Thu 13 Oct 2022

TOM YUM KUNG CRISIS

วิกฤตการเงินไทยที่พลิกชีวิตคนในชั่วคืน

ภาพ: NJORVKS

     หากใครติดตามหรืออยู่ในวงการซีรีส์วาย คงจะพอรู้กันดีว่า ปี 2022 ถือเป็นปีที่วงการคึกคัก มีซีรีส์ทั้งที่ออกฉายทางช่องโทรทัศน์และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50 เรื่อง 

     แต่หากจะพูดถึงเรื่องที่มีกระแสตอบรับสูงมากๆ ดูจากยอดการทวีตและพูดถึงในโซเชียลมีเดียที่สูงเกินกว่า 1 ล้านครั้งต่ออีพี คงจะเห็นอยู่หลักๆ สามเรื่องที่โดดเด่นชัดเจน คือ KinnPorsche The Series รักโคตรร้าย สุดท้ายโคตรรัก, Cutie Pie Series นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ และ Bad Buddy Series แค่เพื่อนครับเพื่อน

     แค่เพื่อนครับเพื่อน เป็นซีรีส์วายที่อำนวยการผลิตโดย GMMTV ผ่านการกำกับของ นพณัช ชัยวิมล และมีนักแสดงนำอย่าง โอม—ภวัต จิตต์สว่างดี และ นนน—กรภัทร์ เกิดพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นซีรีส์เรื่องแรกที่สองนักแสดงนำได้วนมาเจอกันในฐานะนักแสดงซีรีส์วาย ก่อนจะกลายเป็นคู่ไอดอล #โอมนนน อย่างเต็มตัว

     เรื่องราวของ แค่เพื่อนครับเพื่อน พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ภัทร’ กับ ‘ปราณ’ เด็กชายสองคนซึ่งเกิดมาในสังคมที่ถูกบังคับให้เป็นศัตรูกันมาตั้งแต่เกิดจนโต เริ่มจากการที่พ่อแม่เกลียดขี้หน้ากันอย่างเข้าไส้ อยู่โรงเรียนก็ไม่ถูกกัน พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้มาอยู่ในสองคณะที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันอีก ซีรีส์ทั้งเรื่องจึงพาไปพบกับความรักที่เกิดขึ้นในความขัดแย้ง และความพยายามที่จะรับมือกับความแตกหักเหล่านั้น

     ปมปัญหาใหญ่ที่สุดของเรื่องคงหนีไม่พ้นรอยแผลบาดหมางระหว่างพ่อภัทรและแม่ปราณที่ปล่อยให้คนสงสัยมาตั้งแต่ต้นจนเกือบจะจบเรื่อง เมื่อเป็นคู่ตรงข้ามชาย-หญิง คนดูจำนวนหนึ่งก็จินตนาการว่าอาจเกี่ยวข้องกับความรัก แต่เมื่อปมของเรื่องราวเฉลยขึ้นมาจริงๆ กลับกลายเป็นว่าพ่อภัทรเป็นคนไปแย่งทุนการศึกษามาจากแม่ปราณ จนทำให้แม่ปราณไม่ได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย สุดท้ายต้องออกมาทำหน้าที่แม่และเมีย

     หลายคนอาจสงสัยว่าการไม่ได้ทุนเรียนต่อมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้นเลยเหรอ ทำไมไม่กู้ยืมไปก่อน หรือไม่ก็ทำงานส่งตัวเองเรียน หากซีรีส์ก็ได้อธิบายประเด็นเล็กๆ ที่แสนยิ่งใหญ่นี้ ผ่านประกาศนียบัตรผู้เข้าร่วมประกวดนางนพมาศ 

     ในกระดาษแผ่นนั้นลงปี พ.ศ. 2537 ไว้ และนั่นคือคำอธิบายของเรื่องนี้

     เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท คำสั่งดังกล่าวเหมือนการกระชากพรมขึ้น และทำให้คนทั้งโลกรู้ว่าประเทศไทยซุกปัญหาด้านเศรษฐกิจใดไว้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้พยุงค่าเงินบาท จนประเทศไทยกลายเป็นผู้บาดเจ็บหนักทางเศรษฐกิจในเวลาไม่กี่ปี

     เมื่อ พ.ศ. 2531 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น ประกาศนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ซึ่งเป็นเหมือนการเริ่มต้นยุคสมัยของความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจไทย เพราะในห้วงเวลานั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแต่ปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องสงครามการเมือง ทำให้ไม่มีประเทศไหนมีสถานการณ์สงบเชื้อเชิญให้น่าลงทุนเท่ากับประเทศไทยอีกแล้ว

     เศรษฐกิจโลกกำลังเติบโต และบริษัทกำลังมองหาประเทศค่าแรงถูกสำหรับการเข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุน ประเทศไทยจึงกลายเป็นตัวเลือกที่หลายประเทศเลือก เพราะยังมีค่าครองชีพไม่สูง ค่าแรงต่ำ แถมยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา นั่นทำให้เราได้สัญญาลดหย่อนภาษีบางอย่างจากประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย 

     เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ผู้คนร่ำรวยจากการขายที่ดิน ขายธุรกิจเก่าให้ต่างชาติไปทำมาหากินต่อ และประเทศไทยก็ได้ชื่อว่า ‘เสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย’ ภายในเวลาไม่นาน

     ในเชิงนโยบายการเงิน นักเศรษฐศาสตร์มีหลักการที่รู้จักกันดีข้อหนึ่ง คือ Impossible Trinity (สามเป็นไปไม่ได้) นั่นหมายถึง นโยบายการเงินของประเทศจะไม่สามารถเกิดสามสิ่งพร้อมกันได้ ต้องเลือกเพียงสองในสามเท่านั้น 

     สามอย่างที่ว่าได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) เงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี (Free Capital Flows) และการกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ (Independent Monetary Policy)

     แน่นอนว่าประเทศไทยในขณะนั้นฝืนกฎเกณฑ์ดังกล่าว และเลือกที่จะทำทั้งสามอย่างพร้อมกัน ทำให้ประเทศไทยต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากในการรักษาค่าเงินบาทให้เป็นไปตามที่กำหนด 

     แต่สุดท้ายก็ฝืนทฤษฎีไม่ได้ ประเทศไทยจึงต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กลายไปถึงจุดอ่อนตัวที่สุดในวันที่ 12 มกราคม 2541 คือ 56.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

     อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวส่งผลมหาศาล เพราะก่อนหน้านั้น หลายบริษัทในประเทศไทยเห็นโอกาสในการกู้เงินต่างประเทศจึงไปกู้เงินกันมาเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าผู้ปล่อยกู้จะเลือกทำสัญญาในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เมื่อลอยตัวค่าเงินบาท จำนวนหนี้ก็ลอยตัวตามค่าเงินบาทไปด้วย บริษัทที่ไปกู้หนี้ยืมสินมาจึงมีหนี้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวภายในเวลาข้ามคืน บริษัทในประเทศไทยล้มละลายเป็นแถบๆ กระทั่งนักลงทุนที่ไปยิงตัวตายหน้าตลาดหลักทรัพย์ก็มีไม่น้อย

     ห้วงเวลาดังกล่าวไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุขเลย บริษัทจำนวนมากปิดตัวลง สภาพเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูอย่างมากตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว 

     ก่อนเกิดวิกฤตตลาดหุ้นไทยเคยทำจุดสูงสุดที่ 1,789 จุด ใน พ.ศ. 2537 และทำจุดต่ำสุดที่ 204 จุด ใน พ.ศ. 2541 

     นั่นหมายความว่ามูลค่ากิจการของทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหายไปเกือบ 90% ภายในเวลาไม่ถึงห้าปี

     ผม (ผู้เขียนบทความ) เองก็เกิดทันห้วงเวลาดังกล่าว ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นประถมปลายของโรงเรียนเอกชนอันดับต้นๆ ของจังหวัด ก่อนจะถูกย้ายไปอยู่โรงเรียนรัฐบาลด้วยเหตุผลง่ายๆ จากพ่อแม่ว่า “ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมแล้ว” 

     ห้วงความรู้สึกของผมเชื่อมโยงได้ทันทีเมื่อเห็นเกียรติบัตรฉบับนั้นในมือของภัทรและปราณ แค่เห็นตัวเลข พ.ศ. ผมก็เข้าใจทุกอย่างว่าห้วงเวลานั้น ชีวิตลำบากกันขนาดไหน หลายครอบครัวไม่มีแม้แต่เงินจะกินข้าว ต้องเอาข้าวของในบ้านมาวางขาย จนกลายเป็นวัฒนธรรมตลาดนัดมือสองที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

     แค่เพื่อนครับเพื่อน จึงเป็นซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งที่เก็บเอาความทรงจำร่วมของคนไทยเอาไว้ และเมื่อเฉลยปมปัญหาออกมา หลายคนที่เกิดทันเมื่อได้เห็นปี พ.ศ. ก็เข้าใจทันที ไม่ต้องพูดจาหรืออธิบายอะไรกันมาก เพราะทุกคนต่างจำกันได้ดีว่า พวกเราผ่านเวลานั้นมาได้อย่างยากลำบากเพียงใด

     แผลเป็นไม่เคยหาย… แต่เป็นไปได้ว่าบางครั้งก็อาจถูกลืม