ROALD DAHL'S WATCHLISH
รวมหนัง 5 เรื่อง จากนิยาย 5 เล่มของ ‘โรอัลด์ ดาห์ล’
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
ภาพ: ms.midsummer
หากจะพูดถึงนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนผู้เป็นที่รักของนักอ่านรุ่นเยาว์และรุ่นใหญ่ ชื่อของ ‘โรอัลด์ ดาห์ล’ (Roald Dahl) ต้องโผล่ขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน
งานของดาห์ลมักจะเขียนให้ตัวละครเด็กต้องเผชิญหน้ากับผู้ใหญ่นิสัยไม่ดี เคลือบอารมณ์ขันแบบตลกร้าย ก่อนนำไปสู่บทสรุปที่หักมุมอย่างคาดไม่ถึง ทำให้บรรดาผู้ใหญ่หลายคนไม่ค่อยชอบใจเวลาเห็นลูกหลานอ่านหนังสือของเขา แต่นั่นเป็นความตั้งใจของเจ้าตัวที่อยากให้เด็กๆ ได้ตั้งคำถามถึงพฤติกรรมของตัวละคร และเรียนรู้คุณธรรมที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง
ในวาระครบรอบวันเกิด 106 ปีของคุณปู่ดาห์ล เราจึงไปรวบรวมผลงาน 5 เล่มที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 5 เรื่องมาเล่าสู่กันฟัง ใครใคร่ดู ดู แต่ถ้าใครใคร่อ่าน สามารถตามหาผลงานฉบับภาษาไทยทั้งหมดของดาห์ลได้ที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อเลยจ้า
Charlie and the Chocolate Factory
Charlie and the Chocolate Factory ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต มีที่มาจากสมัยตอนอยู่โรงเรียนประจำ ดาห์ลและเพื่อนๆ ต้องชิมตัวอย่างช็อกโกแลตจากบริษัท Cadbury อยู่บ่อยๆ และเมื่อโตขึ้น เขาก็ได้รู้จักกับบุรุษไปรษณีย์ที่ชื่อ ‘วิลลี วองก้า’ ดาห์ลจึงนำความทรงจำทั้งสองอย่างมาสร้างเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ชาร์ลี’ เด็กหนุ่มนิสัยดีจากครอบครัวยากจนที่บังเอิญเป็นผู้โชคดีได้ตั๋วทอง เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานช็อกโกแลตของ ‘วิลลี วองก้า’ ร่วมกับเด็กๆ อีกสี่คน
ผลงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1964 ก่อนจะถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 1971 ในชื่อ Willy Wonka & the Chocolate Factory ซึ่งทำรายได้ไม่ดีนัก (ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และดาห์ลก็ไม่ค่อยชอบเวอร์ชั่นนี้เท่าไหร่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดอย่างชื่อเรื่องจากชาร์ลีเป็นวิลลี วองก้า หรือการเปลี่ยนเนื้อเรื่องบางส่วน ไปจนถึงนักแสดงที่แคสต์มาไม่ตรงใจ จนทำให้ดาห์ลปฏิเสธที่จะขายลิขสิทธิ์ ‘Charlie and the Great Glass Elevator’ ให้นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ภาคต่อ
ต่อมาในปี 2005 Charlie and the Chocolate Factory ก็ได้กลับมาขึ้นจอเงินอีกครั้ง ภายใต้การกำกับของ ‘ทิม เบอร์ตัน’ (Tim Burton) และได้นักแสดงชื่อดังอย่าง ‘จอห์นนี่ เดปป์’ (Johnny Depp) มาร่วมแสดงในบทบาทของมิสเตอร์วิลลี วองก้า โดยเวอร์ชั่นนี้มีความคล้ายคลึงกับการบรรยายในต้นฉบับ ทั้งเนื้อเรื่อง พร็อพประกอบฉาก และเพลงประกอบ
Fantastic Mr. Fox
Fantastic Mr. Fox ออกสู่สายตานักอ่านครั้งแรกในปี 1970 ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า คุณจิ้งจอก
แม้จะจั่วหัวว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่ตัวละครหลักก็ไม่ได้ถูกเขียนให้ขาวสะอาดไปเสียหมด เพราะมีทั้งความเจ้าเล่ห์และเท่ไม่เบา เรื่องราวของ ‘คุณจิ้งจอก’ ที่อาศัยอยู่ในโพรงใต้ดินกับครอบครัว ในทุกๆ วันเขาหากินด้วยการไปขโมยอาหารในฟาร์มสามแห่ง จนบรรดาเจ้าของทนไม่ไหวต้องพยายามใช้ทุกวิถีทางจับตัวคุณจิ้งจอกมาลงโทษให้ได้
ด้านเวอร์ชั่นภาพยนตร์ได้ผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์ที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวูดอย่าง ‘เวส แอนเดอร์สัน’ (Wes Anderson) มาดัดแปลงเป็นรูปแบบสต็อปโมชั่นในปี 2009 แม้รายได้รวมจะไม่สูงมาก แต่ก็ได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวก
The BFG
The BFG ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1982 ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า ย.จ.ด. (ยักษ์ใจดี) ขยายต่อมาจากเรื่องสั้นที่อยู่ใน Danny, the Champion of the World ที่ตีพิมพ์ในปี 1975 ซึ่งพ่อของแดนนี่เล่าเรื่องยักษ์ใหญ่แสนใจดีให้แดนนี่ฟังก่อนนอน
ส่วนเนื้อเรื่องในหนังสือเล่าเรื่องราวของ ‘โซฟี’ เด็กหญิงที่อาศัยอยู่ในบ้านเด็กกำพร้า คืนหนึ่งโซฟีนอนไม่หลับ เลยมองออกไปนอกหน้าต่าง และได้พบกับยักษ์ใหญ่ขนาด 24 ฟุตผู้กำลังใช้แตรวิเศษเป่าฝันดีให้เด็กชายบ้านข้างๆ เมื่อยักษ์รู้ตัวแล้วว่ามีคนมองอยู่ เขาก็จับรีบโซฟีไปกิน (ล้อเล่น) เขาพาโซฟีไปผจญภัยในเมืองยักษ์ ก่อนที่ทั้งคู่จะร่วมมือกันทำภารกิจปราบยักษ์กินคน
The BFG เคยถูกดัดแปลงเป็นแอนิเมชั่นเมื่อปี 1989 ก่อนจะกลับมาสร้างความประทับใจอีกครั้งในปี 2016 เมื่อนักเล่าเรื่องชั้นเยี่ยมอย่างโรอัลด์ ดาห์ล, วอล์ต ดิสนีย์ (Walt Disney) และ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) มารวมกัน ก็บู้ม! เกิดเป็นภาพยนตร์แฟนตาซีสุดตระการตาที่ทำรายได้เกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
The Witches
ต่อกันที่ The Witches ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า แม่มด ผลงานระดับตำนานที่เป็นเรื่องโปรดของนักอ่านหลายคน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1983
ว่ากันด้วยเรื่องของเด็กชายที่เติบโตมากับคุณยายแสนใจดีและมักจะเล่าเรื่องแม่มดให้เขาฟังอยู่เสมอ จนวันหนึ่งเด็กชายบังเอิญเจอแม่มดตัวจริงเสียงจริง คุณยายจึงพาเขาออกเดินทางไปยังเกาะตอนใต้ของประเทศอังกฤษ ทว่าแทนที่จะได้พักผ่อนหย่อนใจ ทั้งคู่ดันดวงดีเหลือเกินไปเจอกับเหล่าแม่มดที่มาประชุมประจำปีพอดี เด็กชายและคุณยายจึงต้องร่วมมือกันหยุดยั้งแผนการร้ายของราชินีแม่มดให้ได้
ปี 1990 ‘นิโคลัส โรก’ (Nicolas Roeg) หยิบผลงานชิ้นนี้มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ก่อนที่ปี 2020 ‘โรเบิร์ต เซเม็กคิส’ (Robert Zemeckis) ผู้กำกับมือรางวัลจะนำมาสร้างใหม่อีกรอบ โดยมีนักแสดงสาวอย่าง ‘แอนน์ แฮทธาเวย์’ (Anne Hathaway) มารับบทราชินีแม่มดผู้ชั่วร้าย
เวอร์ชั่นภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กน้อยจากต้นฉบับ เช่น ในหนังสือแม่มดอยู่ห้องหมายเลข 454 แต่ฉบับ 1990 เปลี่ยนเป็น 208 ขณะที่ฉบับ 2020 เปลี่ยนเป็น 666 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตอนจบในเวอร์ชั่นปี 1990 ด้วย
Matilda
ปิดท้ายด้วย Matilda นิยายที่ถูกเขียนขึ้นในปี 1988 ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า มาทิลดา นักอ่านสุดวิเศษ
เรื่องราวของ ‘มาทิลดา’ เด็กสาวตัวเล็กแสนชาญฉลาดผู้ชื่นชอบการอ่านหนังสือ เธอเติบโตมากับครอบครัวที่ไม่เห็นค่าในตัวลูกสาวเลย แถมพอไปโรงเรียนยังเจอครูใหญ่ที่ชอบทำโทษเด็กๆ อีก มีเพียงบรรณารักษ์และครูประจำชั้นเท่านั้นที่คอยสนับสนุนเธอ อยู่มาวันหนึ่งมาทิลดาก็พบว่าตัวเองมีพลังจิตที่สามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ เธอจึงเริ่มปฏิบัติการเอาคืนที่บ้านและคุณครูจอมโหดคนนั้น
เป็นอีกครั้งที่ผลงานของดาห์ลไม่ถูกใจเหล่าผู้ปกครองเอาซะเลย แต่ถึงอย่างนั้น ‘มาทิลดา’ ก็ได้รับความนิยมจนถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครเวทีบรอดเวย์ที่จัดแสดงไปทั่วโลก และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1996 ด้วยฝีมือการกำกับของ ‘แดนนี่ เดอวีโต้’ (Danny DeVito) นักแสดง โปรดิวเซอร์ และผู้กำกับชาวอเมริกัน