-protest-south-korea-music/

https://www.billboard.com/articles/columns/k-town/8436957/k-pop-songs-politicized-south-korea

https://www.vox.com/2020/6/8/21279262/k-pop-fans-black-lives-matter-fancams-youtubers-protest-support

https://www.theatlantic.com/technology/archive/2020/06/twitter-k-pop-protest-black-lives-matter/612742/

https://www.nytimes.com/2020/06/22/arts/music/k-pop-fans-trump-politics.html

https://www.bbc.com/news/world-asia-52996705

http://asaa.asn.au/k-pop-syncs-politics-protest/

https://thematter.co/social/kpop-fan-donate-for-democracy/126485