Fri 09 Dec 2022

TIM BURTON’S WATCHLIST

รวมผลงานกำกับของ ‘ทิม เบอร์ตัน’ ที่ดัดแปลงจากหนังสือ

ภาพ: NJORVKS

     เชื่อว่าไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทุกคนต้องโดนเด็กหญิงปากแจ๋วอย่างเวนส์เดย์ น้องอีนิดผู้น่ารัก ธิงคู่หูมือเดินได้สุดเท่ ยูจีนมิตรสหายแห่งสมาคมผึ้ง ไทเลอร์หนุ่มบาริสต้า และอีกหลายตัวละครไม่ใครก็ใครจากซีรีส์ Wednesday ตกโดยพร้อมเพรียงกันแน่ๆ 

     ซึ่งอำนวยการสร้างและร่วมกำกับอีกสี่ตอนโดยตัวตึงแห่งวงการดาร์กแฟนตาซีโกธิค ‘ทิม เบอร์ตัน’ (Tim Burton) ผู้นี้นี่เอง แต่นอกจากเรื่องนี้ที่ทำให้หลายคนติดใจแล้ว ชายผู้เนรมิตเรื่องราวในโลกจินตนาการอันเป็นเอกลักษณ์ยังฝากฝังตัวละครและความประทับใจไว้ในภาพยนตร์อีกเพียบเลย

     และไหนๆ เรื่องของเด็กหญิงวันพุธดันต่อยอดมาจากการ์ตูน The Addams Family ของ ‘ชาร์ล แอดดัมส์’ (Chales Addams) พอดี เราเลยขอรวบลิสต์ภาพยนตร์ของเบอร์ตันที่ดัดแปลงจากหนังสือมาให้ทุกคนได้ไปรับชม หรือตามไปอ่านหนังสือต่อยาวๆ กัน 

Batman

Batman (1989)
จากการ์ตูน Batman
โดย Bob Kane และ Bill Finger

     Batman ดัดแปลงมาจากการ์ตูนชื่อเดียวกันของค่าย DC Comics ผลงานของบ็อบ เคน และบิล ฟิงเกอร์ โดยอัศวินรัตติกาลปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือการ์ตูน Detective Comics เมื่อปี 1939 ก่อนจะได้รับความนิยมจากเหล่าแฟนๆ จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือฉบับทิม เบอร์ตัน ซึ่งสร้างออกมาทั้งหมดสองภาค

     ภาคแรกสร้างในปี 1989 เล่าเรื่องของ ‘บรูซ เวย์น’ (รับบทโดย ไมเคิล คีตัน) ชายหนุ่มผู้มีชีวิตสองด้าน ในเวลากลางวันเขาคือมหาเศรษฐีแห่งเมืองก็อตแธม และเมื่อตะวันลับฟ้า (เมื่อตอนเย็นๆ จะเป็นเวลาที่ใจหาย…) เขาจะสวมผ้าคลุมและหน้ากากสีดำแปลงร่างเป็น ‘แบทแมน’ ออกไปปราบเหล่าอาชญากร ในภาคนี้เบอร์ตันหยิบเอาคู่ปรับตลอดกาลอย่าง ‘โจ๊กเกอร์’ (รับบทโดย แจ็ค นิโคลสัน) มาสร้างความวายป่วงในเมืองก็อตแธม

     ต่อมาในปี 1992 เบอร์ตันสานต่อเรื่องราวด้วย Batman Returns ที่มาพร้อมกับ ‘มนุษย์เพนกวิน’ (รับบทโดย แดนนี่ เดอวีโต้) และ ‘แคทวูแมน’ (รับบทโดย มิเชลล์ ไฟฟ์เฟอร์) สองวายร้ายผู้วางแผนจะยึดครองเมืองในช่วงเทศกาลคริสต์มาส จนแบทแมนทนอยู่เฉยไม่ได้ จำเป็นต้องออกโรงทวงคืนความสุขให้ชาวเมือง

.     เรื่องราวของมนุษย์ค้างคาวที่ตีความโดยเบอร์ตันมีความแตกต่างจากเวอร์ชั่นอื่นๆ โดยเฉพาะการนำเสนอความแฟนตาซีที่เหมือนหลุดออกมาจากการ์ตูน การสร้างเมืองก็อตแธมที่ปกคลุมไปด้วยตึกระฟ้า ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความขมุกขมัว การใส่ความโกธิกและมืดหม่นให้ตัวละคร จนทำให้ Batman ทั้งสองภาคได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก โดยเฉพาะภาคสองที่หลายคนยกให้เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของเบอร์ตันเลยทีเดียว

Ed Wood

Ed Wood (1994)
จากหนังสือ Nightmare of Ecstasy: The Life and Art of Edward D. Wood, Jr.
โดย Rudolph Grey

     จะเป็นอย่างไรถ้าคุณเป็นผู้กำกับที่คนทั้งโลกลงขันว่าห่วยที่สุดในศตวรรษ

     ‘เอ็ดเวิร์ด ดี. วู้ด จูเนียร์’ คือผู้กำกับคนนั้น เขาคือเจ้าของผลงานหนังกว่า 80 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Glen or Glenda, Bride of the Monster และ Plan 9 From Outer Space สารพัดหนังทุนต่ำ เต็มไปด้วยนักแสดงสมัครเล่น และเอฟเฟกต์กระจอกๆ แน่นอนว่าในยุคนั้นหนังของเขาไม่ค่อยได้รับคำชมเท่าไหร่ ทว่าหลังจากวู้ดเสียชีวิต ก็มีแฟนหนังยุคหลังมาค้นพบและติดใจความคัลต์ของหนัง จนมีการเขียนชีวประวัติ Nightmare of Ecstasy: The Life and Art of Edward D. Wood, Jr. โดยรูดอล์ฟ เกรย์ ในปี 1992

     ทิม เบอร์ตัน หยิบเอาช่วงชีวิตหนึ่งของวู้ดจากหนังสือดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Ed Wood เล่าเรื่องของเอ็ด วู้ด (รับบทโดย จอห์นนี่ เดปป์) ชายหนุ่มผู้คลั่งไคล้การทำหนังสยองขวัญและหนังลึกลับต่างดาว ในตอนที่เขาได้พบกับ ‘เบล่า ลูโกซี’ (รับบทโดย มาร์ติน แลนเดา) อดีตดาราผู้รับบทแดร็กคู่ล่าที่กำลังตกอับ ทั้งสองคนตัดสินใจกระโดดลงเรือลำเดียวกัน คนหนึ่งกำกับ คนหนึ่งเล่น ก่อนจะเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ยืนยาวไปจนถึงวาระสุดท้ายของวู้ด

     เบอร์ตันทำ Ed Wood ออกมาในรูปแบบขาวดำ และกำกับแบบเน้นการแสดงโอเวอร์แอ็กติ้ง ซึ่งเคยได้รับความนิยมในช่วงปี 40s-50s ว่ากันว่าเบอร์ตันทำหนังเรื่องนี้เพื่อสดุดีหนังเก่าๆ ที่เคยเป็นแรงบันดาลใจให้เขาในวัยเยาว์ แม้ภาพยนตร์จะล้มเหลวด้านรายได้ แต่กลับคว้ารางวัลออสการ์กลับบ้านไปได้ถึงสองตัว

Sleepy Hollow

Sleepy Hollow (1999)
จากหนังสือ The Legend of Sleepy Hollow 
โดย Washington Irving

     Sleepy Hollow คือหนึ่งในภาพยนตร์สยองขวัญคลาสสิก ว่าด้วยเรื่องของ ‘อิชาบ็อด เครน’ (รับบทโดย จอห์นนี่ เดปป์) ตำรวจหนุ่มไฟแรงผู้ได้รับมอบหมายให้ไปสืบคดีการฆาตกรรมที่เมืองสลีปปี้ ฮอลโลว์ โดยชาวเมืองเชื่อว่าเป็นฝีมือของผีหัวขาดขี่ม้า เพราะเหยื่อเคราะห์ร้ายทั้งชายหญิงต่างถูกตัดหัวด้วยกันทั้งสิ้น

     หนังเรื่องนี้ดัดแปลงจาก The Legend of Sleepy Hollow โดยวอชิงตัน เออร์วิง นักเขียนชาวอเมริกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ The Sketchbook of Geoffrey Crayon, Gent ในปี 1820 ถือเป็นผลงานยุคบุกเบิกอาณานิคม และเป็นต้นฉบับงานเขียนแนวเหนือธรรมชาติและสยองขวัญของชาวอเมริกันในเวลาต่อมา

     The Legend of Sleepy Hollow ถูกดัดแปลงเป็นหลายเวอร์ชั่น ทั้งทีวีซีรีส์ ภาพยนตร์ และแอนิเมชั่น (เช่น The Smurfs: The Legend of Smurfy Hollow…ใช่จ้ะ เจ้าสเมิร์ฟตัวสีฟ้านั่นแหละ)  

Charlie and the Chocolate Factory

Charlie and the Chocolate Factory (2005)
จากหนังสือ Charlie and the Chocolate Factory
โดย Roald Dahl

     ฉันไม่ได้อยากเป็นคนเก่ง ฉันอยากเป็นคนโชคดีที่ได้ตั๋วทองไปโรงงานช็อกโกแลต!

     เรื่องที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกแบบนี้จะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ Charlie and the Chocolate Factory เรื่องราวของเด็กหนุ่มนิสัยดี ‘ชาร์ลี’ (รับบทโดย เฟร็ดดี้ ไฮมอร์) จากครอบครัวยากจนที่บังเอิญเป็นผู้โชคดีได้ตั๋วทองเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานช็อกโกแลตของชายที่รักขนมหวาน ‘วิลลี วองก้า’ (รับบทโดย จอห์นนี่ เดปป์) ร่วมกับเด็กๆ อีกสี่คน ผลงานที่ทำให้เราหลายคนได้รู้จักชายผู้ชื่อทิม เบอร์ตัน นั่นเอง 

     ชีวิตของเด็กหนุ่มกับโรงงานช็อกโกแลตนี้นำมาจากหนังสือในชื่อเดียวกันของโรอัลด์ ดาห์ล นักเขียนชาวอังกฤษผู้โด่งดัง ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1964 ซึ่งมีที่มาจากสมัยตอนอยู่โรงเรียนประจำ ดาห์ลและเพื่อนๆ ต้องชิมตัวอย่างช็อกโกแลตจากบริษัท Cadbury อยู่บ่อยๆ และเมื่อโตขึ้น เขาก็ได้รู้จักกับบุรุษไปรษณีย์ที่ชื่อ ‘วิลลี วองก้า’ ดาห์ลจึงนำความทรงจำทั้งสองอย่างมาสร้างเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ชาร์ลี’ โดยหนังสือได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่เยาวชนควรอ่านในต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยซึ่งมีฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street

Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street (2007)
จากหนังสือ The String of Pearls: A Domestic Romance
โดย เจมส์ มัลคอล์ม ไรเมอร์ (James Malcolm Rymer)
และ โทมัส เพ็กเกตต์ เพรสต์ (Thomas Peckett Prest)

     ขอเชิญพบกับช่างตัดผมฝีมือดีที่นอกจากจะใช้ใบมีดโกนหนวดแล้ว ยังใช้ปาดคอคุณลูกค้าได้ด้วย เขาคือ ‘สวีนีย์ ทอดด์’ (รับบทโดย จอห์นนี่ เดปป์…อีกละ) ชายหนุ่มผู้พกความแค้นมาเต็มกระเป๋า เขาตั้งมั่นจะสังหารคนที่พรากเขาจากลูกเมียตัวเองเมื่อ 15 ปีก่อน ระหว่างรอให้เหยื่อมาขึ้นเขียง ทอดด์ก็ไล่สังหารลูกค้าผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไปเรื่อยๆ เขาร่วมมือกับ ‘เนลลี เลิฟเวตต์’ (รับบทโดย เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) ดัดแปลงเก้าอี้ร้านทำผมให้มีกลไกพิเศษ เมื่อฆ่าลูกค้าเสร็จก็จะส่งศพไปทำพายเนื้อบดขายต่อซะเลย

     สวีนีย์ ทอดด์ เป็นตัวละครที่ปรากฏตัวครั้งแรกใน The String of Pearls: A Domestic Romance ซึ่งตีพิมพ์ใน Penny Dreadfuls นิตยสารนิยายรายสัปดาห์ราคาถูกที่เล่าเรื่องอาชญากรรมหรือความรุนแรง ได้รับความนิยมในช่วงยุควิคตอเรียนตอนกลางถึงปลาย 

     เรื่องของช่างตัดผมสุดโหดเหี้ยมคนนี้ถูกดัดแปลงเป็นละครบรอดเวย์ในปี 1979 และเปิดการแสดงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่ใส่ความเป็นละครเพลงมาเล่าเรื่องการล้างแค้นสุดหวาดเสียวต้นคอโดยทิม เบอร์ตัน ในปี 2007 

Alice in Wonderland

Alice in Wonderland (2010) 
จากหนังสือ Alice’s Adventures in Wonderland
โดย ลูอิส แคร์รอล (Lewis Carroll)

     เมื่อ ‘อลิซ’ (รับบทโดย มีอา วาซิคอฟสกา) หญิงสาวอายุ 19 ปีผู้เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดออกนอกกรอบสังคม กำลังจะถูกจับแต่งงานกับชายหนุ่มบ้านรวยทั้งที่เธอไม่ได้รัก ในงานหมั้นเธอเห็นกระต่ายสวมเสื้อกั๊กถือนาฬิกาพกวิ่งอยู่ที่สวน เธอจึงตามไปจนพลัดหลงเข้าไปในโพรงกระต่าย ซึ่งก็นำอลิซไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์วันเดอร์แลนด์ ที่นอกจากจะมีสัตว์พูดได้เต็มไปหมดแล้วยังมีภารกิจอันยิ่งใหญ่ให้เธอได้กอบกู้อาณาจักรแห่งนี้ด้วย  

     เรื่องราวการผจญภัยของอลิซดัดแปลงมาจากนวนิยายสุดคลาสสิกของลูอิส แคร์รอล นักเขียนและนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1856 (166 ปีแล้วแม่!) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ถูกแปลไปมากกว่า 170 ภาษา รวมถึงนำไปสร้างทั้งละครเวที ละครโทรทัศน์ วิดีโอเกม และแอนิเมชั่นโดยดิสนีย์ในปี 1951 นอกจากนี้ยังมีหนังสือภาคต่อในชื่อ ‘Through the Looking-Glass and What Alice Found There’ สำหรับเวอร์ชั่นภาษาไทยถูกนำไปแปลในหลายสำนักพิมพ์ หนึ่งในนั้นคือสำนักพิมพ์แอร์โรว์ ในชื่อ ‘อลิซในแดนมหัศจรรย์และกระจกทะลุมิติ’ 

     ภาพยนตร์ฉบับของทิม เบอร์ตัน เรียกว่าจัดเต็มสุด แถมขนนักแสดงคู่บุญทั้งจอนห์นี่ เดปป์ และเฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ มาร่วมงาน ผนึกกำลังแก๊งนักแสดงมากความสามารถอย่างอลัน ริกแมน และแอนน์ แฮทธาเวย์ อีก ก็คือตัวท็อปไม่ไหว สมแล้วที่ประสบความสำเร็จมากๆ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ละครเวที แถมด้วยความจัดเต็มทั้งเสื้อผ้า หน้าผม เทคนิคตื่นตาตื่นใจก็ทำให้คว้ารางวัลออสการ์ สาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม อ้อ เกือบเป็นตัวตึงทำรายได้มากที่สุดของดิสนีย์ในปี 2010 ด้วยนะ แต่พ่ายแพ้ให้กับชาวของเล่น ‘Toy Story 3’ ไปหนึ่งอันดับ

     ภายหลังทิม เบอร์ตัน ก็ไปรับบทโปรดิวเซอร์ร่วมในการดัดแปลงภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชั่นภาคต่อ Alice Through the Looking-Glass ในปี 2016 ด้วย

Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children

Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children (2016)
จากหนังสือ Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children
โดย Ransom Riggs

     เรื่องราวของ ‘เจค’ (รับบทโดย เอซา บัตเตอร์ฟิลด์) เด็กหนุ่มที่ไม่มีเพื่อน และมักรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน ผู้เติบโตมากับเรื่องเล่าแสนประหลาดของปู่เกี่ยวกับบ้านเพริกริน ศูนย์รวมเด็กมีพลังพิเศษที่ใครได้ฟังก็มักไม่ปักใจเชื่อเท่าไหร่ ทว่าหลังปู่ที่เขารักจากไปอย่างปริศนา เจคก็ออกเดินทางไปค้นหาอดีตของปู่ และดูว่าบ้านเพริกรินมีอยู่จริงหรือไม่ แน่นอนว่าเจคได้พบบ้านหลังนั้น ซึ่งมี ‘มิสเพริกริน’ (รับบทโดย เอวา กรีน) คอยใช้พลังวิเศษสร้างลูปเวลาเพื่อปกป้องเด็กๆ จากสิ่งชั่วร้าย เขาได้รู้จักเหล่าเด็กพิเศษที่ทั้งควบคุมอากาศได้ ปล่อยไฟจากมือได้ ล่องหนก็ได้ ก่อนการค่อยๆ ค้นหาความจริงนี้จะนำพาเขาไปสู่การผจญภัย และรับมือกับอันตรายที่ซ่อนอยู่

     ภาพยนตร์ผจญภัยสุดแฟนตาซีนี้ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมในชื่อเดียวกันของแรนซัม ริกส์ นักเขียนชาวอเมริกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2011 ติดอันดับขายดีจาก The New York Times แถมริกส์ยังมีหนังสือว่าด้วยเด็กพิเศษต่ออีกถึง 5 เล่ม ฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนมีด้วยกันสามเล่ม ได้แก่ เมืองหลอน เด็กประหลาด, บ้านหลอน เด็กประหลาด และ ห้องสมุดหลอน เด็กประหลาด

Dumbo

Dumbo (2019)
จากหนังสือ Dumbo 
โดย Helen Aberson

     ถ้าไทยมีแอนิเมชั่นช้างมากความสามารถอย่าง ก้านกล้วย ทิม เบอร์ตัน ก็มีน้อง ดัมโบ้ ช้างน้อยมหัศจรรย์ เข้าชิงชัย 

     หายหน้าหายตาหลังกำกับเรื่อง Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children ไปถึงสามปีเต็ม ชายผู้เสกโลกจินตนาการให้มีชีวิตคนนี้ก็กลับมาพร้อมหยิบแอนิเมชั่นปี 1941 อย่าง Dumbo ของค่ายวอลต์ ดิสนีย์ มาปัดฝุ่นทำเป็นภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชั่น เนรมิตเรื่องราวของเจ้าของคณะละครสัตว์ ‘แม็กซ์’ (รับบทโดน แดนนี่ เดอวีโต้) ที่ส่งมอบภารกิจอันยิ่งใหญ่และใหญ่ยิ่งให้กับลูกๆ ของเขาทั้งสอง กับอดีตนักแสดงมาดูแล ‘ดัมโบ้’ ช้างเกิดใหม่ที่มีใบหูใหญ่เกินปกติ ด้วยความที่ดัมโบ้บินได้ ก็สร้างความฮืออา ช่วยให้สถานการณ์ของคณะละครกลับมานิยมอีกครั้ง จนไปเตะตานักธุรกิจเจ้าของ ‘ดรีมแลนด์’ สถานสร้างความบันเทิงแปลกใหม่ นำพาให้ดัมโบ้ทะยานสู่ความสำเร็จ และได้พบเบื้องหลังอันดำมืดของดรีมแลนด์แห่งนี้

     จริงๆ ต้นเรื่องดัมโบ้มาจากหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กของเฮเลน เอเบอร์สัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1938 เล่าเรื่องช้างที่เกิดในคณะละครสัตว์ และมีหูใหญ่ผิดปกติ ถูกพรากจากแม่ ไม่ได้รับการต้อนรับจากฝูง ถูกกลั่นแกล้งเสมอๆ โดยมีหนูเป็นเพื่อนปลอบใจข้างกาย ซึ่งเวอร์ชั่นปี 1941 ถือเป็นแอนิเมชั่นทุนต่ำของดิสนีย์ที่ขณะนั้นประสบปัญหาด้านการเงิน มีความยาวสั้นที่สุดเพียง 64 นาที อีกทั้งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการเหยียดสีผิวด้วย ถึงอย่างนั้น เวอร์ชั่นนี้ก็ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 

     อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกนำไปดัดแปลงเวอร์ชั่นคนจริงๆ มีการปรับนู่น เปลี่ยนนี่ไปพอสมควร ไม่ว่าจะการลดบทบาทของหนูเพื่อนดัมโบ้ หรือการปรับบทพูดที่เหยียดสีผิดจากเวอร์ชั่นก่อน แม้จะทำรายได้ไม่ถึงเป้าที่ควรเป็น แต่ก็ยังทำเงินสูงเป็นอันดับต้นๆ จากผลงานทั้งหมดของเบอร์ตันอยู่ดี

Wednesday

Wednesday (2022)
จากการ์ตูน The Addams Family
โดย Chales Addams

     Wednesday เล่าเรื่องของ ‘เวนส์เดย์ แอดดัมส์’ (รับบทโดย เจนน่า ออร์เทก้า) เด็กสาวสุดมืดมนผู้หมกหมุ่นกับความตาย เธอถูกย้ายมาที่โรงเรียนเนเวอร์มอร์ สถานที่สำหรับเด็กพิเศษทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หมาป่า แวมไพร์ ไซเรน ฯลฯ ที่โรงเรียนแห่งนี้นอกจากการปรับตัวกับเพื่อนใหม่ เวนส์เดย์ยังต้องเข้าไปพัวพันกับปริศนาและคดีฆาตกรรมอีกด้วย

     Wednesday เป็นการต่อยอดเนื้อหาจาก The Addams Family ผลงานการ์ตูนตลกร้ายของชาร์ล แอดดัมส์ ที่วาดลงในนิตยสาร The New Yorker ตั้งแต่ปี 1938 โดยนามสกุลแอดดัมส์ของเหล่าตัวละครมาจากนามสกุลจริงๆ ของผู้วาดด้วย

     The Addams Family ว่าด้วยครอบครัวสุดประหลาดซึ่งประกอบไปด้วย ‘โกเมซ’ (พ่อ), ‘มอร์ติเซีย’ (แม่), ‘เวนส์เดย์’ (ลูกสาวคนโต), ‘พักส์ลีย์’ (ลูกชายคนเล็ก), ‘เฟสเตอร์’ (ลุง), เลิร์ช (คนขับรถ) และ ‘ธิง’ (มือ) แม้จะเป็นครอบครัวที่ดูไม่น่าคบหา แต่จริงๆ แล้วพวกเขาแค่มีความคิดและความเชื่อเป็นของตัวเอง 

     The Addams Family ถูกดัดแปลงเป็นหลายเวอร์ชั่น ทั้งแอนิเมชั่น ภาพยนตร์ ละครเวที และล่าสุดคือซีรีส์ Wednesday ที่ทิม เบอร์ตัน เป็นทั้งหนึ่งในผู้อำนวยการสร้าง และร่วมกำกับบางตอน ซึ่งมีการโฟกัสไปที่ลูกสาวคนโต ใส่ความโมเดิร์นผสมผสานความแฟนตาซีลงไป แต่ยังคงเอกลักษณ์ความโกธิคไว้ในผลงาน สามารถรับชมเรื่องราวของน้องวันพุธได้ที่ Netflix