Thu 17 Nov 2022

LEARNER—TRANSLATOR

21 ปีในญี่ปุ่นของ ‘โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์’ สู่การเป็นนักแปลและบรรณาธิการต้นฉบับแห่งสำนักพิมพ์ CLASSACT และ JCLASS

     “เคยอ่านงานของรัมโปะมาก่อนมั้ยครับ”

     เสียงปริศนาดังขึ้นขณะที่เรากำลังหยิบหนังสือของ เอโดงาวะ รัมโปะ (Edogawa Ranpo) มาเปิดๆ ดูในบูธสำนักพิมพ์ JClass และ Classact เมื่องานมหกรรมหนังสือระดับชาติฯ ครั้งที่ผ่านมา หลังจากตอบว่าเคย พร้อมบอกชื่อเล่มที่เคยอ่าน คุณพี่ท่านเดิมก็เริ่มบรรเลงการป้ายยาแบบคนรู้ลึก รู้จริง เล่าได้หมดว่าเล่มนี้สนุกยังไง ถ้าชอบแนวนี้น่าจะเหมาะกับเล่มไหน

     ด้วยสัญชาตญาณเหยี่ยวข่าวสาว เราไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป รีบยื่นไมค์ไปถามว่าคุณพี่ใช้ยาสีฟันยี่ห้ออะไร (ไม่ใช่!) ถามว่าเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ใช่มั้ย และได้รับคำตอบที่ไม่เหนือความคาดหมายคือใช่ พร้อมคำขยายที่ทำเอาหูผึ่งว่า “แต่ปกติผมพำนักอยู่โตเกียวเป็นหลัก”

     ‘หนุ่ม—โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์’ คือคนที่เรากำลังคุยอยู่ด้วย หลังกลับบ้านไปค้นกูเกิลว่าเขาเป็นใครก็ยิ่งช็อกกว่าเดิม เพราะนอกจากบทบาทบรรณาธิการในสำนักพิมพ์ พี่หนุ่มยังเป็นนักแปล อาจารย์วิชาวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัย Tokyo University of Foreign Studies และผู้ประกาศ-แปลข่าวและนักจัดรายการวิทยุภาคภาษาไทยประจำ NHK-WORLD JAPAN ซึ่งเป็นบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะของญี่ปุ่น

     อยู่ดีๆ ก็เหมือนฟ้าประทานบุคคลน่าสนใจมาให้ตรงหน้า เราจึงไม่รอช้ารีบคว้าโอกาสอันดี ชวนพี่หนุ่มมาพูดคุยกันถึงประสบการณ์กว่ายี่สิบปีในประเทศญี่ปุ่น การเรียน การทำงาน และการทำสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่เขานิยามว่าทำเป็นงานอดิเรก!?

1
เรียน

     หลายคนอาจหลงรักญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่ส่งออกวัฒนธรรมป๊อปทั้งหลาย แต่สำหรับพี่หนุ่ม เขาเริ่มสนใจประเทศนี้เพราะตัวอักษรดูเรียนง่ายดี…

     “ย้อนกลับไประดับมัธยมปลาย เราเคยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้ทักษะภาษาอังกฤษมาพอสมควร สามารถอ่านข่าว เขียนรายงานได้ เลยคิดอยากจะเรียนภาษาใหม่ สมัยก่อน ถนนราชดำริมีสถาบันสอนภาษา AUA แล้วถัดไปไม่ไกลมีสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ซึ่งเราเดินผ่านบ่อย เห็นตัวอักษรญี่ปุ่นแล้วนึกว่ามันง่าย พออยู่มหาวิทยาลัยก็เลยไปลงเรียนเป็นงานอดิเรก”

     และอย่างที่ทุกท่านทราบ ภายใต้ความน่ารักของตัวอักษรญี่ปุ่น มันมีสิ่งที่เรียกว่าคันจิและไวยากรณ์สุดสะพรึงซ่อนอยู่ พี่หนุ่มถึงขั้นเอ่ยปากเลยว่า “ทีแรกคิดว่าตัวเองขยันไม่พอ พอขยันมากขึ้น ก็ยังรู้สึกว่ามันยากอยู่ดี (หัวเราะ)”

     แต่เหมือนโชคชะตาจะนำพาสุดๆ เพราะขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่สาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางคณะมีโครงการแลกเปลี่ยนกับทางมหาวิทยาลัยวาเซดะ 10 เดือน พี่หนุ่มเลยลองสมัครไป และได้รับคัดเลือก กลายเป็นก้าวแรกที่เดินทางสู่วงการญี่ปุ่นอย่างจริงจัง

     “ตอนนั้นพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย แต่ในคลาสเรียนมันสนุกมาก ถึงอย่างนั้น เราก็รู้สึกว่าเด็กไทยต้องพากเพียรกับภาษาญี่ปุ่นเป็นพิเศษ อย่างคนเกาหลีจะมีภาษาที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น คนจีนก็จะอ่านคันจิเก่งกว่า ส่วนฝรั่งก็จะกล้าพูด คือทุกชาติเก่งกว่าหมด ในใจเรามีแต่ความสู้ ไม่ยอม ขยันอ่านหนังสือมากกว่าคนอื่น จนได้เลื่อนขั้นห้องเรียนภาษาขึ้นไป 2-3 ระดับ

     “สำหรับเราญี่ปุ่นคือโลกใหม่ ทุกสิ่งน่ารู้และสนุก ด้วยความที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลยมีความท้าทาย แค่อ่านชื่อป้ายสถานีออกก็ดีใจแล้ว ที่ประทับใจมากๆ คือการนั่งรถไฟหวานเย็นกลับจากนางาซากิ เราหลงทาง แต่ไม่รู้สึกอันตรายหรือผิดหวังเลย มีแต่ความสนุกล้วนๆ”

     เมื่อกลับมาไทย พี่หนุ่มนำความรู้ที่สั่งสมมาสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น (JLPT โดยในขณะนั้นมีถึงระดับ 4) และความพยายามก็ส่งผลให้เขาสอบได้ระดับ N2 พี่หนุ่มผ่านเกณฑ์คะแนนสอบแบบพอดีเป๊ะ พอเรียนจบปริญญาตรีก็ไปทำงานธนาคารที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสมัครทุนไปเรียนต่อของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นไว้ด้วย ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ความสามารถและโชคชะตาเป็นฝ่ายชนะ ได้กลับไปญี่ปุ่นอีกครั้งในฐานะนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยวาเซดะ โดยเลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์เช่นเดิม

   ช่วงที่เรียนปริญญาโทอยู่นั่นเองเป็นจังหวะที่พี่หนุ่มได้ไปต้อนรับคณะทูตไทยที่มาเยี่ยมมหาวิทยาลัย และได้พบกับคุณสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ (เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว คนปัจจุบัน) บุคคลที่แนะนำให้เขาไปลองสมัครผู้ประกาศข่าวที่ NHK

     “NHK คือสถานีแพร่ภาพกระจายเสียงแล้วก็มีวิทยุ ถือเป็นช่องตัวแทนของญี่ปุ่นที่เสนอข่าวทั่วประเทศแล้วก็จะมีช่องต่างประเทศคล้ายๆ BBC ซึ่งมีภาษาไทยอยู่ด้วย ตอนที่เราไปทำคือจัดรายการวิทยุภาษาไทยแต่เล่าเรื่องญี่ปุ่น เลยได้รู้จักญี่ปุ่นในมุมที่ลึกมากๆ เพราะต้องอ่าน ต้องแปล ก็ถือว่าได้ฝึกไปด้วย”

     ทำงาน NHK ไปด้วย เรียนปริญญาโทไปด้วย รู้ตัวอีกทีก็เรียนจบเสียแล้ว แต่ความรู้สึกเที่ยวไม่พอยังไม่หายไป พี่หนุ่มจึงตัดสินใจเรียนปริญญาเอกอีกใบ (คุณพี่ หนูยกมือไหว้แล้วนะ)

     แต่คราวนี้พี่หนุ่มตัดสินใจโบกมือลาคณะเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาสองใบ เบนสายไปเอเชียอาคเนย์ศึกษา (ไทย) มหาวิทยาลัยวาเซดะ

     ตอนแรกเขาจะทำวิจัยเรื่อง thaksinomics (นโยบายเศรษฐกิจในสมัยที่ ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) แต่ก็มีนักวิชาการดังๆ ทำไปเยอะแล้ว พอจะทำหัวข้อเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ก็ยังดีไม่พอที่จะผ่าน สามปีหมดไปกับการคิดหัวข้อวิจัยจนเริ่มท้อ วางแผนเตรียมกลับไทยเต็มที่

     “แต่สุดท้ายก็ไม่ได้กลับ เพราะเสนอหัวข้อเรื่องนวนิยายการเมืองไทยไปแล้วผ่าน อาจารย์อยากรู้ ไม่ให้เลิกเรียน สั่งให้ไปเขียนมาเลย (หัวเราะ) เราก็จบมาได้”

     เท่าที่ฟังเรื่องราวของพี่หนุ่มมา ชีวิตของเขาเหมือนกับเป็นลูกรักพระเจ้าของจริง เพราะหลังจากเรียนจบปริญญาเอก เขาก็ได้ไปทำงานเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย Tokyo University of Foreign Studies เผอิญอาจารย์ประจำจะเกษียณ ประจวบเหมาะกับที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น และต้องการอาจารย์ที่จะมาสอนวรรณกรรมกับวัฒนธรรมไทย ตำแหน่งนี้จึงตกเป็นของพี่หนุ่มโดยไร้ข้อกังขา และกลายมาเป็นอาชีพหลักจวบจนปัจจุบัน

2
อ่านและเขียน

     แม้จะทำงานด้านวรรณกรรม แต่พี่หนุ่มยอมรับว่าเขาไม่ใช่คนอ่านหนังสือเยอะ

     “สมัยก่อนตอนเรียนมัธยมจะมีใบยืมหนังสือห้องสมุด ด้วยความเป็นคนอ่านหนังสือช้า เราก็จะยืมหนังสือเล่มบางๆ มาอ่าน ปรากฏว่าในห้องมีเพื่อนอีกคนที่เป็นหนอนหนังสือ เราก็จะแข่งกันว่าใครจะยืมหนังสือได้เต็มใบก่อนกัน แต่สุดท้ายก็แพ้นะ สู้ไม่ไหว

     “จนตอนไปอยู่ญี่ปุ่นแล้วไม่ค่อยมีคนรู้จัก เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ อยากจะเล่า อยากจะเขียน มันเลยเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอ่าน มาเริ่มอ่านหนังสือจริงจังตอนเรียนปริญญาโท ตอนนั้นแค่คำเชื่อมง่ายๆ เรายังไม่รู้เลยว่าต้องใช้อันไหน ก็ไปซื้อหนังสือที่ได้รางวัลของนายอินทร์อะวอร์ดมาอ่าน เราน่าจะเป็นคนอ่านหนังสือน้อยกว่าคนอื่นแน่ๆ แต่พออ่านช้าแล้วมันซึมเข้าไปในตัวเรา เอาไปใช้ได้เลย”

     พี่หนุ่มเล่าว่าเขาชอบอ่านนิยายของ ทมยันตี และนิยายสืบสวนของ อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) จอห์น กริแชม (John Grisham) รวมถึงงานญี่ปุ่นอื่นๆ อย่างเอโดงาวะ รัมโปะ และ ฮิงาชิโนะ เคโงะ (Higashino Keigo)

     พอเข้าสู่ช่วงเรียนปริญญาเอก พี่หนุ่มก็พบกับจุดเปลี่ยนสำคัญคือการได้ออกหนังสือเล่มแรก

     “เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษาพักไปทำวิจัยสองปี ช่วงนั้นเราว่างเลยลองหยิบมุมมองที่น่าสนใจอย่างละครคาบูกิ ออนเซ็นมาเขียนเล่าแบบไม่วิชาการมาก แต่ยังมีความเป็นสารคดี ลองส่งไปประกวดนายอินทร์อะวอร์ด (ปี 2005) ปรากฏว่าได้รางวัลพิเศษ ได้ตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อ ญี่ปุ่นหลากมุม สำหรับเรามันคือ milestone ของชีวิตเลย”

     หลังจากนั้นพี่หนุ่มก็มีผลงานเขียนอีกหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น นางาซากิ ยลเสน่ห์ล้ำ…ย้ำอดีตลึก (2007) ไขปริศนา อาณาจักรสนธยาเกาหลีเหนือ (2012) และ ญี่ปุ่นป้ายนี้ (2016)

     แต่เอาเข้าจริง ผลงานส่วนมากของพี่หนุ่มจะเน้นไปที่งานแปลเป็นหลัก โดยพี่หนุ่มเชี่ยวชาญการแปลจากภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีผลงานที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยอย่าง ฤาสิ้นสุดมนุษยภาพ (โดย โซโลมอน นอร์ทอัพ) อสูรผมขาว (โดย เอโดงาวะ รัมโปะ) และ กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (โดย เออิจิ มูราชิมา)

3
แปลและบรรณาธิการ

     เมื่อสันทัดสองภาษาที่แตกต่างกันอย่างญี่ปุ่นและอังกฤษ เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าการทำงานของสองภาษานี้มีความแตกต่างกันมั้ย

     “ถ้าในด้านโครงสร้างประโยคต่างกันชัดเจน ของภาษาอังกฤษจะชอบขึ้นต้นประโยคด้วย adverb เช่น accidentally ถ้าแปลตรงๆ ก็คือ โดยฉันบังเอิญพบเขา ซึ่งในภาษาไทยไม่ได้เรียงประโยคแบบนี้ ถ้าเจอบ่อยเข้าก็อาจจะอ่านสะดุดได้

     “ส่วนภาษาญี่ปุ่นจะชอบละประธาน พอแปลเป็นภาษาไทย ถ้าไม่ใส่ประธานก็อาจจะอ่านไม่เข้าใจ ในขณะที่ภาษาอังกฤษทุกประโยคจะต้องมีประธาน แต่ถ้าหากว่าใส่ประธานไปทุกประโยค ภาษาไทยก็จะเพี้ยน”

     อีกทั้งยังมีเรื่องเครื่องหมายวรรคตอนที่ทางภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นจะใส่เพื่อขยายหรือจบประโยค แต่พอแปลเป็นภาษาไทย ถ้ายึดจากต้นทางมาทั้งหมดก็คงอ่านไม่รู้เรื่อง เลยต้องมีการแตกประโยคออกมา

     ส่วนการแปลกับการเขียนก็มีความแตกต่างกันหลายอย่าง

     “หนึ่งคือความหงุดหงิด ถ้าเขียนเอง อยากเขียนอะไรก็เขียน แต่พอเป็นการแปล บางเรื่องเนื้อหาอาจไม่ถูกจริต ความไม่สมเหตุสมผลก็อาจจะทำให้เราหงุดหงิดได้

     “สองคือสำนวน การแปลมีสำนวนต้นฉบับที่เราต้องคงไว้ ซึ่งนักเขียนบางคนชอบใช้คำซ้ำเยอะ แล้วบางทีสำนักพิมพ์ต้นทางห้ามตัด ห้ามเปลี่ยน เลยต้องมาหาจุดตรงกลางร่วมกัน

     “สามคือความหลากหลาย งานเขียนเราคิดเอง ถ้ายากเกินก็เลิกได้ แต่พอเป็นงานแปลมันหยุดกลางทางไม่ได้ ต้องพุ่งชนอย่างเดียว แล้วมันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ นักเขียนพาเราไปไหน เราก็ต้องไปศึกษาเรื่องนั้นด้วย”

     เรียนรู้วิชาแปล 101 มาพอควร เราเปลี่ยนไปชวนพี่หนุ่มคุยเรื่องการทำสำนักพิมพ์ JClass และ ClassAct ที่เขารับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการต้นฉบับ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการหาต้นฉบับและตรวจทานสำนวนแปล

     ดาวบันดาล (The Fault In Our Stars) นิยายรักของสองหนุ่มสาวผู้เผชิญโรคร้ายคือหนังสือที่พี่หนุ่มเป็นคนแนะนำให้ทางทีมไปซื้อลิขสิทธิ์ ก่อนจะกลายเป็นผลงานสร้างชื่อให้สำนักพิมพ์ ClassAct

     เมืองกระดาษ (Paper Town) นิยาย Coming of Age ของตัวละครวัยรุ่นที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่า ดาวบันดาล แต่ก็ยังดังในระดับหนึ่ง

     ฤาสิ้นสุดมนุษยภาพ (Twelve Years a Slave) นิยายว่าด้วยประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในยุคค้าทาส ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ได้รางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2014

     เอ่ยชื่อคำรัก (Call Me By Your Name) นิยายรักของเด็กหนุ่มที่สร้างกระแสวายไปทั่วทั้งโลก ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และคว้ารางวัลมาหลายเวที รวมไปถึงรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 2018

     “เราอ่านสื่อตะวันตกเยอะ นอกจากคอยดูพวก The New York Times Best Sellers เราก็อ่านสื่อออนไลน์อื่นๆ ดูว่านักอ่านนิยมอ่านอะไรกัน”

     ถึงจะเก็งถูกหลายเล่ม แต่สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์หนุ่มยังรู้พลั้ง เรื่องที่คิดว่าจะปังแต่ไปไม่ถึงฝันก็มีเหมือนกัน

     “สุดแดนเกียรติยศ (The Homesman) นำเสนอเรื่องราวของอเมริกาในยุคบุกเบิก เราเป็นคนแปลเอง จริงๆ ตัวบทประพันธ์ดีมาก เอาไปสร้างเป็นหนังก็ได้นักแสดงออสการ์มาเล่น แต่ก็ไม่เกิดทั้งคู่ เป็นเล่มที่เราเดาผิด”

     พอทำสำนักพิมพ์ ClassAct มาสักพัก ตลาดนิยายตะวันตกก็เริ่มซา พี่หนุ่มจึงเสนอให้หยิบวรรณกรรมญี่ปุ่นมาลองทำ โดยหยิบ เกาะปีศาจฆาตกรรม ของเอโดงาวะ รัมโปะ มาเป็นเล่มแรกของสำนักพิมพ์ JClass

     ด้วยความที่งานของรัมโปะในไทยส่วนมากจะเป็นเรื่องสั้น  การเอานิยายมาแปลจึงได้รับความสนใจและการตอบรับในแง่ดีจากนักอ่าน จากนั้นก็มีการพิมพ์งานของรัมโปะเรื่อยมา จนพักหลังจึงมีการหยิบเอาผลงานร่วมสมัยอย่างฮิงาชิโนะ เคโงะ มาแปลด้วย

     “JClass จะทำงานแนวสืบสวนทั้งคลาสสิกและร่วมสมัยเป็นหลัก แต่เอาจริงๆ ทีมเราเล็กมากครับ ทุกคนที่ทำคือมีงานประจำกันหมด ถือว่าสิ่งนี้เป็นงานอดิเรก และทำด้วยใจรักล้วนๆ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ออกหนังสือตามกระแสเลย โชคดีที่มีผู้อ่านคอยสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ”

     “งั้นพอทำด้วยใจ มีอะไรที่เป็นเป้าหมายมั้ย” เราถามส่งท้ายก่อนปลดปล่อยพี่หนุ่มให้เป็นอิสระ

     “ถ้าตอบว่าไม่มีจะบั่นทอนกำลังใจคนอื่นหรือเปล่า (หัวเราะ) เราอยากให้หนังสือราคาถูก จะได้เข้าถึงคนได้เยอะ บางเล่มที่เราแปลหรือเพิ่มส่วนเสริมท้ายเล่ม เราก็ไม่รับเงินค่าแปลนะ เพราะเรามาสายวิชาการ บางทีมีคนเอาข้อมูลไปอ้างอิง เขาก็จะได้ข้อมูลว่าหนังสือเล่มนี้มีที่มายังไง

     “อาจพูดได้ว่าเป้าหมายคืออยากทำงานให้สนุก มีคุณค่ากับคนอ่าน ​​และราคาสมเหตุสมผลครับ”