Mon 29 Aug 2022

SHIRLEY JACKSON

ย้อนดูบ้านผีสิงในเดือนของ ‘เชอร์ลีย์ แจ็กสัน’ ต้นตำรับ ‘The Haunting of Hill House’

ภาพ: NJORVKS

     เดือนสิงหาคม บ้านเรายังคงเป็นฤดูแห่งสายฝน คงจะมีบางครั้งที่เราอยู่กับบ้านตามลำพัง เมื่อพายุและแสงฟ้าแล่บแปลบปลาบ บวกกับหนังผีที่เพิ่งดูเมื่อหลายวันก่อน บ้านที่เราคุ้นเคยก็เริ่มแปลกประหลาดไป เงามืดและเงาไม้เริ่มเต้นรำอย่างน่าหวาดหวั่น

     หนังผีจำนวนไม่น้อยมี ‘บ้านผีสิง’ เป็นองค์ประกอบของเรื่อง ในเน็ตฟลิกซ์เองก็มีซีรีส์เรื่อง The Haunting of Hill House พูดถึงบ้านบนเนินเขาที่ควรจะเป็นบ้านในฝัน เป็นดินแดนอันอบอุ่นปลอดภัย เป็นพื้นที่ของความฝัน ทว่าเรื่องราวทั้งของบ้านและผู้คนในพื้นที่บ้านกลับสั่นสะเทือนขวัญและหัวใจอันเปราะบางของเรา

     ในเดือนสิงหาฯ แห่งสายฝนนี้เอง ก็เป็นเดือนที่ ‘เชอร์ลีย์ แจ็กสัน’ (Shirley Jackson) เสียชีวิต นักเขียนหญิงที่น่าจะนับได้ว่าเป็นราชินีเรื่องสยองขวัญผู้เป็นเจ้าของนวนิยาย The Haunting of Hill House หนึ่งในต้นตำรับพื้นที่หลอกหลอนแบบบ้านผีสิง ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานแบบอเมริกันโกธิก 

     A-Z ตอนนี้จึงจะพามาสำรวจว่าทำไมบ้านที่เป็นดังความสำเร็จ เป็นพื้นที่ปลอดภัย จึงเป็นพื้นที่ที่หลอกหลอนและสั่นสะท้อนถึงใจ บ้านสำคัญอย่างไรกับบริบทความคิดแบบอเมริกัน แล้วทำไมบ้านถึงกลายเป็นพื้นที่ที่เราไม่เข้าใจ ทำไมบ้านถึงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่ไม่สวยงาม กระทั่งเป็นพื้นที่หลอกหลอนและฉายหัวใจอันผุพังของเราออกมา 

American Gothic
และ American Horror

     ถ้าเรามองย้อนวรรณกรรมประเภทสยองขวัญ งานเขียนจากอเมริกันนับว่าโดดเด่นและค่อนข้างสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์วรรณคดีอเมริกัน เพราะเมื่อเรามองดูดีๆ แล้ว เรื่องเล่าประเภทสยองขวัญที่ชวนขนลุกเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นแค่เรื่องอ่านเล่น แต่มันกำลังเล่าเรื่องราวบางอย่างที่ผู้คนมีความคิด มีจินตนาการ กระทั่งเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่อาจซ่อนเร้นอยู่ภายใต้การหลอกหลอน 

     แม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศใหม่ มีประวัติศาสตร์ไม่ยืนยาวนักเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ แต่ในบรรดาเรื่องเล่าและงานเขียนวรรณกรรมของชนชาตินี้ งานประเภทสยองขวัญถือเป็นประเภทที่ค่อนข้างทรงอิทธิพล 

     ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะการหักร้างถางพงสร้างประเทศและดินแดนขึ้นใหม่ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้บุกเบิกกลุ่มแรกๆ ที่เป็นพวกพิวริตัน (Puritans) หรือกลุ่มผู้อพยพที่มีความเคร่งครัดในศาสนา มุมมองของอเมริกันยุคก่อตั้งเมือง (settler) จึงค่อนข้างประกอบขึ้นด้วยความมืดมน เต็มไปด้วยเรื่องราวและประวัติศาสตร์อันมิดเม้น เช่น ตำนานผีหัวขาดของ วอชิงตัน เออร์วิง (Washington Irving) เรื่องเล่าสยองขวัญของ เอดการ์ อัลลัน โป (Edgar Allan Poe) อย่าง The Raven ที่มีอีกาพูดได้เป็นตัวเปิดเปลือยความรู้สึกของผู้คน หรือ The Fall of the House of Usher ที่พูดถึงความลับดำมืดและความกลัวในพื้นที่ครอบครัวอย่างคฤหาสน์สยอง 

     รวมถึง นาธาเนียล ฮอว์ธอร์น (Nathaniel Hawthorne) นักเขียนผู้เคียงคู่มากับโปในฐานะต้นตำรับอเมริกันโกธิก งานของฮอว์ธอร์นเองก็นับว่าเป็นนักเขียนที่เล่นกับความดำมืดของจิตใจ พาเราไปสำรวจภูมิทัศน์และประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคมของสหรัฐฯ เช่น The Scarlet Letter ที่พูดเรื่องการใช้กรอบศีลธรรมซึ่งกระทำต่อผู้หญิงในนามของหญิงคนชั่ว โดยฮอว์ธอร์นเป็นรุ่นหลานของบรรพชนที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนแม่มดอันลือลั่นที่เมืองซาเล็ม งานของฮอว์ธอร์นเองเลยค่อนข้างพูดถึงเงามืดของความเป็นชุมชมเล็กๆ เช่น ชุมชนของผู้เคร่งศาสนาที่ให้ภาพของดินแดนในอาณานิคมของสหรัฐฯ ในยุคแรกๆ

     บ้านผีสิง (Haunted House) นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของวรรณกรรมสยองขวัญประเภทโกธิก โดยฉากของเรื่องมักจะเป็นปราสาท พื้นที่เฉพาะที่ตัวเอกหลงเข้าไป หรือกระทั่งมีอสูรกายอาศัยอยู่ 

     งานเขียนแนวสยองขวัญชิ้นสำคัญในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงต้นศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มมีบ้านผีสิงเป็นแกนกลางของเรื่องเช่น The Turn of the Screw ของ เฮนรี เจมส์ (Henry James) The Fall of the House of Usher ของโป The House of the Seven Gables ของฮอว์ธอร์น และแน่นอน The Haunting of Hill House ของแจ็กสัน (หลังจากนั้นก็มี The Shining ของ สตีเวน คิง (Stephen King) ซีรีส์ American Horror Story กระทั่งที่ดิสนีย์แลนด์เองก็สร้างบ้านผีสิงขึ้นในปี 1969) 

     บ้านผีสิงในวรรณกรรมยุคแรกๆ มักมีลักษณะเป็นคฤหาสน์โบราณ ตัวละครเอกมักทำหน้าที่สำรวจและค้นหาความลับบางอย่างที่ซ่อนอยู่ รวมถึงผีสางที่ยังสถิตอยู่ในบ้าน จุดเปลี่ยนและจุดเด่นหนึ่งของการใช้พื้นที่บ้านในนวนิยายแบบโกธิกที่พัฒนาต่อในงานเขียนของอเมริกัน คือการที่พื้นที่บ้านกลายเป็นเหมือนตัวละครที่มีชีวิตจิตใจ กระทั่งกลายเป็นพื้นที่ที่สะท้อนความรู้สึกเบื้องลึกของตัวละครออกมา

     เดล ไบเลย์ (Dale Bailey) ชี้ให้เห็นจุดเด่นของการใช้บ้านผีสิงที่ซับซ้อนขึ้นในงานเขียนวิชาการ American Nightmares: The Haunted House Formula in American Popular Fiction ว่า นักเขียนสำคัญผู้วางรากฐานให้อเมริกันโกธิกอย่างโปและฮอว์ธอร์นได้เอาขนบในโกธิกแบบยุโรปคือบ้านผีสิงมาปรับใหม่ โดยจุดเด่นของบ้านผีสิงแบบอเมริกัน คือการย้ายเนื้อหนังของการหลอกหลอนจากตัวภูติผีปีศาจไปสู่การใช้พื้นที่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกหลอน 

     ลองนึกภาพว่าเราอาจจะกลัวผีเป็นตัวๆ แต่อเมริกันโกธิกจะทำให้บ้านทั้งหลังเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเหนือจริงเหล่านั้น 

     บ้านกลายเป็นพื้นที่เก็บเรื่องราวอันน่าสยดสยองของคนรุ่นก่อน เป็นพื้นที่ที่แปดเปื้อนและอาจกำลังสนทนาหรือเชื้อเชิญเราให้ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ซึ่งถูกสลักอย่างซับซ้อนลงในพื้นที่ บ้านหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจึงไม่ได้เป็นแค่ฉากหลัง แต่เป็นบันทึกหน้าหนึ่ง เป็นเหมือนชั้นดินที่โครงกระดูกและความทรงจำถูกฝังซ้อนลงไป รอให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อดีตของตัวเอง

ผีหรือใจเราเองที่หลอกหลอน 
งานเขียนที่เปิดเปลือยใจของมนุษย์

     หลังจากสังเขปประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์บ้านผีสิงในงานเขียนอเมริกันไปแล้ว ก็ขอพากลับมายัง The Haunting of Hill House ของแจ็กสันอีกครั้ง 

     แจ็กสันเกิดเมื่อ 14 ธันวาคม 1916 และเสียชีวิตในวันที่ 8 สิงหาคม 1965 ด้วยความที่สหรัฐฯ ในยุคที่แจ็กสันมีชีวิตอยู่นั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง

     แจ็กสันจบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ในปี 1940 เธอสนใจและเขียนงานหลากหลายโดยเฉพาะกวีนิพนธ์ตั้งแต่สมัยเรียน ก่อนจะได้พบกับ สแตนลีย์ เอ็ดการ์ ไฮแมน (Stanley Edgar Hyman) ในช่วงที่ทำนิตยสารวรรณกรรมร่วมกันในมหาวิทยาลัย ทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานกันหลังเรียนจบ และในเวลาต่อมา สามีของเธอก็รับตำแหน่งอาจารย์ที่วิทยาลัยเบนนิงตัน ช่วงนั้นเองที่แจ็กสันรับบทบาทเป็นภรรยา เป็นแม่ของลูกๆ ทั้งสี่คน โดยที่เธอเองก็ยังคงคิดเรื่องการดูแลครอบครัว พร้อมๆ กับการเขียน และลงมือเขียนงานอยู่ตลอดเวลา

     ถ้านับจังหวะการทำงานในฐานะนักเขียน แจ็กสันถือว่าเป็นที่รู้จักค่อนข้างเร็ว คือระหว่างทางเธอก็พิมพ์เรื่องสั้นลงในนิตยสารวรรณกรรมอยู่เรื่อยๆ จนในปี 1948 อันเป็นปีแห่งความพลิกผัน แจ็กสันตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกคือ The Road Through The Wall และหลังจากนั้นเธอก็เผยแพร่งานสำคัญอย่าง The Lottery ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร The New Yorker เรื่องสั้นที่จบลงด้วยการปาหินและความตาย สร้างแรงกระเพื่อมอย่างใหญ่หลวงในวงการวรรณกรรมและผู้อ่านในขณะนั้น 

     แจ็กสันนำภาพฝันอันสงบสุขของชาวอเมริกันอย่างการใช้ชีวิตท่ามกลางชนบมมานำเสนอความดำมืดของจิตใจ ซึ่งทำให้หลายคนเกลียดเรื่องสั้นเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม The Lottery ก็ได้กลายเป็นหมุดหมายของเรื่องสั้นอเมริกัน กลายเป็นละครเวทีและทำเป็นหนังฉายทางโทรทัศน์ ก่อนจะขึ้นหิ้งเป็นเรื่องสั้นคลาสสิกของชาวอเมริกัน และถูกนำไปศึกษาในชั้นเรียนวรรณกรรมทั่วโลก 

     หลังจาก The Lottery แจ็กสันก็ใช้วรรณกรรมสำรวจจิตใจและเงามืดของมนุษย์ต่อไป โดยงานของเธอไม่ได้พูดถึงแค่ความสยองขวัญที่เฉพาะเจาะจงหรือมาจากที่อื่น แต่บางครั้งความสยดสยองล้วนเกิดขึ้นและอยู่ใกล้กระทั่งในหัวใจ เป็นความน่าหวาดหวั่นกระทั่งปมปัญหาที่ล้วนผุดขึ้นจากก้นบึ้งของมนุษย์เรานี่เอง

คฤหาสน์บนเนิน ฝันด้านร้ายของอเมริกันดรีม

     The Road Through The Wall เป็นนวนิยายที่แจ็กสันเขียนโดยใช้วิธีกึ่งอัตชีวประวัติ คือเล่าผ่านความทรงจำและเรื่องราวการเติบโตในแคลิฟอร์เนีย ท่ามกลางย่านที่มีกำแพงแบ่งชุมชนสองชนชั้น คือชนชั้นกลางผู้มีอันจะกินและชนชั้นแรงงานผู้ยากไร้ กระทั่งวันหนึ่งกำแพงที่แบ่งสองชนชั้นถูกทลายลง แต่ทว่ากำแพงของอคติยังคงสานต่อและถูกส่งต่อไปถึงคนรุ่นถัดไป 

     ในด้านหนึ่ง นวนิยายเรื่องนี้คือการย้อนอดีตของเธอเอง แจ็กสันเผยให้เห็นปมปัญหาและความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ภายใต้การพัฒนาและการแบ่งแยก เราเห็นภาพการกลั่นแกล้ง ความเกลียดชัง เราได้เห็นว่าประสบการณ์ชีวิตวัยเด็กของแจ็กสันประกอบขึ้นด้วยความตายอันน่าสยดสยอง

     ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ในเวลาต่อมา แจ็กสันจะผสมผสานเรื่องสั้นและนวนิยายสยองขวัญที่มีพื้นฐานจากความธรรมดาและประสบการณ์ร่วมบางอย่างเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นต้นตำรับบ้านผีสิง และงานสยองขวัญที่เรานิยามว่าเป็นงานแนว Terror ไม่ใช่ Horror  

     แอน แรดคลิฟฟ์ (Ann Radcliffe) นักเขียนชาวอังกฤษผู้บุกเบิกวรรณกรรมโกธิก นิยามว่า ความสยดสยอง (Horror) คือเรื่องเล่าที่ค่อนไปทางความรู้สึกต่อสิ่งน่ากลัวต่างๆ โดยตรง หมายถึงการเห็นผีหรือเห็นเหตุการณ์อันสยดสยองตรงหน้า แต่ความรู้สึกสยองขวัญ (Terrified / Terror) สัมพันธ์กับความรู้สึกในใจ คือเกี่ยวข้องกับความกลัวที่บางครั้งเกิดจากความรู้สึกไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่เชิงว่าเราได้เห็นหรือประจักษ์แก่สายตากับเหตุการณ์นั้นจริงๆ งานแนว Terror จึงเล่นกับจิตใจและจิตวิทยามากกว่าตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

     เทเวนดรา วาร์มา (Devendra Varma) นักวิชาการยุคหลัง นิยามค่อนข้างเห็นภาพว่าเรื่อง Horror คือการเดินย่ำไปบนซากศพ แต่เรื่องแนว Terror คือการสัมผัสหรือได้กลิ่นความตายที่ลอยล่องอยู่

     อธิบายมาอย่างยืดยาว กล่าวคือด้วยความที่แจ็กสันนับได้ว่าเป็นนักเขียนยุคหลัง เป็นยุคที่มีความก้าวหน้าด้านศาสตร์แขนงต่างๆ รวมถึงจิตวิทยา มีหนังสือพิมพ์ ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงตัวเธอเองที่เฝ้ามองเงามืดในใจมนุษย์ ทำให้งานเขียนเรื่อง The Haunting of Hill House กลายเป็นเรื่องเล่าบ้านผีสิงที่น่าสนใจ

     จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากการที่แจ็กสันอยากเล่าเรื่องผี (ghost story) เธอได้แรงบันดาลใจจากรายงานของสมาคมนักพลังจิต (Society for Psychical Research) แจ็กสันมองเห็นมิติของบ้านผีสิงและการหลอกหลอนในบ้าน หลังจากนั้นเธอก็ค้นคว้า มองหาภาพบ้านที่เหมาะสมแถวๆ แคลิฟอร์เนียจากนิตยสาร ไปจนถึงญาติผู้ใหญ่ที่ออกแบบอาคารเก่าแก่ในซานฟรานซิสโก และนั่งอ่านเรื่องผีอีกโหลหนึ่ง

     คำถามคือ บ้านผีสิงของแจ็กสันพิเศษตรงไหน 

     ข้อแรกเลย เรื่องนี้มีบ้านเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง (ดูจากชื่อก็ได้) และที่สำคัญกว่านั้น องค์ประกอบของ The Haunting of Hill House ถูกสตีเวน คิง ยกย่องให้เป็นต้นแบบเรื่องสยองแนวบ้านผีสิง คือการทำให้บ้านผีเป็นตัวละคร เป็นเหมือนตัวร้ายสำคัญของเรื่อง และยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่การหลอกหลอนสัมพันธ์กับบ้าน หลายครั้งเราจึงไม่แน่ใจว่ามันเกิดขึ้นจริง หรือเกิดขึ้นภายในหัวใจของตัวละคร

     ในบทวิจารณ์ของ พอลลา กูรัน (Paula Guran) ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 1999 ระบุว่าความยอดเยี่ยมและองค์ประกอบสำคัญของบ้านผีสิงใน The Haunting of Hill House ปรากฏอย่างประณีตตั้งแต่บทเปิดเรื่อง ความว่า 

     “(ในบ้านนั้น) ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดจะใช้ชีวิตอยู่ได้โดยยังคงสติได้โดยครบสมบูรณ์ แม้แต่นกกระจาบหรือตั๊กแตนก็เชื่อว่าพวกมันฝัน บ้านบนเนินหลังนั้น วิปลาส มันยืนหยัดด้วยตัวมันเองจากกลุ่มเนิน มันเก็บงำความมืดมิดไว้ และตัวมันนั้นได้ยืนหยัดมากว่าแปดสิบปีและคงยืนหยัดต่อไปได้” 

     (No live organism can continue for long to exist sanely under conditions of absolute reality; even larks and katydids are supposed, by some, to dream. Hill House, not sane, stood by itself against its hills, holding darkness within; it had stood so for eighty years and might stand for eighty more.)

     อ่านแค่บทเปิดเราก็สัมผัสถึงความน่าสะพรึงของบ้านนั้นได้ และช่วงท้ายของย่อหน้าแรก แจ็กสันได้อธิบายภาพบ้านเอาไว้—บ้านบนเนินที่สยอง แต่ค่อนข้างสยองในรูปแบบนามธรรม เธอบรรยายไว้ว่าเป็นเพียงคฤหาสน์ พูดถึงผนังอิฐ หลังคาและพื้นอันมั่นคงแข็งแรง ทว่าคฤหาสน์เก่าแก่นั้นกลับมีกลิ่นอายอันแปลกประหลาดอบอวล

     ตัวเรื่องเองก็นับว่าเป็นต้นแบบของงานบ้านผีที่เราคุ้นกัน คือเรื่องเริ่มต้นที่บ้าน มีกลุ่มตัวละครที่เข้ามาเพื่ออยู่และสำรวจบ้าน ตัวละครประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเรื่องเหนือธรรมชาติ ตัวละครที่มีปมบางอย่าง บางคนมีความสัมพันธ์กับตัวบ้านและอดีตของบ้าน ตัวเรื่องใช้วิธีค่อยๆ เผยเรื่องราวและบาดแผลของตัวละครย้อนไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบัน 

     ความพิเศษของเรื่องคือ สุดท้ายตัวละครต่างเล่าถึงการเจอเรื่องเหนือธรรมชาติ บ้านที่หลอกหลอน บ้านที่สนทนากับตัวละครผ่านกำแพง หรือโดนผีเจ้าของบ้านหลอกหลอน ตรงนี้เองที่ทำให้ความสยองของ The Haunting of Hill House เล่นกับจิตใจและบาดแผลที่สัมพันธ์กับความรับรู้ การข้ามไปมาระหว่างความฝัน และเส้นแบ่งการรับรู้และสติสัมปชัญญะของตัวละครเอง

     นอกจากการเป็นต้นแบบของเรื่องผีแนวสำรวจบ้านผีหรือเกมต่างๆ ที่เล่าความซับซ้อนของจิตใจและเหตุการณ์เหนือธรรมชาติในพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงแล้ว ตัว The Haunting of Hill House เองก็ได้รับการนำมาผลิตซ้ำบ่อยครั้ง เป็นหนังบ้าง ละครทีวีบ้าง กรณีการเล่าใหม่ในฉบับเน็ตฟลิกซ์เมื่อปี 2018 ก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิทยา เราจะเห็นถึงการเล่าย้อน เห็นตัวละครผู้เชี่ยวชาญที่ ‘ศึกษา’ เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ รวมถึงเชื่อมโยงเข้ากับวิทยาศาสตร์ เช่น การเริ่มเล่าถึงแฟนหนังสือที่เล่าถึงการเห็นผีสามีของเธอที่ตายจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่น่าสยดสยอง ตัวละครต่างๆ ในเรื่องส่วนใหญ่มีปมในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียแม่ ตัวละครแม่ที่พยายามโอบอุ้มดูแลลูก หรือตัวละครเด็กที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไป

     ในที่สุดด้วยบรรยากาศและเรื่องราวอันขึ้นชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ หลายครั้งเรื่องราวบ้านผีสิงของแจ็กสันจึงไม่ใช่การไปสำรวจหรือมองหาสิ่งที่อยู่ในบ้านนั้น ไม่ใช่ผีสางที่ต้องไปปลดปล่อย แต่คือการที่ตัวละครได้กลับไปยังอดีต กลับไปยังปมปัญหา กลับไปยังเรื่องราวบาดแผลที่เกิดขึ้นในครอบครัวและในจิตใจของตัวเอง โดยมี ‘บ้าน’ เป็นภาพฉายจิตใจอันเปราะบางของมนุษย์

     ความน่ากลัวของการหลอกหลอนของพื้นที่บ้านที่ควรจะอบอุ่นและมั่นคงแข็งแรง สุดท้ายแล้ว ก็อาจเป็นแค่การหลอกหลอนของจิตใจ 

     จะมีอะไรที่ยอกย้อนยิ่งกว่าจิตใจของเรา จะมีอะไรหลอกหลอนเรายิ่งกว่าความทรงจำ และจะมีอะไรน่าขนพองกว่าการกลับไปรื้อฟื้นรอยแผลที่ไม่เคยถูกรักษา

     แด่เชอร์ลีย์ แจ็กสัน ผู้สำรวจหัวใจและความกลัวอันล้ำลึก และผู้ทำให้บางครั้งบ้านและบานประตูที่เราเห็นอยู่ทุกวัน น่าขนลุกขึ้นมาเสียเฉยๆ

อ้างอิง

britannica.com/biography/Shirley-Jackson 
web.archive.org/web/20180314130906/http://www.darkecho.com:80/darkecho/horroronline/jackson.html 
theguardian.com/books/2018/oct/22/pure-fear-how-the-haunting-of-hill-house-opened-a-new-chapter-in-horror-netflix
teachingpals.wordpress.com/2019/10/28/hawthornes-haunted-house/ 
academia.edu/20765387/Haunted_by_a_House_The_Terrors_of_Postmodernity_in_American_Haunting_House_Tales 
sublimehorror.com/books/legacy-shirley-jacksons-hill-house/
smithsonianmag.com/history/history-haunted-house-180957008/ 
newyorker.com/magazine/1948/06/26/the-lottery 
medium.com/@dianawrites/the-haunting-of-hill-house-talks-a-lot-about-mental-illness-but-says-very-little-5faacf7bfe99 
bustle.com/p/how-scary-is-the-haunting-of-hill-house-the-ghosts-arent-even-the-most-terrifying-part-12225395