Tue 06 Sep 2022

POONTANY

โต๊ะแห่งความไม่เข้ากันของ ‘ปุณณ์ พจนาเกษม’

     หลังจากได้ทำงานร่วมกับ ‘ปุณณ์ พจนาเกษม’ กราฟิกดีไซเนอร์ผู้นำสารพัดข้อมูลมาย่อยเป็นภาพประกอบที่แสนเข้าใจง่าย ในคอลัมน์ DATA JOURNALREAD มาหลายเดือน เราก็เกิดความสงสัยว่าทำไมคนคนนี้ถึงคิดหัวข้อสนุกๆ มานำเสนอเป็นผลงานที่เอกลักษณ์เฉพาะตัวได้เสมอเลยนะ

     ไม่รอให้ความสงสัยก่อตัวนาน เรารีบต่อสายตรงไปหาปุณณ์ ฮัลโหล ขอดูโต๊ะทำงานหน่อย แล้วก็พบสิ่งที่น่าสนใจว่าของหลายๆ ชิ้นบนโต๊ะของปุณณ์นั้นดูไม่เข้ากันซะเลย! ถ้าอยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง กดดูรูปต่อไปได้เลย

เครื่องคิดเลขและลูกบอลดิสโก้

     “ปกติเวลาทำ Data Visualization ข้อมูลบางประเภทต้องถูกคำนวณอย่างแม่นยำ ก่อนจะนำมาเล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายมากขึ้น เราเลยมีเครื่องคิดเลข CASIO ติดโต๊ะไว้เสมอ ซื้อมาตั้งแต่ ม.ปลาย ไม่เคยพัง ไม่เคยหาย 

     “ส่วนลูกบอลดิสโก้เพิ่งซื้อมา ไม่ได้เกี่ยกับฮวงจุ้ยนะ คือห้องนอนเราค่อนข้างมืด เลยซื้อมาไว้ในห้องให้มันสะท้อนแสง แต่ก็ไม่ได้เอามาแขวน เพราะถ้าแขวนจะไม่โดนแสงจากหน้าต่าง เลยเอามาตั้งไว้บนโต๊ะแทน เป็นสิ่งของสองอย่างที่ไม่น่ามาจากคนเดียวกัน แต่มันอยู่บนโต๊ะปุณณ์!”

หนังสือออกแบบ

     “ทุกๆ ปีเราสัญญากับตัวเองไว้ว่า ‘ในเดือนที่ครบรอบการเรียนจบ จะซื้อหนังสือออกแบบจากสำนักพิมพ์ Phaidon เป็นรางวัลให้ตัวเองทุกปี’  

     “ปีแรกที่ครบรอบการเป็นอิสรภาพทางการศึกษา เราซื้อ Made in North Korea หนังสือว่าด้วยงานกราฟิกที่ปรากฏอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือ ตั้งแต่การออกแบบถุงกระดาษของ Air Koryo สายการบินประจำชาติ, บรรจุภัณฑ์ผลไม้กระป๋อง, แบบเรียนเด็กประถม, ตั๋วหนังของโรงหนังประจำชาติ หรือแม้กระทั่งกล่องยาสีฟันของโรงแรม 5 ดาวในกรุงพยองยาง เล่มนี้เราชอบเป็นการส่วนตัว อยากได้มาตั้งแต่ตอนเรียน พอซื้อปุ๊บ ปีนั้นไม่ซื้อหนังสืออะไรอีกเลย

     “ส่วน Artifacts ไม่ได้ซื้อช่วงครบรอบเดือนที่เรียนจบ เพราะปีที่แล้วไม่รู้จะซื้ออะไร ช่วงเมษายนที่ผ่านมาเห็น CONT. เอามาขายพอดี คิดว่าน่าจะเข้ากับการทำงานของตัวเองในปัจจุบัน เลยซื้อมาอย่างรวดเร็ว ได้เล่มสุดท้าย! ภายในมีข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อนของวงการศิลปะ และกลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของคอลัมน์ DATA JOURNALREAD หนังสืออ่านสนุก เข้าใจง่าย มีแต่เรื่องที่ไม่รู้ว่าผู้เขียนไปหาข้อมูลมาจากไหน เช่น สัตว์เลี้ยงของศิลปินชื่ออะไรบ้าง ศิลปินระดับโลกทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน หรือแม้กระทั่งการรวบรวมลักษณะของเครื่องปั้นดินเผากรีกยุคโบราณ รู้ไปทำไมก็ไม่รู้แต่สนุกดี อ่านแล้วเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เป็นหนังสือสองเล่มที่ไม่น่ามาจากคนเดียวกัน แต่มันอยู่บนโต๊ะปุณณ์!” 

หนังสือการตลาด นิยายฆาตกรรม และบันทึกประสบการณ์การท่องเที่ยว

     “แม้จะไม่ได้เรียนเกี่ยวกับธุรกิจมา แต่เราชอบ Makoto Marketing มาก เล่มนี้พูดถึงการทำธุรกิจด้วยความจริงใจแบบญี่ปุ่น พออ่านจบคิดว่าเรื่องนี้เป็นพื้นฐานที่เอามาประยุกต์ใช้ได้กับทุกอย่าง เลยขีดเส้นใต้และแปะโน้ตคำพูดที่ตัวเองชอบเอาไว้ เป็นหนังสือที่วางไว้บนโต๊ะตลอด 

     ถึงแม้ลุคจะเรียบร้อยและน่ารัก แต่จริงๆ แล้วชอบอ่านนิยายฆาตกรรมมาก คดีฆาตกรรมในบ้านสิบเหลี่ยม กับ คดีฆาตกรรมในคฤหาสน์แมวดำ เป็นหนังสือสองเล่มที่ชอบที่สุดในปีนี้ อาจารย์ ‘อายาสึจิ ยูกิโตะ’ (Ayatsuji Yukito) มักจะมีเทคนิคการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ ถึงแม้จะผ่านมาแล้ว 30 ปี แต่เนื้อเรื่องยังทันสมัย อ่านสนุก ไม่มีทางเดาตอนจบถูก เหมือนเล่นรถไฟเหาะตลอดเวลาขณะอ่าน 

     “สุดท้าย หิมาลัยต้องกลับไปฟัง เป็นหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ จำได้ว่าเราเคยอ่าน ‘หิมาลัยต้องใช้หูฟัง’ สมัย ม.ปลาย และก็ได้ไปหิมาลัยจริงๆ สมัยมหา’ลัย ตอนนี้เรียนจบแล้วก็ได้มาอ่านอีกรอบกับเล่มล่าสุดนี้ รู้สึกผูกพัน

     “เป็นหนังสือสามเล่มที่ไม่น่ามาจากคนเดียวกัน แต่มันอยู่บนโต๊ะปุณณ์!” 

กรอบรูปใส่ผลงานที่ชอบ

     “ปกติเราชอบซื้อโปสต์การ์ดของศิลปินอยู่แล้ว บังเอิญไปเจอกรอบรูปไม้ที่สวยมากๆ ก็เลยเอามาใส่ผลงานที่ตัวเองชื่นชอบ เราประทับใจคำพูดในโปสต์การ์ดมะม่วงใบนี้ที่บอกว่า จงเชื่อมั่นในความสุขของตัวเองเลยเอามาใส่ไว้อ่านเวลาที่เหนื่อย

     “บนโต๊ะมีแต่สิ่งของที่ไม่เข้ากัน อยู่ใกล้กันเต็มไปหมด แต่ทุกอย่างพอมาอยู่บนโต๊ะด้วยกันแล้วทำให้เจ้าของมีความสุขกับการทำงานมากครับ”