Sat 09 Oct 2021

Chaichai Books

ชีวิตการซื้อและอ่านที่เกาหลีใต้ของ ‘กิ่ง—ณัฐกานต์ อมาตยกุล’ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ไจไจ

     ถ้าพูดถึงสำนักพิมพ์ที่เราตื่นเต้นทุกครั้งที่มีข่าวว่าออกหนังสือเล่มใหม่ สำนักพิมพ์ไจไจ ต้องติดอยู่ในลิสต์สำนักพิมพ์เหล่านั้นแน่นอน เพราะต่อให้แต่ละปีจะออกหนังสือไม่มาก แต่ด้วยเรื่องราวที่สำนักพิมพ์นี้คัดสรรมา ล้วนมีลีลาที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของเนื้อหา ตัวผู้เขียน หรือแม้แต่งานออกแบบที่เมื่อทั้งหมดรวมกันแล้ว มักจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นหนังสือที่นักอ่านควรมีเก็บไว้ติดบ้าน

     เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อน สำนักพิมพ์ไจไจเพิ่งประกาศว่าจะปล่อยเล่มใหม่อย่าง The Memory Police ความจำที่สาบสูญ ผลงานการเขียนของ ‘โยโกะ โอกาวะ’ (Yoko Ogawa) ที่ถ้าใครเป็นแฟนสำนักพิมพ์นี้ก็อาจเคยผ่านตางานเขียนของเธอจากเล่ม Revenge: Eleven Dark Tales เรือนร่างเงียบเชียบ การบอกลาเย็นเยียบน่าขยะแขยง มาแล้ว และเพื่อต้อนรับการออกหนังสือเล่มใหม่ คอลัมน์ BOOKMARKS คราวนี้จึงไปชวน ‘กิ่ง—ณัฐกานต์ อมาตยกุล’ หนึ่งในบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ไจไจ ที่ตอนนี้ไปเรียนต่อที่ประเทศเกาหลีใต้ พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการอ่านและเรื่องเกี่ยวกับหนังสือที่กิ่งได้เจอในต่างแดนกัน

กิ่งได้อ่านหนังสือภาษาเกาหลีบ้างมั้ย

     เลเวลภาษาเกาหลีของเรายังไม่สูงนัก ยังอ่านหนังสือยากๆ ไม่ได้ แต่ไม่นานมานี้ได้ไปเดินร้านหนังสือกับพี่คนหนึ่งที่เขาคอยรีวิวหนังสือเกาหลีให้สำนักพิมพ์ไทยเจ้าหนึ่ง (หรือพูดอีกอย่างคือเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ) เขาแนะนำให้ลองอ่านหนังสือของ ‘นา แทจู’ (Na Tae-joo) ตอนนี้กำลังพยายามอ่านอยู่ แต่ไม่ได้เอาไปทำไจไจบุ๊คส์นะ อ่านเล่นจ้า พวกที่ได้อ่านจริงๆ จะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะหนังสือเรียนปริญญาโท แต่ถ้าไม่นับเรื่องเรียน ช่วงนี้ก็ตามอ่าน ‘B Magazine’ เล่มเก่าๆ เพราะอยากเติมไฟให้ตัวเอง หาความหมายให้สิ่งที่ทำอยู่หรือกำลังวางแผนจะทำในอนาคต

 ได้ซื้อหนังสือบ้างหรือเปล่า

     ซื้ออยู่เรื่อยๆ บางทีไม่ได้ตั้งใจไปซื้อ แต่ไปเดินเล่นร้านหนังสือแล้วโดนตกด้วยปก สิ่งที่ชอบมากที่นี่คือปกหนังสือสวยมากกกก ไปร้านหนังสือทีเหมือนไปแกลเลอรี่ แค่เดินดูก็เพลินใจแล้ว ได้ซึมซับเทรนด์ด้านการดีไซน์ของเขาไปด้วย 

     อีกอย่างที่ชอบก็คือพวกวารสารวรรณกรรมหรือบุ๊กกาซีนที่ไอเดียสนุกๆ เช่น bold journal บุ๊กกาซีนสำหรับคุณพ่อ หรือ VOSTOK ที่เป็นบุ๊กกาซีนออกตามธีม มีภาพถ่าย บทความ เรื่องสั้นผสมกัน เช่น ฉบับ 2020 Pandemic Diary ว่ากันจริงๆ ก็เหมือนนิตยสารที่เราเคยอ่านๆ กันเมื่อก่อนเนาะ คือรวมคอนเทนต์หลายๆ อย่างในเล่มเดียวกัน ไม่ได้ถึงกับแหวกแนว แต่เราชอบรูปเล่ม การเลือกรูปมาใส่ แบบตัวอักษร และการจัดหน้าของเขา มันตรงจริตมั้ง

     จากที่ชอบคิดว่าแค่ไปเดินดูเล่นๆ ก็ต้องได้ติดมือมา 2-3 เล่ม จะซื้อมากก็ไม่ได้เพราะถ้าต้องกลับไทยก็ต้องมาคิดเรื่องขนของกลับอีก

คนเกาหลีที่กิ่งเจอนิยมอ่านหนังสือแนวไหน

     พอดีไม่ค่อยได้ถามเขาเรื่องแนวหนังสือที่อ่าน อาจจะเพราะเรดาร์ยังจับคนที่เป็นหนอนหนังสือไม่ได้ (เขาอาจจะชอบอ่านแต่ไม่ได้แสดงออก) ถ้าดูจากเบสต์เซลเลอร์ก็พบว่าถ้าไม่นับพวกฮาวทู พัฒนาตัวเอง เขาก็อ่านนิยายของนักเขียนทั้งชาวเกาหลีและต่างชาติที่เป็นนักเขียนร่วมสมัยกับปรัชญาเยอะอยู่ ล่าสุด หนังสือแปลแนวปรัชญาอ่านง่ายอย่าง The Socrates Express: In Search of Life Lessons from Dead Philosophers ของ ‘เอริก ไวเนอร์’ (Eric Weiner) ก็ขายดีเลย ขึ้นอันดับ 1 ใน Naver อยู่ช่วงหนึ่งด้วย ก็แปลกใจเหมือนกัน วันนี้เพิ่งไปร้านหนังสือ Kyobo สาขาควังฮวามุนมา หลังสือเล่มใหม่ของ ‘ฮัน คัง’ (Han Kang นักเขียนนิยายที่มีผลงานสร้างชื่อคือ The Vegetarian) กำลังมาแรง ขึ้นชาร์ตเบสต์เซลเลอร์อยู่ตอนนี้ เลยแอบไปเปิดๆ ดูหน้าเครดิต คือพิมพ์ครั้งที่สามภายในห้าวัน!? เหย มันสุดเนาะ ถึงกับซี้ดปาก”

ร้านหนังสือที่กิ่งชอบ

     ARC.N.BOOK สาขาชินชน ไปที่นี่บ่อยเพราะเวลาว่างๆ จะชอบไปเที่ยวย่านชินชนอยู่แล้ว (อยู่ห่างจากอีแดไปแค่หนึ่งสถานี) และไปกินข้าวทีไรก็จะแวะขึ้นไปที่นี่ด้วย ร้านอยู่ชั้นที่ 12 ของ U-PLEX มีร้านกาแฟที่เห็นวิวเมืองย่านชินชนสวยเลย 

     อีกร้านคือ Kyobo แม้จะเป็นร้านเชนใหญ่ แต่เข้าไปข้างในร้านสาขาอีแด (มหาวิทยาลัยอีฮวา) แล้วรู้สึกว่าเขาให้ความสำคัญกับนักเขียนวรรณกรรมมาก มีชั้นหนังสือที่พนักงานน่าจะเป็นคนคิวเรตหนังสือของนักเขียนแต่ละคนแยกเป็นช่องๆ แล้วก็มีป้ายแนะนำนักเขียนคนนั้นอย่างคร่าวๆ เวียนสลับกันไปมาเพื่อให้คนได้รู้จักนักเขียนเหล่านี้มากขึ้น”

กิ่งได้ไปพวกห้องสมุด หรือเมืองหนังสือมั้ย

     เราเคยไป Paju Book City (ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเมืองพาจู) อันนี้เป็นจุดหมายที่ตอนมาเกาหลีคิดว่าต้องไปให้ได้ๆๆๆ ไม่งั้นคงเสียเที่ยว ที่นั่นมีห้องสมุด Forest of Wisdom เป็นความอลังการอันอบอุ่นจากสันหนังสือที่เรียงรายแผ่ไปรอบด้าน ตอบโจทย์ติ่งหนังสืออย่างพวกเรามากๆ เห็นแล้วเลือดสูบฉีดดี ที่นี่มักจะไปโผล่ในฉากละครหลายๆ เรื่องด้วย แต่สิ่งที่ผิดคาดก็คือ Book City เงียบกว่าที่คิด อาจเพราะไม่ได้อยู่ในช่วงเทศกาลและเป็นวันธรรมดาที่อากาศร้อนด้วย เลยได้แค่ไปถ่ายรูปอาคารและกรี๊ดกร๊าดกับชื่อสำนักพิมพ์ต่างๆ ของเกาหลี อารมณ์เหมือนที่ผ่านมาเห็นผ่านจอทีวี (ซึ่งหมายถึงร้านหนังสือ) แต่วันนี้ได้เจอตัวจริง

     ส่วนห้องสมุด เคยไปแต่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ก็ชอบนะ ห้องสมุดกลางของอีแดเป็นห้องสมุดที่สวย คลาสสิกดี แต่พอตอนมีโควิด-19 พวกกฎต่างๆ ก็เข้มงวดขึ้น ที่นั่งน้อยลงและจำกัดเวลาทำการ เราเลยใช้วิธีสั่งหนังสือที่จะยืมให้มาส่งที่ห้องสมุดแถวภาควิชาที่เรียนแทน

     อีกอย่างที่ชอบก็คือที่เกาหลีมีบุ๊กคาเฟ่เยอะ เป็นบุ๊กคาเฟ่ที่ไม่ใช่แค่เลือกหนังสือมาประดับ แต่มีหนังสือหลากหลาย ทำให้บรรยากาศคล้ายห้องสมุดเลย อย่างร้านที่ชอบก็คือร้าน PAO Book cafe ที่อยู่หน้ามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา หรือร้าน 1984 ที่ฮงแด 

     มีห้องสมุดหนึ่งที่อยากไปมากๆ แต่ยังไม่ได้ไปเพราะไกล คือห้องสมุดของ LTI (Literature Translation Institute of Korea) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนด้านการแปลวรรณกรรมเกาหลีเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก นั่นหมายความว่าห้องสมุดนี้ได้รวบรวมหนังสือเหล่านั้นไว้ด้วยกันแล้ว ถ้าอยากทำความรู้จักโลกวรรณกรรมเกาหลี ไปในที่ก็น่าจะครบทุกด้านเลย”

ตอนนี้อยากอ่านหนังสือไทยเล่มไหน

     อยากอ่านหลายเล่มมากๆ ถึงกับพยายามหาอีบุ๊ก แต่พอเวลาผ่านไปเราก็จะจำไม่ค่อยได้ เอาเท่าที่จำได้ตอนนี้ก็คือ ขออภัย แต่ไม่ต้องรีบ No Hurry, No Worry ของ ‘พิชญา โชนะโต’ แล้วก็เนื่องจากมองคนยุคนี้ว่าเป็นพลเมืองโลก เราเลยอยากอ่านหนังสือแนวที่คนออกไปเรียนรู้หรือใช้ชีวิตที่อื่น อย่าง Erasmus Generation เผ่าพันธุ์แห่งการเรียนรู้ ของ ‘พชร สูงเด่น’ และ a day ฉบับ ‘global citizen’ อีกเล่มที่อยากอ่านเพราะเห็นว่าปังมากคือ ในแดนวิปลาส ของสำนักพิมพ์พารากราฟ แล้วก็ตอนนี้สำนักพิมพ์ Bibli กำลังมา เลยติดตามสำนักพิมพ์นี้อยู่และอยากอ่านงานที่เขาเลือกมาพิมพ์ด้วย 

     ส่วนสามเล่มที่ค้างคาใจเพราะมีคนบอกว่าจะส่งมาให้ตั้งแต่ปีก่อน (หรือสองปีก่อน?) แต่การขนส่งขัดข้องเล็กน้อยก็คือ เศรษฐกิจสามสี – เศรษฐกิจแห่งอนาคต ในการแพร่ระบาด และ ในครึ่งที่ยังว่างของกระเป๋าเดินทางสีฟ้า อันนี้ก็ทดไว้ว่าจะกลับไปอ่าน”

กิ่งอยู่ทีมใช้ที่คั่นหรือพับหนังสือ

     คั่น ส่วนใหญ่จะเป็นอะไรใกล้มือ เช่น ใบเสร็จ ทิชชู่ (หมายถึงที่ยังไม่ได้ใช้นะ!) หรือไม่ก็แปะโพสต์อิตแฟล็กไว้ (ที่มันเป็นแถบๆ) เพราะจะได้ไม่หลุดเวลาใส่กระเป๋า