Thu 12 Jan 2023

WHERE FLOWERS BLOOM

คุยกับผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ lily house. โอเอซิสของชาวหญิงรักหญิง

     “ก่อนหน้านี้ไปทานข้าวกับอ.คนวาดการ์ตูนยูริญี่ปุ่นมา เค้าตกใจมากๆที่คนก่อตั้งสนพ.ญญในไทยทุกคนเป็นเลสฯหมดเลย เค้าบอกว่าถ้าเป็นในญปคนก่อตั้งอาจจะเป็นคุณลุงก็ได้”

     ข้อความข้างต้นมาจากทวิตเตอร์ของคุณ yuri_haru9 หรือคิว หนึ่งในผู้ก่อตั้ง lily house. สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ และศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารของชาวหญิงรักหญิง

     lily house. เริ่มต้นจากฝันเล็กๆ ของคนกลุ่มหนึ่งที่อยากช่วยให้นักเขียนอิสระเป็นที่รู้จัก และช่วยให้เหล่านักอ่านในคอมมิวนิตี้ LGBTQ+ ได้มีพื้นที่ค้นหาหนังสือที่พวกเขาอยากอ่าน

     ด้วยแพสชั่นและใจรัก lily house. จึงก่อตั้งขึ้นในปี 2020 ท่ามกลางมรสุมไวรัสโควิด-19 ทุบกระปุกมาลงทุนกันเอง ใช้ห้องว่างในบ้านเป็นที่สต็อกหนังสือ ก่อนจะค่อยๆ เป็นที่รู้จัก ได้ลิขสิทธิ์งานต่างประเทศมาตีพิมพ์ มีนักเขียนส่งต้นฉบับมาหาไม่เว้นวัน และได้มีบูธเป็นของตัวเองในงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ผ่านมา

     จริงๆ ทางสำนักพิมพ์มีผู้ก่อตั้งสี่คน แต่หนึ่งคนติดภารกิจมาไม่ได้ วันนี้เราจึงชวนสามผู้ก่อตั้งอย่าง ‘คิว—พิมพ์ชนก เจียรวัฒนกุล’, ‘ดา—ชลลดา กิตติดุษฎีธรรม’ และ ‘จูน—ฐิตาภา สุขเกษม’ มาพูดคุยถึงวันแรกที่พวกเธอมารวมตัวกัน สู่วันนี้ที่ lily house. กลายเป็นโอเอซิสที่รวบรวมนิยายไทย นิยายแปล ไลต์โนเวล และการ์ตูนแนวหญิงรักหญิงของเหล่านักอ่าน

ทั้งสามคนรู้จักกันได้ยังไง

     ดา: พวกเราเป็นคนในคอมมิวนิตี้ LGBTQ+ รู้จักกันผ่านทวิตเตอร์มา 3-4 ปี มีความชอบงานแซฟฟิกทั้งหนัง ซีรีส์ นิยาย การ์ตูน หรืออนิเมะเหมือนๆ กัน 

คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับคำว่ายูริหรือเลสเบี้ยนมากกว่า คำว่าแซฟฟิกเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่เมื่อไหร่

     คิว: เรื่องที่มาที่ไปอาจไม่รู้ละเอียด แต่เราพอรู้ว่าแซฟฟิกคือการเรียกที่กว้างขึ้น เลสเบี้ยนเป็นซับเซตของแซฟฟิกอีกที 

     ดา: แซฟฟิกคือผู้หญิงรักผู้หญิง แต่เราไม่ได้จำกัดว่าเขา identified ตัวเองว่าเลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล หรือว่าอะไร คนส่วนใหญ่ก็จะสบายใจกับการอยู่ใต้คำว่าแซฟฟิกมากกว่า อย่างยูริก็เป็นคำจากญี่ปุ่น บางคนก็คิดว่ามันเป็นนิยายหรือการ์ตูน แต่ชีวิตฉันไม่ใช่นิยายหรือการ์ตูนนะ 

สมัยก่อนกลุ่มคนอ่านนิยายหญิงรักหญิงไปรวมตัวกันที่ไหน

     ดา: สมัยก่อนจะเป็นเว็บบอร์ด เวลาอ่านนิยายหรือการ์ตูนก็จะมีเฉพาะของเขา เช่น come on หรือ dek-d จริงๆ ตอนนั้นก็มีสำนักพิมพ์สะพานที่ตีพิมพ์แต่ผลงานวรรณกรรมหญิงรักหญิง ถือเป็นรุ่นบุกเบิกเลย เขาก็คงมีคอมมิวนิตี้ที่สร้างมาจากตรงนั้นด้วย เราเองก็เคยอ่านนิยายของสะพาน เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่าจะไปอ่านที่ไหน แต่หนังสือไม่ได้มีเยอะอย่างตอนนี้ 

     คิว: แต่ถ้าเทียบกับวายชายรักชายที่มียุคหลุมดำ ต้องบอกตามตรงว่านิยายแซฟฟิกไม่ได้เป็นที่แพร่หลายเท่า มันมีน้อยมาก จนไม่กระทบกับนักอ่านเลย

จากการรวมตัวกันเพราะชอบวัฒนธรรมป๊อปคล้ายๆ กัน มาสู่การก่อตั้งสำนักพิมพ์ได้ยังไง

     คิว: เริ่มตอนปี 2020 โควิด-19 กำลังระบาดหนัก งานไม่ค่อยมี มันว่างๆ เลยอยากหาอะไรทำกัน

     ดา: จริงๆ คิวเป็นเพื่อนกับผู้ก่อตั้งอีกคนมานานแล้ว เรากับพี่จูนมารู้จักคิวตอนหลัง ช่วงหลังๆ ก็สนิทกันมาก คิวกับเพื่อนมีโปรเจกต์อยากทำเว็บบอร์ดรวบรวมข่าว LGBTQ+ ซึ่งเพื่อนอีกคนทำเว็บได้ พอมีเรากับพี่จูนเข้ามาก็เลยเสนอว่าลองทำเป็นสำนักพิมพ์ไปด้วยมั้ย 

     อีกทั้งตอนนั้นการอ่านวรรณกรรมแซฟฟิกโดยนักเขียนไทยมันกระจัดกระจายมาก ทุกคนรู้จักและติดตามนักเขียนผ่านทวิตเตอร์ เวลาอยากได้หนังสือของนักเขียนคนไหนก็ต้องไปพรีออร์เดอร์กับคนนั้น เราคิดว่านักอ่านหลายๆ คนอาจจะรู้สึกลำบากตรงนี้ที่ต้องมาตามพรีฯ ทีละคน หรือบางคนอาจจะพลาดซื้อหนังสือดีๆ เลยคิดว่าทำให้เป็นศูนย์รวมไปเลย เป็นสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ และศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร

สนใจที่คุณคิวทวิตเรื่องนักวาดตกใจที่สำนักพิมพ์ก่อตั้งโดยหญิงรักหญิง ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นคนก่อตั้งอาจจะเป็นคุณลุง

     คิว: เราไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมการเสพสื่อด้วยหรือเปล่า ตอนเราเรียนที่ญี่ปุ่น เวลาไปอีเวนต์ยูริ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนมาร่วมงานและผู้ผลิตคือผู้ชาย

     ดา: บางคนบอกว่าลุงญี่ปุ่นอยู่เบื้องหลังทุกอุตสาหกรรม (หัวเราะ) เขาเลยประหลาดใจที่ผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิงหมดเลย แถมเป็นเลสเบี้ยนหมดด้วย 

อยากรู้ว่าพอเป็นทั้งสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ บาลานซ์เรื่องการขายยังไง

     ดา: ทางเราก็พยายามบาลานซ์ทั้งงานของสำนักพิมพ์และร้านหนังสือให้เท่าๆ กันเท่าที่จะทำได้ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ มีนักเขียนอิสระไฟแรงเยอะมาก ทำให้ปริมาณงานเพิ่มขึ้นจนล้นมือ แต่ความสนุกที่จะได้ทำก็มากขึ้นเช่นกัน เราเต็มที่กับทั้งสองด้าน ทั้งการเป็นสำนักพิมพ์และร้านหนังสือเลยค่ะ

อยากรู้วิธีการคัดเลือกต้นฉบับ

     คิว: บ.ก.ของที่นี่จะมีหลักๆ สองคน เวลาเลือกผลงานก็จะเลือกตามสไตล์ที่พวกเราชอบ เราอ่านแล้วสนุกไปกับมัน อยากเผยแพร่ให้คนอื่นได้อ่านด้วย ถ้าดูจากงานของ lily house. ส่วนมากจะออกแนวแฟนตาซี หรือแนวเกิดใหม่ในต่างโลก

     ดา: ก็มีผลงานอบอุ่นหัวใจ ไม่ดราม่าหนัก เรื่องสั้นด้วย แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้นักเขียนมีเยอะ เราก็พยายามจะสนใจแนวอื่นไว้เหมือนกัน เพราะเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้ตลาดด้วย

ช่วงแรกมีความยากยังไงบ้าง

     ดา: เราระดมทุนกันเองด้วยเงินส่วนตัวโดยไม่มีใครรู้เรื่องการทำสำนักพิมพ์มาก่อน ช่วงปีแรกก็ค่อนข้างหนัก ต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด การจัดหน้า การติดต่อสำนักพิมพ์ต่างประเทศ 

     ที่ทำงานก็จะเป็นบ้านของแต่ละคน ตอนเริ่มทำเรายังไม่มีโกดัง ก็จะสต็อกหนังสือที่บ้านเรากับพี่จูน แล้วก็แพ็กกันเอง ห่ออย่างดี หาเชือก มีสติกเกอร์แถม จริงใจมาก ให้รู้ว่าเรามัน small business (หัวเราะ) อย่างเราเป็นแผนกแพ็ก ส่วนคิวก็ดูเรื่องออร์เดอร์ พอเริ่มมีคนสั่งเยอะก็เริ่มเกณฑ์พ่อแม่พี่น้องมาช่วยแพ็ก 

ที่บอกว่าเรายังทำอะไรไม่ค่อยเป็น แล้วนักเขียนเชื่อใจเรามั้ย

     คิว: ก็มีนักเขียนที่เห็นใจเรา 

     ดา: ใช้คำว่าเห็นใจ (หัวเราะ) ต้องบอกว่าทุกคนอยากผลักดัน อยากให้คอมมิวฯ เติบโตกว่านี้ พอเขาเห็นอะไรใหม่ๆ เขาก็อยากจะช่วย ที่ lily house. มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะนักเขียนอิสระที่ให้โอกาสเราในตอนนั้น

ตอนริ่มต้นทำสำนักพิมพ์คือทำทั้งงานไทยและงานแปลเลยหรือเปล่า

     คิว: ติดต่อตั้งแต่ก่อตั้งได้ประมาณ 4-5 เดือนเลยค่ะ ด้วยความที่เราชอบอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นก็อยากทำ พอได้มาจับธุรกิจหนังสือเลยคิดว่าทำสักหน่อย ถือว่าสานฝัน 

     ดา: ส่วนใหญ่ที่ติดต่อไปจะเป็นของญี่ปุ่นซึ่งมีวัฒนธรรมที่เคร่งและเก่าแก่นิดนึง เขาเห็นเราเป็นสำนักพิมพ์ใหม่ ก็อาจจะไม่ได้สนใจ จนเราเริ่มได้โอกาสจากบริษัทหนึ่งที่ให้ลิขสิทธิ์เรื่อง ทำไงดีเกมนี้นางร้ายน่ารัก มาทำ

     คิว: เรื่องนี้ดังมาก แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนในไทยหยิบมาสักที จนเราหยิบเรื่องนี้มาแล้วมันบูม เขาเลยเห็นว่ามันขายได้ เลยเริ่มมากันเรื่อยๆ

มีคนบอกว่างานแซฟฟิกไทยเหมือนของโอท็อป เขียนเองอ่านเอง จริงมั้ยที่คนเขียนและคนอ่านส่วนใหญ่เป็นคนในคอมมิวฯ

     ดา: จากการอยู่ในคอมมิวฯ นี้มา โดยส่วนตัวเราคิดว่าส่วนใหญ่นักเขียนจะเป็น LGBTQ+ ส่วนนักอ่านตอนแรกคิดว่าจะมีแต่คนในคอมมิวฯ อ่าน แต่พอมาทำร้านหนังสือ ได้เจอลูกค้าจริงๆ กลายเป็นว่าผู้หญิงผู้ชายแทบจะอย่างละครึ่งเลย

เหมือนทาง lily house. ก็ร่วมงานกับสำนักพิมพ์อื่นๆ ในการรับหนังสือมาขายด้วย

     คิว: ด้วยความที่เราเป็นร้านหนังสือเนอะ เราอยากเป็นจุดศูนย์รวม สมมติมีคนอยากอ่านผลงานหญิงรักหญิงของหลายๆ สำนักพิมพ์ เราก็อยากให้เขาหาง่ายๆ 

แล้วจากร้านออนไลน์ ไปมีบูธอย่างจริงจังในร้านหนังสือได้ยังไง

     ดา: อันนี้ก็ห้ำหั่นเหมือนกัน เพราะการจะเป็นหนึ่งในสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ที่จะมีสิทธิ์จับฉลากบูธก็จะมีคุณสมบัติที่เขาต้องการอยู่ เราก็รอวันที่จะได้เข้าไปสักทีเพราะอยากเห็นหนังสือแซฟฟิกอยู่ในงานหนังสือเยอะๆ พอถึงวันที่เราเข้าไปได้แล้วเราก็ทำเต็มที่

     จากออนไลน์ไปออฟไลน์คือเริ่มใหม่หมดเลย เราจะเอาอุปกรณ์อะไร ใช้เชลฟ์ยังไง จัดวางยังไง แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยการร่วมมือร่วมใจกัน มีการรับสมัครพนักงานพาร์ตไทม์มาช่วยด้วย 

แบบนี้คุณคิวต้องลางานมาขายมั้ย

     คิว: ถามได้ตรงมากเลย (หัวเราะ) ก็พยายามดูว่าในตารางตรงไหนจะแทรกไปได้บ้าง มีลางานมาช่วยจัดบูธบ้าง

     ดา: ถ้าเป็นวันธรรมดาก็จะเป็นเรากับพี่จูน คิวจะมาวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ก็วันธรรมดาตอนเย็น วิ่งวุ่น แต่ก็สนุกมาก

ผลตอบรับเป็นไงบ้าง

     คิว: ตอนแรกคิดว่าจะไม่มีคนมาที่บูธเลย แต่กลับกลายเป็นว่ามีคนมาเยอะมาก น่าจะเพราะในบูธเรามีทั้งนิยายไทย นิยายแปล การ์ตูน เหมือนโอเอซิสที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับคนที่ชอบแนวหญิงรักหญิง 

     จูน: แล้วก็จากที่เป็นออนไลน์มาออฟไลน์ เราได้เห็นลูกค้าจริงๆ มันก็อิมแพกต์ ลูกค้าเราหน้าตาเป็นแบบนี้ บางคนก็มาพูดว่าดีใจนะที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ 

ในงานหนังสือที่ผ่านมาเล่มไหนขายดีที่สุด

     คิว: เราคิดว่าเรื่อง รอยจูบนั้นที่ฉันโหยหา (Miyuki Yorita เขียน) ขายดีมากที่สุด เพราะอาจารย์นักวาดมาแจกลายเซ็น ยิ่งทำให้นักอ่านอยากซื้อ 

     ดา: ตอนแรกที่เรารู้จักกับเขาผ่านทางเอเจนต์ เขาก็อยากมาเที่ยวไทย เลยคิดกันว่าอยากมาแจกลายเซ็นมั้ย เขาก็ยินดี แถมมานั่งให้ทั้งวันเลย 

ฟีดแบ็กจากนักเขียนเป็นยังไง

     คิว: เขาก็ตกใจ เพราะที่ญี่ปุ่นไม่มีใครมาต่อคิวเขาเยอะแบบนี้ 

     ดา: ตอนแรกจะอยู่แค่ชั่วโมงเดียว สรุปคืออยู่จนกว่าจะถึงคนสุดท้ายเลย แล้วเขาวาดรูปให้ทุกคนด้วย คอมมิวฯ นี้คือเกื้อกูลกันระดับโลก 

พอนิยายแซฟฟิกเริ่มบูม หลายสำนักพิมพ์ก็น่าจะเห็นโอกาส รู้สึกยังไงถ้าในอนาคตมีเจ้าอื่นมาลงเล่นด้วยในตลาด

     ดา: อยากเห็นมาก เพราะเราก็เป็นคนในคอมมิวฯ เราอยากเห็นมันเติบโต แล้วการที่ยิ่งมีผู้ผลิตเยอะ ผู้อ่านเยอะ มันก็เป็นตัวบอกว่าสังคมให้ความสนใจและยอมรับเรื่องนี้ มันส่งผลไปถึงคอมมิวฯ โดยตรงว่าอย่างน้อยในระดับบุคคล เขาเปิดรับเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดี

     แล้วยิ่งสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ทำ ก็ยิ่งเข้าถึงคนได้มากขึ้น การที่เขาหยิบมาทำ อย่างน้อยในด้านคอมมิวฯ เรารู้สึกอิ่มใจ 

     คิว: อาจจะเป็นคู่แข่งด้านการตลาด แต่ก็เป็นพันธมิตรด้วย เป็นการช่วยส่งเสริม เป็นกระบอกเสียง ให้คนเห็นเรามากขึ้น 

ทางบริษัทผู้ผลิตละครก็เริ่มจับนิยายแซฟฟิกไปทำเป็นซีรีส์ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ยังไง

     ดา: รู้สึกเลยว่าตอนนี้เป็นยุคทอง (หัวเราะ) แน่นมาก มันก็อิ่มอกอิ่มใจที่เราจะมีสื่อที่หลากหลายมากขึ้นในการเสพจากค่ายต่างๆ อย่างกันตนาก็เพิ่งประกาศทำซีรีส์เรื่อง Reverse 4 you ดาวบริวาร เป็นของนักเขียนอิสระที่เคยให้โอกาสเราในช่วงแรกๆ เหมือนกัน ก็ดีใจที่เห็นเขาเติบโต ได้ลงจอทีวีแมสๆ

     เราว่าซีรีส์ใหม่ๆ ทำดีนะ เขาให้เกียรติคอมมิวฯ เรา เขามองว่าความรักของเราเป็นความรักทั่วไปที่เกิดขึ้นได้จริง คิดว่ามันเป็นสัญญาณบวก 

     คิว: อย่างเช่นเรื่อง GAP the series ก่อนหน้านี้ประมาณต้นปีก่อน เขาออกตัวทีเซอร์มา แล้วมันขายเรื่องอย่างว่ามากเกินไป กระแสจากคนในคอมมิวฯ ก็ตีกลับ ทำให้ผู้จัดรับรู้ว่าถ้าคุณจะมาขายเรื่องแบบนี้ให้คนในคอมมิวฯ เสพ มันไม่ได้นะ เขาก็รับทราบและนำไปแก้ไข ทำให้ผลงานออกมาดีมาก

ตัวกระแสไม่ว่าจะวายหรือแซฟฟิกที่มาจากวัฒนธรรมป๊อป ส่งผลต่อการรับรู้เรื่องความหลากหลายของคนในสังคมบ้างมั้ย

     ดา: เราว่าสื่อที่ถูกเสพโดยคนเยอะๆ มันเป็นตัวบอกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ การที่มีสื่อพวกนี้เยอะมากขึ้น ทำให้คนในคอมมิวฯ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคนในสังคมนี้มากขึ้น มันมีพื้นที่ของคนแบบฉันโลดแล่นอยู่ในทีวี หรือหนังสือที่เขาอ่าน

     โดยส่วนตัวเราที่เป็นคนหนึ่งในคอมมิวฯ ความฝันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการถูกยอมรับ แค่คนคิดว่าความรักเราไม่ต่างจากหญิงชายที่เธอเคยเห็นมา ความรักเป็นภาษาสากล ใครๆ ก็เข้าใจได้ คิดว่ามันก็จะช่วยสื่อสิ่งนี้ไปให้คนในสังคมมากขึ้น

จากเป้าหมายในวันแรกที่อยากเป็นศูนย์รวมข้อมูล อยากตีพิมพ์งานที่เรารัก ณ วันนี้ที่เปิดมาสองปี มันเข้าใกล้ตรงนั้นมากแค่ไหน

     คิว: เกินกว่าที่คาดไว้เยอะ เพราะตอนแรกเราแค่อยากทำเว็บบอร์ด ไปๆ มาๆ ทำสำนักพิมพ์ ทำร้านหนังสือ ด้วยลูกค้าและคนที่สนับสนุน เราจึงโตมากขึ้นจนมาถึงตรงนี้

     ดา: เราไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้เอางานจากต่างประเทศมาตีพิมพ์ให้คนไทยอ่าน บางเล่มก็เป็นที่ฮอตฮิต แล้วมีโลโก้ของพวกเราอยู่บนหนังสือเล่มนั้น มันบรรยายไม่ถูกเลย 

ต่อจากนี้มีเป้าหมายอะไรต่อไป

     คิว: อยากขยายตลาดแซฟฟิกของไทยให้กว้างมากขึ้น ให้คนเห็นเรามากขึ้น อยากนำเสนอแซฟฟิกไทยไปต่างประเทศ แล้วก็เอาแซฟฟิกของต่างประเทศที่ยังไม่ได้รับการค้นพบมาเผยแพร่ให้คนไทยได้อ่านเช่นเดียวกัน

     ดา: อยากเห็นหนังสือน็อนฟิกชั่นเกี่ยวกับชาวคอมมิวฯ มากขึ้น เราเคยไปร้านหนังสือที่อังกฤษชื่อ Gay’s The Word เขาขายแต่หนังสือ LGBTQ+ มีทั้งฟิกชั่นและน็อนฟิกชั่น แล้วเขาแยกเลยว่าเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ฯลฯ มีจัดสัมมนาทุกสัปดาห์ เราเข้าไปแล้วก็รู้สึกว่าทำไมในไทยไม่มีบ้าง เข้าไปแล้วโคตรสบายใจ เป็นที่ที่เกิดมาเพื่อฉัน ก็อยากจะทำร้านหนังสือแบบนั้นขึ้นมาบ้าง