Thu 21 Oct 2021

TRAVEL KOREA THROUGH K-DRAMA AND MUSIC

ตามไปเที่ยวเมืองรองของเกาหลีใต้ ผ่านซีรีส์ รายการวาไรตี้ หนัง และเพลง การใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ‘ของจริง’ ที่กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

ภาพ: NJORVKS

     เหงาๆ กับโควิด-19 อยู่แต่เมืองไทยกันมานาน หากกลับไปท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ประเทศเกาหลีใต้คงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่หลายคนเลือก แต่ครั้งนี้ คงไม่ได้มีแค่เมืองหลวงของประเทศอย่างโซลที่ถูกปักหมุดไว้ เพราะใครหลายคนคงอยากไปตามรอยซีรีส์เกาหลีตามจังหวัดต่างๆ เช่น โพฮัง เมืองติดทะเล ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำของซีรีส์สุดฮิตอย่าง Hometown Cha-Cha-Cha (2021)

     Hometown Cha-Cha-Cha ไม่ใช่ซีรีส์เรื่องแรกที่พยายามถ่ายทอดภาพบรรยากาศและชีวิตในชนบทของเกาหลีใต้ให้ผู้ชมได้เห็น จนต้องจดชื่อเก็บไว้เป็นท็อปลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวนอกกรุงโซล เพราะที่ผ่านมา มีซีรีส์ที่เล่าเรื่องชีวิตของตัวละครซึ่งอยู่ตามเมืองต่างๆ มากมาย และหลังจากที่ซีรีส์จบ สถานที่ถ่ายทำหรือแม้แต่ฉากบางฉากในซีรีส์ ก็กลายเป็นแลนด์มาร์กและสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักเดินทางทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีการใช้ป๊อปคัลเจอร์อื่นๆ อย่างเพลงมาช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวเสริมเข้าไปอีกด้วย

     คอลัมน์ (K)ULTURE คราวนี้ เลยขอพาไปดูบรรยากาศเมืองต่างๆ ที่ถูกเล่าผ่านซีรีส์เกาหลี และแคมเปญการโปรโมตเมืองด้วยเพลงว่า มีซีรีส์เรื่องไหนบ้าง ที่ถ่ายทอดชีวิตนอกเมืองหลวง รวมไปถึงเมืองเหล่านั้นมีของดีของเด่นอะไร จนคนดูอยากย้ายบ้านหรือตามไปเที่ยว 

     ถ้าพร้อมแล้ว ขอชวนปักหมุดและตามไปเที่ยวกันได้เลย

เดินตลาดปลา กินซาชิมิ นั่งชมประภาคารไปกับเมืองโพฮัง จังหวัดคยองซังเหนื
ในซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha และ When the Camellia Blooms

     เก็บกระเป๋า แพ็กของออกนอกโซลกันมาที่แรก มาตามหาหัวหน้าฮงที่เมืองโพฮัง เมืองที่เป็นสถานที่ถ่ายทำของหมู่บ้านกงจินในซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha เมืองที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของผู้คนที่ใช้ชีวิตกับท้องทะเล ซึ่งแม้ว่าในซีรีส์จะบอกเล่าว่าหมู่บ้านกงจินอยู่ในจังหวัดคังวอน แต่จริงๆ แล้วสถานที่ถ่ายทำกลับอยู่ที่จังหวัดคยองซังเหนือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเกาหลี

     วิธีการเดินทางไปต่างจังหวัดของเกาหลีใต้นั้นมีหลายวิธี เช่น การขับรถยนต์ส่วนตัวจากโซลอย่างนางเอกของเรื่องซึ่งใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมง ถ้าจะนั่งรถบัสก็มีทั้งจากโซลและเมืองใหญ่อื่นๆ อย่างกวางจู แดจอน หากจะเลือกวิธีที่สบายขึ้นมาหน่อยก็นั่งเครื่องบิน หรือจะเลือกนั่งรถไฟความเร็วสูง KTX ก็ย่อมได้ แต่ตัวเมืองโพฮังเองนั้น ไม่ได้มีระบบรถไฟฟ้าสาธารณะ การเดินทางในเมืองต้องใช้รถเมล์ ซึ่งก็มีหลายสายที่รับ-ส่งไปรอบเมือง รวมถึงแท็กซี่

     วิถีชีวิตของชาวเมืองโพฮังนั้นผูกติดกับท้องทะเล ไม่ว่าจะตลาดจุ๊กโดที่เป็นศูนย์รวมอาหารทะเล หรือถ้าอยากเดินเล่นริมชายหาด เมืองนี้ก็มีหาดมากถึงหกแห่ง หนึ่งในนั้นคือหาดวอลโด ซึ่งเป็นจุดที่ ฮเยจิน นางเอกของเรื่อง ทำรองเท้าหาย และได้พบกับหัวหน้าฮงที่กำลังเล่นเซิร์ฟอยู่ หากอยากหาร้านซาชิมิรสมือผู้นำชุมชนอย่างตัวละคร ยอ ฮวาจอง ที่เมืองนี้ก็มีศูนย์อาหารทะเลหาดยองอิลแดที่มีร้านอาหารเรียงรายมากกว่าห้าสิบร้าน หรือใครสนใจซ้อมเป็นหัวหน้าฮงก็เดินไปที่ประภาคารสีแดง จุดที่ ฮง ดูชิก พระเอกของเรื่องชอบไปถ่ายรูปได้ 

     จริงๆ แล้ว โพฮังไม่ได้เพิ่งมาเป็นที่รู้จักจาก Hometown Cha-Cha-Cha เพราะเมืองนี้เป็นสถานที่ถ่ายทำของเรื่อง When the Camellia Blooms (2019) ด้วย ซึ่งในเรื่องนั้นเล่าถึงเมืององซาน (เมืองสมมติ) และถนนปูดอง รวมไปถึงเรื่องราวของตัวละครที่เปิดร้านอาหารทะเลและปูดองด้วย โดยสถานที่ถ่ายทำของ When the Camellia Blooms ก็กลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของโพฮัง ไม่ว่าจะเป็นบันไดสวนกูรยองโพ ซึ่งปรากฏในโปสเตอร์หลักของเรื่อง เป็นจุดที่พระเอก-นางเอกชอบมานั่งพูดคุยกัน หรือร้านของ ทงแบค ที่เป็นพระเอก และถนนต่างๆ ในเรื่อง ซึ่งก็คือถนนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์สมัยใหม่กูรยองโพ ก็ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเมืองด้วย

     ความป๊อปปูล่าร์ของซีรีส์ทั้งสองเรื่อง ทำให้หลายคนเลือกปักหมุดที่นี่ ยามเมื่อหาโลเคชั่นไปเที่ยวนอกโซล และทำให้เมืองที่เคยเงียบนี้เป็นที่นิยมขึ้นมาก มีคนทำคลิปท่องเที่ยวตามซีรีส์ ตามรอยตัวละครต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดชูชอก (วันขอบคุณพระเจ้าของเกาหลี) และเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา Kyongbuk Maeil Shinmun หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในภูมิภาคแดกู-คยองซังเหนือ รายงานว่า มีคนมาท่องเที่ยวหมู่บ้านชองฮาในเมืองโพฮังมากถึง 41,900 คนในช่วงวันหยุดห้าวันนั้น 

     แต่ถึงอย่างนั้นความนิยมก็นำมาซึ่งปัญหาบางอย่าง เช่น การจอดรถขวางถนนของหมู่บ้าน และการบุกรุกบ้านของชาวบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ส่วนตัว แต่เป็นจุดถ่ายทำ ทำให้ทีมสร้างของซีรีส์ต้องออกมาประกาศขอให้ประชาชนอย่าบุกรุก และเข้าไปในพื้นที่ส่วนบุคคลเลย

โต้คลื่น นอนบ้านรถ ถ่ายรูปกับป้ายรถเมล์ ไปกับยางยางและคังนึง
ในซีรีส์ Lovestruck In the City, Goblin และหน้าปกอัลบั้ม BTS

     ถึงแม้ผู้เขียนจะเป็นแฟนคลับวัฒนธรรมเกาหลีมานาน และไปเกาหลีใต้มาหลายครั้ง แต่ยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ยินและรู้จักเมืองยางยางผ่านซีรีส์ Lovestruck In the City (2020-2021) จนเก็บเป็นหนึ่งในลิสต์เมืองที่ต้องไปให้ได้หากไปเกาหลีใต้ 

     ยางยางเป็นเมืองที่ห่างจากโซลไปทางตะวันตก อยู่ในจังหวัดคังวอน สามารถเดินทางด้วยการนั่งรถบัสไปได้ ใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง รวมถึงมีสนามบินนานาชาติยางยางที่นั่งเครื่องบินไปได้ด้วย

     เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีภูมิศาสตร์ที่รายล้อมไปด้วยทะเล เช่นเดียวกับยางยางที่เป็นเมืองติดทะเล ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องสถานที่เล่นเซิร์ฟโต้คลื่น มีหาด Surfyy ซึ่งเป็นหาดส่วนตัวแห่งแรกของเกาหลีที่อุทิศให้กับการเล่นเซิร์ฟ ขณะที่เรื่องราวใน Lovestruck In the City เองก็บอกเล่าถึงทริปพักร้อนของ ปาร์ก แจวอน สถาปนิกหนุ่มพระเอกของเรื่อง ที่หยุดงานไปเพื่อเล่นเซิร์ฟ ทำกระดานโต้คลื่นแฮนด์เมด และนอนในรถบ้านที่จอดริมทะเล

     แม้ว่าฉากทะเลทั้งหมดในซีรีส์จะไม่ได้ถ่ายทำที่ยางยางที่เดียว เพราะมีบางฉากไปถ่ายทำที่เจจูด้วย แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เมืองนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะสถานที่เล่นเซิร์ฟ สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การท่องเที่ยวเกาหลีที่ชี้ว่าเมืองนี้เป็นที่รู้จักและที่นิยมมากขึ้น โดยข้อมูลในปี 2020 ชี้ว่า มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่เมืองนี้ถึง 15,226,306 คน เพิ่มขึ้น 9.8% หรือ 1.37 ล้านคนจากปี 2019 ซึ่งนอกจากทะเลแล้ว ยางยางยังมีสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังอย่างภูเขาซอรัก ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นภูเขาที่มีทัศนียภาพสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศด้วย

     ไหนๆ ก็แวะไปยางยางแล้ว เราขอแนะนำคังนึง เมืองที่อยู่ติดกับยางยางในจังหวัดคังวอนเช่นกัน ซึ่งเมืองนี้ก็เป็นสถานที่ถ่ายทำและถูกถ่ายทอดผ่านซีรีส์ดังหลายเรื่องอย่าง Guardian: The Lonely and Great God หรือ Goblin ในฉากที่ คิมชิน และ อึนทัก พระเอก-นางเอกของเรื่องพบกันเป็นครั้งแรกบนเขื่อนกันคลื่นจูมุนจิน (Jumunjin Breakwater) และหากมาที่นี่แล้ว ต้องไม่พลาดแวะไปที่ป้ายรถเมล์บริเวณหาดจูมุนจินอันโด่งดัง หลังจากปรากฏอยู่บนปกอัลบั้ม Spring Day ของวง BTS

     นอกจากนี้ ยังมีซีรีส์อีกมากมายที่ยกกองมาถ่ายทำที่คังนึง อย่าง Racket Boys (2021) กับร้านขนมปังของครอบครัวเจ้าปัง หรือ พัง ยุนดัม หนึ่งในสมาชิกทีมแบดมินตัน ซึ่งก็คือร้าน Dome Bakery ในเมืองนี้ หรืออย่างฉากของโรงเรียนมัธยมต้นแฮนัม จริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่เมืองแฮนัมทางใต้ของประเทศ แต่ถ่ายทำที่โรงเรียนมัธยมต้นซาชอนในเมืองคังนึงนี้เอง

กวางจู เมืองแห่งประวัติศาสตร์และประชาธิปไตย
ในซีรีส์ Youth of May

     เกาหลีใต้ก็เป็นประเทศที่ผ่านกระบวนการเรียกร้อง และเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตยได้สำเร็จ ซึ่งถ้าหากจะพูดถึงเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน ก็ต้องยกให้เมืองกวางจูในจังหวัดคยองกี ที่อยู่ทางตอนใต้ของเกาหลี เมืองที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1980 หรือที่เรียกว่า Gwangju Uprising

     แน่นอนว่าประเทศแห่งอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเกาหลีใต้ ย่อมไม่พลาดที่จะนำเหตุการณ์นี้มาบอกเล่าผ่านหนัง หรือซีรีส์ ซึ่งทำให้มีผลงานในรูปแบบต่างๆ มากมาย รวมถึงถ่ายทอดความเป็นเมืองกวางจูให้เราได้เห็น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง A Taxi Driver (2017) หรือซีรีส์ Youth of May (2021) ซึ่งแม้หลายๆ ฉากอาจจะเป็นการถ่ายทำในสตูดิโอเพื่อจำลองเหตุการณ์ในปี 1980 แต่คนดูก็จดจำเมืองกวางจูในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ และเมืองแห่งประชาธิปไตย

     เมื่อเป็นเมืองแห่งประชาธิปไตยแล้ว ก็ย่อมมีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเชิงความรู้ และการระลึกถึงเหตุการณ์นี้มากมาย ทั้ง May 18th National Cemetery อุทยานอนุสรณ์และสุสาน 18 พฤษภาคม ที่มีการระลึกผู้ถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น และการเล่าเรื่องต่างๆ ผ่านสถานที่อย่างประตูหรือประติมากรรม ที่แสดงถึงการต่อสู้จากการกดขี่ และการปลดแอกเกาหลีที่มีมาตั้งแต่สมัยถูกญี่ปุ่นรุกรานในศตวรรษที่ 15 

     ถ้าอยากอยากไปศึกษาหลักฐานและเหตุการณ์เชิงลึก ก็มีหอจดหมายเหตุ 5.18 Archives: The Records of May ที่มีทั้งหนังสือ วิดีโอ การบันทึกเสียง เอกสารทางวิชาการ ข้อมูลของรัฐบาล คำแถลงของพลเรือน เวชระเบียน และอื่นๆ ที่หน่วยงานอย่าง UNESCO ขึ้นทะเบียนเอกสารสำคัญอย่างเป็นทางการว่าเป็นมรดกด้านเอกสารสิทธิมนุษยชน

     นอกจากความเป็นเมืองประชาธิปไตย กวางจูก็มีสถานที่ท่องเที่ยวและมุมอื่นๆ เช่นกัน โดยเมืองนี้เคยปรากฏและถูกเล่าสั้นๆ ในซีรีส์เรื่อง Racket Boys ในฉากที่เด็กๆ นักแบดโดดซ้อม นั่งรถทัวร์ไปกวางจูกัน ทำให้เราได้เห็นตลาดสถานีซงจอง 1913 ตลาดเก่าแก่ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1913 ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าและผลิตผลในครัวเรือน โดยมีการออกแบบใหม่ให้ทันสมัย มีการปรับสถาปัตยกรรมต่างๆ รวมถึงมีร้านอาหารดังที่บริเวณนี้ด้วย

สายลม แสงแดด ทะเล ภูเขาบนเกาะเจจู
กับซีรีส์ Warm and Cozy และรายการ Hyori’s Bed & Breakfast

     หนึ่งใน wishlist ของผู้เขียนที่ยิ่งดูตามซีรีส์หรือรายการเกาหลียิ่งกรีดร้องว่าจะต้องไปให้ได้ คือเกาะเจจู เกาะทางตอนใต้สุดของประเทศเกาหลี 

     เกาะเจจูเป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์หลายหลายเรื่องมากๆ เราได้ยินชื่อของเกาะเจจูมาตั้งแต่สมัยที่ซีรีส์เกาหลีเข้ามาฉายในไทยยุคแรก อย่าง My Lovely Sam soon (ฉันนี่แหละ… คิมซัมซุน, 2005) แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง (2003-2004) Boys Over Flower หรือ F4 (2009) และอีกมากมาย

     แล้วถ้าหมอฟันฮเยจินหนีเมืองหลวงไปกงจิน ก่อนหน้านี้ซีรีส์ Warm and Cozy (2015) ก็มีนางเอกอย่าง อี จองจู ที่หนีไปใช้ชีวิตที่เกาะเจจูเหมือนกัน โดยใน Warm and Cozy นั้นมฉากหลังเป็นสถานที่ต่างๆ ในเกาะเจจูตลอดทั้งเรื่อง ตั้งแต่ร้านอาหาร Maendorong Ttottot ที่พระเอกไปเปิด ก็เป็นร้าน Café Bomnal ที่อยู่ริมทะเล, Seopjikoji Hill ภูเขาและสวนดอกไม้ที่พระเอก-นางเอกมาเดินด้วยกัน, Sinchang Windmill Coastal Road สะพานและกังหันลม อีกจุดออกเดตของพระเอก-นางเอก หรือจุดชมวิวและพระอาทิตย์ขึ้นที่ Seongsan Ilchulbong ด้วย

     เกาะเจจูไม่เพียงเป็นสถานที่ยอดนิยมที่ใช้ถ่ายทำซีรีส์ แต่ยังมีรายการทีวียอดฮิตและเป็นรายการโปรดของเราอย่าง Hyori’s Bed & Breakfast ทั้งสองซีซั่น (2017-2018) ที่มาถ่ายชีวิตของคู่รัก นักร้อง อี ฮโยริ และ อี ซังซุน ที่ย้ายมาใช้ชีวิตที่เกาะเจจู โดยในรายการได้เปิดบ้านของตัวเองเป็นโฮมสเตย์ให้คนได้เข้ามาพักด้วย ซึ่งรายการนี้ ก็ทำให้เราเห็นชีวิตของผู้คนและสถานที่ท่องเที่ยวในเกาะเจจูไปทั้งเกาะ ไม่ว่าจะไปดำน้ำ เล่นเซิร์ฟ เดินชมภูเขา ซื้อของในตลาดนัด แวะจุดตั้งแคมป์ จุดชมนก ร้านอาหาร จนเราได้แต่ตั้งปรารถนาว่า ขอให้ได้ไปเที่ยว รับสายลม แสงแดดในเกาะแห่งภูเขาไฟและทะเลแบบนี้บ้าง

     ความฮิตของทั้ง Warm and Cozy และ Hyori’s Bed & Breakfast ทำให้มีคนทำลิสต์ ปักหมุดจุดท่องเที่ยวตามมามากมาย โดยเฉพาะรายการ Hyori’s Bed & Breakfast ที่โด่งดังมากๆ ในเกาหลี ซึ่งในปี 2019 มีรายงานจาก Bank of Korea ว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2017 ถึงพฤษภาคม 2018 ที่เป็นช่วงระยะเวลาออกอากาศของรายการ Hyori’s Bed & Breakfast ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวหน้าใหม่มายังเกาะเจจูกว่า 1,007,000 คน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเกาะเจจูได้สูงถึงประมาณ 625 ล้านล้านวอน (ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท) ทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่บนเกาะ 8,693 อัตรา ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมอาหาร แอลกอฮอล์ และที่พัก

     แต่ถึงอย่างนั้น ตัวฮโยริและครอบครัวเอง ก็ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวสุดบูมนี้เช่นกัน เมื่อมีคนมากดกริ่ง และเยี่ยมบ้านของเธอเยอะเกินไป จนสุดท้ายเธอและสามีตัดสินใจย้ายออกจากบ้านหลังนั้นไป

เพราะเกาหลีไม่ได้มีดีแค่โซล
การโปรโมทเมืองการท่องเที่ยวเกาหลี กับโปรเจกต์ Feel the Rhythm

     แม้ว่าจะมีซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือรายการวาไรตี้มากมายที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตคนเกาหลีในมุมต่างๆ ทั่วประเทศ องค์กรการท่องเที่ยวเกาหลีก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะรู้ดีว่าเกาหลีไม่ได้มีแค่โซล ตั้งแต่ปี 2020 จึงเลือกทำเพลงในโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Feel the Rhythm of Korea ที่มีทั้งเพลงและมิวสิกวิดีโอสะท้อนความเป็นเมืองต่างๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีออกมาถึงสองซีซั่น

     ในซีซั่นแรก เพลงและเอ็มวีได้ถ่ายทำตามสถานที่ท่องเที่ยวที่แสดงความเป็นพื้นเมือง เอกลักษณ์ของเมืองต่างๆ พร้อมท่าเต้นไวรัล เริ่มด้วยเมืองหลวงอย่างโซล ตามมาด้วยปูซาน จอนจู อันดง มกโป กังนึง และอินชอน ซึ่งเกือบทุกคลิป มียอดวิวมากกว่า 40 ล้านวิวในช่องยูทูบ

     แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก กลายเป็นไวรัลทั้งในและนอกประเทศตั้งแต่ซีซั่นแรก และยังได้รับรางวัลชนะเลิศสาขา audio ในงาน Korea Advertising Awards ประจำปี 2020 และได้รับรางวัล Tourism Innovation Awards ประจำปี 2020 จากงาน Tourism Innovation Summit ประเทศสเปนด้วย  

     เมื่อมาถึงซีซั่น 2 ในปี 2021 เลยมีการโปรโมตการท่องเที่ยวด้วยเพลงแบบเดิม แต่ครั้งนี้พิเศษขึ้น ด้วยการไปดึงศิลปินฮิปฮอปและอาร์แอนด์บี ค่าย H1GHR Music และ AOMG มาร่วมร้องในแต่ละเพลง ที่แทนถึงแต่ละเมือง และยังมีเมืองเยอะกว่าเดิมด้วย ทั้งโซล คังนึงและยางยาง ซอซาน แดกู ซุนชอน กยองจูและอันดง ปูซานและทงยอง ซึ่งปล่อยเพลงออกมาเป็นอัลบั้มเลย 

     ทั้งนี้ เพลงแต่ละเพลงยังดึงจุดเด่นของเมืองออกมา อย่างเช่น City Love ของโซล ที่บอกเล่าว่าเมืองหลวงของเกาหลีแห่งนี้คือเมืองแห่งความรัก เพลง I’m Surfin’ ของคังนึงและยางยาง ซึ่งการโต้คลื่นเป็นจุดเด่นของเมืองนี้ หรืออย่างเพลง Mudmax ที่พูดถึงโคลนชานฝั่งของเมืองซอซาน และพยายามทำวิดีโอล้อไปกับภาพยนตร์เรื่อง Mad Max ของฮอลลีวูดด้วย

     และแน่นอนว่าซีซั่นนี้ก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะหลังจากปล่อยเพลงและเอ็มวีเพียงหนึ่งเดือน ตอนนี้ยอดวิวในช่องยูทูบของแต่ละเมือง มีผู้รับชมทะลุ 20 ล้านวิวไปแล้ว 

     ได้เห็นการโปรโมตเมืองของภาครัฐด้วยรูปแบบใหม่ๆ แบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะได้เห็นความป๊อป ความร่วมสมัย นำมาปรับใช้โปรโมทการท่องเที่ยวกับของบ้านเราบ้างน้า /รอคอย

อ้างอิง

creatrip.com/en/blog/11135

koreajoongangdaily.joins.com/2019/01/13/industry/Hyoris-Homestay-adds-millions-to-Jejus-coffers/3058096.html

koreatimes.co.kr/www/art/2021/10/688_316590.html

koreaherald.com/view.php?ud=20210314000094

youtube.com/channel/UChhOtjq-3QyyLmP2jv9amrg

adaymagazine.com/feel-rhythm-korea-tourism/