Fri 01 Mar 2024

GENERATION GAG

เรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่นของ ‘บ.ก.วิธิต’ และ ‘นิว พิมพ์พิชา’ ผู้ก่อตั้งและทายาท ‘ขายหัวเราะ’ 

     พ.ศ. 2566 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของ ขายหัวเราะ

     เหตุเพราะปีดังกล่าวเป็นการประกาศให้รู้ว่าหนังสือความฮาสามัญประจำบ้านเล่มนี้ ยืนหยัดอยู่คู่นักอ่านชาวไทยมาแล้ว 50 ปี 

     โลดแล่นในวงการสิ่งพิมพ์ตั้งแต่นิตยสารขำขันยังมีไม่กี่หัว สื่อให้ความบันเทิงยังมีไม่กี่อย่าง จนปัจจุบัน การเสพเรื่องราวผ่านหน้ากระดาษแปรเปลี่ยนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ การเสพสื่อมีให้เลือกได้หลายช่องทาง ขายหัวเราะ ก็ยังปรากฏตัวอยู่ในการรับรู้ของคนไทย 

     แม้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอนิดหน่อย และทีมงานจะเริ่มผลัดใบ แต่ วิธิต อุตสาหจิต ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการ ขายหัวเราะ ก็ยืนยันว่าดีเอ็นเอความขำยังอยู่เหมือนเดิม เพราะ พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ผู้มารับช่วงต่อก็ไม่ใช่ใครไหนไกล แต่เป็นลูกสาวที่เขาเลี้ยงให้เติบโตมาในสำนักพิมพ์ และเป็นคนที่เขาสอนให้อ่านเขียนจาก ขายหัวเราะ หนังสือที่เขาบ่มเพาะและฟูมฟักด้วยความรักมาเกือบชั่วชีวิต

FIRST GENERATION
พิมพ์เล่มที่ 1

     วิธิต อุตสาหจิต คือเด็กชายผู้เติบโตมาในบ้านที่เต็มไปด้วยหนังสือ เพราะเขาเป็นลูกชายของ บันลือ อุตสาหจิต ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น

     หากพูดถึงชื่อของบรรลือสาส์นในทุกวันนี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์ดังกล่าวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานอะไรบ้าง แต่หากไปถามผู้คนในช่วงต้น 2500 เชื่อเถอะว่าหลายคนย่อมต้องรู้จักและติดตามหนังสือของสำนักพิมพ์นี้

     นวนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน นวนิยายของนักเขียนชื่อดังอย่าง ทมยันตี ต่างเคยตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นทั้งนั้น แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ตำนานเท่ากับการตีพิมพ์นิตยสารการ์ตูนที่อยู่คู่เมืองไทยมาหลายทศวรรษอย่าง หนูจ๋า, เบบี้ ส่งผลให้บ้านเรามีอาชีพนักเขียนการ์ตูนจริงๆ จังๆ ทำให้นักวาดอย่าง จุ๋มจิ๋ม กับ อาวัฒน์ เป็นไอดอลให้นักวาดรุ่นหลังเจริญรอยตาม และพากันเริ่มหัดเขียนการ์ตูนเพื่อหวังว่าจะได้ตีพิมพ์ในนิตยสารใต้ชายคาบรรลือสาส์นบ้าง

     เหตุนี้ผลงานมากมายจึงถูกร่อนมาถึงสำนักพิมพ์ จนทำให้เด็กชายวิธิตเอ่ยปากถามกับพ่อในวันหนึ่งว่า มีอะไรให้ช่วยไหม

     “ผมเห็นว่าคุณพ่อต้องทำงานหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เพียงสำนักพิมพ์ แต่ต้องดูโรงพิมพ์ การตลาด และการขาย ประกอบกับผมเป็นเด็กชอบอ่านการ์ตูน นิยายภาพอยู่แล้ว คุณพ่อเลยมอบหมายให้ไปจัดต้นฉบับ” บ.ก.วิธิตเริ่มเล่าความหลัง 

     “นโยบายของบรรลือสาส์นคือจะไม่อั้นงาน เพื่อให้นักเขียนมีกำลังใจ เขาเขียนได้มากเท่าไหร่ เรารับหมด”

     ถ้านักอ่านยุคนี้จำกัดความคำว่า กองดอง หมายถึงหนังสือที่ซื้อไว้แต่ยังไม่ได้อ่าน เราก็อยากจะขอยืมคำนี้มาใช้กับต้นฉบับที่บรรลือสาส์นได้รับในเวลานั้นบ้าง เพราะวิธิตบอกว่าต้นฉบับที่บรรลือสาส์นได้รับนั้นมีตั้งไว้เป็นกองๆ และเป็นเขานี่แหละที่ต้องไปนั่งจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่ คอยดูว่าอันไหนคือแก๊กช่องเดียว อันไหนคือการ์ตูนเต็มหน้า อันไหนคือเรื่องสั้น และพอจัดหมวดหมู่ไปนานเข้า เขาก็เริ่มรู้สึกอยากทลายกองดองต้นฉบับ

     “สมัยก่อนมีนิตยสารทั้งของฝรั่งและของไทยที่จะชอบเอาการ์ตูนช่องเดียวไปใส่เวลาจบเรื่องหรือจบคอลัมน์ ผมเลยเกิดความคิดว่าน่าจะเอาคอนเซปต์นี้มาใช้ แต่แทนที่จะให้มันไปปิดท้ายบทความ ก็ทำให้การ์ตูนพวกนี้เป็นตัวชูโรง”

     วิธิตนำไอเดียนี้ไปเสนอคุณพ่อ พร้อมอธิบายว่าบรรดาต้นฉบับที่มีอยู่สามารถนำมาทำเป็นนิตยสารอีกเล่มได้เลย และเขารู้แล้วว่าวัตถุดิบแบบไหนเหมาะสมกับหนังสือที่เขาอยากจะทำ

     ขายหัวเราะ ฉบับแรกวางแผงปลายปี 2516 เป็นนิตยสารขายขำที่รวบรวมมุกตลกจากนักวาดหลายคนเข้าไว้ด้วยกัน 

     ช่วงแรก ขายหัวเราะ ตีพิมพ์เป็นรายเดือน ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นนิตยสารน้องใหม่ที่ต้องให้เวลาผู้คนทำความรู้จัก แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง บ.ก.วิธิต ยังเป็นเพียงนักเรียนที่ต้องคร่ำเคร่งกับการศึกษาในระดับชั้นมัธยมปลาย

     “สมัยก่อนพอเรียนเสร็จผมกลับบ้านเลย เพื่อนๆ ก็สงสัยว่าผมหายไปไหน ไปทำอะไร จนผมเอาหนังสือไปให้เพื่อนอ่าน ทั้ง ขายหัวเราะ หรือเล่มอื่นๆ ของสำนักพิมพ์ เพื่อนถึงเข้าใจว่าเราทำอะไร”

     ไม่ใช่แค่เพื่อนเท่านั้นที่เข้าใจว่า บ.ก.วิธิตทำอะไร ผู้คนจำนวนมากก็เข้าใจในสิ่งที่ บ.ก.วิธิตทำเหมือนกัน จากเดิมที่ต้องไหว้วานแผงหนังสือและสายส่งให้ช่วยรับไปวาง ในเวลาไม่นาน ขายหัวเราะ ก็กลายเป็นที่ต้องการของตลาด ได้รับความนิยมไปทั่วทุกหย่อมหญ้า จน บ.ก.วิธิตคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแบ่งกลุ่มคนอ่านให้เหมาะสม

     เดิมที ขายหัวเราะ มากับแก๊กตลกในแนวทางทะเล้น แต่หลังจากรู้ว่าเด็กจำนวนมากก็ชอบอ่าน บ.ก.วิธิตจึงผุดนิตยสารออกมาอีกหนึ่งหัวในปี 2518 ใช้ชื่อว่า มหาสนุก นิตยสารการ์ตูนที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี

     อย่างไรก็ตาม ต่อให้นิตยสารจะได้รับความนิยม เวลานั้น บ.ก.วิธิตก็ยังไม่คิดว่าสิ่งพิมพ์จะเป็นอาชีพที่เขายึดถือไปอีกนาน เขาตัดสินใจไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่ London Film School แต่ก็ใช่ว่าจะยุติการตีพิมพ์หนังสือ กลับกัน ด้วยความที่ยุคนั้น ขายหัวเราะ ไม่ใช่นิตยสารที่ต้องเล่นมุกตลกให้เข้ากับเหตุการณ์ร่วมสมัย แม้จะไปเรียนต่อถึงสองปี แต่ ขายหัวเราะ ก็ยังตีพิมพ์ต่อได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะ บ.ก.วิธิตได้คัดเลือกแก๊กเผื่อเอาไว้จนเพียงพอให้ตีพิมพ์ได้เกือบ 20 ฉบับ! 

     ถึงอย่างนั้น ใช่ว่าพอเรียนจบ หนังสือจะเป็นสิ่งที่ บ.ก.วิธิตอยากทำ หลังกลับมาจากอังกฤษ บ.ก.วิธิตใช้เวลา 6-7 เดือนไปกับการทำ ผีหัวขาด ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องเดียวของบ.ก. วิธิต ก่อนจะพบว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่เหมาะกับตัวตนของเขา บ.ก.วิธิตจึงมารับบทบาทเป็นบรรณาธิการแบบจริงๆ จังๆ

     ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ขายหัวเราะ ก็พุ่งทะยานขึ้นสู่จุดพีค โดยเฉพาะยุค 2530-2550 ที่ปั้นนักเขียนการ์ตูนได้หลายคน ผุดนิตยสารการ์ตูนในเครือออกมาได้อีกหลายหัว จนทำให้ในหนึ่งสัปดาห์ บ.ก.วิธิตและคณะมีเวลาทำนิตยสารหนึ่งเล่มแค่หนึ่งวันครึ่ง

     พวกเขาต้องปิดต้นฉบับทั้ง ขายหัวเราะ มหาสนุก หนูหิ่นอินเตอร์ สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ และ ไอ้ตัวเล็ก ซึ่งฟังดูเป็นงานที่หนักและเหนื่อย แต่ บ.ก.วิธิตบอกว่า การได้อ่านต้นฉบับของนักเขียนเป็นคนแรก การได้อ่านเรื่องเล่าจากทางบ้าน และการได้อ่านจดหมายที่ถูกส่งมาเป็นตั้งๆ เป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่เขารักและสนุกที่สุดในชีวิต

NEW’S GENERATION
บ.ก.รุ่นที่สอง

     5-10 ปี คือระยะเวลาที่ บ.ก.วิธิตมองว่าเหมาะสมสำหรับการทำงานของบรรณาธิการคนหนึ่ง

     แต่หากมองไปที่ตำแหน่งบรรณาธิการของ ขายหัวเราะ เราก็จะพบว่ามันแทบไม่เคยถูกผลัดเปลี่ยน เป็น บ.ก.วิธิตนี่แหละที่กุมบังเหียน นำนิตยสารการ์ตูนเล่มนี้สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้อ่านได้จนถึงปัจจุบัน 

     สนุกจนไม่อยากวางมือ คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ บ.ก.วิธิตปิดเล่มมาได้เป็นเวลายาวนาน

     แต่ มีคนที่อยากให้รับช่วงต่ออยู่แล้ว ก็อาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ บ.ก.วิธิตต้องปิดเล่มต่อไปก่อน จนกว่าคนคนนั้นจะพร้อมเข้ามาทำแทน

     พิมพ์พิชา อุตสาหจิต คือเด็กหญิงผู้เติบโตมาในบ้านที่เต็มไปด้วยหนังสือ เพราะเธอเป็นลูกสาวของ วิธิต อุตสาหจิต ผู้ก่อตั้ง ขายหัวเราะ

     ในช่วงที่เพื่อนคนอื่นมีของเล่นไว้คลายเหงา พิมพ์พิชามีต้นฉบับ หนังสือ และห้องสมุดเป็นสิ่งบันเทิงใจ 

     ด้วยความที่คุณพ่อและคุณแม่ (โชติกา อุตสาหจิต) ต้องดูแลนิตยสารในมือหลายฉบับ ทำให้พูดได้ว่าพิมพ์พิชาหรือนิวเติบโตมากับหนังสือจริงๆ 

     แต่ละวันนิวจะไปอยู่ในห้องสมุดของออฟฟิศ หมกตัวอยู่กับ ขายหัวเราะ หรือ สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ พอเริ่มอ่าน เดิน เขียนได้ ก็ถูกมอบหมายให้ช่วยซีรอกซ์งาน ไปจนถึงช่วยเขียนและเกลาคำ ส่งผลให้นิวมีทักษะการใช้ภาษาติดตัวมาตั้งเด็กๆ และทำให้เธอมีตัวเลือกในการเรียนมหาวิทยาลัยแค่ไม่กี่คณะ ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่อยู่ลำดับต้นๆ ก็คือนิเทศศาสตร์ คณะที่นิวมองว่าตัวเองถนัด และน่าจะนำมาปรับใช้กับธุรกิจของที่บ้านได้

     “นิวรู้อยู่แล้วหรือเปล่าว่าต้องมารับช่วงต่อที่บ้าน” เราสงสัย

     “เหมือนรู้กันโดยสัญชาตญาณ” นิวตอบ ก่อนอธิบายว่าในบรรดาน้องสาวและน้องชายอีกสี่คน เธอผู้เป็นพี่สาวคนโตแทบเป็นคนเดียวที่สนใจหนังสืออย่างจริงจัง ส่วนน้องคนอื่นๆ แม้จะเติบโตมากับหนังสือเหมือนกัน แต่ก็มีความสนใจและความถนัดที่แตกต่างกันไป

     บ.ก.วิธิตเฝ้าดูสิ่งนี้มาตลอด และแม้จะไม่มีการพูดออกไปแบบเป็นกิจจะลักษณะ แต่ลึกๆ เขาก็วางนิวเอาไว้ในใจเงียบๆ ส่วนนิวก็เหมือนรู้ตัว ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการจัดการธุรกิจที่ประเทศอังกฤษ เพื่อจะกลับมาทำธุรกิจสื่อต่อได้ และหลังจากเรียนจบ บินกลับมาไทย นิวก็ถูกผลักดันให้รับตำแหน่ง Business Development Director ทันที

     “แรกๆ เหนื่อยมาก รู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นอย่างที่คิด” นิวกล่าว ก่อนเล่าว่าตั้งแต่เด็กจนโต เธอเป็นคนตั้งเป้าไว้สูงๆ เสมอ ซึ่งในแง่ของการเรียน เธอสามารถควบคุมทุกอย่างเพื่อทำตามเป้าได้ แต่ในโลกของการทำงาน นิวกลับพบว่าไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย

     “สกิลที่ใช้ตอนเรียนกับตอนทำงานมันคนละแบบกัน ตอนเรียนมันคือเรื่องของตัวเราเองเป็นหลัก เราสามารถจัดการสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ แต่ตอนทำงานมันมีเรื่องบริหารและจัดการคน มีเรื่องการ disruption ของสื่อ เรื่องของรสนิยม เรื่องความเฉียบไวในการทำความเข้าใจคนอ่าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีสูตรสำเร็จให้ทำตาม ต้องใช้ประสบการณ์ ไหวพริบ หรือการเข้าใจคนอื่นเยอะมากๆ ช่วงแรกนิวเลยค่อนข้างเฟลกับตัวเอง รู้สึกว่าเราห่วย ไม่ควรมาทำสิ่งนี้ นอกจากการเป็นลูกคุณพ่อคุณแม่แล้ว นิวก็ไม่มีอะไรเหมาะสมกับการมาทำงานตรงนี้เลย”

     อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มต้นกับการตั้งคำถามในความสามารถของตัวเอง แต่นิวก็มองโลกด้วยความเป็นจริง แล้วยอมรับว่าตัวเองห่วย ยอมรับว่ามีหลายสิ่งที่ยังทำไม่ได้ แล้วขอความช่วยเหลือจากผู้คนในองค์กรเดียวกัน อย่างเช่นตอนนั้นนิวก็มี ณัฐชนน มหาอิทธิดล (ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์แซลมอน) เป็นโค้ชคอยให้คำปรึกษา จนนิวค่อยๆ เรียนรู้ว่าอยากทำให้ ขายหัวเราะ ในช่วงเวลาของตัวเองเป็นอย่างไร

HOW TO DEAL WITH FAMILY
ทำงานแบบครอบครัว

     เคยมีคนกล่าวไว้ว่า อย่าให้ครอบครัวสอนขับรถ เพราะต่อให้ไม่ได้เป็นปัญหากันทุกบ้าน แต่ก็มีเหมือนกันที่การสอนไม่เดินหน้าไปไหน เพราะคนสอนกับคนเรียนพากันตบตีอยู่ข้างใน จะเพราะสอนแล้วไม่ฟัง หรือฟังแล้วทำไม่ถูกใจก็ว่าได้ แต่หลายครั้งก็มักจบลงด้วยการแยกย้าย ไปให้คนนอกครอบครัวสอน หรือหัดเรียนด้วยตัวเองก็อาจดีเสียกว่า

     สำหรับการทำธุรกิจ เราเองก็เคยได้ยินคำกล่าวทำนองว่าทายาทไม่สามารถขยับตัวทำอะไรได้ จะทำสิ่งไหนก็มักโดนพ่อแม่ปัดตก หรือตั้งคำถามในสิ่งที่เราต้องการจะทำ

     เราลองนำความสงสัยนี้มาถาม บ.ก.วิธิตและนิว ว่าการทำงานกับครอบครัวแบบ ขายหัวเราะ นั้นเป็นแบบไหน

วางแผนให้ลูกรับช่วงต่อกิจการหรือเปล่า

     บ.ก.วิธิต: ผมไม่บังคับ แค่รู้สึกว่าถึงเวลาแล้ว เพราะถึงจุดหนึ่ง มันมีปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีและการ disruption เข้ามา ฝั่ง ขายหัวเราะ ก็ต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและรสนิยมของคนในยุคปัจจุบัน

     นิว: คุณพ่อไม่เคยพูดแบบเจาะจงว่าต้องมาช่วย แต่เรารู้ได้จากการกระทำหลายๆ อย่าง ยกตัวอย่างเช่น เขาไม่เคยบอกให้เราไปสมัครงานที่ไหน คือคุณพ่อกับคุณแม่ไม่ได้พูดตรงๆ แต่นิวก็พอจะเดาได้ว่าถูกวางตัว แถมพอเรียนจบ บินกลับจากอังกฤษ คุณแม่ก็ถามเลยว่าจะพักกี่วัน ตอนนั้นเราตอบไปว่าหนึ่งสัปดาห์ คุณแม่ก็บอกว่าพักอะไรหนึ่งสัปดาห์ วันเดียวก็พอ (หัวเราะ)

บ.ก.วิธิตสอนอะไรลูกบ้าง

     บ.ก.วิธิต: สอนเรื่องการทำหนังสือ แต่ก็จะสอนแค่หลักๆ เท่านั้น เพราะไม่อยากไปมีอิทธิพลทางความคิดกับเขา ให้อิสระเขาเต็มที่ วางกรอบไว้คร่าวๆ เขาจะทำอะไรก็จัดการเลย ผมค่อนข้างเชื่อมั่น

     นิว: แต่จริงๆ ช่วงแรกเคว้งนะคะ คือถ้าไปทำงานข้างนอกก็จะมีคนสอนงาน มีหัวหน้าเป็นแบบอย่างให้เห็นว่าเติบโตไปต้องรับผิดชอบงานในเลเวลไหน แต่อันนี้คือเข้ามาในตำแหน่งที่ไม่เคยมีในบริษัทมาก่อน แล้วมันไม่มีใครสอนงานเรา คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ใช่สไตล์ที่จะมาสอนทีละขั้นตอน คือเขาปล่อยเราจริงๆ เหมือนมีบ่อน้ำแล้วเขาก็โยนเราลงไป ลองไปตะเกียกตะกายดูเอง

คุณพ่อต้องแอพพรูฟงานมั้ย

     บ.ก.วิธิต: แค่ช่วงแรก แต่ก็ไม่นานนะครับ เพราะหลักๆ ผมดูแค่ว่าเรียงหน้าโอเคมั้ย ให้ลำดับความสำคัญกับหน้าที่ควรเด่นได้ถูกต้องหรือเปล่า

     นิว: บางทีนิวจะไปโฟกัสการ์ตูนเป็นแผ่นๆ หรือชิ้นๆ แต่คุณพ่อจะมองเป็นภาพรวมว่าเปิดไปหน้านี้แล้วจะเจออะไร ต้องบาลานซ์นักเขียนแต่ละคนแบบไหน เช่น คนนี้ลายเส้นจริงจังมาก ต้องเอาไปอยู่หน้านั้น คนนี้ลายเส้นซอฟต์ๆ ต้องไปอยู่ตรงโน้น หรือการวางเลย์เอาต์ คุณพ่อก็จะจริงจังมาก ไม่รู้มีใครสังเกตบ้างหรือเปล่า แต่คุณพ่อจะไม่วางการ์ตูนสามช่องชนกันในสองหน้าเลย เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นพรืดไปหมด ไม่สวยในภาพรวม คุณพ่อเลยจะวางการ์ตูนสองช่องชนกับการ์ตูนสามช่อง หรือไม่ก็การ์ตูนช่องเดียวชนกับการ์ตูนสามช่องเพื่อให้มันมีบาลานซ์กับจังหวะพักสายตา 

ช่วงแรกนิวช่วยงานได้มากแค่ไหน

     บ.ก.วิธิต: ช่วยได้เยอะมาก

     นิว: ช่วงแรกๆ ไม่ได้ช่วยอะไรมากหรอก ถึงขั้นไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามาทำงานทำไม เพราะทุกอย่างก็เดินต่อไปได้อยู่แล้ว คือเรารู้แหละว่าต้องพาบริษัทให้พ้นจากการ disruption แต่มันไม่มีคู่มือหรือเคสตัวอย่างให้ศึกษาว่าทำยังไงถึงจะรอด ก็ได้แต่ทดลองทำนั่นทำนี่ สะเปะสะปะมาก เพิ่งมาช่วง 1-2 ปีหลังนี้เอง ถึงค่อยรู้ว่าตัวเองมีคุณค่ากับองค์กรตรงไหนบ้าง

เคยคิดว่าจะหยุดทำ ขายหัวเราะ มั้ย

     บ.ก.วิธิต: ผมไม่เคยคิดเลย 

     นิว: ยังไม่เคยคิดเหมือนกัน คือพอเริ่มเข้าที่ นิวจะรู้สึกว่ายังต่อยอด ขายหัวเราะ ออกไปได้อีก เพียงแต่ไม่ใช่ในรูปแบบเดิม มันต้องไปในช่องทางใหม่ๆ หรือมีอะไรที่ขยายและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

LEGA(G)CY
อุตสา-ฮา-จิต

     ยุคหนึ่ง ขายหัวเราะ คือนิตยสารที่มีแทบทุกที่ 

     ด้วยราคาที่ไม่แพงและขนาดกะทัดรัด ทำให้แผงหนังสือตามป้ายรถเมล์หรือตรอกซอกซอย จะต้องมีหนังสือขำขันเล่มนี้วางขาย เป็นความฮาสามัญที่ต้องพกติดตัวไว้ หรือถ้าไม่มี จะไปหยิบอ่านระหว่างรอตัดผมที่ร้านก็พอไหว

     แต่แล้วโลกใบใหม่ก็หมุนเข้ามาแทนที่ การรับสื่อในรูปแบบเดิมค่อยๆ แปรเปลี่ยน หน้ากระดาษกลายเป็นจอคอมพิวเตอร์และจอโทรศัพท์มือถือ จากเดิมที่มีแผงหนังสือทั่วทุกหัวมุมเมือง ก็ค่อยๆ เหลือเพียงไม่กี่ร้าน เหล่าคนทำสื่อต้องปรับตัว ไม่เว้นแม้แต่ ขายหัวเราะ

     “เราเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงก็ตอนที่โลกมีไอโฟน” บ.ก.วิธิตกล่าว “ผมจับตาดูไอโฟนมาเรื่อยๆ จนไอโฟน 3G ก็รู้ตัวแล้วว่าจะทำ ขายหัวเราะ ในรูปแบบเดิมไม่ได้ เราพออ่านออกว่าทุกอย่างจะเข้าไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือ เลยคิดว่าถ้าเราทำให้ ขายหัวเราะ ไปอยู่ในรูปแบบอื่นๆ ได้ก็น่าจะเวิร์ก เพราะฉะนั้นเราก็เคลื่อนไหวก่อนเลย”

     การเคลื่อนไหวของ บ.ก.วิธิตไม่ได้เป็นไปอย่างปุบปับ หากเป็นการขยับแบบค่อยเป็นค่อยไป ก่อตั้งวิธิตา แอนิเมชั่น เพื่อรองรับเรื่องการต่อยอดคาแรกเตอร์ ทำอีแม็กกาซีน เพื่อรองรับการอ่านในแพลตฟอร์มต่างๆ ทำสติกเกอร์ไลน์ เพื่อให้ตัวละคร ขายหัวเราะ ไปอยู่กับชีวิตประจำวันของผู้คน หรือหากมีอะไรที่อยู่ในกระแส ก็พร้อมจะลองทำอยู่เสมอ เพราะทั้ง บ.ก.วิธิตและนิวเห็นตรงกันว่า การลองผิดลองถูกในสิ่งใหม่ๆ คือสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ ส่วนสิ่งเก่าๆ ที่เคยทำได้ดีและสร้างชื่อให้ หากโลกมันเปลี่ยนไป ก็ไม่จำเป็นต้องเสียดาย

     ยกตัวอย่างง่ายๆ ขายหัวเราะ เป็นที่รู้จักจากหนังสือ แต่พอรูปแบบการอ่านเปลี่ยนไป พวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะปรับแนวคิดในการตีพิมพ์

     “ตอนนี้ ขายหัวเราะ ที่เป็นเล่มก็ยังมีอยู่ แต่เราให้ความสำคัญหรือพึ่งพาน้อยลงทั้งในด้านของรายได้และการพึ่งพาร้านหนังสือเป็นช่องทางหลักในการขาย และเน้นรูปแบบดิจิตัลคอนเท้นท์ รวมถึงการขายทางออนไลน์มากขึ้น โดยเราค่อยๆ ปรับมาเป็นแบบนี้ เพราะสังเกตมาสักระยะ เราเห็นว่าตัวเลข เทรนด์ หรือสภาพแวดล้อมของร้านหนังสือนั้นเปลี่ยนไป ต่อให้ไม่อยากปรับ เราก็ต้องปรับอยู่ดี ประกอบกับคุณพ่อคุณแม่ไม่ใช่สายนิ่งดูดาย เขาจะเป็นพวกดูอยู่แล้วว่ามีโอกาสทำอะไร มีเทรนด์อะไรใหม่ๆ เราเลยค่อยๆ ทำกันมาอยู่แล้ว” นิวกล่าว

     “ไม่กลัวว่าผู้อ่านเดิมๆ จะไม่เข้าใจเหรอ” เราถาม เพราะการปรับเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นไล่เลี่ยในช่วงเวลาที่นิวเริ่มเข้ามาทำงาน

     “ยอมรับว่าช่วงนั้นก็เครียด เพราะภาพจำของ ขายหัวเราะ คือหนังสือ มันเป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์เราไปแล้ว และเอาจริงๆ คุณพ่อคุณแม่ต่างหากที่เชียร์ให้เราเขยิบไปทำอย่างอื่น เขาคิดเรื่องนี้มานานแล้ว เขาบอกนิวว่า ขายหัวเราะ คือแบรนด์ ไม่ใช่สื่อสิ่งพิมพ์ เพราะฉะนั้นแบรนด์ควรต่อยอดไปได้ทุกที่ ไม่มีพรมแดน อยู่ได้ทุกฟอร์แมต ทุกแพลตฟอร์ม”

     แม้จะยังสับสนว่าต้องก้าวไปทางไหน แต่ด้วยความเชื่อมั่นจากทางบ้าน และความกล้าคิดกล้าทำแบบอุตสาหจิต ทำให้ ขายหัวเราะ พบวิธีไปต่อและเส้นทางอยู่ในอุตสาฮากรรมได้

     ไม่ใช่แค่การปรับตัวไปทำคอนเทนต์ออนไลน์ แต่ยังหมายถึงการผันตัวไปจับมือกับองค์กรนำเสนอประเด็นจริงจังผ่านการ์ตูน อย่างการร่วมมือกับ WHO เพื่อสื่อสารเรื่องโควิด-19 การร่วมงานกับแบรนด์หลากหลายประเภท ทำให้เราเห็น ขายหัวเราะ ไปปรากฏตัวอยู่ในขนม เสื้อผ้า อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การร่วมงานกับนักเขียนที่นิวปรับเปลี่ยนให้เป็นการทำงานรูปแบบสตูดิโอ เพราะทุกวันนี้ต้องอาศัยความรวดเร็ว ยืดหยุ่น และรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ภาพนิ่งแต่รวมถึงภาพเคลื่อนไหวและสื่ออื่นๆ การจะอาศัยคนคนเดียวในการจบงานอาจเป็นเรื่องยาก ขายหัวเราะ เลยไม่ได้ยึดติดว่าต้องมีนักเขียนคนนี้วาดเท่านั้น หากปรับให้เป็นทีมมากขึ้น แต่ถ้าใครมีลายเซ็นชัด ก็พร้อมผลักดันเหมือนเดิม

     “ปรับเปลี่ยนขนาดนี้ จำเป็นต้องบอกคุณพ่อมั้ย” เราสงสัย

     “ต้องมีการเช็กกับคุณพ่อก่อนค่ะ” นิวตอบ “เพราะบางทีเขาอาจมีเหตุผลที่ทำแบบนั้นเอาไว้ แต่นิวก็รู้สึกนิวโชคดีอยู่อย่างตรงที่เป็นคนชอบถาม แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ยินดีที่จะตอบ มันเลยไม่ได้เป็นการทำงานที่ขัดแย้งกันระหว่างเจเนอเรชั่น คืออาจจะไม่ได้เห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยเราเข้าใจกัน เข้าใจการตัดสินใจของเขา เขาเข้าใจการตัดสินใจของเรา ก็จะลดการกระทบกระทั่งไปได้เยอะมาก”

     “ทุกวันนี้ บ.ก.วิธิตยังช่วยดูอยู่มั้ย” เราถามกับผู้ก่อตั้ง

     “เน้นบทบาทการให้คำปรึกษาครับ ผมพยายามถอยออกมา ไปดูกิจการด้านโรงพิมพ์เสียเยอะ ส่วนการบริหาร ขายหัวเราะ ก็ให้นิวเขาดูไป ให้เขาจัดการกันเอง” บ.ก.กล่าวก่อนขำปิดท้าย

     “แล้วนิวยังเคว้งอยู่หรือเปล่า” เราถามกับผู้รับช่วงต่อ

     “หลังๆ จะบอกแค่ข่าวดี ส่วนพวกปัญหาจะพยายามแก้เอง เพราะอยากทำให้เขาดูว่า ขายหัวเราะ ในแบบของเราจะเป็นยังไง”

     หากนับจากปีที่เริ่มมาบริหาร นิวจะทำงานที่ ขายหัวเราะ ครบ 10 ปีในปี 2567 ซึ่งอาจดูเหมือนนาน และช่วยผ่านความกดดันในการบริหารของเธอได้บ้าง แต่นิวก็บอกกับเราว่า ความกดดันนั้นไม่เคยหายไป

     “นิวว่าความกดดันของการทำธุรกิจครอบครัวมีสองด้าน 

     “ด้านแรกคือความรับผิดชอบแบบ responsibility มันไม่เหมือนกับการไปทำงานที่อื่นที่ถ้าแผนกอื่นทำผิด เราก็อาจไม่รู้สึกว้าวุ่นมาก เพราะไม่ใช่เรื่องของแผนกเรา แต่อันนี้ถ้ารู้ว่าแผนกไหนมีปัญหา เราก็จะไม่นิ่งดูดาย เพราะรู้ว่าต้องช่วยกัน หรือว่าบางทีก็ต้องดูว่าการตัดสินใจของเราไปกระทบคนอื่นมั้ย

     “อีกด้านคือความรับผิดชอบแบบ commitment คนอื่นทำงานแล้วไม่ชอบก็ลาออก แต่ถ้าเราไม่ชอบก็ต้องหาทางอยู่หรือปรับมันให้ได้ การหนีออกไปไม่ใช่ออปชั่นของเรา ต่อให้ไม่อยากทำ เหนื่อย เราก็รู้ว่าทิ้งไปไม่ได้ มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำกับพ่อแม่เรา

     “การทำงาน ขายหัวเราะ อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของความรักกับพ่อแม่ด้วย เพราะ ขายหัวเราะ เป็นแบรนด์ที่มีความผูกพันกับอัตลักษณ์ของคุณพ่อสูงมาก แล้วนิวก็อยากให้สิ่งนี้อยู่ต่อไป คือต่อให้คุณพ่อจะอยู่หรือไม่ คาแรกเตอร์ของคุณพ่อจะยังอยู่ต่อไป นิวไม่อยากให้มันมาเกิดอะไรขึ้นในรุ่นเรา นิวกลัวคำที่เขาพูดกันว่ารุ่นปู่สร้าง รุ่นพ่อสืบ รุ่นลูกพังมากๆ มันคือความกดดันว่าสิ่งนี้จะมาพังทลายที่เรา ซึ่งก็ต้องข้ามผ่านมันไปให้ได้

     “ตอนนี้นิวมองว่าการทำ ขายหัวเราะ เป็น lifetime commitment เป็นสิ่งที่เราอยากทำต่อไปเรื่อยๆ ยังมีอะไรให้เราทำอีกเยอะมาก อย่างการครบรอบ 50 ปี นิวก็ไม่ได้มองว่าเราเดินมาไกล กลับกัน เรามองว่านี่คือจุดเริ่มต้น อีก 50 ปีต่อจากนี้ต่างหากที่สำคัญ เพราะเราจะไปให้ไกลกว่านี้”