Thu 23 Mar 2023

MUSHROOM

สำรวจอาณาจักรเห็ดรา จากเรื่องเล่าที่ข้องเกี่ยวกับภูติพราย สู่สิ่งมีชีวิตที่ควบคุมมวลมนุษย์

ภาพ: NJORVKS

     มนุษย์มักถือว่าตัวเราเป็นใหญ่ในโลกใบนี้ 

     เรามีสติ มีความคิดรับรู้ เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยวิชาความรู้ ด้วยหลักการเหตุผล แต่ ‘เห็ดรา’ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อารยธรรมของเรารู้จัก เรากินมัน และบ้างก็รู้ว่ามันเป็นพิษ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านี้มีความลึกลับบางอย่างอยู่ 

     พวกมันปรากฏตัวขึ้นชั่วข้ามคืน บ้างก็ฆ่าเราให้ตายได้ บ้างเป็นส่วนหนึ่งของอายุวัฒนะ และบ้างก็เป็นส่วนผสมของมนตรา เป็นประตูพาเราไปยังดินแดนอื่น ควบคุมการรับรู้ของเรา—หลอนประสาทเรา

     เห็ดและราเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาจถูกจัดให้อยู่ในลำดับชั้นล่างๆ บางทีถูกเรียกว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ พวกมันผลิตอาหารเองไม่ได้ สังเคราะห์แสงเองไม่ได้ ใช้ชีวิตหรือเติบโตงอกงามบนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ 

     ทว่า ความจริงแล้ว เห็ดรากลับมีอาณาจักรของตัวเอง นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพวกมันสามารถสื่อสารกันเองได้ผ่านโครงข่ายเส้นใยของเชื้อราที่อยู่ใต้ดิน โดยส่งสัญญาณคล้ายกระแสไฟฟ้าสื่อสารกัน 

     ฟังดูเหมือนเจ้าเห็ดพวกนี้กำลังสร้างอาณาจักรที่เรามองไม่เห็นและพูดคุยสนทนากันอย่างลับๆ

     เห็ดรายังเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่แปลกประหลาดสำหรับมนุษย์ พวกมันอยู่คู่อารยธรรมและมีบทบาทในหลายด้านมาช้านาน ส่วนใหญ่เห็ดรามักสัมพันธ์กับเวทมนตร์คาถา ในอารยธรรมเก่าแก่อย่างกลุ่มมายา แอซเท็ก หรืออินคา ล้วนมีเห็ดเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะการใช้เห็ดที่มีผลต่อระบบประสาทในพิธีกรรมหรือการเข้าทรง (shamanism) 

     นอกจากในป่าหน้าฝนหรือบนขอนไม้ เรื่อยมาจนถึงโลกหลังกาลวิบัติที่เราจะพบกอเห็ดได้ ในเรื่องเล่าและอารยธรรมอันยาวนานของเรา เจ้าสิ่งมีชีวิตสุดประหลาดนี้ก็ผุดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าเสมอ 

     พวกมันมักเกี่ยวข้องกับความมหัศจรรย์ เป็นสิ่งลึกลับที่เชื่อมโยงกับเหล่าภูติพราย ปรากฏตัวในวารสารการแพทย์ ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนหฤหรรษ์ จากป่าของเหล่าภูติถึงปากประตูทางเข้าดินแดนมหัศจรรย์ของอลิซ

Classic: Fairy Mushroom
The Tempest Act 5, Scene 1
เห็ดจ๋าหนูมาจากไหน เทพนิยายใต้หมวกเห็ด

     ความประหลาดมหัศจรรย์ของเห็ดนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ตัวเห็ดเอง 

     เห็ดเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่ตรงกลางของสิ่งมีชีวิต มันไม่เชิงว่าเป็นพืช เนื้อหนังของเห็ดก็เรียกได้ว่ามีเนื้อ มีหนัง กินได้ หลายวัฒนธรรมถือว่าเห็ดบางประเภทเป็นของล้ำค่า เป็นสิ่งหายาก เช่น หลินจือหรือเยื่อไผ่ นอกจากนี้ เห็ดยังต่างกับพืชใบเขียวตรงที่พวกมันมักจะ ‘อยู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมา’ จนเราเรียกสิ่งที่โผล่ขึ้นมาเยอะๆ ฉับพลันว่าผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ด 

     ความประหลาดของเห็ดตรงนี้เองที่ทำให้ตัวมันเริ่มไปเกี่ยวข้องกับความมหัศจรรย์ เห็ดสายพันธุ์ต่างๆ ถูกเชื่อมเข้ากับดินแดนในจินตนาการ 

     พื้นที่สำคัญที่ขึ้นหนาแน่นคือป่า และป่าในโลกตะวันตกก็มักถูกเล่าในฐานะพื้นที่ต้องห้าม เป็นที่ที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายเหนือธรรมชาติต่างๆ ดังจะเห็นได้จากป่าที่เต็มไปด้วยแม่มด กระท่อมร้าง และหมาป่า 

     ข้อสำคัญอย่างหนึ่งของป่าในความเชื่อแบบตะวันตกคือความลี้ลับ ป่าเป็นพื้นที่มืดมิด หลายครั้งเข้าใจไม่ได้ พื้นที่ป่าจึงผูกโยงเข้ากับสิ่งที่เรามองไม่เห็น

     ตรงนี้ทำให้เห็ดเล็กๆ เริ่มมีผลไม่เล็ก นึกภาพว่าเราเล่าว่าป่าเป็นพื้นที่ที่ต้องเข้าไปอย่างระมัดระวัง ป่าเป็นที่ที่เราต้องเปิดตาให้กว้าง เห็ดซึ่งเป็นสิ่งเล็กๆ ที่เราเองก็น่าจะมองเห็นหรือกระทั่งเข้าไปเก็บมากินก็อยู่ในป่า และตัวพวกมันเองก็ประหลาดเข้ากับความลี้ลับของผืนป่ามากๆ

     ความประหลาดของเห็ดที่ถูกโยงเข้ากับเรื่องเล่าเก่าแก่ได้แก่เห็ดสองชนิดคือ เห็ด ‘วงแหวนของแฟรี่’ (Fairy Ring) และเห็ด ‘ถ้วยสีชาดของเอลฟ์’ (Scarlet Elf Cup) เห็ดชื่อเท่สองชนิดที่พบได้ทั่วไปในยุโรป

     ชื่อของเจ้าเห็ด (ซึ่งแค่นี้ก็เชื่อมโยงเข้ากับเทพนิยายเรียบร้อย) ได้มาจากพฤติกรรมที่คนยุคก่อนอาจยังไม่เข้าใจความประหลาดของพวกมัน 

     วงแหวนแฟรี่มาจากลักษณะการเติบโตของเห็ดที่ออกดอกขึ้นเหนือผิวดิน โดยกอดอกเห็ดจะก่อตัวเป็นกลุ่มและมักต่อเนื่องกันเป็นวงกลม ซึ่งมันเป็นวงแหวนที่ดูกลมมาก บางทีไปก่อตัวบนหญ้า หญ้าก็จะนูนขึ้นเป็นทรงกลมขนาดใหญ่ ขนาดเราเห็นในยุคปัจจุบันยังรู้สึกมหัศจรรย์ ไม่แปลกที่คนโบราณจะเชื่อว่าวงแหวนนี้เป็นพื้นที่พิธีกรรมของภูติและแม่มด เชื่อว่าเหล่าภูติพรายจะมาเต้นรำใต้แสงจันทร์ในวงแหวนนี้ 

     อันที่จริง ภูติรวมถึงเจ้ากอเห็ดวงแหวนแฟรี่ นับเป็นของต้องห้ามตามความเชื่อท้องถิ่น 

     ตามความเชื่อแบบเคลติกในแถบอังกฤษเชื่อว่าถ้ามนุษย์เข้าไปในวงแหวนแล้วเต้นรำร่วมกับแฟรี่ จะถูกแฟรี่ลงโทษให้มนุษย์คนนั้นเต้นรำจนกว่าจะหมดสติไป ในตำนานเยอรมันเชื่อว่าวงแหวนเหล่านี้เป็นของแม่มด ในบางวัฒนธรรมก็บอกว่าเป็นเหมือนโต๊ะกินข้าวที่แฟรี่มากินเลี้ยงกัน บางพื้นที่เชื่อว่าวงแหวนเหล่านี้เป็นประตูเชื่อมต่อสู่โลกแฟรี่ และนับว่าเป็นที่ที่มนุษย์ไม่ควรเข้าใกล้ 

     ตามความเชื่อเดิม แฟรี่ไม่ใช่สิ่งที่น่ารัก พวกมันชอบหลอกล่อมนุษย์และลักพาเด็กๆ ไป ซึ่งการเอามนุษย์ไปก็มีหลายสาเหตุ บางทีก็อยากจะลักพาไปเฉยๆ โดยในอิทธิพลความเชื่อแบบคริสต์ แฟรี่ชอบลักพาเด็กๆ ไปก่อนที่จะรับศีลจุ่ม คือเลือกเอาเด็กดีๆ ไป แล้วเปลี่ยนเอาเด็กนิสัยไม่ดีมาแทน บ้างก็บอกว่าแฟรี่ลักพามนุษย์ไปเป็นคนรับใช้ เป็นหมอตำแย เอาไปเลี้ยงเพราะรัก บ้างก็บอกว่าแฟรี่นิยมดื่มเลือดมนุษย์ แถมการลักพาของแฟรี่ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องร่างเงาหรือ doppelganger คือลักพาไปแล้วทิ้งร่างที่หน้าเหมือนกัน แต่มีพฤติกรรมแปลกๆ เอาไว้

     ส่วนเห็ดที่มีชื่อสุดเท่อย่างเห็ดถ้วยสีชาดของเอลฟ์ ก็ได้ชื่อและตำนานเล่าขานจากสีที่แดงเหมือนเลือดและรูปทรงที่เหมือนกับถ้วย ด้วยหน้าตาแปลกประหลาดของมันจึงมีตำนานเล่าขานว่าเห็ดเหล่านี้เป็นถ้วยที่เหล่าเอลฟ์จะใช้ดื่มน้ำค้างช่วงรุ่งสาง

     ท่ามกลางกลิ่นอายของผืนป่า เรื่องเล่าภูติพรายของเกาะอังกฤษ แม้แต่ วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ก็เคยครุ่นคิดถึงเจ้าเห็ดที่น่าสงสัยและเชื่อมโยงกอเห็ดในป่าเข้ากับดินแดนที่มนุษย์มองไม่เห็น

     ใน The Tempest บทละครสุขนาฏกรรมที่เชื่อว่าเป็นบทละครเรื่องสุดท้ายของเชคสเปียร์ ซึ่งส่วนหนึ่งของเรื่องนี้มีเวทมนตร์คาถาเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะการใช้คาถาสร้างพายุใหญ่จนเรือแตกและเกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้น ช่วงท้ายของเรื่องมีตอนที่ตัวละครร่ายมนต์แล้วอ้างถึงเหล่าภูติพราย เป็นบทที่เริ่มต้นว่า “Ye elves of hills, brooks, standing lakes, and groves,” คือตัวละครพูดถึงภูติพรายในธรรมชาติ พวกที่อยู่ในป่าในบึง พวกที่วิ่งเล่นบนผืนทรายและเกลียวคลื่นโดยไม่ทิ้งรอยเท้า และช่วงหนึ่งก็รำพึงถึงเหล่าภูติที่เสกเห็ดขึ้นในยามค่ำคืน ความว่า “and you whose pastime Is to make midnight mushrooms” 

     ฉากการร่ายมนต์และรำพึงที่ปรากฏการพูดถึงเห็ดเป็นทั้งการพรรณนาความงามของธรรมชาติ และอ้างอิงถึงความเร้นลับบางอย่างที่อยู่ในธรรมชาติอันตระการตา ทั้งในภูเขา ลำธาร และหมู่ไม้ รวมถึงเจ้าเห็ดจิ๋วๆ ที่ล้วนมีพลังวิเศษที่เรามองไม่เห็น

     สิ่งมีชีวิตที่มนุษย์มองเห็นด้วยตากลับมีความลึกลับซ่อนอยู่ คือเกี่ยวโยงกับอาณาจักรที่เรามองไม่เห็น—อันที่จริงสปอร์และโครงข่ายของพวกมันก็เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นจริงๆ การปรากฏตัวของพวกมันยามเที่ยงคืนจากความว่างเปล่า จึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยง กระทั่งเป็นประตูที่เชื่อมเราไปยังแดนมหัศจรรย์ได้

Fly Agaric
Mario Bros. & Alice’s Adventures in Wonderland
เห็ดแดงหลอน และดินแดนมหัศจรรย์ยุควิกตอเรียน

     ไม่เพียงแต่ประหลาด หากเห็ดและรายังมีความสยองอย่างพิเศษ 

     นอกจากเห็ดราประเภทถั่งเช่าที่ยึดร่างแมลงและกลายเป็นต้นแบบของ The Last of Us แล้ว เจ้าสิ่งมีชีวิตจิ๋วพวกนี้ยังมีฤทธิ์หลอนประสาท สิ่งมีชีวิตเล็กๆ สามารถปรับเปลี่ยนสติสัมปชัญญะและการรับรู้โลกของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่แบบเราๆ ได้

     มีหลักฐานว่าเห็ดเมาไม่ใช่ของใหม่ มนุษย์เรารู้ถึงอำนาจด้านจิตใจของเหล่าเห็ดมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล พบหลักฐานเก่าแก่ตั้งแต่ภาพเขียนผนังโบราณที่แอฟริกา ซึ่งชี้ว่าเรารู้จักกินเห็ดเพื่อให้เมามาตั้งแต่ 9000 ปีก่อนคริสตกาล 

     อารยธรรมโบราณโดยเฉพาะในแถบอเมริกาใต้มีหลักฐานว่าเห็ดสัมพันธ์กับพิธีกรรม อาการเมาถูกโยงเข้ากับการตื่นขึ้นและเชื่อมต่อพลังอำนาจที่เหนือกว่าตน ในอารยธรรมมายันพบรูปปั้นเห็ดจำนวนมากเป็นส่วนประกอบของพิธีกรรม ในอารยธรรมแอซเท็กมีเทพเจ้าชื่อเซอชิพิลลิ (Xochipilli) เป็นเทพเจ้าแห่งดอกไม้และพืชพรรณ เครื่องประดับของเทพองค์นี้ประดับด้วยพืชศักดิ์สิทธิ์ซึ่งก็มีเห็ดเป็นต่างหูและสลักเป็นลวดลายประกอบ 

     ช่วงศตวรรษที่ 16 นักสำรวจชาวสเปนรายงานถึงชนพื้นเมืองในแถบเม็กซิโกว่ามีการกินเห็ดเมาดิบในการประกอบพิธีกรรม ใช้ในการเข้าทรง รวมถึงใช้ในการเยียวยารักษา ในสายตาของชาวตะวันตกพูดทำนองว่าภาวะหลอนเหมือนกับการเห็นภูติผีและมีการกระตุ้นกำหนัด แต่ในความเชื่อของคนพื้นเมืองเชื่อว่าเห็ดเมาเป็นการสรรเสริญทวยเทพ และมีชื่อเรียกว่า teonanacatl หรือเนื้อหนังของเทพเจ้า (Flesh of the Gods) 

     หนึ่งในเห็ดเมาชื่อดังคือเห็ด Fly Agaric ซึ่งแม้จะมีพลังต่อระบบประสาท รวมถึงความเป็นพิษที่ทำให้เมาหรือฆ่าเราได้ แต่มันกลับมีหน้าตาน่ารัก ตัวมันมีร่มกลมๆ และแน่นอนว่าพอเป็นพิษจึงมาพร้อมสีสด ร่มเห็ดจึงอาจมีสีแดงหรือสีเหลืองและมีจุดสีขาวขึ้นทั่วร่ม 

     หากใครยังนึกไม่ออกก็ขอบอกเลยว่า Fly Agaric คือเจ้าเห็ดที่เราเห็นบ่อยๆ ในมาริโอ้นั่นเอง (เป็นคนละเห็ดกับเห็ดวิเศษหรือ Magic Mushroom ที่เป็นเห็ดตระกูลเดียวกับเห็ดขี้ควาย)

     พอเอามาทำกราฟิกเป็นเห็ดกลมๆ มีจุดขาวๆ แล้วเจ้าเห็ดนี้อาจจะน่ารัก แต่ความน่าสนใจของมันคือไอ้พลังของเห็ดที่กินแล้วตัวใหญ่ขึ้น อันที่จริงเป็นหนึ่งใน ‘อาการ’ ทางระบบประสาทของการเมาเห็ด ซึ่งอาการเมานี้ไปสัมพันธ์กับวรรณกรรมเรื่องหนึ่งคือ Alice’s Adventures in Wonderland 

     วรรณกรรมเรื่องดังกล่าวเขียนขึ้นในปี 1865 โดย ลูอิส แคร์รอล (Lewis Carroll) นักเขียนอังกฤษคนสำคัญ วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นแนวแฟนตาซี ซึ่งบางคนก็ตีความว่าเป็นนวนิยายที่อิงกับแนวคิดเรื่องความซับซ้อนของจิตใจ เช่นว่าอลิซอาจจะหลีกหนีจากโลกของความจริงผ่านโพรงกระต่าย คือทั้งหมดนี้เป็นมิติทางจินตนาการ แล้วเห็ดก็มีบทบาทสำคัญมากในการผจญภัยของอลิซ 

     ในนวนิยาย อลิซพบกับหนอนผีเสื้อ (Caterpillar) ซึ่งหนอนนี้มีท่าทางคล้ายๆ นักปราชญ์ คือพูดจาช้าๆ ถามคำถามยากๆ และให้ความรู้สำคัญกับอลิซ ซึ่งสิ่งที่หนอนชราบอกอย่างไม่อินังขังขอบกับอลิซก็คือพลังวิเศษของการกินเจ้าเห็ดสีแดงนั่นแหละ 

     ในโลกวันเดอร์แลนด์ เห็ดนี้จะส่งผลอย่างมหัศจรรย์กับขนาดตัวของผู้กิน ถ้ากินด้านหนึ่งจะตัวใหญ่ขึ้น กินอีกด้านตัวจะเล็กลง อาการยืดๆ หดๆ นี้กลายเป็นวิธีการเข้าๆ ออกๆ และเอาตัวรอดจากวันเดอร์แลนด์ของอลิซ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าแคร์รอลได้แรงบันดาลใจมาจากอาการหลอนประสาทจากเจ้าเห็ดเมาในชีวิตจริง 

     ที่สนุกคือ ทางการแพทย์เรียกอาการประสาทหลอนที่ส่งผลกับการรับรู้ทางมิติ คือเห็นบางส่วนของร่างกายใหญ่โต หรือเห็นสิ่งต่างๆ ผิดเพี้ยนไปว่าอาการ Alice in wonderland syndrome

     อนึ่ง Fly Agaric นั้นเป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่ทั่วยุโรปตั้งแต่บรรพกาล โดยคำว่า Fly หมายถึงแมลงวัน ส่วน Agaric ใช้เรียกเห็ดในความหมายทั่วไป เห็ดแมลงวันในที่นี้มาจากการใช้งานในยุคโบราณคือใช้ฆ่าแมลง ชาวยุโรปโบราณจะขยำเห็ดนี้ลงไปในนมวัวเพื่อล่อให้แมลงวันมากินนมและใช้พิษของมันเพื่อฆ่าแมลงชนิดต่างๆ แปลว่ามนุษย์เราเข้าใจพิษของเจ้าเห็ดสีสดเหล่านี้มานานแล้ว

Modern: Magic Mushroom, Liberty Cap
The Medical Log ของนาย J.S., 1800
บันทึกการแพทย์ของอาการประหลาด และฉากของดินแดนแฟรี่

     กลับมาที่เห็ดเมาและอาการเมาเห็ด 

     ความรู้เรื่องเห็ดเมาในฐานะส่วนหนึ่งของอารยธรรมมนุษย์ค่อนข้างเกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ ช่วงที่สเปนไปเจอชนพื้นเมืองใช้เห็ดเมา ตีความว่าเป็นของต้องห้ามและใช้สื่อสารกับปีศาจในช่วงศตวรรษที่ 16  

     บันทึกและการทำความเข้าใจอาการ ‘เมาเห็ด’ มาเป็นรูปธรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งถือเป็นบันทึกที่สำคัญของวงการการแพทย์ ความรู้เกี่ยวกับอาณาจักรเห็ด และโลกในจินตนาการของเรา

     เรื่องราวการเมาเห็ดครั้งสำคัญเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 1799 ที่เมืองลอนดอน วันนั้นคุณพ่อคนหนึ่งที่ต่อมาในบันทึกทางการแพทย์ต่างๆ เรียกด้วยนามแฝงว่านายเจ.เอส. (J.S.) เช้าวันนั้นคุณพ่อไปเก็บเห็ดกอหนึ่งมาจากสวนสาธารณะกรีนพาร์ก (Green Park) ก่อนเอาไปทำซุปให้ภรรยาและลูกๆ กิน

     ผลคือหลังจากกินอาหารเช้าไปไม่นาน คุณเจ.เอส.เกิดอาการมองเห็นจุดสีดำ เห็นแสงสีต่างๆ ซ้อนทับกัน นายเจ.เอส.คิดว่าเป็นพิษจากเห็ด Toadstool—เห็ดประเภทที่มีทั้งมีพิษและไม่มีพิษ ซึ่งจะมีอาการคล้ายๆ กัน คือมีอาการทางระบบประสาท เวียนหัว อาเจียน แต่ไม่มีอาการประสาทหลอน 

     อาการเฉพาะของนายเจ.เอส. เริ่มจากอาการสับสนหลงทิศ ยืนลำบาก เมียและลูกเริ่มปวดท้อง หนาวสั่น มีอาการชา นายเจ.เอส.รีบวิ่งออกไปหาความช่วยเหลือ แต่วิ่งออกไปได้ไม่นาน นายเจ.เอส.ก็ลืมว่าตัวเองกำลังทำอะไร ได้แต่เดินร่อนเร่ไปเรื่อยๆ ด้วยความสับสน

     โชคยังดีที่ได้พลเมืองและชาวเมือง รวมถึงคุณหมอเอเวอราร์ด แบรนด์ (Everard Brande) ที่บังเอิญผ่านมาแถวนั้นมาตรวจดูอาการของทั้งครอบครัวที่กินซุปเห็ดเข้าไป ซึ่งสำหรับคุณหมอแล้ว อาการของคนไข้ถือว่าแปลกประหลาด เห็นได้จากรายงานของคุณหมอที่บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นไว้อย่างละเอียดก่อนจะตีพิมพ์ลงวารสาร The Medical and Physical Journal ในปีเดียวกัน 

     ความประหลาดของอาการพิษ—ในที่นี้คืออาการเมาเห็ด ลักษณะจะเป็นไปแบบขึ้นๆ ลงๆ คือมีอาการที่ดูรุนแรง เช่น ม่านตาขยาย ชีพจรเต้นเร็ว หายใจลำบาก ก่อนจะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติและแกว่งกลับไปสู่อาการที่ดูสาหัส

     อาการที่น่าสนใจและแปลกประหลาดที่สุดคือลูกชายคนเล็กวัยแปดขวบ ในรายงานระบุว่า เด็กชายเอ็ดเวิร์ด เอส. กินเห็ดเข้าไปเป็นจำนวนมาก แต่อาการของเด็กน้อยคือขำอย่างไร้เหตุผล (immoderate laughter) ซึ่งหัวเราะกับอาการป่วยที่รักษาไม่ได้ของพ่อแม่ที่กำลังเกิดขึ้น 

     นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นว่าเด็กมีอาการราวกับ ‘ถูกพาไปยังโลกใบอื่น’ มีอาการพูดจาไม่รู้เรื่อง คือพอถามเรื่องหนึ่งกลับตอบอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยออกมา ในรายงานทางการแพทย์นั้นคุณหมอวินิจฉัยว่าเป็น ‘อาการอันตรายจากเห็ดที่พบได้ทั่วไป ที่ก่อนหน้านี้ไม่รับรู้ว่ามีพิษมาก่อน’ (deleterious effects of a very common species of agaric, not hitherto suspected to be poisonous) บันทึกดังกล่าวถูกอ้างอิงซ้ำหลายครั้งตลอดศตวรรษที่ 19 

     ต้องเข้าใจว่าช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ การแพทย์ รวมถึงเคมีต่างๆ กำลังค่อยๆ ได้รับการสำรวจศึกษาเผยแพร่ การเมาของนายเจ.เอส.จึงค่อนข้างสร้างคุณูปการให้วงการเห็ดราศึกษา แต่เดิมความรู้เรื่องสารหลอนประสาทในเห็ดที่หน้าตาเหมือนเห็ดทั่วๆ ไปไม่เป็นที่รู้จัก เราอาจรู้จักแค่เห็ดพิษสีแดงที่เอาไว้ฆ่าแมลง ไปจนถึงชีวเคมีและการแพทย์ 

     หลังจากอาการป่วย นายเจมส์ โซเวอร์บี (James Sowerby) นักพฤกษศาสตร์และนักวาดภาพที่กำลังรวบรวมและจัดทำ Coloured Figures of English Fungi or Mushrooms หนังสือว่าด้วยวงวานเห็ดที่ตีพิมพ์ในปี 1803 เข้าเยี่ยมเพื่อร่วมระบุว่าเห็ดชนิดไหนที่ทำให้เกิดอาการเมาแก่ครอบครัวนี้ คือตอนนั้นยังไม่มีการระบุหรือทำความเข้าใจเห็ดเมาอย่างชัดเจน แต่เห็ดที่ระบุตัวขึ้นในตอนนั้นเป็นเห็ดที่เรียกว่า Liberty Cap คือเป็นเห็ดผอมๆ มีดอกทรงพุ่ม (ชื่อของเห็ดหมวกแห่งอิสรภาพมาจากทรงของเห็ดที่เหมือนกับหมวก pileus ที่ทาสซึ่งได้รับอิสระสวมในสมัยกรีกและโรมันโบราณ—หมวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางการเมืองในศตวรรษที่ 17-18 ของยุโรปด้วย)

     ในแง่ความเข้าใจเรื่องเห็ดเมา ความรู้และการใช้งานเห็ดเมาถือเป็นของใหม่ หมุดหมายสำคัญของกระแสความสนใจเรื่องการใช้พิษเห็ดในทางการแพทย์หรือประโยชน์ต่างๆ เริ่มต้นในปี 1955 เมื่อกุมารแพทย์และนักเดินทางอเมริกันไปเข้าร่วมพิธีใช้เห็ดเมาในอเมริกาใต้และเขียนเป็นบันทึกลงนิตยสาร Life ในปี 1957 ข้อเขียนดังกล่าวโด่งดังมากจนในปี 1960 มีนักจิตวิทยาคลินิกจากฮาร์วาร์ดเดินทางไปร่วมพิธีและศึกษา ซึ่งหลังกลับมายังมหาวิทยาลัยก็เกิดโปรเจกต์ศึกษาค้นคว้า หลังจากนั้นโลกก็เริ่มเข้าใจอำนาจของเห็ด เข้าใจสารสำคัญ เริ่มมีการขึ้นบัญชียาเสพติด และเริ่มทบทวนสถานะและการใช้งานเพื่อการแพทย์รวมถึงเพื่อการสันทนาการ

     หลังจากอาการเมาเห็ดและรายงานเรื่องพลังของเห็ดที่ส่งผลต่อประสาทรับรู้ของมนุษย์ เห็ดเมาและดินแดนของเห็ดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า ส่วนหนึ่งของการแสวงหาความรู้ทางการแพทย์ 

     เจ้าเห็ดสีแดงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องปรัมปราที่ถูกฟื้นฟูขึ้นในยุคโรแมนติก (1800-1850) เป็นยุคที่นิทาน เรื่องเล่า ตำนานท้องถิ่นถูกรวบรวมเป็นระบบและเผยแพร่ขึ้นผ่านการพิมพ์ ซึ่งยุคโรแมนติกเป็นการแบ่งยุคสมัยที่เหลื่อมกันกับยุควิกตอเรีย เป็นช่วงสมัยสำคัญที่ตะวันตกก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (1820-1914)

     ยุควิกตอเรียเป็นยุคที่มีความซับซ้อน คือเป็นช่วงที่เมืองกำลังก่อตัว เกิดความเป็นอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า แต่ในยุควิกตอเรียก็เต็มไปด้วยความสนใจในเรื่องลี้ลับ บางส่วนมีการกลับไปหาเรื่องเล่านิทานชาวบ้าน 

     ช่วงนี้เองที่อาณาจักรแฟรี่เป็นอีกหนึ่งดินแดนที่ศิลปินหลงใหล ในช่วงทศวรรษ 1850-1870 เกิดกระแสความนิยมวาดภาพแฟรี่และอาณาจักรลึกลับขึ้น ในยุคนั้นจะเกิดภาพนุ่มๆ ของแฟรี่ที่ถูกวาดแบบชวนฝัน เป็นภาพเหล่าแฟรี่ที่รวมตัวกันเป็นสภาบนวงแหวนวงกลมของเห็ดวงแหวนแฟรี่ มีภาพแฟรี่เต้นรำไปรอบๆ เห็ดสีแดง ภาพเหล่านี้แสดงจินตนาการของผู้คนในยุคสมัยใหม่ที่มองอาณาจักรแฟรี่ในมุมใหม่ เป็นพื้นที่ลับที่ไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป แฟรี่ถูกวาดให้สวยงาม บอบบาง และเป็นสิ่งที่มนุษย์เฝ้าสังเกต

     สิ่งที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกันคือความเจริญด้านการพิมพ์ หนึ่งในตัวบทที่สำนักพิมพ์นิยมนำมาพิมพ์จำหน่ายคือนิทานและตำนานพื้นบ้าน ตรงนี้สัมพันธ์กับบริบทเมือง เพราะตั้งแต่ยุควิกตอเรียเป็นต้นมาก็เริ่มเกิดการอพยพมาอยู่ในเมือง และพอเกิดกิจการการพิมพ์ เรื่องที่ตีพิมพ์ก็เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาอยู่แล้ว นั่นก็คือพวกตำนานนิทานจากภูมิภาคต่างๆ 

     พอเสร็จจากหน้าที่การงาน คนที่เข้ามาทำงานในเมืองก็มีกิจกรรมรวมตัวกันยามว่าง ล้อมวงกันเพื่อให้คนที่อ่านหนังสือออกอ่านหนังสือให้ฟัง 

     จะมีอะไรชวนให้คิดถึงบ้าน หลีกหนีจากสภาพอันแออัดและการทำงานในโรงงานได้ดีไปกว่านิทานที่คุ้นเคยในวัยเด็ก 

     ช่วงนี้เองที่เราเริ่มเห็นภาพประกอบหนังสือที่มีเห็ดเป็นส่วนประกอบ เช่น ใน Vasilisa the Beautiful รวมเทพนิยายรัสเซียที่ตีพิมพ์ในปี 1899 ในหนังสือมีภาพประกอบเป็นแม่มดและเด็กสาวที่มีเห็ด Flying Agaric เป็นส่วนหนึ่งของป่า และในกรอบภาพก็มีการวาดกราฟิกเป็นเห็ดเล็กๆ ไว้ด้วย

     หลังจากนั้นกิจการการพิมพ์เริ่มก้าวหน้า การไปรษณีย์เป็นระบบและราคาที่ถูกลง คนรู้หนังสือมากขึ้น ในยุควิกตอเรียเริ่มปรากฏโปสต์การ์ด สิ่งพิมพ์สวยๆ งามๆ และแน่นอนว่ามักมีอาณาจักรแฟรี่ที่น่ารักเป็นธีมของสินค้า เช่น ภาพโนมขนเห็ดขนาดใหญ่ แฟรี่เล่นซ่อนแอบกับเด็กๆ รอบดอกเห็ดสีแดงสด

     ภาพดอกเห็ดและดินแดนแฟรี่จึงกลายเป็นภาพสำคัญทางวัฒนธรรมที่กระจายไปทั่วโลก เห็ดที่เราอาจไม่ทันสังเกต เมื่อมองดีๆ ก็อาจพบว่าในเรื่องเล่า ในตำนาน ในฉาก ในภาพวาด ในดินแดนที่เรามองไม่เห็นและดินแดนมหัศจรรย์ที่เราฝันถึงตอนเด็กๆ อาจมีเห็ดขึ้นอยู่รายรอบ หรือเจ้าเห็ดหมวกแดงที่หน้าตาประหลาดและผุดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยนั้น อาจเป็นหนทางหนึ่งในการพาเราก้าวเข้าสู่พื้นที่พิเศษได้

     อาณาจักรเห็ดจึงเป็นอีกดินแดนเล็กๆ ที่สำหรับมนุษย์เราแล้วก็ไม่เชิงว่าเล็กเท่าไหร่ 

     เห็ดที่ไม่เชิงว่าเป็นพืชและเป็นสัตว์เคยเป็นเนื้อหนังและเป็นเครื่องมือสื่อสารสู่ปวงเทพ เป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมาจากความว่างเปล่า แถมพวกมันยังเป็นส่วนหนึ่งของป่า ของดินแดนอันลี้ลับ ด้วยตัวพวกมันเองก็แสนจะประหลาด หน้าตาก็พิลึก ไม่เหมือนพืชใบเขียว ชอบขึ้นเป็นวงกลม เหมือนมีภูติหรือแม่มดมาขีดกำกับเอาไว้ บ้างก็มีสีสดเหมือนเลือด รูปทรงประหลาดเหมือนสมอง เหมือนถ้วย

     ถ้านับในลำดับชั้นของสิ่งมีชีวิต เห็ดไม่ได้มีระบบอวัยวะที่ซับซ้อน เป็นแค่ผู้ย่อยสลาย เป็นสิ่งมีชีวิตที่อิงอาศัย เติบโตบนความผุพัง แต่ด้วยความประหลาดของเจ้าเห็ด พวกมันกลับเป็นทั้งยารักษา ยาอายุวัฒนะ เป็นยาพิษ กระทั่งเป็นหนึ่งในไม่กี่สิ่งมีชีวิตที่ควบคุมบงการการรับรู้โลกของมนุษย์ได้ 

     ยิ่งเรารู้จักเห็ดเหล่านี้มากขึ้นเท่าไหร่ ในความจิ๋วและอาณาจักรที่มองไม่เห็นนี้ เราก็ยิ่งพบความแปลกประหลาดในการดำรงอยู่ของพวกมัน 

     เราพบว่าพวกมันเติบโตและยึดร่างสิ่งมีชีวิตที่มีลำดับสูงกว่าคือพวกแมลง ชักเชิดเหล่าแมลงให้กลายเป็นเพียงหุ่นกระบอกได้ และที่น่าสะพรึงขึ้นไปอีก คือเห็ดบงการการรับรู้ของเราได้เหมือนกัน ไม่แน่วันหนึ่ง พวกมันซึ่งอยู่ในฐานส่วนปลายของห่วงโซ่ ก็อาจเติบโตโดยมีมนุษย์เป็นอาหาร 

     จินตนาการของเราที่มีต่ออาณาจักรเห็ดรา ในนัยหนึ่งจึงเป็นการท้าทายตำแหน่งแห่งที่ของมนุษย์และความเป็นมนุษย์ของเราที่จัดตัวเองไว้บนห่วงโซ่สูงสุด 

     วันนี้เรากินเห็ดเมาเพื่อทำให้การรับรู้ของเราเปลี่ยนไปจากอาการเมา วันหน้าเมื่อพวกเห็ดวิวัฒน์ขึ้น พวกมันอาจทำให้เราสูญเสียสัมปชัญญะและเจตจำนงของตัวเราเอง จนอาจกลายเป็นเพียงเครื่องมือในการขยายพันธุ์ของอาณาจักรลี้ลับที่อยู่คู่กับจินตนาการและวัฒนธรรมของเรามาตั้งแต่ครั้งโบราณก็เป็นได้

อ้างอิง

researchgate.net/publication/299443455_Mushroom_Sacraments_in_the_Cults_of_Early_Europe 
wiltshirewildlife.org/blog/fungi-folklore 
motley.ie/mushrooms-in-folklore-and-fairytales/ 
mikejay.net/mushrooms-in-wonderland/ 
https://writinginmargins.weebly.com/home/why-do-fairies-steal-people-away 
news.cgtn.com/news/2019-11-17/Alien-Fungi-The-mushroom-that-inspired-Alice-in-Wonderland-creators-LFu9V3HMSQ/index.html 
lithub.com/amanita-muscaria-the-real-life-mushroom-we-know-from-disney-movies/ 
https://pcog.psu.ac.th/images/Article/2563/08/magic-mushroom.pdf 
publicdomainreview.org/essay/fungi-folklore-and-fairyland 
mikejay.net/mushrooms-in-wonderland/  
https://www.mushroomthejournal.com/tiptoeing-through-the-toadstools-mushrooms-in-victorian-fairy-paintings/