Wed 14 Dec 2022

DREAMOCRACY

ทำความรู้จัก ‘ไอติม—พริษฐ์ วัชรสินธุ’ ตั้งแต่วัยเริ่มตั้งคำถาม
จนถึงวันที่อยากชวนคนไทยร่วมสร้างสังคมในฝันผ่านประชาธิปไตย

     สามปีที่ผ่านมา จะบอกว่าการตื่นรู้และการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ รวมถึงกระแสพลิกขั้วความคิด ทำให้เรารู้สึกมีหวังว่าประเทศที่อยากเห็นนั้นจะเป็นจริงได้สักวัน ก็คงไม่ผิดนัก

     แต่ทุกครั้งที่เราเห็นผู้มีอำนาจทำทุกทางด้วยกลไกอย่างเก่งกาจ (?) เพื่อจะรั้งประโยชน์ของพวกพ้องไว้ เราก็แอบตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า ประเทศที่อยากเห็นนั้น จริงๆ แล้วอาจอยู่ห่างไกลออกไป—ไม่ใช่ที่นี่

     แทนที่ ‘หวัง’ ให้เปลี่ยนเป็น ‘จริง’ ก็เหมือนถอยหลังอีกหลายก้าว แล้วกลับไปเป็นเพียง ‘ฝัน’ อีกครั้ง

     ดังนั้น เมื่อเราเห็น DREAMOCRACY ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน หนังสือเล่มใหม่ของ ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ วางแผง ก็อดคิดไม่ได้ว่า แหม อย่ามาหลอกกันเลย มันจะไม่ใช่ได้ยังไง มองมุมไหนก็ไกลเกินเอื้อม

     แต่พอได้อ่านเนื้อหาด้านใน ซึ่งรวบรวมข้อเขียนและถ้อยคำที่เขาเผยแพร่สู่สาธารณะ ว่าด้วยสามประเด็นหลักที่เขาคิดว่าจำเป็นต้องแก้ไขหรือร่างขึ้นใหม่ เปรียบได้กับการชวนคนไทยมาร่วมเขียนหนังสือใหม่สามเล่ม เล่มที่หนึ่งคือรัฐธรรมนูญ เล่มที่สองคือแผนการจัดสรรงบประมาณใหม่ และเล่มที่สามคือหลักสูตรการเรียนการสอน เราก็เหมือนจะมีความหวังขึ้นมานิดหน่อย

     เรายังไม่เชื่อเขาในทันทีหรอก แต่การทำความรู้จักคนที่บอกว่า สิ่งที่เราวาดหวังกันนั้นไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นจริงได้ ค้นหาว่าอะไรทำให้เขาคิดแบบนั้น หรือไถ่ถามถึงแผนการของภารกิจใหญ่ที่รอทุกคนอยู่เบื้องหน้า

     เราคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องเสียเวลาเลย เพราะเราก็เสียเวลากันมาหลายปีแล้วนี่

คนอาจรู้จักคุณว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ลงมาทำงานการเมือง แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักคุณในวัยเด็กเลย

     ถ้าใช้คำเดียวอธิบายตัวผมในวัยเด็กคงเป็นคำว่า เด็กเนิร์ด ผมเป็นคนที่ค่อนข้างสนใจการเรียน พยายามตั้งคำถามกับทุกอย่างที่เจอ 

     จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตวัยเด็กจริงๆ คือตอนอายุสิบสาม ก่อนหน้านั้นผมเรียนที่สาธิตจุฬาฯ แล้วย้ายไปโชรส์เบอรี่ ซึ่งใช้หลักสูตรจากประเทศอังกฤษ นั่นถือเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับความแตกต่างด้านการศึกษา พอผมสอบชิงทุนจนได้ไปเรียนระดับมัธยมฯ ที่อังกฤษ การศึกษาที่นั่นก็ยิ่งทำให้ผมตั้งคำถามกับหลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้น 

     ยกตัวอย่างเช่น วิชาประวัติศาสตร์ ตอนเรียนที่ไทยผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ มันท่องจำเยอะ แต่พอไปเรียนที่อังกฤษ มันต่างกัน เขาไม่ได้สอนให้เราจำว่าอะไรเกิดขึ้นปีไหน แต่สอนให้เราเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ขัดแย้งกัน มาวิเคราะห์ว่ามุมมองแบบไหนที่อธิบายเหตุการณ์นั้นได้ดีที่สุด พอได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับคนอื่นๆ ในห้องด้วยก็เลยสนุก ทำให้ผมมีทักษะการตั้งคำถามกับทุกเรื่องติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้

บรรยากาศที่คุณเติบโตมาเป็นอย่างไร

     คุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย เป็นหมอ ซึ่งก็อาจมีส่วนทำให้ผมสนใจวิชาชีววิทยา และมีโอกาสเห็นบรรยากาศภายในโรงพยาบาลเป็นประจำ คุณพ่อคุณแม่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ผมเลยได้เห็นภาพคนไข้จำนวนมากเดินทางไกลมาจากต่างจังหวัด เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับการบริการอย่างเต็มที่และดีที่สุดหากเลือกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและตั้งคำถามกับสวัสดิการของรัฐ

     ขณะเดียวกันผมก็สนใจเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้อ่านหนังสือแล้วก็เข้าใจมากขึ้นว่า กลไกการเมืองมีส่วนในการจัดการและแก้ปัญหาการกระจายทรัพยากรได้ ตอน ม.ปลายผมจึงลังเลอยู่นานว่าจะเรียนต่อสาขาไหนดี ระหว่างแพทย์กับเศรษฐศาสตร์การเมือง

เคยอ่านบทสัมภาษณ์ที่คุณเล่าถึงประสบการณ์ Job Shadowing (การศึกษางานผ่านการสังเกตการณ์) กับพรรคประชาธิปัตย์เมื่อครั้งยังเรียน ม.ปลาย มันมีที่มาจากความสับสนที่ว่าหรือเปล่า

     ใช่ ตอน ม.5 ผมต้องตัดสินใจเลือกคณะที่อยากเรียนต่อ เพื่อเลือกวิชาที่เหลือตอน ม.ปลายให้เข้ากับสิ่งที่ผมอยากเรียน ที่โรงเรียนก็แนะนำให้ทุกคนลอง Job Shadowing อาชีพที่ตัวเองสนใจ ไปสังเกตการณ์ว่าคนอาชีพนี้ต้องทำอะไรในแต่ละวันบ้าง แล้วใช่สิ่งที่เราชอบหรือเปล่า 

     ผมก็ลองทั้งสองอาชีพเลย อย่างแพทย์ก็ง่ายหน่อย แค่ตามพ่อแม่ไปทำงาน ส่วนงานการเมือง พอดีว่าพรรคประชาธิปัตย์มีโครงการเปิดรับฝึกงานอยู่แล้ว เป็นการฝึกงานที่ไม่ได้มีข้อผูกมัดอะไร ไม่จำเป็นว่าต้องกลับมาทำงานที่นี่ ก็ลองสมัครไป

ตอนนั้นได้ทำอะไรบ้าง

     ได้เห็นการทำงานหลากหลายมิติ ทางพรรคพยายามพาเราไปดูว่า นักการเมืองคนหนึ่งต้องทำงานในมุมไหนบ้าง ก็มีตั้งแต่การทำงานในพื้นที่ ไปดูวิธีสอบถามความเห็นประชาชนกับผู้แทนฯ ในเขตนั้น 

     อีกมุมหนึ่งคือการทำงานในสภาฯ จำได้ว่าผมเคยเข้าไปสังเกตการณ์ในสภาฯ อยู่บ้าง ก็ได้เห็นการถกเรื่องแก้กฎหมาย การอภิปราย ทำให้ผมเห็นว่าบางทีการแก้คำเล็กๆ น้อยๆ ในข้อกฎหมาย มันทำให้ความหมายเปลี่ยนไปได้เลย แล้วช่วงนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ผมก็ได้เห็นการทำงานในมุมฝ่ายบริหาร และในกระทรวงต่างๆ ด้วย

     ตอนนั้นผมยังไม่รู้สึกว่าอยากทำงานเป็นนักการเมือง แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ตัดสินใจได้ว่าจะเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง

ชื่อคณะที่คุณจบมาคือ เศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญาการเมือง (Philosophy, Politics and Economics) พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่าเรียนอะไรกันบ้าง

     อธิบายยากมาก เพราะคนที่เรียน PPE มีประมาณ 250 คนต่อปี ซึ่งแต่ละคนเลือกเรียนวิชาไม่เหมือนกันเลย มีแค่ปีแรกที่เรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกัน ซึ่งจะเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญา

     ถ้าเล่าแบบคร่าวๆ ‘การเมือง’ จะศึกษารูปแบบการปกครอง ปรัชญาทางการเมือง ชุดความคิดต่างๆ เช่น เสรีนิยม สังคมนิยม ทุนนิยม แต่ละแนวคิดมองโลกยังไง ลองเอามาสังเคราะห์ดูว่าเราเห็นด้วยกับชุดความคิดแบบไหน หรือคิดว่าชุดไหนจะแก้ปัญหาในประเทศนั้นๆ ได้ 

     ‘เศรษฐศาสตร์’ จะสอนให้เราวิเคราะห์การตัดสินใจของมนุษย์ ก็มีทั้งระดับมหภาค (Macro) การมองภาพใหญ่ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และระดับจุลภาค (Micro) ศึกษาการตัดสินใจในระดับปัจเจก เช่น การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าบริการ

     ส่วน ‘ปรัชญา’ จะพูดอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ คือ Logic หรือตรรกศาสตร์ เป็นวิชาที่สอนเราถอดโครงสร้างวิธีคิดจากคำพูดหรือข้อถกเถียง ดูว่าอีกฝ่ายมีสมมติฐานอะไร การให้เหตุผลของเขาเป็นเหตุเป็นผลกันหรือเปล่า แล้วมีช่องโหว่ให้เราโต้แย้งได้ไหม สอนให้รู้จักตรรกะวิบัติประเภทต่างๆ เช่น เหตุการณ์สองอย่างที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายๆ ครั้งไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกัน อย่างการที่คนจำนวนมากกางร่มพร้อมกันในวันที่ฝนตก ไม่ได้แปลว่าการกางร่มจะทำให้ฝนตก 

     อีกเรื่องหนึ่งคือ ethics ซึ่งจริงๆ ไม่น่าจะใช่คำว่า จริยธรรม แบบในภาษาไทย เพราะมันคือการศึกษาว่าเราใช้หลักอะไรในการตัดสินใจกระทำบางอย่างที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ตัวอย่างคลาสสิกที่ทุกคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างคือ Trolley Problem ที่บอกว่ารถไฟกำลังจะวิ่งไปทับคนห้าคนที่นอนอยู่บนราง แต่คุณสามารถสับรางไปอีกทางหนึ่งซึ่งมีคนนอนอยู่แค่หนึ่งคน คุณจะทำไหม และทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น 

     คำตอบที่ผมเคยได้ยินมีหลายทาง หลายแนวคิด อย่างคนที่คิดแบบประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ก็จะบอกว่าเอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง ดังนั้นคนตายหนึ่งคนย่อมเลวร้ายน้อยกว่าคนตายห้าคน แต่ก็มีทฤษฎีอื่นที่แย้งว่าเราไม่ควรทำแบบนั้น การสับรางจะเท่ากับว่าเราเข้าไปแทรกแซงและกลายเป็นผู้ที่ฆ่าคนเสียเอง ในขณะที่บางคนก็บอกว่า การเลือกไม่สับรางก็คือการตัดสินใจฆ่าคนเหมือนกัน

แล้วคุณตอบคำถามข้อนี้ยังไง

     ผมตัดสินใจไม่สับราง เหตุผลก็คือผมคิดว่าจริงๆ แล้วคำถามของปัญหาข้อนี้คือ คุณจะฆ่าคนหนึ่งคนแทนคนห้าคนหรือเปล่า ถ้าเราสับรางก็แปลว่าเราคิดว่าหนึ่งคนแทนห้าคนได้ ผมว่ามันอันตรายมากถ้าเรานำชุดความคิดนี้ไปใช้กับเรื่องอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยห้าคนต้องการเปลี่ยนอวัยวะ แต่อวัยวะขาดแคลน ซึ่งถ้าเราฆ่าเด็กหนึ่งคน เราจะได้อวัยวะมาเปลี่ยนให้ห้าคนพอดี ถามว่าเราจะทำไหม โดยสามัญสำนึกของทุกคนก็คงไม่ทำ แต่นี่มันเป็นปัญหารูปแบบเดียวกับรถรางเลย ดังนั้นถ้าผมตอบว่าสับราง มันก็คือการที่ผมยอมรับด้วยว่า เราสามารถฆ่าคนหนึ่งคนเพื่อช่วยคนห้าคนได้ 

     ผมว่าท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาทางปรัชญาเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อให้เรามีความคงเส้นคงวากับความคิด คำตอบของผมอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูก คนที่บอกว่าไม่สับรางก็เท่ากับฆ่าคนเหมือนกันนั้นอาจจะถูกก็ได้ แต่ถ้าคุณเจอปัญหาที่มีรูปแบบคล้ายกัน คุณก็ควรตัดสินใจด้วยชุดความคิดเดิมด้วย

ช่วงใกล้เรียนจบ คุณเริ่มเห็นภาพอาชีพที่อยากทำหรือยัง

     ยัง แต่มีความคิดว่าอยากกลับประเทศไทย พอดีว่าตอนเรียนจบผมได้งานที่ McKinsey & Company เป็นบริษัทคอนซัลต์ที่อังกฤษ ก่อนจะย้ายมาอยู่ออฟฟิศฝั่งเอเชีย ด้วยความคิดว่าถ้าในอนาคตเราอยากกลับมาทำอะไรสักอย่างให้ประเทศไทยดีขึ้น ก็ควรจะเอาตัวกลับมาอยู่ใกล้ๆ เพื่อทำความเข้าใจประเทศไทยให้มากกว่านี้ 

พอพูดถึงการกลับมาอยู่ใกล้ๆ เพื่อจะทำความเข้าใจประเทศไทยให้มากขึ้น อยากรู้ว่าตอนคุณเรียนที่อังกฤษ คุณรับรู้ข่าวสารในบ้านเรามาก-น้อยแค่ไหน

     ผมกลับมาไทยทุกๆ ปิดเทอม สมัยเรียนก็เริ่มมีโซเชียลมีเดียแล้ว แต่อินเทอร์เน็ตที่โรงเรียนผมบล็อกเฟซบุ๊กนะ (หัวเราะ) อาจจะไม่ได้รับรู้ข่าวสารง่ายๆ แบบในปัจจุบัน เรียกว่าไม่ถึงกับตัดขาด ตอนรัฐประหารปี 2549 ผมอยู่ที่อังกฤษ จำได้ว่าคุณแม่โทรมาบอกว่าเกิดเรื่องนี้ขึ้น ตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจนัก เพราะเป็นรัฐประหารครั้งแรกในช่วงชีวิตของผม จะหาข่าวอ่านก็ไม่ได้ แต่ก็ได้เรียนรู้จากครั้งนั้นว่าการเมืองไทยไม่ปกติ 

     นอกจากนั้น การไปเรียนที่อังกฤษก็สะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตระดับสากลกับไทย ความเหลื่อมล้ำที่อังกฤษก็ยังมีอยู่ แต่ไม่รุนแรงเท่าไทย คนอังกฤษไม่ต้องกังวลกับการเลือกโรงพยาบาลหรือโรงเรียนใกล้บ้าน เพราะคุณภาพทุกที่ค่อนข้างทัดเทียมกัน อีกเรื่องที่เห็นชัดคือขนส่งสาธารณะ ที่อังกฤษอาจจะยังดูแพงอยู่บ้าง แต่ก็มีครอบคลุม ต่างจากไทย ถ้าไม่ใช่กรุงเทพฯ ก็ต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัว แม้แต่ในกรุงเทพฯ เองก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

     ในแวดวงการเมือง แต่ละพรรคก็มีความคิดที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนก็ต่อสู้กันโดยใช้กลไกในสภา ในขณะที่ไทยใช้กลไกนอกสภา 

แล้วอะไรทำให้คุณตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อเข้าร่วมพรรคประชาธิปัตย์

     ผมรู้สึกว่ามันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประเทศ เราเพิ่งผ่านการรัฐประหารปี 2557 การเมืองก็ยังไม่กลับมาเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เนื้อหาในรัฐธรรมนูญยังไม่เป็นประชาธิปไตยสากล เศรษฐกิจก็มีปัญหา การศึกษาก็ตามหลัง ปัญหาทุจริตก็เรื้อรังและหนักขึ้น พอจะมีการเลือกตั้ง ผมเลยคิดว่านี่อาจเป็นโอกาสที่จะได้เปลี่ยนแปลงประเทศอย่างที่ตั้งใจไว้ 

     ตอนแรกก็ลังเลใจมาก เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2557 ทั้งการบอยคอยต์การเลือกตั้ง การที่สมาชิกพรรคหลายคนออกไปมีส่วนร่วมกับการชุมนุมที่นำไปสู่การรัฐประหาร แต่ ณ เวลานั้นผมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในพรรค คิดว่าพรรคน่าจะมีแนวคิดที่ใกล้เคียงกับผมมากขึ้น สองเหตุการณ์หลักๆ ก็คือ การออกมาปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และเมื่อผมทราบข่าวว่าแกนนำพรรคที่สนับสนุน กปปส. หลายคนลาออกไปตั้งพรรคใหม่ ก็คือพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทยของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ 

     พอเข้าไปในพรรคก็ได้รวมกลุ่มกับคนในพรรคที่มีชุดความคิดคล้ายๆ กัน ภายใต้ชื่อ New Dem เราก็พยายามขับเคลื่อนให้พรรคมีความหนักแน่นในเรื่องประชาธิปไตย มีชุดนโยบายที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น เช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหาร หรือสิทธิสมรสของคู่รักทุกเพศ แต่สุดท้ายชุดความคิดนั้นก็ไม่เกิดขึ้นจริง หลายคนในพรรคยังคิดต่างจากเราอยู่มาก และฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากพรรค คือการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ ซึ่งขัดกับคำพูดที่เคยให้ไว้กับประชาชน และขัดกับอุดมการณ์ของพรรค

คุณได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้

     (นิ่งคิด) ได้เรียนรู้ว่าพรรคการเมืองต้องเป็นสถานที่รวบรวมคนที่มีอุดมการณ์ทางความคิดใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะถ้าไม่เป็นอย่างนั้น จะทำให้พรรคไม่มีความชัดเจนว่าถ้าได้บริหารประเทศแล้วจะไปในทิศทางไหน ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมลาออกจากพรรคด้วย ตอนเข้าไปเราเชื่อว่าพรรคกำลังปรับตัวมาอยู่ในเส้นทางที่ใกล้เคียงกับเรา แต่สุดท้ายมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ดังนั้นบทเรียนในทางรูปธรรมก็คือ ผมต้องดูให้มั่นใจก่อนว่าอุดมการณ์ของผมกับพรรคตรงกันจริงๆ

ทำไมถึงเลือกที่จะทำสตาร์ทอัพด้านการศึกษา แทนที่จะมองหาพรรคใหม่ทันที

     ผมคิดอยู่สองเรื่องคือ ทำอะไรแล้วจะช่วยให้ประเทศไทยดีขึ้นได้บ้าง กับทำอะไรแล้วผมจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ก็เลยตกผลึกมาเป็นสตาร์ทอัพด้านการศึกษา เพราะถือเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในไทย และผมคิดว่าเทคโนโลยีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ อาจไม่ได้แก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่อย่างน้อยในยุคที่เทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ถ้าเรานำการศึกษาที่มีคุณภาพเข้าไปอยู่ในมือถือได้ ก็น่าจะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ก็เลยกลายเป็น StartDee แอพที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนการสอนได้ทุกที่อย่างมีคุณภาพ

ทั้งๆ ที่คุณเรียนจบมาจากโรงเรียนชั้นนำระดับประเทศ โรงเรียนอินเตอร์ชื่อดัง และโรงเรียนที่อังกฤษ แล้วคุณไปเห็นหรือรับรู้อะไรมาถึงคิดว่าการศึกษาไทยมีปัญหา

     ผมคิดว่าเพราะตัวเองผ่านการศึกษาหลายระบบก็เลยเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน นอกจากนั้นก็มีส่วนที่พบจากการวิเคราะห์ข้อมูลภายหลัง 

     เรื่องที่ต่างกันมีอยู่สามส่วนหลักๆ อย่างแรกคือคุณภาพ สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกได้คือ เด็กไทยเรียนหนักสุดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ทักษะต่างๆ ที่ถูกประเมินโดย PISA (Programmed for International Student Assessment) เด็กไทยกลับอยู่อันดับท้ายๆ เพราะระบบการศึกษาไทยไม่สามารถแปรความขยันของนักเรียนให้กลายเป็นทักษะได้ 

     ปัญหาที่สองคือความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาที่ซ้อนกันหลายตลบ อย่างแรกก็คือการศึกษาไทยยังไม่ฟรีจริง ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ ค่าชุดนักเรียน ยิ่งช่วงโควิด-19 มีนักเรียนไม่น้อยที่ต้องออกจากระบบไปเพราะไม่มีเงินจ่าย ปัญหาในระดับต่อมาคือ แม้เข้าถึงโรงเรียนได้ ก็ใช่ว่าทุกโรงเรียนจะมีคุณภาพเท่าโรงเรียนหัวเมือง โรงเรียนส่วนใหญ่ในไทยมีขนาดเล็ก มีคุณครูไม่พอ ผมจำได้ว่าตอนไปดูโรงเรียนขนาดเล็กที่อุบลราชธานีและพิษณุโลก ห้องเรียนที่นั่นถูกแบ่งครึ่ง เด็ก ป.1-2 เรียนห้องเดียวกันโดยใช้ครูคนเดียวสอน ต่อให้ครูเก่งแค่ไหน มันก็ยากมากที่จะสอนได้ดีในลักษณะนี้ 

     ปัญหาที่สามคือค่านิยมในโรงเรียน ตั้งแต่ผมเป็นนักเรียน กระทั่งตอนนี้ที่ได้คุยกับเด็กๆ ก็พบปัญหาเดิมๆ ว่า ในโรงเรียนยังมีปัญหาเรื่องอำนาจนิยม บรรยากาศในห้องเรียนไม่เอื้อให้นักเรียนตั้งคำถาม มีกฎระเบียบที่เปิดช่องให้ลงโทษนักเรียนเกินขอบเขตได้ ซึ่งเด็กๆ ก็ตั้งคำถามอยู่ตลอดว่า กฎพวกนี้มันสำคัญหรือส่งผลต่อการเรียนอย่างไร 

     ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผมเห็นและรับฟังมาตลอด ผมคิดว่าถ้าเด็กสองคนเกิดในไทย แต่ได้รับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน มันก็ยากที่จะไปแก้ไขเรื่องอื่นๆ ด้วย และแน่นอนว่าวัฒนธรรมอำนาจนิยมก็จะถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ 

ทำสตาร์ทอัพอยู่ดีๆ คุณก็ได้มาร่วมงานกับ อ.ปิยบุตร ในกลุ่ม Re-Solution จุดเริ่มต้นคืออะไร 

     ประเด็นการศึกษาก็เดินหน้าต่อไป แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจเหมือนกันคือรัฐธรรมนูญ ถ้ากติกาทำให้เสียงของทุกคนไม่เท่ากัน มี สว. 250 เสียงมาร่วมเลือกนายกฯ โหวตกฎหมาย ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ เลือกผู้พิพากาษาศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน แต่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ถ้ากติกาเป็นแบบนี้ประเทศไทยก็จะยังเดินหน้าไม่ได้ ปัญหาการศึกษาก็จะแก้ไขได้ยากด้วย

     ก็เป็นจุดยืนที่ตรงกับคณะก้าวหน้า ผมเลยได้มาร่วมทำแคมเปญ ‘ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์’ ในชื่อกลุ่ม Re-Solution ซึ่งเป็นการยื่นร่างขอแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตัดช่องทางการสืบทอดอำนาจออกไป รายชื่อขั้นต่ำคือ 50,000 รายชื่อ แต่สุดท้ายเราก็ได้มาแสนกว่ารายชื่อ

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการลงชื่อเพื่อยื่นแก้กฎหมายและรัฐธรรมนูญอยู่หลายครั้งจากหลายกลุ่ม แต่เมื่อเสนอแล้วก็โดนปัดตกแทบทั้งหมด ตอนนั้นมีความคิดไหมว่าความพยายามนี้อาจจะสูญเปล่า

     ไม่เลย ถามว่าผมกับอาจารย์ปิยบุตรคิดไหมว่าร่างจะโดนปัดตก คิดแน่นอน อันที่จริงการที่คุณใช้แค่เสียงข้างมากคือสภาผู้แทนราษฎร แล้วยังไม่พอสำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องใช้เสียง สว.1 ใน 3 อีก มันก็สะท้อนถึงความวิปริตของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว 

     การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติในทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นปกติที่การแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงข้างในสัดส่วนที่มากกว่าการแก้กฎหมายทั่วไปอยู่แล้ว แต่ของไทยไปเพิ่มเงื่อนไขว่าต้องได้เสียง สว. ด้วย กลายเป็นว่าร่างรัฐธรรมนูญใดๆ ที่พยายามนำประเทศกลับมาเป็นประชาธิปไตย แต่ไปขัดอำนาจของ คสช.ก็จะถูกปัดทิ้งหมด 

     ถามว่าเรารู้มั้ยว่าจะโดนปัด เรารู้ว่ามีโอกาสสูง แต่เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามมีสองอย่างที่ต้องทำควบคู่กันไป หนึ่งคือการแก้กฎหมาย สองคือการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม แม้วันนี้กฎหมายจะยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในเชิงสังคม เราคิดว่าการได้พูดคุยกับประชาชนตอนรณรงค์และล่ารายชื่อ การได้สื่อสารกับประชาชนผ่านการพูดในสภา ก็น่าจะทำให้หลายคนเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากขึ้น ถือว่าเป็นชัยชนะเล็กๆ ที่เราต้องสะสมไปเรื่อยๆ

การกลับคำแล้วเข้าร่วมกับรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้คุณรู้สึกกังวลที่จะเริ่มต้นใหม่กับพรรคก้าวไกลบ้างไหม

     ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น แค่ต้องใช้เวลาศึกษาดูใจพรรคที่จะเข้าร่วมว่ามีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันหรือไม่ ก่อนที่ผมจะเปิดตัวว่าเข้ามาทำงานกับพรรคก้าวไกล ก็ได้ลองทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องแล้ว ซึ่งก็เป็นผลดีทั้งสองฝ่ายที่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันว่าไปด้วยกันได้หรือไม่ 

ถ้าอย่างนั้นพรรคก้าวไกลกับคุณมีอะไรที่เหมือนกัน

     จุดหมายปลายทางที่เราอยากเห็นประเทศไทยเดินไปถึง 

     เราอยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยทั้งในเชิงระบบและวัฒนธรรม ในเชิงระบบก็คือ กติกาสูงสุดมีความประชาธิปไตย สถาบันทางการเมืองถูกออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ในเชิงวัฒนธรรมก็คือ ค่านิยมเรื่องประชาธิปไตย ความเสมอภาค เสรีภาพ ต้องแพร่หลายในสังคม

     ด้านเศรษฐกิจก็มองตรงกันว่า มันจะไปต่อได้ก็ต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง ทั้งกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นทุกจังหวัดสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ ต้องทำให้งบประมาณทุกบาทถูกใช้โดยคนที่รู้ปัญหามากที่สุด ไม่ใช่ให้คนส่วนกลางมาจัดการให้ ปัจจุบันเราจ่ายภาษี 100 บาท 80 บาทอยู่ที่ส่วนกลาง อีก 20 บาทอยู่ในมือของท้องถิ่นที่ได้รับเลือกจากคนในพื้นที่ แต่ถ้าไปดูในประเทศที่พัฒนาแล้ว ค่าเฉลี่ยคือส่วนกลางเอางบไป 60 บาท ท้องถิ่น 40 บาท อีกเรื่องที่ต้องทำคือสร้างกลไกให้มีการแข่งขันทางธุรกิจที่เท่าเทียม

     ท้ายที่สุดคือเรื่องสังคม เราอยากเห็นสังคมที่เหลื่อมล้ำน้อยลง ไม่ว่าจะเกิดในครอบครัวที่มีฐานะหรือบริบทแบบไหน ก็สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพหรือบริการสาธารณะอื่นๆ ที่มีคุณภาพได้เท่าๆ กัน 

เท่าที่ฟังดูก็เป็นประเด็นที่คุณเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย แบบนี้คนที่ได้อ่านถือว่าพอจะเห็นภาพนโยบายคร่าวๆ ของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเลยหรือเปล่า

     ไม่กล้าผูกมัดแบบนั้น (หัวเราะ) ก็ยังถือเป็นความเห็นส่วนตัวอยู่ แต่คิดว่าน่าจะช่วยให้เห็นภาพว่าประเทศไทยในฝันที่ผมอยากเห็นนั้นเป็นอย่างไร บทแรกที่อยู่ในหนังสือจะเป็นภาพใหญ่ของประเทศไทยที่ผมอยากเห็น ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ผมใช้พูดในวันเปิดตัวกับพรรคก้าวไกลด้วย ว่าการจะเปลี่ยนประเทศไทยได้ เราต้องเขียนหนังสือใหม่ขึ้นมาสามเล่ม 

     หนึ่ง คือเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วม 

     สอง คือเขียนงบประมาณกันใหม่ ทำให้ภาษีที่เราจ่ายไปถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น 

     สาม คือเขียนหลักสูตรการศึกษาใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์กับอนาคตและแก้ความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ 

แต่ละคนอาจจะมีภาพสังคมในฝันต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกหมดหวัง ทำยังไงให้ฝันของทุกคนเป็นจริง

     มันเป็นเรื่องปกติที่ความฝันทุกคนจะแตกต่างกัน แต่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เราจะมีกติกาที่เป็นธรรมกับความฝันของทุกคน ทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่จะกำหนดสังคมของตัวเอง แต่ปัจจุบันอำนาจมันถูกผูกขาดอยู่ไม่กี่กลุ่ม คนไม่กี่กลุ่มเป็นคนกำหนดทิศทางสังคม ฝันของบางคนก็เลยถูกลืมไป 

     แล้วทำยังไงถึงจะยังมีหวัง 

     หนึ่ง เราก็ต้องทำให้เสียงของทุกคนมีความหมาย แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีอาวุธในการกดเสียงของเราอยู่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่บอกว่า หากรัฐบาลชุดต่อไปทำงานไม่ตรงกับแนวทางนี้ก็จะต้องออกจากการเป็นรัฐบาล 

     สอง คนจะมีความหวังก็ต่อเมื่อเห็นว่าการจ่ายภาษีแล้วมันเกิดประโยชน์กับเขา เหมือนเราสมัครเน็ตฟลิกซ์ เราจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน ถ้าวันหนึ่งรู้สึกใช้ไม่คุ้ม หรือรู้สึกว่าบริการไม่มีคุณภาพ เราก็ไม่อยากจ่าย อยากเปลี่ยนค่าย ก็เหมือนกับช่วงที่คนอยากย้ายประเทศ เพราะรู้สึกว่าจ่ายให้ที่อื่นแล้วคุ้มกว่า ดังนั้นเราก็จำเป็นต้องจัดการงบประมาณกันใหม่ 

     สาม รัฐต้องช่วยเตรียมความพร้อมเพื่อการใช้ชีวิตในอนาคตให้กับประชาชน วิธีที่ดีที่สุดคือการศึกษา ต้องส่งเสริมทักษะที่จำเป็น และต้องมองไปถึงการศึกษาตลอดชีวิตด้วย ทำยังไงให้ผู้ใหญ่ที่ผ่านระบบการศึกษาเดิมสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้คุณภาพที่ตอบโจทย์ในปัจจุบันและอนาคตได้

     ถ้าแก้สามอย่างนี้ได้ ก็น่าจะมีความหวังมากขึ้น เพราะเสียงเราดังขึ้น เราฝันแบบไหนก็มีคนรับฟัง ส่งผลต่อทิศทางประเทศ 

     เราฝันแบบไหน งบก็จะถูกจัดสรรเพื่อช่วยให้ความฝันเราเป็นจริงได้ มีระบบสวัสดิการที่ช่วยให้เราตั้งตัวได้

     เราฝันแบบไหน รัฐก็จะช่วยส่งเสริมให้เรามีทักษะที่ต่อยอดความฝันได้ 

หนังสือแปดเล่มที่มีอิทธิพลกับพริษฐ์ วัชรสินธุ

อิทธิพลต่อการเติบโต

Charlie and the Chocolate Factory โดย โรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl)

     เทคนิคในการเรียนภาษาของผมคือทำยังไงให้มันแทรกซึมไปกับสิ่งที่เราเอ็นจอย อย่างผมเองก็ได้ภาษาอังกฤษจากการดูพากย์ฟุตบอลภาษาอังกฤษกับหนังสือของดาห์ล ถ้าจะแนะนำสักเล่มก็คงเป็นเล่มนี้ เพราะมีระดับภาษาที่เข้าใจง่าย ตัวเรื่องก็น่าสนใจ 

The Undercover Economistโดย ทิม ฮาร์ฟอร์ด (Tim Harford)

     หลายคนอาจรู้สึกว่าเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจเป็นเรื่องเข้าใจยาก มีแต่เรื่องตัวเลข ดอกเบี้ย แต่ฮาร์ฟอร์ดทำให้เรื่องยากเข้าใจง่าย ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเขียน ‘Why so democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร’ เพราะอยากทำให้เรื่องประชาธิปไตยและการเมืองเข้าใจง่าย

Very Short Introduction – Oxford University Press

     พอเริ่มสนใจเศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว ก็เริ่มอ่านหลายๆ เล่มในซีรีส์ VSI ที่อธิบายว่าหลักแนวคิดทางการเมืองแต่ละแบบเป็นยังไง 

อิทธิพลต่อการทำงาน

Predictably Irrational โดย แดน อารีลีย์ (Dan Ariely)

     ช่วงทำงาน หนังสือที่มีอิทธิพลกับผมจะเป็นเล่มที่พูดถึงเรื่องการวิเคราะห์การตัดสินใจของคน อย่างเล่มนี้ก็อธิบายว่าบางครั้งคนเราก็ตัดสินใจแบบไม่มีเหตุผลเลย เช่น เหตุผลที่ร้านกาแฟมักมีแก้วสามขนาดให้เลือกซื้อ เพราะจากการทดลองพบว่าถ้ามีแค่แก้วใหญ่กับแก้วเล็ก คนมักจะซื้อแก้วเล็ก แต่ถ้ามีแก้วกลาง แล้วตั้งราคาให้ใกล้เคียงกับแก้วใหญ่ มันมีแนวโน้มว่าคนจะซื้อแก้วใหญ่ เพราะรู้สึกคุ้มค่ากว่า ทั้งที่จริงๆ คุณอาจจะอยากดื่มแค่แก้วเล็ก

The Art of Strategy: A Game Theorist’s Guide to Success in Business and Life โดย อาวินาช ดิซิต และ แบร์รี่ เนลบัฟฟ์ (Avinash Dixit, Barry Nalebuff)

     เล่มนี้ก็พูดถึงการตัดสินใจของคน แต่นำเสนอผ่านการทดลองแบบ game theory เช่น เกม The Dictator หรือ Prisoner’s dilemma

Nudge: Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness โดย ริชาร์ด ธาเลอร์ และ แคสส์ ซันสตีน (Richard Thaler / Cass Sunstein)

     คำว่า Nudge แปลว่า สะกิด มันคือแนวคิดที่ว่าถ้าเราอยากให้คนทำอะไร บางทีการออกแบบที่ไปสะกิดผู้คนก็อาจเปลี่ยนการตัดสินใจหรือพฤติกรรมได้เลย เช่น ปกติเราจะรณรงค์ให้คนไปลงทะเบียนบริจาคอวัยวะ ซึ่งประเทศที่ใช้รูปแบบนี้จะมีอัตราการบริจาคราวๆ 20-30% แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นแบบ opt-out คือตั้งต้นว่าทุกคนพร้อมจะบริจาค ส่วนใครไม่ประสงค์จะบริจาคให้มาลงชื่อได้ ประเทศที่ใช้วิธีนี้จะเห็นเลยว่าสัดส่วนการบริจาคแตกต่างกันมาก แต่ทั้งสองรูปแบบก็ยังมีเสรีภาพ ทุกคนตัดสินใจเองได้ เพียงแต่เราเปลี่ยนค่าตั้งต้นเท่านั้นเอง 

No Rules Rules: Netflix and the Culture of Reinvention โดย รีด แฮสติงส์ (Reed Hastings)

     เป็นเล่มที่ทุกคนพูดถึงกันบ่อยๆ เกี่ยวกับการบริหารองค์กรให้เติบโต ในเล่มก็มีอยู่หลายแนวคิด คงไม่ใช่ทุกข้อที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่ก็มีหลายข้อที่ผมสนใจ เช่น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่รักษาผู้ที่ทำผลงานดี เขาบอกให้เราลองคิดเสมอว่า ถ้ามีคนในทีมมาบอกว่าจะลาออก คุณจะรั้งเขาไว้มั้ย ถ้าคิดแล้วว่าคงไม่รั้ง ในหนังสือบอกให้ไล่ออกเลย เพราะแปลว่าเขาทำผลงานได้ไม่ดีพอ ผมไม่ได้คิดสุดโต่งแบบเขา แต่มันก็เป็นแนวคิดที่ให้เรากลับมาทบทวนวิธีบริหารองค์กร อีกแนวคิดก็คือการให้ฟีดแบ็กสองทาง เจ้านายให้ลูกทีม ลูกทีมให้เจ้านาย ซึ่งหลายองค์กรในประเทศไทยยังติดกรอบเรื่องความอาวุโสอยู่ ถ้าทลายมันได้ ประสิทธิภาพการทำงานน่าจะไปได้ไกลกว่านี้

อิทธิพลต่อการทำงานการเมือง

A Theory of Justice โดย จอห์น รอลส์ (John Rawls)

     เป็นหนังสือที่ยาวมาก แต่หลักข้อหนึ่งคือเขาบอกว่า เวลาคุณจะออกแบบสังคม คุณต้องจินตนาการว่าคุณไม่มีทางรู้เลยว่าจะได้เกิดมาในจุดไหนของสังคม ไม่รู้เลยว่าจะเกิดมาเป็นคนเพศอะไร ฐานะที่บ้านเป็นยังไง มีความสามารถเรื่องไหน ถ้าคิดแบบนี้ได้ เวลาออกแบบนโยบายใดๆ ก็จะลดอคติลงไปได้ 

     ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะออกแบบนโยบายเรื่องเก็บภาษีคนที่มีรายได้สูง สำหรับคนที่มีรายได้สูงก็จะรู้สึกไม่โอเค ไม่แฟร์ เพราะมันเป็นทรัพย์สินที่บรรพบุรุษให้มา แต่ถ้าคุณจินตนาการว่าหากย้อนกลับไปคุณอาจจะเป็นคนที่เกิดในครอบครัวที่ไม่มีทรัพย์สินเลยก็ได้ คุณอาจจะเห็นความยุติธรรมของการเก็บภาษีเพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการ ใช้เพื่อส่วนรวม เพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน 

     แต่คิดแบบนี้ได้แล้วก็คงไม่ใช่ว่าสังคมเราจะยุติธรรมเลยทันที เพราะภาพสังคมที่ยุติธรรมของแต่ละคนก็คงแตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยวิธีคิดนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี