Wed 10 Mar 2021

BRAND OF BROTHER

วางกีตาร์และเบสเข้าข้างฝา ตามสองนักดนตรีแห่งวง Slur มาคุยกันถึงเรื่องเสื้อผ้า ตั้งแต่การหลงรักยันการทำธุรกิจ

     สิ่งที่ ‘บู้—ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์’ และ ‘เฮาส์—สรศักดิ์ จันทรมัณฑนา’ เป็นเหมือนกัน ไม่ได้มีแค่การเป็นมือเบสและมือกีตาร์ประจำวงดนตรี Slur เท่านั้น

     อีกสิ่งที่พวกเขาเป็นเหมือนกันคือ เจ้าของธุรกิจ

     เฮาส์มีร้านเสื้อผ้ามัลติแบรนด์ชื่อว่า Onion ที่เกิดจากการคัดสรรและกลั่นกรองสินค้านำเข้ามาขายโดยเจ้าตัวเอง จากการเริ่มนำของมาขายออนไลน์ในยุคที่เฟซบุ๊กยังไม่เป็นที่นิยม สู่การขยับขยายมีพื้นที่หน้าร้านที่อยู่มานานกว่า 10 ปี

     เช่นเดียวกัน, บู้ก็มีแบรนด์สตรีทแฟชั่นชื่อว่า Rompboy เขาเองก็เริ่มต้นจากการขายของมือสอง สู่การผลิตรองเท้า กระเป๋า เสื้อยืด และสิ่งของมากมายตามออกมา ซึ่งจากที่ขายออนไลน์เป็นเทน้ำเทท่า บู้ก็เพิ่งตัดสินใจเปิดหน้าร้านไปเมื่อปลายปี 2019

     สารภาพก่อนว่าผมไม่ใช่คนติดตามวงการแฟชั่น แต่ก็เพราะอยากรู้อยากเห็น และอยากเดินเข้าร้านเสื้อผ้าให้สนุก ผมจึงนัดทั้งสองคนมาที่ชั้นสองของลิโด้ สยามสแควร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน Rompboy และหนึ่งในสาขาของ Onion เพื่อพูดคุยกับสองบุคคลที่หลงใหลในเครื่องแต่งกาย ถามไถ่ถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนจากผู้ซื้อมาเป็นผู้ขาย พร้อมให้พวกเขาชี้ชวนดูที่มาของเสื้อผ้าที่ลงมือทำและลงมือเลือก 

     เผื่อว่าหลังจากคุยกัน ผมจะเห็นรายละเอียดในข้าวของที่รอการสวมใส่ หรืออย่างน้อยๆ ก็น่าจะเห็นมุมมองและแนวคิดในการทำธุรกิจของสองนักดนตรีที่หลงรักในแฟชั่นเหมือนๆ กัน

ปกติคุยกันเรื่องแฟชั่นบ้างมั้ย

     บู้: คุยๆ 

     เฮาส์: แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดมาก เหมือนคุยกันเรื่องเทรนด์มากกว่า

     บู้: ใช่ เพราะจริงๆ แล้วผมกับเฮาส์จะเจอกันหลักๆ แค่สองสถานการณ์ อย่างแรกคือซ้อมดนตรี ซึ่งจะคุยกันแค่ก่อนเข้าไปซ้อม และก็หลังซ้อมแป๊บเดียว คุยกันแค่ไม่กี่ประโยค เพราะแต่ละคนก็จะมีภาระของตัวเอง อย่างที่สองคือ อาจจะเจอกันตามร้านต่างๆ เช่น ผมไปซื้อกาแฟที่ร้านของเฮาส์ หรือเจอกันตามสยามฯ เอกมัย ทองหล่อ ซึ่งผมจะชอบถามเฮาส์ว่าเทรนด์ปีนี้เป็นยังไง เพราะเฮาส์เขาจะไปพวกงานแฟร์เสื้อผ้า หรือไปซื้อมาจากแบรนด์ต่างประเทศ ส่วนเฮาส์ก็จะถามผมบ้างว่าช่วงนี้ขายเป็นยังไง

แต่ละคนสนใจแฟชั่นตั้งแต่เมื่อไร

     เฮาส์: ม.ต้น คือเพื่อนที่โรงเรียนจะชอบสเก็ตบอร์ด ซึ่งผมก็เล่นไม่เป็นหรอก แต่จะชอบดูการแต่งตัวของคนเล่น กับวงดนตรีพังก์ป๊อป ที่จะทำให้เริ่มคุยกันว่า เฮ้ย ชอบวงนี้ต้องแต่งอย่างนี้ แล้วพอ ม.ปลาย เพื่อนที่มีตังค์หน่อยก็จะใส่ Vivienne Westwood หรือพวกเสื้อผ้าวินเทจ เราเลยรู้จักการแต่งตัวจากอะไรพวกนี้ ซึ่งมันก็ทำให้เราไปหาข้อมูลต่อว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร หัวรองเท้า Converse แบบไหนคือสวยหรือไม่สวย แบบไหนที่ไทยมีขาย เริ่มสังเกตสัญลักษณ์ที่บอกว่ารองเท้าคู่นี้ผลิตจากที่ไหน ค่อยๆ ถลำลึกไปเรื่อยๆ 

     ยุคของผมกับพี่บู้น่าจะเหมือนกัน คือเป็นยุคจตุจักร เสาร์-อาทิตย์ทีไรต้องออกไปคุ้ยของ แต่ตอนนั้นเรายังเป็นเด็กนักเรียน เงินยังมีจำกัด ซึ่งเราก็จะต้องดูว่าถ้ามีเงินเท่านี้ ต้องซื้ออะไรถึงจะแต่งแล้วเท่ (หัวเราะ)

     บู้: ขยายความจตุจักรนิดนึง คือสมัยก่อนยังไม่มีช็อปอย่างเป็นทางการของพวกแบรนด์ต่างๆ นะครับ การที่เราจะมี adidas หรือ Nike รุ่นที่อัพเดตมากๆ มีแค่ซื้อของแท้ที่อาจหายากหน่อย หรือซื้อของปลอม แล้วจตุจักรเป็นสถานที่ที่เจอได้ทั้งของแท้และของปลอม การไปจตุจักรในยุคนั้นเลยเหมือนเรากำเงินไปเพื่อหาของมือสองราคาดี ซึ่งบางทีอาจจะได้ Converse สหรัฐฯ ราคามิตรภาพ

ตอนนั้นราวๆ ปีไหน

     เฮาส์: น่าจะ 2004 มั้งนะ มันจะเป็นยุคที่แนวดนตรีอีโมดังๆ ในบ้านเรา แต่ก่อนหน้านั้นก็จะมีแนวดนตรีการาจร็อกด้วย

     บู้: ยุคขาเดฟ

ดนตรีส่งผลต่อการแต่งตัวของเรามากมั้ย

     เฮาส์: ส่งผลแน่นอน อย่างผมอ่าน Music Express ซึ่งเป็นนิตยสารเพลงที่คุยกันเรื่องดนตรี ก็จะมีพูดถึงดนตรีแนวกรันจ์ มีเรื่อง เคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain นักดนตรีประจำวง Nirvana) มีรูปดารา รูปศิลปิน มันทำให้เราเห็นว่าวงไหนแต่งตัวแบบไหน ใครใส่รองเท้าอะไร แล้วเราก็จะไปหาว่านี่คือรุ่นอะไร เพราะมันเป็นรุ่นที่บางทีอาจจะไม่เคยเห็น

     บู้: สมัยก่อนนิตยสารเป็นสื่อเดียวที่ทำให้เราใกล้ชิดกับวงการดนตรีได้ แล้วในยุคนั้น ผมว่าศิลปินมีผลต่อเด็กๆ มาก สิ่งที่พวกเขาสื่อออกมาไม่ว่าจะเป็นเนื้อเพลง แนวดนตรี หรือความก้าวร้าวอะไรบางอย่าง มันมาในช่วงที่เด็กอย่างผมกำลังถวิลหาเรื่องพวกนี้ แล้วมันมาพร้อมกับแฟชั่นพอดี จึงเป็นอะไรที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันทำให้เราต้องแต่งตัวตามนักร้องนำวง KoRn หรือนักร้องนำวง Deftones 

     เฮาส์: ใช่ๆ รวมถึงการเจาะกับสักด้วยนะ เพราะว่ามันมาด้วยกัน

     บู้: กางเกงหลุดตูด หรือว่ารองเท้า Converse รุ่น Chuck Taylor (หัวเราะ) 

     ยุคนั้นเราได้รับอิทธิพลอยู่แค่นี้ เราไม่ได้มีอินเทอร์เน็ตให้เสิร์ชหาอะไรก็ได้ หรือมีข้อมูลเพียงพอให้ลงลึกไปในสายใดสายหนึ่ง เราเป็นเด็กวัยรุ่นในยุคที่ทุกคนอ่านนิตยสารเล่มเดียวกัน มีสื่อต่างประเทศเข้ามาไม่กี่สื่อ มี MTV กับ Channel [V] แค่นั้น

     เฮาส์: แล้วนิตยสารต่างประเทศแพงมาก เราต้องไปขอเขาแกะอ่านตามคิโนะคูนิยะ แล้วก็จดๆ เพราะตอนนั้นกล้องมือถือยังถ่ายรูปไม่ได้เลย หรือต่อให้ถ่ายได้แล้วก็ห่วยมาก

เป็นเพราะตอนนั้นอินเทอร์เน็ตยังใช้งานไม่สะดวกเหมือนทุกวันนี้หรือเปล่า

     เฮาส์: จริงๆ ตอนนั้นมีอินเทอร์เน็ตแล้วนะ แค่วิธีการค้นหาไม่เหมือนตอนนี้ ซึ่งพอเป็นทุกวันนี้ เราก็ไม่ได้สนุกกับพวกของหายากอีกแล้ว เพราะมันไม่ได้หายากอีกต่อไป มันหาได้ แต่ต้องแลกมาด้วยเงิน มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราหาของดีราคาถูกได้ ซึ่งนั่นคือความภาคภูมิใจมากเลย

     บู้: สมัยก่อน ถ้าอยากได้ Converse รุ่น Jack Purcell เราต้องรู้แหล่งก่อน การจะรู้แหล่งได้ก็ต้องอาศัยการบอกกันปากต่อปาก แล้วสื่อก็ไม่ได้เร็วแบบทุกวันนี้ เราไม่สามารถรู้ได้ทันทีว่ามี Converse จากสหรัฐฯ ขายที่ไหน หรือถ้าคุณอยากได้เสื้อวงดนตรีต้องไปร้านไหน กูเกิลไม่ฉลาดเหมือนยุคนี้ มันไม่ได้เสิร์ชแล้วเด้งขึ้นมาทันที ผมกับเฮาส์เลยน่าจะโตมาในยุคที่อินเทอร์เน็ตกำลังเปลี่ยนถ่ายมากกว่า

นอกจากเสื้อผ้า พวกคุณสะสมอะไรบ้างมั้ย

     เฮาส์: ไม่ได้สะสมเยอะ เพราะด้วยความที่ตอนเริ่มสนใจแฟชั่นก็ไม่ได้มีทุนเยอะมาก จะซื้อเฉพาะอันที่ชอบมากๆๆๆ ปีนึงซื้อได้ไม่เยอะชิ้นหรอก อย่างปัจจุบันจะชอบสะสมพวกเสื้อผ้าทหารเก่าๆ ที่มีรายละเอียดน่าสนใจ ซึ่งจะซื้อเก็บไว้ ไม่ใส่เลย เอาไว้เป็นความรู้ เอาไว้ศึกษาว่าเราจะดึงจุดไหนมาใช้กับของที่เราจะทำได้บ้าง

     บู้: ผมสะสมแค่บางไอเทม ซึ่งบางอย่างที่เป็นเทรนด์มากๆ ก็จะเปลี่ยนถ่ายไว อย่างพวกเสื้อผ้า ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเร็ว แต่ก็จะมีบางไอเทมที่ผมลงทุนกับมัน โตไปกับมัน แล้วเราก็ให้เกียรติมัน นั่นก็คือนาฬิกา แว่น รองเท้า สำหรับผมสามอย่างนี้คือซื้อแล้วเก็บเอาไว้โดยไม่สนใจว่ามันจะเอาต์หรือเปล่า 

แล้วจุดไหนที่ทำให้คุณรู้สึกว่าอยากลงทุนกับมัน

     บู้: ผมเริ่มจากรู้ว่าโรเล็กซ์ก็มีรุ่นเก่า วินเทจๆ คือตอนแรกผมมองว่าโรเล็กซ์คือนาฬิกาของพ่อ ของลุง ของคุณปู่ แล้วตอนนั้นผมมีอินสตาแกรมแล้ว ก็ไปเจอรุ่นนึง สวยมาก มันดูวินเทจมาก ก็ซื้อมาก่อน ไม่ได้คิดว่าจะลงทุนอะไร ปรากฏว่าวันหนึ่ง อยากอัพเกรดเป็นรุ่นอื่น เลยเอาไปขาย แม่งได้กำไรแสนนึงเลยว่ะ ตอนนั้นดีใจมาก รู้สึกเหมือนว่าเราลงทุนโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะเริ่มจากความชอบในรูปลักษณ์ก่อน แต่กลายเป็นว่าไปๆ มาๆ เก็บแล้วมีกำไร ก็เลยซื้อเก็บไว้เรื่อยๆ

     เฮาส์: ผมไม่ค่อยสะสมทรัพย์สมบัตินะครับ เรียกว่ายังไม่เจอดีกว่า ยังไม่เหมือนพี่บู้ที่เจอนาฬิกาแล้วคลิก กับพออายุเยอะขึ้นเรื่อยๆ เริ่มรู้สึกไม่อยากเก็บอะไรเลย ทุกอย่างเช่าหมด อะไรไม่ต้องซื้อได้ยิ่งดี แต่ก็อาจเป็นเพราะยังไม่คลิกด้วยมากกว่า อาจจะมีสักวันที่เจอ แค่ตอนนี้ยังไม่รู้สึกขนาดนั้น

     บู้: อาจเพราะเฮาส์ต้องอัพเดตเรื่องพวกนี้ตลอดเวลาหรือเปล่า เลยแช่กับอะไรไม่ได้

     เฮาส์: ก็เริ่มเหนื่อยที่จะไล่ตามเหมือนกัน (หัวเราะ) อย่างเสื้อผ้า บางทีมันไม่เหมือนนาฬิกาที่ขายต่อแล้วได้กำไร บางครั้งก็รู้สึกว่ามันอาจจะกลายเป็นผ้าขี้ริ้วในสักวันหนึ่งเหมือนกัน

     บู้: ผมว่าเสื้อผ้ามันไปไวมากเลยนะ คือบางอย่างที่เราคิดว่าจะลงทุนกับมัน สมมติว่าซื้อรองเท้ารุ่นนึง ตอนออกมาแรกๆ คนปั่นราคากัน 30,000-50,000 บาท ตอนนี้กลายเป็นว่าปล่อยต่อกันแค่ 15,000 คือผมรู้สึกว่ากลไกการตลาดมันถูกปั่นโดยอินฟลูเอนเซอร์จากต่างประเทศแค่ไม่กี่คน มันยากที่จะควบคุมเกินไป แล้วสมมติถ้าเราไปได้ตัวใหม่มา มันอาจจะมีกระแสอยู่สักสามเดือน เดือนที่สี่อาจจะกลายเป็นขยะไปแล้วหรือเปล่าก็ไม่รู้ คือผมก็เคยคิดอยากลงทุนกับเสื้อผ้าเหมือนกัน แต่พอมันมีคำว่าเทรนด์มาเกี่ยวข้องแล้ว ก็ยากที่จะไปยุ่งกับมัน

แต่ตอนนี้ทั้งคู่ก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้าอยู่นะ

     บู้: ผมไม่ได้มองว่าแบรนด์เสื้อผ้าของผมคือการต้องซื้อไปเก็งกำไรขายต่อ หรือต้องมีรีเซล (re-selling) ผมมองว่าทุกอย่างคือความชอบของเรามากกว่า ช่วงนี้ผมสนใจเรื่องอะไร อินกับไอเทมไหนเป็นพิเศษ ผมคิดว่าแค่ทำให้คนพันธุ์เดียวกับผมใส่แค่นั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ผมชอบ น่าจะมีคนชอบแบบเราบ้าง ซึ่งถ้าเรามั่นใจมาก ก็แค่ทำเยอะ ถ้ามั่นใจไม่มาก ก็ทำน้อยๆ พอ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมจะกะถูกตลอดเวลา บางอย่างทำมาโดยคิดว่าของอย่างนี้ไม่มีใครเอาหรอก กูใส่คนเดียว ปรากฏขายดีนี่หว่า 

     เฮาส์: ธุรกิจของผมจะไม่เหมือนของพี่บู้ ผมเจาะกลุ่มผู้ใหญ่ เน้นลูกค้าที่โตแล้ว อายุ 25 ปีขึ้นไป แล้วด้วยความที่ผมไปดูงานที่ต่างประเทศบ้าง เลยทำให้มีโอกาสได้ไปคุยกับนักออกแบบเสื้อผ้าที่ผมนำมาขายโดยตรง ซึ่งพอฟังเขาอธิบายแล้ว ผมก็กลายเป็นคนที่ให้ความเคารพกับรายละเอียดที่เขาออกแบบไปเลย แต่ก่อนผมก็ชอบแฟชั่นเพราะมันเท่ หลังจากนั้นก็ชอบเพราะหายาก แต่ตอนนี้ผมจะชอบวิธีคิด วิธีที่เขามองเสื้อผ้า คือเราได้เจอนักออกแบบที่อายุ 50-60 ปี ก็จะรู้สึกว่าถ้าเราทำงานได้จนอายุเท่าเขาก็คงดี ซึ่งมันก็ยากมาก เพราะตอนนี้ผมทำมา 10 ปีแล้ว ระหว่างทางก็เบื่ออยู่ตลอด ต้องหาอะไรกระตุ้นตัวเอง

แปลว่ามุมมองการทำธุรกิจทุกวันนี้ต่างจากจุดเริ่มต้นพอสมควร

     บู้: ตอนแรกผมทำโดยไม่ได้มองว่ากลุ่มลูกค้าจะเยอะ ผมอยากทำอะไรก็ทำ ซึ่งก็ยังเป็นคอนเซปต์ที่ผมใช้ประคอง Rompboy มาจนถึงวันนี้ ซึ่งประสบการณ์ผมก็เยอะขึ้น แต่ก็มีความต่างจากตอนเริ่มทำที่เห็นได้ชัด คือความเปรี้ยวบางอย่างของเราหายไป แล้วผมก็รู้สึกอย่างที่เฮาส์บอกเลยว่ามันเหนื่อยที่ต้องวิ่งตามอยู่ตลอดเวลา เพราะเทรนด์เสื้อผ้าเปลี่ยนไวมาก มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่เทรนด์ขาม้า กางเกงเอวสูงฮิตกันเป็นสิบปี แต่ตอนนี้คือเราดันหยุดวิ่งไม่ได้ แถมเรายังไม่รู้อีกว่าสิ่งที่ทำจะจุดติดหรือเปล่า ถ้าติดมันจะอยู่ได้นานขนาดไหน

     เฮาส์: ของผมตอบยากมากเลย เพราะก่อนทำ Onion ผมเรียนดนตรี แล้วก็อยากจะสานต่อความฝันด้วยการเป็นนักแต่งเพลงโฆษณา เลยอยากหาเงินไปซื้ออุปกรณ์อัดเสียง ผมก็นึกดูว่าพอจะทำอะไรได้บ้าง ตอนนั้นผมสะสมแว่นตาอยู่ยี่ห้อหนึ่ง เลยลองเอาไปขายในอินเทอร์เน็ต พอมีคนซื้อ เราก็ขายต่อเพื่อสร้างทุนไปซื้ออุปกรณ์ แต่ขายไปขายมา ก็รู้สึกว่ามันเป็นอาชีพได้นี่หว่า สนุกด้วย ตอนทำ Onion ก็เลยไม่ได้คิดว่าจะต้องรวย แล้วมันก็ไปได้เรื่อยๆ จนเข้าปีที่ 2 ก็เริ่มหาของใหม่ๆ มาขายเพิ่ม 

     จริงๆ สิ่งที่ผมทำทุกวันคือการทำซ้ำๆ เหมือนกันนะ แต่การทำอะไรเดิมๆ ทุกวัน ซ้ำไปเรื่อยๆ มันก็คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมืออาชีพหรือเปล่า

คุณเฮาส์ไปดูงานที่ต่างประเทศตั้งแต่ช่วงไหน

     เฮาส์: ตั้งแต่ปีที่ 2 ของการทำร้าน ตอนนั้นผมขาย gadget อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งต้องซื้อผ่านเอเยนต์ที่สหรัฐฯ เขาก็ส่งอีเมลมาถามผมว่าไปที่ออฟฟิศเขามั้ย เขากำลังจะโชว์ของ แล้วก็ขายหลายยี่ห้อเลย ตอนนั้นผมไม่เข้าใจเลยว่ามันคืออะไร แต่ด้วยความที่เราบ้าบิ่น มีเงินเก็บจากการทำร้านปีแรกก็เลยไป พอไปถึงก็ถามว่ามีอะไรขายบ้าง ของพวกนี้คือซื้อแล้วเอาไปขายได้เลยหรือเปล่า เพราะผมไม่เข้าใจระบบเลย (หัวเราะ) พอเขาอธิบาย ผมเลยได้รู้ว่าอุตสาหกรรมเขาทำงานกันยังไง เราต้องไปดูของเพื่อพรีออร์เดอร์ นำมาขาย แล้วก็รอการผลิต ทีนี้เขาดันมีเพื่อนที่เปิดธุรกิจขายเสื้อผ้า ผมก็เลยไปดู จากนั้นผมก็พยายามเปลี่ยนร้านไปเรื่อยๆ เพื่อหาแบบอะไรใหม่ๆ ซึ่งมันก็ทำให้ผมได้เห็นแบรนด์ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย บอกเลยว่าคนพวกนี้เป็นครูสอนผมให้ไปงานแฟร์ 

ไปบ่อยมั้ย

     เฮาส์: เฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อปี ก็ตามซีซั่นของแฟชั่นหลักๆ แต่ก็จะมีย่อยๆ บ้างถ้าเกิดว่ามีอะไรน่าสนใจ นี่เลยทำให้ตอนหลังๆ การไปเที่ยวต่างประเทศจะกลายเป็นไปทำงานบวกเที่ยวมากกว่า จะไม่มีการไปเที่ยวเพียวๆ เท่าไหร่ 

ในยุคที่ใครต่อใครก็ทำแบรนด์แฟชั่นได้ พวกคุณทำมาร์เกตติ้งกันยังไง

     เฮาส์: ผมพยายามลดความสำคัญเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์ก ให้มันเป็นแค่พื้นที่เอารูปไปลงเฉยๆ แล้วก็เน้นไปที่ลูกค้าประจำเป็นหลัก ผมเน้นวิธีไดเรกต์มาร์เกตติ้ง มีทีมขายคอยติดต่อลูกค้าโดยตรงเลยครับ ส่งภาพให้ โทรไปหา ใครที่เป็นลูกค้ามานานๆ หรือเป็นเมมเบอร์ระดับสูงก็จะได้เห็นสินค้าก่อนคนอื่น ตอนนี้ผมเลยมีลูกค้าบางคนที่เขาไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าที่ไหนเลย เขาจะซื้อที่เราร้านเดียว ซึ่งจริงๆ จำนวนลูกค้าของ Onion ไม่ได้เยอะนะครับ แต่เป็นลูกค้าที่แข็งแรงมากๆ

คุณคิดว่าทำไมลูกค้าถึงติดตามเราอย่างเหนียวแน่น

     เฮาส์: ผมใช้ความคิดของตัวเองเป็นหลักเลยครับ ถ้าผมสามารถอินกับอะไรได้ แปลว่าต้องมีคนที่อินแบบเดียวกันกับเราได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะแสดงตัวเมื่อไหร่ ที่ไหน ยังไง เหมือนอย่างหลายคนที่ชอบการแต่งตัวแบบนึง แต่ตัวเองไม่ได้แต่งตัวแนวนั้น อาจเพราะไม่มีความมั่นใจ หรือไม่อยากหลุดออกมาจากกลุ่มที่เขาอยู่ก็ตามที ซึ่งถ้าวันหนึ่งเขากล้าแต่ง เขาก็อาจจะเจอคนที่ชอบเหมือนกัน หลักการของ Onion คือแบบนี้แหละ เอาความคิดของตัวเองเป็นแกนหลัก ก็ในเมื่อเราชอบแบบนี้ได้ ทำไมคนถึงจะชอบแบบนี้ไม่ได้ มันไม่ใช่อะไรที่ซับซ้อน

การลดความสำคัญของโซเชียลฯ ในยุคนี้จะไม่ส่งผลเสียเหรอครับ

     เฮาส์: ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงไม่กล้า เพราะ Onion ก็เริ่มจากโซเชียลฯ แต่ตอนนี้ผมจะให้ความสำคัญกับลูกค้าประจำเป็นอันดับ 1 ใครที่อยู่กับเรานานๆ เราก็อยากสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับเขา 

     ผมว่ามันเป็นวิธีที่โบราณมากนะ แต่เป็นวิธีที่เวิร์กมากสำหรับผม ซึ่งธุรกิจของแต่ละคนก็มีสูตรไม่มีเหมือนกัน  แต่ละคนก็มีวิธีของตัวเอง เพียงแต่อันนี้เป็นวิธีที่ผมสนใจอยู่

ของ Rompboy เป็นยังไงบ้างครับ

     บู้: หัวใจของผมน่าจะเป็นเรื่องโปรดักต์ คือทำยังไงให้โปรดักต์ว้าวที่สุดสำหรับผู้บริโภค คือตั้งแต่ผมทำ Rompboy มา ผมไม่เคยบูสต์โพสต์เลย ทุกอย่างเป็นออร์แกนิกล้วน บางอันแป้กก็แป้กไปเลย บางอันเปรี้ยงก็เปรี้ยงไปเลย

     ผมคิดว่าการจะเปรี้ยงไม่เปรี้ยงมันอยู่ที่วิธีการที่เราเลือกสื่อสารกับลูกค้ามากกว่า เช่น จะขายกางเกงยีนส์ เราจะทำยังไงให้เขารู้สึกว่าแม่งเป็นกางเกงยีนส์ที่ว้าวที่สุด ซึ่งว้าวในที่นี้อาจจะหมายถึงการนำเสนอออกไปก็ได้ อย่างผมก็จะซีเรียสมากเวลาไปถ่ายแบบ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้คนเข้าใจ Rompboy และโปรดักต์ชิ้นนั้นได้มากที่สุด 

     ผมเลยให้น้ำหนักโปรดักต์และการถ่ายแบบมาก มันคือช่องทางเดียวที่เราจะสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าของเราที่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ในออนไลน์ได้ ทุกการถ่ายแบบผมเลยต้องไปลงสนามเอง คุมอาร์ตเวิร์กเอง ส่วนเรื่องของโปรดักต์ แน่นอนว่ามันก็ต้องผ่านผมมาก่อนอยู่แล้ว

Onion ก็เป็นแบบนี้มั้ยครับ

     เฮาส์: ถ้าต้องถ่ายแบบ ผมก็เป็นคนดูแลทั้งหมด เพราะผมน่าจะเป็นคนที่เข้าใจที่สุดในร้านแล้ว

ด้วยความที่ Onion เป็นร้านมัลติแบรนด์ อย่างนี้เวลาเลือกของ คุณเลือกเองคนเดียว หรือในทีมร่วมกันเลือก

     เฮาส์: ผมเลือกเองครับ จริงๆ ก็เลือกจากพื้นฐานของตัวเองเป็นหลักเลยนะ แต่ด้วยความที่เป็นมัลติแบรนด์ เราก็จะมีชิ้นที่เรียกว่าแคมเปญพีซของแต่ละแบรนด์ เป็นชิ้นที่เขาว่ากันว่าคุณต้องมี ก็จะมีชิ้นแบบนี้ขายเหมือนกัน แต่ที่เหลือผมตัดสินใจเองทั้งหมด

     เวลาเลือกของเข้าร้าน ผมก็พยายามบาลานซ์ระหว่างเสื้อกับกางเกง แต่โลกยุคใหม่มันเป็นโลกแห่งสถิติ เราก็จะมีการเก็บข้อมูลอัตราส่วนการซื้อในแต่ละหมวดว่าเป็นอย่างไร แล้วก็จะซื้อมาตามนั้น แต่ว่าสไตล์ สี ทรง ก็จะเป็นตามความชอบส่วนตัวเป็นหลัก เพราะเราอยากให้เขาแต่งตัวเหมือนเรา (หัวเราะ) ใช่มั้ยครับ (หันไปหาบู้) ผมคิดว่าร้านเสื้อผ้าส่วนใหญ่คือก่อตั้งโดยความชอบของเจ้าของร้านเท่านั้น

     บู้: ผมว่าการทำแบรนด์เสื้อผ้ามันคือการนำโดยคนคนเดียวประมาณหนึ่ง ซึ่งเขาอาจกำลังสร้างเผ่าพันธุ์ของตัวเองขึ้นมา ทำนองว่าเวลาไปสู้ เราต้องใช้หอกเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เวลาผมดูรูปที่ลูกค้าแท็กมา ก็จะเห็นเลยว่าลูกค้าเป็นคนพันธุ์เดียวกับเราจริงๆ

คิดว่าอะไรทำให้คนมาเข้าเผ่าพันธุ์เดียวกับเรา

     บู้: ยากว่ะ แต่ผมว่าเขาคงต้องมีความมั่นใจมั่วๆ อะไรบางอย่างอยู่ อย่างที่บอกไปแหละว่าเราไม่สามารถเก็งได้ถูกหรอกว่าไอ้สิ่งที่ทำอยู่มันจะเป็นเทรนด์มั้ย ผมรู้แค่ว่ามันเป็นไลฟ์สไตล์ของผม ซึ่งอาจเกิดกับผมคนเดียว อาจไม่มีคนเอากับผมก็ได้ แต่ผมรู้สึกว่าเวลาทำอะไรแบบนี้แล้วมีคนทำตาม มันสนุกมาก ผมเลยพยายามที่จะทำให้ Rompboy เป็นเผ่าพันธุ์เล็กๆ ให้ได้

     อย่างที่เฮาส์เล่าไปก่อนหน้าเรื่องทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมว่าสิ่งนี้คือคุณสมบัติของการทำแบรนด์เสื้อผ้าเลยนะ เราต้องมีความเป็นผู้นำไม่มากก็น้อยอยู่ในตัว ไม่งั้นแบรนด์เราก็จะเป็นผู้ตามชาวบ้านไปเรื่อยๆ ซึ่งแทนที่คุณจะได้ไปคิดเรื่องแบบเสื้อผ้า ความสวยงามของแฟชั่น คุณก็ต้องมาคิดว่าทำยังไงให้ราคาของคุณถูกที่สุดในตลาด 

     สำหรับผม มันไม่ใช่การสร้างแบรนด์ที่ดี ถ้าจะทำแบรนด์ทั้งที มันควรมีอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ สำหรับวงการอยู่ไม่มากก็น้อย

มีเหตุการณ์ไหนที่ไม่ประสบความสำเร็จบ้างมั้ย

     เฮาส์: ช่วงที่ streetwear เพิ่งกลับมาฮิตในบ้านเรา ผมเคยเปลี่ยนร้านไปในทางนั้นด้วย เพราะก่อนหน้านั้น Onion จะวินเทจนิดนึง ทำไปสักซีซั่นนึง ผมไม่สนุกเลย ขายไม่ดีด้วย ลูกค้าก็น่าจะสัมผัสได้ว่าเราไม่ได้อินขนาดนั้น เขารู้ว่าเราพยายามจะทำธุรกิจ ภายในครึ่งปีผมก็กลับไปขายเหมือนเดิม ผมยอมขายไม่ดี หรือเอาให้มันรู้ไปเลยว่าจะเจ๊งดีกว่า

     บู้: ให้มันเจ๊งเพราะรสนิยมเรานี่แหละ 

     เฮาส์: เออ ไม่ใช่เจ๊งเพราะขายสิ่งที่เราก็ไม่ใส่ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่ามันเป็นแนวที่ไม่ดีนะ stretwear ก็มีคุณค่าและวิธีอธิบายอีกแบบนึง เพียงแต่ผมไม่เก็ต และไม่ใส่เฉยๆ แล้วในฐานะคนขาย พอเราไม่อิน มันก็ไม่สนุก ซึ่งนี่ถือเป็นจุดลองผิดลองถูกของผม เพราะเอาเข้าจริง Onion ก็คือธุรกิจที่หาเงิน ต้องทำกำไร การตามกระแสก็ต้องมี แต่มันก็ทำให้ผมรู้ว่า เราควรทำอะไรที่เราชอบอย่างเดียวก็พอ

มันแปลว่าเราไม่บาลานซ์เลยหรือเปล่า

     บู้: ตอนเริ่มทำ Rompboy ผมไม่รู้เลยว่ากำลังทำโปรดักต์นี้ให้ใคร ผมคิดแค่ว่าโปรดักต์จะดึงลูกค้ามาหาเราเอง แต่กลายเป็นว่าพอทำไปเรื่อยๆ กลุ่มลูกค้าเริ่มชัด เราก็ต้องฟังเขามากขึ้น มันทำให้รสนิยมของตัวเราในวันนี้ถูกหารไปเยอะ ผมเคยทำไอเทมบางอันที่รู้เลยว่าอันนี้ขายดีมาก แต่ผมโคตรไม่อยากขายเลย เพราะเบื่อ สุดท้ายเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตต่อไปได้ ก็ต้องกลับมาทำอะไรที่เราต้องการอยู่ดี 

     ผมไม่รู้หรอกว่ารสนิยมของตัวเองถูกต้องหรือเปล่า มันขายได้หรือเปล่า แต่ผมไม่สามารถทิ้งความเป็นตัวเองได้ แล้วผมก็ไม่สามารถให้ลูกค้ามากินตัวตนผมได้ ทุกวันนี้เลยรู้สึกว่ามาทำอะไรใหม่ๆ กันเหอะ เพื่อที่จะให้ลูกค้าต้องคอยตามเราบ้าง แล้วผมก็ต้องคอยฟังเขาบ้าง (หัวเราะ)

     เฮาส์: ไม่ต่างกันกับของพี่บู้นะครับ แต่ลูกค้าของผมจะไม่ใช่คนที่มาซื้อจนสินค้าขายหมดภายในสิบนาที (หัวเราะ) ลูกค้าเลยมีอิทธิพลกับผมน้อยกว่าพี่บู้ ของพี่บู้จะเหมือนชักเย่อ แต่ของ Onion ผมก็ฟังนะว่าลูกค้าชอบอะไร อย่างน้องพนักงานขายก็จะจดทุกอย่างว่าลูกค้าต้องการอะไร อยากได้อะไร แค่ความที่เราเป็นคนเลือกและเป็นร้านแบบมัลติแบรนด์ เราก็จะเลือกเฉพาะแบรนด์ที่เราชอบและขายอยู่แล้ว บางทีแบรนด์ที่ลูกค้าต้องการ เราก็ต้องขอไปดูก่อนว่าเป็นยังไง

     จริงๆ ที่ร้านจะเก็บดาต้าเบส และเวลาผมเลือกเสื้อผ้ามาขาย ผมจะคิดเลยว่าคุณเอใส่รองเท้าเบอร์ 44 ใส่เสื้อแจ็กเก็ตไซส์ M ใส่เสื้อข้างในไซส์ S ผมจะรู้แล้วว่าเขาชอบใส่อะไร ประมาณไหน คุณบีชอบใส่กางเกงใหญ่กว่าเอวตัวเองสองนิ้ว มันก็จะเป็นข้อมูลให้กับผมว่าจะซื้อของพวกนี้มาให้คุณเอ แล้วก็คุณบี คุณซี แต่เวลามาขายจริงๆ คุณเออาจจะไม่เอาก็ได้ คุณบีอาจจะชอบมากกว่าคุณเอ แต่นี่คือไดเร็กทอรี่ของเรา เรามีข้อมูลของลูกค้า 

     นี่คือการบาลานซ์ความเป็นตัวเองกับความเป็นลูกค้าของผม

ถ้าตัดตัวตนของพวกคุณออกไป ความเป็น Onion และ Rompboy มันอยู่ที่ตรงไหน

     เฮาส์: ผมมีเอกสารชุดนึง เป็นแบรนด์พรีเซนเทชั่นที่เป็นเหมือนตำราว่า Onion จะมีเสื้อผ้าอยู่กี่หมวด แล้วทุกหมวดเชื่อมกันยังไง คือไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นแนวนี้แนวเดียว เราอาจจะครอสแนวกันได้ ซึ่งผมก็เอาสิ่งนี้ไปสอนพนักงาน จนกลายเป็นสูตรและสิ่งที่เขาต้องจำให้ได้ไป

     บู้: อย่างแรกของ Rompboy คือความ masculine เสื้อผ้าของผมจะเป็นฝั่งผู้ชายชัดเจน จะไม่ใช่เสื้อผ้าที่หวานแน่ๆ ต้องทะมัดแทมง มีความเท่ๆ ผู้ชายใส่ได้ แต่ผู้หญิงก็อาจจะขโมยไปใส่เหมือนกัน อย่างที่สองคือต้องมีความสนุก ทุกๆ ชิ้นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และสุดท้ายคือ มันต้องเดินนำหน้าอย่างน้อยก้าวหนึ่งตลอดเวลา

หากมีคนบอกว่าพวกคุณเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมให้การแต่งตัวของวัยรุ่นไทยจะรู้สึกยังไง

     เฮาส์: ไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย ไม่รู้สึกว่าเป็นผู้นำแฟชั่น จริงๆ ผมจะดีใจถ้าได้เป็นผู้นำแฟชั่นให้คนรอบๆ ตัว ซึ่งผมว่าพี่บู้น่าจะเป็นมากกว่า ตัวผมคงไม่ขนาดนั้น

     บู้: ผมก็ niche มากเลยนะ เช็กง่ายๆ เวลาเดินสยามฯ เจอพันธุ์เดียวกับผมแบบนับคนได้เลย ผมก็ไม่ใช่ผู้นำทางด้านแฟชั่นของวัยรุ่นไทยอะไรขนาดนั้นหรอก ถ้าจะเป็นก็คงแค่ส่วนเล็กๆ ซึ่งกำลังสร้างเผ่าพันธุ์ในหมู่บ้านเล็กๆ ของเราอยู่

วง Slur อยู่พันธุ์เดียวกันมั้ย

     เฮาส์: โอ้โห แต่ละคน (หัวเราะ)

     บู้: ผมว่า Slur แม่งโคตรคุยกันไม่รู้เรื่อง แนวคิดของ Slur คือ ถ้าบอกว่าวันนี้นัดกันใส่เสื้อสีนี้ มันจะใส่สีตรงข้ามกันหมดเลย พันธุ์ของ Slur มันเป็นแบบนี้ คือทั้งพี่เอม (ธิติพันธุ์ อนะวัชพงษ์) ทั้งพี่เย่ (จักรพันธ์ บุณยะมัต) จะเป็นคนที่กบฏตลอดเวลา มีความกวนตีน

     เฮาส์: เวลาจะทำงานใหม่ เช่น แคมเปญใหม่ โปรโมตอะไรสักอย่าง พี่บู้จะเป็นคนถามว่า เฮ้ย แคมเปญนี้เราจะแต่งตัวยังไงกัน ทุกคนเงียบ ไม่มีใครตอบ (หัวเราะ) 

     บู้: แล้วก็หายไป เหมือนแอบซุ่ม กูมีเสื้อผ้าอย่างนี้ของกูอยู่แล้ว กูอยากใส่อย่างนี้ของกู

จะว่าไป ช่วงนี้ผมเห็นนักดนตรีทำอาชีพอื่นกันมาก มันเป็นเพราะ…

     บู้: เพราะไม่มีจะแดก (หัวเราะ)

จริงใช่มั้ย

     บู้: ใช่ ไม่มีจะแดกเลยจริงๆ ตอนนี้ผมว่านักดนตรีมีอยู่ไม่กี่วงหรอกที่สามารถอยู่ได้ด้วยอาชีพนักดนตรีจริงๆ แม้กระทั่งหลายๆ วงที่เราคิดว่าเพลงเขาดัง เขาก็ทำอาชีพเสริม 

     ผมว่านักดนตรีมีเพดานของมัน ยกตัวอย่างเช่นวันนึงผมดังมากๆ ผมรับงานได้เต็มที่เลยนะ วันละสองงาน นี่ยังไม่รวมการบริหาร energy ด้วยนะ สมมติว่ามีเพดานเงินเดือนอยู่ที่หนึ่งล้านบาท แต่ว่าการได้มาซึ่งหนึ่งล้านบาทนั้น energy คุณแบบหมดแล้วนะ

     เฮาส์: แล้วมันกี่ปีด้วยไง 

     บู้: ใช่ มันไม่สามารถประคอง energy ของการร้อง หรือการเอนเตอร์เทนได้ตลอดหรอก 

     เฮาส์: ผมว่ากลุ่มคนฟังเล็กลงด้วยนะ เพราะเขามีทางเลือกให้รับเสพมากขึ้น

โควิด-19 เอฟเฟกต์กับอะไรมากกว่า ระหว่างดนตรีหรือเสื้อผ้า

     บู้: สำหรับผม โควิด-19 เอฟเฟกต์กับนักดนตรีโดยตรงเลย คือคอนเสิร์ตไม่เหมือนเดิมแล้ว ส่วนเสื้อผ้าก็เอฟเฟกต์เหมือนกัน แต่หลักๆ จะเป็นเรื่องราคา เพราะเขาจะมีกำลังจ่ายจำกัด

ถ้าเลือกได้ อยากให้ใครใส่เสื้อผ้าของ Rompboy หรือมาซื้อของที่ Onion

     เฮาส์: โห ยาก เพราะว่าถ้ามีไอดอลมาซื้อ ผมก็โอเคแล้วนะ ดีใจมาก ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆ ผมมาเดินสยามฯ ผมเห็นร้าน SneakaVilla แล้วผมก็อยากมีร้านแบบนั้น แล้ววันนึงเจ้าของร้าน ซึ่งผมไม่รู้จักเขาหรอก ก็มาซื้อของร้านผม แค่นี้ผมก็รู้สึกว่า success แล้วนะ เพราะร้านที่ผมอยากเป็น เขามาซื้อของร้านผมแล้ว โอเคแล้ว รู้สึกว่าเราคุยภาษาเดียวกันรู้เรื่องแล้ว 

     บู้: ผมก็ success แล้วนะกับข้อนี้ เพราะว่าผมได้ส่งเสื้อผ้าให้สองคนที่ผมชอบ ก็คือพี่เรย์ แมคโดนัลด์ กับพี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก (ธนชัย อุชชิน) ไปเรียบร้อย ซึ่งเมื่อกี้ตอบแบบเก๊กๆ นะครับ แต่จริงๆ ผมน่ะอยากส่งให้เฌอปราง BNK48 (หัวเราะ)