Mon 21 Jun 2021

THE BRIDGE TO THE GODS

อ่านความหมายของไพ่หัวหน้านักบวชชาย

เรื่อง: มิ่ง ปัญหา

ภาพ: ms.midsummer

     ดิฉันขอเรียกไพ่ทาโรต์ชุดใหญ่ (Major Arcana) หกใบแรกว่าไพ่บุคคล เนื่องจาก โรเบิร์ต เอ็ม. เพลซ (Robert M. Place) นักประวัติศาสตร์ไพ่ทาโรต์อธิบายว่า ไพ่หลังจากนั้นจะเป็นไพ่สถานะหรือช่วงชีวิต (เช่น การลงนรก ขึ้นสวรรค์ เห็นดาว เดือน ตะวัน ฯลฯ) 

     ไพ่สองใบแรกอย่างคนโง่และผู้วิเศษถือเป็นผู้มีสองเพศ (เพลซใช้คำโบราณ นั่นคือ Hermaphrodite แต่ดิฉันว่าคำนี้เปิดให้ตีความได้มาก จะมองเป็นนอนไบนารี หรือผู้มีเพศสถานะลื่นไหล (genderfluid) ก็ยังได้) ส่วนไพ่ที่เหลือซึ่งเป็น ‘ไพ่ผู้สูงศักดิ์’ นั้น แบ่งเป็นเพศสถานะชายสองหญิงสองให้เข้าคู่กัน จักรพรรดินีคู่กับจักรพรรดิ ส่วนหัวหน้านักบวชหญิงก็ต้องคู่กับหัวหน้านักบวชชาย หรือบางทีคนไทยจะเรียกว่า ‘สังฆราช’ นั่นเอง 

     หลายๆ ท่านน่าจะได้เห็นไปแล้วในบทความของไพ่ใบที่ 2, 3 และ 4 ว่าไพ่ทาโรต์ยุคใหม่ไม่ได้สนใจ ‘สมดุลทางเพศ’ แบบเดิมมากเท่าไร บางฉบับจึงเปลี่ยนชื่อของไพ่ผู้สูงศักดิ์เพื่อไม่ให้มีคำบ่งชี้เพศสถานะด้วย อย่างไพ่ทาโรต์ฉบับพลังเทวะ (Numinous Tarot) ของ เซดาร์ แมคเคลาด์ (Cedar McCloud) ก็เรียกไพ่หัวหน้านักบวชชายว่า ‘ผู้มีทิพยจักษุ’ (The Visionary) 

     ก่อนจะพูดถึงความหมายของไพ่ใบนี้ ดิฉันขอชี้แจงก่อนว่า ดิฉันแปลคำว่าหัวหน้านักบวชชายตามชื่อไพ่ในฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธและธอธ นั่นคือ The Hierophant ซึ่งเป็นตำแหน่งนักบวชชายในพิธีกรรมแห่งอีลูซิส (Eleusis) พิธีกรรมบูชาเทพีดิมิเทอร์ (Demeter) และเทพีเพอร์เซโฟนี (Persephone) เพื่อความอุดมสมบูรณ์ในยุคกรีกโบราณ ไพ่ในฉบับที่เก่ากว่านั้นจะเรียกไพ่ใบนี้ว่าพระสันตะปาปา (Pope) แต่ดิฉันขอเรียกไพ่ใบนี้รวมๆ ว่าไพ่หัวหน้านักบวชชาย เพราะคำว่าหัวหน้านักบวชชายนั้นกินความมากกว่า และไม่ระบุศาสนา

     นอกจากนี้ ดิฉันต้องการทำให้เพศชายถูกเน้นขึ้นมาบ้าง เพราะโดยมากแล้ว อาชีพใดที่มีผู้ประกอบอาชีพหลายเพศ เพศอื่นที่ไม่ใช่เพศชายมักจะถูกขับเน้นมากกว่า ขณะที่เพศชายมักถูกผูกโยงกับความเป็นสากล เช่น ตำรวจและตำรวจหญิง ดังนั้นในเมื่อดิฉันแปล The High Priestess ว่าเป็นนักบวชหญิงไปแล้ว ดิฉันจึงจะแปล The Hierophant (ซึ่งบางฉบับเรียกว่า The High Priest) ว่าหัวหน้านักบวชชายค่ะ แต่ในกรณีที่บางสำรับ จงใจเปลี่ยนเพศของหัวหน้านักบวชชาย ดิฉันจะเรียกว่าหัวหน้านักบวชเฉยๆ

     ความหมายของไพ่หัวหน้านักบวชชายคือการสอนหรือการทำงานในระบบทางการ หลายๆ คนสื่อความหมายไพ่ใบนี้ในเชิงอนุรักษนิยม มองว่าเป็นไพ่แห่งการเดินตามขนบธรรมเนียมที่สังคมกระแสหลักมองว่าดีงาม อย่างไรก็ดี ไพ่ใบนี้สามารถสื่อถึงการสืบทอดวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายได้ด้วย 

     ในบทบาทของนักบวชนั้น ไพ่ใบนี้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมคนกับองค์ความรู้ หรือคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สอดคล้องกับรากศัพท์ของคำว่า pontiff ซึ่งเป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกพระสันตะปาปา โดย Pontiff มาจากคำว่า Pontifex ที่เดิมทีเป็นชื่อเรียกตำแหน่งหัวหน้านักบวชในศาสนาของชาวโรมัน ความหมายตรงตัวของคำนี้คือ ผู้สร้างสะพาน 

     ขณะที่ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของมิติทางจิตวิญญาณ และประสบการณ์ทางศาสนาผ่านทางจิตใจของศาสนิกชน ไพ่หัวหน้านักบวชชายมักถูกนำเสนอให้เป็นตัวแทนลักษณะทางกายภาพของพิธีกรรมหรือศาสนา ซึ่งทำหน้าที่เป็นสะพานให้คนได้เข้าถึงแนวคิดของศาสนา นอกจากนี้ อาจหมายถึงความจริงจัง มุ่งมั่น ในสิ่งที่ทำอยู่ก็เป็นได้ หากถามเรื่องความรักแล้วไพ่ใบนี้ปรากฏขึ้น ไพ่อาจจะแนะนำให้คุณจริงจังกับความรักมากขึ้นนั่นเอง 

     ในทางโหราศาสตร์ ไพ่หัวหน้านักบวชชายเป็นไพ่แทนราศีพฤษภ สมาคมอรุณทอง (Golden Dawn Society สมาคมไสยเวทอังกฤษช่วงปลายศตวรรษที่ 19) จึงกำหนดชื่อของไพ่ใบนี้ไว้อีกอย่างว่า ‘ผู้ทรงเวทย์ของผู้เป็นนิรันดร์’ (Magus of the Eternals) โดยผู้เป็นนิรันดร์หมายถึงพระเจ้าหรือเทพยดา เพราะไม่มีวันตายนั่นเอง

     และอย่างที่บอกไปว่า ไพ่หัวหน้านักบวชชายนั้น เดิมทีเรียกว่า ‘ไพ่พระสันตะปาปา’ (Pope) ในไพ่ฉบับวิสกอนติ-สฟอร์ซา (Visconti-Sforza) จึงแสดงภาพพระสันตะปาปาทำท่าประทานพรด้วยมือขวา และจับคทาที่ยอดเป็นไม้กางเขนด้วยมือซ้าย 

     ไพ่พระสันตะปาปาฉบับอื่นๆ ในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 ก็ยังคงลักษณะคล้ายฉบับวิสกอนติ-สฟอร์ซา อาจมีสัญลักษณ์เพิ่มเติมบ้าง เช่น ไพ่พระสันตะปาปาฉบับบูดาเปสต์ (Budapest Tarot) เพิ่มคนแบกตราสัญลักษณ์กุญแจไขว้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนักบุญปีเตอร์ผู้ถือกุญแจสวรรค์ เพราะเชื่อกันว่า นักบุญปีเตอร์คือพระสันตะปาปาคนแรกของศาสนาคริสต์ ผู้แบกตราสัญลักษณ์ซึ่งยืนขนาบด้านซ้ายและขวาของภาพ กลายเป็นสาวกของพระสันตะปาปาซ้ายขวาในฉบับอื่นๆ เช่น ไพ่ทาโรต์ฉบับมาร์เซย์ (Tarot of Marseille) ออกแบบโดย ฌ็อง โนเบลต์ (Jean Noblet Tarot of Marseille) 

     จากตัวอย่างไพ่ที่กล่าวไป น่าจะเห็นแล้วว่าไม้คทาของพระสันตะปาปาและมงกุฎของพระสันตะปาปานั้นเปลี่ยนไปด้วย ไม้คทารูปไม้กางเขนเปลี่ยนไปเป็นไม้คทาปลายงอ (Crosier) ซึ่งดัดแปลงมาจากไม้ต้อนแกะ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปรียบเทียบพระเยซูเป็นผู้ต้อนแกะ โดยมีศาสนิกชนเป็นแกะ 

     ในบางกรณี ไม้คทารูปไม้กางเขนถูกเปลี่ยนเป็นไม้กางเขนสามแถบของพระสันตะปาปา (Papal cross) โดยดัดแปลงจากไม้กางเขนสองแถบของอาร์ชบิชอป (Archbishop) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนืออาร์ชบิชอป 

     มงกุฎของพระสันตะปาปาในไพ่มีทั้งแบบสองชั้นและสามชั้น ซึ่งอ้างอิงจากมงกุฎจริง เชื่อกันว่ามงกุฎพระสันตะปาปาเริ่มมีสองชั้นในสมัยพระสันตะปาปาโบนิเฟซที่ 8 (Boniface VIII) เพื่อนำเสนออำนาจของพระสันตะปาปาในกิจการทางโลกและทางศาสนา ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 14 ก็เพิ่มเป็นสามชั้น 

     อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่ามงกุฎสามชั้นสื่อถึงอะไร บ้างก็มองว่ามงกุฎสามชั้นสัมพันธ์กับคำกล่าวเมื่อราชาภิเษกพระสันตะปาปา ซึ่งเปรียบพระสันตะปาปาว่าเป็นบิดาของเจ้าชายและกษัตริย์ เป็นทั้งผู้ครองโลกและตัวแทนของพระเยซู บ้างก็ว่าเป็นตัวแทนหน้าที่ของพระคริสต์ นั่นคือเป็นนักบวช ประกาศก (Prophet ผู้ส่งสารของพระเจ้า) และราชา บ้างก็ว่าไม่ได้เป็นสัญลักษณ์อะไร มงกุฎชั้นที่สามเพิ่มมาเพื่อช่วยเสริมความหรูหราให้แก่เครื่องทรงของพระสันตะปาปาเท่านั้น

     แน่นอนว่าไพ่ใบนี้ย่อมถูกสั่งให้ปรับเปลี่ยนเพราะนำเสนอบุคคลสำคัญทางการเมืองและศาสนาเช่นกัน ดังที่เคยเล่าไปแล้วในไพ่จักรพรรดินีและไพ่จักรพรรดิว่า ไพ่ทาโรต์ระดับโลกจากโบโลญญาเปลี่ยนไพ่บรรดาศักดิ์ทั้งสี่ (หัวหน้านักบวชหญิง จักรพรรดินี จักรพรรดิ หัวหน้านักบวชชาย) ให้กลายเป็นชาวมัวร์สี่คน

     ดิฉันคาดว่าพระสันตะปาปาน่าจะเป็นชาวมัวร์ถือลูกศร เพราะเมื่อไพ่ชาวมัวร์ที่แทนไพ่จักรพรรดินีและจักรพรรดิถือไม้คทาพระจันทร์กับพระอาทิตย์ตามลำดับ ไพ่หัวหน้านักบวชหญิงก็น่าจะเป็นไพ่ชาวมัวร์ถือคันธนู เพราะเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณ ขณะที่ไพ่หัวหน้านักบวชชายหรือพระสันตะปาปาเป็นตัวแทนของพิธีกรรมและสิ่งที่เป็นรูปธรรม ถ้ามองว่าประสบการณ์ทางศาสนาเกิดจากจิตไปสู่กาย ชาวมัวร์ถือคันธนูก็น่าจะเป็นคนยิงธนูไปยังชาวมัวร์ที่ถือลูกธนู แต่อันที่จริง เราก็อาจมองได้ว่าชาวมัวร์ทั้งสี่เป็นไพ่ใหม่ที่ไม่อาจตีความตามแบบไพ่บรรดาศักดิ์ทั้งสี่ได้อีกแล้ว

     สำรับอื่นๆ ก็มีการปรับเปลี่ยนไพ่ของตนเองเช่นกัน หลัง มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) นักบวชชาวเยอรมัน แสดงความต้องการปฏิรูปศาสนาคริสต์และสถาปนานิกายโปรเตสแตนต์ (Protestantism) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ทำให้ไพ่ทาโรต์ในประเทศที่นับถือคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์และนิกายแยกย่อยจากโปรเตสแตนต์เปลี่ยนภาพพระสันตะปาปาเป็นตัวละครอื่นๆ เช่น ไพ่ทาโรต์ฉบับเบซองซง (Tarot de Besançon) มาจากชุมชนที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ในฝรั่งเศส เปลี่ยนภาพพระสันตะปาปาเป็นภาพเทพจูปิเตอร์ (Jupiter)

     ไพ่ทาโรต์ฉบับ 1JJ ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพัฒนาจากไพ่ทาโรต์ฉบับเบซองซงก็ทำแบบเดียวกัน พอล ฮูสัน (Paul Huson) กล่าวว่า ในสมัยยุคกลาง ภาพเทพจูปิเตอร์แต่งกายเหมือนบาทหลวง บิชอป หรือพระสันตะปาปาอยู่แล้ว (เช่น ภาพวาดเทพจูปิเตอร์ในชุดบิชอปจากตำราสัพเพเหระจากเยอรมนีในศตวรรษที่ 15) แม้ภาพในไพ่จะไม่ได้แต่งกายอย่างนั้นก็ตาม นอกจากนี้ คนอังกฤษสมัยก่อนเลี่ยงจะออกชื่อพระผู้เป็นเจ้าตรงๆ แม้แต่ในคำอุทานยังใช้คำว่าโจฟ (Jove) ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของเทพจูปิเตอร์แทน ดังเช่นวลี By Jove ที่อาจจะแปลว่า พระเจ้า! ในภาษาไทย  

     อย่างไรก็ตาม อองตวน กูต์ เดอ เฌเบอแล็ง (Antoine Court de Gébelin) ผู้เข้าใจว่าไพ่ทาโรต์ถือกำเนิดที่อียิปต์เสนอว่า ไพ่ใบนี้น่าจะมาจากนักบวชในศาสนาของชาวอียิปต์โบราณ เขาจึงเรียกไพ่ทาโรต์ใบนี้ว่า The Hierophant (ออกเสียงว่าเฮียโรแฟนท์) ซึ่งเป็นตำแหน่งของหัวหน้านักบวชชายในพิธีบูชาเทพีดีมิเทอร์ (Demeter) และเทพีเพอร์เซโฟนี (Persephone) ในอารยธรรมกรีกโบราณ เดอ เฌเบอแล็งใช้คำนี้เพื่อเน้นย้ำว่าภาพนักบวชนี้ไม่ได้มาจากศาสนาคริสต์ ส่วนไม้เท้าสามแถบในไพ่พระสันตะปาปาน่าจะมาจากไม้กางเขนสามแถบของอียิปต์มากกว่า 

     ด้านโรเบิร์ต เอ็ม. เพลซ สันนิษฐานว่า เดอ เฌเบอแล็งน่าจะหมายถึงสัญลักษณ์ของเทพโอซิริส (Osiris) เทพแห่งปรโลก ผู้มีสัญลักษณ์เป็นแท่งและมีขีดขวางสามหรือสี่ขีด เรียกว่าเจด (Djed) 

     ไพ่ทาโรต์ฉบับไรเดอร์-เวท-สมิธ หรือ RWS เลือกใช้ภาพพระสันตะปาปาตามขนบ แต่หน้าไพ่อาจแตกต่างจากไพ่พระสันตะปาปาฉบับปกติเล็กน้อย เพราะมีตะปูสามตัวอยู่บนมงกุฎ โดยตะปูสามตัวนี้คือความหมายของตัวอักษร ‘เวา’ หรือ ‘วาฟ’ ‘ ו’ (Vau/Vav/Waw) ในภาษาฮีบรู ซึ่งสมาคมอรุณทองนำมาเชื่อมโยงกับไพ่ทาโรต์ ตามความเชื่อของชาวยิวที่ว่าพระเจ้าสร้างโลกจากตัวอักษร 

     นอกจากตะปูจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระเยซู เพราะทรงถูกตอกไว้กับไม้กางเขนแล้ว ยังสอดคล้องกับความหมายของไพ่ในฐานะผู้เชื่อมโลกสวรรค์และโลกของปุถุชน (อักษรวาฟเป็นคำเชื่อมในภาษาฮีบรู แปลว่า ‘และ’ ด้วย) ลายของชุดนักบวชที่อยู่ด้านซ้าย-ขวาแสดงภาพดอกกุหลาบและดอกลิลี่ อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของศาสนาคริสต์ ดอกกุหลาบเป็นตัวแทนของพระแม่มารี ส่วนดอกลิลี่เป็นตัวแทนความบริสุทธิ์ของทั้งพระแม่มารีและพระเยซู 

     ถึงแม้ว่าภาพในไพ่ของเวทจะหน้าตาเหมือนพระสันตะปาปาโดยทั่วไปก็ตาม แต่เวทเรียกไพ่ใบนี้ว่า The Hierophant หรือหัวหน้านักบวชชายตามเดอ เฌเบอแล็ง 

     ในหนังสือ The Pictorial Key to the Tarot ของเวทนั้น เขาไม่ได้ขยายความเรื่องไพ่หัวหน้านักบวชชายชัดเจนนอกเสียจากว่าไพ่ใบนี้นำเสนอสิ่งที่เป็นกายภาพของลัทธิความเชื่อ แต่ลักษณะทางกายภาพเหล่านี้จะเป็นเครื่องนำผู้นับถือศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาได้ หัวหน้านักบวชชายไม่ได้เป็นตัวแทนของแก่นสารของพระศาสนาหรือปรัชญา แต่เขาเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่สิ่งเหล่านั้น 

     เวทกล่าวว่า เขาเป็น ‘วิธีการแสดงออก’ (Mode of Expression) เท่านั้น

     วิธีการแสดงออกของศาสนาผ่านรูปแบบพิธีกรรมนั้น เป็นหน้าด่านแรกที่ศาสนิกชนต้องเผชิญเพื่อเข้าถึงหลักการของศาสนานั้นๆ ซึ่งคำว่า Hierophant มีความหมายตามรากศัพท์ว่าการเปิดเผยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นตำแหน่งของหัวหน้านักบวชชายในศาสนาของชาวกรีกโบราณในพิธีเร้นลับแห่งอีลูซิส (Eleusinian Mysteries) ทำหน้าที่แจกเครื่องดื่มผสมยาหลอนประสาทอ่อนๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าถึงสภาวะการเป็นเทพยดา 

     นอกจากการดื่มเครื่องดื่มแล้ว ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องทำพิธีสามขั้นตอนตามตำนานการลักพาตัวเทพีเพอร์เซโฟนีสู่ยมโลก (อ่านรายละเอียดได้ที่ไพ่หัวหน้านักบวชหญิง) นั่นคือการลงยมโลก การตามหา และการขึ้นจากยมโลก 

     พิธีกรรมในที่นี้จึงทำหน้าที่เหมือนบทละครที่ผู้เข้าร่วมต้องเล่นเพื่อเข้าถึงแก่นสารของศาสนานั้นๆ 

     อย่างไรก็ดี ไพ่หัวหน้านักบวชชายถือเป็นไพ่ใบหนึ่งที่หลายๆ สำรับมองว่าซ่อนแฝงความชั่วร้าย เนื่องจากประเพณีพิธีกรรมเป็นเปลือกนอกของการแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้บางครั้งเราอาจรู้สึกเคลือบแคลงเกี่ยวกับงานบุญว่ามีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่หรือไม่ 

     อันที่จริง ประเด็นนี้สอดคล้องกับอคติที่ผู้นับถือนิกายอังกฤษในศตวรรษที่ 19 มีต่อนิกายคาทอลิก เพราะนิกายคาทอลิกถูกมองว่ามีพิธีกรรมชวนให้งมงาย นักบวชฟุ้งเฟ้อ หาโอกาสรีดทรัพย์จากประชาชน ไพ่หัวหน้านักบวชชายฉบับลูบังโค (Lubanko Tarot) ของ เอมิลี ลูบังโค (Emily Lubanko) แสดงให้เห็นว่าโลกวัตถุที่แสดงถึงศีลธรรมอาจซ่อนสิ่งชั่วร้ายเอาไว้ และไพ่หัวหน้านักบวชชายฉบับเดลตา เอนเดอริง (Delta Enduing Tarot) ของอีแกน (Egan) อาจเน้นย้ำความหน้าไหว้หลังหลอกของผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 

     แม้หลายๆ คนจะมองว่าไพ่หัวหน้านักบวชชายเป็นไพ่ขนบ ไพ่พิธีกรรมทางศาสนาที่ไม่อาจไว้ใจได้ และควรวิพากษ์วิจารณ์ ไพ่ทาโรต์หลายสำรับกลับเน้นย้ำความเชื่อใหม่ ศาสนาใหม่ หรือศาสนาที่กำลังจะสูญหาย อย่างไพ่หัวหน้านักบวชชายฉบับธอธซึ่งมีรายละเอียดมากมาย แต่ประเด็นสำคัญสำหรับดิฉัน คือการเปลี่ยนผ่านจากศาสนาดั้งเดิมสู่ศาสนาใหม่ 

     ไพ่ธอธใช้ภาพกษัตริย์นักบวช (Priest King) ในศาสนาของชาวบาบิโลน ซึ่งเป็นต้นทางของศาสนาตะวันตก ล้อมรอบด้วยวัวอันเป็นสัญลักษณ์ประจำราศีพฤษภ และช้าง โครว์ลีย์ (Crowley) ผู้ออกแบบไพ่ฉบับธอธมองว่าช้างเป็นการนำเสนอลักษณะสำคัญของราศีพฤษภ ดิฉันมองว่าน่าจะเป็นเพราะความอดทน มุ่งมั่น จนอาจดูเหมือนดื้อดึงของช้างที่ทำให้โครว์ลีย์เชื่อมโยงช้างกับราศีพฤษภ

     ลวดลายด้านหลังนักบวชเป็นดอกกุหลาบห้ากลีบ สัมพันธ์กับหมายเลขของไพ่และสัญลักษณ์ของพระแม่มารีดังที่กล่าวไปแล้ว ภาพงูและนกบริเวณลายกุหลาบนั้นอาจเกี่ยวโยงถึงคัมภีร์มัทธิว (Matthew) ในพระคัมภีร์ไบเบิล ฉบับพันธสัญญาใหม่ (New Testament) ซึ่งพระเยซูได้กล่าวแก่อัครสาวกทั้ง 12 คนเมื่อคราวเผยแผ่ศาสนาว่า “Behold, I send you forth as sheep in the midst of wolves: be ye therefore wise as serpents, and harmless as doves” (นี่แน่ะ เราใช้ท่านทั้งหลายไปดุจแกะอยู่ท่ามกลางพวกหมาป่า เพราะฉะนั้นจงเฉลียวฉลาดเหมือนงู และไม่มีพิษมีภัยเหมือนนกพิราบ) (มัทธิว 10:16) 

     เพราะฉะนั้น ทั้งงูและนกพิราบจึงเป็นสัญลักษณ์ของนักบวชผู้ทำหน้าที่นำพาคนเข้าสู่พระศาสนาด้วย ด้านบนตัวงูมีตะปูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ดังที่กล่าวไปแล้ว

     หน้ากากทั้งสี่ด้านได้แก่ วัว (ซ้ายล่าง) สิงโต (ขวาล่าง) เทวทูต (ขวาบน) และนกอินทรี (ซ้ายบน) สื่อถึงนักบุญผู้เขียนพระวรสาร (ประวัติพระเยซู) ทั้งสี่ คน ได้แก่ ลุค มาร์ค มัทธิว และจอห์น ตามลำดับ สัญลักษณ์สัตว์ทั้งสี่นี้สำคัญมากในการอ่านไพ่ทาโรต์ โดยเฉพาะฉบับ RWS และธอธ เพราะเราจะได้เจอสัญลักษณ์นี้อีกอย่างน้อยสองครั้งในไพ่รถศึก (The Chariot) และไพ่โลก (The World) หรือไพ่จักรวาล (The Universe) 

     สัญลักษณ์สัตว์ทั้งสี่ถูกใช้มาก่อนศาสนาคริสต์จะเกิดเสียอีก ถูกใช้ในระบบจักรราศีของชาวสุเมเรียน (Sumerian) เมื่อราว 3200 ปีก่อนคริสตกาล สัญลักษณ์เหล่านี้เรียกว่าจตุรูป (Tetramorph) ซึ่งในอารยธรรมสุเมเรียนนั้น สัตว์ทั้งสี่นำเสนอช่วงเวลาของพระอาทิตย์ระหว่างจุดสำคัญสี่จุดในหนึ่งปี 

     วัวแทนช่วงเวลาระหว่างวันวสันต์วิษุวัต (Vernal Equinox/Spring Equinox) หรือวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิ กับวันครีษมายัน (Summer Solstice) วันที่กลางวันยาวที่สุดในหนึ่งปี  

     สิงโตแทนช่วงเวลาระหว่างวันครีษมายันกับวันศารทวิษุวัต (Autumn Equinox) วันที่เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ร่วง 

     นกอินทรีแทนช่วงเวลาระหว่างวันศารทวิษุวัตกับวันเหมายัน (Winter Solstice) วันที่กลางวันสั้นที่สุดในหนึ่งปี 

     และคนแทนช่วงเวลาระหว่างวันเหมายันและวันวสันต์วิษุวัต (Vernal Equinox) วันที่เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิ

     ต่อมา สัญลักษณ์เหล่านี้ได้กลายเป็นตัวแทนราศีแรกของแต่ละช่วงตามวันที่ของจักรราศีแบบตะวันตก (Tropical system) วัวแทนพฤษภ สิงโตแทนสิงห์ นกอินทรีแทนพิจิก (แทนที่จะเป็นแมงป่อง คำอธิบายส่วนใหญ่กล่าวว่าราศีพิจิกผูกโยงกับความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงไม่ได้มีสัตว์ชนิดเดียวเป็นตัวแทนราศีพิจิก แต่สัตว์ต่างๆ ที่แปลงร่างจากต่ำสุดสู่สูงสุด (แม้ปัจจุบันจะนิยมใช้แมงป่องเพียงอย่างเดียว) บ้างก็ว่าสามชนิด บ้างก็ว่าเจ็ดชนิด มีทั้งแมงป่อง แมงมุม งู นกอินทรี นกฟีนิกซ์ กิ้งก่า หมาป่า) และคนหรือเทวทูตแทนราศีกุมภ์ 

     ภายหลังศาสนาคริสต์ได้ทำให้ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิมิตราชรถกลางฟ้าของคัมภีร์อีซีเคียล (Ezekiel) ประกาศกคนหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิล เป็นไปได้ว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะเมโสโปเตเมีย ซึ่งมีประติมากรรมสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อยู่ โดยเฉพาะสัตว์วิเศษที่มีปีกทั้งหลาย อีซีเคียลจึงเล่านิมิตว่าสิ่งมีชีวิตสี่หน้าสี่ปีกกำลังป้องกันราชรถ โดยที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นคล้ายวัว สิงห์ นกอินทรี และมนุษย์ (นี่คือที่มาของภาพเทวทูตที่มีปีกในศาสนาคริสต์ เดิมคำว่าเทวทูต หรือ Angel มาจากพระคัมภีร์ภาษากรีกคำว่า Angelos (ἄγγελος) แปลว่าผู้ส่งสาร พระคัมภีร์เล่มอื่นๆ ก่อนคัมภีร์ของอีซีเคียลนำเสนอเทวทูตเหมือนคนธรรมดา เพียงแต่นำสารของพระเจ้ามาบอกเท่านั้น) ต่อมาบิชอปกรีกชื่อ อิเรนายอุส (Irenaeus) ในศตวรรษที่ 2 นำสัตว์ทั้งสี่ตัวไปเชื่อมโยงกับนักบุญผู้เขียนพระวรสารดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แม้ปัจจุบันสัตว์ทั้งสี่จะถูกเชื่อมโยงกับนักบุญในศาสนาคริสต์เป็นหลัก แต่ที่มาของสัตว์เหล่านี้ยาวนานก่อนศาสนาคริสต์จะถือกำเนิด

     อย่างไรก็ดี โครว์ลีย์กำลังสร้างระบบใหม่ และนำเสนอว่าการนับถือศาสนาของไพ่ใบนี้คือศาสนาใหม่หรือระเบียบจักรวาลใหม่ด้วยซ้ำ หากมองว่าสัตว์แต่ละชนิดแทนราศีต่างๆ ดังที่กล่าวไป จะเห็นว่าลำดับผิดปกติ ไม่เป็นไปตามปฏิทิน หากเริ่มที่วัว (พฤษภ) ตามด้วยสิงโต (สิงห์) คน (กุมภ์) และนกอินทรี (พิจิก) จะเห็นว่าพิจิกกับกุมภ์สลับตำแหน่งกัน 

     ที่เป็นเช่นนั้นเพราะโครว์ลีย์เสนอว่า จักรวาลใหม่ในนิมิตของเขา นกอินทรีแทนราศีกุมภ์ เพราะราศีกุมภ์เป็นธาตุลม ส่วนราศีพิจิกต้องแทนด้วยคน ซึ่งไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นนางนาคี ครึ่งหญิงครึ่งงู (Woman-serpent) ภาพจินตนาการนี้สอดคล้องกับรูปปั้นด้านหน้านักบวชชาย ซึ่งเป็นเทพีถือดาบ อีกมือหนึ่งถือพระจันทร์ โครว์ลีย์กล่าวไว้ในหนังสือคู่มือไพ่ว่านี่คือภาพเทพีวีนัส (Venus) เทพีแห่งดาวศุกร์ ซึ่งเป็นดาวประจำราศีพฤษภ พระจันทร์นั้นเป็นดาวอุจจ์ (Exaltation) หรือดาวให้คุณของราศีพฤษภด้วย โครว์ลีย์กล่าวว่า เทพีถือดาบนั้นเป็นตัวแทนของยุคสมัยใหม่ที่ผู้หญิงไม่เป็นเพียงแค่เครื่องมือของผู้ชายอีกต่อไป แต่เธอมีอำนาจ มีพลังต่อสู้แข็งขัน และมีอาวุธยุทโธปกรณ์ของตัวเอง 

     นอกจากนี้ กลางสัญลักษณ์ดาวห้าแฉกในไพ่หัวหน้านักบวชชายของธอธ คือเทพโฮรุส (Horus) เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ ผู้เป็นลูกของเทพโอซิริสและเทพีไอซิสในตำนานอียิปต์ หลังเทพโอซิริส ผู้ปกครองยมโลก ถูกสังหาร เทพโฮรุสทำหน้าที่เหมืองตะวันดวงใหม่บนฟากฟ้า ภาพของเด็กเต้นระบำในดวงดาวจึงเหมือนเป็นสัญญาณของศาสนาใหม่ ยุคใหม่ของเยาวชน 

     เมื่อโครว์ลีย์ต้องการให้ศาสนาคริสต์เปิดทางให้แก่ศาสนาอื่นๆ โดยเฉพาะศาสนาใหม่ในอนาคต ไพ่หัวหน้านักบวชชายในหลายๆ ฉบับก็นำเสนอความสำคัญของบางพิธีกรรมเพื่อสืบทอดองค์ความรู้เช่นกัน เช่น ไพ่ทาโรต์ฉบับหมอสมุนไพร (Herbcrafter’s Tarot) ใช้เมล็ดคาเคา (Cacao) แทนนักบวชในศาสนาคริสต์ 

     ลาติชา กัทธรี (Latisha Guthrie) ผู้เขียนคำอธิบายประกอบไพ่กล่าวว่า คาเคาถูกใช้ในการประกอบพิธีกรรมตั้งแต่ยุคอารยธรรมมายา (Maya) และแอซเต็ก (Aztec) สามารถทำเป็นเครื่องดื่มช็อกโกแลตที่ช่วยขยายหลอดเลือดและทำให้เลือดลมสูบฉีด กัทธรีกล่าวว่า การดื่มคาเคาในพิธีกรรมช่วยเปิดใจให้รับพลังต่างๆ ได้ดีขึ้น 

     การเปรียบเทียบช็อกโกแลตในยุคก่อนอาณานิคมและยุคอาณานิคม ทำให้เกิดช็อคโกแลตสูตรใหม่ที่เป็นทั้งเครื่องดื่มและขนมหวาน เกิดการผลิตเมล็ดคาเคาในระดับอุตสาหกรรมที่แอฟริกาและการใช้แรงงานทาส การเชื่อมโยงการรักษาสุขภาพกับเครื่องดื่มคาเคาที่ใช้ประกอบพิธีกรรม จึงชวนให้คิดถึงการสืบทอดอารยธรรมโบราณหลังเป็นเอกราชจากสเปนด้วย 

     ไพ่หัวหน้านักบวชชายอาจไม่เป็นที่ถูกใจของใครหลายๆ คน เพราะลักษณะที่ดูเป็นอนุรักษนิยม จึงอาจทำให้กลัวว่าไพ่จะมีความหมายจืดชืดหรืออยู่ในขนบ ยึดติดกับสถาบันศาสนาหรือการศึกษา หรือแม้แต่เห็นว่าไพ่ใบนี้ทำให้คนสนใจแต่โลกวัตถุ ไม่ใช่ ‘แก่นแท้’ ของพระศาสนา 

     แต่ไพ่หัวหน้านักบวชชายถือเป็นไพ่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับผู้สนใจศึกษาไสยเวท หรือศาสตร์อื่นๆ ก็ตาม เพราะนี่คือไพ่ของครูหรือสะพานที่จะพาเราไปหาองค์ความรู้หรือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ (หรือทั้งสองอย่าง) ซึ่งสะพานนั้นอาจเป็นได้ทั้งนักบวช สถานที่ทางศาสนา หนังสือ หรือภาพยนตร์ก็ได้ อีกทั้งสะพานเหล่านี้อาจทำให้ศรัทธาและปัญญาแจ่มชัดขึ้น และอาจทำให้ผู้เข้าร่วมได้ผ่อนคลายจิตใจด้วย 

     ขณะเดียวกัน การทำพิธีเพื่อขอพรเรื่องวัตถุเงินทอง ขอแฟน ขอเลขเด็ด สำหรับดิฉันก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระ สนใจแต่เปลือก หรืองมงาย ดิฉันคิดว่าทุกคนมีระบบความเชื่อของตัวเอง มีความสัมพันธ์กับศาสนาและพิธีกรรมในแบบของตนเอง และมีสิทธิใช้เงินของตัวเองสนับสนุนสิ่งที่เราเชื่อได้ ตราบเท่าที่เราไม่เบียดเบียนตัวเอง และไม่บังคับให้คนอื่นบูชาตามแบบของเรา 

     ในสังคมอันบิดเบี้ยว พิธีกรรมอาจเป็นที่มาของการสถาปนาตัวเองให้เหนือกว่าผู้อื่น ไม่ว่าจะในทางศีลธรรมหรือทางการเมือง ทำให้พิธีกรรมกลายเป็นพื้นที่เร้นลับของผู้รู้ไม่กี่คน 

     อย่างไรก็ดี หากกลับไปดูชื่อที่นิยมตั้งให้แก่ไพ่ใบนี้ นั่นคือ The Hierophant หรือผู้เปิดเผยความศักดิ์สิทธิ์ เราอาจคิดขึ้นได้ว่า พิธีเร้นลับ ศาสตร์แห่งศาสนา หรือองค์ความรู้ใดๆ ควรได้รับการเปิดเผยและสร้างสะพานให้คนเข้าถึงได้มากๆ และได้โอกาสศึกษาในแบบของตัวเอง