Tue 29 Jun 2021

FAMILY COMES FIRST

คุยกับผู้เขียน ‘ด้วยรักและผุพัง’ รวมเรื่องสั้นที่บอกว่าความรัก ความหวังดี อาจมาพร้อมกับอำนาจและการกดขี่ในครอบครัว

     แม้จะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แต่กับนวนิยายหรือเรื่องสั้นยังนับว่าอ่อนหัด ไม่มีความสามารถระดับวิเคราะห์ วิจารณ์ได้ลึกซึ้ง ที่พอแยกแยะได้คือ เล่มใดบ้างที่สร้างความประทับใจหรือสะเทือนใจ (เพราะเล่มที่ทำแบบนั้นไม่ได้ ก็มักจะลืมเลือนไปในเวลาต่อมา)

     และเล่มล่าสุดที่เขย่าความรู้สึกส่วนเปราะบาง ชวนให้ผมระลึกถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ที่บางมุมก็ซีดจาง ไม่สดใส บางมุมมีฝุ่นเกาะ แต่ก็ทำให้ยิ้มทุกครั้งที่หันไปมอง และบางมุมก็หักบิ่น แหว่งวิ่น เป็นขอบมุมแหลมๆ ที่พร้อมทิ่มแทงให้เจ็บปวดทุกครั้งที่นึกถึง หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า FAMILY COMES FIRST ด้วยรักและผุพัง จากสำนักพิมพ์แซลมอน มันเป็นผลงานรวมเรื่องสั้นหลากรสชาติ หลายกลวิธีการเล่า ว่าด้วยความรักภายในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ที่ดูจากภายนอกมีความกลมเกลียวเป็นปึกแผ่น ทว่าลึกๆ ภายในก็ผุกร่อนพร้อมที่จะพังทลายจนไม่เหลือชิ้นดี 

     ทีแรกผมรู้สึกแปลกใจ ทั้งที่ครอบครัวไม่มีเชื้อสายจีนเลย (เท่าที่สืบสาแหรกได้) อาจได้อิทธิพลวัฒนธรรมจีนมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ใกล้เคียงหรือเข้มข้นเท่ากับที่เคยเห็นจากซีรีส์ละคร แถมเหตุการณ์ในแต่ละเรื่องซึ่งหยิบประเพณีหรือบางแง่มุมในครอบครัวคนจีนมาเล่า ผมก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนั้นมาก่อน ทว่าผมกลับเชื่อมโยงและอินกับบางเรื่องจนน้ำตาซึม

     “ถ้ามองผ่านธีมความเป็นครอบครัวคนจีนไป ลึกเข้าไปมันก็คือความเป็นมนุษย์ ที่ในความรักเราก็ทำร้ายกันบ้าง ในความผุพังมันก็มีความผูกพันอยู่ มันคือความสามัญของมนุษย์ ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหนก็ต้องมีไม่มากก็น้อย” 

     คือคำตอบที่ ‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ ลูกชายคนเล็กในครอบครัวไทย-จีนและนักเขียนหน้าใหม่ผู้เป็นเจ้าของผลงาน มีให้กับผม—ลูกชายคนเดียวในครอบครัวคนไทย

     ผมพยักหน้าเห็นด้วยกับคำตอบ ถึงตรงนี้ก็เริ่มอยากสำรวจความสัมพันธ์ในบ้านไทย-จีน ว่ามันจะเป็นแบบที่เคยเห็นในละครหรือซีรีส์ไหม จะมีส่วนเสี้ยวไหนบ้างหรือเปล่าที่ผมมีประสบการณ์ร่วม 

     แล้วในยุคที่เจเนอเรชั่นแก็ปถ่างผู้คนออกจากกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน บรรยากาศในครอบครัวไทย-จีนที่ขึ้นชื่อเรื่องการรักษาธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเคร่งครัดนั้นเปลี่ยนไปอย่างไร

     และอย่างน้อยๆ ผมก็อยากเข้าใจที่มาความคิดเบื้องหลังหนังสือเล่มแรกของเขา ซึ่งหยิบเอาบาดแผลในความสัมพันธ์มาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ และพาเรามาคุยกันในวันนี้

ก่อนจะคุยเรื่องที่มาของหนังสือ ขอย้อนสักหน่อยว่าคุณเริ่มสนใจหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่

     เราอาจจะไม่ได้เหมือนนักเขียนคนอื่นๆ ที่อ่านหนังสือเยอะมากตั้งแต่เด็ก คือเราก็อ่านมาบ้าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ และหนังสืออื่นๆ หยุมๆ หยิมๆ แต่วันหนึ่งช่วงอายุสัก 18-19 เราดันไปเห็นภาพคุณก้อย Saturday Seiko (วลัยลักษณ์ มุสิกโปฎก) จากนิตยสารสักเล่ม มันมีภาพหนึ่งที่เธอถือ บันทึกนกไขลาน (The Wind-Up Bird Chronicle) ของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) แล้วเราก็ไปซื้อมาอ่านบ้าง ทั้งที่จริงๆ มันเป็นเล่มที่หนาที่สุดของมูราคามิช่วงนั้นเลย อ่านจบก็ไม่ถึงกับรู้เรื่องมาก แต่ก็สนุกดี เลยอ่านงานเขามาเรื่อยๆ 

     งานของมูราคามิที่ทัชกับเรามักจะเป็นพวกชุดเรื่องสั้นอย่าง ลึกลับ.โตเกียว.เรื่องสั้น (Tokyo Mysterious Story Collection) ที่เราอ่านแล้วพอจะเชื่อมโยงกับเขาได้ มันเป็นเรื่องสั้นที่อยากบอกคนอ่านว่า คนเราเข้ามาแล้วก็ผ่านไป แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อ อันนี้เราตีความเองนะ แล้วมันก็ตรงกับเหตุการณ์ในชีวิตของเราพอดี ถือเป็นหนังสือที่เยียวยาเรา ทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น 

     พออ่านแล้วมันก็มีความคิดว่า เอ๊ะ หรือว่าเราก็น่าจะเขียนได้นะ ก็เลยเริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก ชื่อว่า 4 นาฬิกา 30 นาที เขียนเมื่อปี 2015 จริงๆ มันเป็นชื่อหนังของประเทศแถบๆ เพื่อนบ้านเรา เราก็อินสไปร์จากหนังเรื่องนั้น แล้วเอาไปลงในเว็บ Storylog ก็มีคนเข้ามาอ่าน มีคนชอบ ก็ยิ่งคิดต่อไปอีกว่าเราคงทำได้จริงๆ

มีคนจำนวนมากที่เขียนบล็อกแล้วก็เลิกไป ไม่ได้เขียนต่อ หรือกระทั่งคิดจะออกหนังสือ มีฟีดแบ็กหรือปัจจัยอะไรที่ผลักดันให้คุณอยากออกหนังสือ

     ใน Storylog แต่ละสัปดาห์หรือเดือนจะมี Editor’s Pick หรือบล็อกที่ทีมงานอยากแนะนำ ซึ่งจะถูกปักหมุดที่หน้าแรกของเว็บไซต์ แล้วงานเราก็ถูกเลือกเลยคิดว่า เออ งานเราก็ไม่ได้เน่าหนอนนะ (หัวเราะ) อีกส่วนหนึ่งเพราะการเขียนมันช่วยเอาอะไรบางอย่างในใจเราออกมา เป็นการเยียวยาอีกแบบหนึ่งก็เลยเขียนมาเรื่อยๆ

     จนถึงช่วงปี 2018-2019 เราไม่มีวัตถุดิบจะเขียน ก็เลยหยุดเขียนไปสักพัก คือก่อนหน้านี้เราเขียนไปโดยไม่มีหมุดหมาย ถึงจุดหนึ่งก็เลยไม่รู้จะเขียนอะไร พอเป็นอย่างนั้นก็เริ่มคิดว่าไม่ได้แล้ว และเราก็ไม่อยากเป็นคนเขียนเรื่องสั้นลงบล็อกไปตลอดด้วย การทำหนังสือก็เลยกลายเป็นหมุดหมายที่เราตามหาอยู่ 

พอคิดจะทำหนังสือแล้วคุณเริ่มต้นอย่างไร

     มันเป็นโอกาสแบบปุบปับ คือเรายื่นสมัครงานเป็นกองบรรณาธิการที่สำนักพิมพ์แซลมอน เราก็พกเรื่องสั้นที่เคยเขียนไปด้วย สุดท้ายเราไม่ได้ทำงานที่นี่ แต่สำนักพิมพ์ก็รับเรื่องสั้นไปพิจารณา ทีนี้มันเป็นเรื่องที่เขียนจากหลายช่วงเวลา ไม่ได้คัดเลือกหรือคิดธีมอะไรไปเสนอ ก็เลยถูกปฏิเสธพร้อมให้คอมเมนต์ที่เราก็เข้าใจได้ เลยตัดสินใจว่าเราจะแก้โจทย์จากคอมเมนต์ด้วยการเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด ให้มันเป็นเรื่องสั้นในธีมเดียวกัน

     มันมีเหตุการณ์หนึ่ง อาม่าพูดหรือทำอะไรกับเราสักอย่าง ไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่มันทำให้เราคิดขึ้นมาว่า บ้านกูนี่มันคนจีนจริงๆ เลยนะ คือถ้าเราไม่ใช่ลูกหลานคนจีนเขาก็คงไม่ทำแบบนี้กับเรา แล้วประโยคนี้ก็อยู่ในหัวมาเรื่อยๆ เหมือนมีพรายมากระซิบ จนเราคิดว่าต้องเขียนเรื่องนี้แล้วแหละ 

     พอตั้งโจทย์แบบนี้ เราก็กลับมาดูตัวเอง เรารู้ว่าตัวเองไม่ใช่สายรีเสิร์ช คงไม่สามารถเขียนความเป็นจีนโพ้นทะเล หรือประวัติศาสตร์จีนได้แบบ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ของพี่แหม่ม (วีรพร นิติประภา) และหากจะทำเราก็คงไปไม่ถึงระดับนั้น เลยอยากให้มันเป็นจีนโมเดิร์น เป็นจีนที่เห็นกันในชีวิตจริงที่เราเชื่อว่าคนอ่านน่าจะรีเลตได้ แถมมันเป็นคอนเซปต์ใหญ่ ซึ่งจะเอาประเด็นไหนล่ะ มันมีเรื่องให้เล่นเยอะไปหมด เลยคิดว่าน่าจะง่ายต่อการทำงาน แล้วเราก็คิดว่าตัวเองเข้าใจความเป็นจีนมากพอที่จะเขียนออกมาได้ด้วย 

มันดูเป็นธีมที่มีความเฉพาะตัว คิดไหมว่าคนที่เติบโตในครอบครัวไทยจะเข้าไม่ถึง

     เราคิดว่าทุกวันนี้คนไทยเชื้อสายจีนก็มีระดับความเป็นจีนเข้มข้นลดหลั่นกันไป อย่างรุ่นอาม่าก็จะเข้มข้นมาก ไล่ลงมารุ่นพ่อแม่ และรุ่นเรา ซึ่งเรื่องสั้นแต่ละเรื่องก็จะมีดีกรีความเป็นจีนที่ต่างกัน และเราว่าธีมมันเป็นเพียงโบนัส เป็นเหมือนไอซิ่งที่โรยบนขนม ทำให้งานชิ้นนี้มันมีคาแรกเตอร์ เป็นเซตอัพพิเศษที่อาจจะช่วยให้คนอ่านรู้สึกกับมันได้มากกว่า แต่ถ้ามองให้ลึกผ่านธีมความเป็นครอบครัวคนจีน มันก็คือความเป็นมนุษย์นั่นแหละ ที่ในความรักกันเราก็ทำร้ายกันบ้าง ในความผุพังมันก็มีความผูกพันกันอยู่

     ตอนตั้งต้นเราก็เหมือนเลือกไปกลายๆ แล้วว่า คนอ่านก็คงจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ส่วนคนไทยแท้ก็เป็นกลุ่มรองลงมา ซึ่งเอาเข้าจริงเราไม่เชื่อกับความเป็นไทยแท้ ยังไงเขาก็คงต้องเคยสัมผัสกับวัฒนธรรมแบบนี้มาบ้าง หรือท้ายที่สุดถ้าใครอ่านแล้วจะไม่รีเลตเลย เราก็เข้าใจ เพราะหนังสือหนึ่งเล่มคงไม่สามารถทำงานกับคนทุกคน ขอแค่มันทำงานกับคนกลุ่มหนึ่งที่เราคิดภาพไว้ก็โอเคแล้ว

กลับกัน คนไทย-จีนก็อาจจะไม่ได้เจอเรื่องแบบนี้ทุกบ้านหรือเปล่า

     เราพยายามเลือกเรื่องที่ดูแมสที่สุด เวลาพูดถึงคนไทยเชื้อสายจีนสิ่งที่แวบขึ้นมาเลยคือ การไหว้บรรพบุรุษ กินข้าววันรวมญาติ ลูกชายจะได้รับการดูแลที่ดีกว่า สะใภ้ต้องมีลูกชายให้ได้ 

     แต่บางเรื่องเราก็ได้จากการตั้งสเตตัสเฟซบุ๊กถามคนรอบตัว มีหลายๆ คนที่เราขอพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูล ก็มีประเด็นบางเรื่องที่เราเองก็ไม่เคยเจอ เช่น ความเผด็จการในบ้าน หรือระดับอำนาจของคนในบ้าน หากอากงอาม่ายังอยู่ก็จะเป็นคนคุม ถ้าไม่อยู่แล้วก็จะเป็นพ่อ ซึ่งพ่อก็จะส่งอำนาจให้ลูกชายคนโตเป็นศูนย์กลางของบ้าน เป็นคนควบคุมน้องๆ คล้ายๆ ในซีรีส์ เลือดข้นคนจาง แต่บ้านเรามีกันแค่สองคนพี่น้องก็เลยไม่มีแบบนี้ พอลิสต์ได้ประมาณ 12-13 ประเด็นก็คิดว่าพอเขียนหนังสือได้แล้ว  

มีประเด็นไหนอีกไหมที่ได้ฟังจากเพื่อน แล้วรู้สึกว่าเปิดโลก ไม่เคยรู้ไม่เคยเจอมาก่อน

     มีประเด็นว่าถ้าเป็นลูกสาวก็จะให้เรียนบัญชี ไม่ยอมให้เรียนอย่างอื่น เพราะจะให้กลับมาช่วยงานที่บ้าน หรือมีน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตอนเขาเกิด พ่อดีใจมากจนร้องไห้ เพราะเพิ่งมีลูกชายคนแรก คือพ่อเขากดดันมากว่าต้องมีลูกชายคนแรกให้กับที่บ้าน แม้เราจะพอรู้เรื่องนี้ แต่ไม่เคยคิดว่ามันจะกดดันมากขนาดนั้น 

     บางเรื่องจะบอกว่ามันคือความเป็นจีนก็คงไม่แฟร์ เช่น เวลามีปัญหาในบ้าน จะไม่ให้เอาเรื่องออกไปเล่าข้างนอก เราควรจะจัดการกันเอง เพราะหลายๆ ครอบครัวก็เป็นแบบนี้ 

เท่าที่ฟังก็เหมือนว่า แม้แต่คนไทยเชื้อสายจีนเองก็พบเรื่องราวที่ต่างกัน แล้วคุณเติบโตมาในความสัมพันธ์แบบไหน

     เราเป็นคนไทยเชื้อสายจีนชนชั้นกลางธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ มีพี่สาวที่อายุมากกว่าเจ็ดปี ก่อนเราเกิดเหมือนพ่อกับแม่ยังไม่รู้ว่าจะเลี้ยงพี่เราแบบไหน ก็เลยตีไว้ก่อน ใช้อำนาจควบคุมลูก ทำไม่ดี ทำไม่เก่ง ก็ตีไว้ก่อน แต่พอเราเกิดก็ไม่รู้ว่าเขาไปคิดอะไรได้ เราเลยโดนแค่ตีครั้งเดียวในชีวิต ทุกคนโอ๋เราเพราะเป็นลูกคนเล็ก หลานชายคนเล็ก โดยสิ่งที่พ่อแม่มักจะบอกอยู่บ่อยๆ คือให้เรารักเจ้มากๆ และเจ้ก็จะถูกสอนแบบนั้นหมือนกัน 

     พอวันหนึ่งได้ดูหนังตะวันตก เราก็จะเห็นว่าบางทีพี่น้องดูเกลียดกันมากเลยนะ แต่พอมีปัญหา พี่น้องก็จะคุยหารือว่าจะแก้ปัญหายังไง แล้วเราก็เลยนึกขึ้นได้ว่า พ่อแม่ไม่เคยสอนเราเลยว่ารักกันต้องทำยังไง แสดงออกแบบไหน ตีพี่แต่โอ๋เรา แถมตอนเด็กๆ เราเรียนเก่ง ก็เอาไปเปรียบเทียบกับพี่อีก แล้วพี่จะรักเราได้ยังไง

เวลารวมญาติ คุณเจอการซักถามอย่างละเอียดจากญาติๆ แบบที่เห็นกันในสื่อไหม

     อยู่แล้ว อย่างพวกเรื่องอาชีพ ทุกคนก็จะอยากให้เราเป็นทหาร ตำรวจ หมอ วิศวกร พ่อแม่ก็อยากนะ แต่โชคดีที่ตอนโตก็ไม่ได้บังคับอะไร ขอแค่ดูแลตัวเองได้ก็พอแล้ว 

     ส่วนเรื่องโดนถามถึงเงินเดือนทุกวันนี้ก็มีอยู่นะ ครั้งหนึ่งเคยไปกินข้าวแบบรวมญาติ แล้วญาติถามว่าเงินเดือนถึงห้าหมื่นหรือยัง เราอึ้งเลย เชี่ยไรวะ คือถามก็แย่แล้ว นี่มีตัวเลขในใจด้วยเหรอ อยู่ พ.ศ.อะไรกันแล้ว แถมยังลามไปคุยเรื่องว่าจะหาสะใภ้ มีลูกเพื่อให้เขามาคอยดูแลตอนแก่ ถึงเราจะไม่ใช่ครอบครัวจีนที่ typical มากๆ แต่เรายังพบความคลิเช่แบบนี้จากญาติๆ อยู่ คิดดูว่าถ้าเป็นครอบครัวจีนที่รวยมากๆ เป็นตระกูลเก่าแก่ ก็คงมีเหลี่ยมมุมที่ซับซ้อนและยิ่งกว่าที่เราเจออีก 

ถ้าคุณมีลูกมีหลาน เรื่องอะไรที่คุณจะไม่ส่งต่อไปสู่พวกเขา

     เรื่องการมีลูกชายเท่ากับความสำเร็จ การเป็นเจ้าของกิจการ มีเงินเดือนหกหลัก มีคู่แต่งงานที่ดี ทำไมเราต้องวาดกรอบความต้องการของตัวเองให้คนอื่น หรือแม้กระทั่งหยิบยื่นบางสิ่งที่คุณไม่เคยมี ไม่เคยได้ ก็เลยอยากให้เรามี แต่เคยคิดหรือเปล่าว่ามันดีต่อคนที่รับมั้ย เคยถามเขามั้ยว่าอยากได้หรือเปล่า มันเป็นความรักความหวังดีที่มองมิติเดียว ไม่ได้มองไปที่ผู้รับเลย เป็นแนวคิดที่น่าจะถอนรากออกไปซะ มันคือการไม่เคารพในปัจเจก แต่มองคนเป็นแบบเดียวกันหมด

ที่เล่ามาเหมือนจะมีแต่ปัญหา แล้วความเป็นครอบครัวจีนมีแง่มุมดีๆ ให้จดจำบ้างไหม

     มันก็มี แต่ถึงขั้นเพอร์เฟกต์เลยมั้ยก็คงไม่ใช่ คือเราก็รู้สึกและรับรู้ได้ถึงความรักของทุกคนที่มีให้กับเรา เราว่าญาติทุกคนก็รักเรา แต่พอเขาตีความความรักออกมาเป็นการกระทำแล้วมันแตกต่างจากที่เราเข้าใจ 

     อย่างเรากับพ่อแม่ก็ผ่านการทะเลาะมาหนักมาก หลายแนวคิดของพวกเรามันขัดกัน ก็มีการปะทะรุนแรงหลายครั้ง โดยเฉพาะกับพ่อ คือเขาเป็นเบบี้บูมเมอร์มากๆ ถ้ามีแตกลักษณะของเบบี้บูมเมอร์ 10 ข้อ พ่อเราติ๊กถูกทุกข้อเลย (หัวเราะ) ทะเลาะมาเรื่อยๆ จนเริ่มปรับจูนกันได้ว่า อ๋อ ถ้ารักกัน เธอควรปฏิบัติต่อกันแบบนี้ ซึ่งต่างจากญาติที่ไม่ได้ใช้เวลาในการปรับเข้าหากัน 

     ทุกวันนี้พอจูนกันได้เรารู้สึกถึงความรัก อุ่นใจ ออกจากบ้านไปทุกวันก็รู้ว่ายังมีบ้านให้กลับ รู้ว่ายังมีคนรอเราอยู่ที่บ้าน ถ้าช่วงไหนที่รู้สึกแย่ เราจะรู้ว่ายังมีคนที่อยากให้เรามีความสุข และมีชีวิตต่อไป ก่อนหน้านี้มันก็คือความรักแหละ แต่พอรักกันมากเกินไป หรือเป็นความรักที่ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจ มันก็จะทำร้ายกัน

จริงอยู่ว่าคุณใช้ข้อมูลที่เก็บมาจากคนรอบตัวด้วย แต่เรื่องที่คุณเล่ามาก็ทำให้นึกถึงเรื่องสั้นในเล่มอยู่หลายเรื่อง อยากรู้ว่าหนังสือเล่มนี้บรรจุเรื่องราวของคุณไว้สักกี่เปอร์เซ็นต์

     คิดว่าน่าจะมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์นะ

     มีรุ่นพี่คนหนึ่งได้อ่านและรีวิวไว้ประมาณว่า เล่มนี้เหมือนเป็นไดอารีของเรา แต่เรากลับมองว่าเป็นจดหมาย ถ้าเป็นไดอารีมันจะมีเซนส์การเขียนแบบที่เราไม่อยากให้ใครมาเปิดอ่าน แต่จดหมายคือสิ่งที่เราอยากบอก แต่อาจจะเขิน จนพูดออกมาลำบาก การเขียนจดหมายน่าจะทำให้ใครบางคนเข้าใจเรามากกว่า แล้วเอาเข้าจริงการเขียนหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยสะท้อนภาพตัวเราเองมากๆ ว่าอะไรทำให้เราเป็นแบบนี้ คิดแบบนี้ ทำแบบนี้ รวมถึงพากลับไปทบทวนเรื่องต่างๆ ด้วย

การใช้เรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ มาเขียนเป็นเรื่องแต่งมันไม่ยากเหรอ

     คือต่อให้เป็นเรื่องของตัวเอง แต่เราก็ตั้งเป้าว่ามันต้องมีประเด็นที่ทำให้คนอ่านได้อะไรกลับไป ถึงจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เราก็จะหาจุดร่วมบางอย่างที่คนอ่านจะรู้สึกเหมือนกัน มันก็จะผสมๆ ระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง แต่เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวด้วย เราก็จะเล่าออกมาได้อย่างจริงใจ ซึ่งเราเชื่อว่าความจริงใจจะทำให้คนอ่านเชื่อมโยงได้ง่าย

     จะมีบางบทที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเองมากๆ คือบทสุดท้าย ทุกอย่างในนั้นแทบจะเป็นเรื่องจริง เซตติ้งอาจจะถูกบิดไปบ้าง แต่แก่นของมันก็คือความรู้สึกของเราที่มีต่อแม่ เราก็ต้องหาวิธีเล่า แต่พอมันมีความจริงอยู่เยอะก็จะเขียนง่ายหน่อย ถ้าเป็นเรื่องที่ได้มาจากคนอื่น ก็จะสนุกอีกแบบ เพราะเราจะต้องพยายามหาวิธีเล่าใหม่ทั้งหมด

เป็นเหตุผลหนึ่งใช่ไหมที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีวิธีการเล่าเรื่องหลายรูปแบบ

     เราแค่คิดว่ามันเสี่ยงไปหน่อย ถ้าจะเล่าด้วยวิธีการแบบเดียว ต่อให้ประเด็นจะต่าง แต่วิธีเล่าเหมือนกันหมดเลยก็ไม่รู้จะดึงคนอ่านจนจบมั้ย เราค่อนข้างตั้งใจมากว่าทุกเรื่องต้องมีวิธีการเล่าที่ต่างกันไป อย่างน้อยๆ ก็จะพยายามเปลี่ยนมุมมอง อาจเล่าจากตัวละครบ้าง เล่าจากคนนอกบ้าง หรือเล่าเป็นกึ่งๆ บทสัมภาษณ์บ้าง บางทีคนอ่านอาจจะไม่อินกับประเด็นนี้แต่อาจจะชอบวิธีเล่าก็ได้

แทบทุกเรื่องจะเป็น sad ending มันไม่มีจบสวยๆ บ้างเหรอ

     ตกใจเหมือนกันตอนได้อ่านฟีดแบ็ก คนอ่านหลายคนพูดว่ามีหลายเรื่องค่อนข้างหนัก อ่านได้สองบทแล้วต้องหยุด อ่านติดๆ กันไม่ได้ก็มี คือเราเองก็ไม่ได้สังเกต อาจจะเป็นเพราะตัวเราเองที่ชอบพาเรื่องให้มันไปในทางนั้น เรารู้สึกว่าความดำมืดมันดึงดูดเรามากกว่าความสว่าง หรือถ้าเป็นความสว่างก็จะเป็นความสว่างสลัวๆ 

ไหนๆ ก็พูดถึงฟีดแบ็กจากคนอ่านแล้ว ส่วนใหญ่ว่าอย่างไร

     น่าสนใจตรงที่ว่าแต่ละคนจะมีเรื่องที่ชอบแตกต่างกันไปเลย เอาเข้าจริงมันก็มีเรื่องที่เราเฉยๆ กับเรื่องที่หยิบหนังสือกี่รอบก็จะเปิดไปบทนั้น 

     แต่จะมีอยู่คนหนึ่งที่เขาบอกว่าเชื่อมกับงานเราไม่ติด ซึ่งเขาก็อธิบายในรีวิวว่าเขาไม่ได้ give a shit กับความเป็นครอบครัว ถ้าทำไม่ดี ก็ไม่สนใจ ไม่เป็นครอบครัวกันก็ได้ และเขาก็แฟร์ที่เข้าใจว่าหนังสือมันคงคลิกกับทุกคนไม่ได้ ซึ่งเราก็เข้าใจเขาเช่นกันนะ เพราะหนังสือเล่มนี้ก็มีจุดยืนของมันอยู่คือ ไม่ว่าเราจะเกลียดหรือพังแค่ไหน แต่บางเรื่องก็ต้องการประนีประนอม ถึงอย่างนั้นเราก็ยอมรับได้ทุกฟีดแบ็ก และขอบคุณมากๆ ที่บอกกัน

คุณพูดว่าการเขียนหนังสือเล่มนี้มันพาคุณกลับไปทบทวนชีวิต อยากรู้ว่าเมื่อย้อนกลับไปดูแล้ว เรื่องไหนในความเป็นครอบครัวคนจีนที่ทำให้ความสัมพันธ์ผุพังที่สุด

     เรานึกถึงบท ‘หลานชายคนโปรด’ มันเล่าถึงเหตุการณ์ที่ญาติพี่น้องรุมเอาอกเอาใจ มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับหลานรัก เราว่ามันเป็นประเด็นที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวฉิบหายมากที่สุด มันเป็นความรักที่มากเกิน เป็นการยัดเยียดสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดว่าดีที่สุดให้กับหลานโดยไม่ได้เข้าใจอะไรเลย ทุกอย่างฉาบไว้ด้วยความหวังดี ไม่มีระยะห่างความสัมพันธ์ ไม่ได้ดูสถานะของตัวเอง แต่หลานของฉันจะต้องเก่ง ทุกคนทำกับหลานชายเหมือนเป็นถ้วยรางวัลที่เอาไว้อวด เอาไว้เชิดชูตัวเอง ซึ่งเราว่าหลายๆ ครั้งความหวังดีแบบนี้ก็เป็นเพียงการรักตัวเองนั่นแหละ

     อีกเรื่องคือแนวคิดชายเป็นใหญ่ ก็ถือเป็นประเด็นที่สร้างความผุพังในครอบครัวคนจีน เราเองก็เจอและถูกซ่อมแซมกันแล้วประมาณหนึ่ง แต่มันถือเป็น damage done มันแตกร้าวไปแล้ว บางอย่างก็เอากลับคืนมาไม่ได้ ยกตัวอย่างฉากจบของ เลือดข้นคนจาง ถามว่าการที่อาม่าคีบกุ้งให้มันซ่อมแซมได้มั้ย ก็คงประมาณหนึ่ง แต่ความเสียหายมันเกิดขึ้นไปแล้ว ไม่มีทางกลับมาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

สุดท้ายนี้คุณให้คะแนนผลงานหนังสือเล่มแรกเท่าไหร่ และถ้าคุณเป็นพ่อแม่คนจีนจะให้คะแนนลูกคนนี้เท่าไหร่

     เราคงให้ 8 ตอนเขียนเรามีแผนว่าจะเขียนให้ได้วันละหนึ่งหน้า ซึ่งก็ทำได้จริงๆ อาจจะแวะดูยูทูบบ้าง เฟซบุ๊กบ้าง แต่ก็ถือว่ามีวินัยในการเขียนนะ

     แต่ถ้าเป็นพ่อแม่ก็คิดว่าให้เต็ม 10 เพราะตอนเขียนเราไม่ได้เล่าให้ใครฟังเลย จนวันที่หนังสือกองนึงส่งมาที่บ้าน พ่อยังคิดอยู่เลยว่าเราคงไปซื้อหนังสือมาอ่าน พอเราบอกเขาว่านี่คือหนังสือที่เราเขียนนะ เขาดีใจมาก พ่อประกาศขายในกรุ๊ปไลน์เพื่อนๆ เลย แต่พ่อกับแม่ก็อ่านไปไม่กี่เรื่องหรอกนะ เขาไม่ใช่คนอ่านหนังสือกันอยู่แล้ว และเรื่องมันก็ค่อนข้างหนัก ใจหนึ่งก็อยากให้อ่าน ใจหนึ่งก็ไม่อยากให้อ่าน กลัวเขาช็อก (หัวเราะ)