READER TO TRANSLATOR
ชวนรู้จัก ‘อิศเรศ ทองปัสโณว์’ นักแปล Bleach, Naruto, Lucky Man, Death Note กับอีกสารพัดการ์ตูน นิยายญี่ปุ่น และเกม The Sims 1
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
ภาพ: ธนพล แก้วแดง
เวลาที่ชาวทวิตเตี้ยนยกประเด็นเรื่องการแปลขึ้นมา ประโยคจากมังงะเรื่อง Bleach ที่ว่า “ฉันจะไล่ตามทันไหมนะ ความเร็วของโลกใบนี้ที่ไม่มีเธออยู่” จะต้องได้รับการพูดถึงทุกครั้ง ในฐานะลูกเรืออิจิโกะลูเคียท่านหนึ่งตรงนี้รู้สึกทั้งยินดีและเจ็บหัวใจไปพร้อมๆ กัน (ฮือ)
บางคนก็อาจนึกถึงพวกชื่อท่าไม้ตายและบรรดาคาถาจาก Naruto เช่น กระสุนวงจักร พันปักษา เทวีสุริยัน ฯลฯ บางคนก็นึกถึงสารพัดชื่อตัวละครและมุกตลก เช่น ข้าวหมูทอดวัดชนะสงคราม หรือจิบเดียวก็ซึ้งแมนที่วง Silly Fools เอาไปตั้งเป็นชื่อเพลงจาก ลัคกี้แมน จริงๆ นะจะบอกให้ Tottemo! Luckyman
แต่ไม่ว่าจะนึกถึงประโยคไหน บรรดาท่าไม้ตายใดๆ สิ่งที่น่าสนใจก็คือทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลงานการแปลของ ‘อิศเรศ ทองปัสโณว์’ นักแปลผู้ฝากผลงานเอาไว้มากมายหลายวงการ ซึ่งนอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีงานแปลนิยายญี่ปุ่นที่มีทั้งแนวอบอุ่นหัวใจอย่าง ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่เมื่อวันวาน แนวลึกลับสืบสวนอย่าง ฆาตกรรมคืนฝนดาวตก, ตายวันแต่ง และ ป่านิทรา ของนักเขียนชื่อดัง ‘ฮิงาชิโนะ เคโงะ’ (Higashino Keigo) รวมไปถึงสำนวนแปลสุดกวนโอ๊ยในเกม ‘The Sims 1’
จากนักอ่านตัวยงผู้เติบโตมาในครอบครัวคุณครูที่เป็นนักแต่งกลอน พี่อิศสอบเข้าคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ โดยเลือกวิชาโทเป็นภาษาศาสตร์ แต่เจ้าตัวบอกว่าจริงๆ แล้วเขาเก็บหน่วยกิตวิชาโทไม่ครบ จึงจบมาด้วยโทวิชาเลือกเสรี ก่อนจะเริ่มทำงานโรงแรมเป็นงานแรก ต่อด้วยไกด์ทัวร์ มัคคุเทศก์ภาษาอังกฤษเป็นงานที่สอง
“ทำไปได้สักพัก สหรัฐฯ เปิดสงครามอ่าวรอบแรกกับอิรัก นักท่องเที่ยวหายหมด ก็เลยไม่มีงานทำ”
ด้วยความว่างเป็นเหตุ พี่อิศจึงไปลงเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นในสถาบันสอนภาษาแห่งหนึ่งเป็นเวลาหกเดือน ไปๆ มาๆ จังหวะชีวิตดันพัดพาให้เขาได้ไปเรียนต่อที่แดนอาทิตย์อุทัยอีกหลายปี กลับมาอีกทีบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ก็เรียกไปสัมภาษณ์ ก่อนจะได้งานในกองบรรณาธิการหนังสือการ์ตูนภาษาอังกฤษ แล้วค่อยๆ ขยับมาเป็นหนึ่งในทีมบุกเบิกกองบรรณาธิการหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น หยิบ จับ ปั้น และแปล จนมีเรื่องดังๆ ที่กลายเป็นตำนานของวงการมากมาย
วันนี้เราจึงชวนพี่อิศมาพูดคุยกันถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานแปล ผลงานต่างๆ ที่เคยแปลมา และอะไรคือความสนุกที่ทำให้เขายังคงทำงานแปลมาจนถึงทุกวันนี้
พี่อิศไปอยู่ญี่ปุ่นมากี่ปี
ผมไปตอนประมาณปี ’90 กลับมาอีกทีปี ’94 ญี่ปุ่นในตอนนั้นคล้ายๆ กับไทยในตอนนี้ คือไม่มีคนทำงานระดับล่าง เขาเลยหลบเลี่ยงเพื่อเอาคนต่างชาติไปทำงานให้โดยให้วีซ่านักเรียน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องถูกต้องนัก แต่คนยุคนั้นก็เหมือนกับหลับตาข้างหนึ่ง คือเขาก็อยากได้แรงงาน สำหรับนักเรียนต่างชาติก็สมประโยชน์ คือมีส่วนหนึ่งที่ไปเรียนภาษาจริงๆ จนถึงต่อระดับมหาวิทยาลัย แต่อีกส่วนก็ตั้งใจไปทำงานเอาเงินอย่างเดียวเลย ขณะที่ผมเองมองว่านี่เป็นโอกาสในการเรียนภาษาและหาประสบการณ์ชีวิต เลยทำงานแค่ที่เดียว เพื่อตั้งใจไปเอาภาษากลับมาด้วย พอสอบวัดระดับความสามารถญี่ปุ่นระดับ N1 ผ่านที่นั่นได้ก็ถือว่าเป้าหมายลุล่วงแล้ว
แต่เอาจริงๆ ผมจะได้ในแง่ของการอ่านและการฟังมากกว่า คือผมเป็นคนขี้เกียจท่องศัพท์ ดังนั้นผมจะเป็นล่ามไม่ได้ เพราะงานลักษณะนี้ต้องมีคำศัพท์ชุดใหญ่ในหัว ถึงจะคิดจะพูดได้อย่างคนญี่ปุ่น งานที่เหมาะกับผมก็คืองานแปลหนังสือนี่แหละ เพราะสามารถพึ่งพาดิกชันนารีได้ แล้วในการอ่านนิยายนั้น ต่อให้ท่องศัพท์ไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะศัพท์ที่นักเขียนเขาใช้มันเยอะมาก มหาศาล บางคนคือเอาจากไหนมาเขียนนักหนาวะ (หัวเราะ)
ก่อนมาแปลหนังสือ พี่อิศอ่านการ์ตูนอยู่แล้วหรือเปล่า
อ่านครับ เอาจริงๆ ผมอ่านสารพัดอย่าง ผมเป็นนักอ่านแบบหิวกระหาย เรียกว่าเกิดมาเป็นนักอ่านเลย
ผมเป็นน้องรองสุดท้องในบรรดาพี่น้องเจ็ดคน ดังนั้นผมจะมีหนังสือจากพี่ๆ เยอะมาก พอย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง ก็อยู่ในซอยที่ตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอยเป็นที่พักของครูทั้งนั้นเลย แต่ละบ้านก็จะมีหนังสือเต็มไปหมด เด็กชนบทที่มาอยู่ในเมืองแบบผมก็จะวิ่งเข้า-ออกทุกบ้าน ทำตัวเหมือนเป็นลูกหลานเขา ในขณะเดียวกัน เขาก็ใช้เราเหมือนลูกหลานเหมือนกัน ไปซื้อน้ำปลาให้หน่อย (หัวเราะ)
ตอนนั้นเราอยู่ประถม แต่อ่านอะไรที่มันเป็นระดับมหา’ลัยแล้ว ทั้ง บางกอก (นิตยสารที่ครบครันทั้งเนื้อหาสาระ และโดดเด่นเรื่องของนิยายเป็นพิเศษ) หรือ ฟ้าเมืองไทย (นิตยสารที่เปิดพื้นที่ให้นักเขียนได้ปล่อยของอย่างเต็มที่ โดยมี อาจินต์ ปัญจพรรค์ ผู้เขียน มหาลัย’ เหมืองแร่ และศิลปินแห่งชาติเป็นบรรณาธิการ) ตลอดจนนิยายของนักเขียนดังๆ อย่าง พนมเทียน, ตรี อภิรุม, ทมยันตี, ป.อินทรปาลิต, กิมย้ง, โกวเล้ง ฯลฯ ที่พวกพี่ๆ ยืมจากร้านเช่าหนังสือมาอ่านกัน ฉะนั้นฐานคำศัพท์ของเราจะกว้างมากจนบางทีมันก็กลายเป็นข้อเสีย เพราะคำศัพท์ที่เรามีให้ใช้นั้นปริมาณมากเกินกว่าที่นักอ่านรุ่นใหม่รู้กัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คำศัพท์ของคนรุ่นใหม่ลดลงไปอย่างมาก เพราะว่าประมาณช่วงปี 80s-90s เป็นช่วงนึงที่การ์ตูนญี่ปุ่นบูมมากๆ ทำให้นักแปลคนไหนแปลได้สั้นและกระชับที่สุด บริษัทก็จะจ้างคนนั้น
ทำไมเขาถึงอยากให้แปลสั้นและกระชับที่สุด
คือก่อนหน้าปี ’94 การ์ตูนญี่ปุ่นในไทยยังไม่มีลิขสิทธิ์ กลายเป็นว่าต่างคนต่างทำ ใครไวใครได้ เพราะฉะนั้นเจ้าที่ออกไวที่สุดก็จะขายได้เร็วที่สุด นักแปลคนไหนแปลได้กระชับ เขาก็จะจ้างคนนั้น ยกตัวอย่างเช่นหนึ่งช่องคำพูดมี 5 ประโยค นักแปลอาจแปลแค่ 4 คำพอ (หัวเราะ) ซึ่งบริษัทหนังสือบางเจ้าแฮปปี้มาก เพราะไม่ต้องจ่ายค่าทำต้นฉบับแพง แถมยังออกหนังสือได้เร็วกว่าเจ้าอื่นๆ
แต่ส่วนตัวผมมองว่าการที่นักแปลเลือกใช้คำสั้นๆ เช่น ‘เร็วจริง’ ‘ไปไหน’ ‘เจ็บใจ’ ‘ฆ่าแม่ง’ คือมันก็สื่อสารกันรู้เรื่องแหละ ซึ่งในแง่หนึ่งเราก็มองว่าเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพนะ ใช้แค่สองพยางค์ แต่ในอีกแง่หนึ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือคุณทำคลังคำภาษาตกหล่นหายไปขนาดไหน
จนกระทั่งมีผู้ประกอบการเจ้าหนึ่งมาประกาศบลัฟชาวบ้านว่า ‘ผมได้ลิขสิทธิ์ของการ์ตูนญี่ปุ่นทั้งหมดแล้ว พวกคุณห้ามทำอีกนะ’ ปรากฏว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ในประเทศไทยทั้งหลายก็ต้องตาแหกวิ่งไปหาญี่ปุ่นด้วย จากนั้นทุกสำนักพิมพ์ก็ต้องทำเรื่องขอลิขสิทธิ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา
แล้วพี่อิศมาทำงานกับเนชั่นได้ยังไง
จริงๆ ผมเคยสมัครที่เนชั่นตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ แต่กว่าเขาจะเรียก ผมก็ไปทำงานโรงแรมแล้ว พอกลับมาจากญี่ปุ่น ผมก็ลองสมัครที่เนชั่นอีก คราวนี้เป็นกองบรรณาธิการการ์ตูนภาษาอังกฤษ ส่วนหนึ่งที่ได้งานอาจจะเพราะผมได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ซึ่งสไตล์เนชั่นคือใช้คนคุ้ม (หัวเราะ) ตอนแรกก็ทำพวกการ์ตูนดิสนีย์กับการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ ก่อนที่ทางผู้บริหารของเนชั่นจะไปงาน Book Fair ที่โตเกียว และได้คุยกับคนของชูเอฉะ (Shueisha สำนักพิมพ์เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นดังๆ หลายเรื่อง และเป็นเจ้าของนิตยสาร Shonen Jump) โดยทางเขาแจ้งว่ายินดีทำการ์ตูนลิขสิทธิ์กับประเทศไทย โดยจะให้ลิขสิทธิ์มา 12 เรื่อง แบ่งกันไปตีพิมพ์คนละครึ่งกับสยามสปอร์ต (เจ้าของ Siam Inter Comics) แต่มีข้อแม้ว่าต้องพัฒนาการ์ตูนไทยสไตล์มังงะของเราด้วย
ตอนนั้นเนชั่นทำอะไรเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์อยู่แล้วหรือเปล่า ทำไมเขาถึงเห็นศักยภาพของเรา
ตอนนั้นเครือเนชั่นใหญ่มาก มีหนังสือพิมพ์หลายหัว ทั้ง กรุงเทพธุรกิจ, คมชัดลึก, เดอะเนชั่น แล้วก็มีช่องเนชั่นแชนแนลด้วย ถือว่าเป็นระดับแนวหน้า อีกทั้งยุคนั้นคุณสุทธิชัย หยุ่น ก็ดังมากๆ ในวงการสื่อ
พอคุยกับชูเอฉะแล้ว เนชั่นก็เลยเปิดกองบรรณาธิการการ์ตูนญี่ปุ่น ตอนแรกผมก็แปลให้ทั้งสองกองฯ ก่อนจะถูกย้ายมากองฯ ญี่ปุ่นแบบเต็มตัว โดยเริ่มจากตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการก่อน
ช่วงเริ่มต้นคนในกองฯ ต้องผลัดกันบินไปรับต้นฉบับที่ญี่ปุ่นด้วยตัวเองเลย คือบินไปถึงเอาของ นอนพักหนึ่งคืน แล้วก็บินกลับมาทำงานต่อ โต้รุ่งถึงเช้าแล้วบริษัทก็จะพาเรากลับไปส่งบ้านในสภาพซอมบี้ (หัวเราะ)
การ์ตูนเรื่องแรกที่เนชั่นทำคือเรื่องไหน
คิดว่าน่าจะเป็น Dragon Ball นะ จริงๆ ตอนที่เนชั่นมาทำการ์ตูนญี่ปุ่นถือเป็นการพลิกผันครั้งใหญ่ คือเป็นเจ้าแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำการ์ตูน ทั้งแต่งภาพ เขียนเสียงประกอบฉาก จัดรูปเล่ม และแปลทุกอย่าง ซึ่งตอนนั้นคอมพิวเตอร์ยังแพงมาก เครื่องแมคที่เราใช้ทำการ์ตูนเครื่องละประมาณสองแสนบาท วางเป็นตับ ขนาดญี่ปุ่นเองตอนนั้นก็ยังไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ทำการ์ตูนแบบเราเลย ตอนทีมงานของเขามาเยี่ยมกอง บ.ก.เห็นเข้ายังร้องว้าวเลย
ก่อนหน้านั้นเขาทำกันยังไง
การ์ตูนแปลในเมืองไทยใช้วิธีเอาการ์ตูนเล่มมาฉีกเป็นหน้าๆ แล้วใช้ลิควิดเปเปอร์ หรือสีโปสเตอร์สีขาวป้ายทับตัวหนังสือญี่ปุ่นในช่องคำพูดและอักษรเสียง เรียกว่ากระบวนการลบขาว เสร็จแล้วก็เอาต้นฉบับที่ลบขาวแล้วไปถ่ายฟิล์ม ก่อนจะเอาไปเขียนเสียงเอฟเฟกต์ และประโยคในช่องคำพูดด้วยปากการ็อตติ้งลงบนตัวแผ่นฟิล์มเลย จากนั้นก็เอาไปทำเพลตเตรียมพิมพ์
แต่ของเนชั่นเราจะมีคอมพิวเตอร์ของกราฟิกฯ ไว้แต่งภาพ แล้วก็จะมีเครื่องของคนเรียบเรียงกับคนจัดหน้าต่างหาก เมื่อก่อนนี้ใช้โปรแกรม PageMaker กับโปรแกรม Photoshop ซึ่งเครื่องพาวเวอร์แมคที่ทรงพลังที่สุดในยุคนั้นวิ่งด้วยความเร็ว 60 เมกะเฮิรตซ์ เอาง่ายๆ ว่าคุณกดเซฟ เดินไปฉี่กลับมายังเซฟไม่เสร็จเลย (หัวเราะ) พวกกราฟิกฯ ก็เลยไม่ค่อยชอบเซฟงานกัน แถมแถวบางนาสมัยนั้นไฟดับบ่อยมาก ไฟดับทีนี่งานหายหมด ร้องกันอู้เลย หลังจากจัดหน้าและปรู๊ฟเสร็จก็ยิงฟิล์มไปอัดเพลตได้เลย
เรื่องแรกที่พี่อิศแปลคืออะไร
ผมแปล Hareluya Boy II ก่อน ไม่แน่ใจว่าเล่มที่เท่าไหร่ อย่าง Dragon Ball ที่ได้แปลเรื่องก็ดำเนินไปถึงช่วงเจอจอมมารบูแล้ว JoJo’s Bizarre Adventure นี่ก็เกือบจะจบภาคสาม แต่ โจโจ้ฯ นี่ไม่เข้ากับนิสัยผมเท่าไหร่ เลยไปขอแลกกับ ลัคกี้แมน ซึ่งพอแลกแล้วก็คิดว่ากูไม่น่าเลย (หัวเราะ)
ทำไมเหรอคะ (ทำตาใสแป๋ว เพราะไม่เคยอ่าน)
ลัคกี้แมน จะมีปัญหาตรงบทพูดยาวมาก จะยาวไปไหน แถมเยอะด้วย เพราะงั้นถ้าเกิดแปลแบบธรรมดามันจะน่าเบื่อ คนอ่านด่าแน่นอน ถ้าคุณสังเกตดีๆ จะเห็นว่าใน ลัคกี้แมน ผมใส่ลูกเล่นลงไปเยอะมาก มีทั้งเพลงฉ่อย ทั้งสัมผัสนอกสัมผัสใน ทั้งอะไรสารพัด ตอนนั้นผมคิดว่าทำยังไงก็ได้ให้เวิร์ดดิ้งมันอ่านสนุก
เช่น ในเรื่องมันมีตัวโกงมาตั้งทายปัญหาด้วยไพ่คารุตะ (ไพ่ทายคำพังเพย) ด้านนึงจะมีภาพแล้วอีกด้านจะมีโคลงให้ทายว่าสำนวนที่สมบูรณ์คืออะไร แล้วมันจะมีอันนึงที่แปลตรงๆ ว่า ‘แม้จะเป็นหมา เดินไปก็โดนไม้’ ซึ่งความหมายก็คืออยู่ดีๆ ก็ซวยได้ นอกจากเป็นสำนวนแล้ว ที่สำคัญคือในคำแปลต้องมีหมาด้วย พระเอกซึ่งเป็นตัวลัคกี้ เลยต้องมีอะไรเฮงๆ ให้มันทายออก ดังนั้นในฉากนี้อยู่ดีๆ ก็มีหมาเดินมาชนไม้ แล้วมันก็บอกเฮ้ย ‘หมาชนไม้เว้ย’ ปรากฏว่าดันทายถูกขึ้นมา
ตัวแก่นและสารหลักไม่ได้อยู่ที่ความหมายที่ว่าอยู่ดีๆ ก็ซวย แต่การแปลฉากนี้ต้องการคำพังเพยหนึ่งอัน อะไรก็ได้ ที่มีหมาและมีไม้ และเมื่อเห็นหมาต้องรู้ได้ทันทีว่าปริศนาคืออะไร ผมจึงเลือกใช้คำว่า ‘เดินไม่ดูตาหมาตาเรือ’ ผมคิดว่าต้นฉบับใช้วิธีไหนทำให้ขำ หากทำได้ปลายทางคุณก็ควรใช้วิธีเดียวกัน
อยากรู้ว่าเวลาแปลการ์ตูนแต่ละเรื่อง พี่อิศแปลรวดเดียวเลยมั้ย
สิ่งที่เราทำในตอนนั้น ส่วนหนึ่งคือแปลการ์ตูนแต่ละเรื่องลงในนิตยสาร BOOM (นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์เหมือน Shonen Jump) เรื่องละ 1 ตอนต่อสัปดาห์ และอีกส่วนหนึ่งคือการทำฉบับรวมเล่ม (Collection) ซึ่งอาจจะเอาเนื้อหามาจาก BOOM หรือถ้าเป็นเรื่องหรือตอนที่ไม่ได้ลงนิตยสาร ก็จะมีฝ่ายกอง บ.ก.รวมเล่มรับหน้าที่ตรงนี้ไป
นิตยสาร BOOM กับรวมเล่มอันไหนเกิดก่อน
รวมเล่มเกิดก่อน ราวเกือบ 6 เดือนให้หลัง BOOM ถึงเกิดตามมา
หลักในการเลือกเรื่องลง BOOM คือยังไง
ดูจากเรื่องที่เรามีลิขสิทธิ์ในตอนนั้น กับเรื่องที่เราวางขายไปก่อนหน้านี้ อย่าง Dragon Ball ก็คือมาลงกลางคันเลย ไม่ได้ลงใน BOOM ตั้งแต่ตอนแรก สำหรับเรื่องของนักเขียนหน้าใหม่ ก่อนที่จะขอลิขสิทธิ์ เราจะอ่านดูประมาณ 3 ตอนก่อน เพื่อดูแนวเรื่อง ลายเส้น และวิธีการดำเนินเรื่อง ว่านักเขียนคนนี้มีแววไหม ซึ่งจะว่าไปมันก็เหมือนซื้อหวยเหมือนกัน เพราะนักเขียนบางคนฟอร์มดีช่วงแรกๆ แต่หลังๆ ก็ฟอร์มตกแล้วโดนตัดจบไปภายในแค่ไม่กี่ตอน เคยคุยเรื่องนี้กับทางญี่ปุ่นเหมือนกัน เขาก็บอกว่าทางกองฯ ที่ญี่ปุ่นเองก็เหมือนซื้อหวยเช่นเดียวกัน แม้จะคัดนักเขียนที่ดูมีแววมาลงแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะพัฒนาไปเป็นนักเขียนดังได้ทุกคน
ตอนแปล BOOM ใช้เวลาแปลต่อหนึ่งตอนนานมั้ย
จริงๆ แล้วไม่นานนะ ประมาณวันหรือวันครึ่งก็เสร็จแล้ว ผมจะใช้วิธีเรียงลำดับ โดยแปลเรื่องที่ง่ายๆ ก่อน เช่น เริ่มแปล Naruto ก่อน เพราะมันเป็นการ์ตูนบู๊อ่านง่ายแปลสนุก ประโยคพูดไม่ยาวเกินไป พอเครื่องเริ่มร้อนก็แปลเรื่องระดับกลางๆ อย่าง Death Note พอเครื่องติดเต็มที่ก็แปลการ์ตูนแก๊กอย่าง Sket Dance ซึ่งพวกการ์ตูนแก๊กนี่แหละที่แปลยากสุดเลย
ทั้งหมดคือวันถึงวันครึ่ง?
ใช่ครับ เพราะเราต้องรีบส่งงานให้กับทีมงาน ซึ่งจะแบ่งงานออกเป็นสองฟาก ฟากหนึ่งคือกราฟิกฯ ที่ต้องเขียนเสียงกับแต่งภาพ อีกฟากคือคนเรียงหน้า แล้วด้วยความที่เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่จะต้องปิดต้นฉบับให้เร็ว การทำงานในอุดมคติเลยก็คือเราต้องกระจายงานให้แต่ละฝ่ายมีงานทำอยู่เสมอ บางทีเราก็ต้องเอางานกลับมาแปลที่บ้านเพื่อให้มีงานส่งทันวันจันทร์ นี่แหละครับชีวิตของ บ.ก.นิตยสารรายสัปดาห์ (หัวเราะอย่างเศร้าๆ)
เราต้องส่งงานให้ทางญี่ปุ่นตรวจมั้ย
ส่งครับ โดยเฉพาะการดีไซน์ปกแต่ละครั้ง เราต้องส่งปกให้ฝั่งญี่ปุ่นดูล่วงหน้าประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้เขา approved ไม่ว่าจะเป็นปกของฉบับรวมเล่มหรือปกของ BOOM เพราะเราใช้คาแร็กเตอร์จากเขา แล้วก็ต้องแปลประโยคคำโปรยของแต่ละเล่มจากไทยเป็นญี่ปุ่นให้เขาดูด้วย
อยากรู้เรื่องการตั้งชื่อไทยของ Naruto ว่าทำไมถึงกลายเป็น นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ มากเลยค่ะ
ย้อนกลับไปที่บอกว่าทางญี่ปุ่นแบ่งลิขสิทธิ์ให้เนชั่นกับสยามฯ คนละครึ่ง เหตุผลก็เพราะเขาอยากให้ทั้งสองฝ่ายแข่งกัน คุณภาพจะได้ไม่ดรอป ก็เลยกลายเป็นว่าทั้งสองฝ่ายต้องแข่งขอลิขสิทธิ์กัน ถ้าเรื่องไหนใครขอก่อน ทางญี่ปุ่นก็จะพิจารณาก่อน รายที่ส่งไปทีหลังอาจจะเสียเปรียบ และอาจจะไม่ได้ก็ได้ ยกเว้นในกรณีที่เราเคยตีพิมพ์งานของนักเขียนคนนี้ไปก่อนแล้ว ก็อาจจะมีพริวิเลจในการได้ลิขสิทธิ์มา
ของ Naruto คือผู้เขียนเป็นหน้าใหม่ ไม่มีผลงานเรื่องยาวมาก่อน เพราะงั้นต้องแข่งกันที่ความเร็ว แล้วในการขอลิขสิทธิ์เนี่ยมันบอกว่าขอเฉยๆ ไม่ได้นะ คุณจะต้องดีไซน์หัวหนังสือและคิดชื่อเรื่องไปในอีเมลด้วย ซึ่งตอนที่ขอไป เราเพิ่งจะอ่านไปสามตอน และสามตอนนั้นมันเป็นการ์ตูนฮาแท้ๆ (หัวเราะ) ก็ช่วยกันคิดในกองฯ จนได้คำว่าโอ้โฮเฮะมา
ประทับใจการแปลการ์ตูนเรื่องไหนมากที่สุด
ฮิคารุ เซียนโกะ (Hikaru no Go)
เล่าก่อนว่าผมอ่านเจอเรื่องนี้จากในนิตยสาร Shonen Jump เพราะทางญี่ปุ่นจะส่งมาให้ทุกสัปดาห์ ในนั้นมีการ์ตูนอยู่ประมาณ 22 เรื่อง ต้องอ่านตลอด เพราะต้องแปลเล่มที่เราตีพิมพ์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เราได้อ่านเรื่องที่ยังไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาด้วย
ฮิคารุ เซียนโกะ ก็เป็นหนึ่งในเรื่องเหล่านั้น จำได้ว่าตอนนั้นยังเป็นผู้ช่วยฯ อยู่ ผมถือการ์ตูนเล่มนี้ไปหา บ.ก. บอกให้เขาไปขอลิขสิทธิ์ เพราะเนื้อหาดี ลายเส้นสวย บ.ก.ถามกลับมาคำเดียว
“เอ็งเล่นโกะเป็นเหรอ” (หัวเราะ)
แล้วเล่นเป็นมั้ยคะ
ไม่เป็น แต่รู้ว่าเขามีโรงเรียนสอนที่ศาลาแดงซึ่งเป็นของบริษัท ซีพี ออลล์ พอเราโทรไปหา เขาเอาอาจารย์ระดับท็อปมาสอนให้เลย
เลยไปเรียนเพื่อมาแปล?
ใช่ ต้องนั่งรถจากบางนาไปถึงศาลาแดง แต่ประทับใจตรงที่คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ (นายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย) มานั่งคุยกับเราเลย เขาตื่นเต้นมาก เรามารู้ทีหลังว่ากลยุทธ์การทำธุรกิจของเซเว่นฯ คือการเดินหมากล้อม เน้นการชิงพื้นที่ เพราะฉะนั้นผู้บริหารของเขาเล่นหมากล้อมเป็นทุกคน แต่ตอนนั้นมีคนเล่นหมากล้อมในประเทศไทยไม่ถึงหมื่น พอการ์ตูนเรื่องนี้ดังถึงมีคนเล่นเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสน
มีเล่มไหนอีกมั้ยที่เคยเสนอให้ทางทีมซื้อมาแปล
หลังๆ ผมเลือกเองเพราะถึงจุดหนึ่งก็ได้เป็น บ.ก. (หัวเราะ) แต่อย่าง Bleach เนี่ยเรียกว่าเป็นเสียงเรียกร้องจากผู้อ่านก็ได้นะ เพราะก่อนหน้านั้นเราเคยทำเรื่อง Zombiepowder แล้วมันไม่เกิด เลยคิดว่า ไทเตะ คุโบะ (Tite Kubo) คงไม่ไหวแล้วมั้ง ปรากฏว่ามีคนเรียกร้องในเว็บไซต์ให้เอา Bleach มาทำ พอไปดูอีกทีก็เออ เข้าตาว่ะ เลยไปขอมา
นอกจาก ฮิคารุฯ มีการ์ตูนเรื่องไหนอีกมั้ยที่ชอบ
จริงๆ เรื่องที่แปลออกมาก็ชอบทุกเรื่องนะ อย่าง Sket Dance ก็มีที่มาที่ไป ตัวนางเอกชื่อฮิเมโกะ ในต้นฉบับเขาจะพูดสำเนียงโอซาก้า ซึ่งเวลาแปลถ้าไม่ใช้เสียงเหน่อ ก็จะใช้ภาษาอีสาน แต่เราคิดว่านางเอกทั้งที ถ้าใช้ภาษาอีสานก็อาจกลายเป็น หนูหิ่น ไป
ทีนี้เราไปเจอกระทู้ในพันทิป มีคนเล่าว่าเข้าไปดูหนังผีเรื่อง แฝด ที่มาช่าเล่น แล้วมีคนนั่งข้างหลังเมาท์หนังเป็นภาษาเหนือ เราก็คิดว่า เออ ภาษาน่ารักดี กับพอดีที่เราคุ้นเคยกับภาษาเหนือผ่านเพลงของจรัล มโนเพชร บ้าง และพี่สาวเคยไปอยู่เหนือมาหลายปี พอมาทำเล่มนี้เลยลองให้ฮิเมโกะพูดภาษาเหนือ ปรากฏว่าเกิดแฮะ เด็กๆ ชอบกัน
อยากรู้ว่าเคยแปลไม่จบบ้างมั้ยคะ
คนมักจะคิดว่าผมแปล ชินจัง แต่จริงๆ ผมแปลแค่เล่มเดียว หลังจากนั้นพอโดนเลื่อนตำแหน่งไปเป็น บ.ก. ก็ต้องหยุดแปล คนที่แปลหลักๆ คือคุณอดุลย์กับคุณรุจิเรข ถ้าสังเกตดีๆ สำนวนเขาจะไม่เหมือนผม แต่ก็จะบ้าๆ บอๆ ไปอีกเวย์
ส่วน Naruto ผมแปลถึงศึกที่นารูโตะเคลียร์กับซาสึเกะ หลังจากนั้นก็ไม่ได้แปลแล้ว
งั้นมีเรื่องไหนที่อยากแปลแต่ไม่ได้แปลบ้างมั้ย
One Piece นี่แหละ น่าเสียดาย ผมอ่านเกมผิดไป เพราะตอนที่เห็นครั้งแรกรู้สึกว่าลายเส้นเหมือนกับดิสนีย์ที่ดูมีความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งไม่โดนใจเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะเราติดลายเส้นมากไปหน่อย เพราะงั้นเวลาเจอลายเส้นที่ไม่ถูกใจเราเท่าไหร่ ก็จะมองข้ามไป
แต่ถ้าได้แปล One Piece ตอนนี้ก็ยังไม่จบนะคะ
(หัวเราะ) ออกทะเลไปกี่รอบแล้ว
แล้วจากแปลการ์ตูนอยู่ดีๆ พี่อิศมาเริ่มแปลเกมได้ยังไง
ตอนนั้น นพ วิฑูรย์ทอง นักเขียนการ์ตูนไทยเรื่อง มีดที่ 13 ในสังกัดของ BOOM มาบอกว่า EA Games Thailand กำลังหานักแปลอยู่ ผมเลยลองส่งตัวอย่างงานแปลไป เกมแรกที่ได้ทำน่าจะเป็น KKnD 2 เป็นเกมแนววางแผน (real-time strategy) คล้ายๆ Command & Conquer ฝ่ายหนึ่งเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ที่อยู่บนดิน อีกฝ่ายเป็นคนที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาสู้กัน หลังจากนั้นก็เป็น SimCity, The Sims ซึ่งเข้ามาในช่วงที่ผมแปล ลัคกี้แมน พอดี เราก็เลยมีวิธีทำให้ตัวหนังสือมันสนุก อ่านแล้วไม่น่าเบื่อ แล้วก็มีพวกเกมซีรีส์ Harry Potter แต่จริงๆ งานหลักส่วนใหญ่จะเน้นแปลคู่มือเกมมากกว่า ซึ่งพอมาทำตรงนี้กลายเป็นว่าเราต้องศึกษาเรื่องคอมพิวเตอร์เยอะมาก เพราะยุคนั้นยังไม่มี Steam ที่ซื้อปั๊บก็ลงเครื่องได้เลย มันจะมาเป็นแผ่นแล้วคุณก็ต้องมาคลิกลงเกมเอง บางที install แล้วมีปัญหา เราก็ต้องมานั่งแปลคู่มือด้วยว่าคอมพ์ของคุณต้องมีการ์ดจอเท่านี้ มีแรมเท่านี้ เลยได้ความรู้เรื่องคอมพ์มาด้วย
แล้วมาเข้าวงการแปลนิยายต่อได้ยังไง
ตอนนั้นผมขึ้นเป็น บ.ก.ฝั่งการ์ตูน BOOM แล้ว บ.ก.บริหารฝ่ายคอลเลกชั่นถูกโปรโมตไปเป็นผู้บริหารเนชั่นบุ๊คส์ แล้วผู้ช่วยของเขาเอาตัวอย่างสำนวนแปลเรื่อง ปริศนาตลาดนัดราตรี มาให้ช่วยดูว่านักแปลคนนี้โอเคมั้ย ผมอ่านดูแล้วก็สะดุดนั่นสะดุดนี่ เลยแก้ให้ตัวแดงแจ๋ไปทั้งหน้าเลย พอส่งกลับไปให้ น้องมันบอกว่าถ้าพี่จะแก้ขนาดนี้พี่มาแปลเองเลย ถ้าใช้สำนวนน้าค่อมคือ มึงท้ากูใช่มะ ได้สิ (หัวเราะ)
แต่เล่มแรกเป็นเรื่องที่แปลไม่ยาก จนแปลเรื่องที่สามแล้วเจอเรื่องเกี่ยวกับฆาตกรรม อันนั้นหนักจริง นั่งแช่งชักหักกระดูกตัวเองว่าไปรับทำไมวะ
อย่างการ์ตูนเข้าใจว่ามันมาอาทิตย์ต่ออาทิตย์ แต่อย่างนิยาย เวลาจะรับแปลเราอ่านก่อนทั้งเล่มมั้ย หรือแปลไปอ่านไป
เคยลองอ่านดูทั้งเล่มแล้ว สามเดือนผ่านไปยังไม่ได้ทำอะไรเลยจนเขาโทรมาทวงงาน (หัวเราะ)
ข้อแตกต่างของนิยายกับการ์ตูนคือ ถ้าเป็นการ์ตูนโชเน็นจะมีตัวช่วยอ่านที่เรียกว่าฟูริงานะ เป็นฮิรางานะตัวเล็กๆ เอาไว้ช่วยบอกคำอ่านของคันจิ แต่ถ้าเป็นการ์ตูนเซเน็ง (การ์ตูนผู้ใหญ่) กับพวกนิยายก็จะไม่มีตัวช่วยอ่านแล้ว ซึ่งบางทีตัวคันจิยากไป แทนที่จะหาศัพท์ได้ทันที ต้องมานั่งนับเส้นตัวคันจิ แล้วมันจะเสียเวลามาก มันไม่เหมือนกับเวลาคุณอ่านนิยายฝรั่งที่สามารถเดาศัพท์ได้ จึงสามารถอ่านล่วงหน้าได้เยอะๆ แล้วค่อยแปล หรืออ่านทั้งเล่มแล้วมาแปลก็ได้
และภาษาญี่ปุ่นจะมีจุดเด่นอย่างหนึ่งตรงที่ว่ามันสามารถใช้ประโยคเชิงซ้อนได้ไม่จำกัด เช่น ‘ฉันซึ่งกำลังโมโห กำลังกลับหลังหันเดินออกประตูพร้อมกับหิ้วถุงที่ซื้อมาเมื่อวานหันไปดูเธอที่นั่งอยู่ที่เก้าอี้พร้อมกับตีหน้าโกรธฉันจากเรื่องที่ฉันกระทำไปเมื่อวาน’ ถ้าคุณเจอนักเขียนสไตล์นี้หรือชอบใช้ตัวคันจิยากๆ มันเหมือนกับปอกหัวหอม คุณต้องมาปอกๆ เรียงๆ ลำดับใหม่ เพราะภาษาไทยมีแต่ประโยคเชิงเดี่ยวกับประโยคเชิงประกอบ ประโยคเชิงซ้อนไม่ใช่ธรรมชาติของภาษาไทย เราต้องเรียบเรียงใหม่หมด
เพราะงั้นตอนนี้เวลาแปลนิยายญี่ปุ่นสิ่งที่ผมทำก็คืออ่านล่วงหน้าแค่ทีละหน้า หรือทีละสองหน้า แล้วทำใจไปด้วยว่าพอไปถึงท้ายเล่มแล้วต้องย้อนกลับมาแก้ทั้งเล่มแน่นอน (หัวเราะ)
พี่อิศแปลนิยายญี่ปุ่นมาประมาณกี่เล่ม
น่าจะมากกว่าสิบเล่มแล้ว ส่วนใหญ่เป็นของเนชั่น จะมาผ่อนช่วงหลังที่ผมโดนดึงตัวไปทำทีวีจนไม่มีเวลา แล้วพอเกษียณตัวเองจากงานบริษัทก็มาเริ่มแปลกับสำนักพิมพ์ไดฟุกุ เล่มแรกคือ ตายวันแต่ง ของเคโงะ
สิ่งที่ผมพยายามทำกับการแปลนิยายคือ นักเขียนแต่ละคนจะมีสไตล์ มีสำนวนภาษาของตัวเอง แต่เวลาข้ามภาษาเราไม่สามารถเอาตามเขาได้ เพราะงั้นเพื่อให้เกิดความแตกต่าง อย่างเล่ม ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่เมื่อวันวาน ผมจึงต้องทำการบ้านเยอะมาก ไปหาอ่านหนังสือของนักเขียนสมัยปี ’80 เพราะรู้สึกว่าเป็นช่วงที่ร่วมยุคกับนิยาย แล้วภาษาการเขียนคล้ายกัน เพราะสำหรับผม การแปลนิยายญี่ปุ่นแต่ละเรื่องต้องหาสำนวนที่เข้ากันได้มารองรับ ไม่ใช่ถอดสำนวนญี่ปุ่นออกมาตรงๆ
คิดว่างานเขียนของญี่ปุ่นมีเสน่ห์ตรงไหนบ้าง
จินตนาการของเขามันลึกกว่าที่เราคิด เผลอๆ การ์ตูนจะล้ำกว่านิยายด้วยซ้ำ ตัวนิยายจะเป็นพล็อตที่ค่อนข้างจะตายตัว แต่ของการ์ตูนคือบางครั้งคิดได้ยังไง อาจารย์ปยุต เงากระจ่าง (อาจารย์การ์ตูนไทย) เคยพูดว่าการ์ตูนคือเพื่อนที่โตมากับเด็กๆ เพราะงั้นการ์ตูนของฝั่งญี่ปุ่นจะแบ่งช่วงอายุเลย เด็กเล็ก โชเน็น แล้วก็เซเน็น แนวเรื่องก็จะไม่เหมือนกัน ของโชเน็นเน้นเรื่องมิตรภาพ การปรับตัวเข้ากับสังคม พออ่านแล้วก็รู้เลยว่าเขาสอนเด็กของเขาไปกลายๆ
ปัจจุบันพี่อิศยังอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรกอยู่หรือเปล่า
ตอนนี้ไม่มีที่จะนอนละ หนังสือเต็มห้อง แต่ไม่ค่อยมีเวลาอ่านพวกนิยายเท่าไหร่ ช่วงที่ทำงานหนักๆ ก็จะติดพวกฮาวทู นอกจากนั้นความสนใจก็หลากหลายต่างแนว มีทั้งหนังสือจิตนิยม คอมพิวเตอร์ หนังสือเก่าๆ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศิลปะ รวมไปถึงสายมู ผมว่าที่มีอยู่ในห้องก็น่าจะประมาณพันเล่ม ถ้าเมื่อไหร่ตึกทรุด โทษห้องผมได้เลย (หัวเราะ)
ไม่เบื่อเหรอ ทำงานแปลด้วย เวลาพักก็ยังต้องอ่านหนังสืออีก
ไม่เบื่อ เพราะงานแปลค่อนข้างท้าทายเหมือนกันนะ อย่างงานแปลการ์ตูนบู๊เราจะไม่เบื่อเพราะสนุกไปกับมัน ยิ่งเราเมามันไปกับมันเท่าไหร่ เรายิ่งสนุกเท่านั้น การ์ตูนที่แปลได้ยากที่สุดคือการ์ตูนที่จืดชืด แถมเราต้องพยายามทำให้สนุกด้วย ส่วนพวกการ์ตูนแก๊กจะเป็นลักษณะเหมือนกับเราแก้เชิงมวย เพราะต้องคิดภาษาไทยมาเปรียบเทียบ เขาออกหมัดมาแบบนี้เราจะแก้ด้วยท่าไหนดี บางทีอยู่ในห้องน้ำก็คิดไปพลาง ขับรถก็คิดไปพลาง
มันมีงานนึงที่คนอาจจะไม่รู้ว่าผมแปล คือการ์ตูนเกาหลี แต่แปลจากภาษาอังกฤษ ชื่อ สารพัดจิตหลุดสุดหัวใจ (The Sound of Your Heart) ในเว็บตูน คนอ่านก็คงคิดไม่ถึงว่าคนแปลการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเราจะเป็นคนแปลการ์ตูนเกาหลี แล้วมุกมันบ้าบอคอแตกมาก มีอยู่ตอนนึงที่ไม่ต้องแปลก็ได้ แต่มันท้าทาย คือตอนที่พระเอกเจอกับนางเอกใหม่ๆ นางเอกเมาแล้วพระเอกจะพาไปส่งบ้าน ขึ้นแท็กซี่เรียบร้อยถามนางเอกว่าไปไหน นางเอกบอกบ้านอยู่ปูซาน ซึ่งตอนนั้นทั้งคู่อยู่ในโซล แต่เรามองว่านักอ่านส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าโซลกับปูซานมันไกลกันขนาดไหน พอไม่รู้ก็จะไม่สนุก เราเลยคิดว่าถ้าเอาเมืองไทยมาเทียบกันจะเป็นที่ไหนดีวะ คิดๆ อยู่สักพักก็เลือกจังหวัดอุบลราชธานี แล้วค่อยๆ บิดเป็นอุบลราชปูซาน ระหว่างทางก็จะมีป้ายหลักกิโลฯ เราก็บิดให้เป็นชื่อไทยผสมเกาหลี อย่างสระบุรีเป็นสระบยูรี มวกเหล็กเป็นมยวกเหล็ก นครราชสีมาเป็นนครราชสีมย็อน ฯลฯ ก็สนุกดี
การแปลการ์ตูนแก๊กคุณจะต้องไม่ strict กับตัวเองมากเกินไป ต้องรักษาระยะห่างพอสมควรให้คุณวิ่งได้ มันถึงจะขำ บางคนแปลแบบอธิบายมุก แต่อธิบายมุกนี่คือการถอดความ ไม่ใช่การแปล อธิบายปั๊บมันไม่ขำแล้ว การอธิบายมุกควรจะทำก็ต่อเมื่อคุณจนปัญญาแล้ว ไม่ไหวแล้ว
พอพี่อิศพูดแบบนี้นึกถึงพวกท่าใน Bleach กับ Naruto เวลาพี่คิดคำพวกนี้ใช้เวลามากมั้ย หรือดีดนิ้วได้เลย
แล้วแต่นะ บางคำพอเห็นก็ปิ๊งขึ้นมาในหัวเลย ตอนที่ยังเป็นผู้ช่วยอยู่ บ.ก.ก็ถามว่าคำนี้ (หน้าปกหนังสือเนื้อหา 18+ ที่ตัวละครคาคาชิจากเรื่อง Naruto อ่าน) แปลว่าอะไรดี ผมเห็นปั๊บก็ ‘อะจึ๊ยสวรรค์รำไร’ (หัวเราะ) บางอันก็ต้องมาวิเคราะห์ดูว่ามันเป็นท่าแบบไหน อีกอย่างคือคนอ่าน Naruto เป็นเด็กซะเยอะ จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมผมถึงถอดท่าเป็นภาษาไทย เพราะถ้าทับศัพท์ปั๊บ เด็กจะจำไม่ได้เลย เพราะงั้นเลยมีคำอย่างกระสุนวงจักร เทวีสุริยัน เน้นใช้คำไทยๆ หรือคำที่คนไทยคุ้นกันอยู่แล้ว ไม่ใช้บาลีสันสกฤตยากๆ มาก นอกจากคิดถึงตัวความหมาย ก็ต้องคิดถึงคนอ่านด้วยว่าจะอ่านรู้เรื่องไหม
คนชมเยอะมากว่าจำชื่อท่าได้จนถึงปัจจุบัน
ตอนนั้นผมไม่ค่อยรู้หรอกว่ามีคนชมหรือเปล่า เพราะแค่ปั่นงานก็หัวฟูละ (หัวเราะ)
แล้วพอมาถึงตอนนี้ มีคนกลับมาพูดถึงอีกรอบนึง รู้สึกยังไงบ้าง
ชื่นใจนะ คือสมัยของเรา ก็จะมีตัวนักเขียนที่เราชื่นชอบ พี่รงค์ พี่เตรียม พี่โอม ฯลฯ แล้วพอมาถึงจุดนึง เรากลายเป็นแถวหน้าแบบไม่รู้ตัว กลายเป็นลุงอุ๊ ลุงอิศในความทรงจำของเด็กๆ ไปแล้ว
การได้มาแปลการ์ตูนเด็กมันสนุกตรงนี้ ตรงที่เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา กลายเป็นความทรงจำของคนรุ่นหนึ่งตลอดไป