Thu 09 Jun 2022

THE CREATIVE’S TALE

‘โชติกา ปริณายก’ ครีเอทีฟที่นำประสบการณ์ส่วนตัวผสมกับจินตนาการออกมาเป็นหนังสือ

     โชติกา ปริณายก อายุ 28 ปี เป็นนักเขียน เป็นครีเอทีฟ และเป็นพี่สาวน้องแมวที่ชื่อตินดัม

     ปี 2018 โชติกาออกหนังสือเล่มแรกชื่อว่า Paris in Pairs ปารีสบนดาวดวงอื่น ตั้งต้นจากการลางานไปเที่ยวปารีสแล้วหัวหน้าสั่งให้เขียนหนังสือกลับมาด้วย 1 เล่ม แม้จะไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นยังไง แต่ไหนๆ ก็เป็นคนชอบถ่ายรูปกับชอบเล่าเรื่องอยู่แล้ว โชติกาจึงงัดสกิลถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม พร้อมจดเมโม่เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ก่อนจะนำทั้งหมดนั้นมาผสมรวมกับจินตนาการจนกลายเป็น 13 เรื่องสั้น ที่ตัวละครในแต่ละตอนมีความเชื่อมโยงกัน

     เราอ่านแล้ว สนุก ชอบมาก

     4 ปี ต่อมา โชติกาออกหนังสือเล่มใหม่ i don’t want a new chapter, i like the old one. ที่ยังคงเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น แต่คราวนี้ไม่มีรูปถ่ายแล้ว กิมมิกของเล่มนี้คือตัวละครจากบทก่อนหน้าจะโผล่มาเป็นตัวหลักของบทต่อไปเสมอ ทำให้ภาพรวมของหนังสือเป็นเรื่องสั้นที่อยู่ภายใต้จักรวาลเดียวกัน

     เราอ่านแล้ว สนุก ชอบเหมือนกัน

     เรารู้ว่าวิธีการของโชติกาไม่ได้ใหม่ มีนักเขียนทำกันเยอะแยะ แต่เรื่องราวที่เธอเล่า คาแร็กเตอร์ที่เธอสร้าง และการใช้ภาษาที่สั้นกระชับเหมือนดูหนัง คือสิ่งที่ทำให้เราสนใจและอยากคุยกับเธอ

     ในหน้าท้ายๆ ของ Paris in Pairs ปารีสบนดาวดวงอื่น ช่วงเกี่ยวกับนักเขียน โชติกาบอกว่าไม่ถนัดเขียนเกี่ยวกับตัวเอง

     โอเค ได้ งั้นวันนี้เราจะมาเล่าเรื่องของโชติกาให้คุณฟังแทน

การอ่าน

     โชติกาในวัยเด็กเริ่มต้นเส้นทางนักอ่านด้วยการอ่านการ์ตูนและนิยายแจ่มใสตามเพื่อน เมื่อเราขอให้เธอบอกชื่อเล่มหรือนักเขียนที่ชอบ เธอมีท่าทางอายนิดหน่อย แต่สุดท้ายก็ยอมบอก

     “ตอนนั้นอ่านงานของ Mimoza, แสตมป์เบอรี่, เจ้าหญิงผู้เลอโฉม โอ๊ย เขิน”

     เมื่ออ่านมากเข้าก็เริ่มอยากเขียนเอง โชติกาในวัยมัธยมต้นเลยเขียนนิยายเรื่องแรกลงเว็บไซต์ Dek-D (เธอไม่ยอมบอกชื่อเด็ดขาด) จากนั้นก็ขยับไปอ่านหนังสือแนวความเรียง ประสบการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิ้วกลม หรือสำนักพิมพ์ a book ก่อนจะขยายความสนใจไปในแวดวงวรรณกรรมแปล 

     ซัม : สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย (David Eagleman เขียน) คือหนังสือเล่มโปรดของโชติกา

     “ด้วยความที่เราอินเรื่องความตายด้วย เลยรู้สึกว่าเขาครีเอทีฟดีที่คิดว่าเรื่องราวหลังความตายมันจะเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งเราไม่เคยคิดถึงมุมพวกนั้นเลย”

     และ ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ (Jean-Dominique Bauby เขียน) ก็เป็นอีกเล่มโปรดของเธอเช่นกัน

     “จำไม่ได้ว่าเราอ่านหรือดูหนังก่อน หนังสือเล่มนี้มันเจ๋งตรงที่ว่านักเขียนเป็นภาวะอัมพาตทั้งตัว (Locked-in Syndrome หรือ LIS) ขยับได้เพียงเปลือกตาข้างซ้าย แต่เขาเขียนหนังสือได้ทั้งเล่ม แล้วหนังสือไม่ได้ดาร์ก มีความเซอร์เรียล มีความฝรั่งเศส ติดตลกร้าย เป็นมู้ดที่หาอ่านทั่วไปไม่ได้ เรารู้สึกว่ามันแตกต่าง คือเขาไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย ทั้งที่ตัวเองกำลังเข้าใกล้ความตาย”

การงาน

     โชติกาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมีความสนใจด้านภาพยนตร์ แต่ดันสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ก่อน ด้วยความที่กลัวว่าจะสอบไม่ติดคณะนิเทศศาสตร์ อีกอย่างคือเธอก็ชอบวาดรูป จึงตัดสินใจเลือกเรียนคณะนี้นี่แหละ 4 ปีต่อมา โชติกาเรียนจบมาด้วยวิชาเอกกราฟิกฯ พร้อมทั้งได้ลองเรียนวิชาโฆษณา ซึ่งกลายมาเป็นงานแรกของเธอ

     โชติกาเริ่มต้นวัยทำงานในวงการเอเจนซี ที่แห่งนั้นทำให้โชติกาได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ที่มีในหัวออกมา เธอได้ลองทำทั้งในตำแหน่งอาร์ตไดเรกชั่นที่ดูภาพรวมและความสวยงามของชิ้นงาน และก๊อปปี้ไรเตอร์ที่ใช้ความสามารถในการเขียนสร้างผลงานให้ดึงดูดใจ

     แม้จะดูเป็นงานที่เหมาะกับคนคูลๆ อย่างเธอ แต่ทำได้ไม่นาน โชติกาก็ตัดสินใจลาออก

     “เราไม่ชอบไลฟ์สไตล์การทำงานเอเจนซีที่ต้องคิดงานจนถึงดึกดื่น แล้วที่แรกที่ไปทำก็รู้สึกว่าเขาไม่ได้ต้องการความครีเอทีฟจากเราขนาดนั้น”

     ต่อมาโชติกาทำงานเป็นครีเอทีฟฝ่ายโฆษณาของสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER งานหลักของเธอยังคงเป็นการคิดและเขียน ทำไปทำมาก็ถึงเวลาพักผ่อน โชติกาขอเจ้านายลาไปเที่ยวปารีส 2 สัปดาห์ ได้รับคำตอบเป็นการเซย์เยส พร้อมคำสั่งให้เขียนหนังสือกลับมาด้วยหนึ่งเล่ม

     โชติกากลับมาพร้อมรูปถ่ายและเรื่องราว ก่อนจะลงมือเขียนหนังสือเล่มแรกออกมาได้เสร็จ เธอทำงานที่ The MATTER ต่ออีกสักพักก็ตัดสินใจลาออก แล้วบินไปเรียน short course ที่ลอนดอนเป็นเวลา 3 เดือน

     “เราไปเรียนภาษา การกำกับศิลป์ของแฟชั่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วก็เรียนฟิล์ม ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เราสนใจ เราอยากไปค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร เลยไปลองเรียนให้ครบทุกอัน”

     โชติกาเก็บเกี่ยวความรู้ควบคู่ประสบการณ์ เรียนครบคอร์สก็บินกลับมาไทย และได้งานเป็นครีเอทีฟของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

การเขียน

     เอาล่ะ ทุกคนคงเริ่มรู้จักโชติกากันแล้ว ตอนนี้เราจะมาเล่าเกี่ยวกับผลงานการเขียนของเธอบ้าง

     โชติกาเล่าว่าไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นนักเขียนเลย (อ้าว) เพราะตั้งแต่เด็กสิ่งที่เธอชอบทำคือการดูหนังและวาดรูป มีความฝันว่าอยากจะเป็นผู้กำกับที่วาดรูปเป็น ไม่ก็คนวาดรูปเก่งที่ทำหนังได้

     “จริงๆ เคยคิดอยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง แต่ไม่ได้มุ่งมั่นว่าจะเป็นให้ได้ แอบเซอร์ไพรส์ตัวเองนิดนึงที่ได้ออกหนังสือเล่มแรก ซึ่งเราก็รู้สึกดีเพราะมันเป็นสิ่งที่เคยอยากทำ”

     แม้จะมีทั้งรูปถ่ายสวยๆ แพลนการท่องเที่ยว และเรื่องเล่าต่างๆ แต่โชติกากลับไม่เลือกที่จะเขียนหนังสือเล่มแรกออกมาเป็นหนังสือท่องเที่ยว

     “อาจจะเพราะมันแมส มันเยอะ เรารู้สึกไม่อยากทำเหมือนคนอื่น แล้วก็ไม่มั่นใจว่าจะเป็นไกด์ที่ดีได้ เพราะไม่ได้รู้เยอะ เราไปเที่ยวในแบบของเรา ไม่รู้ว่าคนอ่านจะชอบแบบนี้หรือเปล่า

     “เราอาจจะหวงความเป็นส่วนตัวด้วย พอให้คิดว่าจะเล่าอะไรเกี่ยวกับตัวเอง มันคิดไม่ออก สู้ให้เล่าเรื่องอะไรที่ไม่มีอยู่จริงน่าจะดีกว่า ไม่ต้องมากังวลว่าคนจะคิดยังไงกับเรา”

     โชติกาหยิบเอาความถนัดของตัวเอง นั่นคือความครีเอทีฟ มาใส่ในเรื่องจนออกมาเป็น Paris in Pairs ปารีสบนดาวดวงอื่น ผลงานเล่มแรกที่ได้รับคำชมจากนักอ่าน ทั้งในแง่การร้อยเรียง พล็อตเท่ๆ และตอนจบที่เหนือความคาดหมาย จนสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ สาขาเรื่องสั้น จากเวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 16 มาครอง

     หลังจากนั้น โชติกาก็ยังวนเวียนในแวดวงการเขียนเรื่อยมา แม้จะไม่ได้ออกหนังสือเดี่ยวของตัวเอง แต่ก็มีไปโผล่ใน CHAPTER 1: LOST โปรเจกต์ที่สำนักพิมพ์แซลมอนชวนนักเขียนมาเล่าเรื่องคนละ 1 บท โดยมีโจทย์เดียวกันคือ ‘บันทึกการหลงทาง’ ซึ่งโชติกาดีไซน์ออกมาเป็นเรื่อง Flatmates: แฟลตเมต ว่าด้วยความสัมพันธ์ของผู้คนที่อยู่ร่วมแฟลตเดียวกัน

     โชติกามีความตั้งใจแน่วแน่ว่าอยากจะเขียนหนังสืออีก แต่ยังไม่มีไอเดียที่เข้าท่าสักที จนเวลาผ่านไป โควิด-19 ก็มาเยือน แพลนการท่องเที่ยวและการเดินทางทุกอย่างหยุดชะงัก โชติกาเพิ่งได้จังหวะคิดรูปแบบที่อยากทำออก เธอจึงต้องดึงความทรงจำ และประสบการณ์ที่เคยพานพบ ผสมรวมกับจินตนาการ สร้างตัวละครและพล็อตเรื่องขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันยิ่งกว่าเล่มแรก กลายเป็น i don’t want a new chapter, i like the old one. หนังสือรวมเรื่องสั้นเช่นเดิม แต่คราวนี้ไม่เชื่อมเฉยๆ เพราะตัวละครจากบทแรกจะมาโผล่เป็นตัวเอกของบทต่อไป อีกทั้งยังมีความหักมุมทุกบทด้วย

     “อย่างเล่มแรกคือมาจากความชอบส่วนตัว เราชอบอ่านเรื่องราวที่โยงกัน รู้สึกว่าอยากเขียนให้มันมีกิมมิก มีลูกเล่น อ่านตอนแรกแล้วอยากอ่านตอนต่อไป เลยทำให้ตัวละครนี้ไปโผล่ตอนนู้น มีบางอย่างไปเฉลยตอนนี้ ซึ่งเล่มที่สองก็คล้ายๆ กัน อยากให้คนรู้สึกว่าอ่านจบตอนแล้วอยากอ่านตอนต่อไป มันจะหักมุมยังไง เรื่องไหนจะใช่แบบที่เราคิดบ้าง

     “ที่ตั้งชื่อ i dont want a new chapter, i like the old one. ก็เพราะอยากให้อ่านตอนแรกจบแล้วพอไปรู้ตอนจบของตอนที่สอง ก็จะมีความรู้สึกว่า อ้าว ไม่เหมือนที่คิดไว้นี่ ชอบอันแรกมากกว่าอีก”

     แม้จะเป็นเรื่องสั้น แต่ด้วยกิมมิกที่จะต้องเชื่อมโยงทุกอย่าง ทำให้โชติกาใช้เวลาไปกับการวางโครงเรื่องและดีไซน์คาแรกเตอร์หลายเดือน เพื่อทำให้ทุกอย่างออกมามีช่องโหว่น้อยที่สุด

     “เล่ม Paris in Pairs เราวาดมายด์แมปไว้เลยว่าใครจะโยงกับใครบ้าง ส่วนเล่ม 2 ก็มีวางโครงไว้ ใช้เวลากับการวางแผนค่อนข้างนาน เพราะบางทีมีไอเดียแต่ยังคิดเรื่องไม่ออก ซึ่งเราว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะเร่งกันได้

     “ส่วนคาแรกเตอร์ เราเอามาจากสิ่งที่เคยเจอ หรือบางทีก็มาจากตัวเราเอง ซึ่งพอได้ตัวละครแล้ว เราจะมาคิดต่อว่าทวิสต์อะไรได้บ้าง ส่วนใหญ่จะคิดให้มันต่อกับสิ่งที่เราเขียนได้ เช่น ตอนชายหนุ่มที่เดินละเมอ ไส้ในจะเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ แต่ที่ครอบไว้คือการไปเรียนโรงเรียนการแสดง ซึ่งฟิกซ์ไว้อยู่แล้ว เพราะตอนต่อไปมันเกี่ยวข้องกัน แต่จริงๆ ในแผนการที่เราวางไว้ก็ยังมีความยืดหยุ่นอยู่ดี”

     เทคนิคการเล่าเรื่องคือกิมมิก แต่เนื้อหาจริงๆ คือความครีเอทีฟที่มาจากตัวตนของโชติกา

     “เวลาเราทำงานกราฟิกฯ ก็จะมีเรเฟอเรนซ์ ไปนั่งดูพินเทอร์เรสต์ อยากได้มู้ดกับโทนประมาณนี้ ก็เอาไปปรับใช้ ขณะที่งานเขียนเราทำโดยไม่มีเรฟฯ เลย เราคิดมาจากประสบการณ์ จากวัตถุดิบที่มีในหัว ผสมกับจินตนาการ เราเลยรู้สึกว่ามันใหม่

     “จริงๆ เรื่องสั้นเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นบันทึกส่วนตัวของเราก็ได้มั้ง อ่านแล้วก็เห็นว่ามีตัวเราอยู่ตรงไหนบ้าง”

     โชติกายิ้มเมื่อเราบอกว่าชื่นชอบผลงานของเธอที่อ่านง่าย ใช้ภาษากระชับ เหมือนกำลังดูหนังอยู่

     “เคยมีคนบอกว่าอ่านแล้วเห็นภาพเหมือนกัน ด้วยความที่เราชอบดูหนังด้วย ก็อาจจะเอาวิธีการเล่าแบบหนังมาใช้โดยไม่รู้ตัว แล้วรู้สึกว่าเป็นคนเขียนยาวไม่ได้ ทำไม่เป็น ไม่สามารถพรรณนาได้เยอะ”

     ถ้าเปรียบเทียบระหว่างหนังกับหนังสือ ชอบอะไรมากกว่า เราถามต่อ

     “โห ยากจังเลย ชอบเท่ากันสองอย่างนะ จริงๆ เราอยากทำหนังมาก แต่ว่ามันยากกว่า เพราะทำคนเดียวไม่ได้ ซึ่งหนังสือก็ใกล้เคียงกันตรงที่มันเป็นการสร้างโลก เล่าเรื่องราว มีเสน่ห์ทั้งสองอย่าง แค่คนละแบบ

     “มีคนเคยบอกว่าหนังสือมันเขียนไปได้เรื่อยๆ ไม่มีข้อจำกัด ขณะที่หนังต้องคิดคำนวณว่าจะถ่ายยังไง มีงบประมาณเท่าไหร่ แต่ในหนังสือเราจะเขียนว่ามีระเบิด ก็ระเบิดได้เลย”

     แต่ถึงจะยาก โชติกาก็ยังคงมีแพลนที่จะเดบิวต์เป็นผู้กำกับสุดเท่กับเขาบ้าง ติดอยู่ที่ดวงมันยังไม่ได้ 

     สุดท้ายเราขอให้โชติกาบอกเคล็ดลับการเขียนหรือคิดเรื่องให้ครีเอทีฟสักหน่อย

     โชติกาคิดอยู่นานแล้วบอกว่า ยากจัง

     โชติกาคิดๆๆๆ จนออกมาเป็นคำขวัญที่น่าจะใช้งานได้จริง ไม่เหมือนคำขวัญวันเด็กของนายกฯ คนปัจจุบัน

     “ไปเที่ยว ไปหาประสบการณ์ ไปทำอะไรใหม่ๆ ทุกวันนี้เราก็ได้ต่อยอดประสบการณ์จากตอนที่ไปเรียน แล้วก็กำลังหาอะไรใหม่ๆ ทำอยู่เรื่อยๆ”