Thu 12 May 2022

PROGRESSIVE LEARNING

ดูการศึกษาของฟินแลนด์ ย้อนมองปัญหาการศึกษาไทย
และภารกิจของ ‘ครูจุ๊ย’ ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า

     ผมเห็น ครูจุ๊ย—กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ครั้งแรกๆ น่าจะเป็นวันเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ ยังไม่รู้จักเธอมากนัก รู้แค่ว่าเธอยืนอยู่ในกลุ่มคนที่ทำให้ผมมองเห็นโอกาสที่ประเทศจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี

     ผมเห็นเธออีกหลายครั้งในข่าว ในบทสัมภาษณ์ ได้รู้ว่าเธอมีความผูกพันกับประเทศฟินแลนด์—ประเทศที่ว่ากันว่ามีระบบการศึกษาดีอันดับต้นๆ ของโลก—จากการไปเรียนที่นั่น จนคิดอยากกลับมาขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย เริ่มจากการเป็นผู้สอนในห้องเรียน ก่อนจะก้าวมาลงสนามการเมือง

     ผมเห็นเธอในสภาฯ ด้วยสถานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ ก่อนจะเห็นเธออีกครั้งในการแถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคที่เปิดตัวในสนามการเมืองอย่างร้อนแรงและเป็นความหวังของผู้คน เคียงข้าง ปิยบุตร แสงกนกกุล และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะกรรมการบริหารพรรคซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี

     ตอนนั้นผมคิดว่าคงจะได้เห็นเธอน้อยลง หรืออาจไม่ได้เห็นอีกเลย

     แต่เปล่า, เธอยังคงลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่นร่วมกับคณะก้าวหน้า อีกทั้งรับบทบาทเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ทำโครงการ ‘อ่านเปลี่ยนโลก’ ห้องสมุดออนไลน์ที่รวมรวมหนังสือหายืมได้ยาก ‘อ่านปั้นฝัน’ โครงการมอบหนังสือนิทานแก่ศูนย์ดูแลเด็กเล็กทั่วประเทศ และเดินสายพูดเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจปัญหาการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ

     โดยพื้นฐานแล้ว CONT. สนใจเรื่องเกี่ยวกับการอ่านทุกรูปแบบ รวมถึงบุคคลที่สนใจการอ่านด้วย เมื่อผมเห็นเธอใส่แว่นสีส้ม ประจำอยู่ที่บูทคณะก้าวหน้าในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ยืนพูดคุยกับนักอ่านหลากวัย พร้อมนำเสนอขายหนังสือวิสัยทัศน์ของชาวคณะก้าวหน้า หนังสือรวมคำอภิปรายของสมาชิกพรรคก้าวไกล รวมถึง นี่แหละเผด็จการ (This is a Dictatorship เขียนโดย Equipo Plantel) หนังสือภาพที่แปลจากภาษาสเปนเล่มแรกของสำนักพิมพ์ จึงคิดว่าเป็นเวลาเหมาะสมแล้วที่จะขอสัมภาษณ์เธอ

     เรานัดเจอกันที่งาน Summer Book Fest 2022 เพราะเธอและมูลนิธิคณะก้าวหน้าก็มาเปิดบูทหนังสือที่นี่ พูดคุยถึงสิ่งที่เธอได้จากฟินแลนด์ ระบบการศึกษาไทย วัฒนธรรมการอ่าน และการทำงานด้านความคิดเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 

     ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เธอพยายามก้าวหน้าไปให้ไกลขึ้นในทุกๆ วัน

คุณพูดหลายครั้งว่าฟินแลนด์มีอิทธิพลต่อชีวิตมาก เล่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับฟินแลนด์ให้ฟังหน่อย

     มีสองช่วง ช่วงแรกคือ ม.ปลาย ไปกับโครงการ AFS (American Field Service โครงการทุนการศึกษาของมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ) อีกช่วงคือตอนเรียนปริญญาโท 

     ตอน AFS ก็สมัครสอบเหมือนเด็กอื่นๆ เราเลือกฟินแลนด์เป็นอันดับ 1 รองลงมาคือออสเตรียและแคนาดา มันเกิดจากความคิดที่ว่าเรามีโอกาสเดินทางไปใช้ชีวิตต่างประเทศหนึ่งครั้ง เราจะใช้โอกาสนั้นอย่างไร กุลธิดา ณ อายุสิบหก ก็อยากใช้เวลาในประเทศที่มีชีวิตแตกต่างจากไทยแบบสุดขั้ว อย่างแคนาดาเคยไปมาแล้วตอน ม.ต้น แต่ออสเตรียกับฟินแลนด์เกิดจากการอ่านข้อมูล แล้วพบว่าประเทศนี้ไม่เหมือนเราเลย

ขอย้อนกลับไปสักหน่อยว่ากุลธิดาก่อนไปฟินแลนด์เป็นเด็กแบบไหน

     เป็นเด็กทำกิจกรรม ก็เรียนเก่งประมาณหนึ่ง ท็อปสิบของห้อง หลุดท็อปไปบ้าง มีโลกเป็นของตัวเอง ชอบอ่านและสะสมผลงานของ อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ชอบ Backstreet Boys มีความสนใจและได้ทักษะภาษาอังกฤษก็เพราะพวกเขา ต้องเก็บเงินซื้อนิตยสาร ซื้อบุ๊กกาซีนเพื่อฝึกภาษา เป็นเด็กที่สนใจใคร่รู้ในวัฒนธรรมต่างประเทศมาก เป็นเด็กที่ทำตามกฎ แต่ก็ไม่ถึงขั้นเรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ ไปเรียนพิเศษเหมือนคนอื่นๆ แต่มักจะโดดเรียน เอาเสื้อผ้าไปเปลี่ยน อยากแต่งตัวแบบ Triumphs Kingdom อยากทดลอง อยากออกนอกกรอบประมาณหนึ่ง

     แต่พอกลับจากฟินแลนด์ ก็เริ่มตั้งคำถามกับอะไรหลายๆ อย่างรอบตัว เริ่มเห็นว่ามุมมองการเรียนรู้ของตัวเองเปลี่ยนไป

คุณพบเจออะไรในฟินแลนด์ที่ทำให้เริ่มตั้งคำถามกับการเรียนหนังสือแบบไทย

     เราไปอยู่ในเมืองเล็กๆ มีประชากรแค่สามพันกว่าคนเอง โรงเรียนที่ไทยยังมีนักเรียนเยอะกว่าเลย โชคดีที่พ่อและแม่โฮสต์ของเราเคยเป็นเด็ก AFS มาก่อน ก็เลยสนับสนุนเราเต็มที่

     ช่วงแรกๆ ที่ไปถึง แม่โฮสต์ถามเราว่าอยากเรียนภาษาฟินแลนด์ไหม เราก็งงว่ามันต้องถามด้วยเหรอ เรามาอยู่ฟินแลนด์ แต่จะไม่เรียนภาษาฟินแลนด์ได้ด้วยเหรอ แม่ตอบกลับมาว่า ไม่ได้ ต้องถาม ความต้องการของเราเป็นสิ่งที่เขาต้องเคารพ พอเราเซย์เยส ทั้งพ่อ แม่ และน้องก็เปลี่ยนโหมดจากพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาฟินแลนด์ สอนเราทีละคำแบบเด็กๆ เลย 

     แค่นั้นไม่พอ ยังส่งเราไปเรียนภาษาที่ห้องสมุดกลาง คือในเมืองใหญ่ๆ ของฟินแลนด์จะมีห้องสมุดกลางที่เปิดคอร์สต่างๆ ให้เรียน จากเมืองที่เราอยู่ เดินทาง 30 นาทีก็ถึง แล้วแม่ก็จัดการให้เราเดินทางไปพร้อมกับคุณลุงคนหนึ่งที่อยากเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ต้องไปเรียนที่ห้องสมุดนั้นเหมือนกัน คือเรียนคนละห้องนะ แต่ระหว่างทางไป-กลับก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน 

     ปู่กับย่าก็เป็นคนช่วยสอนภาษาฟินแลนด์ เพราะย่าทำเค้กอร่อย ถ้าเราอยากกินเค้ก ก็ต้องไปบ้านย่าแล้วพูดให้ได้ ปู่ก็เก่งประวัติศาสตร์ฟินแลนด์มากๆ เราก็เลยได้แลกเปลี่ยนกัน เราเลยรู้สึกว่า โห ดีจังเลยนะที่มีผู้ใหญ่สนับสนุนเราขนาดนี้ เพื่อนๆ ในโรงเรียนก็ดี กลุ่มเพื่อนสนิทก็จะพยายามสอนภาษาฟินแลนด์ให้ ชวนไปทำนั่นนี่เหมือนเพื่อนที่โตมาด้วยกัน เป็นช่วงที่เราได้รับการบ่มเพาะด้วยความเอาใจใส่ ได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็นผู้รับสิ่งดีๆ จนอยากแบ่งปันต่อ

แล้วบรรยากาศในโรงเรียนเป็นยังไง

     แค่กิจกรรมก็แตกต่างแล้ว อย่างวิชาพละก็ได้เรียนกีฬาแตกต่างกันไปในแต่ละฤดู มีวิชา survival skills ซึ่งกิจกรรมในคลาสก็หลากหลายมาก จำได้ว่าเราเคยไปนั่งในรถตำรวจ ฟังตำรวจเล่าให้ฟังว่าวันๆ หนึ่งต้องเจออะไรบ้าง สอนวิธีป้องกันตัว เอาตัวอย่างยาเสพติดที่ตรวจจับได้มาให้ดู ทำให้สิ่งที่เด็กวัยรุ่นสงสัยเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย

     ส่วนวิชาการก็ได้ความเข้าใจอะไรหลายอย่าง เช่น เรียนเลขก็ใช้เครื่องคิดเลขได้นี่ วิชาเลขก็แบ่งออกเป็นสองเลเวล ถ้าคุณไม่ได้จะไปต่อทางด้านนี้ก็เรียนขั้นพื้นฐานพอ คุณครูมีวิธีทำให้เราสนใจวิชาเลขในรูปแบบอื่นด้วย เช่น การสอนเลขในเชิงปรัชญา ตั้งคำถามว่าเลข 0 มีค่าไหม คือเราเป็นเด็กสายศิลป์ก็จะไม่เก่งเลขเลย แต่ถ้าเราได้เรียนแบบนี้ตั้งแต่เด็กก็คงสนใจวิชาเลขมากกว่านี้

     ตอนไปถึงวันแรก คุณครูปีร์เร่ ซึ่งเป็นครูที่คอยดูแลเราตลอดการไปเรียน ถามเราว่าที่ไทยเรียนอะไรอยู่ แล้วเราชอบอะไร จึงค่อยบอกว่าที่นี่มีอะไรสอนบ้าง แล้วให้เราเลือกเอง ตกใจมาก เกิดมาไม่เคยได้เลือกวิชาเองเลย ที่นี่ได้เลือก 3-4 รอบต่อปี ที่ไทยคือตารางเรียนออกมายังไงก็เรียนไปตามนั้น 

     แม้กระทั่งเราบอกครูปีร์เร่ว่า เราต้องใช้เกรดเพื่อเรียนต่อ ไม่อยากกลับไทยไปซ้ำชั้น ครูก็จัดการให้ แต่ก็บอกด้วยว่าเราจำเป็นต้องได้ประสบการณ์ที่หลากหลาย ครูก็เลยจัดให้เราไปเรียนบางวิชากับเด็ก ม.ต้น ได้เรียนวิชา กพอ. ที่สอนทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย สอนอ่านเลเบลเสื้อผ้า สอนทำอาหาร หรือวิชาจิตวิทยาที่พาเราไปสังเกตเด็กเล็กในศูนย์เลี้ยงดู เพื่อศึกษาพฤติกรรมเด็ก การเรียนแบบนี้ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถนัดอะไรบ้าง 

พอได้เจอความรู้สึกดีๆ แบบนี้ที่ฟินแลนด์ นึกย้อนกลับมาถึงสิ่งที่เคยเจอในโรงเรียนไทยไหม

     นึก ตอนนั้นยังไม่ได้ตกผลึกความคิดออกมาได้ชัดเจนนัก แต่รู้เลยว่าเราอยากเรียนหนังสือแบบไหน อันนี้ชอบ อันนี้ไม่ชอบ เพราะที่ฟินแลนด์ถามเราตลอดว่าอยากเรียนอะไร จนเราเกิดความอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง 

     ก่อนกลับไทยเราถึงขั้นยื่นเรื่องขอ AFS ว่า เราอยากสอบเอนทรานซ์กับเด็กฟินแลนด์ ด้วยความอยากรู้เฉยๆ ไม่ได้มีใครบังคับ แต่เพราะความอยากรู้ตลอดหลายเดือนที่นั่นมันได้รับความสนใจ ได้รับการสนับสนุน แล้วเขาก็อนุญาตให้เราสอบจริงๆ แต่ก็สอบเฉพาะวิชาที่สอบได้ เพราะวิชาที่ต้องใช้ภาษาเขียนของฟินแลนด์ยากมาก เราได้แค่ภาษาพูด ก็เลยสอบแค่วิชาภาษาอังกฤษกับภาษาฝรั่งเศส ซึ่งก็มีพาร์ตที่ต้องแปลให้กลับมาเป็นภาษาฟินแลนด์ด้วย 

ผลสอบเป็นยังไง

     ได้เกรดกลางๆ ไม่ดีไม่แย่ 

     ที่น่าประทับใจคือ หลังสอบเอนทรานซ์ก็จะมีงานมอบหมวกสีขาวเป็นสัญลักษณ์ว่าเรียนจบ เราไม่ได้หมวก เพราะไม่ได้สอบครบทุกวิชาเหมือนทุกคน แต่เขาก็เชิญให้ไปร่วมงาน ให้ไปร่วมรับดอกกุหลาบ เรารู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีจังเลย เราได้เป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้นี้จริงๆ 

     จากเรื่องที่เล่ามาจะเห็นว่าเราได้เรียนที่ห้องสมุด เรียนกับคุณปู่ เรียนกับคุณแม่ ไปโรงเรียนก็ได้เจอวิชาหลากหลาย ดังนั้นพอกลับไทย เราก็ตั้งคำถามว่าเรามาทำอะไรที่นี่ ทำไมบางวิชาถึงไม่สนุกเหมือนที่ฟินแลนด์ แล้วทำไมเราถึงเกิดความรู้สึกเกร็ง กลัวกับคุณครูที่ไทย

แล้วได้กลับไปฟินแลนด์อีกครั้งตอนไหน

     เราเรียน ป.ตรีที่อักษรฯ จุฬาฯ ทำงานที่สถานทูตฟินแลนด์หนึ่งปี แล้วก็ไปเรียน ป.โทการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม (Intercultural Communication) ที่ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นช่วงที่เราได้เริ่มชีวิตการเป็นผู้สอน

     จุดเริ่มต้นคือแม่ฟินแลนด์ของเราเป็นอาจารย์ วันหนึ่งแม่มาบอกว่าเขามีคลาสที่ต้องสอนเรื่องวัฒนธรรมไทย ยูมาสอนให้หน่อย แม่บอกว่าทฤษฎีกับประสบการณ์ที่เรามีนั้นเพียงพอแล้วสำหรับการสอน คือเขาก็ไม่ได้บังคับนะ แต่อยากให้เราลองดู

     เราก็เตรียมตัวยิ่งใหญ่มาก ตื่นเต้น ไม่เคยสอน นักเรียนในคลาสเป็นระดับผู้บริหาร นักธุรกิจ สอนเสร็จกลับถึงบ้านเราก็บ่นนั่นนี่ คิดว่าตัวเองยังทำได้ไม่ดี บ่นเสร็จ แม่ก็เดินไปหยิบใบประเมินจากนักเรียนในห้องมาให้ดู ปรากฏว่าทุกคนชอบคลาสเรา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดว่าน่าจะสอนหนังสือได้ ตลอดช่วง ป.โทเลยทำสิ่งนี้มาเรื่อยๆ แล้วก็ได้สอนภาษาไทยให้คนฟินแลนด์บ้าง 

ซึ่งคุณก็ได้กลับมาสอนที่ไทยหลังจากนั้นด้วย วิธีการทำงานหรือความรู้สึกต่างกันเลยไหม 

     สมัยนั้นสิ่งที่เราเรียนจบมายังใหม่มาก มีเปิดสอนแค่ไม่กี่ที่ เจอมหา’ลัยหนึ่งเปิดรับก็เลยลองลองสมัครอาจารย์ไป เทอมแรกก็สอนแบบเล็กเชอร์ตามที่เคยเรียน แต่พอกลับถึงบ้านก็รู้สึกว่าทำไมมันเหนื่อยจังวะ พูดอยู่คนเดียวสามชั่วโมง เลยคิดว่าแล้วทำไมเราไม่ทำให้สนุกแบบที่เราเคยเจอที่ฟินแลนด์ ก็เลยค่อยๆ พัฒนาคลาสของเราไป 

     แต่ก็ต้องเจอกำแพงหลายอย่างนะ เช่น คลาสใหญ่ คนเรียนเยอะ พอเราสอนเข้าที่เข้าทาง เริ่มอยากหยิบประเด็น controversial ประเด็นเปราะบางมาสอน ก็โดนผู้ใหญ่เรียกไปเตือน มีการตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ออกข้อสอบเป็นตัวเลือก เราบอกว่าวิชาเราทำแบบนั้นไม่ได้ แต่แรกๆ ก็ต้องยอมทำเป็นตัวเลือก ต่อมาปรับมาเป็น essay จนสุดท้ายไม่มีสอบแต่ทำเป็นโปรเจกต์แทน

     พอปรับได้แล้วเรามีความสุขมากขึ้นนะ ได้เห็นนักเรียนเลือกทำในสิ่งที่ชอบ ได้เห็นนักเรียนจีนเลือกทำเรื่องอุยกูร์ เราดีใจมาก เราไม่สามารถสั่งเขาทำอะไรแบบนี้ได้นะ แต่มันเกิดจากการที่เขาเรียนทฤษฎีแล้วเอาไปเชื่อมโยงเอง 

หัวใจของการศึกษาแบบฟินแลนด์คืออะไร แตกต่างจากไทยยังไง

     ความเชื่อใจ เขาเชื่อใจในมนุษย์ ความเชื่อมั่นจะดึงศักยภาพในตัวผู้คนออกมา 

     การศึกษาไทยมีปัญหามานาน คุณก็เลยทำกลไกควบคุมทุกวิถีทาง ให้ครูทำเอกสาร ให้ครูพิสูจน์ว่าการสอนได้ผลจริง จนไม่เหลือพื้นที่ให้ครูได้สร้างสรรค์ เขาก็เลยกลายเป็นหุ่นยนต์ ทำๆ ไปเท่าที่ต้องทำ 

     ที่สุดแล้วความไว้เนื้อเชื่อใจต้องถูกฟื้นฟูขึ้นมา สังคมต้องมาคุยกันว่า จริงๆ แล้วการศึกษาเป็นเรื่องของโรงเรียนกับเด็กเท่านั้นเหรอ ซึ่งผิด นี่อาจจะเป็นเรื่องเดียวที่เราพูดเต็มปากว่าผิด เพราะมันเป็นเรื่องของทุกคน พ่อแม่ก็ต้องมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ของลูก ต้องจัดเวลาของตัวเอง แล้วชวนเขาทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กมีไฟในการเรียนรู้ เด็กๆ ไม่ควรจะน้ำมันหมดตั้งแต่เริ่ม แต่เด็กไทยขึ้น ป.1 ก็หมดแรงแล้ว 

     กระทรวงศึกษาฯ ของเราก็ไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ กระทรวงควรเข้าใจว่าบทบาทการสนับสนุนการศึกษาไม่ได้มีแค่ออกแบบหลักสูตร หรือการสอบวัดผล แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นอย่างชุมชน ครอบครัว ภาคเอกชน กระทรวงควรจะเป็นผู้บริหารจัดการแล้วพาทุกคนไปยังเป้าหมายเดียวกัน แต่ตอนนี้ทุกคนดูสับสนชีวิต

นอกจากการสอนแล้ว คุณเคยแปลนิทานภาษาฟินแลนด์หลายเล่ม นิทานฟินแลนด์มีเอกลักษณ์ยังไง

     เขาเข้าใจเด็กมาก คือเด็กเล็กๆ เขาไม่สามารถบอกได้ว่ารู้สึกอะไรอยู่ แต่นักเขียนสามารถสกัดเรื่องที่ลอยอวลอยู่ในใจเด็กออกมาทำเป็นนิทานที่สนุกมากได้ ซีรีส์นิทาน คุณปุ๊บปั๊บ ที่เราได้แปลก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง เขาพูดเรื่องกลัวความมืด พูดว่าฝันร้ายคืออะไร และไม่ได้พูดเชิงสั่งสอน แค่บอกว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นแบบนี้ และที่สำคัญที่สุด (เน้นเสียง) นิทานยังเล่าว่าผู้ใหญ่ก็เจอเรื่องแบบนี้ได้เหมือนกัน โดยที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ด้วยซ้ำ

     อีกเรื่องหนึ่งคือความใส่ใจ เราพบว่าที่ฟินแลนด์มีหนังสือสำหรับคนที่เป็น dyslexia (ภาวะบกพร่องทางการอ่าน) โดยวิธีการก็คือเอาหนังสือต้นฉบับเดิมไปจัดเลย์เอาต์ใหม่ ไม่ให้เท็กซ์ยาวเป็นพรืด ลดทอนประโยคยาวๆ ยากๆ ให้อ่านง่ายขึ้น หนังสือเล่มดังๆ ที่ฟินแลนด์จะถูกนำมาทำเวอร์ชั่นนี้ทั้งนั้น 

คุณได้เห็นภาพการศึกษาในแบบที่ดีและแบบที่มีปัญหามาไม่น้อย อะไรคือสิ่งที่อยากทำเมื่อถูกชวนให้ร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ 

     การศึกษาต้องเป็นเรื่องของทุกคน เราอยากพูดเรื่องนี้ซ้ำๆ จนกว่าคนในสังคมจะเข้าใจ แล้วลุกขึ้นมาร่วมกันเปลี่ยนระบบการศึกษาในประเทศนี้ เพราะเราไม่เชื่อว่าจะมีใครเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่เปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ เราก็ไม่ใช่คนนั้น และก็ไม่มีใครเป็นได้ด้วย

การที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคมอบบทเรียนอะไรให้คุณบ้าง

     เราเรียนรู้ที่จะจัดการกับเป้าหมายที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไป นี่คือสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้

     ถามว่าเสียใจไหม ก็เสียใจ เพราะมันเป็นงานที่ยังอยากทำอยู่ แต่ไม่เสียดาย เพราะทำแล้วเต็มที่ ถามว่ารู้ไหมว่าวันหนึ่งจะเกิดเรื่องแบบนี้ ลึกๆ เราก็รู้ แต่เราก็คิดอีกด้วยว่า เรื่องแบบนี้มันต้องมีคนทำ

คณะก้าวหน้าและมูลนิธิคณะก้าวหน้าจัดตั้งขึ้นเพื่ออะไร

     พวกเราคิดว่าต่อให้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ถูกทำลาย อุดมการณ์และผู้คนก็ยังอยู่ แล้วทำไมเราจะไม่ทำต่อ ก็คุยกันว่าอยากทำอะไร เลยกลายเป็นคณะก้าวหน้าที่ทำเรื่องท้องถิ่น เกิดเป็นมูลนิธิคณะก้าวหน้าที่ทำงานขับเคลื่อนทางความคิด

ถ้ามองจากมุมคนนอก การทำงานแบบกลุ่มบุคคลและมูลนิธิก็ไม่น่าเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ได้เท่ากับการทำงานในสภาฯ สมาชิกคาดหวังอะไรจากการทำงานส่วนนี้ 

     เราเชื่อว่าท้องถิ่นคือเรื่องสำคัญ การลงไปทำงานในระดับท้องถิ่น มันทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง หลายเรื่องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อหน้า อย่างโครงการน้ำประปาดื่มได้ น้ำใสใน 99 วัน ตำบลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด น้ำที่นั่นใช้ดื่มไม่ได้ ใช้อุปโภคก็ไม่ค่อยจะได้ เราจึงเอาองค์ความรู้ที่มีไปช่วยและทำงานกับส่วนท้องถิ่น พัฒนาเป็นโรงกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพ ชาวบ้านมีน้ำประปาที่ใช้ดื่มได้ ผ่านการรับรองจากกรมอนามัย เราคิดว่าสิ่งนี้มันเปลี่ยนชีวิตคน การที่คนใช้เวลาจัดการเรื่องพื้นฐานในชีวิตลดลง มันทำให้เขาเหลือเวลาไปทำสิ่งที่ชอบ ได้ใช้ชีวิตมากขึ้น 

     ในระดับโครงสร้าง เราก็นำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ ส่งต่อให้พรรคก้าวไกลนำไปพิจารณาแก้กฎหมายต่อ ก็เหมือนเป็นการ action research จากปัญหาจริง องค์กรอื่นๆ ก็สามารถขอข้อมูลไปทำโครงการต่อได้ อย่างโครงการน้ำดื่มก็มีส่วนราชการมาขอดูงานแล้ว 

     ถ้าเราเป็นคณะบุคคลที่ทำงานด้านการเมือง แล้วสามารถช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอๆ กัน ไม่ใช่ฟ้ากับเหว แล้วทำไมเราถึงจะไม่ทำภารกิจแบบนี้

แล้วมูลนิธิคณะก้าวหน้าทำงานแตกต่างกันอย่างไรกับคณะก้าวหน้า

     มูลนิธิจะทำงานด้านความคิดโดยเฉพาะ เน้นงานที่เผยแพร่ความคิดเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ อย่าง Common School ที่เป็นสื่อเผยแพร่ความรู้ โครงการทำห้องสมุด ‘อ่านเปลี่ยนโลก’ ตีพิมพ์หนังสือและแปลหนังสือ

การทำคลิปความรู้ยังพอเข้าใจได้ แต่การทำห้องสมุดที่เปิดให้ยืมทางออนไลน์อย่างเดียวมันเวิร์กจริงๆ เหรอ

     ถ้าเราจะพูดเรื่องประชาธิปไตย แล้วไม่พูดถึงการเข้าถึงองค์ความรู้ คงเป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้หนังสือการเมือง หนังสือที่พูดเรื่องประชาธิปไตยหลายๆ เล่มก็หาไม่ได้ในห้องสมุดทั่วๆ ไปนะ เราเลยรวบรวมแล้วเปิดให้ยืม 

     ตอนนี้ก็ทำระบบแบบง่ายๆ ยังไม่ได้ดีมาก ก็คือเลือกหนังสือจากในเว็บไซต์ แล้วเราจะส่งหนังสือไปพร้อมซองและแสตมป์ เพื่อให้ส่งคืนกลับมา ไอเดียนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเชื่อใจ เราให้เกียรติคนยืม และเชื่อว่าเขาจะมี civic mind คือจิตพลเมืองที่ช่วยรักษาของ และทุกคนก็เป็นแบบนั้นจริงๆ บางคนก็ส่งของ ส่งขนมกลับมา หรือส่งเงินมาสนับสนุนก็มี 

ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

     ปีที่แล้วมีการยืมไปสามพันกว่าครั้ง มีคนทุกเพศทุกวัย นักศึกษา คุณตาอายุ 70-80 วัยกลางคน มาจากทุกภูมิภาค หนังสือที่ยืมก็หลากหลายแนวด้วย 

เล่มไหนโดนยืมเยอะสุด

     ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (ณัฐพล ใจจริง เขียน) อีกเล่มก็คือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ (ภรทิพย์ มั่นคง เขียน) เราคิดว่าสองเล่มนี้ฮิตเพราะคนสงสัยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มันมาจากไหน มีที่มาอย่างไร และสนใจความรู้สึกของคนที่โดนรัฐกระทำ

การลงพื้นที่ทำงานท้องถิ่นคงทำให้ได้เห็นห้องสมุดในต่างจังหวัดบ้าง สำหรับคนที่ชอบหาความรู้ในห้องสมุดอย่างคุณ มองห้องสมุดไทยเป็นยังไง

     เศร้า สมัยเรียนอักษรฯ เคยทำค่ายอาสา เราอยู่ในแก๊งที่ช่วยพัฒนาระบบห้องสมุด ก็จะเจอปัญหาคลาสสิกคือ หนังสือดีๆ อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถูกเก็บไว้ในตู้ ล็อกด้วย เพราะว่ามันแพง ไม่กล้าให้ใครยืม หนังสือจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้เข้าถึงง่ายในหลายพื้นที่ หรือถ้าไปดูห้องสมุดประชาชน ก็จะพบว่ามีแต่หนังสืองานศพ หนังสือแถม หนังสืออะไรไม่รู้เต็มไปหมด ถามว่าคนหาความรู้จากสิ่งเหล่านี้ได้มั้ย ก็อาจจะไม่ 

     จริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องห้องสมุด อีกโครงการหนึ่งที่เราทำชื่อ ‘อ่านปั้นฝัน’ เป็นโครงการที่เข้าไปทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่คณะก้าวหน้าดูแลอยู่ แทบทุกศูนย์บอกเหมือนกันว่าขาดนิทาน เพราะเงินอุดหนุนจากรัฐไม่พอ 1,700 บาท/คน/ปี ถ้ามีเด็กอยู่ในการดูแล 10 คน ศูนย์นั้นได้เงินแค่หมื่นเจ็ด ซื้อของซื้ออาหารก็หมดแล้ว เราก็เลยตระเวนมอบหนังสือนิทาน 100 เล่มพร้อมตู้หนังสือ และเดินทางไปอบรมคุณครู ชวนพ่อแม่มาฟังเรื่องการใช้นิทาน นิทานที่ดีมีเกณฑ์ในการดูยังไง เพื่อให้เขาสามารถเลือกนิทานเองได้ในอนาคต 

     งบประมาณก็ใช้ไม่มาก ตู้ละ 15,000 บาท ใครจะช่วยบริจาคก็ยินดี แต่เราจะทำแค่ปีนี้ ปีหน้าจะไม่ทำแล้ว เพราะเทศบาลและท้องถิ่นจะต้องเป็นคนจัดสรรงบประมาณมาซื้อสิ่งนี้ เราไม่ได้ต้องการให้เกิดการบริจาคตลอดไป 

ตอนนี้มูลนิธิก็ทำงานส่วนหนึ่งคล้ายๆ สำนักพิมพ์ ตีพิมพ์หนังสือเป็นของตัวเอง อยากรู้ว่าแนวทางในการทำหนังสือของมูลนิธิเป็นแบบไหน

     วางไว้ง่ายๆ ว่าจะทำหนังสือที่พูดเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน อย่างหนังสือวิสัยทัศน์หรือรวมคำอภิปรายในสภาฯ เรามองว่าการรับข้อมูลจากการฟังหรือดูผ่านทีวีรัฐสภาก็เป็นแบบหนึ่ง แต่การนำมาทำเป็นหนังสือ คนจะสามารถค่อยๆ ละเลียด ย่อย ทำความเข้าใจทีละนิด หรือจะเก็บเป็นอ้างอิงก็ได้ 

     ส่วนเล่มแรกที่แปล ก็อาจแปลกใจกันว่าทำไมถึงแปลหนังสือภาพสำหรับเด็ก มันมาจากไอเดียที่ว่า นี่แหละเผด็จการ เป็นหนังสือที่ไม่ได้บอกแค่เผด็จการคืออะไร แต่เป็นบันทึกของยุคสมัย ทำให้เราได้รู้ความก้าวหน้าของสังคมสเปนที่ว่าฉันจะไม่เอาเผด็จการอีกแล้ว ซึ่งวิธีการก็ไม่ใช่การพูดตรงๆ แต่เป็นการบอกให้คุณจดจำว่าเผด็จการคืออะไร

     เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้มันใช่ สังคมเราต้องมีบทสนทนาแบบนี้ พอมันเป็นหนังสือภาพก็เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มอีกด้วย

ประสบการณ์การออกบูทครั้งแรกที่สัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

     มีเด็กคนหนึ่ง อายุสิบสองเอง จูงมือพ่อมาแล้วซื้อเซ็ตหนังสือของเรา 5 เล่ม ราคา 1,000 บาท เราก็อึ้งนะ แต่เขาบอกว่าเขาศึกษามาแล้วว่ามันเกี่ยวกับอะไรบ้าง พ่อก็อนุญาต บอกจะตัดจากงบซื้อการ์ตูนนะ เขาก็โอเค

     วัยรุ่นและนักอ่านหลายวัยจำนวนมากมารอพบคุณรังสิมันต์ โรม รอเจออ.ป๊อก ปิยบุตร แล้วไม่ได้มารอขอลายเซ็นอย่างเดียว บางคนอ่านหนังสือจบแล้ว อ่านอย่างจริงจังเพื่อจะมาพูดคุยแลกเปลี่ยน เพราะข้อมูลบางอย่างที่อยู่ในหนังสือก็พูดในสภาไม่ได้ นักอ่านก็จะมีบทสนทนา มีความคิดเห็นที่อยากมาถกกับคนในพรรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เรารู้สึกว่าไม่ว่าคุณจะเป็นนักการเมืองเลเวลไหน แต่เรื่องพื้นฐานก็คือการมาพบปะประชาชน แล้วก็มาฟังว่าคนเขามองเห็นหรือคิดเห็นกับปัญหาต่างๆ อย่างไร

จากการทำหนังสือและไปออกบูทที่งานหนังสือ คุณมองเห็นปัญหาที่ภาคการเมืองน่าจะช่วยอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บ้างไหม

     เห็น อย่างเล่ม นี่แหละเผด็จการ เราฝันไว้ว่าอยากใช้กระดาษแบบที่เอเจนต์ต่างประเทศขอเรา แต่เราทำให้ไม่ได้ เพราะต้นทุนจะสูงมาก เราก็เลยสงสัยว่าทำไมกระดาษในไทยถึงโดนผูกขาดอยู่ไม่กี่เจ้า และมีราคาสูง

     เรื่องการแปล สำนักพิมพ์ในไทยต่างก็ไปตามหาต้นฉบับดีๆ จากเอเจนต์กันเอง ถ้ารัฐสามารถรวบรวมข้อมูลต้นฉบับดีๆ จากทั่วโลก อาจจะเอาแคตตาล็อกมารวมไว้ สำนักพิมพ์ก็จะมีฐานข้อมูล หนังสือในไทยก็จะหลากหลายขึ้น 

     อย่างการออกบูทหนังสือ เราก็สงสัยว่าทำไมงานแบบนี้รัฐไม่เข้ามาสนับสนุน ทำไมสำนักพิมพ์ต้องหาค่าบูทกันเอง และน่าจะสนับสนุนให้มีทั่วประเทศ รวมถึงการสนับสนุนผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ ยังไม่หมายรวมถึงการส่งออกหนังสือของไทยไปต่างประเทศ ที่ฟินแลนด์มีหน่วยงานชื่อ FILI (Finnish Literature Exchange) หนังสือฟินแลนด์ที่เราเคยแปลทุกเล่มได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานนี้ ซึ่งเขามีเงินสนับสนุนนักแปล มีคอร์สอบรม มีการขอทุนให้เราไปเทศกาลหนังสือของเขาด้วย

     นี่ไงซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐควรจะเป็นผู้สนับสนุน แต่ตอนนี้รัฐของเราใส่เกียร์ว่าง คือไม่ทำอะไรเลย แถมยังอยู่ในยุคที่ยังบอกว่าอะไรควรอ่าน ไม่ควรอ่านอยู่เลย 

ในฐานะที่ทำงานขับเคลื่อนทางความคิด เป็นนักแปลและนักอ่าน หนังสือมีพลังมากแค่ไหนสำหรับคุณ

     สำหรับเด็ก หนังสือคือเพื่อนของเขา เด็กไม่สามารถสื่อสารได้ แต่เขามีความรู้สึก การที่เด็กได้อ่านหนังสือภาพ ได้ฟังเรื่องเล่าจากนิทาน เขาอาจจะพบว่า เฮ้ย นี่มันคือสิ่งที่เราคิด ที่เรารู้สึกอยู่ หนังสือจะช่วยให้เด็กเข้าใจตัวเองมากขึ้น ทำให้เขาเห็นตัวเอง มองเห็นเพื่อน เข้าใจโลกใบนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป 

     กระบวนการแบบนี้ก็เกิดขึ้นในผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน หนังสือช่วยพัฒนาคนในแบบที่คนอ่านไม่รู้ตัว พาเราเดินทางเข้าไปในใจตัวเอง และยังทำให้เข้าใจคนอื่นด้วย นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมหนังสือถึงสร้างคน สร้างเมือง สร้างโลกได้ 

     ในเรื่องประชาธิปไตยก็เหมือนกัน หนังสือเป็นเครื่องมือสำคัญ เรามองว่าการที่ประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยได้นั้นอยู่ที่พลเมือง นอกจากจะรู้ว่าสิทธิของตัวเองคืออะไร ก็ยังต้องเป็นพลเมืองที่เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และพยายามทำให้สังคมดีขึ้นในแบบที่ตัวเองถนัด การจะสร้างคนแบบนี้ขึ้นมาต้องมีเครื่องมือที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับความคิดอันหลากหลาย ซึ่งหนังสือคือเครื่องมือแบบนั้น

สุดท้ายนี้ เราจะทำยังไงให้เด็กไทยได้พบโอกาสดีๆ แบบที่คุณได้จากฟินแลนด์ โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปต่างประเทศ

     สิ่งที่เราได้รับจากฟินแลนด์ คือการได้อยู่ในสังคมที่คนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน แต่มันเป็นแบบนั้นได้เพราะเขาได้รับความต้องการขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ เป็นเรื่องที่คนทั้งสังคมต้องตั้งคำถามว่าทำไมยังมีคนที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด ทำไมมีห้องสมุด แต่ไม่มีหนังสือดีๆ อ่าน ทำไมยังมีเด็กที่อยู่ในศูนย์เลี้ยงดูใกล้กับโรงขยะ คือที่อ่อนนุช อยู่กับกลิ่นเหม็นกับคุณภาพความเป็นอยู่แย่ๆ 

     ถ้าเราร่วมกันตั้งคำถาม ก็จะมีแรงบันดาลใจในการคิดถึงชีวิตคนรอบข้าง ว่าพวกเขาน่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้นะ และก็จะพาไปสู่การเรียกร้องต่อสู้ในหลายรูปแบบ จะเขียนหนังสือก็ได้ ทำงานศิลปะก็ได้ หรือพูดในโซเชียลมีเดียก็ได้ แต่สังคมต้องการเสียงเหล่านี้ให้มากพอ ต้องไปโวยวายเพื่อให้โครงสร้างของประเทศสั่นสะเทือนและเปลี่ยนแปลง 

     และนี่ก็เป็นเหตุผลที่เราคิดว่าตัวเองยังต้องทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ