READING CITIES
ชวน 6 องค์กรที่งานเกี่ยวกับเมืองในหลากลายมิติมาพูดคุยถึงงานที่พวกเขากำลังทำ รวมถึงหนังสือที่อยากแนะนำให้คนมาอ่านเมืองและทำความเข้าใจเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ไปด้วยกัน
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
ภาพ: ms.midsummer
หลังจากที่รัฐบาลบอกให้ประชาชนเริ่มแก้ปัญหาด้วยตัวเองบ่อยๆ บรรดาคนไทยที่แปลว่าอิสระ ฉันจะไม่ยอมเป็นทาสคุณหรอกค่ะก็ทำกันจริงๆ ด้วยการรวมกลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกันมาคิด สร้าง และพัฒนาโครงการต่างๆ จนเกิดเป็นหลายองค์กรที่ทุ่มเททั้งกายและใจเพื่อทำให้ชุมชน สังคม และเมืองไทยเติบโตไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม
คราวนี้ CONT. จึงไปชวน 6 องค์กรที่งานเกี่ยวกับเมืองในหลากลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ‘Urban Studies Lab’ ศูนย์วิจัยอิสระด้านการศึกษาเมือง ‘ยังธน’ กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรีรวมตัวกันเพื่อรวบรวมเรื่องราวที่มีคุณค่าในพื้นที่ ‘Little Hum Studio’ สตูดิโอภาพวาดและงานออกแบบพื้นที่ชีวิต ‘เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ’ กลุ่มคนเมืองที่สร้างกลไกขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่อย่างมีส่วนร่วมด้วยข้อมูลจากประชาชน ‘สายบุรี’ องค์กรขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ‘MAYDAY!’ กลุ่มคนที่มีความสนใจแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ มาพูดคุยถึงงานที่พวกเขากำลังทำ รวมถึงหนังสือที่อยากแนะนำให้คนมาอ่านเมืองและทำความเข้าใจเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ไปด้วยกัน
URBAN STUDIES LAB (USL)
ศูนย์วิจัยอิสระด้านการศึกษาเมือง เพื่อสร้างโครงการที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนเมืองผ่านความร่วมมือของหลายภาคส่วน เช่น คู่มือพัฒนานโยบาย การปรับปรุงพัฒนาพื้นที่สาธารณะ การพัฒนาฐานข้อมูลเปิดของเมือง การสร้างองค์ความรู้และสร้างผู้นำเมืองรุ่นใหม่
—
#USLทำอะไร
“USL กำลังขยายองค์กรและมีการดำเนินการเป็นสถาบันมากขึ้น ตอนนี้มีทีมงานประมาณสิบห้าคน มีหน่วยงานทั้งหมดสามหน่วยที่ทำด้านการวิจัยและที่ปรึกษา งานการสื่อสารและจัดการองค์ความรู้ รวมถึง Placemaking และพัฒนาเครือข่าย องค์กรดำเนินงานแบบ hybrid โดยใช้ทั้งทุนให้เปล่า งานที่ปรึกษาและจัดการโครงการกับเอกชน รวมถึงงานวิจัยจากทุนทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบัน มีโครงการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และ โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UNHABITAT) ในสามจังหวัด (ขอนแก่น สงขลา เชียงใหม่) รวมถึงงานจัดทำคู่มือพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานครร่วมกับทีมจาก NIDA
ปีหน้าทาง USL จะผลักดันโครงการด้านฐานข้อมูลเปิดและการวิเคราะห์ข้อมูลเมืองที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งระดับชุมชนและนโยบายสาธารณะ โดยจะทำโครงการสำมะโนสุขภาพครัวเรือนและความเป็นอยู่รูปแบบใหม่ที่สามารถลงรายละเอียดได้ถึงระดับย่านและครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันข้อมูลสถิติยังละเอียดแค่ระดับเขตและข้อมูลไม่ทันสมัย ทาง USL กำลังทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขและศูนย์บริการสาธารณสุข 20 ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายเพื่อให้ข้อมูลมีความพลวัตและเข้าถึงครัวเรือนในเขตพื้นที่ เบื้องต้นได้พัฒนาเครื่องมือการเก็บข้อมูลแบบกระดาษที่คุณลุงคุณป้าอาสาสมัครสามารถใช้ได้ง่ายและทาง USL สามารถนำข้อมูลมาลงในโปรแกรมภูมิสารสนเทศเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบ Grid 500 x 500 เมตร
เกือบสองปีที่ผ่านมาเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่ได้ทำโครงการกายภาพกับชุมชนเมืองมากนัก หวังว่าปีหน้าจะได้กลับไปลงพื้นที่และทำโครงการร่วมกับชุมชนมากขึ้น ทั้งการพัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดย่อมหน้าบ้าน โครงการ Urban Classroom ที่จะจัดโรงเรียนภาคฤดูร้อนให้กับเยาวชนและนิสิตนักศึกษา เพื่อนำทุนไปพัฒนาโครงการจริงในพื้นที่คลองผดุงกรุงเกษมและหัวลำโพงจากโครงการที่นักศึกษานำเสนอ ผลักดันโครงการการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดฯ สำนักงานเขตป้อมปราบฯ และชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณนโยบายสาธารณะตั้งแต่ต้น รวมถึงการพัฒนาต่อยอดเครื่องมือประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment) หรือ SIA ของ USL ในบริบทของชุมชนเมืองและการพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมืองต่อไป”
—
#หนังสือที่อยากแนะนำ
• Lean Impact: How to Innovate for Radically Greater Social Good โดย Ann Mei Chang
“ด้วยความที่ผู้เขียนทำงานเกี่ยวข้องกับองค์กรด้าน Social and Environmental Impact เช่น USAID (องค์กรให้ทุนของสถานทูตและรัฐบาลสหรัฐฯ) หนังสือจึงเน้นพูดถึงกระบวนการและตัวแปรที่จะช่วยวัดผลลัพธ์ว่าโครงการหรือองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมสร้างผลกระทบที่ดีได้จริง โดยเฉพาะผลกระทบที่เป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ (Radical change) เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม การทำงานของภาครัฐและข้อกฎหมาย หรือการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้โครงการสามารถขยายสเกลและต่อยอดโครงการได้อย่างยั่งยืนและขนาดของโครงการส่งผลกับคนหมู่มากนะระดับแสนถึงล้านคน
นอกจากนี้ ยังพูดถึงความเป็นผู้ประกอบการ ให้แนวคิดเกี่ยวกับการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ไม่จำเป็นต้องทำงานการกุศลอย่างเดียว แต่สามารถมีโมเดลทางธุรกิจหรือการประกอบการที่ขับเคลื่อนองค์กรไปได้ ทั้งแบบผสม (hybrid) หรือแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นต้น อีกประเด็นที่ได้เรียนรู้คือแนวคิดและแนวทางการพิจารณาการให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาระดับโลก เพื่อช่วยเป็นกรอบในการนำเสนอแผน การขอทุน การสื่อสาร และการระดมทุนของ USL อีกด้วย”
• More Human: Designing a World Where People Come First โดย Steve Hilton
“หนังสือพูดถึงการออกแบบพัฒนานโยบายสาธาณะที่เน้นความเป็นมนุษย์ โดยใช้ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ต่อผู้ใช้จริง โดยใช้วิธียกตัวอย่างแนวทางและการจัดทำนโยบายจากทั่วโลก โดยแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ เช่น การดูแลเด็ก การศึกษา สุขภาพ การจัดการพื้นที่สาธารณะ ความยากจน ฯลฯ
หนังสือเล่มนี้ให้บทเรียนที่สำคัญในการนำมาคิดหรือหารือต่อยอดกับทีมในศูนย์วิจัยเพื่อประยุกต์กับพื้นที่และบริบทของเมืองในประเทศไทย โดยแนวทางที่ดูจะมีจุดเชื่อมกันของทุกโครงการคือการกระจายอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐศาสตร์ไม่ให้กระจุกตัวอยู่แค่กลุ่มเล็กๆ และผลักดันให้เกิดพันธมิตรพัฒนาโครงการและนโยบายที่หลากหลาย โดยใช้วิธีแก้ไขเชิงโครงสร้าง แนวทางการวัดผลโครงการที่ไม่ได้ดูแต่เชิงปริมาณ กลไกการพัฒนานโยบาย และการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์”
ยังธน
กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่เข้าใจกันว่าฝั่งธนบุรี รวมตัวกันเพื่อรวบรวมเรื่องราวที่มีคุณค่าในพื้นที่ สื่อให้คนในฝั่งธนฯ ได้รับรู้ถึงคุณค่าที่มี ซึ่งสามารถแปลงคุณค่าเป็นมูลค่าได้ ผลักดันการสื่อสารและส่งเสริมการเรียนรู้ กิจกรรม และเยาวชน โดยไม่มีความเป็นองค์กรหรือเป็นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง อีกทั้งยังมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้ามาหาเพื่อนในการทำโครงการต่างๆ ร่วมกันได้
—
#ยังธนทำอะไร
“ตอนนี้มีโครงการที่ดำเนินการอยู่สองงาน หนึ่งคือ ‘เกมท่องธน’ ซึ่งได้รับงบประมาณจากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกมดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์ม มุ่งหวังให้ผู้เล่นได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่และกระจายรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่ฝั่งธนบุรี เริ่มที่พื้นที่เขตบางกอกใหญ่ก่อน โดยในเกมจะให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นนักสำรวจลงไปค้นหาขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในเขตบางกอกใหญ่ ทำภารกิจปริศนาต่างๆ เพื่อให้ผ่านด่านและได้รางวัลมา ซึ่งรางวัลในเกมสามารถแปลงเป็นสินค้าและมีมูลค่าในโลกแห่งความจริงได้
ในกระบวนการออกแบบเกม เราทำงานร่วมกับเยาวชนในฝั่งธนบุรี ทำการเรียงร้อยเรื่องราวที่มีความทันสมัยและน่าสนใจ เพื่อออกมาเป็นโครงสร้างเกม ส่วนในขั้นตอนการลงไปเล่นในพื้นที่ เราทำการออกแบบเงื่อนไขในการเข้าสู่พื้นที่และการเล่นเกมต่างๆ ร่วมกับคนในพื้นที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและปรึกษาหารือกับคนในชุมชน เพื่อทำให้ ‘เกมท่องธน’ เป็นตัวแทนการนำเสนอคุณค่าของธนบุรี โดยคนที่อยู่ในธนบุรีอย่างแท้จริง
สองคือ ‘Thonburi Greenmap’ โครงการจัดทำผังภูมินิเวศร่วมกับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีและสถาบัณอาศรมศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โดยกลุ่มยังธนเป็นตัวกลางในการประสานงานชุมชนต่างๆ ให้กับโครงการและจัดทำแผนที่ข้อมูลชุมชนริมคลอง”
—
#หนังสือที่อยากแนะนำ
• เราต่างเป็นนักออกแบบ (Design, When Everybody Designs: An Introduction to Design for Social Innovation) โดย Ezio Manzini
“หนังสือที่พูดถึงการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ควรเริ่มจากคนและการมีส่วนร่วม เสนอการสร้างเครือข่ายของคนที่มีความสนใจในประเด็นและพื้นที่เดียวกัน อีกทั้งยังพูดถึงความยั่งยืนและการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในรูปแบบองค์กรที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในแบบกิจการเพื่อสังคม (Social enterprise) ที่นำคุณค่าของพื้นที่มาแปลงเป็นมูลค่า และให้มูลค่าของคุณค่านั้นกลับไปดูแลสังคม”
• การวิเคราะห์นโยบายและการวางแผนแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Policy Analysis and Planning) โดย ปิยพงษ์ บุษบงก์
“หนังสือว่าด้วยความสำคัญและขั้นตอนของการวางแผนและกลยุทธ์ที่จะทำให้แผนการได้การยอมรับจากทุกภาคส่วน โดยผ่านการปรึกษาหารือจนได้ข้อสรุปในทิศทางเดียวกัน”
• วิชาสร้างธุรกิจฉบับ MIT (Disciplined Entrepreneurship) โดย Bill Aulet
“เล่มนี้เล่าเรื่องการออกแบบธุรกิจ การตั้งเป้าของสินค้าบริการ การทราบว่ากลุ่มลูกค้าเป็นใคร ต้องทำอย่างไรให้เขาซื้อโครงการ ถามว่าเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนด้านสาธารณะอย่างไร การทำโครงการสาธารณะมักใช้ความถูกใจมากกว่าเหตุผลและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เราจึงคิดว่าคนทำงานสาธารณะควรรู้เรื่องการประกอบธุรกิจไว้บ้าง เพราะบางครั้งเราเจอทรัพยากรที่มีคุณค่า ทั้งคน สิ่งแวดล้อม และสิ่งของ เราอาจจะพลาดโอกาสในการต่อยอดคุณค่าเป็นมูลค่า ทั้งเพื่อตัวเอง เพื่อองค์กร และเพื่อสังคม”
LITTLE HUM STUDIO
สตูดิโอภาพวาดและงานออกแบบพื้นที่ชีวิตของคนตัวเล็ก บ้าน และเมือง โดยใช้ภาพวาดสีน้ำ และกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือสื่อสารต้นทุนคุณค่าและประเด็นในการสร้างโอกาสพัฒนาเมือง
—
#LittleHumStudioทำอะไร
“ตอนนี้มี ‘โครงการขับเคลื่อนต้นทุนคุณค่าสุเทพฮับ’ ที่ Little Hum Studio ได้เริ่มร่วมกับ ‘สุเทพฮับ’ โดยการสนับสนุนของสภาลมหายใจเชียงใหม่ ในการสำรวจและจัดทำแผนที่ต้นทุนคุณค่าชุมชนย่านวัดอุโมงค์ที่ตั้งอยู่แนวป่าเชิงดอยสุเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของเนื้อชุมชน จากเดิมเป็นย่านที่พักอาศัย ย่านศิลปินและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไปสู่ย่านร้านค้า กิจกรรมคนรุ่นใหม่ ร้านกาแฟ และสถานบันเทิง ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นระหว่างชุมชนที่อยู่อาศัยเดิม กับผู้ประกอบการที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่
กระบวนการทำแผนที่ต้นทุนคุณค่าอย่างมีส่วนร่วมจึงนำไปสู่การเปิดพื้นที่พูดคุยและสื่อสารระหว่างกัน เกิดเป็นแผนที่ชุมชนที่เผยให้เห็นคุณค่าเดิม ปราชญ์ สถานที่สำคัญ และกลุ่มผู้ขับเคลื่อนชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่พร้อมสนับสนุนชุมชน เมื่อทั้งสองกลุ่มได้สื่อสารกัน ประเด็นต่างๆ ที่คิดว่าจะทำให้ย่านได้ถูกพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็ถูกหยิบยกขึ้นมาและเปลี่ยนกัน เช่น การทำแนวกันไฟ การลดขยะพลาสติก การแยกและจัดเก็บขยะ จุดเรียนรู้เรื่องพื้นที่สีเขียวในชุมชน ความปลอดภัยของการปั่นในย่าน และแสงสว่างบนท้องถนน ปัจจุบันมีการระดมทุนเพื่อพิมพ์แผนที่ต้นทุนเผยแพร่ และกำลังจะมีกิจกรรมปั่นในย่านช่วงปลายปี 2564 ที่จะถึงนี้”
—
#หนังสือที่อยากแนะนำ
• เมืองมีชีวิต (Life Between Buildings) โดย Jan Gehl
“หนังสือที่พูดถึงพฤติกรรมมนุษย์ตามท้องถนนในเมืองใหญ่กับความต้องการพื้นที่สาธารณะ ที่จะสามารถเอื้อให้เกิดพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ดี มีสุนทรียภาพร่วมกัน และเกิดเป็นความงามของใช้ชีวิตในสังคม โดยเห็นความสำคัญของการออกแบบพื้นที่สาธารณะของเมือง ให้สอดคล้องกับกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมและพฤติกรรมการใช้งาน
• Human of New York โดย Brandon Stanton
“เรื่องราวของผู้คนบนท้องถนน ในมหานครที่ไม่เคยหลับ จะพาเราไปพบหลากแง่งาม ที่นักออกแบบควรมองเห็นโจทย์ในการออกแบบเพื่อเอื้อพื้นที่ให้เกื้อกูลกับความอุ่นใจที่จะใช้งานของมนุษย์”
• เสียงเพรียกแห่งชีวิต (Let Your Life Speak) โดย Parker J. Palmer
“หนังสือที่อยากแนะนำเป็นพิเศษสำหรับปลุกพลังหนุ่มสาวที่สนใจอยากทำงานชุมชน”
เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ
กลุ่มคนเมืองที่สร้างกลไกขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่อย่างมีส่วนร่วมด้วยข้อมูลจากประชาชน ผ่านการใช้โซเชียลมีเดียมาเป็นเครื่องมือ เพื่อปั้นประเด็นเมืองหลายหลากให้เป็นเรื่องสนุก เข้าถึงง่าย พร้อมชวนคิด ชวนคุย หาทางออกเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสะท้อนเสียงให้ผู้กำหนดนโยบายสาธารณะได้รับฟังเรื่องที่เป็นความต้องการของคนหมู่มาก และวางหลักไมล์นำสู่การออกแบบแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) และผังออกแบบเชิงแนวคิด (Conceptual Design Plan) ภายใต้การเป็นส่วนหนึ่งของโครงงานวิจัย ‘การพัฒนากระบวนการเพื่อขับเคลื่อนประชาคมเมืองเชียงใหม่’ แผนงานคนไทย 4.0
—
#เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอทำอะไร
“ขับเคลื่อนกิจกรรมประชาสังคมเมืองเข้มแข็งในเชียงใหม่ทั้งหมดแปดโครงการผ่านเฟซบุ๊กและคลับเฮาส์ อาทิ กิจกรรมวัดร้างละแวกวัดกู่เต้าเชียงใหม่ กิจกรรมงานตุงช้างม่อย กิจกรรมราชดำเนินเดินได้เดินดี กิจกรรมซอยลัดซอยอารักษ์ เป็นต้น เพื่อถอดบทเรียนและสร้างกลไกความร่วมมือแบบใหม่ๆ ในเมือง
งาน Chiang Mai Design Week 2021 สรุปการทดลองการสร้างกลไกขับเคลื่อนเมืองโดยภาคประชาชนบนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเรามองว่าทั้งแปดกิจกรรมทำหน้าที่เป็นตัวยึดโยงของความคิดเรื่องช่องว่าง การถมช่องว่าง และฉายภาพว่าการสร้างนโยบายสาธารณะจากภาคประชาชนขึ้นมาจะเป็นตัวแบบของการพัฒนาเมืองได้อย่างไร กอปรกับเป็นเป้าหมายหนึ่งของงานวิจัยที่เราพยายาม Ground Up ความคิดเห็น ดูว่าแท้จริงผู้คนคิดอย่างไร รวมถึงสกัดข้อมูลระดับชุมชนหรือย่านมาร้อยเรียงกัน เข้าไปเติมในแพลตฟอร์มของข้อมูล เพื่อนำสู่การออกแบบแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) และผังออกแบบเชิงแนวคิด (Conceptual Design Plan) จากฐานล่าง ซึ่งมองเห็นคนและกลไกอยู่ร่วมกัน
‘เชียงใหม่ ให้ฉันดูแลเธอ’ การจัดประกวดโครงการขับเคลื่อนเมือง 5 ประเด็นเป็นการทำงานร่วมกันของทีมวิจัยจากสามโครงการ หลังจากที่คณะทำงานตัดสินในรอบแรกแล้ว จะมีการประกาศผลผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ‘เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ’ และ ‘Chiang Mai Learning City’ ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 โดยทีมที่ผ่านรอบแรกจะต้องเข้าร่วมการอบรมและทำเวิร์กช็อปสั้นๆ กับทีมคณะทำงาน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงงานสำหรับการนำเสนอในรอบสุดท้ายในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ซึ่งรางวัลของแต่ละประเด็นของการขับเคลื่อนจะมี 1 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท”
—
#หนังสือที่อยากแนะนำ
• BIG. Formgiving. An Architectural Future History โดย Bjarke Ingels Group
“การรวบรวมการออกแบบอาคารสาธารณะบนโจทย์เมืองร่วมสมัยต่างๆ ของบริษัทสถาปนิกหัวก้าวหน้าอย่าง Bjarks Ingels ที่เน้นการออกแบบร่วมกับบริบท และการสร้างโจทย์พื้นที่เมืองใหม่ๆ ทำให้เราเข้าใจกระบวนการทำงานเมืองและการสร้างสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกันในหลากหลายรูปแบบ เกิดเป็นไอเดียในการมองและวิเคราะห์เมืองในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคนที่ทั้งหลากหลายและเท่าเทียม”
สายบุรี
องค์กรขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านศิลปะ ดนตรี กีฬา และวัฒนธรรม เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนในชุมชน คนรุ่นใหม่ ได้มีพื้นที่แสดงออก พูดคุยแลกเปลี่ยน และการสร้างเครือข่ายทางสังคม ส่งเสริมการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้
—
#สายบุรีทำอะไร
“ตอนนี้มีอยู่สองโปรเจกต์ หนึ่งคือ ‘โครงการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ’ ร่วมกับ USAD เป็นโครงการที่ส่งเสริมการฝึกอบรมด้านอาชีพให้กับกลุ่มเยาวชนที่ด้อยโอกาสและเยาวชนนอกระบบให้มีทักษะทางด้านอาชีพและการใช้ชีวิต
ส่วนอีกอันคือ ‘สายบุรี ตามสั่ง-ตามส่ง’ เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) กับส่วนงานต่างๆ ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างรายได้ให้กับทางวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างกับร้านค้ารายย่อย เช่น พ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารตามสั่ง เพื่อช่วยเหลือพวกเขาจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สายบุรี ปัจจุบันอยู่ในช่วงการออกแบบข้อตกลงระหว่างชุมชนผู้ประกอบการและวินมอเตอร์ไซค์”
—
#หนังสือที่อยากแนะนำ
• บาร์เซโลนากว้างมาก โดย Little Thoughts
“หนังสือที่ว่าด้วยเมืองบาร์เซโลน่าการจัดการตนเองอย่างไร จึงเป็นเมืองที่เอื้ออำนวยชีวิตประชากรได้ดี เล่มนี้กล่าวถึงการสร้างและการขยายเมืองยุคใหม่ โดยบาร์เซโลน่าใช้โมเดลการพัฒนาเมืองในระยะยาวโดยใช้โอลิมปิกเป็นจุดขับเคลื่อน ซึ่งเนื้อหาในหนังสือสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการออกแบบการทำงานกิจกรรมขององค์กรได้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งซึ่งมีความใกล้เคียงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
MAYDAY!
กลุ่มคนที่มีความสนใจแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยการนำข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์มาสร้างการเปลี่ยนแปลง ดำเนินการโดยกลุ่มคนที่ทำงานด้านพัฒนาชุมชนเมืองซึ่งมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ
—
#MAYDAYทำอะไร
“MAYDAY! กำลังขยายการตอบสนองความต้องการเดินทางภายในเมืองของกลุ่มคนให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในปีนี้และปีที่ผ่านมาเราได้มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาการออกแบบขนส่งสาธารณะที่สามารถเข้าถึงทุกคน โดยการนำวิธีคิดการออกแบบ Universal Design มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการที่มีอุปสรรคในการเดินทางและใช้งานพื้นที่สาธารณะมากที่สุด”
—
#หนังสือที่อยากแนะนำ
• ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา (Mindset) โดย Carol S. Dweck
“อาจจะฟังดูเหมือนเป็นหนังสือพัฒนาตนเอง แต่ที่แนะนำในฐานะพัฒนาเมือง เพราะเรามองว่าหนังสือเล่มนี้นำเสนอแนวคิดในการก้าวต่อไปข้างหน้า การมองปัญหา และการพัฒนาทัศนคติที่น่าสนใจภายใต้คำว่า ‘Growth mindset’
ปฏิเสธได้ยากมากว่าในประเทศไทย ในเมืองที่เราอาศัยอยู่ ยังมีปัญหาภายในเมืองที่ไม่ใช่แค่ระบบขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพบเห็นหรือเผชิญได้ในชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้การทำงานพัฒนาเมืองเกิดขึ้นได้จริงนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับมุมมองที่เราจะมองปัญหาและแก้ไขผ่านกระบวนการทางความคิดที่มีความเชื่อในการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้เสมอ”