Thu 19 Aug 2021

19 YEARS AS A PUBLISHER

จากวันแรกในวงการสิ่งพิมพ์ของ ‘จีระวุฒิ เขียวมณี’ สู่เก้าอี้บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์เครือ Biblio

     หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามวงการหนังสือ หรือเป็นนักอ่านที่ช้อปปิ้งจากช่องทางออนไลน์เป็นประจำ เชื่อว่าตั้งแต่มีนาคมปี 2020 จนถึงตอนนี้ คุณต้องเคยเห็นหนังสือจากสำนักพิมพ์ Biblio ผ่านตาอย่างน้อยหนึ่งเล่ม

     ไม่ว่าจะเป็นบรรดานิยายแปลเอเชียปกสวยสะดุดตาอย่าง ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ, ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่ของเมื่อวาน, ผู้พิทักษ์ต้นการบูร, เมื่อท้องฟ้าแจ่มใส ฉันจะออกไปพบเธอ, Actually I’m Introvert ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ ฯลฯ

     หรือน็อนฟิกชันช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นอย่าง วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต, The Why Cafe คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง ฯลฯ

     Biblio เปิดตัวเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2020 ก่อนหน้าคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินีที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเพียงไม่กี่วัน 

     แม้เริ่มทำธุรกิจในช่วงที่เสี่ยงและเปราะบางที่สุด แต่ Biblio ก็สามารถผ่านมาได้แบบสบาย สบาย (เปิดเพลงพี่เบิร์ดคลอได้) แถมยังได้รับการตอบรับจากผู้อ่านอย่างล้นหลาม จนสามารถออกหนังสือต่อเนื่องมาได้ถึง 27 เล่ม และแตกไลน์สำนักพิมพ์ย่อยออกเป็น 3 แบรนด์ในระยะเวลาเพียงหนึ่งปีกว่าๆ

     ในฐานะนักอ่านและน้องใหม่วงการสิ่งพิมพ์ขออนุญาตกดว้าวให้กับทั้งหมดที่ได้เล่าไป (WOW!)

     ด้วยความสงสัยปนใคร่รู้และอยากล้วงวิชาฮาวทูกดสูตรให้หนังสือแมส เราจึงทักไปชวน ‘พี่จี—จีระวุฒิ เขียวมณี’ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Biblio ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้มาคุยกัน ซึ่งพอคุยไปคุยมาก็เลยได้รู้เพิ่มว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการจับธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์ของเขา ไม่ว่าจะสำนักข่าว นิตยสาร หรือพ็อกเก็ตบุ๊ก พี่จีอยู่มาแล้วครบทุกวงการ

     และพี่จะอยู่ต่อไป (อันนี้พี่จีไม่ได้กล่าว)

     ดังนั้น ก่อนจะไปฟังกลเม็ดเคล็ดลับความสำเร็จของ Biblio เราขอชวนมาย้อนดูเส้นทาง 19 ปีในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ จากวันแรกที่พี่จีเริ่มชอบอ่านหนังสือ จนถึงวันนี้ที่เขามี 3 สำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง

เด็กวิทยุ-โทรทัศน์หัวใจวารสารฯ

     พี่จีเล่าย้อนกลับไปถึงวันที่ต้องเลือกเส้นทางชีวิตในมหาวิทยาลัย เดิมทีเขาเป็นคนชอบดูหนังและการนำเสนอเนื้อหาทางภาพมาก เพราะเป็นการเล่าเรื่องที่มีเสน่ห์และน่าสนใจ แต่ยุคนั้นสาขาฟิล์มยังไม่ค่อยหลากหลาย ขณะที่วิทยุ-โทรทัศน์มีแทบทุกที่ พี่จีจึงตัดสินใจเลือกเรียนสาขานี้ โดยเนื้อหาหลักๆ จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับการทำรายการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นถ่ายทำ ตัดต่อ และเขียนบท ซึ่งวิชาหลังสุดคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พี่จีก้าวเข้าสู่วงการหนังสือ

     “พอเรียนไปได้สักพักก็เจอวิชาเขียนบท เราเลยเริ่มหาหนังสือที่เล่าเรื่องจริงๆ จังๆ มาอ่าน ต้องบอกว่าตอนเรียนปีหนึ่งเราแทบไม่ได้อ่านหนังสือเป็นเรื่องเป็นราวเลย อ่านเฉพาะหนังสือหรือนิตยสารที่เกี่ยวกับหนัง แต่พอต้องเขียน เรารู้สึกว่าองค์ความรู้ยังไม่มากพอ ถ้าจะเล่าเรื่องก็ต้องมีเรื่องให้เล่า เลยสนใจว่าเขาเล่าเรื่องกันยังไง 

     “พอได้อ่านหนังสือของ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเราเข้าสู่โลกของการอ่านอย่างเต็มรูปแบบ เราเลยเลือกเรียนวิชาโทในสาขาวารสารฯ ซึ่งไปๆ มาๆ เราแฮปปี้กับการเรียนวารสารฯ มากกว่าอีก (หัวเราะ) เราไปทำวารสารประจำคณะกับเพื่อน โดยใช้เงินจากสมาคมนักศึกษา แล้วก็ทำกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับการแตกเนื้อหาจากวารสาร เรามีความสุขกับการได้เห็นสิ่งพิมพ์อยู่บนมือ 

     “การเลือกเรียนวารสารฯ สร้างภูมิการอ่านให้กับเราไปโดยอัตโนมัติ จากความสนใจในเรื่องการเรียนก็กลายเป็นเรื่องส่วนตัวละ โลกของตัวหนังสือพาเราไปได้ไกลกว่าที่คิดเยอะมาก”

     พี่จีเริ่มจากน็อนฟิกชั่นเพราะสนใจหนังสือที่ให้แง่คิด มีปรัชญาแทรกอยู่ในนั้น แล้วค่อยขยับไปอ่านฟิกชั่น โดยในยุคนั้นนักอ่านส่วนใหญ่จะโตมากับ คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) หรือ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ก็เริ่มมีชื่อเสียงแล้ว 

     “เมตามอร์โฟซิส ของ ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka) เป็นอีกเล่มที่เราชอบมากๆ งานของคาฟคาค่อนข้างจะแปลกประหลาด ชวนให้เข้าไปสู่พื้นที่แห่งการตีความ พอได้อ่านแล้วเหมือนเราได้ดูอะไรที่มันเซอร์เรียลอยู่ เราเลยรู้สึกว่าวรรณกรรมค่อนข้างจะหลากหลาย แล้วก็มีพลังที่จะส่งผลต่อความคิดความอ่านของเราเยอะมาก 

     “เราได้อ่านงานของ อาว์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ในยุคที่เริ่มศึกษาเรื่องหนังสือจริงจัง งานของอาว์ ’รงค์ชวนให้เราไม่ต้องทำอะไรตามกฎ แหกคอก ก้าวออกจากกรอบเดิมๆ ถ้ากฎการใช้ภาษาในโลกมันเป็นแบบนี้ เขาจะลองอีกแบบหนึ่งให้คุณดู 

     “จริงๆ มีอีกหลายท่านเลย ถ้าจะกล่าวตอนนี้ก็คือไม่หมด (หัวเราะ) ในยุคนั้นมันเยอะมากจริงๆ”

     หลังจากใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยสลับไปมาระหว่างสาขาวิทยุ-โทรทัศน์กับวารสารฯ ในช่วงกำลังจะเรียนจบ พี่จีได้ไปฝึกงานค่ายหนังแห่งหนึ่งในช่วง Pre-production (ช่วงก่อนออกกองไปถ่ายทำ) ก่อนจะพบว่าตัวเองไม่ได้อินกับโลกฝั่งนี้เท่าไหร่แล้ว 

     “ไม่ได้หมายความว่าโลกภาพยนตร์ไม่ดีนะ เรายังคงชอบมากๆ แค่ในเวลานั้นมันไม่อิน ไม่ได้รู้สึกว่าจบฝึกงานแล้วอยากเป็นทีมงานในกองถ่าย พอเรียนจบเราเลยออกมาหางานด้านสิ่งพิมพ์แทน”

     และงานแรกในวงการสิ่งพิมพ์ของพี่จีคือ งานนิตยสาร

ผู้จัดการ สุดสัปดาห์

     “ตอนนั้น ผู้จัดการ เป็นสื่อที่เสมือนแหล่งรวมคนมีฝีมือจำนวนมาก เราได้เข้าไปอยู่ในพาร์ตเล็กๆ ของเว็บไซต์ในเครือที่กำลังเปิดใหม่ ทำไปได้สักพักก็ได้มีช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้ไปลองทำข่าวบันเทิง ได้เขียนสกู๊ปเชิงวัฒนธรรม ผสมกับเรื่องราวของคนที่น่าสนใจลงในเว็บไซต์ผู้จัดการ และมีงานบางส่วนที่ได้ลงสิ่งพิมพ์ด้วย” 

     พี่จีเสริมว่า เวลานั้น ผู้จัดการ เป็นสำนักข่าวแรกๆ ที่ทำเว็บไซต์ข่าวอย่างจริงจังและเติบโตอย่างรวดเร็ว พี่จีจึงได้เรียนรู้วิธีคิดวิธีทำงานจากทั้งฝั่งปรินต์และออนไลน์ หลังจากทำงานตรงนี้ได้ราวๆ หนึ่งปี ทาง ผู้จัดการ มีแพลนจะเปิดแผนกนิตยสารไลฟ์สไตล์หัวใหม่ภายในเครือ พี่จีจึงถูกดึงตัวไปอยู่ในทีมกองบรรณาธิการนิตยสาร mars ชุดแรก

mars magazine

     พี่จีจำกัดความว่า mars คือนิตยสารไลฟ์สไตล์แนววาไรตี้ที่พยายามแตะเรื่องที่จับต้องได้ในชีวิตคนทั่วไป บอกเล่าเทรนด์ที่สังคมกำลังให้ความสนใจ เป็นนิตยสารที่อ่านแล้วเอาไปเล่าให้เพื่อนฟังได้

     “ช่วงที่วงการนิตยสารกำลังบูม mars ก็โด่งดังเหมือนกัน เราอยู่ในทีมงานชุดแรก ได้เรียนรู้เยอะมาก มีการประชุมกองฯ คิดสกู๊ป มีคอลัมน์เล็กๆ มีบทสัมภาษณ์ขนาดยาว เราได้ลองทำทุกส่วนเลย เป็นช่วงที่เราได้ฝึกปรือการเขียนอย่างต่อเนื่อง โชคดีที่ว่าบรรณาธิการทั้งสองท่านในตอนนั้น คุณจิตตนาถ ลิ้มทองกุล กับคุณพชร สมุทวณิช เป็นเจ้านายที่ใจดีมาก เขาให้โอกาสทีมงานได้ลองเสนอไอเดียหลายๆ อย่าง เรากับทีมเลยได้สนุกไปกับการทำนิตยสารจริงๆ 

     “มีอยู่ฉบับหนึ่ง ที่กองบรรณาธิการลองทำสกู๊ปเจาะบ้านผีโหดๆ โดยให้ทีมงานไปล่าท้าบ้านผี 5 หลังด้วยกัน แล้วแบ่งกันเขียนคนละหลัง ซึ่งตอนนั้นเรากลัวผีมาก (เน้นเสียงพร้อมหัวเราะ) แต่ต้องนั่งรถตู้ไปบ้านร้างที่เขาว่าโหดสุดๆ แถววัชรพล พอไปถึงก็เจอทั้งเชือกผูกคอตายห้อยต่องแต่ง คราบน้ำเหลือง และรอยเลือดผู้เสียชีวิต พอย้อนกลับไปคิดแล้วมันสนุกมากเลย ยุคนั้นคนทำนิตยสารยังไม่ถูกบีบด้วยวิธีคิดแบบการตลาดโดยเบ็ดเสร็จ เรายังพอมีพื้นที่ในการนำเสนอเรื่องราวที่แปลกใหม่ ทำให้ได้ฝึกวิธีคิดในการมองเทรนด์ด้วยว่าตอนนั้นคนกำลังสนใจอะไร

     “เราอยู่กับ mars ตั้งแต่ออกแบบโลโก้ จนถึงวันที่มาร์สประสบความสำเร็จในยุคสมัยของเขา เมื่อถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าตัวเองยังอยากเรียนรู้มากกว่าเดิม จึงลาออกแล้วไปสมัครงานที่นิตยสาร GM Plus ที่มีคุณเอกศาสตร์ สรรพช่าง เป็นบรรณาธิการอยู่” 

GM Plus

     ในเวลานั้นนิตยสาร GM มีโปรเจกต์เปิดนิตยสารอีกแบรนด์ในเครือโดยใช้ชื่อว่า GM Plus ซึ่งเป็นเหมือนซับเซตของ GM แต่จะนำเสนอเรื่องราวของคนหนุ่มสนุกสนานแต่ก็ยังช่างคิด จึงมีความคล้ายกับสิ่งที่พีจีเคยทำที่ mars มาก่อน 

     “ตอนนั้นได้ทำงานกับคนรุ่นพี่ที่เก่งๆ เยอะ เพื่อนร่วมทีมในรุ่นเดียวกันก็ล้วนมีฝีมือ เราได้เรียนรู้จากทุกคนเยอะมาก ทำให้เราตั้งหลักกับงานเขียนชัดเจนมากขึ้น ได้ทำงานที่ท้าทายความคิดค่อนข้างเยอะ แม้เราจะอยู่ในกอง GM Plus แต่ก็มีบางครั้งที่สลับไปทำงานบางชิ้นให้กับ GM บางทีเราต้องสัมภาษณ์คนอย่างเจาะลึก คุยเรื่องปรัชญาหลายๆ แนวคิด แล้วต้องมาเรียบเรียงให้มันออกมาสมบูรณ์มากที่สุด ที่นี่ทำให้เราได้เติบโตขึ้นในฐานะคนทำหนังสือ

     “ตั้งแต่เรียนจบ เราทำนิตยสารอยู่เกือบแปดปี เรารู้สึกว่าข้อดีมากๆ ของการทำนิตยสาร คือมันเป็นการทำงานที่อยู่กับโลกปัจจุบัน โลกคุยกันด้วยสำเนียง ภาษา ทัศนคติ หรือกำลังขับเคลื่อนไปแบบไหน นิตยสารคือด่านหน้าในการนำเสนอมุมมองเหล่านี้ออกมา แต่ว่าพอถึงจุดนึงเราก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัว เลยมองหาว่าในวงการสิ่งพิมพ์ยังเหลืออะไรให้เราทำได้อีก”

     ช่างพอเหมาะราวกับจับวาง เพราะตอนนั้นทาง ผู้จัดการ กำลังสนใจอยากทำสำนักพิมพ์แนวไลฟ์สไตล์ที่ต่อยอดจากนิตยสาร mars จึงเกิดสำนักพิมพ์ใหม่ขึ้นมาชื่อ mars space และพี่จีก็ได้กลับไปร่วมงานกับที่ทำงานแรกอีกครั้ง

     แต่การกลับบ้านครั้งนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะคนที่คลุกคลีกับวงการนิตยสารมาถึงแปดปีกำลังจะต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่

mars space

     “ต่อให้เราอยู่กับนิตยสารมาหลายปี แต่พอเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก สกิลของเราคือศูนย์” 

     พี่จีมองว่าการจะทำพ็อกเก็ตบุ๊กสักเล่มจำเป็นต้องลงรายละเอียดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดสรรเรื่องราว ออกแบบรูปเล่ม จัดหน้า ไปจนถึงการพิมพ์ ซึ่งในตอนนั้นไม่มีใครมาสอน เพราะสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ (สำนักพิมพ์ในเครือผู้จัดการ ตีพิมพ์หนังสือแนวสาระความรู้) ก็เป็นบริษัทที่แยกออกไป พี่จีเลยต้องครูพักลักจำ ฝึกฝนเอาเองว่าทำหนังสือเล่มหนึ่งต้องทำไรบ้าง ตั้งแต่ขอ ISBN ยังไง ต้องทำยังไงเมื่อหนังสือตีพิมพ์เสร็จแล้ว หรือตอนจัดรูปเล่มหนังสือ ต้องทำยังไงให้ตัวหนังสือไม่ชิดสันด้านในของหนังสือเกินไปจนอ่านยาก

     “ตอนแรกก็ทำกับเพื่อนซึ่งเคยทำ ผู้จัดการ ด้วยกันมา ก็คือ คุณธนกร แสงสินธุ์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการอยู่ในเวลานั้น แต่ไปๆ มาๆ เพื่อนก็ลาออก เหลือเราคนเดียว ทำให้ได้เลื่อนตำแหน่งจากผู้ช่วยบรรณาธิการ กลายมาเป็นบรรณาธิการโดยอัตโนมัติ เพราะไม่มีใครแล้ว (หัวเราะ) เราจึงหาทีมงานมาเพิ่มอีกสองคน คุณวีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร และคุณลิลลี่ วรเศยานนท์ มาช่วยกันทำสำนักพิมพ์ (ซึ่งทั้งสองคนก็ได้กลับมาช่วยกันทำ Biblio อีกด้วย)

     “เราว่าช่วงนั้นเป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุดยุคหนึ่งของวงการพ็อกเก็ตบุ๊กเลย ไม่ว่าคุณจะทำหนังสือแบบไหนออกมา มันจะมีคนอ่านที่หาคุณเจอ เพราะคนอ่านเปิดรับหนังสือหลากหลายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นของนักเขียนไทย หนังสือแปล กระทั่งหนังสือที่ระบุประเภทไม่ได้ก็ตาม ซึ่งคนอ่านจะมีคำพูดนึงติดปากว่า ‘ลองซื้อไปอ่านดู’ ลองซื้อก็คือซื้อกันหลายเล่ม บางคนลองซื้อเป็นสิบเล่มทั้งที่ไม่รู้จักหนังสือเหล่านั้นมาก่อน สำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างเราที่เพิ่งเปิดมาจึงตั้งตัวได้ เพราะต่อให้เราทำหนังสือที่แหวกแนวมากแค่ไหน ก็ยังมีกลุ่มคนอ่านซัพพอร์ตอยู่”

     สำหรับแนวทางการทำหนังสือของ mars space พี่จียอมรับว่าเขาลองทุกอย่าง ตั้งแต่หนังสือเกี่ยวกับนักร้องนักดนตรียันหนังสือการ์ตูน

     “เราเคยทำหนังสือของวง Paradox, Scrubb, Flure, Groove Riders ฯลฯ ออกมา ซึ่งโชคดีที่ขายได้ทุกเล่มเลย เพราะตอนนั้นแฟนเพลงจะสนับสนุนทุกโปรดักต์ของศิลปิน หนังสือประเภทนี้เลยเป็นหนึ่งในไลน์อัพของเราที่ประสบความสำเร็จ ต่อมาก็เป็นยุคที่มีบล็อกเกอร์ (Blogger) เขียนเรื่องราวตามเว็บไซต์เกิดขึ้นเยอะมาก บรรดานักเขียนอิสระเลยมีพ็อกเก็ตบุ๊กของตัวเองกันเกือบหมด เพราะมีฐานคนอ่านจากออนไลน์ 

     “จากนั้นเราก็ขยับมาทำหนังสือแปล เล่มที่ทำแล้วประสบความสำเร็จที่สุดน่าจะเป็น จดหมายรักจากนายไม้ประดับ (The Perks of Being a Wallflower) เพราะถูกเอาไปสร้างเป็นหนังแล้วกระแสดีมาก ซึ่งตัวนิยายก็ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับหนัง คนเลยสนใจ ถือเป็นการเปิดโลกของเรากับการทำหนังสือแปล

     “ยุคนั้นเราทำการ์ตูนด้วย ชื่อเรื่อง Scott Pilgrim vs. The World เป็นการ์ตูนสัญชาติแคนาดา 6 เล่มจบที่มีกลิ่นอายความเป็นเอเชียอยู่เยอะมาก วิธีการเล่ามีความเป็นมังงะอยู่ คนแปลคือคุณต่อ—คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง (นักเขียน นักวิจารณ์ทางด้านภาพยนตร์ และเจ้าของหนังสือ เพียงชายคนนี้เป็นอาจารย์พิเศษ) ซึ่งเราชอบมาก เพราะต่อใช้ภาษาได้สวิงสวายวัยรุ่น ถูกใจเราที่สุด และทุกวันนี้ยังเป็นหนังสือที่เราหาเวลากลับไปอ่านอยู่เสมอเหมือนได้ย้อนกลับไปเจอเพื่อนเก่า

     “mars space ถือเป็นจุดเริ่มต้นการทำพ็อกเก็ตบุ๊กของเรา แต่ตอนนั้นเรายังอ่อนประสบการณ์มาก เหมือนอยากทำอะไรก็ทำ การ์ตูน นิยายแปล หนังสือท่องเที่ยว หนังสืออ่านสนุกเบาสมอง เราลองทำหมดเลย มันก็มีทั้งเล่มที่ประสบความสำเร็จ เล่มที่ไม่โอเคก็มี คละกันไป เป็นช่วงเวลาห้าปีที่เราได้ลองผิดลองถูกในฐานะคนทำหนังสือ”

MONO Group

     หลังจากโบกมือลา mars space พี่จีก็ได้โอกาสไปเป็นทีมตั้งต้นในการทำสำนักพิมพ์ใหม่ให้กับบริษัทโมโน ซึ่งเป็นเจ้าของเครือเว็บไซต์ mthai ทีวีช่อง MONO 29 และนิตยสาร Bioscope

     “แม้จะมีประสบการณ์มาก่อน แต่ก็เหมือนมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะเราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้บริษัทใหญ่ที่ไม่เคยทำพ็อกเก็ตบุ๊กจริงจังมาก่อน เข้าใจได้ว่าต้องทำประมาณไหน 

     “mars space เหมือนสนามเด็กเล่นที่ห้อมล้อมไปด้วยมืออาชีพ แต่พอมาอยู่ที่โมโนมันคือสนามรบเลย จะไม่มีคำว่าทำหนังสือลองตลาดอีกแล้ว ทุกอย่างวัดกันที่ยอดขายและรายได้ ทำให้เราเริ่มชัดเจนขึ้นกับการคัดสรรหนังสือ ตรงนี้แหละคือจุดที่ทำให้เราเริ่มมีพิมพ์เขียวในการทำหนังสืออย่างจริงจัง เริ่มคิดว่าคนอ่านต้องการ สนใจ และอยากอ่านอะไร”

     พี่จีเล่าต่อว่าทางผู้บริหารอยากได้สำนักพิมพ์ที่มีหลายหัว เพื่อพิมพ์งานสไตล์ต่างกัน ทำให้ตอนนั้นเขามีสำนักพิมพ์ที่ต้องดูแลถึง 4 แบรนด์ด้วยกัน

     “แบรนด์แรกคือสำนักพิมพ์ MAXX ที่พิมพ์นิยายแปล ซึ่งเล่มแรกที่เราทำคือ ถ้าโลกนี้ไม่มีแมว นิยายญี่ปุ่นแนวฟีลกู้ดผสมกับเรื่องราวแฟนตาซีของคนที่กำลังสูญเสียทุกอย่างไปโดยมีแมวเป็นสิ่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ และถูกนำไปสร้างเป็นหนังดังอีกด้วย ซึ่งถ้าย้อนไปตอนนั้น นิยายแนวนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในบ้านเราเท่าไหร่ เพราะนิยายแปลญี่ปุ่นในยุคที่ประสบความสำเร็จมากๆ จะเป็นแนวฆาตกรรม หรือไม่ก็แนวสยองขวัญไปเลย จำได้ว่าหัวหน้ายังหันมาถามเลยว่า ‘มันจะขายได้เหรอจี หนังสืออะไรของมึงวะ’ (หัวเราะ) แต่เรามั่นใจมากว่าหนังสือไปได้แน่ เลยพยายามดันเล่มนี้ออกมา แล้วก็ไม่ผิดจากที่คิดจริงๆ

     “สำนักพิมพ์ต่อมาคือ MOVE จะพิมพ์งานน็อนฟิกชั่นเป็นหลัก เราหยิบเรื่อง อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ มาทำ เพราะตอนนั้นรู้สึกว่าคนเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับเป้าหมายและคุณค่าของชีวิต พอทำออกมาจริงๆ กระแสอิคิไกก็บูมจนมีนักการตลาดเอาคำนี้ไปใช้เป็นคอนเซปต์ในการทำแคมเปญต่างๆ มากมาย

     “แล้วก็มีสำนักพิมพ์ Her ที่เน้นหนังสือจับตลาดกลุ่มผู้หญิง และ Geek Book ที่ทำหนังสือนอกกระแสสำหรับวัยรุ่น เช่น หนังสือเบื้องหลังภาพยนตร์ Snap ของพี่คงเดช จาตุรันต์รัศมี ซึ่งเป็นหนังสือที่มีแฟนเฉพาะกลุ่มเหนียวแน่นเหมือนกัน

     แม้จะเป็นการทำหนังสือที่หลากหลายแนวไม่ต่างจากตอนอยู่ mars space แต่ครั้งนี้พี่จีสามารถยืดอกพูดได้อย่างเต็มปากแล้วว่าแนวที่เขาถนัดและสามารถทำให้มันแข็งแรงมากที่สุดคือนิยายแปลญี่ปุ่น 

     “ตลาดวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นบ้านเราเป็นเซอร์เคิลที่ไม่มีวันตาย พอผ่านยุคนึงก็จะมีงานอีกยุคนึงเข้ามาเสริม ไม่มีช่วงไหนที่จะแผ่วอย่างชัดเจนเลย”

     ยกตัวอย่างหนังสือที่พี่จีเคยทำก็มี ตับอ่อนเธอนั้นขอฉันเถอะนะ, พรุ่งนี้ผมจะเดตกับเธอคนเมื่อวาน รวมไปถึงบรรดาผลงานของนักเขียนสุดป๊อปแห่งยุคอย่างฮิงาชิโนะ เคโงะ ก็มีหลายเล่ม เช่น ความลับ, จดหมายจากฆาตกร และ ฆาตกรรมคืนฝนดาวตก 

     ถ้าดูจากรายชื่อด้านบนแล้ว บอกได้เลยว่าแต่ละเล่มนั้นไม่ธรรมดาทั้งยอดขายและความนิยมในตลาด ดังนั้นอนาคตของสำนักพิมพ์ก็ไม่น่าจะมีอะไรต้องเป็นห่วง

     จนกระทั่งต้นปี 2020 ทางบริษัทโมโนมีแผนปรับลดขนาดองค์กรครั้งใหญ่ และหนึ่งในแผนกที่ไม่ได้ไปต่อคือสำนักพิมพ์ทั้ง 4 หัวของพี่จี 

     “ประมาณช่วงปีใหม่ก็เริ่มได้ข่าวว่าเขาจะยุบแผนกของเราแล้ว ซึ่งตอนนั้นเราแพลนหนังสือของทั้งปีไว้หมดแล้วนะ พอเพื่อนๆ พี่ๆ ในวงการเริ่มรู้ข่าวนี้ก็มีชวนเราไปทำงานด้วยเหมือนกัน ซึ่งต้องขอบคุณทุกคนมากๆ เลย แต่ในใจเราตอนนั้นคิดว่าอยากจะทำอะไรที่มาจากตัวตนของเราจริงๆ เรารู้สึกว่ายังมีอีกหลายอย่างที่เรายังอยากจะลองทำในงานสายนี้

     เราปรึกษากับคุณบิ๊ก—วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร (กองบรรณาธิการในทีมขณะนั้น) ว่าจะเอายังไงต่อกันดี แต่ไหนๆ พวกเราก็รู้ขั้นตอนการทำหมดแล้ว งั้นก็ออกมาทำกันเองเถอะ เราใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการฟอร์มทีมใหม่ พูดคุยกับพาร์ตเนอร์ที่มาลงทุน วางไลน์อัพหนังสือที่จะเปิดตัวตลอดทั้งปี แล้ววันที่ 2 มีนาคม 2020 ก็เปิดบริษัทใหม่เลย”

Biblio

     แม้จะดูเป็นการเปิดสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน แต่พี่จีบอกว่ามันแปลกที่เหมือนเขาพร้อมเต็มที่แล้ว 

     “ต้องบอกก่อนว่าตอนที่ทำโมโน เรามีอิสระหลายอย่าง แต่การทำบริษัทใหญ่ก็มีเงื่อนไขบางอย่าง เราอยากลองทำอะไรที่เป็นตัวเราเองร้อยเปอร์เซ็นต์ดูบ้าง เหมือนเป็นความมั่นใจลึกๆ ว่าสิ่งที่เราคิดไม่ได้ผิดนะ ทั้งในเชิงธุรกิจหรือเนื้อหาหนังสือที่จะทำ พอโจทย์มาแบบนี้มันก็ไปกระตุ้นความพร้อมข้างในที่เราก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่ ทำให้เราใช้เวลาน้อยมากในการตั้งสำนักพิมพ์

     กายพร้อม ใจพร้อม เราทำได้! (พี่จีไม่ได้กล่าวอีกครั้ง) พี่จีเล่าว่าไม่เพียงแต่ความพร้อมในใจที่มีอย่างเต็มเปี่ยม แต่จังหวะทุกอย่างล้วนเป็นใจ

     “เราไม่คิดอะไรมากเลยในการเปิดบริษัท คิดชื่อสำนักพิมพ์แค่ไม่กี่วัน ด้วยความที่เราอยู่กับสิ่งพิมพ์ อยู่กับหนังสือมาตลอด ถ้ามีจะสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง ก็ขอใช้ชื่อที่มันคลาสสิกแล้วกัน ซึ่งคำว่า Biblio (แปลว่าหนังสือ) เหมือนเป็นคำพื้นฐานของคนที่ชอบอ่านหนังสือ เวลาไปเมืองนอกจะเจอคำนี้บ่อยมาก เป็นทั้งร้านหนังสือ ร้านกาแฟ เราก็โอเค งั้นตั้งชื่อสำนักพิมพ์ว่า Biblio เลยแล้วกัน ใช้เวลาออกแบบโลโก้น้อยมาก โชคดีที่ได้ร่วมงานกับนักออกแบบที่เก่งอย่างคุณสุรเชษฐ์ ศิลปบรรเลง (หรือที่รู้จักในชื่อ PIE ) ส่วนที่ตั้งบริษัทก็ไปเดินหาเอาใกล้ๆ บ้าน เพราะแต่ก่อนออฟฟิศอยู่แจ้งวัฒนะ ขับรถไปกลับวันละเกือบแปดสิบกิโลฯ คิดตลอดเลยว่าถ้าได้ตั้งบริษัทเองจะเลือกใกล้บ้านไว้ก่อน แล้วก็เจอที่ถูกใจง่ายมาก แทบไม่มีอุปสรรคอะไรที่จะขวางไม่ให้เราเปิดสำนักพิมพ์

     “ตอนแรกบริษัทเริ่มต้นกันสามคน (คุณบิ๊ก—วีระวัฒน์ เตชะกิจจากร, คุณเอ็กซ์—กฤษณ์ปกรณ์ รอดภัย) โดยมีเราดูแลภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่คัดเลือกหนังสือ และการออกแบบต่างๆ ส่วนคุณบิ๊กดูแลเรื่องลิขสิทธิ์หนังสือ แล้วก็ร่วมคัดสรรหนังสือ ดูแลต้นฉบับ มีคุณเอ็กซ์คอยดูแลการตลาด ดีลเรื่องการจัดจำหน่ายต่างๆ การส่งขายตามร้านหนังสือออนไลน์ ช่วงเริ่มต้นแทบจะไม่ได้พึ่งพาคนอื่นเลย คอนเทนต์บนเพจก็เขียนกันเอง (หัวเราะ) ทุกอย่างแมนวลไปหมด”

     อีกหนึ่งโจทย์ยากของสำนักพิมพ์ใหม่แกะกล่องคือจะทำยังไงให้คนรู้จักได้เร็วที่สุด ซึ่งพี่จีมองว่าทางลัดของคำตอบนี้คือการประกาศไลน์อัพหนังสือตั้งแต่เปิดสำนักพิมพ์

     “พอทำแบบนั้นแล้วคนอ่านก็เห็นเทสต์ในการคัดเลือกหนังสือของเรา แล้วเขาก็คงรู้สึกอุ่นใจที่จะกดติดตามสำนักพิมพ์นี้ หลังจากนั้นเราก็เริ่มเห็นหลายสำนักพิมพ์ใช้วิธีประกาศไลน์อัพหนังสือตัวเองล่วงหน้าเหมือนกัน เราว่ามันชวนให้คนออกมาสนุกกับงานที่ตัวเองทำมากขึ้น ไม่ต้องเก็บไว้แล้วค่อยไปปล่อยตอนงานสัปดาห์หนังสือฯ แถมสำนักพิมพ์ต่างๆ ยังสร้างความคึกคักให้กับวงการหนังสือได้ด้วย 

     “แต่อย่าลืมว่าเงื่อนไขสำคัญที่เราต้องทำแบบนั้นคือเราเจอโควิด-19 ระลอกแรกตั้งแต่เปิดสำนักพิมพ์เลย มีล็อกดาวน์ มีเคอร์ฟิว เราเพิ่งจะมีหนังสือออกมาเล่มเดียว ถ้าอยู่นิ่งๆ ไป คนอาจลืมเราแน่

     “ช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรก เราตัดสินใจส่ง Last Letter จดหมายรักฉบับสุดท้าย, ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ แล้วก็ Actually I’m Introvert ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการทำด้วยประสบการณ์ผสมสัญชาตญาณล้วนๆ เลย เพราะเรามองว่าหนังสือของเราไปได้แน่ เราต้องมั่นใจนะ ถ้าไม่มั่นใจจะทำไม่ได้เลย มันจะกลัวและกังวลไปหมด โควิด-19 กำลังระบาด ทุกคนอาจจะไม่ซื้อหนังสือ ร้านหนังสือก็ปิด หรือถ้าจะปล่อยหนังสือออกไปในช่วงนี้ในฐานะสำนักพิมพ์ใหม่ ซึ่งแบรนด์ของเราแข็งแรงพอหรือยัง แต่พอเราตัดสินใจเองทั้งหมด ก็ไม่กลัวอะไรแล้ว บวกกับมีโชคด้วยที่หนังสือที่ออกมามียอดขายเข้าเป้า ทำให้บริษัทมี cash flow ไหลเวียนมากพอ ถ้าหนังสือล็อตแรกขายไม่ได้ คือจบเห่เลยนะ ม้วนเสื่อกลับบ้าน (หัวเราะ)”

อาณาจักร 3 B

     นอกจากประสบการณ์การทำหนังสือที่สั่งสมมาจากตอนทำโมโนแล้ว อีกหนึ่งไอเดียที่พี่จีหยิบติดกระเป๋ามาเมื่อต้องตั้งบริษัทของตัวเองคือการแตกไลน์สำนักพิมพ์ออกเป็นหลายๆ หัว

     “เราได้บทเรียนมาแล้วว่าการที่จะทำให้ Biblio เป็นที่จดจำ แบรนด์ย่อยแต่ละตัวต้องมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งสิ่งที่เราทำให้ชื่อมกันคือการใช้ตัว B เป็นตัวแรกของชื่อสำนักพิมพ์ทั้งหมด นั่นก็คือ Bibli, Being และ Beat 

     “Bibli จะพิมพ์งานแปลเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี พูดตามตรงก็คือ Biblio ที่ตัด o ออกเท่านั้นเอง เราต้องการชื่อที่ออกเสียงแล้วน่ารัก แล้วเราว่าบิบลิก็เป็นชื่อที่ดูเป็นมิตรกับนักอ่านผู้หญิงด้วย 

     “Being มาจากที่เราเคยทำหนังสือ อิคิไก กับ วะบิ ซะบิ มาก่อนสมัยที่อยู่โมโน เลยคิดว่าน่าจะทำสำนักพิมพ์ที่พูดถึงการมีอยู่ของชีวิตไปเลยดีมั้ย คำว่า Being หมายถึงการมีอยู่หรือดำรงอยู่ จึงคิดว่าอยากให้บีอิ้งเป็นสำนักพิมพ์ที่มีทั้งเรื่องปรัชญา ประวัติศาสตร์ และความเรียง เป็นสำนักพิมพ์ที่น่าจะตอบคำถามเรื่องการมีชีวิตอยู่ในหลายๆ รูปแบบได้ 

     “ต่อมาที่ Beat เรามองว่างานแปลนิยายตะวันตกควรจะสร้างความตื่นเต้นให้กับหัวใจ ซึ่ง Beat คือจังหวะการเต้นบางอย่าง มันคือหนังสือที่จะทำให้จังหวะหัวใจของคุณเต้นผิดปกติ ยึดโยงไปถึงการออกแบบโลโก้ของเราด้วย ในตัว e จะค่อนข้างไม่เป็นระเบียบ มีไดนามิกที่สั่นไหวอยู่ สะท้อนว่านิยายของ Beat จะทำให้คุณตื่นเต้น ประทับใจ หรือความรู้สึกซาบซึ้งก็ตามแต่

ฮาวทูกดสูตรให้หนังสือแมส

     เมื่อมีสำนักพิมพ์ถึง 3 หัวในเครือ เราจึงสนใจว่าพี่จีมีวิธีการบริหารทีมยังไง

     “ทีมเราไม่ได้ใหญ่มาก เราเลยรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแบ่งให้ชัดเจน เพราะกอง บ.ก.ที่รับมาแต่ละคนก็มีความสนใจหลากหลาย การให้อิสระกับการทำงานจะทำให้ทีมรู้สึกว่าเขาไม่ได้ถูกบังคับให้อยู่กับหนังสือประเภทเดียว 

     “แต่ถ้าโดยหน้าที่ เราเป็นบรรณาธิการบริหารก็จะคอยดูภาพรวม เป็นเซนเตอร์ของทุกยูนิต เมื่อก่อนเราจะตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเองเป็นหลัก แต่พอทีมใหญ่ขึ้น ได้คนมีฝีมือมาร่วมงาน เราก็แชร์กันเยอะขึ้น ซึ่งดีเหมือนกัน เพราะเราอยู่กับงานตรงนี้มานาน บางครั้งคิดว่าแอตติจูดแบบนี้ดีแล้ว แต่จริงๆ พอได้ความคิดหรือมุมมองใหม่ๆ เข้ามา มันช่วยให้เรามองงานชิ้นนึงได้หลากหลายและกลมมากขึ้น”

     ส่วนการคัดเลือกต้นฉบับ พี่จีเล่าว่ามีทั้งที่พี่จีเป็นคนเลือก ได้รับข้อเสนอจากเอเจนซี่ ให้ทุกคนในทีมมีอิสระในการไปหาเล่มที่อยากทำแล้วมาเสนอ หรือบางทีก็ไปเจอในร้านหนังสือก็มี

     “สุดท้ายไม่ว่าจะมาจากแหล่งไหน มันจะมาอยู่ในห้องประชุม ทุกคนจะช่วยกันซักค้านว่าเล่มนี้มีข้อดีข้อเสียยังไง แล้วก็จะได้ข้อสรุปว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่โดยภาพรวมก็ยังเป็นหนังสือในกลุ่มที่เราชอบอยู่”

     เรายังไม่หยุดล้วงความลับด้วยการถามต่อถึงเรื่องการแย่งชิงลิขสิทธิ์หนังสือ เพราะเห็นว่าช่วงหลังมานี้ทุกเครือใน Biblio ได้ตีพิมพ์งานของนักเขียนดังๆ หลายคนมาก ไม่ว่าจะเป็นฮิงาชิโนะ เคโงะ, มินะโตะ คะนะเอะ หรือกระทั่งเจ้าพ่อนิยายสยองขวัญอย่างสตีเวน คิง 

     “มีตลอดเลย (หัวเราะ) โดยเฉพาะงานของนักเขียนนิยายญี่ปุ่น เพราะมีหลายแบบมาก ตั้งแต่ดังมากๆ ไปจนถึงโนเนมก็มี เวลาวางเหรียญบนโต๊ะ เราจะเห็นแค่ด้านนึงของมัน แต่หน้าที่ของเราคือต้องพลิกเหรียญนั้น แล้วดูว่าอีกด้านมีอะไรน่าสนใจซ่อนอยู่หรือเปล่า 

     “การทำหนังสือก็เหมือนกัน สมมติว่าเราทำหนังสือจากนักเขียนโนเนม เราอาจจะต้องมาดูรายละเอียดว่าน่าสนใจยังไง นักเขียนไม่ดังแต่เมสเซจมีพลัง หนังสือก็สามารถประสบความสำเร็จในมุมของมันได้ ฉะนั้นในพาร์ตนึงเราจะพยายามหาอีกด้านหนึ่งของเหรียญเสมอ

     “แต่ในอีกทิศทางนึง เราก็อยากจะลองกับงานเมเจอร์เหมือนกัน นักเขียนที่เราลองทำคือฮิงาชิโนะ เคโงะ เราเคยพิมพ์งานของเคโงะตั้งแต่ตอนอยู่โมโน พอย้ายมาก็เอามาผลักดันต่อในนามของ Bibli ซึ่งมีหลายเล่มที่เราติดต่อไปแล้วไม่ได้ เลยเริ่มรู้ว่าถ้าจะทำงานของนักเขียนชื่อดังที่มีตลาดใหญ่ในบ้านเรา ต้องใช้เรี่ยวแรงและพลังเยอะเหมือนกันกว่าจะได้ลิขสิทธิ์มา

     “พอได้ลองทำ เรามีความสุขในการหาอีกด้านหนึ่งของเหรียญมากกว่า แต่งานเมเจอร์ก็ไม่ได้ทิ้งนะ ถ้ามีงานไหนที่ดูแล้วเหมาะกับเราก็จะลองทำ แต่โดยสัดส่วนอาจจะไม่เยอะเท่างานกระแสรองที่เราพยายามทำกันอยู่ คือตลาดวรรณกรรมญี่ปุ่นใหญ่มากจริงๆ มีวัตถุดิบดีๆ ให้ทำเยอะมาก แล้วก็ไม่ได้มาจากนักเขียนดังอย่างเดียว ยังมีนักเขียนคุณภาพอีกหลายคนซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา หลายคนก็มีงานที่น่าสนใจ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไปหามาให้ได้

     “ขนมปังของวันพรุ่งนี้ แกงกะหรี่ของเมื่อวาน เป็นตัวอย่างของการหาอีกด้านนึงของเหรียญ เพราะว่าตอนที่ตัดสินใจเอาเล่มนี้มาทำ เรารู้สึกว่าเนื้อเรื่องที่ได้จากเรื่องย่อค่อนข้างมืดมน แต่พอได้มาอ่านดีเทลจริงๆ ก็พบว่ามันฟีลกู้ดมากเลยนะ มันไม่ได้บอกเล่าความเศร้าด้วยท่าทีจริงจังขนาดนั้น ยังมีอารมณ์ขัน มีคาแรกเตอร์ของตัวละคร มีแอตติจูดของคนเขียนที่ว่า ต่อให้เจ็บปวดแค่ไหน ก็ยังมีช่องทางให้เราไหลผ่านไปได้ ชีวิตจะหาทางออกให้เราเองเสมอถ้าเราไม่ถอดใจไปก่อน เรารู้สึกว่านิยายเล่มนี้เปลี่ยนวิธีคิดบางอย่างของเราไปเลย เป็นเล่มที่ฟีดแบ็กดีและขายดีรองลงมาจาก ปาฏิหาริย์แมวลายส้มฯ กับ ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ”

     ส่วนเรื่องที่สำนักพิมพ์หลายเจ้าลงมาเล่นในตลาดนิยายแปลเอเชียเยอะขึ้น พี่จีมองว่านิยายจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวันนั้นมีเยอะและหลากหลายมาก ธุรกิจสิ่งพิมพ์ประเภทพ็อกเก็ตบุ๊กในประเทศเหล่านั้นไม่มีวันตายง่ายๆ เพราะเขาทั้งผลิตและส่งออก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีหนังสือออกมาเรื่อยๆ 

     “เราเองเป็นผู้ซื้ออย่างเดียวก็มีหนังสือให้เลือกเยอะอยู่แล้ว แล้วหนังสือที่เราทำ เราไม่สามารถทำได้หมดคนเดียว มันมีต้นฉบับเพียงพอสำหรับทุกสำนักพิมพ์ ไม่ว่าใครจะทำก็ตาม 

     “สุดท้ายเราก็ต้องผลักดันแบรนด์ให้แข็งแรงแหละ อยากให้ Biblio เป็นแบรนด์ที่คนเชื่อถือ เราพยายามหาช่องทางใหม่ๆ เสมอ โดยไม่ยึดติดว่าต้องทำหนังสือแบบ ปาฏิหาริย์แมวลายส้มฯ ไปทุกปี ปีหน้าจะมีอะไรเซอร์ไพรส์อีกเยอะเลย”

     เรายังไม่หยุดรับบทนางนาตาชา คำถามต่อไปคือเรื่องแนวทางหนังสือแปลเอเชียหรือน็อนฟิกชั่นกึ่ง self-help ซึ่งเป็นแนวทางหลักของสำนักพิมพ์ Bibli และ Being ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้อ่าน เราเลยอยากรู้ว่าพี่จีสนใจแนวนี้มาตั้งแต่แรกหรือมองออกว่ามาแน่ ขายได้แน่นอน

     “เวลาเข้าร้านหนังสือหรือเว็บไซต์ต่างชาติ เราชอบไปหาอะไรแปลกๆ อ่าน เข้าไปศึกษาว่าเขาสนใจอะไรกัน ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องที่พูดในต่างประเทศจะมาเป็นท็อปปิกในบ้านเรานะ แค่เข้าไปดูว่ากระแสโลกพัดไปทางไหน คนกำลังประสบปัญหาหรือโหยหาอะไร ซึ่งพอเข้าไปอ่านหรือศึกษาเรื่องราวของคนในต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เรากลับมาคิดได้ว่ามันมีบางอย่างที่คนไทยน่าจะต้องการเหมือนกัน 

     “เรารู้สึกว่างานของญี่ปุ่นค่อนข้างจะมีคอนฟลิกต์บางอย่างที่ใกล้เคียงกับสังคมไทย มักจะตั้งคำถามว่าชีวิตต้องเป็นแบบนี้เหรอ เรียนจบออกมา เข้าสู่การทำงาน มีทางอื่นอีกมั้ยที่จะเปลี่ยนแปลงได้ หรือกระทั่งคนที่มีบาดแผล คุณล้มเหลว แล้วคุณยังสามารถมีความสุข มีความหวัง หรือจัดการกับความเจ็บปวดยังไง หนังสือที่เราพยายามทำจึงเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในการเข้าไปตอบคำถามเหล่านี้ 

     “มันไม่ใช่แค่คนไทยหรอก แทบทุกคนบนโลกนี้ก็เจอคำถามนี้ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่กระแสของคำถามอาจจะเดินทางมาถึงไทยดีเลย์กว่านิดนึง ซึ่งจังหวะที่ดีเลย์คือจังหวะที่เราต้องมองให้ออกว่าคำถามเหล่านี้จะเดินทางมาสู่คนอ่านเมื่อไหร่ เราก็จะได้หาหนังสือที่ตอบคำถามเหล่านี้รอไว้ เพื่อเตรียมตอบคนอ่านในวันที่คำถามมาถึงมาแล้ว

     “ส่วนตัวเราเองชอบตั้งคำถามกับชีวิตว่าเราเกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ปีนี้เราอายุ 43 แล้ว แต่ยังจำชีวิตช่วง 24-25 ได้อยู่เลย ใช้ชีวิตสะเปะสะปะ ทำหนังสือ ทำนิตยสาร ช่วงชีวิตที่ผ่านมามันมีคำถามเกิดขึ้นเยอะมากว่า จริงๆ ที่เราทำมาตลอดมันมีประโยชน์กับคนอื่น กับโลกใบนี้มั้ยวะ ทุกวันนี้ก็ยังคิดเรื่องนี้อยู่ ในเมื่อเรายังหาคำตอบนี้ไม่ได้ เราก็หามันผ่านหนังสือที่เราทำนั่นแหละ 

     “หวังว่าแค่สักเสี้ยวนึงของหนังสือที่เราทำจะไปตอบคำถามในใจคนได้ สิ่งที่หวังคือเท่านี้เอง หนังสือที่เราทำน่าจะทำให้ใครสักคนได้พบกับคำตอบในชีวิตของตัวเอง”

สามเป้าหมายของ Biblio

     หลังจากล้วงความลับ เอ้ย พูดคุยกันมาอย่างยาวนาน ก่อนจะจากกันไปเราจึงขอถามส่งท้ายว่าพี่จีอยากจะเห็น Biblio เติบโตไปในทิศทางไหน

     “พอเราทำสำนักพิมพ์มานาน เราวางเป้าหมายของตัวเองไว้ว่าภายใน 5 ปี Biblio ต้องเติบโตขึ้นทั้งในเรื่องธุรกิจและคอนเทนต์ โดย core business ของเราคือการทำหนังสือ แต่เราพยายามที่จะเอาคอนเทนต์จากหนังสือแตกไลน์ออกไปให้มากขึ้น ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องทำเอง แต่หาพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เช่น เราไปร่วมกับ Storytel ในการทำ วะบิ ซะบิ เป็น audio book โดยให้คุณนิ้วกลมมาอ่าน เราอยากให้หนังสือบางเล่มของเราอยู่ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่อีบุ๊กเท่านั้น ถ้าอนาคตมีแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่สามารถปรับคอนเทนต์ให้เป็นแบบนั้นได้ เราก็อยากลองเหมือนกัน 

     “ในเรื่องของธุรกิจ ตอนนี้เรามองว่าตัวเองเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ภายใน 5 ปีเราอยากจะเป็นสำนักพิมพ์ขนาดกลางที่สามารถทำหนังสือได้มากขึ้นและหลากหลายขึ้น เพื่อให้ Biblio เป็นบ้านที่รองรับคนอ่านได้มากกว่าเดิม 

     “ส่วนเป้าหมายของสำนักพิมพ์โดยตรง เรามองว่าวงการพ็อกเก็ตบุ๊กค่อนข้างเหนื่อยนะ เราไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุดหรือดีที่สุดเหมือนเมื่อก่อน เราว่าตอนนี้ทุกสำนักพิมพ์ต้องพยายามเยอะมากเพื่อจะมีที่ยืนในวงการนี้ ทุกคนเป็นทั้งคู่แข่งและพันธมิตร ต้องต่อสู้กับสไตล์ของคนอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด โควิด-19 ก็ด้วย ความสำเร็จเมื่อสองปีที่แล้วอาจไม่ใช่คำตอบของวันนี้แล้ว คุณไม่สามารถทำอะไรออกมาแล้วคิดว่ามันจะขายได้อีกต่อไป การทำหนังสือออกมาสักเล่มในทุกวันนี้คุณต้องแม่นยำระดับหนึ่ง 

     “อย่าลืมว่าหนังสือเล่มนึงมันมีต้นทุน พูดง่ายๆ คือทำหนังสือเล่มนึงคือเป็นหนี้แล้วนะ (หัวเราะ) คนทำหนังสือต้องคิดเยอะขึ้นกว่าเดิม บ.ก.สมัยใหม่ต้องสวมหมวกหลายใบมากขึ้น วันนึงคุณต้องไปดีลการตลาด อีกวันต้องไปเขียนคอนเทนต์ อีกวันก็ไปคัดเลือกหนังสือ แล้วเรายังอยู่ในยุคที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ประเภทพ็อกเก็ตบุ๊กไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจังอีก ไม่มีเลย เราทำหนังสือแปลของไต้หวัน เราได้เงินทุนมานะ เราเอาหนังสือเขามาแปล แต่ไต้หวันให้เงินเรา เพราะมันเป็น Soft Power ประเทศที่มีวิสัยทัศน์เขามีทุนในการสนับสนุนตรงนี้ ซึ่งมันสามารถลดอาการบาดเจ็บของเราได้ในกรณีที่ขายไม่ดี แต่บ้านเราเคยมีมั้ย ไม่มี ฉะนั้นคนทำหนังสือยุคนี้ก็ต้องดิ้นรนกันเอง 

     “ในฐานะคนทำหนังสือมันมีมุมที่แข่งขันกัน แต่ในภาพรวม เราคือคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพราะงั้นอะไรที่เราซัพพอร์ตกันได้ เราก็ทำ เราอยากให้หนังสือทุกเล่มขายดี วงการจะได้อยู่ได้ ไม่มีใครอยู่ได้เพราะหนังสือของฉันขายดีอยู่คนเดียว

     “ขณะเดียวกัน คนอ่านก็ยังไม่ทิ้งเรานะ คนอ่านยังอยู่กับเรา มันเลยทำให้เราพยายามให้กำลังใจตัวเองและอยากให้กำลังใจเพื่อนสำนักพิมพ์ด้วยกัน”