Fri 25 Dec 2020

JADE DRAGON

ชวนจิบชาร้อนและชิมหมั่นโถว พลางท่องยุทธภพนิยายกำลังภายในที่เปี่ยมด้วยปรัชญากับผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมจีน

     “18 ฝ่ามือพิชิตมังกร”

     “กระบวนท่าเปลี่ยนเส้นเอ็น”

     “ดรรชนีเอกสุริยัน”

     “ดรรชนีสัมพันธ์จิตใจ”

     “มีดบินไม่พลาดเป้า”

     ชื่อเหล่านี้คือชื่อของ ‘วิทยายุทธกำลังภายใน’ ที่หลายท่านอาจคุ้นชินจากโทรทัศน์ และหนังสือนิยายแปลจากฮ่องกง ซึ่งถ้าหากท่านใดไม่เคยสัมผัสกับคำว่ากำลังภายใน หรือนิยายกำลังภายในมาก่อน อาจจะงุนงงเล็กน้อยกับคำเหล่านั้น ข้าน้อยขออาสาเล่าอย่างรวบรัดว่ามันเป็นนิยายที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของผู้คน ซึ่งเต็มไปด้วยอภินิหารและความเหนือจริง ไม่ว่าจะเป็นคนที่ร่างกายแข็งแกร่งดั่งเหล็กกล้า คนที่มีฝ่ามือเป็นพิษร้าย คนที่ก้าวเดินบนอากาศได้ คนที่ปล่อยพลังออกมาจากฝ่ามือ และอีกมากมายล้านความสามารถพิเศษ ที่ฟังดูเหมือนภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ในยุคสมัยนี้ก็มิปาน

     หากท่านยอดฝีมือสนใจใคร่อยากรู้จักวิทยายุทธเหล่านี้ให้มากขึ้นก็ขอกวักมือเรียกเข้ามาที่โรงเตี๊ยม ข้าน้อย—เสี่ยวเอ้อ ผู้รินน้ำชา จะพาท่านมาล้อมวงจิบชาร้อนๆ ในบรรยากาศสลัว พลางเล่าเรื่องราว ‘โลกภายนอก’ ของหนังสือนวนิยายกำลังภายใน ทั้งที่มาที่ไป ลักษณะพิเศษของนิยายประเภทนี้ สู่ความนิยมในมนุษย์ของ ‘กิมย้ง’ (Louis Cha Leung-yung) นักเขียนชาวจีนผู้บุกเบิกนิยายกำลังภายในด้วยไตรภาค มังกรหยก อันเลื่องชื่อ

     จากนั้นข้าจะปันหมั่นโถวให้คุณผู้อ่านลิ้มชิมระหว่างที่นักท่องยุทธภพอย่าง ดร.นิพนธ์ ศศิภานุเดช อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมจีน นั่งวิพากษ์ถึงสำนวนแปลนิยายกำลังภายใน ทั้งด้านเด่นและด้อย ทั้งหยินและหยางให้ฟังด้วย

     เชิญเข้ามาท่านจอมยุทธ์ทั้งบุรุษและอิสตรี เสี่ยวเอ้อผู้นี้ขอเรียนเชิญ ไม่ว่าท่านจะใฝ่ฝันถึงวิชาคัมภีร์ไหน หรือสังกัดอยู่พรรคสำนักใด ขอให้มาฟังบทสนทนาของพวกเรา 

     หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะอิ่มหนำสำราญใจ ทั้งจากชาร้อน หมั่นโถว และเรื่องราวความคิดอ่านของ ดร.นิพนธ์ที่มีต่อวรรณกรรมที่ชื่อว่ากำลังภายในไปด้วยกัน

เต๋าสู่กำลังภายใน

     ทุกวันนี้หลายท่านคงคุ้นเคยกับ ‘พลังพิเศษ’ จากโลกตะวันตกเป็นอย่างดี เหล่าซูเปอร์ฮีโร่หลากความสามารถจากค่าย Marvel และ DC ที่ปรากฏตัวในซีรีส์ภาพยนตร์อย่างไม่ขาดสาย บ่งบอกถึงความนิยมในมนุษย์ผู้มีพลังพิเศษของคนทั่วโลก

     แต่ส่วนใหญ่พลังพิเศษของฮีโร่ฝั่งตะวันตกมักมีที่มาจากจินตนาการของผู้แต่ง แตกต่างจากพลังพิเศษฝั่งตะวันออกของตัวละคร ‘จอมยุทธ์’ จากนิยายกำลังภายใน ที่ถึงแม้จะมีพลังเหนือมนุษย์บางอย่าง ทั้งฝ่ามือพิษ วิชาตัวเบาเดินเหินบนอากาศ วิชาดัชนีจี้จุด และวิชาการใช้อาวุธต่างๆ ที่ดูเหนือจริง แต่อาจารย์นิพนธ์อธิบายว่าพลังพิเศษเหล่านั้นมีที่มาที่ไปมากกว่าแค่จินตนาการ

     “จริงๆ คำว่า ‘กำลังภายใน’ มาจากคำว่า ‘เน่ยกง’ ในภาษาจีน แปลว่า พลังภายใน โดยมีที่มาจากปรัชญาเต๋า (แนวคิดว่าด้วยความเข้าใจในวิถีของธรรมชาติ และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลก) โดยหลักการของลัทธิเต๋าจะมีแนวคิดเรื่องการนำ ‘พลังปราณ’ (พลังที่แทรกซึมอยู่ในสรรพชีวิต) หรือที่เรียกว่า ‘ชี่’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินชีวิต

     “เนื่องจากแนวคิดของเต๋าเป็นเรื่องของรากวัฒนธรรมจีนที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งพูดถึงเรื่องความสมดุลของร่างกาย การแบ่งร่างกายเป็นส่วนที่ร้อนและเย็น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่นักเขียนชาวฮ่องกงหรือไต้หวันจะนำแนวคิดนี้เข้ามาประยุกต์ใช้ในนิยายกำลังภายใน”

     การนำแนวคิดจากปรัชญาเต๋ามาประยุกต์ใช้ในนิยายและต่อยอดให้พลังมีความเหนือมนุษย์ หลายครั้งอาจทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องราวแฟนตาซีห่างไกลจากความจริง หากนักท่องยุทธภพที่นั่งอยู่ตรงข้ามข้าก็ยกชาขึ้นจิบ แล้วเล่าให้ฟังต่อว่าทุกวันนี้ในประเทศจีนยังมีการฝึกฝนพลังปราณกันอยู่ ไม่ใช่เพื่อสร้างพลังพิเศษ แต่เพื่อสร้างสมดุลแห่งชีวิต ซึ่งมีสำนักที่ขึ้นชื่ออยู่สองแห่งคือ เส้าหลิน และบู๊ตึ๊ง โดยทั้งสองสำนักก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป สำนักเส้าหลินจะเน้นพลังภายนอกด้วยการฝึกฝนพละกำลัง ความรวดเร็วคล่องแคล่ว ส่วนสำนักบู๊ตึ๊งจะเน้นพลังภายในที่มีการฝึกฝนด้วยความอ่อนช้อย สุขุม งดงาม

     “จริงๆ แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีคนฝึกปราณในหลายรูปแบบ แต่ตัวสำนักก็ปรับให้เป็นการค้ามากขึ้น อย่างสำนักบู๊ตึ๊งซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ฝึกเรื่องพวกนี้ เขาก็เปิดรับนักเรียนโดยยินดีที่จะรับเงินเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะเดียวกันก็ยังมีคนที่มุ่งมั่นจริงๆ อย่างเช่นชาวจีนบางคนก็จะส่งลูกมาเรียน กิน นอน อยู่กับอาจารย์ โดยมีกิจวัตรฝึกฝนอย่างตอนเช้าต้องตื่นขึ้นมานั่งสมาธิ ฝึกพลังปราณ อ่านคัมภีร์ต่างๆ ไปนั่งอยู่ในภาวะเงียบๆ คนเดียวในป่า ตามอย่างคัมภีร์โบราณ”

กำลัง (ที่มีความเป็นมนุษย์อยู่) ภายใน

     ถึงเหล่าจอมยุทธ์ในนิยายกำลังภายในจะถูกเคลือบไว้ด้วยความสามารถเหนือมนุษย์ แต่บุรุษและอิสตรีทุกคนย่อมมีเนื้อแท้คล้ายคลึงกัน คือเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง เศร้า สุข ทุกข์ ตัวละครในนิยายประเภทนี้จึงไม่เคยเป็นตัวละครที่เหนือมนุษย์ในแง่ของจิตใจเลย

     แต่ก่อนจะเข้าเรื่องของอารมณ์ หมั่นโถวในจานท่านพร่องหรือยัง ไม่ใช่ว่าข้าฯ อยากจะรีบขายของให้หมดโรงเตี๊ยม เพียงอยากให้ท่านยอดฝีมือได้ท้องอิ่ม ก่อนเราก้าวไปสู่เนื้อหาที่เข้มข้นขึ้น (ปันหมั่นโถวใส่จานให้อีกสองก้อน)

     กลับมาที่เรื่องนิยายกำลังภายใน อาจารย์นิพนธ์นิยามไว้ว่ามันเป็นวรรณกรรมประเภท ‘มนุษยนิยม’ ซึ่งหมายถึงวรรณกรรมที่เทิดทูนความเป็นมนุษย์ โดยเชื่อว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีมิติทั้งอารมณ์ และเหตุผล

     “แนวคิดมนุษยนิยมเป็นแนวคิดประเภทหนึ่งที่เชิดชูคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์มีเหตุผลและความบกพร่องในตัวเอง ซึ่งวรรณกรรมที่มีแนวคิดประเภทนี้จะดำเนินเรื่องไปสู่โศกนาฏกรรมบางอย่างที่เกิดจากความบกพร่องของมนุษย์ สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องราวประเภทนี้คือการตัดสินใจและการกระทำต่างๆ ของตัวละครเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เพราะการตัดสินใจในแต่ละเหตุการณ์จะสะท้อนความเป็นมนุษย์ของตัวละครออกมา แตกต่างจากนิยายที่ถูกเรียกว่าน้ำเน่าตรงที่ความบังเอิญจะเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาขึ้นมา แล้วตัวละครก็จะใช้ความบังเอิญแก้ไขปัญหาทุกอย่างไปเช่นกัน การคิดแบบมนุษยนิยมจึงทำให้ตัวละครมีมิติ เนื่องจากตัวละครมีทั้งจุดดีและจุดด้อยของตัวเอง”

     แนวคิดมนุษยนิยมที่เป็นกลิ่นอายของนิยายประเภทนี้ ทำให้กำลังภายในแยกตัวออกมาจากวรรณกรรมประเภทอื่นๆ ในเวลานั้นอย่างชัดเจน สิ่งที่น่าสนใจคือถึงแม้ว่ารากของกำลังภายในจะมีที่มาจากจีน แต่พื้นที่ที่ฟูมฟักให้นิยายประเภทนี้แพร่หลายคือฮ่องกง พื้นที่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตกอย่างมาก

     “นักเขียนยุคบุกเบิกนิยายประเภทนี้อาศัยอยู่ในฮ่องกง กลุ่มปัญญาชนในฮ่องกงได้รับแนวคิดเรื่องมนุษยนิยมและสัจนิยมจากตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยปัจจัยที่ว่าฮ่องกงเป็นดินแดนที่ปลอดจากการโดนปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้มีเสรีภาพทางความคิดที่จะนำเสนอสิ่งเหล่านั้น พวกเขาจึงผสานสิ่งเหล่านี้เข้ากับรากของวัฒนธรรมจีนโบราณจนเกิดนิยายประเภทใหม่ที่เรียกว่า ‘กำลังภายใน’ 

     “นอกจากนี้ เนื่องจากนักเขียนอ่านงานตะวันตกกันมาก ก็จะมีลักษณะของการใช้บทสนทนาในรูปแบบ direct speech ใส่เครื่องหมายคำพูด (“…”) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากงานละครพูดของตะวันตก อย่างงานของคุณกิมย้งจะมี direct speech อยู่เต็มไปหมดเลย ขณะที่นิยายจีนโบราณจริงๆ มีบทสนทนาที่น้อยกว่าและเป็นแบบ indirect speech ก็คือไม่ใส่เครื่องหมายคำพูด (“…”)”

‘มังกรหยก’
วรรณกรรมเอกแห่งโลกกำลังภายใน

     หากท่านเคยอ่านนิยายกำลังภายใน ข้าฯ เชื่อว่าท่านต้องเคยผ่านตา มังกรหยก ของ กิมย้ง หนึ่งในผู้บุกเบิกนิยายประเภทนี้กันมาแล้ว เช่นนั้นข้าฯ ขอรินชาให้เจ้าหนึ่งจอกในฐานะเจอคนคอเดียวกัน แต่ถ้าหากท่านไม่เคยอ่าน ข้าฯ ขอปรับท่านสองจอกในฐานะสหายแรกพบ และยินดีอย่างยิ่งที่จะชักชวนให้เริ่มต้นกับนิยายประเภทนี้ด้วยไตรภาค มังกรหยก เพราะท่านจะสนุกสนานไปกับความซับซ้อนของตัวละครที่มีมิติและความเป็นมนุษย์อันน่าสนใจยิ่ง

     ข้าฯ ขอปูพื้นหลังก่อนว่า มังกรหยก คือนิยายไตรภาคที่ประกอบไปด้วย

     ภาค 1 ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ 

     ภาค 2 เอี้ยก่วยเจ้าอินทรี  

     ภาค 3 ดาบมังกรหยก

     โดยแต่ละภาคจะมีเนื้อหาที่อิงกับประวัติศาสตร์จีนและมองโกล ดำเนินเรื่องโดยตัวเอกที่ต้องผจญภัยและมีอุปสรรคให้เอาชนะแตกต่างกันไป 

     แน่นอนว่าความบันเทิงและฉากต่อสู้ที่สนุกสนานคือรสที่ผู้อ่านจะได้รับ แต่สำหรับนักท่องยุทธ์ภพอย่างอาจารย์นิพนธ์ มังกรหยก แฝงไว้ด้วยแนวคิดแบบมนุษยนิยมที่เข้มข้น ทั้งยังมีเฉดของการเมืองและความเป็นชาติผสมผสานอยู่ด้วย

     “สำหรับผมเอง อาจจะไม่ได้สนใจแนวคิดเชิงการเมืองใน มังกรหยก ภาคแรกเท่าไหร่ เพราะตัวละครมีความสมบูรณ์แบบมากจนขาดความเป็นมนุษย์ เช่น ตัวละครอย่างก๊วยเจ๋ง (พระเอก) ก็มีความเป็นเหตุเป็นผลสูงมากจนเกินมนุษย์ปกติ จนมาถึงภาคที่ 2 เราจะเริ่มเห็นพัฒนาการที่ค่อนข้างก้าวกระโดดของกิมย้ง คือตัวละครจะเริ่มมีมิติของความเป็นมนุษย์มากขึ้น 

     “ผมชอบภาค 2 และ 3 มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาค 2 เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างปรัชญาเต๋าและขงจื๊อได้อย่างลงตัว แถมยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างปรัชญาของสองแนวคิดนี้ด้วย เช่น เซียวเหล่งนึ่ง (นางเอก) เกิดและเติบโตในสภาพธรรมชาติอย่าง ‘สำนักสุสานโบราณ’ เมื่อเอี้ยก้วย (พระเอก) เจอกับเซียวเหล่งนึ่งและถูกฝึกวิชาแบบเต๋า คือเน้นพลังภายในและความเข้าใจในธรรมชาติ จนกระทั่งได้ออกมาเผชิญกับโลกภายนอก ที่เต็มไปด้วยการเมืองและความขัดแย้ง นั่นทำให้เขาเริ่มซึมซับวัฒนธรรมขงจื๊อเข้าไปด้วย ความสนุกคือการเลือกของเอี้ยก้วยว่าจะปฏิบัติต่ออาจารย์ที่ฝึกเขามาอย่างไร และสุดท้ายเขายอมสละความห่วงใยในโลกมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ขงจื๊อเชิดชูกลับไปสู่สำนักสุสานโบราณได้ยังไง สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนถึงมิติของจิตวิทยามนุษย์ที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ”

     นอกเหนือไปจากแนวคิดทางปรัชญาที่กิมย้งสอดแทรกไว้ในนิยายได้อย่างลงตัวแล้ว เขายังเป็นคนที่สามารถสร้าง ‘จักรวาล’ ของโลกกำลังภายในจนเป็นที่รับรู้ของคนได้ เช่น ที่มาที่ไปของแต่ละสำนัก ความสัมพันธ์ของผู้คน และวิทยายุทธต่างๆ ในนิยาย

     “ผมคิดว่าจักรวาลในนิยายของยุโรปมีบริบทค่อนข้างต่างกับของจีน เช่น Lord of the Rings ของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) มีลักษณะเป็นวัฒนธรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นมา เพราะในช่วงเวลานั้นเหล่าปกรณัมเก่าๆ ต่างค่อยๆ หมดความนิยมจากสังคมของตะวันตก สิ่งที่โทลคีนทำจึงเหมือนเป็นการประกอบสร้างสิ่งที่กำลังจะเลือนหายไป แล้วชุบชีวิตให้สิ่งเหล่านี้ฟื้นกลับคืนมาในฐานะวัฒนธรรมใหม่ ทำให้นวนิยายของเขามีความแฟนตาซีสูง

     “แตกต่างกับนวนิยายของจีนที่มีการผสมผสานเอาวัฒนธรรม ปรัชญาจีนโบราณต่างๆ ใส่เข้าไปมากมาย ทั้งยังมีส่วนผสมของแนวคิดมนุษยนิยม เพราะนักเขียนอ่านงานตะวันตกมากจนกระทั่งตกผลึก และกลืนเป็นรูปแบบงานของตัวเอง นิยายกำลังภายในจึงเป็นการหยิบแนวคิดมนุษยนิยมขึ้นมาสร้างเป็นนิยายประเภทใหม่ ซึ่งแม้ว่าจะมีการแสดงอิทธิฤทธิ์หรือทักษะเหนือมนุษย์ แต่พลังเหล่านั้นก็ยังจะต้องสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละครได้ด้วย”

เมื่อคัมภีร์ได้ถูกถ่ายทอดผ่านภาษาใหม่

     อันที่จริงแล้ว นิยายที่เรียกว่ากำลังภายในมีจุดเริ่มต้นในจีนราว 60 ปีก่อนเท่านั้นเอง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมันก็ค่อยๆ เดินทางเข้ามาในไทยผ่านการแปลหนังสือและซีรีส์โทรทัศน์ แต่ก่อนที่นิยายกำลังภายในจะสร้างฐานแฟนและได้รับความนิยมในวงกว้างอย่างทุกวันนี้ นักท่องยุทธภพผู้มาก่อนอย่างอาจารย์นิพนธ์เล่าว่า นิยายกำลังภายในเคยเป็นของหายากระดับที่ต้องไปหาซื้อจากเยาวราชเท่านั้น

     “สมัยก่อนหนังสือกำลังภายในหาอ่านได้ยากมาก เพราะยังไม่เป็นที่นิยม ต้องไปตามหาอ่านกันที่ร้านแถวเยาวราช โดยในยุคแรกๆ จะเป็นสำนวนแปลของคุณ ว. ณ เมืองลุง และคุณ น. นพรัตน์ ”

     ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลยถ้าจะกล่าวว่านักแปลสองท่านนี้ คือบุคคลผู้บุกเบิกภาษาแปลของนิยายกำลังภายในขึ้นมาในไทย และที่สำคัญ สำนวนของพวกเขาก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก จนเกิดเป็นคำใหม่ๆ เช่นคำว่า ‘วิชาตัวเบา’ หรือชื่อกระบวนท่าต่างๆ ในนิยายอย่าง ‘ดัชนีสัมพันธ์จิตใจ’ ‘เพลงกระบี่สุรางคนางค์’ หรือ ‘18 ฝ่ามือพิชิตมังกร’ ซึ่งกระบวนท่าเหล่านี้ไม่ได้แปลออกมาได้โดยง่าย เพราะในต้นฉบับภาษาจีนไม่ได้มีชื่อท่าที่แปลออกมาตรงตัวแล้วจะเข้าใจได้ทันที สิ่งนี้จึงนับว่าเป็นนวัตกรรมที่นักถ่ายทอดภาษาแห่งยุทธจักรทั้งสองได้สร้างเอาไว้ 

     “นักแปลทั้งสองท่านสร้างภาษาใหม่ขึ้นมา และบางอย่างก็กลายมาเป็นสำนวนที่เราใช้กันติดปากด้วย เช่น สำนวน ‘เหมาะสมกันอย่างกับกิ่งทองใบหยก’ ก็มาจากคำกล่าวของจีน ซึ่งในความจริงแล้ว คนไทยเราไม่มีหรอกกิ่งทองกับใบหยก แต่เราอ่านและรับมันเข้ามาพร้อมๆ กับวิธีคิด ทำให้แม้ไม่ได้เป็นสำนวนที่เกิดจากคนไทย แต่เราก็หยิบมาใช้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน”

     แม้นักแปลทั้งสองท่านจะสร้างคุณูปการไว้ให้กับภาษาแปลมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีจุดอ่อนในแง่การแปลบางอย่างอยู่ ซึ่งอาจารย์นิพนธ์ก็มองไว้อย่างเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติของงานแปลยุคบุกเบิกของนิยายประเภทนี้

     “สไตล์การแปลของนักแปลทั้งสองท่านสุดโต่งไปกันคนละทาง วิธีของคุณ น. นพรัตน์ น่าจะเรียกว่าเป็นการถ่ายภาษามากกว่า เพราะเขาแปลศัพท์จากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งแบบคำต่อคำ โดยเขาเชื่อว่าการถ่ายภาษาจะเป็นการรักษาความหมายของต้นฉบับ แต่ผมมองว่า มันคือการทรยศความหมายของต้นฉบับ เพราะบทแปลภาษาไทยขาดความเป็นธรรมชาติ และทำให้เกิดความคลุมเครือในเกือบทุกบรรทัด”

     “ขณะที่คุณ ว. ณ เมืองลุง ใช้การแปลแบบ Free Translation คือมีการปรับเปลี่ยนหรือแปลงคำด้วย แต่พอมีการปรับก็ทำให้รสหรือสารที่มาจากต้นฉบับหายไป 

     “แต่เรื่องของการแปลยังไงมันก็ต้องถูกมองด้วยวัฒนธรรมของผู้แปลไม่มากก็น้อย จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีส่วนที่เกินเข้ามาและส่วนที่หายไป ซึ่งผมมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องดี เพราะเมื่อกลิ่นอายความคิดหรือคำของอีกภาษาหนึ่งถูกเติมเข้าไป มันคือการตีความและทำให้ความหมายที่ไม่สมบูรณ์ของต้นฉบับสมบูรณ์ขึ้น 

     “ฌากส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) ซึ่งเป็นนักคิดชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า ‘ต้นฉบับไม่อาจสมบูรณ์ได้โดยไม่แปล’ เพราะบางครั้งต้นฉบับอาจจะมีความหมายที่ไม่ได้ครอบคลุมไปทุกมิติ บทแปลจะเป็นการคืนความหมายที่เว้าแหว่งของต้นฉบับให้สมบูรณ์”

     ทุกวันนี้ ถ้าไปมองตามแผงหนังสือ ท่านยอดฝีมือและข้าน้อยมักจะเห็นหนังสือนิยายกำลังภายในที่เป็นสำนวนแปลของ ว. ณ เมืองลุง และ น.นพรัตน์ อยู่บนชั้นเป็นส่วนมาก ไม่ต่างจากหลายสิบปีก่อน ซึ่งในสายตาของนักท่องยุทธภพอย่างอาจารย์นิพนธ์มองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากการจะพัฒนาให้นวนิยายเรื่องหนึ่งมีสำนวนแปลที่ดีและลงตัว ควรจะต้องเกิดข้อถกเถียงและมีการแปลซ้ำหลายต่อหลายครั้ง จนได้ฉบับที่เรียกว่าใกล้เคียงคำว่าสมบูรณ์ที่สุด

     “บทแปลที่ดีย่อมต้องผ่านการแปลมานับครั้งไม่ถ้วน อย่างบทประพันธ์ของเชกสเปียร์ (วิลเลียม เชกสเปียร์ นักประพันธ์ชาวอังกฤษ) ซึ่งถูกแปลมาหลายครั้งมากๆ แม้แต่ตัวพระคัมภีร์เองก็มีการแปลในหลายเวอร์ชั่นกว่าจะตกผลึก งานแปลภาษาจึงเป็นงานที่ต้องผ่านการแปลผิดแปลถูกหลายสิบปี จนถึงปัจจุบันก็อาจยังมีการถกเถียงอยู่เลยว่าแบบนี้แปลถูกหรือผิด สื่อความหมายได้เข้าใจตรงกันหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ผมว่านวนิยายแปลที่ดีต้องผ่านการแปลหลายๆ ครั้ง และไม่ผูกขาดกับการแปลของคนใดคนหนึ่ง เพราะการแปลซ้ำจะทำให้เกิดแง่มุมใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งการเลือกใช้คำที่หนักเบาต่างกันก็จะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกที่ต่างกัน

     “ดังนั้น ผมคิดว่านักแปลรุ่นใหม่ๆ ก็น่าจะมีการวิเคราะห์ ตั้งคำถาม และแปลได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่นั่นหมายความว่าก็ต้องเก็บประสบการณ์จากการแปลของคนเก่าๆ ด้วย”

     โอ้ บัดนี้แสงตะวันเริ่มจางจวนเจียนค่ำเสียแล้ว ถึงเวลาที่ข้าน้อยและนักท่องยุทธภพต้องขอกล่าวคำอำลาท่านด้วยความจำใจ หวังว่าชาหลายจอก หมั่นโถว และเรื่องเล่าจากเราจะทำให้ท่านอิ่มเอม และรู้จักกับยุทธภพแห่งนี้มากขึ้น

     ข้าฯ ขอแนะนำให้ท่านรีบแยกย้ายจากโรงเตี๊ยมแห่งนี้ เพราะเมื่อค่ำคืนย่างกรายเข้ามา เหล่าจอมยุทธ์จากทั่วสารทิศจะแวะเวียนมาจิบน้ำอมฤตจากไหหลังร้านของเรา จากนั้นบรรยากาศมักจะครึกครื้นจนอาจเลยเถิดไปถึงคำว่าวุ่นวาย โรงเตี๊ยมของเราจึงขอปิดวงน้ำชาไว้แต่เพียงเท่านี้ หากใครใคร่จิบต่อเราขอเชิญที่ชั้นบน แต่ขอเตือนท่านเสียก่อนว่า

     โรงเตี๊ยมของเราไม่รับประกันความปลอดภัย