LIFE AS A CARTOONIST
ล้อมวงคุยกับ ‘จุ๋มจิ๋ม’ นักวาดการ์ตูนเจ้าของผลงาน ‘หนูจ๋า’ กับนักวาด ‘ขายหัวเราะ’ ยุคแรก
เรื่อง: ปฏิกาล ภาคกาย
ภาพ: ธนพล แก้วแดง
การได้นั่งอยู่ในวงสนทนาที่รายล้อมไปด้วยบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการการ์ตูนไทยแบบนี้ คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป
คนหนึ่งเป็นนักวาดรุ่นเก๋าที่เริ่มโลดแล่นลายเส้น ฝากความขำขัน และน่ารักแกมหยอกของเหล่าตัวการ์ตูนเอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2500
คนหนึ่งเป็นนักวาดรุ่นถัดมาที่ได้รับอิทธิพลจากนักวาดคนแรก จนแทบจะเรียกได้ว่าฝึกวาดฝึกเล่นมุกตามนักวาดรุ่นเก๋า
คนหนึ่งเป็นบรรณาธิการที่มักจะถูกนักเขียนแซวเล่นเสมอๆ และเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารการ์ตูนให้กลายเป็นของติดบ้านทั่วฟ้าเมืองไทย
‘จุ๋มจิ๋ม—จำนูญ เล็กสมทิศ’ ‘ต่าย—ภักดี แสนทวีสุข’ และ ‘วิธิต อุตสาหจิต’ คือสามบุคคลที่กำลังนั่งแลกเปลี่ยนบทสนทนากันอยู่
จากจุดเริ่มต้นที่ ขายหัวเราะ ได้รื้อโกดังต้นฉบับ คัดสรรมุกและลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของอาจุ๋มจิ๋ม หรือที่บางคนเรียกว่า ‘อานูญ’ มาตีพิมพ์เป็นหนังสือ ขายหัวเราะ CLASSIC SERIES: จุ๋มจิ๋ม ก็เป็นโอกาสให้ บ.ก.วิธิตได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนนักเขียนที่ไม่ได้เจอกันมานานอย่างอาจุ๋มจิ๋มในวัย 87 ปี ผู้เคยฝากลายเส้นน่ารักไว้กับ หนูจ๋า รวมถึง ขายหัวเราะ ขณะเดียวกัน ก็ชักชวนต่าย นักวาดเจ้าของลายเส้นปังปอนด์และอะไรอีกมากมาย ให้ไปเยี่ยมและร่วมพูดคุยกับนักวาดที่เจ้าตัวเคารพ
แน่นอนว่าเมื่อทั้งสามคนเจอกัน ก็ทำให้เกิดบทสนทนาต่อไปนี้
บทสนทนาจากนักวาดรุ่นหนึ่งสู่นักวาดอีกรุ่น
บทสนทนาของ บ.ก.กับนักเขียนที่ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งมาด้วยกัน
บทสนทนาที่จะทำให้เห็นร่องรอยและที่มาของความขำขัน
และเป็นบทสนทนาที่ผม—ในฐานะของนักอ่านการ์ตูนคนหนึ่ง อยากถ่ายทอดมาสู่นักอ่านด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรับฟังการพูดคุยกันของตำนานการ์ตูนไทย
ผม: อาจุ๋มจิ๋มเริ่มวาดการ์ตูนตั้งแต่ช่วงไหน
อาจุ๋มจิ๋ม: ตั้งแต่ ป.4 พวกเศษชอล์กที่ครูใช้เขียนกระดานดำ ผมเอากลับบ้านตลอดเลย เก็บใส่กระเป๋า นั่งเขียนการ์ตูนในส้วม จนส้วมมีแต่การ์ตูน (หัวเราะ) แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเขียนการ์ตูนมาจาก ประยูร จรรยาวงษ์ (นักเขียนการ์ตูนผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นราชาของการ์ตูนไทย ผู้ให้กำเนิดตัวละคร ‘ศุขเล็ก’ และเขียนการ์ตูนชุด ขบวนการแก้จน) เพราะเขาเขียนการ์ตูนเป็นกลอน แล้วแม่ผมเขาเป็นนักกลอน สิ่งไหนที่เป็นกลอน แม่สนใจหมด แม่อ่านกลอนให้ผมฟังมาเรื่อยๆ จน ม.1 เริ่มมีสอนการแต่งกลอน วรรณคดีไทย ก็เลยกลายเป็นบันไดให้ผม ทำให้ผมมีความแม่นของการแต่งกลอน
จากนั้นผมก็ค่อยไปสนใจลายเส้นทางของท่านประยูร ลายเส้นของเขานั้นหนักและเบาอย่างเหมาะสม ดูก็รู้ว่าชำนาญมาก ผมเลยฝึกเขียนตาม แต่ผมก็เอาความถนัดกลอนของผมมาทำให้การ์ตูนที่ผมวาดนั้นไม่เหมือนใคร และไม่ให้ใครเขาเขียนเหมือน เขียนการ์ตูนกลอนทั้งเล่ม ผมก็เคยทำมาแล้ว หรือแม้แต่การ์ตูนบล็อกเดียว การ์ตูนตลก ผมก็ใช้กลอน
ต่าย: อาได้เรียนวาดมาบ้างมั้ยครับ
อาจุ๋มจิ๋ม: ผมไม่ได้เรียนโดยตรง ครูที่สอนวาดภาพชื่อสุระ เป็นครูสอนวาดเขียนที่โรงเรียน ครูคนนี้เห็นเรามีฝีมือ แกเลยใช้วิธีกำหนดคำมาให้ แล้วก็ให้เราไปเขียนเป็นภาพมา เหมือนเล่านิทานให้ฟัง แล้วผมก็จับเอาสิ่งสำคัญที่สุดมาเขียนเป็นภาพ บ้านแกอยู่หลังสถานีรถไฟบางซื่อ บ้านผมอยู่แถวตลาดบางซื่อ ห่างกันแค่กิโลฯ กว่าๆ พอเสาร์-อาทิตย์ทำการบ้านเสร็จ ผมก็ถีบจักรยานไปเรียนกับแก ซื้อกาแฟร้อนไปให้แกกินหนึ่งกระป๋องนม (สมัยนั้นมักใช้กระป๋องนมที่หมดแล้วใส่กาแฟ)
ส่วนใหญ่แกมักจะสอนให้วาดภาพคน แต่ที่เน้นหลักๆ จะเป็นสัดส่วนของใบหน้า ครูสุระมักให้วาดภาพเหมือน
หลักการที่เขาสอนก็คือ บอกว่าใบหน้าของคนเราถูกแบ่งไว้เป็นสามส่วน ส่วนแรกคือหน้าผากจากแนวกะโหลกบนสุดถึงคิ้ว ส่วนที่สองคือจากคิ้วถึงปลายจมูก ส่วนที่สามคือจากปลายจมูกถึงปลายคาง ทั้งหมดนี้เป็นสัดส่วนที่สร้างเอาไว้เป็นมาตรฐาน
การวาดภาพเหมือนก็คือ การหาจุดผิดบนใบหน้าของผู้ที่เราจะต้องวาดว่าผิดจากสัดส่วนที่เป็นมาตรฐานตรงจุดไหน หน้าผากกว้างไป ตาตี่ ปากหนา คางยาน หูเล็ก สิ่งที่ผิดจากมาตรฐานเหล่านี้ ถ้าหาพบได้มากและละเอียดเท่าใด ก็จะทำให้เขียนภาพได้เหมือนมากขึ้น
ต่าย: ไม่ได้เรียนโรงเรียนเพาะช่างใช่มั้ยครับ
อาจุ๋มจิ๋ม: ไม่ แต่อาจารย์คนนี้ก็จบจากเพาะช่าง แกสอนพวกอนาโตมี่กับผม ตั้งแต่หัวถึงเท้า สัดส่วนเป๊ะๆๆๆ ตอนหลังพอมาเขียนการ์ตูนก็ต้องฝืน เพราะเราไม่ได้เรียนวาดการ์ตูนมา
บ.ก.วิธิต: เพราะแบบนี้สัดส่วนในงานนิยายภาพของน้านูญถึงเป๊ะมากๆ
อาจุ๋มจิ๋ม: เป๊ะสิ เพราะผมเรียนมาทางนี้ ผมเรียนพวกสเกลมา ไม่ใช่ว่าไม่เรียนแล้วหลับหูหลับตาวาด (หัวเราะ)
ผม: ก่อนจะมาวาดให้เครือบรรลือสาส์นอย่าง ขายหัวเราะ อาจุ๋มจิ๋มวาดให้ที่ไหนมาบ้าง
อาจุ๋มจิ๋ม: ตอนแรกผมวาดอยู่นิตยสาร ภูกระดึง แถวราชดำเนิน ได้ออกแบบหัวคอลัมน์นิดๆ หน่อยๆ จากนั้นก็วาดให้ เดลิเมล์ เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน อยู่แถวสี่พระยา แล้วก็มาเป็นนักข่าวสังคมอยู่พักหนึ่งกับ เดลิเมล์วันจันทร์ ตอนนั้น มานิต ศรีสาคร เป็นบรรณาธิการ ก็บอกว่าคุณเขียนการ์ตูนได้ เอามาลงกับผม ก็เลยได้เขียนการ์ตูนบล็อกเดียวพร้อมกับเป็นนักข่าวสังคม จากนั้นมาเขียนให้ รักษาดินแดนวารสาร พอไปเป็นทหารอากาศก็เขียนให้เขาอีก แล้วก็ค่อยมาเขียนให้ที่นี่ (บรรลือสาส์น)
บ.ก.วิธิต: ตอนนั้นเห็นอาแต่งชุดทหารอากาศสีฟ้า หล่อเลย
อาจุ๋มจิ๋ม: โอ๊ย หล่อแหลกลาญ หล่อจนไปไหนหมาก็ไล่เห่า (หัวเราะ)
ผม: ทำไมถึงใช้นามปากกาว่าจุ๋มจิ๋มเหรอครับ
อาจุ๋มจิ๋ม: เพื่อนผมตั้งให้ นั่งกินเหล้ากันอยู่ แล้วผมก็ให้มันเขียนชื่อมาหลายๆ ชื่อ แล้วมันก็จี้ไปที่ชื่อนี้ ผมก็ใช้มาตั้งแต่วันนั้น (หัวเราะ)
ผม: จำครั้งแรกที่เจอ บ.ก.วิธิตได้มั้ยครับ
อาจุ๋มจิ๋ม: เจอวิธิตตั้งแต่ยังเด็ก ไม่รู้ ป.1 หรือ ป.2 เขาทำการบ้านไม่ได้ ยืนแหกปากร้องไห้ ผมต้องไปสอน เพราะแม่เขามาบอกผมว่าคุณนูญช่วยสอนการบ้านวิธิตที (หัวเราะ)
บ.ก.วิธิต: ผมเป็นลูกชายคนโต ไม่มีพี่สาวหรือพี่ชายคอยสอน ก็ต้องอาศัยน้านูญนี่แหละ
ไหนๆ ก็เล่าเรื่องเก่าแล้ว น้านูญลองเล่าตอนที่เจอป๊า (บันลือ อุตสาหจิต ผู้ก่อตั้งบรรลือสาส์น) ครั้งแรกหน่อยสิ ใครเป็นคนแนะนำ
อาจุ๋มจิ๋ม: คนแนะนำคือไอ้ภาค เป็นนักข่าว เดลิเมล์วันจันทร์ มันบอกว่ารู้จักกับสายส่งแล้วก็พวกสำนักพิมพ์ เลยพามา
บ.ก.วิธิต: เขาพามาแล้วเจอป๊าบันลือเลยเหรอ
อาจุ๋มจิ๋ม: ไม่เจอ ป๊าไปไหนไม่รู้ คนในร้านบอกว่าไม่อยู่ ถามว่ามีธุระอะไร ก็บอกว่าผมจะเขียนการ์ตูนมาส่ง เขาบอกว่าต้องมาเย็นๆ ก็เลยกลับมาอีกครั้ง คราวนี้พบกันตัวต่อตัวเลย
บ.ก.วิธิต: ครั้งแรกที่เจอเป็นยังไง
อาจุ๋มจิ๋ม: เมื่อก่อนเรียกคุณบันลือว่าผู้จัดการ ก็ถามว่าคุณเป็นผู้จัดการร้านนี้ใช่มั้ย บอกเขาไปว่าผมจะขอเขียนการ์ตูนมาส่ง จะรับมั้ยครับ เขาบอกว่าเอามาดูก่อนสิ เลยบอกกลับไปว่าอาทิตย์หน้าจะเอามาส่ง ต้องเขียนกี่หน้า ต้องวาดขนาดไหน เขาก็หยิบงานของลุงโกร่ง (เสถียร หาญคุณตุละ หรือเจ้าของนามปากกา ‘จิงโจ้’ นักวาดการ์ตูนรายแรกของบรรลือสาส์น) มาให้ดู แล้วเราก็กลับไปเขียน นั่นแหละจุดเริ่มต้น
บ.ก.วิธิต: ตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มทำ หนูจ๋า ใช่มั้ย
อาจุ๋มจิ๋ม: หนูจ๋า นี่เศก ดุสิต (เริงชัย ประภาษานนท์ นักเขียนเจ้าของผลงาน อินทรีแดง) เป็นคนแนะนำ เขาบอกฝีมือเราพอไปได้ แล้วก็บอกให้เราลองเขียนแบบจบในเล่มดู ก็เลยเขียนโครงเรื่องให้เขาอ่าน แล้วนิตยสาร ตุ๊กตา กำลังดัง เศกก็บอกให้ทำไซส์เดียวกับ ตุ๊กตา ไปเลย พอเขาอ่านก็ดันชอบ เลยส่งต่อให้เซ้ง (คุณบันลือ) ซึ่งเขาก็โอเค หนูจ๋า เล่มแรกเลยได้ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2500
บ.ก.วิธิต: ถ้าพูดถึงน้านูญ คนก็มักจะนึกถึงอาวัฒน์ (วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ นักวาดการ์ตูนประจำ เบบี๋ และ ขายหัวเราะ) เหมือนว่าเป็นนักวาดที่มีชื่อเสียงในช่วงเวลาเดียวกัน แถมช่วงนั้นก็สนิทกันด้วย น้านูญยังจำครั้งแรกที่เจออาวัฒน์ได้หรือเปล่า
อาจุ๋มจิ๋ม: ไอ้วัฒน์มาทีหลัง มันมาจากนิตยสาร บางกอก มาถึงมันก็มองหน้า เราก็ไม่รู้จักมัน แต่มันดันรู้จักเรา มันพูดว่า “พี่จุ๋มจิ๋มใช่มั้ยครับ” เมื่อก่อนมันเรียกกูว่าพี่นะ แต่ตอนหลังถ้าไม่เรียกว่ามันก็เรียกว่ามึง ไอ้สันดาน (หัวเราะ)
ตอนนั้นวัฒน์ถามว่าจะออกจากที่เดิมดีมั้ย เราก็บอกว่าดีสิ อาชีพเดียวกัน จะได้ช่วยกันทำ จะได้มีหลายๆ ฉบับ ไม่ใช่มีอยู่ฉบับเดียว สำนักพิมพ์เดียว หลังจากนั้นก็เริ่มมีนักเขียนเข้ามาอีกหลายคน จนตอนหลังเริ่มแตกแขนงกลายเป็น ขายหัวเราะ, มหาสนุก แล้วก็อีกพรึ่บเลย
ผมบอกผู้จัดการตั้งแต่แรกแล้วว่าให้แตกออกเป็นหลายๆ หัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาใจไม่ถึงนะ กำลังคนเขาไม่พอ ทำอยู่คนเดียว ทั้งบากบั่น ทั้งมานะ แล้วนี่พูดตามความจริงไม่ได้ยกยอปอปั้นนะ ถ้าไม่มีคุณเซ้งหรือเตี่ยเขา (ชี้ไปที่ บ.ก.วิธิต) ไม่มีสิ่งเหล่านี้หรอก
คุณคิดดูสิ จะทำหนังสือแต่ไม่มีกระดาษสักแผ่นเดียว แต่สามารถทำสำนักพิมพ์ได้ แจ๋วมั้ย ถ้าไม่มีฝีมือทำไม่ได้นะ ผมนับถือเขาจริงๆ
ต่าย: จากที่วาดภาพเหมือน อาจุ๋มจิ๋มทำยังไงถึงมาคลี่คลายเป็นการ์ตูนแบบฉีกแนวไปได้
อาจุ๋มจิ๋ม: ผมเรียนมาทางนี้ ผมเลยรู้ว่าต้องวาดแบบไหนถึงจะให้ความรู้สึกยังไง ถ้าคนไม่เรียนมาอาจจะวาดตามสเกตช์ แต่ผมรู้ว่าตรงไหนต้องยิ้ม ตรงไหนต้องย่น ต้องวาดเส้นยังไงเพื่อให้คนเข้าใจความรู้สึกที่เราอยากจะสื่อ
ต่าย: ต่ายขโมยเรียนจากอาจุ๋มจิ๋มนะ พวกลายเส้น พวกเส้นขยับ
อาจุ๋มจิ๋ม: เฮ้ย (แบมือแล้วทำท่าทวงเงิน)
(หัวเราะทั้งวง)
บ.ก.วิธิต: ผมเคยถามต่ายว่าใครเป็นต้นแบบของการวาดงาน เขาก็บอกว่าน้านูญนี่แหละ
ต่าย: ตอนเด็กๆ ต่ายเรียนไม่เก่ง ไม่มีความหวังเรื่องการเรียนเลย แต่พอชอบอาจุ๋มจิ๋มก็มีความหวังที่อยากจะเป็นนักเขียนการ์ตูน ต่ายเคยไปลองวาดตามการ์ตูนของพวกวอลต์ ดิสนีย์ แต่ก็รู้สึกว่างานของเราไม่ใช่อารมณ์แบบนั้น
อาจุ๋มจิ๋ม: คนเรามันอยู่เอเชีย จิตสำนึกมันฝังไปหมดแล้ว เข้าใจมั้ย คุณลองนึกในใจเลยว่าถ้าคุณเป็นคนยุโรปแล้วคุณต้องวาดขุนช้าง-ขุนแผน เจ๊งนะ คนเอเชียไม่อ่านหรอก ที่สำคัญ คุณต้องฟังจิตสำนึกของคนอ่านด้วย
ต่าย: ต้องรู้ว่าเขียนให้ใครอ่าน
อาจุ๋มจิ๋ม: ใช่ สมมติว่าเขียนให้คนไทยอ่าน แล้วเรื่องนั้นเป็นวรรณคดี อย่าดัดแปลงเป็นอย่างอื่นเลย เอาแก๊กใส่เข้าไปได้ แต่เอกลักษณ์ที่มันมีอยู่แล้ว อย่าไปเปลี่ยนของเขา
ต่าย: งานของอาจุ๋มจิ๋มจะมีจุดเด่นอีกอย่างคือการเขียนการ์ตูนจากเนื้อเพลง แนวคิดนี้มาจากไหน
อาจุ๋มจิ๋ม: มาจากเราอยากทำแก๊ก ซึ่งถ้าจะทำวิธีนี้ คุณต้องอ่านเพลงแล้วตีโจทย์ให้แตก ต้องอ่านเพลงให้เข้าใจก่อนว่าเพลงนี้มีความหมายอะไรบ้าง เป็นเพลงรัก เป็นเพลงอะไร ลูกทุ่งหรือลูกกรุง แล้วคุณหั่นเป็นท่อน ท่อนนี้รักคุณเท่าช้าง เจอช้างแน่ มันอยู่ที่ว่าเราจะดึงคำของเพลงมาเล่นยังไง ใครดึงได้ดีกว่า คนนั้นก็ชนะไป
ผม: พวกคาแรกเตอร์อย่างลุงเกลี้ยงหรือโฉมฉุน อาจุ๋มจิ๋มเอามาจากไหน
อาจุ๋มจิ๋ม: สมมติคุณจะมองใครสักคนให้เป็นคาแรกเตอร์ คุณมองให้เขาเป็นการ์ตูนไปเลย เขียนหน้าเขาให้คล้ายๆ แค่นิดหน่อยพอ นอกนั้นเขียนเป็นการ์ตูนให้หมด ลุงเกลี้ยงนี่ผมจำไม่ได้ แต่ที่จำได้คือพอผมวาดลุงเกลี้ยง ไอ้วัฒน์ก็วาดลุงเหน่งตามมา (หัวเราะ) ส่วนโฉมฉุน ผมเอาเมียไอ้วัฒน์มาเขียน เอาเอกลักษณ์เขามาใช้
การวาดคาแรกเตอร์มันง่ายนะ แต่การปั้นให้ดังนี่ยากกว่า ต้องใช้แก๊ก ต้องใช้ลักษณะท่าทาง ต้องใช้หลายอย่าง ผมเคยบอกไอ้วัฒน์ว่ามึงลองวาดเมียมึงสิ มันบอกไม่เอา กลัวเมีย ผมเสียดายแทนมัน เพราะนักวาดการ์ตูนสมัยนั้นต้องมีสองอย่าง
หนึ่ง—ทะลึ่ง ไม่ทะลึ่งไม่ได้ดีหรอก ยิ่งสำนักพิมพ์นี้นะ คนไหนไม่ทะลึ่งไม่ได้ดี ผมต้องบอกบางคนให้หัดทะลึ่งบ้างซี่ มึงเป็นนักเขียนการ์ตูน สอนไม่จำ (หัวเราะ)
สอง—ต้องรอบตัว พูดง่ายๆ การเขียนการ์ตูน มันต้องกะล่อนรอบตัวเลยถึงจะอยู่รอด จะทื่อเหมือนราชการเช้าชามเย็นชามมันไม่ได้ ไฟมันตีบตัน ถ้าเราตันก็ต้องหาทางออกไปเรื่อยๆ อย่างผมเริ่มต้นมาจากผี ก็วาดไปหมด เอาหมดทุกอย่าง ผมเขียนไตเติลหนังเรื่อง กามเทพเล่นกล ได้รางวัลตุ๊กตาเงินด้วยนะครับ บอกเลยว่าถ้าผมไม่ดิ้นเหมือนหมาบ้าไม่มีทางได้หรอก
ถ้าทางไหนตันก็ต้องหาทางดำดินไปเรื่อยๆ โฆษณาผมก็ทำ นักวิทยุผมก็เป็น แล้วไหนจะเป็นนักเขียนการ์ตูนอีก
ต่าย: ช่วงนั้นไม่สนใจเป็นพระเอกหนังบ้างเหรอครับ
อาจุ๋มจิ๋ม: สิ่งไหนที่เกินความสามารถเรา อย่าฝัน เปลืองสมอง เอาที่มันทำได้ อย่างนายฝันว่าจะเป็นนายกฯ อย่าฝัน เลิกฝันได้เลย ถ้าฝันต้องให้เรารู้ตัวเอง ไอ้ฝันที่เป็นไปไม่ได้ ฝันทำไม เปลือง
ต่าย: ต่ายฝันเลยว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูนแบบอาจุ๋มจิ๋มนี่แหละ เป้าหมายเดียวเลย
บ.ก.วิธิต: อันนี้เรื่องจริง สมัยก่อนใครที่ฝันเป็นนักเขียนการ์ตูน ต้องมีไอดอลเป็นจุ๋มจิ๋ม
ต่าย: ตอนต่ายเอาอาเป็นต้นแบบในใจ ต่ายคิดเลยว่าจะไม่เรียนศิลปะ ไม่สนใจจะไปเข้าเรียนพวกเพาะช่างเลย ต่ายคิดว่าเดินตามอาแล้วก็เรียนภาคปกติไป แล้วก็ฝึกฝนตามแบบที่เราชอบ ชอบอาก็เขียนตามอา แล้วเราก็ศึกษาเรื่องอื่นด้วย ก็ไม่รู้มาถึงตรงนี้ได้ไง
บ.ก.วิธิต: งานที่เขาเสนอมาแรกๆ จะมีกลิ่นอายเหมือนงานของอาเลย
ต่าย: เส้นไม่ได้เหมือนนะ เพราะแย่มาก แต่ว่าอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาในตัวงานคือเหมือนอยู่
อาจุ๋มจิ๋ม: วาดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะเป็นตัวเองแบบนี้แหละ ถ้าเราจะทำอะไรนะ เราต้องไฟต์ อย่างถ้าจะเป็นนักวาดการ์ตูน เราก็ต้องรักในวิชาชีพนี้ ผมเคยถามนักวาดคนหนึ่งว่ารักในอาชีพนี้มั้ย เขาบอกไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ผมชอบภาพวาดวิจิตร เอ้า แล้วมึงมาเขียนการ์ตูนทำไม (หัวเราะ)
คนเราต้องรู้ตัวก่อน รู้ความสามารถของตัวเองก่อน วิชาการกับประสบการณ์ต้องเสมอกันถึงจะไปรอด ถ้าคุณมีแต่วิชาการ คุณไม่มีประสบการณ์ คุณก็โดนหลอกหมดสิ คุณต้องบาลานซ์ทั้งสองอย่างให้ได้ จากนั้นค่อยใช้สมอง ใช้สติ ใช้ความรู้ความสามารถไปตามกระบวนการ แล้วคุณก็จะไม่พลาด
ผมพูดมาเยอะแล้ว (หันไปหา บ.ก.วิธิต) ขอเบิกค่าเหนื่อยหน่อย เหนื่อยแล้ว (หัวเราะ)
หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาใน ‘ขายหัวเราะ CLASSIC SERIES: จุ๋มจิ๋ม’ หนังสือที่คัดสรรผลงานในตำนานของนักวาด ‘ขายหัวเราะ’ กลับมาตีพิมพ์ใหม่