Thu 30 Sep 2021

CURRENTLY READING

ร้านหนังสือหลอนของคุณมัฟฟิน โดย Christopher Morley

ภาพ: NJORVKS

ร้านหนังสือหลอนของคุณมิฟฟลิน (The Haunted Bookshop)
Christopher Morley เขียน
ไอริสา ชั้นศิริ แปล

สำนักพิมพ์ Bookmoby Press

     เรื่องราวภาคต่อ (ที่อ่านแยกกันได้) จาก รถหนังสือเร่ของคนพเนจร เรื่องราวในหนังสือเล่มที่แล้วเล่าถึงการเดินทางสุดวิเศษของ เฮเลน แม็คกิลล์ น้องสาวของนักเขียนดังที่เก็บตัวอยู่กับบ้าน จนวันหนึ่งตัดสินใจซื้อต่อกิจการเกวียนรถเร่ขายหนังสือพร้อมคนขับจาก โรเจอร์ มิฟฟลิน เจ้าของเดิม เพียงเพราะอยากออกจากบ้านไปเปิดหูเปิดตา 

     เพราะเป็นหนังสือในดวงใจที่รักมาก ผู้เขียนขอพื้นที่ขายหนังสือเล่มที่ผ่านมาสักนิด ภายใต้เรื่องราวอันก่อเกิดมิตรภาพและความหฤหรรษ์จากการผจญภัยของหญิงสาววัย 40 เฟิร์สไทม์ ฉายบรรยากาศการค้าการขายในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ยุคสมัยที่หนังสือเดินทางไปเคาะประตูตามบ้าน เพื่อมอบความบันเทิงและเปิดโลกให้ผู้คน กิจการรถเร่ของเฮเลนเป็นเสมือนเกวียนที่นำพาวรรณกรรมไปสู่ชนบทอย่างแท้จริง เพราะแทนที่จะขายหนังสือรวมคำสอนของศาสนาแก่ครอบครัวเกษตรในที่ห่างไกลอย่างรถเร่ทั่วไป ร้านหนังสือรถเร่คันนี้เลือกจะขายตำราอาหารให้คุณแม่ วรรณกรรมเยาวชนสำหรับคุณลูก แม้ผู้อ่านอย่างเราจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อหนังสือเหล่านั้นเป็นครั้งแรก แต่ก็อินตามไปด้วยเพราะลีลาการขายที่แพรวพราวหาตัวจับยาก

     กลับมาที่ ร้านหนังสือหลอนของคุณมิฟฟลิน หลังจากไปร่วมผจญภัยกันมา คุณเฮเลนและคุณโรเจอร์ (นายและนางมิฟฟลิน) ก็ลงหลักปักฐาน เปิดร้านหนังสือมือสองขนาดกะทัดรัดในบรู๊กลิน ทำตัวเป็นร้านลับที่เปิดประตูต้อนรับนักอ่านถึงค่ำมืดดึกดื่น 

     เรื่องราวมันเริ่มขึ้น เมื่อ ออบรีย์ กิลเบิร์ต นักโฆษณาหนุ่มคนหนึ่งต้องการขายบริการคิดแผนการตลาดและโฆษณาให้คุณมิฟฟลิน ผู้เชื่อเหลือเกินว่า หนังสือดีไม่ตีก็ดัง แค่บทแรกที่แอบฟังคนสองรุ่นหยิบเหตุผลมาถกเถียงกันว่า ร้านหนังสือควรหรือไม่ควรทำโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ก็สนุกแล้ว

     “…รู้ไหมครับว่าทำไมตอนนี้คนถึงอ่านหนังสือมากกว่าแต่ก่อน เพราะหายนะสุดสยองจากสงครามทำให้พวกเขารู้ว่าจิตใจของตัวเองกำลังป่วย โลกกกำลังทุกข์ทรมานจากอาการไข้ อาการปวด และความผิดปกติทางจิตใจทุกรูปแบบแต่ไม่เคยจะรับรู้ ตอนนี้ความเจ็บปวดทางใจของพวกเรากำลังสำแดงเด่นชัดเหลือเกิน เราทุกคนล้วนกำลังอ่านหนังสืออย่างหิวโหย เร่งร้อนและพยายามค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิตใจของเราหลังจากที่เหตุการณ์ความไม่สงบยุติลง…” — ท่อนหนึ่งของคนขายหนังสือ ผู้มีความเห็นว่าการโฆษณาไม่มีประโยชน์ต่อธุรกิจของเขา

     จากเดิมที่คิดว่าจะได้อ่านเรื่องราวเหนือธรรมชาติในร้านหนังสือหลังเที่ยงคืน เกินครึ่งเป็นการบรรยาบรรยากาศธุรกิจร้านหนังสือ ซึ่งในบทที่สองเราจะได้เจอสมาคมฝักข้าวโพด การประชุมลับของคนขายหนังสือที่มาอัพเดต ข่าวสารวงการหนังสือกัน ที่สนุกคือการถกเถียงที่ไม่มีข้อสรุป เช่น หนังสือขายดีเป็นหนังสือที่ดีได้ไหม ก็แล้วหนังสือที่ดีไม่เท่ากับหนังสือขายดี ไปจนเรื่องน่าสงสัยว่าทำไมหนังสือธรรมดาๆ เล่มหนึ่งก็เป็นที่ต้องการของตลาด แถมหายไปจากร้านหลายร้านพร้อมกันอย่างไร้ร่องรอย เป็นต้น

     เรื่องคงจบลงแค่นี้ ถ้าไม่มีตัวละครสาวสวยอย่าง ทิทาเนีย แชปเมน ลูกสาวของมหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์ลูกพรุน ที่พ่อฝากมาฝึกงานในร้านหนังสือ จนหัวใจของหนุ่มนักโฆษณาเต้นไม่เป็นจังหวะ ก่อนที่ทั้งหมดจะพัวพันกับเหตุการณ์ระดับชาติ ซึ่งจะเป็นเรื่องอะไรนั้น อยากให้ทุกคนได้อ่านด้วยตัวเอง

     และเช่นเคย แม้ ร้านหนังสือหลอนของคุณมิฟฟลิน จะเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยชื่อหนังสือและชื่อนักเขียนดังๆ แต่ผู้อ่านอย่างเราก็พอจะตามทัน เพราะเขาบรรยายเรื่องย่อและความดีงามของหนังสือเล่มนั้นๆ ประกอบอยู่เสมอ สมเป็นคนขายหนังสือระดับเพชรยอดมงกุฎ ซึ่งยิ่งทำให้เราอยากอ่านเข้าไปอีก แถมครั้งนี้ คุณคริสโตเฟอร์ มอร์ลีย์ แกก็ฟิตจัด มีชื่อหนังสือใหม่ๆ ปรากฎโดยเฉลี่ย 5 ชื่อต่อ 1 หน้า นี่เรื่องสั้นหรือห้องสมุด ถามก่อน

     เมื่ออ่านจบก็พบว่า ความหลอนของร้านหนังสือไม่ได้มาเพราะวิญญาณที่เวียนวนอยู่กับหนังสือมือสอง แต่เป็นจิตวิญญาณของทุกตัวละคร ที่เล่นใหญ่จนเหมือนหน้ากระดาษพูดได้ ยิ่งถ้าใครทำงานในวงการนี้ จะรู้สึกว่ามีลมแรงๆ อัดใส่หน้าเป็นระยะๆ (นอกจากหลอน ยังรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ด้วย)

     ป.. ถ้าคุณมิฟฟลินอยู่ทันสมัยนี้ ก็อยากจะจ้างแกมาไลฟ์สดขายหนังสือแซลมอนเหมือนกัน น่าจะเทน้ำเทท่าอยู่