WEBTOON - Story telling, Reading and Rising of Korea pop culture
เมื่อเว็บตูน เป็นมากกว่าแค่การอ่านการ์ตูน
เรื่อง: กรุณพร เชษฐพยัคฆ์
ภาพ: NJORVKS
พูดถึงการอ่านการ์ตูน หลายคนคงนึกถึงมังงะหรือการ์ตูนของญี่ปุ่น ที่หลายเรื่องเป็นตำนานอยู่คู่กับวัฒนธรรมการอ่าน และบันเทิงของญี่ปุ่นมายาวนาน แต่วัฒนธรรมการอ่านการ์ตูนจากฝั่งตะวันออกไม่ได้มาแรงเพียงแค่ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว เมื่อเกาหลีใต้ก็สร้างวัฒนธรรมการอ่านการ์ตูนที่เข้มแข็งให้อยู่คู่กับสื่อบันเทิง และกลายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศแล้วเช่นกัน กับสิ่งที่เรียกว่า ‘เว็บตูน’ (WEBTOON)
หลายคนอาจรู้สึกว่า ในแต่ละปี เราอ่านหนังสือหรือตัวอักษรจากหน้ากระดาษกันน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งเว็บตูนก็เข้ามาพร้อมๆ กับช่วงที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตแพร่หลายพอดี
เว็บตูนมาจากคำว่า ‘เว็บ’ และ ‘การ์ตูน’ เป็นการ์ตูนที่เผยแพร่ผ่านช่องทางดิจิทัลออนไลน์ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นานก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรม และหนึ่งในแพลตฟอร์มของเกาหลีใต้ ที่เติบโตไปพร้อมๆ กับกระแสเทคโนโลยีที่เข้ามาแทรกซึมในชีวิตประจำวันของคน
การได้พักผ่อนกับกิจกรรม scroll หน้าจออ่านเว็บตูนรัวๆ และดูซีรีส์ที่ดัดแปลงจากเว็บตูนติดต่อกันมาราธอนในช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา ทำให้เราสนใจมาชวนดูวัฒนธรรมเว็บตูน เพราะเกาหลีใต้ได้สร้างวัฒนธรรมเว็บตูนให้เป็นมากกว่าแค่การอ่าน แต่ยังมีเนื้อหาที่มักถูกดัดแปลงให้กลายเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ อนิเมชั่น เกม ไปจนถึงเพลง แถมยังแพร่หลายไปไกล เพราะถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ เกิดเป็นกระแสมากกว่าแค่ในเกาหลีใต้ แต่กำลังไปสู่ระดับโลกแล้ว
จากมันฮวาสู่เว็บตูน การเติบโตของการ์ตูนเกาหลี
แม้เกาหลีใต้จะไม่ได้มีวัฒนธรรมการ์ตูนที่โดดเด่นแบบประเทศเพื่อนบ้านอย่างมังงะของญี่ปุ่น แต่ก็มีประวัติศาสตร์ร่วม และได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากญี่ปุ่นด้วย โดยการ์ตูนของเกาหลีนั้น เรียกว่า มันฮวา ซึ่งทั้งมันฮวาของเกาหลี และมังงะของญี่ปุ่น ต่างมีรากมาจากคำว่า ‘ม่านฮวา’ (漫画) ของจีน
มันฮวาของเกาหลีใต้เกิดขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองเกาหลีในช่วงปี 1910-1945 และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1920s โดยเฉพาะการ์ตูนเสียดสีการเมือง แต่ก็ถูกปิดกั้น และจำกัดการแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหลังถูกปลดปล่อย และก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐเกาหลี
ช่วงทศวรรษ 1950-1960s เริ่มเกิดการ์ตูนประเภทใหม่ๆ อย่างซุนจอง ซึ่งก็คือการ์ตูนรักหวานแหววที่มีกลุ่มผู้อ่านเป็นผู้หญิง วัฒนธรรมการอ่านการ์ตูนของเกาหลีใต้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีการเปิด ‘มันฮวาบัง’ หรือคาเฟ่การ์ตูน เกิดธุรกิจ และมีการตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนเองเพิ่มมากขึ้น แต่ในช่วงนั้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง รัฐบาลเริ่มเผด็จการขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่า สื่ออย่างการ์ตูนก็ถูกเหมารวม และถูกกฎหมายการเซ็นเซอร์เช่นกัน
แต่แล้วจุดเปลี่ยนของวงการการ์ตูนเกาหลีใต้ก็เริ่มขึ้นในต้นศตวรรษที่ 2000s พร้อมๆ การเข้ามาของอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยี เมื่อเว็บท่าของเกาหลีใต้อย่าง daum ได้เริ่มสร้างบริการอ่านเว็บตูนบนเว็บไซต์ขึ้นมาในปี 2003 ก่อนที่ปี 2004 เว็บท่าอย่าง naver ก็ได้เริ่มให้บริการเว็บตูนเช่นกัน ถือว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกที่ริเริ่มการ์ตูนสำหรับอ่านออนไลน์ โดยในยุคแรกเป็นการเปิดคลิกเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการอ่านแนวตั้ง และต่อมาก็เริ่มมีนักวาดหลากหลายขึ้น มีจำนวนเรื่อง และจำนวนผู้อ่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี
มีการวิเคราะห์ 3 ปัจจัย ที่ทำให้เว็บตูนได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และแตกต่างจากการอ่านการ์ตูนแบบเป็นเล่มไว้ว่า
1. ช่องคอมเมนต์ ที่ทำให้เหล่านักอ่านสามารถพูดคุย โต้ตอบ และแลกเปลี่ยนความเห็นกันเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง อย่างเช่น เว็บตูน Cheese In the Trap ที่ช่องคอมเมนต์มักมีการวิเคราะห์เนื้อเรื่อง ร่วมกันคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความรู้สึกและการกระทำของตัวละคร ทั้งช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงง่ายกับผู้สร้างเว็บตูน ก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้อ่านด้วย
2. ความง่ายของการเข้าถึง ที่ไม่ว่าจะอ่านที่ไหน เมื่อใด ในเครื่องมือใดๆ ก็เป็นไปได้ ทั้งการอ่านเว็บตูนยังเข้าถึงได้ฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ต่างจากการซื้อ หรือเช่า-ยืมหนังสือการ์ตูนด้วย
3. ความรู้สึกร่วมของผู้อ่านและตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครที่มีคาแร็คเตอร์แบบ ‘Loser’ หรือขี้แพ้ โดยศาสตราจารย์ คิม ซูฮวาน ของมหาวิทยาลัยฮันกุก เคยวิเคราะห์ไว้ในหนังสือของเขาว่า เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่ดิ้นรนกับชีวิต และรู้สึกกลายเป็นคนขี้แพ้ พวกเขาจึงมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจตัวละครเหล่านี้ ซึ่งเว็บตูนที่มีตัวละครเหล่านี้ ก็มักจะติดอันดับยอดนิยมด้วย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความหลากหลาย และหมวดของเว็บตูน ที่มีครบทั้งโรแมนติก ตลก สยองขวัญ และแอ็กชั่นให้เลือกอ่าน ไปถึงจำนวนของเรื่อง และช่องทางการเป็นผู้สร้างเว็บตูน ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้ลองมาวาด และสร้างเนื้อเรื่องของตัวเองได้
การเติบโตของเว็บตูน ที่ทำให้การอ่านการ์ตูนเกาหลีไประดับโลก
ความนิยมของเว็บตูนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในเกาหลีใต้ หากยังเติบโตไปพร้อมๆ กับวงการบันเทิงของเกาหลีใต้ด้วย โดยในช่วงต้นทศวรรษ 2010s เว็บตูนเริ่มมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ มีการพัฒนาเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นสำหรับมือถือที่เปิดบริการในแอพสโตร์ทั่วโลก ซี่งปัจจุบัน เกาหลีใต้มีบริษัทผู้ผลิตเว็บตูนมากถึง 43 แห่ง ทั้งรูปแบบแพลตฟอร์ม และเอเจนซี่ แต่ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คือ WEBTOON ของ naver ซึ่งนักอ่านชาวไทยรู้จักในชื่อ Line WEBTOON
WEBTOON ของ naver เปิดตัวแอพในปี 2014 โดยหลังจากเปิดตัวแอพมาได้ครบ 5 ปี naver ก็เปิดเผยว่า WEBTOON ได้กลายเป็นแอพคอมิกอันดับ 1 ในกว่า 60 ประเทศ โดยมีผู้ใช้มากกว่า 55 ล้านคนต่อเดือน มีการ์ตูนมากกว่า 1 ล้านชื่อ จากผู้สร้าง (creator) ทั่วโลกมากกว่า 500,000 คน และยังมีผู้อ่านมากกว่า 15 ล้านคนในทุกๆ วัน ขณะที่ในไทยเอง ก็พบว่ามีผู้ใช้มากถึง 16,800,000 คนทั่วประเทศด้วย
ยิ่งในช่วงของการระบาดโควิด-19 หน่วยงาน Korea creative content agency (Kocca) ของเกาหลีใต้ยังพบว่า ตลาดเว็บตูนเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมีผู้อ่านจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยช่วงปลายปี 2020 ผลสำรวจพบว่า ผู้อ่านการ์ตูนดิจิทัลหรือเว็บตูนเพิ่มขึ้น 37.4 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 63.4 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าพวกเขาอ่านเว็บตูนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งด้วย ทั้งบริษัทเว็บตูนในเกาหลี ยังชี้ว่าสถานการณ์ของโควิด-19 ได้กระตุ้นยอดขาด โดยเฉพาะนอกเกาหลี โดยบริษัทกว่า 60 เปอร์เซ็นต์บอกว่ายอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ 71 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า ยอดขายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
ไม่เพียงแค่เป็นที่นิยมบนหน้าจอ เพราะเว็บตูนเรื่องที่ฮอตฮิตมากๆ ก็มีการรวมเล่มตีพิมพ์ออกขายเช่นกัน อย่างเช่น Tower of God (หอคอยเทพเจ้า) ผลงานที่เริ่มเผยแพร่เมื่อปี 2010 ที่มีผู้เข้าชมทั่วโลกมากกว่า 4.5 พันล้าน ก็กลายมาเป็นหนังสือการ์ตูนในปี 2020 ซึ่งตอนนี้ในเกาหลีใต้ออกมา 6 เล่มแล้ว และเพราะเรื่องนี้โด่งดังทั้งในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น จนมีอนิเมะมาแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าอาจมีการแปลเป็นภาษาอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าการเติบโตของเว็บตูนย่อมสร้างความกังวลให้กับวงการมังงะของญี่ปุ่น แม้จะเป็นประเทศที่ส่งออกการ์ตูนสุดฮิตระดับโลกมากมาย โดยประเด็นนี้เอง มักถูกพูดถึงในช่วง 2-3 ปีให้หลัง ที่ยอดขายของนิตยสารการ์ตูนในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง ขณะที่วงการการ์ตูนญี่ปุ่นยังไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ดิจิทัลได้ เว็บตูนที่มาพร้อมกับโลกดิจิทัล จึงถูกมองเป็นคู่แข่ง ทั้งจากรูปแบบการอ่านแนวตั้งที่สะดวกสำหรับโทรศัพท์ การแปลที่ทำให้คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับตัวละครเกาหลี และจากการรับวัฒนธรรมการ์ตูนจากต่างชาติมาเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เหล่านี้เอง
มากกว่าแค่การอ่าน เมื่อเว็บตูนถูกดัดแปลงเป็นคอนเทนต์อื่นๆ
นอกจากวิธีการอ่านที่เปลี่ยนจากหน้ากระดาษมาเป็นหน้าจอ การสื่อสารระหว่างผู้สร้างกับผู้อ่านที่สามารถติชม แสดงความคิดเห็น หรือสื่อสารกับแฟนๆ ได้ขณะที่สร้างผลงานแล้ว เว็บตูนยังมีรูปแบบของสื่อที่หลากหลาย ซึ่งไม่ได้จบลงแค่บนหน้าจอ เพราะเมื่อเรื่องราวได้รับความนิยม ก็มักมีการเอามาดัดแปลง สร้างต่อในเวอร์ชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนัง ซีรีส์ อนิเมชั่น เกม หรือสินค้า
แม้หลายคนจะไม่เคยอ่านเว็บตูนเลย แต่เชื่อได้ว่า อาจจะเคยเห็นผลงานดัดแปลงต่างๆ ของเว็บตูนได้ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ What’s wrong with secretary Kim หรือเลขาคิม ที่นำแสดงโดยพระ-นางตัวท็อปอย่าง พัค ซอจุน และ คิม มินยอง, My ID is Gangnam Beauty (ID ของฉันคือดอกไม้พลาสติก), Stranger from Hell (นรกคือคนอื่น) หรือที่กำลังได้รับความนิยมในตอนนี้ อย่าง Sweet Home ที่ออกอากาศทางเน็ตฟลิกซ์ และ True Beauty ซีรีส์ที่กำลังออนแอร์อยู่ทางช่อง tVN ของเกาหลีใต้ที่ดัดแปลงมาจากเว็บตูนในชื่อเดียวกัน โดยมีชื่อไทยว่า ความลับของนางฟ้า ซึ่งเรื่องนี้ยืนหนึ่ง ติดอันดับ 1 ของเว็บตูนยอดนิยมในไทย และในหมวดโรแมนซ์มาหลายปีตั้งแต่มีการเผยแพร่ หรือแม้ของไทยเอง ก็มีการนำเว็บตูนจากผู้สร้างไทยไปทำเป็นซีรีส์ด้วยเช่นกัน อย่าง คุณแม่วัยใส (ที่แม้จะโดนกระแสดราม่ามากมายตั้งแต่สมัยลงในเว็บตูนก็ตาม)
ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับวงการบันเทิงเกาหลี ที่จุดขายของซีรีส์หรือภาพยนตร์ มักมีเพลงประกอบละครติดหู และติดชาร์ตไปควบคู่กับการฉายหนัง ในตอนนี้เอง วงการเว็บตูนก็ได้มีเพลงประกอบเว็บตูนของตัวเองแล้วเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา เพลงเหล่านี้มักจะถูกร้องโดยศิลปินอินดี้ที่รู้จักผู้สร้างและทำเพลงร่วมกัน แต่ด้วยความนิยมของเว็บตูนที่มากขึ้น ช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทผู้สร้างเว็บตูนอย่าง Kakao และ Naver ก็เริ่มมองเห็นโอกาสเข้าไปมีส่วนในตลาดเพลง ด้วยการปล่อยซิงเกิ้ล และอัลบั้มที่มีเนื้อเพลงอิงจากเรื่องราวของเว็บตูน โดยการใช้ศิลปินและไอดอลที่มีชื่อเสียงมาร่วมขับร้อง จนขยับไปสร้างความสั่นสะเทือนให้กับชาร์ตเพลงเกาหลีได้ด้วย
ช่วงกลางปี 2020 เพลง Slightly Tipsy ของ ซาลดึล วง B1A4 เพลงประกอบเว็บตูน She is My Type ของ Daum ก็ได้ขึ้นไปถึงอันดับ 2 ของเมลอนชาร์ต เป็นรองเพียงแค่เพลง Dynamite ของ BTS เท่านั้น รวมถึงเพลงประกอบอื่นๆ ของเว็บตูนเรื่องนี้ ก็ยังติดอันดับอื่นๆ ในชาร์ตเพลงเกาหลีด้วยเช่นกัน
เรียกได้ว่า เว็บตูนค่อยๆ ขยายตลาดความนิยมออกไป พร้อมๆ แพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ๆ มากกว่าแค่เนื้อหาบนหน้าจอแล้ว
ไม่ได้เติบโตแค่เพราะเอกชน แต่ยังมีรัฐสนับสนุน และผลักดัน
แน่นอนว่าทั้งกระแสฮัลรยู เคป๊อป ความโด่งดังของหนังหรือซีรีส์เกาหลีที่มาแรงทั่วโลก หากมีเอกชนผลักดันอยู่ฝ่ายเดียว ก็คงเป็นเหมือนการตบมือข้างเดียว ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้เอง ก็เล็งเห็นประโยชน์จากจุดนี้ และเข้ามาสนับสนุนเต็มที่ รวมถึงวงการเว็บตูนด้วยเช่นกัน ทั้งในด้านระบบ และการพัฒนาท้องถิ่น
ปัญหาหนึ่งที่เรามักเห็นในวงการการ์ตูน คือเรื่องของลิขสิทธิ์จากการเผยแพร่แบบผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ก็เห็นถึงปัญหานี้ โดย KOCCA (Korean Culture & Content Agency) กับกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้ร่วมกันทำแคมเปญสร้างการรับรู้ให้ผู้อ่านเว็บตูนตั้งแต่ปี 2018 เพื่อกำจัดการเผยแพร่และการบริโภคเว็บตูนที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งยังทำงานร่วมกับกองกำลังตำรวจพิเศษเพื่อปิดเว็บตูน และเว็บไซต์การ์ตูนที่ผิดกฎหมาย จับกุมผู้กระทำความผิด ซึ่งนับจนถึงวันนี้มีการปิดเว็บไซต์ไปแล้ว 25 แห่ง และผู้ทำผิดถึง 22 คน
ทั้งยังมีเรื่องการพัฒนาของท้องถิ่น เช่น ในจังหวัดคยองกี ที่หน่วยงานของรัฐหวังผลักดันให้จังหวัดเป็นผู้ผลิตธุรกิจเกมจากเว็บตูน ไม่ว่าจะเป็นตัวเชื่อม คัดเลือกบริษัทขนาดเล็กและกลางให้เข้ามาทำงานร่วมกับบริษัทเว็บตูน ไปถึงการให้เงินสนับสนุน หรืออย่างจังหวัดแดจอนเอง ที่กระทรวงวัฒนธรรมเลือกให้งบประมาณ 790 ล้านวอน (21 ล้านบาท) ในการพัฒนา และสร้างแคมปัสสำหรับอุตสาหกรรมเว็บตูน เพื่อส่งเสริมการเติบโตของนักวาด และจัดหาพื้นที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับเหล่าผู้สร้างด้วย เพื่อหวังให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเว็บตูน
นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังสนับสนุนโครงการของบริษัทเอเจนซี่และเอกชนอื่นๆ โดยหวังให้วงการเว็บตูนได้ไปทำงานข้ามสายงานร่วมกับวงการอื่น อย่างเคป๊อปที่จะสร้างเว็บตูนของไอดอล 8 วง เพื่อหวังโปรโมตกระแสป๊อปเกาหลีไปทั่วโลก ผ่านเทรนด์ใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างตลาดเว็บตูนและศิลปินเคป๊อปด้วย
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราอาจเห็นตลาดของเว็บตูนเกาหลีเติบโตมากขึ้น พร้อมๆ กับการเข้ามาเปลี่ยนวิถีการอ่านการ์ตูนในรูปแบบใหม่ๆ มีคอนเทนต์รูปแบบใหม่ๆ ไปถึงกลายเป็นเครื่องมือใหม่ให้กับการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลี ที่ทั้งทำรายได้ และเผยแพร่วัฒนธรรมให้กับประเทศเกาหลีใต้ได้มากขึ้นในอนาคต
อ้างอิงจาก
https://pulsenews.co.kr/view.php?year=2019&no=760754
https://lareviewofbooks.org/article/riding-the-wave-the-steady-rise-of-korean-manhwa/
https://www.dgupost.com/news/articleView.html?idxno=1247
https://www.gyeonggido-korea.com/2020/04/what-is-webtoon-korean-culture-of-web-comic.html
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20200916000761
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20180417000598&ACE_SEARCH=1
https://www.brandbuffet.in.th/2019/11/line-webtoon-success-5-years-anniversary/