Mon 09 Aug 2021

DEVELOPMENT OF SPORTS AND OLYMPICS IN KOREA

กีฬาในประวัติศาสตร์ การแข่งขัน สื่อบันเทิง และชีวิตประจำวันของชาวเกาหลี

ภาพ: ms.midsummer

     แม้จะเลื่อนมาถึงหนึ่งปี และส่อแววจะล่มโดนยกเลิก แต่สุดท้าย โตเกียว โอลิมปิก 2020 ก็ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างราบรื่น และถูกพูดถึงไปทั่วโลก ไม่ว่าจะจากพิธีเปิดตัว การรอเชียร์นักกีฬาคนโปรด หรือลุ้นให้ประเทศตัวเองได้คว้าเหรียญทอง ไปถึงสตอรี่ของนักกีฬาต่างๆ ทั้งในแง่การแข่งขัน เรื่องราวการฝึกซ้อม ที่ทำให้ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยบรรยากาศของกีฬา

     แน่นอนว่าสำหรับคอลัมม์ (K)ULTURE เราก็ต้องพูดถึงประเทศเกาหลีใต้ และในขณะที่เขียนอยู่นี้ เกาหลีใต้ก็คว้าเหรียญทองในโตเกียว โอลิมปิก 2020 จากกีฬาฟันดาบและยิงธนูเป็นที่เรียบร้อย และยังมีให้รอลุ้นเหรียญอีกหลายรายการ ซึ่งรอบนี้ เกาหลีใต้เขามาพร้อมเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งในท็อป 10 ประเทศเจ้าเหรียญทองด้วย

     ประเทศเกาหลีใต้มีวัฒนธรรมกีฬาเข้มข้นระดับไหน ถึงตั้งเป้าจะเป็นท็อป 10 ประเทศเจ้าเหรียญทองได้ มีแผนการสำหรับเป้าหมายนี้อย่างไร ที่ผ่านมาสร้างผลงานอะไรไว้บ้าง รวมถึงว่าประเทศแห่งป๊อปคัลเจอร์นี้ ถ่ายทอดเรื่องกีฬา และโอลิมปิกผ่านวัฒนธรรมป๊อปๆ อย่างไร วันนี้ เราจะมาเล่าให้ฟัง

วัฒนธรรมกีฬาที่อยู่กันมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรเกาหลี จนเป็นเครื่องมือสร้างชาติ

     หากจะพูดถึงโอลิมปิกแล้ว ต้องขอพูดถึงวัฒนธรรมกีฬาในเกาหลีก่อน ซึ่งสืบสาวยาวไปถึงสมัยโบราณ ก่อนประเทศจะแยกเป็นเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ 

     ชาวเกาหลีมีรากของวัฒนธรรมการกีฬาจากศิลปะการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการยิงธนู ขี่ม้า แทคคยอน (ศิลปะป้องกันตัวของเกาหลี) และซีรึม (มวยปล้ำเกาหลี) เป็นต้น โดยกีฬาเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคโชซอน (ค.ศ.1392-1910) แต่ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กีฬาตะวันตกเริ่มเข้ามาแพร่หลายในเกาหลี และได้มีการตั้งกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับกีฬา รวมถึงส่งเสริมพลศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรของโรงเรียน 

     กีฬาหรือพลศึกษานี้ยังเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่ออธิปไตยของเกาหลี โดยในช่วงภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1910-1945) ที่ชาวเกาหลีถูกจำกัดและควบคุมการเล่นกีฬาและกิจกรรมพลศึกษา แต่หลังจากเกิดขบวนการประท้วงเพื่อเรียกร้องเอกราช เมื่อ 1 มีนาคม 1919 ก็ได้มีการผลักดันและกระตุ้นให้ประชาชนสนใจกิจกรรมกีฬามากขึ้น จนมีการก่อตั้งสภากีฬาโชซอน ซึ่งภายหลังคือสภากีฬาแห่งเกาหลีในปี 1920 จัดตั้งการแข่งกีฬาต่างๆ อย่างการแข่งขันเบสบอลออลโชซอนครั้งที่ 1 และให้มีการเผยแพร่การแข่งขันกีฬาต่างๆ ทั่วประเทศ จนเริ่มเกิดอาชีพอย่างนักกีฬา และทำให้กีฬากลายเป็นที่สนใจในสาธารณชน

     นอกจากกีฬาประเภทศิลปะการต่อสู้ที่มีมาแต่ดั้งเดิมของเกาหลี อย่างเทควันโดและฮับกีโด กีฬาตะวันตกก็เริ่มมามีบทบาทและได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่ถ่ายทอดมาจากชาวตะวันตก เช่น ฟุตบอล ที่แม้ในยุคประวัติศาสตร์เกาหลีโบราณจะเคยมีการละเล่นที่คล้ายกัน แต่กีฬาฟุตบอลจริงๆ ที่เล่นกันในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นในเกาหลี เมื่อลูกเรือชาวอังกฤษนำมาเล่น หลังเข้ามาเยือนท่าเรือในเกาหลีช่วงปี 1882 

     หรือเบสบอลที่มาจากมิชชันนารีชาวอเมริกันในช่วงปลายต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งเข้ามาสอนสมาชิกสมาคมคริสเตียนชาย (Young Men’s Christian Association หรือ YMCA) จนเริ่มเรียนรู้พื้นฐานของการเล่นเบสบอล จนกระทั่งยุคที่เกาหลีถูกปกครองโดยญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ยกย่องกีฬาเบสบอลมากๆ ทำให้ความนิยมของเบสบอลในเกาหลีเพิ่มขึ้นตาม 

     ข้ามมาถึงยุคที่เกาหลีถูกแบ่งเป็นเหนือ-ใต้แล้ว กีฬาก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลใช้ในการปลูกฝังความชาตินิยมและอุดมการณ์ต่อต้านเกาหลีเหนือ รวมถึงกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอื่นๆ อย่างจีนและญี่ปุ่น จนมีการตรากฎหมายส่งเสริมกีฬาแห่งชาติ (the National Sports Promotion Law หรือ NSPL) ขึ้นมาในปี 1962 ที่กลายเป็นการส่งเสริมกีฬาอย่างเข้มข้นในช่วงหลังจากนั้นด้วย 

     ทั้งกฎหมายนี้เอง ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการอัดฉีดนักกีฬาจำนวนมาก ไปถึงนักกีฬาโอลิมปิกในยุคหลัง โดยในปี 1963 ก็ได้มีโครงการบำเหน็จบำนาญสำหรับนักกีฬาและโค้ช ทั้งรวมถึงการเว้นการรับราชการทหาร หรือไม่ต้องเข้ากรม จากที่พลเมืองชายทุกคนจะต้องรับใช้ชาติประมาณสองปี ก็มีการพัฒนานโยบาย หากนักกีฬาเข้าเกณฑ์เฉพาะ เช่น ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลาห้าปีในสาขาที่เชี่ยวชาญด้านกีฬา หรือได้รับเหรียญทองจากการแข่งโอลิมปิกด้วย 

     หลังจากช่วงรัฐบาลเผด็จการเปลี่ยนผ่านมาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว เกาหลีใต้ก็ยังคงมีนโยบายสนับสนุนกีฬาที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุค โดยจะเรียกว่า Sport For All หรือ SFA policy ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแผนการระยะห้าปีที่เน้นสนับสนุนนักกีฬาและการไปแข่งนานาชาติอย่างโอลิมปิก ซึ่งบางส่วนของแผนการนี้ยังเน้นให้ประชาชนคนทั่วไปเข้าถึงกีฬาได้อย่างง่ายดายด้วย เช่น ในยุคของประธานาธิบดี ลี มยอง-บัก (Lee Myung-bak) ในปี 2008-2012 ได้มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ชาวเกาหลีทุกคนสามารถเข้าถึงสนามกีฬาภายใน 15 นาทีจากบ้านของพวกเขา ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการเล่นกีฬา การส่งเสริมให้คนพิการมีส่วนร่วมในกีฬา เป็นต้น 

     จนถึงปัจจุบันนี้ การปรับปรุง รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกีฬาให้กับประชาชนทุกคน และให้ประชาชนสนใจในกีฬา ก็ยังคงเป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลพยายามสร้างควบคู่กับการพัฒนานักกีฬา

เกาหลีใต้กับการไปคว้าเหรียญโอลิมปิก และเป็น TOP  10 เจ้าเหรียญทอง

     แน่นอนว่า หนึ่งในแผนการนโยบายสนับสนุนกีฬาของเกาหลีใต้นั้น มีโอลิมปิกเป็นเป้าหมายแห่งความสำเร็จด้วย แต่ด้วยปัญหาการเมืองต่างๆ ทำให้เหรียญทองแรกของชาวเกาหลี ไม่ได้ได้มาในนามประเทศเกาหลี 

     ครั้งแรกที่ชาวเกาหลีคว้าเหรียญรางวัลเหรียญแรก เกิดขึ้นในเบอร์ลิน โอลิมปิก ปี 1936 โดย ซอน คี-ชุง (Sohn Kee-chung) และ นัม ซุง-ยง (Nam Sung-yong) นักกรีฑาที่คว้าเหรียญทองและทองแดงในการวิ่งมาราธอนชาย แต่ตอนนั้นเป็นช่วงที่เกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น และตัวนักกีฬาทั้งสองก็ลงแข่งในนามสมาชิกของทีมญี่ปุ่น คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงให้เครดิตทั้งสองเหรียญกับญี่ปุ่นไป

     หากนับเหรียญรางวัลที่เกาหลีได้ในนามเกาหลีใต้จริงๆ นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรกหลังได้รับเอกราชในลอนดอน โอลิมปิก ปี 1948 ที่ได้สองเหรียญทองแดง จากกีฬามวยชาย รุ่นฟลายเวท และยกน้ำหนักชาย รุ่นมิดเดิลเวท ก่อนจะได้เหรียญทองแรกในมอนทรีออล โอลิมปิก ปี 1976 จากการแข่งขันมวยปล้ำรุ่นเฟเธอร์เวท ซึ่งจากการได้เหรียญทองแรกนั้น ทำให้อันดับของเกาหลีใต้ขึ้นมาอยู่ในท็อป 20 ของเจ้าเหรียญทองด้วย

     เมื่อเกาหลีใต้ทำตามแผนที่สอดคล้องกับนโยบายที่เล่าไปแล้วข้างต้น ก็ทำให้การแข่งขันกีฬาในปีหลังทศวรรษ 1980 เกาหลีใต้เริ่มติดอันดับมหาอำนาจด้านกีฬากับเขาบ้าง และยังประสบความสำเร็จกับการได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1988 ซึ่งรองรับนักกีฬาเกือบ 8,500 คน จาก 159 ประเทศที่เข้าร่วม 

     และนับตั้งแต่การแข่งขันโอลิมปิกที่เอเธนส์ในปี 2004 เป็นต้นมา เกาหลีใต้ก็ทำผลงานได้ดีเยี่ยม ด้วยการเป็นท็อป 10 ประเทศเจ้าเหรียญทองติดต่อกัน 4 ครั้ง จนมาถึงครั้งนี้ในปี 2021 ที่ก็ตั้งเป้าว่าจะเป็นท็อป 10 อีกสมัยให้ได้

     กีฬาที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าเหรียญทอง และโดดเด่นมาตลอดในยุคหลังๆ ได้แก่ กีฬายิงธนู ที่กวาดเหรียญทองจากการแข่งไปทั้งหมด 4 เหรียญ จาก 5 รายการในกีฬายิงธนูในโตเกียว โอลิมปิก 2020 ซึ่งไม่ใช่แค่ปีนี้ที่ผลงานของเกาหลีใต้โดดเด่น นักยิงธนูเกาหลีใต้คว้าเหรียญจากกีฬานี้มากถึง 27 เหรียญทอง 9 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง นับตั้งแต่ที่กีฬายิงธนูถูกบรรจุให้อยู่ในการแข่งขันอีกครั้งในโอลิมปิกปี 1972 ทั้งหลังจากมีการบรรจุการแข่งยิงธนูประเภททีมในปี 1988 เกาหลีใต้ก็ยังทำสถิติคว้าเหรียญทองในประเภททีมหญิงติดต่อกันตั้งแต่เริ่ม 9 ครั้งรวด ขณะที่ประเภททีมชายได้ไป 6 เหรียญ พลาดเหรียญทองไปแค่ 3 ครั้งเท่านั้น 

     หากมองย้อนกลับไป จะเห็นว่าเกาหลีใต้สนับสนุนกีฬาที่จัดอยู่ในประเภทศิลปะการต่อสู้มาตั้งแต่ยุคโชซอน ซึ่งยิงธนูก็ถือเป็นหนึ่งในความสามารถที่ชาวเกาหลีสืบทอดและส่งต่อกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ทั้งในปัจจุบัน การยิงธนูยังถูกบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน มีการฝึกยิงธนูในระดับมัธยม และวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเพื่อปลูกฝัง และสร้างทีมชาติ ทั้งในการแข่งขันระดับโลก World Archery และโอลิมปิก โดยมีเหรียญทองเป็นเป้าหมายสูงสุด 

     มีรายงานว่านักธนูทีมชาติใช้เวลาฝึกฝนวันละกว่าสิบชั่วโมง ใช้ลูกธนูสัปดาห์ละ 2,500 อัน และนอกจากฝึกยิงเป้าแล้ว พวกเขายังต้องฝึกในสนามเบสบอล เพื่อปรับสายตากับแสง และคุ้นชินกับอุณหภูมิเพื่อการแข่งจริงด้วย

กีฬาและโอลิมปิก ที่อยู่ในวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลี

     สำหรับเกาหลีใต้แล้ว กีฬาไม่ได้อยู่แค่ในสนามแข่งเท่านั้น 

     ด้วยความเป็นประเทศแห่งวัฒนธรรมบันเทิง เกาหลีใต้จึงบอกเล่าวัฒนธรรมกีฬาผ่านซีรีส์หรือภาพยนต์ด้วย มีทั้งซีรีส์ที่เล่าถึงชีวิตนักกีฬาแต่ละชนิด ไปจนถึงซีรีส์ที่สอดแทรกบรรยากาศของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเข้ามาเป็นฉากประกอบ 

     ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงพิธีเปิดโอลิมปิก 1988 ในมุมประชาชนที่เข้าร่วมงานและกองเชียร์ทางบ้าน ผ่านซีรีส์ Reply 1988 (2015) หรือการสร้างคาแรกเตอร์ตัวละคร ‘คังซอล’ (รับบทโดย อี จง-ซอก) ในซีรีส์เรื่อง W (2016) ให้เป็นนักกีฬายิงปืนที่ได้รับเหรียญทองจากการแข่งโอลิมปิกด้วย 

     นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของ จาง มี-รัน (Jang Mi-ran) นักกีฬายกน้ำหนักที่กวาดมาแล้วทั้งเหรียญทอง เงิน และทองแดงในโอลิมปิกปี 2004, 2008 และ 2012 ที่ถูกดัดแปลงมาเป็นซีรีส์ Weightlifting Fairy Kim Bok Joo (2016) บอกเล่าถึงชีวิตของนักกีฬายกน้ำหนักสาวตัวเก็งระหว่างลงคัดโอลิมปิก ที่ไม่ได้มีเพียงการฝึกซ้อมและเรื่องราวภายในมหาวิทยาลัยกีฬา แต่เรายังได้เห็นเส้นทางเบื้องหลังชีวิตของนักกีฬาก่อนจะมาถึงฝัน ไปจนถึงความสำเร็จในโอลิมปิกด้วย 

     อย่างในวงการเคป๊อปก็มีการสอดแทรกกีฬาเข้าไป เช่น การแข่งขันกีฬ Idol Star Athletics Championship ที่เป็นรายการพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่ทางจันทรคติ (Lunar New Year) ให้ผู้ชมเปลี่ยนจากการดูนักกีฬา มาเป็นดูไอดอลวงต่างๆ ลงเล่นและแข่งขันกีฬากันเอง ซึ่งแต่ละคนก็ไม่ได้มาเล่นๆ

     แต่ต่อให้เกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่สนับสนุนและผลักดันการกีฬา ที่ผ่านมาก็มีข่าวที่พูดถึงมุมมืดของวงการนี้ในประเทศเกาหลีใต้อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะมาจากวัฒนธรรมอาวุโสและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่กดทับ โค้ชที่มีอำนาจเหนือร่างกายนักกีฬา การถูกซ้อม และบูลลี่ในวงการ แต่เกาหลีใต้ก็พยายามใช้วัฒนธรรมบันเทิงสื่อสารและลบค่านิยมเหล่านี้ออกไปเช่นกัน อย่างในซีรีส์เรื่อง Racket Boys (2021) ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโอลิมปิกโดยตรง แต่ก็ถ่ายทอดชีวิตของเด็กมัธยมที่มีความฝันอยากเป็นนักกีฬาแบดมินตัน เรื่องราวการซ้อมที่เข้มข้น การแข่งขัน มิตรภาพในทีม รวมถึงเรื่องราวจากเหล่าโค้ชที่ต่างเคยเป็นนักกีฬามาก่อน และมีโอลิมปิกเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิต ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้ฝึกสอนแทน 

     ในมุมหนึ่ง Racket Boys พยายามสื่อสารและใช้เรื่องราวบอกเล่าว่า ค่านิยมการซ้อมแบบใช้กำลังของโค้ชอย่างการตีนั้น ไม่ได้ผลกับยุคสมัยนี้แล้ว ไปถึงไม่ควรจะเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้นเลย 

     “ทั้งนักกีฬา พวกโค้ช และสมาคม ควรจะมีความรับผิดชอบ และหาวิธีแก้ไข เพื่อไม่ให้ความผิดพลาดที่เหมือนกันนี้ เกิดขึ้นอีกครั้ง” ดังที่โค้ชยุน ฮยอน-จง ในซีรีส์ Racket Boys กล่าวเอาไว้

อ้างอิง:

• Won, H.-J., & Hong, E. (2014). The development of sport policy and management in South Korea. International Journal of Sport Policy and Politics, 1–12. https://doi.org/10.1080/19406940.2014.900104

koreanculture.org/korea-information-sports

korea.net/AboutKorea/Sports/History-and-Development-of-Korean-Sports

britannica.com/event/Seoul-1988-Olympic-Games

olympics.com/tokyo-2020/olympic-games/en/results/all-sports/noc-medalist-by-sport-republic-of-korea-gold-medal.htm

koreaherald.com/view.php?ud=20210621000200

archery360.com/2016/11/02/4-reasons-korea-dominates-archery/

hannaone.com/blog/games-and-recreation/history-and-popularity-of-baseball-in-south-korea.html

dramabeans.com/2016/05/olympic-gold-medalist-jang-mi-ran-inspires-sports-drama/

soompi.com/article/868629wpp/lee-jong-suk-takes-olympic-pistol-shooting-w