Wed 16 Jun 2021

BOOK IS NOT DEAD

เรื่องราวเบื้องหลังของ ‘หายหายและหลายๆ ใบ’ คนทำหนังสือทำมือที่สนุกกับการคิด เขียน ทำ และขายด้วยตัวเอง

     ถ้าคุณเป็นคนที่จัดเก็บผลงานทุกเล่มของนักเขียนคนหนึ่งเอาไว้ด้วยกัน คุณอาจงงงันทุกครั้งเมื่อได้จับผลงานของ ‘หายหายและหลายๆ ใบ’ หรือ ‘เอ๋ย—ปัญจพร ไชยชมภู’ เพราะเรื่องเล่าของนักเล่าเรื่องคนนี้ ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ลงแค่บนกระดาษ ไม่ได้มาแค่ในรูปแบบหนังสือ แต่ถูกบรรจุไว้ในสิ่งละอันพันละน้อย มาในหลายหีบห่อ เหมือนภาชนะที่บรรจุสิ่งของต่างรูปแบบกัน

     หายหาย รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเอ๋ย มาในรูปแบบหนังสือปกแข็ง เข้าเล่มด้วยการเย็บด้าย ภายในนอกจากมีตัวหนังสือเรียงราย บางช่วงยังมีโพสต์อิต และซองจดหมายสอดรับกับเรื่องราว

     Wordpool โปรเจกต์การเล่าเรื่องผ่านคำที่เอ๋ยสนใจ นำคำที่ตั้งโจทย์ไว้มามองในมุมใหม่เพื่อหาความหมายที่อาจต่างจากที่เราเข้าใจ เช่นกันกับวิธีการนำเสนอที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบหนังสือเสมอไปก็ได้ จะเป็นแฟ้ม คลิปบอร์ด หรือใส่ซองเอกสารก็เป็นหนังสือได้เหมือนกัน

     ศตวรรษที่ 1 ผลงานล่าสุดของเอ๋ย ใช้วิธีการเขียนด้วยมือทั้งเล่ม มาในรูปแบบของสมุดขนาด A6 ภายในมีทั้งข้อเขียน ภาพวาด ภาพถ่าย และกระดาษ ที่เมื่อพลิกดูแล้วให้ความรู้สึกเหมือนว่าผู้อ่านไปพบเจอสมุดบันทึกของใครคนหนึ่งตกอยู่ 

     เหล่านี้คือตัวอย่างผลงานส่วนหนึ่งที่ทำให้การจัดเก็บหนังสือของเอ๋ยเอาไว้ด้วยกัน อาจเหมือนการเก็บอุปกรณ์บนโต๊ะเครื่องเขียนมากกว่าการจัดเก็บหนังสือเข้าชั้น

     ในมุมของคนอ่านคนหนึ่ง เราสนุกที่ได้เห็นหนังสือรูปทรงหลากหลายไม่ซ้ำแบบกัน และตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นเอ๋ยแจ้งข่าวว่ากำลังจะมีหนังสือเล่มใหม่ 

     แต่ขณะเดียวกัน เวลาเห็นงานใดๆ ของเอ๋ย เราก็อยากรู้ว่าเอ๋ยคิดอะไร และอะไรเอ่ยที่ทำให้เอ๋ยทำหนังสือออกมาแบบนี้ 

     หนังสือของเอ๋ยเป็นหนังสือทำมือ หรือซีน (zine) การทำหนังสือแบบแฮนด์เมดที่เล่าเรื่องได้ตามใจ จะเขียน จะวาด จะใส่ภาพ หรือทำแบบไหนก็ได้ เพราะซีนคือพื้นที่การเล่าเรื่องอันเปิดกว้าง ไม่มีขอบเขตใดมาตีกรอบ ไม่ต้องมีบรรณาธิการหรือสำนักพิมพ์คอยกำกับให้ต้องกวนใจ

     ช่วง 2-3 ปีมานี้ วงการซีนบ้านเรากลับมาคึกคัก มีผู้คนหันมาเล่าเรื่องและผลิตกันเองจำนวนมาก มีงานที่เปิดโอกาสให้นักทำซีนได้เอาไปวางขาย ไม่ว่าจะเป็น Bangkok Art Book Fair งาน Make a Zine ของนิตยสาร a day หรือแม้แต่การเปิดรับฝากขายซีนของบางบูทในงานหนังสือแห่งชาติ

     แต่เอ๋ยในนามของ หายหายและหลายๆ ใบ ก็ไม่ใช่คนทำซีนหน้าใหม่ เอ๋ยทำหนังสือทำมือมาอย่างต่อเนื่อง หอบ หายหาย ไปวางขายในงาน Noise Market ตั้งแต่ปี 2014 จนตอนนี้มีผลงานทั้งหมด 9 เล่ม ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นแค่จากอะไรง่ายๆ นั่นก็คือเอ๋ยเป็นคนชอบเขียน

หายหายและหลายๆ วัย

     เอ๋ยชอบอ่านหนังสือ เอ๋ยรู้ตัวว่าชอบการเขียน เวลาได้รับโจทย์ให้แต่งเรื่องจากคำที่กำหนดให้ เอ๋ยจะสนุกมาก สมัยเด็กๆ เอ๋ยอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ แล้วรู้สึกว่าอยากเขียนนิยายให้ได้ยาวๆ แต่ด้วยความไม่รู้ว่า การจะเขียนเรื่องให้ต่อเนื่องได้ขนาดนั้น ควรมีการวางโครงเรื่อง มีการสร้างตัวละครอย่างจริงจัง เอ๋ยในวัยนั้นเลยล้มเลิกไปหลังจากเขียนได้ไม่กี่หน้า

     แต่เอ๋ยยังไม่ทิ้งการเขียน เอ๋ยเขียนบันทึกอยู่เสมอ จนช่วงเรียนมหาวิทยาลัย (เอ๋ยเรียนภาควิชา Communication Design (CommDe) ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) เอ๋ยก็ค้นพบว่า เรื่องบางเรื่อง การเขียนความจริงช่างเจ็บปวด หากเอ๋ยอยากบันทึกมันไว้ อย่างน้อยเขียนเป็นเรื่องสั้นก็ยังดี

     “วัยรุ่นช่วงหนึ่งจะมีความเจ็บปวดอะไรหลายๆ ด้าน บางเรื่องแค่จะเขียนออกมา เรายังเขียนไม่ได้เลย ก็เลยเริ่มเปลี่ยนให้มันเป็นเรื่องสมมติ แต่จริงๆ แล้วมันก็บันทึกความทรงจำบางช่วงของเราไว้

     “บางทีเราอยากเก็บโมเมนต์ที่นั่งคุยกับคนคนหนึ่ง แต่ไม่อยากเขียนออกมาตรงๆ เพราะเราสนิทกับเพื่อนมาก เพื่อนสามารถเปิดสมุดอ่านได้เลย เพื่อนรู้ทุกอย่างในชีวิต เรื่องบางเรื่องเราเลยจะเขียนเป็นเรื่องสั้น แล้วเราก็จะรู้คนเดียวว่าอันนี้คืออะไร เรื่องที่เราเขียนก็จะผสมๆ กันกับเรื่องแต่งกับเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งก็อาจจะไม่ได้จริง 100 เปอร์เซ็นต์นะ ก็ต้องมีการบิดอะไรหน่อย แต่ก็มีเค้าโครงมาจากชีวิตเราแหละ แทบทุกเรื่องที่เราเขียนเลยเป็นเหมือนไลฟ์เจอร์นัล (life journal) ของเรา”

     ต่อให้เอ๋ยจะจำกัดความการเขียนของตัวเองเอาไว้ว่าคือเรื่องสั้น แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามันต้องมีเส้นเรื่องจริงจัง ต้องมีผลจากการกระทำของตัวละครปรากฏให้เห็นชัดเจน เพราะเรื่องสั้นของเอ๋ยเล่าเรื่องประมาณนี้

     ดูเผินๆ อาจมีความยาวไม่ต่างอะไรกับสเตตัสเฟซบุ๊กของเพื่อน หรือเป็นการเล่าเรื่องที่ชวนให้เราสงสัยว่านี่เรื่องย่อหรือเรื่องสั้น ถึงอย่างนั้น ข้อความสั้นๆ ของเอ๋ยกลับกระตุ้นให้อยากรู้เรื่องราวของตัวละครเหล่านี้ต่อเหลือเกิน 

     เอ๋ยบอกว่า นี่คือความตั้งใจ และต่อให้เรื่องอาจดูเหมือนขาดๆ หายๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขียนไม่เสร็จ

     “หลายๆ ครั้งการเขียนเรื่องสั้นของเรามันเกิดจากการนั่งเฉยๆ แล้วคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย สมมติเห็นรถเมล์วิ่งผ่านไปแล้วมีคนเดินมา เราก็จะคิดแบบว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา มันสามารถเป็นแบบนี้ได้หรือเปล่า แล้วบางทีเราเห็นภาพของสิ่งที่เราคิด คนนั้นเดินขึ้นไปตรงนี้ ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ จนมันจบ 

     “เหมือนเวลาดูทีวี เรากดผ่านไปเจอหนังหนึ่งเรื่องแล้วดูไปสักครึ่งนาที แล้วพอเปลี่ยนไปช่องอื่น มันก็จบลงตรงนั้น เราก็เลยเขียนเรื่องสั้นเท่านั้น แต่เรื่องที่ยาวก็มีนะ เพราะเรารู้สึกว่ามันไปต่อได้ ถึงอย่างนั้น คนอ่านก็จะชอบถามว่า แล้วมันยังไงต่อ สรุปไอ้คนนี้ตัดสินใจยังไงวะ ซึ่งเราชอบปล่อยทิ้งไว้ให้คนคิดต่อ รู้สึกว่าถ้าเขียนต่อไปก็ฝืน 

     “แต่เอาจริงๆ เราก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะเราก็รู้แค่นี้”

หายหายและหลายๆ ใบ

     นอกจากเพื่อนที่เปิดอ่านเรื่องสั้นในสมุดบันทึกของเอ๋ยแล้วพากันบอกว่าชอบมาก (โดยที่เอ๋ยก็สงสัยว่า เพื่อนชอบสิ่งที่เธอเขียนจริงๆ หรือชอบเพราะว่าเป็นเพื่อนกันเฉยๆ) อีกปัจจัยที่ทำให้เอ๋ยเขียนเรื่องสั้นเก็บเอาไว้มากมายก็คืออาจารย์ที่คณะ ซึ่งเมื่อรู้ว่าเอ๋ยเขียนเรื่องสั้น ก็สนับสนุนให้เอ๋ยนำเรื่องเหล่านั้นมาทำเป็นส่วนหนึ่งของทีสิส เพราะด้วยเหตุที่รู้แค่ว่าอยากเล่าอะไรสักอย่าง แต่ไม่เคยหยิบยกเรื่องที่ตัวเองเขียนมาเล่าสักที ส่งผลให้จากที่เขียนเรื่องสั้นเมื่อนึกขึ้นได้ ก็กลายเป็นต้องเขียนให้ได้วันละ 10 เรื่อง เพื่อที่จะเลือกแค่เรื่องเดียว

     “การบังคับให้ตัวเองเขียนเยอะขนาดนั้น ทำให้มีเรื่องที่ไม่ถูกเลือกไปทำทีสิสเยอะมาก” เอ๋ยบอก

     แต่ต่อให้ทำทีสิสจบแล้ว เรื่องสั้นกับเอ๋ยก็ยังไม่จบกัน เธอเก็บเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้ และเมื่อเพื่อนที่เคยไปออกบูทขายของในงาน Noise Market ครั้งก่อนๆ มาชวนให้เอ๋ยทำหนังสือทำมือไปขาย ขั้นตอนของการคัดเลือกเรื่องไปรวมเล่มก็เกิดขึ้น

     “ตอนนั้นเรายังไม่เคยทำเลยด้วยซ้ำ แต่พอเพื่อนมาบอกว่าไปสิ ทำหนังสือเลย รวมเล่มเลย เราก็คิดว่าลองดู เริ่มทำขึ้นมาเลย 

     “ชื่อ ‘หายหายและหลายใบๆ’ ก็มาจากงานนี้ ตอนแรกตั้งเพื่อจะนำใช้เป็นชื่อบูทแค่นั้น ไม่ได้มีการนั่งคิดอะไร ก็คือทำหนังสือเล่มแรกขึ้นมา ชื่อว่า หายหาย ส่วน ‘หลายๆ ใบ’ มาจากโฟโต้บุ๊กที่เราเอาไปขายอีกเล่มหนึ่ง เพราะว่าชอบถ่ายต้นไม้ ใบไม้ ก็เลยรวมรูปต้นไม้ไว้ในนั้น ตั้งชื่อเล่มว่า ใบใบใบใบใบ ชื่อบูทก็เลยกลายเป็น หายหายและหลายๆ ใบ

     “ทีนี้มีคนถามว่า ถ้าอยากอ่านเรื่องอื่นต้องทำยังไง จะไปหาจากไหน แล้วเราไม่ได้ทำเพจไว้ก่อน ไม่ได้ทำอะไรไว้เลย มาขายแบบซุยๆ มาก เลยบอกไปว่า เดี๋ยวทำเพจค่ะ พิมพ์หาชื่อนี้แล้วกัน คือตอนนั้นคิดว่าใช้ชื่อนี้ก็ได้ เผื่อคนที่เคยเจอจากงานหรือว่าถ้าเรามาออกบูทในปีต่อๆ ไป เขาจะได้คุ้นๆ ก็เลยใช้มาเรื่อยๆ 

     “บางทีคนจะสงสัยว่าชื่อนี้ต้องมีอะไร แต่มันไม่ได้มีอะไรมากขนาดนั้นหรอก ขอโทษด้วย (หัวเราะ)”

หายหายและหลายๆ เล่ม

     ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือทำมือ จำนวนการผลิตอาจไม่ได้เยอะมากนัก

     ครั้งแรกที่ หายหายและหลายๆ ใบ ปรากฏตัวในงาน Noise Market เอ๋ยตั้งใจว่าจะทำ หายหาย สัก 30 เล่ม แต่ด้วยความตั้งใจอยากทำหนังสือด้วยมือตัวเองทุกเล่ม เอ๋ยจึงทำไม่ทัน 

     “ตอนนั้นทำอะไรไม่เป็นเลย จัดบูทก็ไม่เป็น ไม่มีพร็อพอะไรใดๆ เลย พร็อพที่อยู่บนโต๊ะคือของที่ใช้สำหรับทำหนังสือ คือเราต้องเอาหนังสือไปเย็บที่บูท บางเล่มที่ขายคือถึงขั้นต้องบอกให้เขาไปเดินงานก่อนแล้วค่อยกลับมาเอา”

     ที่เอ๋ยทำเองในตอนนั้น มีเหตุผลสองอย่าง

     หนึ่ง—เป็นเด็กจบใหม่ ไม่มีเงินไปจ้างโรงพิมพ์ 

     สอง—เอ๋ยพอรู้ว่าต้องทำหนังสือยังไง, ไม่ใช่สิ เอาใหม่, เอ๋ยพอรู้ว่าอยากทำหนังสือของตัวเองออกมายังไง เห็นได้จากหนังสือบางส่วนของเธอ

     หายหาย (2014)

     หนังสือ, ขนาด 13 x 18.5 ซม.

     หายหาย คือจุดเริ่มต้นของเรา ถ้าใครอยากรู้ว่า หายหายและหลายๆ ใบ เป็นยังไง เริ่มต้นมาจากสิ่งไหน เราอยากให้อ่านเล่มนี้ เพราะมันคือการนับหนึ่งของเราเลย นอกจากจะเป็นเรื่องสั้นที่รวบรวมจากช่วงที่เริ่มเขียนเยอะๆ แล้ว เรายังใส่รูปที่ชอบลงไป แถม หายหาย ยังถือเป็นงานทดลองสำหรับเราในเวลานั้น

     “เราอยากทำหนังสือปกแข็ง ก็เลยหาวิธีทำปกแข็งที่ใช้งบน้อยที่สุด เข้าเล่มด้วยการเย็บด้าย หลายคนอาจจะคิดว่ามันยาก แต่จริงๆ ไม่ยากนะ แค่ต้องฝึกนิดนึง เราก็เย็บเหมือนเวลาเย็บผ้านั่นแหละ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่เราพิมพ์ซ้ำเล่มนี้บ่อย เพราะโปรดักชั่นไม่ซับซ้อน แล้วก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลงตัว คนอ่านแล้วน่าจะชอบ ถ้าใครได้อ่านก็จะไม่งงว่าอีนี่ทำอะไรอยู่ (หัวเราะ)

     “อ้อ หายหาย มีความพิเศษอีกอย่างตรงเราจะเปลี่ยนเรื่องสั้นที่อยู่ในซองจดหมายท้ายเล่มไปเรื่อยๆ แปลว่าแต่ละคนก็จะได้อ่านเรื่องตรงส่วนนี้ไม่ซ้ำกันเลย”

     สปช. (สิ่งสเปเชียล) (2015)

     หนังสือ, ขนาด 11.5 x 18.5 ซม.

     “เราเห็นพวกหนังสือเล่มเล็กๆ ของสำนักพิมพ์ต่างๆ แล้วคิดขึ้นมาว่าสามารถทำเองได้มั้ยนะ ก็เลยทดลองทำหนังสือในฟอร์แมตที่เล็กลงไปอีก 

     “ตอน หายหาย มันเหมือนฟอร์แมตอะไรก็ได้ หน้าไหนอยากลองทำอะไรก็ทำ แต่พอ สปช. เราคิดเยอะขึ้น ในด้านของเนื้อหาก็จะพูดเรื่องที่โตกว่า หายหาย ในด้านของการออกแบบ เราก็คิดว่าเรื่องนี้ควรจะอยู่แบบไหน ควรทำออกมาในรูปแบบใด ควรใช้ขนาดฟอนต์เท่าไหร่ คือเราออกแบบโดยเล่นกับขนาดของรูปเล่มที่เราจะทำด้วย เราเชื่อในขนาด เชื่อในสเปซซิง เชื่อในขอบกระดาษ เชื่อทุกอย่าง เราว่ามันเอฟเฟกต์หมด

     “นอกจากนี้ เรายังทำ สปช. โดยความคิดว่าเอาของที่มีอยู่แล้วมาทำหนังสือ เราเป็นพวกชอบสะสมของ ถ้าใครมีหนังสือของเราจะเห็นว่าในเล่มมันมีของบางอย่างอยู่เสมอ ซึ่งของพวกนั้นเราหามา สะสมมา แล้วมันมีเยอะมากๆ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เริ่มทำหนังสือ เราจะค้นดูก่อนว่ามีของอะไรให้เล่นบ้าง ถ้าอยากได้อะไรเพิ่มก็ค่อยไปหามา 

     “ส่วนพวกของที่อยู่ในเล่มนี้ก็เป็นของที่มีจำกัดมากๆ ซื้อจากร้านขายเครื่องเขียนเก่าๆ หรือของจากต่างประเทศที่หาซื้อไม่ได้แล้ว หมดแล้วหมดเลย เล่มนี้เลยลิมิเต็ดมากๆ เพราะเราไม่สามารถหาของเหล่านั้นได้อีกต่อไป รวมถึงฟอร์แมตของมันก็ค่อนข้างทำยาก ไม่ได้ปรินต์ A4 ออกมาพับแล้วจบ ถ้าจะพิมพ์ซ้ำก็คงต้องคิดฟอร์แมตใหม่ เพราะของเก่ามันเหนื่อยเหมือนกัน 

     “จริงๆ เราอยากพิมพ์เล่มนี้ซ้ำนะ เพราะนอกจากจะเป็นเล่มที่เราชอบ ตอนทำยังรู้สึกว่าเป็นเล่มที่พอดี แล้วกลายเป็นว่าคนไม่มีเล่มนี้เยอะมาก เพราะเราทำมาแค่ประมาณ 30 เล่มเอง”

     Wordpool (2016), Wordpool #2 (2016), Wordpool #3 (2019)

     แฟ้มและซองกระดาษ

     “ก่อนหน้านี้ เวลาเขียนเราจะเขียนไปเรื่อยๆ เราเลยทำ Wordpool เพราะอยากลองเขียนเรื่องที่มีธีม 

     “เรามักจะเจอคำที่น่าสนใจ ที่คนอื่นอาจไม่ได้สังเกตว่ามันน่าสนใจยังไง อย่าง Wordpool #3 เราเล่นกับคำว่า ‘เห็นไหม’ เพราะเราไปอ่านเจอมาว่าคำนี้ไม่ได้หมายถึงการเห็นด้วยตาแค่อย่างเดียว เหมือนเวลาเราพูดว่า ‘ทำอย่างนี้อีกแล้วเห็นไหม’ ‘คนนี้เป็นแบบนี้อีกแล้วเห็นไหม’ มันไม่ได้หมายถึงการมองเห็น เราไม่ต้องเห็นมันก็ได้ เรารู้สึกว่าคำนี้กำกวม แล้วก็พลิกแพลงได้เยอะ ก็เลยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการมองเห็นทั้งหมด

     “ฟอร์แมตของ Wordpool เกิดมาจากความตั้งใจว่าจะทำหนังสือที่ไม่ต้องอาศัยการเย็บ หรือเป็นหนังสือที่ต่างออกไปจากหนังสือที่เราคุ้นเคย เราอยากให้คนได้รู้ว่า ของพวกนี้มันทำง่าย ทำหนังสือในฟอร์แมตแบบนี้ก็ได้ เรายังทำและขายได้เลย

     “ช่วงสองเล่มแรกของ Wordpool เรายังใช้ฟอร์แมตคล้ายๆ เดิม แต่พอเล่มสาม เราอยากลองทำฟอร์แมตที่ใหญ่ขึ้น เพราะเราไม่ถนัดจัดเลย์เอาต์กับกระดาษที่ใหญ่ขนาดนั้น เราโอเคแค่กับไซส์ A4, A5 ซึ่งพอคิดจะทำไซส์ใหญ่ เราก็ต้องบังคับตัวเองให้เอาเรื่องสั้นๆ ของเราไปอยู่ในพื้นที่ใหญ่ๆ ขนาดนั้นให้ได้ มันก็เลยถูกระเบิดออกมาเป็นสิ่งนั้น

     “นอกจากนี้ เรายังเล่นกับเรื่องวิธีการอ่าน จากที่ปกติจะเป็นฟอนต์ใหญ่ๆ ในสเปซใหญ่ๆ ถ้ามันเป็นสเปซใหญ่แล้วฟอนต์เล็กล่ะ แถมทุกอย่างยังถูกจัดวางให้ห่างกันอีก จังหวะการอ่านก็จะเหมือนถูกชะลอ เหมือนเจอลูกระนาดบนท้องถนน เราอยากทดลองกับคนอ่านว่าเขาจะรู้สึกยังไง จากที่ Wordpool สองเล่มแรกต้องค่อยๆ อ่านทีละแผ่น เล่มนี้ก็ให้อยู่ในแผ่นเดียว วางข้อความให้คนต้องลากสายตาอ่านจากขอบหน้ากระดาษทางขวาและซ้ายซึ่งอยู่ไกลกันมาก แล้วอาจยังต้องคอยดูว่าอันนี้ถูกบรรทัดแล้วหรือยัง 

     “เราว่าการทำรูปเล่มนี้แบบนี้จะทำให้จังหวะของคนอ่านช้าลง และเปลี่ยนไปจากเดิม คือถ้าเราทำให้อยู่ในไซส์ A5 หน้าเดียว สปีดการอ่านก็คงเป็นอีกแบบ แต่อันนี้เราอยากชะลอสปีดของทุกคนโดยการดึงทุกอย่างออก

     Wordpool ก็เลยทดลองหลายเรื่องในคราวเดียวกัน ทั้งฟอร์แมต วัตถุดิบที่ทำ วิธีการอ่าน และวิธีการเขียนของเราเองด้วย”

     ศตวรรษที่ 1 (2020)

     สมุดบันทึก, ขนาด 10.5 x 14.8 ซม.

     “รอบนี้เราอยากทดลองฟอร์แมตใหม่ เพียงแต่เราคิดวิธีการอ่านของแต่ละเรื่องมากขึ้นแล้ว และมีโจทย์ให้กับตัวเองอีกหน่อยว่าจะใช้ของที่มีอยู่แล้ว (ready-made) สามารถเดินไปซื้อในห้างก็ได้ เพราะมันน่าจะให้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง แล้วก็อยากทดลองด้วยว่า ถ้าอ่านจากลายมือเราแล้วจะเป็นยังไง ก็เลยเขียนด้วยมือทั้งเล่ม

     “ในแง่เนื้อหา ศตวรรษที่ 1 จะโตขึ้นมาอีก ถ้าใครอ่านงานเรามาทุกเล่ม น่าจะรู้สึกว่ามันไม่เหมือนเดิม เพราะนี่คืองานของเราตอนโตที่สุดแล้ว อย่างบางเรื่องใน หายหาย ตอนนั้นเรารู้สึกเจ็บปวดมาก มากจนตอนนี้ไม่สามารถเจ็บปวดเท่านั้นได้อีกแล้ว พอเราโตมา และมองกลับไปก็รู้สึกว่าไม่เป็นอะไรแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดถึงความรู้สึกเดิมในเรื่องสั้น เราไม่ได้พูดในมุมมองนั้นแล้ว เรามองของเดิมๆ ประสบการณ์เดิมๆ แต่รู้สึกกับมันไม่เหมือนเดิม ซึ่งถ้าได้อ่าน ศตวรรษที่ 1 ก็จะเห็นถึงความแตกต่าง เพราะเราเขียนจากคนละช่วงชีวิตกัน มันมีอะไรเกิดขึ้นเยอะ ในหัวเราคิดอะไรเยอะขึ้น ก็เลยรู้สึกว่า นี่คือเราที่โตขึ้นมาอีกหนึ่งสเตป มีความคิดอีกแบบหนึ่ง เริ่มเข้าใจอะไรบางอย่างที่ตอนเด็กไม่เคยรู้ ที่ตอนเด็กไม่เคยเข้าใจ แต่โตมาก็เข้าใจแล้ว ศตวรรษที่ 1 จึงเป็นเหมือนบันทึกชีวิต บันทึกกรรมของเรา (หัวเราะ) 

     “เราตั้งชื่อนี้เพราะเรื่องที่เราเขียนมีการแบ่งเวลาออกเป็นศตวรรษที่ 1, 2, 3 ซึ่งมันมาจากเวลานึกถึงเรื่องเก่าๆ นึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วค่อนข้างเยอะ เราจะรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นไปนานมากๆ แล้ว ทั้งที่จริงๆ มันอาจไม่ได้นานมาก แต่เรารู้สึกกับมันเหมือนเป็นจักรวาลคู่ขนาน พอคิดถึงหลายๆ ช่วงเวลา เราจะเห็นอดีตของตัวเองที่แบ่งเป็นช่วงเวลา 1, 2, 3 แล้วไอ้ช่วงเวลาที่มันใกล้กันนี้ เรากลับรู้สึกว่ามันห่างกันมาก เพราะตัวของเราเปลี่ยนไปแล้ว

     “จริงๆ เราคิดว่าเล่มนี้เราทดลองมากๆๆๆๆ แต่คอนเซปต์เราก็ไม่ได้หนีไปจากเดิมนะ คืออยากสร้างประสบการณ์แบบใหม่ในการอ่านหนังสือ และทำให้คนเข้าใจว่าหนังสือทำไม่ยาก”

     อนึ่ง ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเอ๋ยแทบไม่พูดถึงเรื่องย่อของแต่ละเล่ม เพราะเอ๋ยบอกเองว่าคำถามนี้ยาก ตอบไม่ได้ เพราะสำหรับเอ๋ยแล้ว เรื่องราวของ หายหายและหลายๆ ใบ คือ “การเอาชีวิต วิธีการคิด และสิ่งที่อยู่ในหัวของเราออกมาเป็นตัวหนังสือ เพื่อให้คนอ่านเอาชีวิตของเขาเองเข้ามาอยู่ในเรื่องของเรา เพราะเราคิดว่า ทุกคนมีเรื่องที่ซ้อนทับกันอยู่”

     ส่วนแต่ละเล่มจะแตกต่างกันอย่างไรนั้น เอ๋ยอยากให้ผู้อ่านได้พลิกดูด้วยตัวเอง

หายหายและหลายๆ ไอเดีย

     ข้างต้นเราเห็นภาพรวมของสิ่งที่เอ๋ยทำ แต่นอกเหนือจากนั้น เราอยากรู้ว่า ก่อนจะลงมือทำ เอ๋ยมีกระบวนการคิดมันออกมาอย่างไร

     เริ่มจากการเขียน

     “เราไม่ได้มีการคิดว่าจะออกหนังสือเล่มใหม่แล้วต้องเขียน มันคือการเขียนสะสมไปเรื่อยๆ มากกว่า แล้วเราก็จะเก็บที่เขียนแยกไว้เป็นปีๆ พอจะทำหนังสือค่อยกลับไปค้นดูว่ามีอะไรที่ใช้ได้บ้างใน 2-3 ปีนี้ ค่อยๆ เลือกมารวมๆ กันว่ามันมีอันไหนเข้ากันบ้าง

     “การที่เราแบ่งเป็นช่วงเวลาก็เพราะว่าของที่มันเก่าไป เราใช้ไม่ได้แล้ว มันไม่ได้โตไปพร้อมกัน อย่าง หายหาย ก็คือเล่มที่เด็กที่สุด สปช. หรือ Wordpool ก็จะโตขึ้นมาเรื่อยๆ”

     ต่อด้วยการออกแบบ

     “ถ้าเราอยู่ในโหมดทำหนังสือแบบไม่มีงานอื่นมาแทรก ใช้เวลาไม่นานหรอก ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ คือพอเลือกเรื่องได้ เราก็จะคิดว่าอยากทำหนังสือออกมาฟอร์แมตไหน จะใช้มือเย็บ ทำปกแข็งหรือปกอ่อน ไซส์ประมาณไหน รอบนี้อยากลองใช้กระดาษอะไร จากนั้นก็ไปดูวัตถุดิบที่มีว่าสามารถเอาอะไรมาใช้ได้บ้าง อยากลองใช้กระดาษตัวนี้ ใช้คลิปอันนี้ หรือมีกระดาษแผ่นเล็กๆ คิดว่าน่าจะเขียนอะไรลงไปได้ก็หยิบออกมาก่อน แล้วก็ค่อยๆ ทดลองไปเรื่อยๆ 

     “ลองเอากระดาษนี้ไปปรินต์ ลองดูว่าเรื่องนี้จะเขียน หรือว่าปรินต์แล้วเอามาแปะ หรือว่าเขียนแล้วเอามาแปะ หรือว่าตอนนี้ต้องเขียนลงกระดาษที่ใหญ่หน่อยแล้วเอามาพับ คือเราลองไปก่อนว่าแบบไหนเหมาะไม่เหมาะ ทำขึ้นมาเป็นม็อกอัพ 1 ม็อกอัพ 2 แล้วก็แก้ไปเรื่อยๆ”

     เอ๋ยเสริมว่า กระบวนการแบบนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเรียนในมหาวิทยาลัย ที่มักตั้งคำถามให้หาทางทำให้ดีกว่านี้ ทำให้เอ๋ยต้องค้นหาสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอด

     “เวลาทำงาน เราก็จะคิดว่า ถ้าทำแบบนี้จะเป็นยังไง ถ้าเขียนใส่กระดาษที่เล็กมากๆ จะเป็นยังไง ถ้าเขียนใส่กระดาษที่ใหญ่มากๆ จะเป็นยังไง การเอาลงกระดาษใหญ่ๆ แล้วปรินต์ หรือการเขียนด้วยปากกาหัวม้าลงกระดาษใหญ่ๆ ความรู้สึกต่างกันมั้ย 

     “เหมือนเราถูกฝึกมาให้เทียบเสมอว่า ถ้าอยากรู้ว่าสองอย่างมันต่างกันยังไง ให้ทำออกมาแล้วค่อยเลือก มันจะไม่ใช่การแบบคิดจบในหัวแล้วทำออกมา ทุกครั้งที่เราทำดราฟต์ ก็คือทำมากกว่าสองไซส์สองแบบตลอด”

     จบด้วยขั้นตอนโปรดักชั่น หรือการนำเรื่องสั้น และวัตถุดิบที่เอ๋ยอยากใช้มาไฟนอลให้เป็นเล่ม

     “ขึ้นอยู่กับก่อนหน้านี้เราตัดสินใจว่าจะทำด้วยวิธีอะไร อย่างตอน สปช. ก็ไม่นาน Worldpool ก็ไม่นาน หายหาย ก็ไม่นาน เพราะเราเข้าใจแล้วว่าต้องมีของอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็จะกางอยู่บนโต๊ะหมดแล้ว 

     “แต่ ศตวรรษที่ 1 คือฆ่าตัวตายมาก ตอนนั้นคิดอะไรไม่รู้ เราทำสิ่งนี้ตอนโควิด-19 ปีที่แล้ว เราอยากลองเขียนด้วยมือทั้งเล่ม เพราะเคยไปเห็นหนังสือที่มีลายมือทั้งเล่มแล้วเราชอบมาก เราอยากลองทำในเวอร์ชั่นของเรา เลยลองเขียนออกมาหนึ่งเล่ม ก็โอเค สนุก เพราะตอนนั้นคึกมาก แต่พอทำจริงๆ แล้วแม่งเหนื่อยแบบเหนื่อยอะ หนึ่งวันทำได้สองเล่มก็คือเยอะมากๆ แล้ว เพราะมันต้องนั่งเขียนแล้วก็ค่อยๆ พับ ค่อยๆ ดู คือเป็นเล่มที่ต่อให้มีของทุกอย่างครบแล้ว ก็ยังต้องมานั่งวาดรูป นั่งเล็ง หรือตัดสิ่งนี้ใหม่อยู่ดี”

หายหายและหลายๆ ไอเทม

     ซองจดหมาย ถุงกระดาษ คลิปหนีบ กระดาษนานาชนิด ฯลฯ เป็นสิ่งที่เอ๋ยนำมาใช้ในหนังสือของเธอ

     หลายสิ่งเอ๋ยซื้อใหม่ แต่หลายสิ่งคือสิ่งที่เอ๋ยเก็บสะสมเอาไว้ ซึ่งบางอย่างเยอะมาก จนสามารถทำหนังสือ 30 เล่มได้โดยไม่ต้องไปซื้อเพิ่มอีกเลย

     “เราเก็บกระดาษเยอะมากๆ เลย เราชอบซองจดหมายมากกกก เก็บไว้ไม่รู้กี่ร้อยซอง เจอที่ไหนก็ซื้อเก็บ เวลาเพื่อนไปเที่ยวก็จะชอบซื้อมาฝาก 

     “เราชอบร้านขายเครื่องเขียน เวลาไปต่างประเทศจะแวะเสมอ กระดาษที่เมืองนอกไม่เหมือนที่เมืองไทยนะ บางที่บางมาก บางที่หนามาก บางที่เหนียว สากและหยาบ เราชอบไปจับๆ ไปดูสี แค่สีขาวก็ขาวคนละแบบแล้ว หรือว่าบางที่มันมีกระดาษอะไรที่ประเทศไทยไม่ได้ใช้ เราก็จะเก็บมาเรื่อยๆ 

     “บางทีเราก็ไปซื้อมาจากพวกร้านเครื่องเขียนเก่าๆ ซึ่งของพวกนี้คนใช้กันน้อยลง การที่เราเอาของเหล่านี้มาใช้ในหนังสือ เลยเหมือนเป็นการให้คนอ่านได้เห็นเท็กซ์เจอร์ใหม่ๆ ไม่งั้นเวลานึกถึงกระดาษ เราก็อาจนึกถึงกระดาษรีมกันตลอดเวลา แต่อย่างตอนเรียนเราก็ได้รู้ว่า กระดาษมันไม่ได้มีแค่นี้ กระดาษขาวมันมีหลายขาวนะ 

     “แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะใช้แค่ของเก่าเพียงอย่างเดียว อย่างเล่ม หายหาย ก็คือกระดาษใหม่นะ แต่เป็นกระดาษที่ไม่สามารถซื้อได้ทั่วไป ต้องไปซื้อที่โรงงานกระดาษ”

     ด้วยความสงสัยในความชอบสะสม เราถามเอ๋ยว่า หยิบมาใช้แบบนี้ ไม่เสียดายหรือไง

     “เสียดาย แต่หลังๆ เริ่มรู้แล้วว่าต้องทำยังไง ก็คือซื้อไว้เยอะๆ (หัวเราะ) เพราะช่วงแรกๆ ซื้อแพ็กเดียว เลยมีของน้อยมาก บางอย่างมี 20 อัน ก็จะทำได้เท่านี้แหละ เพราะต้องแบ่งไว้เก็บด้วย หลังๆ เวลาเห็นแล้วรู้สึกว่าสิ่งนี้เอามาทำหนังสือได้ อยู่ในหนังสือแล้วจะสวย ก็เลยซื้อมาตุน เก็บไว้หนึ่งอัน ที่เหลือเอาไว้ใช้ หรือถ้าเพื่อนซื้อมาฝากก็บอกให้ซื้อเป็นแพ็ก อย่าซื้อเป็นใบ เราเก็บทั้งอัน เพราะว่าได้ใช้จริงๆ

     “ถึงอย่างนั้นก็ยังเสียดายนะ เพียงแต่รู้สึกว่า ถ้าเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร วันหนึ่งมันอาจถูกย่อยสลาย ไม่รู้ว่าลูกหลานเราจะเข้าใจหรือเปล่า สุดท้ายอาจจะเอาไปทิ้ง ก็เอามาใช้ดีกว่า ถือว่าให้มันมีประโยชน์ พอทำเป็นหนังสือออกมา เราก็แฮปปี้นะที่เห็นมันได้ถูกใช้งาน แถมยังมีเก็บด้วย เราก็อุ่นใจ”

หายหายและขายๆ ไป

     ทำหนังสืออาจไม่ยาก แต่ขายหนังสืออาจจะยาก

     แม้จะผลิตน้อย จำนวนไม่กี่เล่ม (มากสุดที่เอ๋ยเคยทำคือ 50 เล่มต่อครั้ง) แต่คนทำหนังสือทำมืออย่างเอ๋ย ก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากสำนักพิมพ์ที่ไม่มีงานหนังสือให้ไปออกบูท แถมยังอาจหนักกว่าตรงที่เธอไม่ได้ฝากขายในร้านหนังสือใดๆ อีกด้วย

     “ช่วงที่ทำแรกๆ ประมาณปี 2015-2016 เคยฝากขาย หายหาย ที่ happening shop แล้วก็ร้าน Bookmoby ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ก็ขายได้นะ แต่ไม่ได้ขายดีขนาดนั้น ส่วนที่อื่นเคยเอาไปฝากบ้าง แต่ก็ขายไม่ออก เพราะว่าหนังสือของเราไม่เข้ากับมู้ดหนังสือโดยรวมที่เขาขาย หรือมันอาจไม่ใช่พื้นที่ที่กลุ่มผู้อ่านของเราจะไปเจอก็ได้

     “นี่อาจเป็นเหตุผลที่เราขายหนังสือของเราเองได้ดีที่สุด คือของบางอย่างเขาต้องถามเราแหละว่า อันนี้ทำอะไร อันนี้ทำยังไง ทำไมเขียนแบบนี้ พอเราเล่าให้ฟังเขาก็จะเข้าใจ แล้วก็ซื้อ”

     เอ๋ยเล่าให้ฟังว่า วิธีการขายของเธอนั้นแสนง่าย เริ่มจากกล่าวทักทาย แนะนำว่านี่คือหนังสือทำมือ เขียนเอง ทำเองมั้งหมด ชวนให้เขาเปิดอ่าน จะอ่านให้จบเลยก็ได้ (เพราะเอ๋ยบอกว่าเวลาจะซื้อหนังสือ เธอก็ทำแบบนี้บ่อยๆ) หรือจะถามถึงพวกเหตุผลที่ต้องมีข้าวของจุกจิก ซองจดหมาย หรือถามถึงวิธีการทำ เธอก็ยินดีอธิบาย

     “ของแบบนี้มันมีเรื่องราว เวลาเราบอกว่าของที่อยู่ในเล่มมาจากไหน เช่น เก็บมาจากเวียดนาม แล้วเราไม่ได้กลับไปอีกเลย ของอันนี้เพื่อนเราให้มา หรือเราเจอมาจากร้านเครื่องเขียนที่ปิดไปแล้ว เราหามันไม่เจออีกแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งนี้หมดแล้วหมดเลยนะ เวลาเราเล่าให้คนฟัง เขาก็จะรู้สึกว่าเราคัดเลือกและรวบรวมให้มันอยู่ด้วยกัน

     “เราคิดว่าการอ่านหนังสือคือประสบการณ์ เราไม่ได้ขายแค่เรื่องที่เราเขียนอย่างเดียว สมมติเราซื้อหนังสือทั่วไป อย่างมากสิ่งที่เราได้ก็คือประสบการณ์จากการอ่านผ่านตัวหนังสือในฟอนต์ที่เขาเลือกมาให้ หรือสำนักพิมพ์นี้ใช้ฟอนต์นี้แบบเดียว กระดาษนี้ชนิดเดียว ทุกอย่างก็จะเหมือนกันหมดเลย เพราะฉะนั้น ประสบการณ์ที่ได้รับก็จะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องขนาดนั้น 

     “แต่เราไม่ได้หมายถึงว่าเนื้อเรื่องไม่ดีนะ เราแค่รู้สึกว่าในฐานะของคนทำหนังสือทำมือ เรามีสิทธิที่จะทำอะไรกับมันได้มากกว่านั้น กระดาษไม่จำเป็นต้องใช้แบบเดียวก็ได้ เราเลือกกระดาษหลายๆ แบบก็ได้ หรือว่ามันไม่จำเป็นจะต้องพลิกหน้าจากซ้ายไปขวาแล้วก็พลิกไปเรื่อยๆ จนจบเล่ม เราสามารถพลิกมาแล้วให้อีกหน้าต้องพับบางอย่าง หรือจะอ่านเนื้อหาจากกระดาษแผ่นใหญ่ๆ เลยก็ได้

     “การทำมือมันทำให้รู้สึกว่าเราทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น เราเลยพยายามทำให้การอ่านแต่ละเรื่อง ผู้อ่านจะได้สัมผัสประสบการณ์บางอย่าง เหมือนเราใส่รสชาติให้กับเรื่องนั้นๆ ยกตัวอย่าง มันมีเรื่องหนึ่งใน สปช. พูดเรื่องความลับ เราก็จะเอาตัวเรื่องสั้นไปพับเก็บไว้ในซอง ถ้าคุณจะอ่านก็ต้องแกะซองออกดู แค่นี้คนอ่านก็น่าจะรู้สึกได้ถึงการต้องเปิดหาสิ่งที่เราซ่อนเอาไว้

     “นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราอยากเจอคนอ่าน เพราะหนังสือของเราต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม คนซื้อถึงจะเข้าใจ เราคิดว่าหลายคนไม่เข้าใจเรา ถ้าไม่เคยมาคุยกับเรา ซึ่งถ้ามองว่าสิ่งนี้เป็นจุดอ่อนของเราก็คงใช่นะ เพราะถ้าไม่มีงานหนังสือ เราก็คงแย่เหมือนกัน ออนไลน์ควรจะเป็นที่สำหรับให้คนเคยเจอตัวจริงแล้วมาตามเรามากกว่า”

     ด้วยเหตุนี้ ศตวรรษที่ 1 หนังสือที่ทำเสร็จในช่วงเวลาที่โควิด-19 ยังไม่จางหายไป จึงเป็นหนังสือเล่มใหม่ของเอ๋ยที่มีผู้พบเห็นของจริงแค่ไม่กี่คน และทำให้คนที่จะตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่ทำได้แค่ดูรูปภาพจากเพจเฟซบุ๊ก หายหายและหลายๆ ใบ เท่านั้น

     “การขายออนไลน์มันยากมาก เรารู้อยู่แล้วว่าหนังสือของเรามันขายออนไลน์ไม่ได้ คนไม่เข้าใจ ถ้าไม่ใช่คนที่เคยอ่านหนังสือของเรามาก่อน เขาจะไม่กล้าสั่งเลย เขาคงคิดว่าอีนี่ทำอะไร เล่มจิ๋วเดียวแถมเขียนมือ แล้วราคาที่เราขาย 680 บาทนี่คนไม่ซื้อนะ เขาไปเดินร้านหนังสือ จ่าย 200 บาทก็ได้เล่มหนาๆ แล้ว 

     “อีกอย่างบางคนอาจคิดว่าทำเองแล้วทำไมถึงแพง แต่สำหรับเราจะคิดว่า เอ้า ก็ทำเองสิเลยต้องแพง เหนื่อยจะตาย (หัวเราะ) เลยคิดว่า ถ้าปีนี้มีงาน Bangkok Art Book Fair ก็คงทำไปเผื่อแล้วเปิดพรีออร์เดอร์อีกสักรอบ เล่มนี้เลยไม่ได้มีจำกัดว่าทำกี่เล่ม เพราะเราก็ไม่เคยขายหนังสือที่ราคาสูงเท่านี้เหมือนกัน ไม่มั่นใจว่าคนจะเข้าใจขนาดนั้นหรือเปล่า”

หายหายและหลายๆ คนอ่าน

     ย้อนกลับไปในปี 2014 เอ๋ยในวันนั้นคิดกับตัวเองว่า นอกจากเพื่อนกับอาจารย์แล้ว จะมีใครซื้อหรืออ่านงานของเธอบ้างหรือเปล่า และแม้ว่างานของเอ๋ยอาจจะดูเหมือนจำกัดวงอยู่กับคนอ่านไม่กี่คน แต่ หายหายและหลายๆ ใบ ก็มีกลุ่มคนอ่านประมาณหนึ่ง

     บางคนตามซื้องานของเอ๋ยทุกเล่มโดยไม่เคยมาเจอหน้า บางคนแวะเวียนมาถามในปีถัดไปว่าตัวละครเหล่านั้นมีชะตากรรมยังไง บางคนก็เขียนอีเมลมาหาเพื่อบอกความในใจหลังอ่านจบ บางคนก็บอกว่าเศร้า บางคนก็บอกว่าอ่านตั้งนานกว่าจะจบ (ซึ่งเอ๋ยตกใจมาก เพราะตัวเอ๋ยคิดว่าหนังสือเธออ่านไม่กี่นาทีก็จบแล้ว) บางคนก็บอกว่าไม่รู้เรื่องหรอก แต่ก็ชอบ

     “ข้อดีของเรื่องสั้นในแบบที่เราเขียนคือ มันทำให้คนคิดต่อ แล้วแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน เลยกลายเป็นว่า ทุกคนมีมุมมองต่อแต่ละเรื่องในแบบของตัวเอง บางคนอ่านๆ ไปแล้วก็อาจนึกถึงตัวเอง หรือบางทีอาจเพราะเราเขียนเรื่องความตายเยอะ คนเลยจะรู้สึกเศร้า แต่สำหรับเรา มันไม่เศร้า คงเพราะเรามองมันเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันมั้ง”

     ถึงอย่างนั้น เราก็อยากรู้ว่า ในฐานะของคนที่เขียนหนังสือมายาวนาน เอ๋ยมีความคิดอยากเผยแพร่งานเขียนของเธอให้แพร่หลายกว่านี้มั้ย

     “เคยคิดเหมือนกันว่าเราแมสกว่านี้ได้เปล่าวะ เพราะเห็นหลายๆ คนที่แมส คนก็อ่านงานเขาเยอะจริงๆ เป็นเรื่องที่เคยคิดมาแล้วรอบนึงแล้วก็เลิกคิดไป เพราะตัดสินใจไม่ได้ว่าต้องแมสมั้ย หรือการทำให้ตัวเองแมสต้องทำยังไง คือถ้า หายหายฯ เป็นตัวเราเลย คือไลฟ์เจอร์นัลของเราเลย เราก็อยากเขียนภาษาประมาณนี้ต่อไป 

     “เราคิดไม่ออกว่าเรื่องที่เราเขียนจะแมสกว่านี้ได้ยังไง หรือว่าถ้าเขาเข้ามาแค่เพราะว่าคนอื่นเข้ามา แล้วเขาไม่ได้เข้าใจจริงๆ ก็ไม่เป็นไรก็ได้นะ แบบเราอยากให้คนอ่านเพราะรู้สึกคอนเนกต์กับเรื่องที่เราเขียนจริงๆ แบบนั้นเราจะแฮปปี้มากกว่าถ้าเขาเข้ามาแค่เพราะว่าคนอื่นเข้ามา ซึ่งอาจไม่ได้เข้าใจงานเรา 

     “แต่ถ้าถามว่าอยากขายได้เยอะกว่านี้มั้ย อยากดังกว่านี้มั้ย มันก็อยาก แต่เราไม่รู้จะทำยังไง อย่างมากเราก็คงเขียนไปเรื่อยๆ พับลิชไปเรื่อยๆ แหละมั้ง”

     “ไม่คิดอยากทำกับสำนักพิมพ์?” เราถาม

     “ไม่อยากทำกับสำนักพิมพ์” เอ๋ยตอบทันที “เพราะกลัวว่าเอสเซนส์ (essence) การทำหนังสือทำมือในแบบของเรามันจะหายไป คือต่อให้ไม่ใช่สำนักพิมพ์ ครั้งนึงเคยมีคนมาเสนอให้เอาเรื่องกับฟอร์แมตที่อยากทำไปให้เขา เดี๋ยวเขาผลิตให้ เราก็รู้สึกว่าทำไม่ได้ แบบกลัวว่าเขาจะทำให้เท่าที่เราอยากได้ไม่ได้ ซึ่งไม่ได้บอกว่าเขาไม่ดีนะ แต่เราค่อนข้างรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร สิ่งนี้ต้องวางลงไปตรงไหน ต้องพับแบบไหนในแต่ละเล่ม บางทีเราก็เปลี่ยนอันนั้นอันนี้ มันเลยยากที่เขาจะมารู้ว่าเราต้องการอะไร หรือว่าถ้าเขาเกิดอยากจะเปลี่ยนกระดาษขึ้นมา แล้วถ้าเราไม่โอเคทำไงวะ 

     “เราอยากใช้ประโยชน์จากการเป็นหนังสือทำมือให้ได้มากที่สุด คืออยากให้คนอ่านได้สัมผัสประสบการณ์จากวิธีการอ่านหรือเท็กซ์เจอร์ของกระดาษให้มันมากที่สุด ถ้าเราเข้าสำนักพิมพ์ก็ทำยากเหมือนกันนะ เพราะเวลาทำสิ่งพิมพ์ด้วยกระดาษหลายๆ แบบต้องพิมพ์หลายขั้นตอนมาก ใครจะเอาเงินมาลงทุนให้เรา ทำเองสะดวกกว่า สบายใจ แต่คิดแบบนี้ไม่ค่อยรวยนะ (หัวเราะ)

     “อีกอย่างที่ทำให้เราอยากทำไปเรื่อยๆ เพราะอยากให้คนรู้ว่าหนังสือทำไม่ยาก มีหลายคนมากที่อ่านหนังสือเราแล้วบอกว่าชอบมากเลย อยากเขียนหนังสือเหมือนกัน แต่ไม่รู้จะทำรูปเล่มออกมายังไง หรือว่าอยากเขียนหนังสือ รู้สึกว่ามีอะไรที่จะเขียน แต่ไม่รู้จะทำออกมายังไง เราเลยคิดว่าอาจเป็นตัวอย่างให้เขาได้ คืออย่าง หายหาย คนที่ไม่เคยทำจะมองว่ามันเย็บยาก แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ยากหรอก ซึ่งเราเข้าใจคนที่มองมาแล้วรู้สึกว่ามันซับซ้อนนะ เพราะฉะนั้น เราก็เลยคิดฟอร์แมตใหม่ๆ ก็เลยเกิดมาเป็น Wordpool ที่ไม่ต้องเย็บก็ได้ ไม่ต้องใช้กระดาษแบบเดียวก็ได้ เอาเศษกระดาษมารวมกันก็ทำหนังสือได้ 

     “จริงๆ เรามีโปรเจกต์อยากใช้แฟ้มห่วง เพราะนี่คือสิ่งที่ทุกคนมี ทุกคนเข้าถึงได้ ทุกคนเข้าใจ ซึ่งเราอยากพิสูจน์ให้คนที่ยังไม่กล้าทำ รู้สึกว่ามันทำได้ เอาเรื่องที่มีอยู่ในหัวหรือเรื่องที่เขียนเก็บเอาไว้มาทำฟอร์แมตนี้ก็ได้

     “เราอยากให้คนเข้ามาทำหนังสือกันเยอะขึ้น เพราะเราเชื่อว่า น่าจะมีเรื่องที่มันน่าอ่านอยู่อีกเยอะมากๆ ที่มันติดอยู่ในหัวของคนหลายๆ คนแล้วมันไม่ถูกทำออกมาเป็นหนังสือ ซึ่งมันก็คงจะดีมากๆ ถ้าเขาได้ทำ”

หายหายและสิ่งที่ไม่หาย

     นอกจากจะเขียนหนังสือ ทำหนังสือด้วยตัวเองแล้ว เอ๋ยในวันนี้เป็น Operation Manager ของ Mustard Sneakers เป็นฟรีแลนซ์เขียนให้กับแบรนด์ต่างๆ และเป็นผู้ช่วยสอนหนังสือที่ CommDe คณะที่เอ๋ยเรียนจบมา ซึ่งก็เป็นที่ห้องเรียนนี้เองที่เอ๋ยพบว่า ยังมีคนที่อยากทำหนังสืออยู่อีกมาก

     “การเห็นคนมาทำหนังสือเองมากขึ้นเรื่อยๆ มันเหมือนการตอกย้ำว่า book is not dead นะ การทำหนังสือไม่ได้หายไปไหน บางคนคิดว่าถึงทางตันแล้ว ทุกวันนี้ใครจะมาซื้อหนังสือ แต่จริงๆ เรายังสามารถพัฒนาหนังสือ พัฒนา ประสบการณ์ในการอ่าน หรือพัฒนาหนังสือที่ไม่มีคอนเทนต์อะไรเลยก็ได้ สมมติเล่าเรื่องวิธีหั่นหัวหอม แค่นี้ก็เป็นหนังสือได้แล้ว หนังสือไม่จำเป็นต้องมีเรื่องราวที่จริงจัง มันอาจเป็นเรื่องอะไรโง่ๆ ในชีวิตประจำวันก็ได้ 

     “สำหรับเรา นี่คือความครีเอทีฟอย่างหนึ่ง มันเหมือนเรา push the boundaries ออกไปเรื่อยๆ ว่าหนังสือเป็นอะไรได้บ้าง อะไรที่เรียกว่าหนังสือ หรือแม้แต่ไม่ได้เป็นหนังสือ มันอาจไปได้ไกลจนถึงขั้นว่า เราสามารถอ่านจากอะไรได้บ้างเลยด้วยซ้ำ เราว่ามันสนุก คึกคัก และอยากเห็นคนมาทำเยอะๆ

     “เรารู้สึกว่า หนังสือทำมือในบ้านเราอยู่ในจุดที่เริ่มจะดี เริ่มจะกลับมา แล้วคนก็อยากทำ และกล้าทำมากขึ้น อย่างเราสอนน้องๆ ที่ CommDe น้องก็มีความอยากทำหนังสือ เราก็เชียร์ให้ทำเลย แล้วเขาก็จะมาคุยด้วยว่า ทำยังไงดี ไปดูกระดาษที่ไหน หรืออะไร 

     “เพราะว่ามีคนทำ คนเลยกล้าทำมากขึ้น เส้นแบ่งที่ทำให้คนไม่สามารถตีพิมพ์งานของตัวเองได้มันไม่มีแล้ว”