Fri 11 Feb 2022

MUBI NOTEBOOK MAGAZINE ISSUE 0

นิตยสารที่จะชวนให้เราหลงใหลภาพยนตร์จาก ‘MUBI’ เว็บสตรีมมิ่งสุดเท่

ภาพ: NJORVKS

     ทุกวันนี้คุณหมดเงินให้กับแอพสตรีมมิ่งหนังและซีรีส์กันไปกี่บาท?

     ถ้าใครเสียเงินให้กับสตรีมมิ่งมากกว่าหนึ่งเจ้า เราคือเพื่อนกัน ก็นะ สตรีมมิ่งแต่ละเจ้าดันมีหนังและซีรีส์ที่ไม่เหมือนกัน เรื่องนั้นก็น่าดู เรื่องนี้ก็ห้ามพลาด แล้วคนแบบเราๆ จะอดใจไหวได้ยังไง ก็สมัครมันไปให้หมดเลย แม้พอหนึ่งเดือนผ่านไปจะพบว่า อ้าว เดือนนี้ไม่ได้กดเข้าไปดูเลยนี่หว่า…

     แต่เดี๋ยวก่อน นี่ไม่ใช่จุดประสงค์ของโพสต์นี้ เพราะ ‘พิมพ์นิยม’ คือคอลัมน์ที่จะหยิบหนังสือที่พวกเราชื่นชอบมาป้ายยา ซึ่งคราวนี้เป็นคิวของนิตยสารที่มีชื่อเรียบง่ายว่า Notebook จัดทำโดย MUBI บริการสตรีมมิ่งหนังสุดเท่ที่จะเลือกหนังหาดูยากจากทั่วทุกมุมโลกมาแนะนำคุณเป็นประจำทุกวัน โดย MUBI นั้นเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2007 พวกเขาไม่ใช่หน้าใหม่ของโลกสตรีมมิ่ง แต่จะเรียกว่าเป็นหน้าใหม่ของโลกสิ่งพิมพ์ก็ว่าได้

     เมื่อปลายปี 2021 MUBI ประกาศว่าจะทำนิตยสารซึ่งแน่นอนว่าต้องพูดถึงโลกของภาพยนตร์ โดยจะชักชวนผู้กำกับหรือผู้เกี่ยวข้องในวงการภาพเคลื่อนไหวเข้ามามีส่วนร่วมในการทำเนื้อหา และไม่มีให้อ่านในออนไลน์ ทำให้แทนที่เราจะเสียเงินเป็นสมาชิกเพื่อดูหนังใน MUBI อย่างเดียว ต่อจากนี้เราอาจต้องเสียเงินให้กับสิ่งนี้เพิ่ม ซึ่งเมื่อได้รับหนังสือแล้ว เราก็อยากบอกว่าเต็มใจจ่าย และอยากชวนทุกคนไปจ่ายด้วย แม้ว่าฉบับ 0 จะไม่มีให้ซื้อแล้ว แต่เราก็อยากมาป้ายยาไว้ก่อน เผื่อว่าฉบับ 1 ออก ทุกคนจะได้ไม่พลาด!

     ในยุคที่สตรีมมิ่งยังไม่แพร่หลาย และหนังของ ‘หว่อง การ์ไว’ ยังหาดูไม่ได้ง่ายๆ ‘เอเฟ คากาเรล’ (Efe Cakarel) นักธุรกิจชาวตุรกีที่เดินทางไปโตเกียวเมื่อปี 2006 ดันอยากกระทำความหว่องด้วยการดู In the Mood for Love แต่ไม่ว่าเขาจะเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตยังไง ก็ไม่มีช่องทางไหนให้เขาหาดูได้ คากาเรลเลยเกิดความคิดอยากทำโรงหนังออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์คอหนังที่อยากดูหนังแต่หาดูจากอินเทอร์เน็ตไม่ได้ขึ้นมา

     กุมภาพันธ์ 2007 TheAuteurs.com เว็บไซต์ในฝันของคากาเรลก็เปิดตัวขึ้น โดยที่มาของชื่อนี้มาจากการที่คากาเรลเลือกเอาหนังคลาสสิก หนังอินดี้ หรือหนังอาร์ตๆ มาฉายในเว็บไซต์ ซึ่งบรรดาหนังเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วผู้กำกับจะมีบทบาทครอบคลุมทุกกระบวนการ ทั้งเขียนบท กำกับ (หรือบางคนก็อาจตัดต่อด้วย) เป็นคนที่มีลายเซ็นในงานของตัวเองชัด ซึ่งในภาษาฝรั่งเศสจะเรียกผู้กำกับที่ทำงานแบบนี้ว่า ‘Auteur’ (ออเตอร์) คากาเรลเลยเอาชื่อนี้มาใช้ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘MUBI’ คำที่ไม่มีความหมาย แต่เข้าใจง่าย และเป็นมิตรกับคนดูในวงกว้างเมื่อปี 2010

     ตัดภาพมายุคนี้ จริงอยู่ว่าสตรีมมิ่งอาจมีมากมายหลายเจ้า และเราอาจหาหนังหว่องดูได้จากสตรีมมิ่งอื่นไปแล้ว แต่ MUBI ก็ยังเปิดให้บริการได้อย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปี โดยจุดเด่นที่พวกเขามี ก็คือการเป็นสตรีมมิ่งที่คัดสรรหนังด้วยตัวเอง (curated streaming service) พวกเขามีทีมงานคอยเสาะหาหนังที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก โดยจะมีทั้งหนังในตำนาน หนังคลาสสิก หนังชิ้นเยี่ยม และหนังดีๆ จากประเทศฝรั่งเศส เม็กซิโก ชิลี หนังของผู้กำกับรุ่นเก๋าอย่าง ‘ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์’ (François Truffaut) ‘อันเดร ทาร์คอฟสกี’ (Andrei Tarkovsky) หรือหนังของผู้กำกับที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันอย่าง ‘ยอร์กอส ลานทิมอส’ (Yorgos Lanthimos) 

     นอกจากนี้ MUBI ยังมีจุดแข็งตรงที่ทุกเที่ยงคืนคุณจะได้พบกับ Film of the Day หรือภาพยนตร์ที่ทีมงานภูมิใจนำเสนอในแต่ละวัน ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นจะมีระยะเวลาให้คุณดูได้แค่ 30 วัน จากนั้นหนังจะถูกถอดออกจากเว็บไซต์ ใครที่อยากดูก็ควรดูเลย อย่ารอ เพราะเดี๋ยวลืม

     ไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะ MUBI ยังขยันจัดโปรแกรมหนังสนุกๆ หรือทำโปรแกรมฉายเพื่อยกย่องผู้กำกับหลากหลายคน แนวหนังหลากหลายแนว รวมถึงยังมีหนังสุดเอกซ์คลูซีฟที่หาดูได้แค่ที่นี่ที่เดียวด้วย เรียกได้ว่าถ้าสมัยก่อน คอหนังอินดี้เมืองไทยมีร้านแว่น วิดีโอแถวจตุจักรเป็นดังหมุดหมาย MUBI ก็อาจเปรียบได้กับเมกกะของคนรักหนังอิสระในทุกวันนี้ ซึ่งจะว่าไปก็สอดคล้องกับแนวคิดของคากาเรลที่อยากให้ MUBI เป็นเหมือนคอมมิวนิตี้ของคอหนัง โดยเขาบอกว่าเว็บไซต์แห่งนี้เป็นเหมือนร้านกาแฟที่นอกจากทุกคนจะมาดูหนังกันแล้ว ยังจะมีพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ด้วย

     นอกจากคุณจะแสดงความเห็นและให้คะแนนหนังแต่ละเรื่องได้ MUBI ยังมีเซกชั่นที่เรียกว่า Notebook แหล่งรวบรวมบทความ บทสัมภาษณ์ และวิดีโอที่จะทำให้เข้าใจโลกของภาพยนตร์มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็อาจมีงานที่เป็นเหมือนส่วนขยายของหนังที่คุณอาจเพิ่งดูใน MUBI จบไป เป็นเหมือนส่วนเสริมที่อาจช่วยให้เรามองหนังเรื่องนั้นในมุมใหม่ หรือทำให้เข้าใจหนังที่เพิ่งผ่านตาไปมากขึ้น

     บทความและคอลัมน์ต่างๆ ใน Notebook อัพเดตเป็นประจำทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่ง MUBI ก็ไม่อยากให้งานเขียนของพวกเขาอยู่แค่บนโลกออนไลน์อีกต่อไป Notebook นิตยสารราย biannual (สองเล่มต่อปี) จึงเกิดขึ้น โดย MUBI ส่งอีเมลแจ้งเหล่าสมาชิกว่ากำลังจะทำนิตยสาร แต่ก่อนที่จะเริ่มนับหนึ่งอย่างจริงจัง MUBI ก็อยากทำฉบับ 0 หรือฉบับทดลองมาให้เหล่าสมาชิกได้โอกาสลิ้มลองก่อนใคร

     Notebook ฉบับ 0 มีชื่อธีมเล่มว่า For the Cinema to Come เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์ในแง่มุมต่างๆ โดยผู้กำกับ นักเขียน และนักวิจารณ์ที่มีใจรักในภาพเคลื่อนไหว จัดทำในรูปเล่มขนาด 21×27.5 ซม. จำนวน 132 หน้า ซึ่งถ้าคุณไปดูในหน้าเว็บที่ให้สั่งซื้อหนังสือ จะเห็นเขาระบุไว้ด้วยว่าภายในเล่มภาพประกอบทั้งหมด 145 รูป คือก็ไม่รู้ว่าระบุถึงขั้นนี้ทำไม แต่ถ้าไว้ว่างๆ จะลองนับดูว่ามีจำนวนเท่านี้จริงมั้ย

     หนังสือถูกจัดส่งมาในกล่องกระดาษที่ถูกดีไซน์มาเพื่อห่อหุ้มหนังสือที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลโดยเฉพาะ เพราะนอกจากจะมีไซส์พอดีแล้ว ตัวกล่องยังสกรีนคำว่า Notebook แถมยังทำให้ใครที่คิดว่าจะแกะกล่องแล้วเขวี้ยงทิ้งเลยต้องฉุกใจคิดอีกหน่อย เพราะเปิดกล่องมา เราจะเจอกับรายชื่อของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้เรียงตามลำดับตัวอักษร 

     นอกจากนี้ ทุกคนยังจะได้รับกระเป๋าย่ามแถมมาให้ใส่หนังสือสะพายออกไปนอนอ่านเล่นนอกบ้าน ซึ่งจากที่ไปส่องๆ มาเห็นบางคนก็ได้สีดำ แต่ตัวเรานั้นได้สีน้ำเงิน หนึ่งในสีหลักที่ MUBI เลือกมาใช้งานบ่อยๆ ในเว็บไซต์ ส่วนตัวรูปเล่มนั้น หน้าปกเป็นภาพที่ชวนให้นึกถึงการฉายหนัง สัมผัสแล้วรู้สึกได้ถึงเทกซ์เจอร์ของกระดาษที่ไม่เนียนไปไม่หยาบเกิน ข้างในตีพิมพ์สี่สี พร้อมภาพประกอบสวยงาม

     มาที่เนื้อหากันบ้าง ทันทีที่เปิดมาก็จะเจอบทเกริ่นนำจากคากาเรล ว่าด้วยความรู้สึกที่คนรักหนังน่าจะพยักหน้าตามหงึกๆ อย่างการเจอหนังที่ชอบสักเรื่องแล้วเราอยากบอกต่อ อยากเชียร์ให้เพื่อนๆ ของเราได้ดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งนอกจาก Notebook จะถูกทำขึ้นมาด้วยความรู้สึกนี้แล้ว คากาเรลยังพูดต่ออีกหน่อยว่าพวกเขาอยากทำนิตยสารแบบจับต้องได้มาตลอด แต่ก็รู้สึกดีที่ไม่ได้ทำมาก่อนหน้านี้ และคิดว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด

     เราคาดเดาเอาเองว่าคากาเรลอาจหมายถึงถ้าทำนิตยสารออกมาก่อนหน้านี้ มันก็คงเป็นแค่นิตยสารหนังที่มีมาเพิ่มอีกหัวหนึ่ง แต่พอทำในช่วงเวลาที่วงการภาพยนตร์ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากการที่คนทำหนังต้องฉายหนังในโรงภาพยนตร์เท่านั้นสู่การฉายหนังในรูปแบบอื่น ไปจนถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จากโควิด-19 ที่ไม่ได้แค่ส่งผลต่อทีมงานและผู้สร้าง หากยังรวมถึงส่วนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอย่างโรงภาพยนตร์ด้วย นิตยสาร Notebook เลยอาจเป็นเหมือนการส่งเสียง ให้ทุกคนได้กลับมาเอ็นจอยกับการชมภาพยนตร์และเชิญชวนให้เราตบเท้าเข้าโรงหนังเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้อีกครั้ง

     พาร์ตแรกของ Notebook เลยเป็นบทความเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์อย่างสกาล่าและพื้นที่ฉายหนังในประเทศไทยโดย ‘ก้อง ฤทธิ์ดี’ นักวิจารณ์หนังที่หลายคนอาจเคยผ่านตาผลงานของเขามาบ้าง, การเอาตัวรอดของเทศกาลหนังในยุคที่ทุกอย่างต้องกลายเป็น virtual, บันทึกการสนทนาของตัวแทนจากโรงหนังในอิตาลีและดูไบ, เรื่องราวในความทรงจำเกี่ยวกับโรงหนังของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ และปิดท้ายด้วยซีรีส์ ‘Theaters’ ชุดภาพถ่ายจอภาพยนตร์ของ ‘ฮิโรชิ ซูกิโมโตะ’ (Hiroshi Sugimoto) ที่กดเปิดหน้ากล้องเอาไว้เมื่อหนังเริ่มฉาย และกดชัตเตอร์เมื่อหนังจบ ก่อนจะได้ผลลัพธ์เป็นหน้าจออันสุกสว่างซึ่งสาดส่องให้เห็นโครงสร้างของโรงภาพยนตร์ไปในตัว

     พาร์ตที่สองเป็นเรื่องราวว่าด้วยการอ่าน ซึ่ง MUBI ก็อยากใช้พื้นที่พาร์ตนี้ทำความเคารพ ไหว้ครูให้กับบรรดานิตยสารหนังที่กรุยทางมาก่อนหน้า เพราะพวกเขารู้สึกว่านอกจากภาพยนตร์แล้ว บทวิจารณ์และนิตยสารที่พูดเรื่องนี้โดยเฉพาะก็มีบทบาทสำคัญในการทำให้โลกของภาพยนตร์ยังมีลมหายใจ

     Dear Reader จึงเป็นเหมือนสกู๊ปที่ MUBI ชักชวนให้คนในวงการหนัง (อย่างเช่น ‘ฌอน เบเกอร์’ (Sean Baker) ผู้กำกับ The Florida Project) เขียนจดหมายฝากความในใจเกี่ยวกับการอ่านนิตยสารภาพยนตร์ส่งมาหาพวกเขา ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รู้จักนิตยสารอีกมากมาย ก็ยังทำให้เห็นด้วยว่านิตยสารและบทวิจารณ์ที่ตีพิมพ์บนกระดาษ ส่งผลต่อแต่ละคนขนาดไหน

     อีกทั้งยังมีการให้ห้องสมุด Margaret Herrick Library ในแคลิฟอร์เนีย และ BFI Reuben Library ในลอนดอน แนะนำหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่น่าสนใจจากคลังห้องสมุดของพวกเขา รวมถึงมีบทความเกี่ยวกับ ‘ยาซุจิโระ โอซุ’ (Yasujiro Ozu) ผู้กำกับในตำนานของญี่ปุ่น เจ้าของผลงานคลาสสิกอย่าง Tokyo Story ที่คัดสรรมาจาก Kinema Junpo นิตยสารหนังที่มีอายุยืนยาวกว่า 102 ปี โดยบทความที่คัดมาลงนั้นก็เป็นเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ อย่างความเชื่อของโอซุที่คิดเสมอมาว่าเขาได้กำกับหนังเรื่องแรกก็เพราะตอนทำงานเป็นผู้ช่วยเขาไปทะเลาะกับคนในกองถ่ายด้วยเรื่องข้าวแกงกะหรี่จนทำให้มีคนพูดถึงเขาว่าหมอนี่น่าสนใจยังไง หรือเรื่องเล่าขำๆ (แต่สตูดิโอและคนทำหนังคงไม่ขำ) ว่าการที่หนังติดลิสต์ท็อป 10 ของ Kinema Junpo แปลว่าหนังของคุณเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้ จนทำให้เมื่อหนัง I Was Born, But… ได้อันดับ 1 แทนที่จะดีใจ โอซุกลับไม่กล้าเผชิญหน้ากับสตูดิโอแทน

     ส่วนพาร์ตสาม ซึ่งเป็นพาร์ตสุดท้ายนั้นเต็มไปด้วยตัวจี๊ด ไล่ไปเลยตั้งแต่การชวน ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ เล่าเรื่องวัยเด็กและการทำงานตลอด 20 ปีผ่านภาพถ่าย, การจับเอาผู้กำกับสองรุ่นอย่าง ‘ไมค์ ลีห์’ ที่ทำหนังตั้งแต่ยุค 70s มาคุยกับ ‘เอมม่า เซลิกแมน’ ผู้กำกับรุ่นใหม่ชาวแคนาดา, บทสัมภาษณ์ ‘เวส แอนเดอร์สัน’ เกี่ยวกับที่มาที่ไปของหนังเรื่องล่าสุดอย่าง The French Dispatch รวมถึงยังมีโน้ตเพลงจากหนังเรื่อง มีบทความพูดถึงโปสเตอร์หนังในยุคเก่า และระหว่างทางยังมีอะไรสนุกๆ ให้อ่านและชื่นชมอีก (ในเล่มมีให้ดูกล้องถ่ายและกล้องฉายหนังของพี่น้องลูมิแอร์ ผู้บุกเบิกภาพยนตร์ด้วย)

     Notebook เลยเป็นนิตยสารหนังที่เราเชื่อว่าคนรักหนังต้องอ่านสนุก ส่วนคนที่เฉยๆ กับหนังก็อาจรู้สึกเหมือนได้เห็นแง่มุมอื่นๆ ของโลกภาพยนตร์ ได้เข้าใจว่าภาพเคลื่อนไหวที่เราดูในโรงหนัง สตรีมมิ่งออนไลน์ที่บ้าน มีที่มาที่ไป และมีเกร็ดสนุกๆ ในประวัติศาสตร์อย่างไร

     และนี่ก็คือสิ่งที่เรานิยมใน Notebook ฉบับที่ 0 นิตยสารที่พวกเราตกหลุมรักทันทีที่ได้อ่านและสัมผัส (แถมอิจฉาตาร้อนอยากทำ CONT. เป็นสิ่งพิมพ์กับเขาบ้างงงง) ซึ่งต่อให้ตอนนี้จะไม่มีขายแล้ว เราก็แอบไปเห็นมาจากเฟซบุ๊กของคุณก้อง ฤทธิ์ดี ว่าจะมีให้อ่านที่ห้องสมุดหอภาพยนตร์ หรือถ้าใครไม่อยากพลาดฉบับอื่นๆ หลังจากนี้ เราแนะนำให้สมัครสมาชิก MUBI เอาไว้ เพราะนอกจากจะได้ดูหนังที่อาจหาดูจากที่ไหนไม่ได้แล้ว ก็จะมีโอกาสได้อ่านนิตยสารที่คัดสรรเรื่องราวคุณภาพๆ แบบนี้ก่อนใครด้วย