Thu 01 Feb 2024

THAI PARODY MANGA

คุยกับ ‘เฟน สตูดิโอ’ แห่ง ‘สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่’ นักเขียนการ์ตูนผู้สร้างความขำขันจากหนังและละคร

     เมื่อครั้งที่พวกเราไปเยี่ยมชมห้องจัดเก็บหนังสือที่บรรลือสาส์นเคยตีพิมพ์ ถ้าไม่นับ ขายหัวเราะ ยุคแรกๆ ที่รูปเล่มยังมีขนาดใหญ่ ต่างจากฉบับพ็อกเก็ตบุ๊กที่คุ้นชินกันในยุคหลัง หนังสือที่สะดุดตาและชวนให้หยิบลงจากชั้นวางคือ สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่

     เพราะเหล่าตัวการ์ตูนหน้าตาสดใส จัดวางเหมือนโปสเตอร์ละครไทยที่อยู่บนหน้าปกก็ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อพลิกอ่าน เจอความขำขันที่คุ้นเคยผ่านเรื่องเล่า ความรู้สึกในวัยเด็กก็กลับมาทั้งหมด

     การผสมผสานเรื่องราวในชีวิตประจำวันเข้ากับการหยิกแกมหยอกดารา คนดัง เพลง หรือไม่ก็หยิบบางฉากจากภาพยนตร์และละครที่โด่งดังในยุคนั้น มาบิด ปรับ หักมุม จนกลายเป็นเสียงหัวเราะได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

     ยังไม่นับว่าวรรณคดีที่มีเรื่องราวซับซ้อน ตัวละครเกือบครึ่งร้อย ใช้ศัพท์แสงเข้าถึงยาก หรือไม่ก็ยืดยาวเป็นมหากาพย์ที่น้อยคนจะอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ เขาก็นำมาปรับดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นการ์ตูนให้อ่านได้เพลิดเพลินไม่แพ้การล้อละคร

     นักเขียนคนนั้นชื่อ อารีเฟน ฮะซานี หรือ เฟน สตูดิโอ ผู้มีสโลแกนของตัวเองว่า “ทำของหนักให้เบา ทำของอ่านยากให้ง่าย”

     แต่ใครๆ ก็คงรู้ ว่าการทำของหนักให้เบา ทำของอ่านยากให้ง่าย ทำอย่างสม่ำเสมอและยืนระยะได้ยาวนานกว่า 43 ปีไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน 

     เราจึงชวนพี่เฟนเล่าความหลังถึงการ์ตูนเรื่องแรกที่วาด การเดินเท้าหลายกิโลเมตรเพื่อตระเวนส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต่างๆ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้มาร่วมงานกับบรรลือสาส์น และเป็นส่วนหนึ่งของทีม ขายหัวเราะ-มหาสนุก ไปจนถึงเบื้องหลังความคิดของนักเขียนการ์ตูน ผู้มีความสุขกับการปลดปล่อยไอเดียที่สร้างเสียงหัวเราะให้ผู้คน

ความทรงจำแรกเริ่มระหว่างพี่เฟนในวัยเด็กกับการ์ตูนเป็นอย่างไร

     ตอนเด็กๆ ยังอ่านหนังสือไม่ค่อยออกหรอก ก็จะเปิดอ่านพวกการ์ตูนที่พี่ชายซื้อมา การ์ตูนเด็กๆ เบาๆ อย่าง เบบี้หนูจ๋า หรือไม่ก็นิยายภาพ เช่น สิงห์ดำ ของ ราช เลอสรวง กับ เจ้าชายผมทอง ของ จุก เบี้ยวสกุล

     พออ่านหนังสือคล่องก็เริ่มสนุกกับการอ่านตัวหนังสือ เริ่มมีจินตนาการ ก็ลองวาดลอกลายเส้นจาก สิงห์ดำ จากการ์ตูนของอาวัฒน์ (วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ) กับอาจุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) 

     ช่วง ป. 3-4 เริ่มมีความฝันอยากเขียนการ์ตูนเป็นเรื่องเป็นราว ก็ไปเก็บกระดาษที่โรงพิมพ์เขาตัดขอบแล้วทิ้งไว้หน้าโรงพิมพ์เอามาพับครึ่ง เขียนการ์ตูนแนวๆ ยอดมนุษย์ เพราะช่วงนั้นเริ่มอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นพวก อุลตราแมน และ ไอ้เงาแดง (Kamen no Ninja Akakage / Red Shadow) แล้วก็เอาไปขายในห้องเรียน 

ผลตอบรับดีไหม

     ผมเป็นเด็กบ้านนอก ทั้งผมและเพื่อนๆ ก็ไม่มีเงินกันหรอก ที่บอกว่าเขียนการ์ตูนขายคือให้เพื่อนเอายางลบกับดินสอมาจ่ายแทนเงิน ก็ได้มาเยอะเลย ขนาดที่ว่าแม่มาเจอดินสอยางลบเต็มลิ้นชักแล้วคิดว่าผมไปขโมยใครมา (หัวเราะ) แต่แม่ก็สนับสนุนนะ เห็นผมเขียนการ์ตูนอยู่ที่บ้านก็ไม่ได้ว่าอะไร งานบ้านเราก็ทำเสร็จเรียบร้อยดี แค่มีเปรยๆ บ้างว่าหนังสือเรียนไม่ค่อยอ่านเลยนะ

     จากตรงนั้นก็วาดมาเรื่อยๆ พอเรียนจบ ม.ศ.3 ผมเริ่มคิดว่ามันเป็นอาชีพที่ดี ได้ใช้ความคิดของเราคนเดียว แต่ก็คิดไกลกว่านั้นอีกหน่อยด้วยว่าอยากเขียนการ์ตูนในสำนักพิมพ์เดียวกับอาวัฒน์ อาจุ๋มจิ๋ม ก็คือบรรลือสาส์น

ได้เงินจากการวาดการ์ตูนครั้งแรกเมื่อไหร่

     ตอนเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ผมมาเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง ทีนี้เงินที่พ่อแม่ส่งมาให้ใช้ก็ไม่ได้เยอะมาก มีพี่ชายช่วยบ้าง ปีแรกเลยยังโอเค แต่พอขึ้นปีที่สองชักไม่ไหว โชคดีที่รอบๆ เพาะช่างแถวเสาชิงช้ามีโรงพิมพ์กับสำนักพิมพ์ตั้งอยู่เยอะ เลยคิดว่าเอาวะ ชวนเพื่อนที่ชอบเขียนการ์ตูนอีกคนลองเขียนกัน

     ที่แรกที่ผมส่งคือสำนักพิมพ์อุดมศึกษา เพราะอยู่ใกล้ที่สุด จำได้ว่าเป็นการ์ตูนตลก 2-3 หน้า ให้เขาทดลองอ่านดูพอดีว่าตอนไปส่งเจอคุณอุดม จงกมานนท์ เจ้าของสำนักพิมพ์มารับงานเอง เขาคงเห็นว่าเรายังเป็นนักเรียนก็เลยให้คำแนะนำว่าควรวาดแบบไหน แล้วก็ซื้องานชิ้นนั้นไปด้วย ตอนนั้นได้หน้าละประมาณ 15 บาท ข้าวยังขายจานละ 2-3 บาท 

หลังจากวันนั้นชีวิตเปลี่ยนไปเลยไหม

     กิจวัตรเปลี่ยนไป เขียนการ์ตูนตอนกลางคืน เช้าไปเรียน ตกเย็นเดินเอางานไปส่ง

     ผมทำแบบนี้อยู่ 3-4 เดือน สำนักพิมพ์ก็บอกว่าจะทำหนังสือการ์ตูนใหม่ เป็นแบบรวมหลายคนเขียน ผมก็ตอบรับคำชวน ตกเย็นเลิกเรียนเราก็จะเข้าไปที่สำนักพิมพ์ เป็นลูกทีมให้คุณอิศวร (อิศวร ศรีสัตยานุการ) ซึ่งเป็นนักเขียนรุ่นใหญ่ ในเล่มหนึ่งมีราวสี่เรื่องก็แบ่งๆ กันไปทำ เป็นเรื่องที่มีบทมาให้แล้ว เอามาจากพวกนิทานหรือวรรณคดีพื้นบ้าน เรามีหน้าที่วาดอย่างเดียว

     เขียนอยู่หนึ่งปี ตอนนั้นน่าจะปี 2521 การ์ตูนเล่มละบาทกำลังบูม ฮิตมาก แค่ 24 หน้า ใครๆ ก็อ่านกัน ผมก็เริ่มคิดว่าออกไปเขียนแบบนี้เองคนเดียวดีกว่า จะได้เขียนที่บ้าน ไม่ต้องเข้าไปทำที่สำนักพิมพ์จนถึงดึกดื่น

คราวนี้ไปเสนอต้นฉบับที่ไหน

     ผมใช้วิธีซื้อการ์ตูนเล่มละบาทมา 2-3 เล่ม ต่างสำนักพิมพ์ แล้วก็ดูหน้าสารบัญว่าสำนักงานตั้งอยู่ที่ไหน ก็เจอสำนักพิมพ์ศิริสาส์น อยู่แถวประตูน้ำ ผมก็แต่งเรื่องแนวเจ้าชาย-เจ้าหญิง 24 หน้าแล้วเดินเข้าไปที่สำนักพิมพ์ เขาก็ดูๆ แล้วคงเห็นว่าพอไปได้ ก็รับซื้อเล่มนั้นเลย น่าจะเล่มละ 500 บาท หารแล้วก็ตกหน้าละประมาณ 20 บาท

     เขาเสนอให้ลองเขียนแนวผีๆ ด้วยนะ ผมก็ไม่ติด อยากให้วาดอะไรผมก็รับไว้ก่อน จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วย ผมก็เขียนเรื่องผีในแบบของตัวเอง คือสมัยนั้นเรื่องผีต้องน่ากลัวมาก และก็มีโป๊ๆ หน่อย แต่ผมไม่สนับสนุนแนวนั้น เขียนได้เกือบปีก็ออกเดินหาสำนักพิมพ์ใหม่

ทำไมถึงตัดสินใจย้ายสำนักพิมพ์หลายครั้ง

     ผมอยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ การจัดการ การขาย แล้วก็คิดว่าอาจจะได้ค่าต้นฉบับเพิ่มขึ้นด้วย 

     ตอนนั้นเรียน ปวช. เลิกเรียนก็เดินหาสำนักพิมพ์ เดินไปไกลมาก ไปจนถึงขนส่งสายใต้เก่า ดาวคะนอง เจอสำนักพิมพ์ไหนก็เข้าไปเสนอทุกที่ ส่วนใหญ่เขาก็รับหมดนะ อาจเพราะผมมีงาน มีโปรไฟล์บ้างแล้ว

พอจะเดาได้ไหมว่า ทำไมเสนองานให้สำนักพิมพ์ไหนก็มักตอบรับเสมอ

     สโลแกนของผมก็คือทำของหนักให้เบา ทำให้ของอ่านยากให้ง่าย

     เนื้อหาที่ผมเขียนจะกลางๆ ไม่สุดโต่ง ถ้าผีก็ไม่ได้น่ากลัวมาก ถ้าเจ้าชายเจ้าหญิงก็ไม่ใช่ว่าจะหวานแหวว แล้วผมก็จะใส่เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เข้าไป มีมุกแทรกอยู่เรื่อยๆ เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี

     อีกอย่างหนึ่งที่ผมได้ยินเขาว่ากันมาคือ ผมคุยง่าย อาจจะเพราะหน้าตาหรือวิธีพูดของผมมั้ง (หัวเราะ)

บรรลือสาส์นก็ตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่พี่เฟนเรียนอยู่ ทำไมจึงไม่เข้าไปเสนองานบ้าง

     คิดว่าอยากให้เข้ารูปเข้ารอยก่อน ทั้งการเล่าเรื่องและการวาด ผมวาดการ์ตูนได้สักสามปี จนปี 2523 ก็เขียนการ์ตูนตลกไป 2-3 หน้า กับเรื่องสั้นการ์ตูนอีกหนึ่งเรื่อง เลยเดินไปส่งที่บรรลือสาส์น

     ตอนนั้นสำนักพิมพ์ยังอยู่ที่ถนนนครสวรรค์ พอไปถึงก็ยืนหายใจอยู่ข้างหน้านานเลย เพราะมันเป็นสำนักพิมพ์ในฝัน คิดในใจว่าอาจได้เจออาวัฒน์ อาจุ๋มจิ๋ม ก็ตื่นเต้นพอสมควร แต่พอเข้าไปก็ไม่เจอหรอกนะ มีแค่ผู้ชายสูงอายุ ตัวผอมๆ นั่งอยู่ที่โต๊ะกำลังคุยกับลูกน้องอยู่ ผมก็บอกไปว่าเอางานมาเสนอครับ เขาก็ของานไปดู บอกว่า เออๆ พอไปได้ แล้วก็หันไปบอกพนักงานคนนั้นว่าต่อไปให้รับงานเด็กคนนี้ด้วย จำได้ว่าค่าต้นฉบับหน้าละ 35 บาท

     หลังจากวันนั้นผมก็เขียนงานแล้วเดินมาส่งที่นี่อยู่นานสักระยะ ก่อนจะได้รู้ว่าผู้ชายที่เจอวันนั้นคือคุณบันลือ อุตสาหจิต คุณพ่อของ บ.ก.วิธิต

พอได้มาอยู่กับสำนักพิมพ์ในฝันแล้วเป็นอย่างไร

     กิจวัตรยังเหมือนเดิม แค่ไม่ได้เขียนการ์ตูนเล่มละบาท แต่มาเขียนนิยายภาพแทน มันจะไม่ใช่การ์ตูนแบบที่ผมเขียนยุคหลังหรอกนะ คือเป็นภาพคนสมจริง มีแสง มีเงา เหมือนการ์ตูนนิยายแบบฝรั่ง ไม่ใช่มังงะ งานของผมจะลงกับหนังสือชื่อ เยาวชน ในเล่มก็จะมีครบเลย เรื่องสั้น เรื่องยาว แก๊กการ์ตูน ถาม-ตอบจดหมาย แต่ทีมที่เขียนในเล่มจะเป็นเด็กใหม่ อาจมีรุ่นเก่ามาแจมเล่มละคนสองคน

     เขียนได้สักหนึ่งปีก็มีหนังสือออกใหม่ชื่อ หลายรส เป็นนิยายภาพทั้งเล่ม ก็จะมีพี่เตรียม ชาชุมพร และพี่โอม รัชเวทย์ สลับกันเขียนคนละเล่ม แล้วมีพวกรุ่นใหม่อย่างผมกับ ต่าย (ภักดี แสนทวีสุข) ได้ร่วมเขียนบ้าง แต่ว่าตอนนั้นผมเรียนจบได้วุฒิครูพอดี เลยสอนหนังสือที่สาธิตเกษตรไปด้วย เขียนการ์ตูนให้บรรลือสาส์นไปด้วย

เพิ่งรู้เลยว่าพี่เฟนเคยเป็นครูด้วย

     ใช่ หลังจบเพาะช่างก็มาเรียนต่อศึกษาศาสตร์ ตอนไปฝึกสอนที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็รู้สึกสนุกดี อยู่กับเด็กแล้วมีความสุข บางทีเด็กก็เป็นฝ่ายสอนเรานะ พอเรียนจบเลยอยากสอนต่อ ก็มาอยู่ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามปี

     หลังจากนั้นเพื่อนก็ชวนให้ไปทำงานครีเอทีฟที่บริษัทโฆษณา ได้ทำสตอรี่บอร์ด คิดไอเดียว่าจะขายสินค้าอย่างไร  คือตอนอยู่เพาะช่าง ผมเรียนสาขาพาณิชย์ศิลป์อยู่แล้วเลยไม่ยากเท่าไหร่ 

     ทำบริษัทโฆษณาได้สักพักเพื่อนก็ชวนให้ไปทำกับแบรนด์เสื้อผ้า GQ ทีแรกเราก็งง เพราะไม่ได้เรียนมา แต่เพื่อนบอกว่าเขาจะให้ออกแบบลายเสื้อ ไม่ใช่ออกแบบเสื้อผ้า ผมลองทำดู ก็พอไปได้ ผมรู้เรื่องวาด เรื่องสีอยู่แล้ว ชอบถ่ายรูปด้วย เลยได้ถ่ายรูปเสื้อผ้า จัดวางเสื้อกับพร็อพให้เขาเสร็จสรรพ 

     ทำที่ GQ ได้สักสามปีก็คิดว่าอยากเขียนการ์ตูนเต็มตัว ผมบอกทุกคนว่าห้ามมาชวนไปทำอย่างอื่นแล้วนะ (หัวเราะ) ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ บ.ก.วิธิตเข้ามารับช่วงต่อเต็มตัว หนังสือ หลายรส กับ เยาวชน ปิดตัวไป แล้ว ขายหัวเราะ กับ มหาสนุก กำลังจะเกิดขึ้น

ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ว่านี้ พี่เฟนต้องปรับอะไรบ้าง

     ผมเขียนแต่นิยายภาพ ไม่ก็การ์ตูนเรื่องสั้นมาตลอด แต่พอต้องเขียนให้สองเล่มนี้ บ.ก.วิธิตบอกว่าลายเส้นแบบนิยายภาพน่าจะไม่เหมาะ อยากให้ผมปรับเป็นเส้นง่ายๆ รูปร่างตลกๆ นุ่มๆ แบบมังงะ ปรับเอาความสมจริงและแสง-เงาออกไป ซึ่งก็คือการ์ตูนที่เห็นกันทุกวันนี้ 

     ผมปรับอยู่เกือบปีนะ นานเหมือนกัน ดีที่ผมมีพื้นฐานเคยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่แล้ว ก็พอมองออกว่าสิ่งที่ บ.ก.วิธิตต้องการน่าจะเป็นแบบไหน ต้องแสดงอารมณ์เต็มที่ โอเวอร์หน่อย ตาโตๆ ปากกว้างๆ ซึ่งฟีดแบ็กจากจดหมายที่นักอ่านส่งมาก็คือคำตอบว่าผมปรับมาถูกทาง 

พอได้เข้ามาทำงานกับสำนักพิมพ์ในฝันเต็มตัว ภาพบรรยากาศการทำงานเป็นไปอย่างที่คิดไหม

     บรรยากาศก็เหมือนออฟฟิศทั่วไปนี่แหละ ผมเอางานไปส่ง เปิดประตูเข้าไปก็เจอโต๊ะทำงาน 2-3 โต๊ะ เป็นแผนกกองบรรณาธิการ ส่วนนักเขียนก็จะไปทำงานกันที่ห้องชั้นสอง แต่ผมไม่เคยขึ้นไปนะ เชื่อไหมผมเขียนอยู่สิบกว่าปีไม่เคยเจออาวัฒน์ อาจุ๋มจิ๋มเลย (หัวเราะ) ไม่เคยเจอพี่ต่าย หรือใครๆ เลยด้วย 

     ผมนี่เหมือนเป็นฟรีแลนซ์เลย แต่มันก็ไม่ได้มีผลอะไร ทำงานที่ไหนก็เหมือนกันแหละ เดี๋ยวนี้ผมก็ยังเขียนบนโต๊ะที่บ้านเหมือนเดิม แค่ไม่ต้องไปส่งเอง ส่งทางอีเมลหรือไปรษณีย์ก็ได้ 

แล้วภาพนักเขียนนั่งทำงานในห้องที่เห็นในการ์ตูนนี่มีจริงไหม

     มีจริง ช่วงที่สำนักพิมพ์ย้ายมาอยู่รัชดา ซอย 3 เป็นยุคแรกๆ ที่เข้ามาทำงานประจำกัน พี่ต่ายกับพี่นิคจะอยู่ที่นี่ เวลาผมไปส่งงานก็ส่งกับพี่ต่ายนี่แหละ เขาจะเป็นคนรับงาน ตรวจงานแทน บ.ก. พี่ต้อมก็น่าจะนั่งทำประจำที่นี่ด้วย 

     พอย้ายมาผมก็ได้เจอนักเขียนหลายคน ก็มีทั้งคนที่นั่งทำประจำ ทั้งคนที่แวะมานั่งทำงานในห้องแอร์เย็นๆ ก็ได้บรรยากาศเหมือนมาเจอเพื่อน แต่ผมก็ยังไปๆ มาๆ นะ ส่งงานแล้วคุยนิดหน่อยก็กลับเลย พี่หมู (สุชาติ พรหมรุ่งโรจน์) ก็น่าจะเป็นอีกคนที่มาส่งงานแล้วก็กลับ จะอยู่นานหน่อยก็แค่ตอนคุยงานกับสังสรรค์กัน

จุดเริ่มต้นของ สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ เป็นมาอย่างไร

     ปี 2537 เป็นยุคที่ ขายหัวเราะ และ มหาสนุก เปลี่ยนไซส์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กแล้ว คุณนก (โชติกา อุตสาหจิต กรรมการผู้จัดการเครือวิธิตากรุ๊ป) เรียกผมเข้าไปคุยว่า ไอ้ตัวเล็ก หนังสือการ์ตูนเดี่ยวของพี่ต่ายที่ออกไปก่อนหน้านั้นโอเคนะ เฟนก็น่าจะมีบ้าง 

     ตอนนั้นเราเขียนการ์ตูนล้อละครลง มหาสนุก จับหนังหรือละครที่ฉายอยู่มาทำใหม่ หักมุม เปลี่ยนตอนจบ อาจจะเดินเรื่องเหมือนเขาสักครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งจะเป็นจินตนาการของเรา ก็เติมความสนุกเฮฮาบ้าๆ บอๆ เข้าไป ทีนี้ละครที่หยิบมาทำมักจะเป็นเรื่องวัยรุ่นหญิงชาย เลยเริ่มคิดว่าตัวแทนผู้หญิงน่าจะเป็นดอกไม้ ส่วนผู้ชายนี่คิดนานหน่อย แต่เห็นว่าผู้หญิงเป็นดอกไม้แล้ว ก็เลยให้ผู้ชายเป็นผลไม้แล้วกัน ซึ่งกล้วยไข่มันก็พอจะบอกกลายๆ ว่าหมายถึงผู้ชายด้วย ก็เลยกลายเป็น สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่

     ผมไม่คิดฝันมาก่อนว่าจะมีหนังสือการ์ตูนเป็นของตัวเอง เขียนรวมกันหลายๆ คนใน ขายหัวเราะ กับ มหาสนุก ก็ดีอยู่แล้ว ตอนรู้ผมดีใจมากเลยนะ เพราะจะได้เขียนทุกอย่างทุกแนวลงไปในเล่มเดียว ก็มีทั้ง เปาบุ้นจี้ บริษัทอัดผี การ์ตูนครอบครัว บ.ก.วิธิตก็ปล่อยให้ผมทำนะ ถ้าตรงไหนเกินไปหน่อยก็จะติงและแนะนำ ซึ่งเราก็เข้าใจนะ เป็นการปรับเพื่อให้มันไปต่อได้ ถ้าสำนักพิมพ์อยู่ได้ เราก็ไปต่อได้ด้วย 

ไอเดียการล้อละครมาจากไหน

     ก็ดูนั่นดูนี่ไปแล้วคิดว่ามันน่าจะจบแบบนี้นะ ลองพลิกไปแบบนั้น หรือถ้าปรับตัวละครนิดนึงน่าจะสนุกดี คิดแล้วก็นั่งทำบทในเศษกระดาษ ตอนจบก็จับหักมุมซะ เวลาทำบทผมจะเขียนหักมุมสองแบบ แบบหนึ่งอาจจะหักมุมจริงจังหน่อย อีกแบบก็ฮาๆ ไปเลย แล้วค่อยมาคิดว่าจะใช้แบบไหนดีคนอ่านถึงจะสนุก ส่วนใหญ่แบบจริงจังก็จะแพ้แบบฮาๆ นั่นแหละ (หัวเราะ)

ยังจำได้ไหมว่าเรื่องแรกๆ ที่เอามาทำคือเรื่องไหน

     น่าจะเป็นซีรีส์ญี่ปุ่นชื่อ สงครามชีวิตโอชิน หรือไม่ก็เพลงของคุณอ้อม สุนิสา แต่ถ้าเป็นเพลงเราจะไม่ได้เอามาล้อตรงๆ จะทำเป็นเรื่องวัยรุ่นทั่วไปแล้วแอบเอาเพลงหยอดเข้าไป ตอนนั้นเขียนแบบนี้อยู่หลายชิ้นพร้อมๆ กัน เลยไม่แน่ใจว่าชิ้นไหนเป็นชิ้นแรก 

     การเขียนการ์ตูนดีตรงที่เราดูไปด้วยวาดไปด้วยได้ แต่ก่อนผมดูทีวีเป็นอาชีพเลยนะ ดูทุกช่อง แต่ก็ดูผ่านๆ เอาให้พอรู้เรื่อง แต่หลังๆ ชักไม่ไหว อาศัยอ่านหนังสือเรื่องย่อละคร เอาแค่กลิ่นมา เพราะพอเขียนจริงๆ เรื่องในการ์ตูนก็ออกทะเลไปไหนต่อไหนไม่รู้

เรื่องไหนที่หยิบมาล้อแล้วมีเสียงตอบรับดี น่าจดจำ

     แม่นาค กับ คู่กรรม โกโบริผมนี่หล่อมากเลย ฟันเหยินๆ (หัวเราะ) 

     นอกจากต้องทำให้เรื่องสนุกแล้ว เราก็ต้องออกแบบตัวละครให้สนุกด้วย จะมาหล่อสวยกันทุกคนไม่ได้ ต้องมีสักตัวที่ขี้เหร่หน่อย แต่ก็ไม่ได้ขี้เหร่เปล่าๆ เราก็พยายามหาจุดเด่นหรือใส่เสน่ห์เข้าไปให้ด้วย คนอ่านก็จะชอบ 

การเอาผลงานดังๆ ที่คนมีภาพจำอยู่แล้วมาทำใหม่ให้สนุก ให้ตลก ถือเป็นงานยากไหม

     สำหรับผมไม่ยากนะ ไอเดียคร่าวๆ มันมาทันทีที่ดูเลย ขออยู่เงียบๆ คนเดียว ฟังเพลงบรรเลงเบาๆ สักพักหนึ่งก็เรียบเรียงได้ บางครั้งหลับตาคิดสัก 20 นาทีก็ลุกขึ้นมาเขียนรวดเดียวเลย 

     ว่าไปแบบนี้คนอาจสงสัยว่ามันง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ ก็มันเป็นอาชีพน่ะ มันเป็นแนวของผมด้วย เหมือนงานปั้น คนที่ปั้นเป็นอาชีพ เขาดูแบบนิดหน่อยก็รู้แล้วว่าต้องปั้นยังไง รู้ไปถึงว่ามันจะมีปัญหายังไง ผลลัพธ์สุดท้ายน่าจะเป็นแบบไหน 

     การเขียนการ์ตูนก็เป็นแบบนั้น ยิ่งเป็นแนวที่ไม่มีใครทำ ไม่มีตัวเปรียบเทียบ ผมก็ทำไป ไม่มีผิดมีถูก ถ้าคนอ่านรับได้ผมก็รอดตัว ถ้าเขาไม่รับ ผมก็โดนด่า เท่านั้นเอง

พอคนสมัยนี้ดูทีวีน้อยลงส่งผลกับการ์ตูนล้อละครไหม

     มีส่วน สมัยนั้นทางเลือกไม่เยอะ ทีวีมี 4-5 ช่อง ก็เหมือนโดนบังคับดู หนังใหญ่ก็ต้องไปดูในโรง แต่ตอนนี้ Netflix มีสารพัดเรื่องเลย คนไม่จำเป็นต้องดูอะไรเหมือนๆ กัน ถ้าจะเขียนล้อละครล้อหนังก็ยากแล้ว จับทางยาก ผมเลยเขียนล้อน้อยลง 

ถ้าต้องทำต่อจะทำอย่างไร

     คิดว่าก็ยังเขียนได้นะ แต่ต้องใช้วิธีแต่งโครงเรื่องขึ้นใหม่เลย แล้วดูว่าคนในโซเชียลฯ พูดถึงอะไรกัน ก็เอามาหยอดใส่ในเรื่อง แต่ถ้าจะให้หยิบเรื่องดังๆ มาทำทั้งเรื่องเลยมันยากแล้ว เพราะทุกคนดูไม่เหมือนกัน

นอกจากล้อละครแล้ว พี่เฟนยังมีการ์ตูนที่เอาโครงเรื่องจากวรรณคดีมาทำใหม่ ทำไมถึงคิดจะเอาเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อนมาทำให้เด็กอ่าน

     คุณเคยเรียนเรื่อง รามเกียรติ์ ใช่ไหม เรามักจะเรียนกันอยู่ไม่กี่ตอน พระอภัยมณี ก็รู้แค่ตอนเป่าปี่แล้วนางยักษ์จับตัวไป หลังจากนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผมก็มีปัญหาแบบนั้นเหมือนกัน พออ่านจบหนึ่งตอนแล้วงงว่าเรื่องทั้งหมดมันเป็นยังไงกันแน่ แล้วไปจบที่ตรงไหน ซึ่งถ้าไม่มีแรงบันดาลใจว่าเป็นการอ่านให้จบเพื่อเอามาเขียน ก็คงไม่ได้อ่าน เพราะมันยาว แต่ครั้งนี้อ่านแล้วเอามาเขียน ได้เงินด้วย (หัวเราะ) มันก็น่าลงทุน 

     ผมไปบอก บ.ก.วิธิตว่าจะเขียนการ์ตูน รามเกียรติ์ นะ แกก็ดี๊ดี ไม่ห้ามเลย ต้องเล่าว่าตอนนั้น บ.ก.วิธิตจะไม่ยอมให้ใครเขียนเรื่องยาวหลายๆ ตอน แกอยากให้จบในเล่มเท่านั้น ตอนไปเสนอก็คิดว่าแกจะไม่ยอม ผมก็บอกเหตุผล พยายามตะล่อมว่ามันยังไม่เคยมีใครเขียนใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบนะ แกก็ไว้ใจผม ง่ายๆ แบบนี้เลย 

     ผมก็เลยไปซื้อหนังสือมาอ่าน ซื้อ 4-5 เวอร์ชั่นเลย ซื้อเล่มที่เล่าเรื่องแยกเฉพาะตัวละครด้วย อย่าง รามายณะ ฉบับแปลอังกฤษก็ซื้อ เพราะเราจะได้เห็นความแตกต่าง เห็นหลายมุมมอง แล้วผมก็ตั้งชื่อเรื่องว่า รามาวตาร ตอนนั้นน่าจะยังไม่มีใครใช้ชื่อนี้ แล้วมันเป็นชื่อที่ผมคิดว่าเชื่อมโยงถึง รามเกียรติ์ ได้

กังวลไหมว่าตัวละครจะเยอะ เรื่องจะซับซ้อนจนเด็กอ่านไม่สนุก

     ก็เป็นหน้าที่ของผมที่จะทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย 

     ต้นฉบับมักจะใช้คำหรูหรา ราชาศัพท์ ซึ่งอย่าว่าแต่เด็กเลย ผมอ่านเองยังต้องเปิดพจนานุกรม ผมก็แปลออกมาแบบให้เด็กอ่านได้ ตัวละครก็ต้องออกแบบให้มันขำขัน ถือเป็นงานใหญ่ เพราะตัวละครมีเป็นร้อยตัว ฉากบ้านเมืองก็ต้องทำให้ครบ ผมทำผังตัวละครด้วยนะ ถ้าอ่านๆ ไปแล้วงงก็พลิกไปดูหน้านี้ได้ว่าใครลูกใคร

     ก็มีกังวลบ้างว่าเด็กจะสนุกหรือเปล่า แต่พอตอนแรกตีพิมพ์ออกไป มีจดหมายส่งมาเต็มเลย ฉากนนทกชี้นิ้วเพชรนี่ฮากันกระจาย แปลว่าเรามาถูกทางแล้ว มีเด็กและพ่อแม่เขียนจดหมายมาบอกด้วยว่า อ่านแล้วทำข้อสอบได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ผมภูมิใจนะ และก็เริ่มได้ใจอยากเขียนเรื่องอื่นต่อมาเรื่อยๆ 

มีเรื่องไหนที่คิดจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ

     น่าจะหมดแล้วมั้ง (หัวเราะ) ปีนี้อายุก็ 65-66 แล้ว ไม่อยากรู้อะไรเพิ่มแล้ว ไซอิ๋ว ก็เขียนแล้ว พระอภัยมณี ก็ทำแล้ว เชอร์ล็อก โฮมส์ ก็ได้คุณนกกับคุณพรสรรค์ ปัญจเทพ (ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทเครือวิธิตากรุ๊ป) แนะนำมา 

     หลังจากนี้ก็คงอยากเขียนจากไอเดียตัวเองมากกว่า มีนิยายที่ผมคิดเก็บไว้ตั้งแต่เรียนเพาะช่าง แต่ยังไม่มีโอกาสได้เขียน ก็ว่าจะลองเขียนเป็นตัวหนังสือล้วนเลย ต้องเรียนรู้ใหม่ เพราะผมคิดว่าตัวเองเขียนการ์ตูนไม่ค่อยไหวแล้ว จะเขียนฉากละเอียดอย่างที่คิดมันต้องเป็นวัยรุ่น ใช้แรงเยอะ 

ถ้ามีคนรุ่นใหม่อยากเป็นนักวาดการ์ตูนที่ยืนระยะได้นานแบบนี้ อยากแนะนำอะไร 

     ต้องเปิดสมองรับ รับทุกเรื่อง ปิดไม่ได้ ชอบไม่ชอบก็ต้องรู้ แล้วก็หัดคัดกรอง เพราะถ้าคุณรับแต่เฉพาะเรื่องที่ชอบ มันก็จะไม่ไปไหน เราจะไม่เห็นแง่มุมอื่นๆ ดูหนังก็ต้องดูทุกแนว แล้วค่อยมาคัดเอาว่าคุณจะทำแนวไหน จะตามใจลูกค้าทุกกลุ่มไม่ได้หรอก 

     ที่สำคัญคือเราต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ทำให้ดี แสดงตัวตนออกมา และต้องตรงต่อเวลา เพราะเราไม่ได้เขียนงานคนเดียว ยังมีคนลงสี กอง บ.ก. พิสูจน์อักษร อีกหลายตำแหน่งที่รองานจากเรา 

     เราเป็นต้นทางของชิ้นงาน ถ้าทำไม่ดีพอ ไม่ตรงเวลา คนอื่นก็เดินต่อไม่ได้ ดังนั้นอย่าสร้างปัญหาให้กับคนร่วมงาน

มาถึงวันนี้แล้วความรู้สึกที่ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนและทำงานร่วมกับ ขายหัวเราะ เป็นอย่างไร

     ผมเขียนอยู่ที่นี่มา 43-44 ปีได้ เป็นสถานที่ที่ให้อิสระในการทำงาน ทำให้เรามีหนังสือการ์ตูนเป็นของตัวเอง แทบจะไม่เครียดเลย อันนี้ไม่ได้อวยบรรลือสาส์น ไม่ได้อวยพี่วิธิตหรือป๊าบันลือนะ แต่ผมไม่เคยถูกล็อกความคิด โคตรโชคดีเลย เท่าที่รู้มาบางที่เขาก็จะบอกให้เขียนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่นี่ ผมเสนออะไรไปส่วนใหญ่เขาก็จะสนับสนุน 

     อาชีพนี้เป็นงานที่ดีนะ คิดอะไรได้ก็ปล่อยออกมา ไม่เก็บกด ได้ทำหลายแนว ก็เลยไม่เครียด มีความสุขกับการทำงาน 

ฝากอะไรถึง ขายหัวเราะ ในวาระครบรอบ 50 ปีหน่อย

     ถือว่ายาวนานทีเดียว ครึ่งศตวรรษแล้ว ผมว่า ขายหัวเราะ ให้สิ่งต่างๆ มากมายกับคนเขียน ให้ความสนุกสนานกับคนอ่าน เป็นหนังสือที่ไม่มีพิษภัย ใครๆ ก็อ่านได้ บางคนบอกว่าที่อ่านหนังสือแตกฉานทุกวันนี้ก็เพราะเริ่มอ่านหนังสือในเครือขายหัวเราะ ใครเครียดอะไรจากไหนก็ได้หนังสือของเราไปอ่านเพื่อขำขันชั่วระยะหนึ่ง ได้วิตามินไปปรับอารมณ์ ทำให้กลับไปทำงานต่อได้ 

     การอยู่มา 50 ปีไม่ใช่เรื่องง่าย ผมอยากให้หนังสือในเครือขายหัวเราะอยู่คู่กับคนอ่านไปเรื่อยๆ กลับกันผมก็อยากให้คนอ่านอยู่คู่กับ ขายหัวเราะ ไปด้วย 

     ส่วนตัวผมเองก็จะพยายามคัดสรรเรื่องมาให้คนอ่าน ก็จะตั้งใจทำงานต่อไปเรื่อยๆ ให้ดีที่สุด