Tue 27 Jun 2023

WHERE THE WILD LADIES ARE

ถ้าไม่เชื่องแล้วต้องไปไหน
คุยกับ ‘มัตสึดะ อาโอโกะ’ 
นักเขียนญี่ปุ่นผู้หยิบเอาตำนานพื้นบ้านมาเล่าใหม่ให้ร่วมสมัยผ่านเลนส์ของสตรีนิยม

     “ช่วยไม่ได้ที่คุซุฮะจะรู้สึกสงสารชายหนุ่มใบหน้าอมทุกข์ที่เดินอยู่ข้างเธอ สังคมเปลี่ยนไปมากจากสมัยที่คุซุฮะยังทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ ดูเหมือนว่าตอนนี้แม้แต่ผู้ชายก็ขยับขึ้นเป็นพนักงานประจำได้ยาก สังคมเท่าเทียมแล้ว แต่เป็นไปในความหมายที่ไม่ดีนักหรอก ผู้หญิงไม่ได้สูงขึ้น ส่วนผู้ชายก็ตกต่ำลง คุซุฮะรู้แล้วว่าเพดานที่เมื่อก่อนมีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่จะมองเห็น ในวันนี้ชายหนุ่มคนนี้เองก็มองเห็นมันเช่นกัน

     “แปลกใจไหม ผิดจากที่เคยได้ยินมาใช่ไหม แต่ว่าพวกผู้หญิงน่ะ มองเห็นเพดานนี้มาตลอดตั้งแต่เด็กเลยนะ ไม่มีสักครั้งที่มองไม่เห็นมัน ถึงอย่างนั้นทุกคนก็ยังใช้ชีวิตต่อมาได้ ด้วยคิดว่ามันจะผ่านไปได้เองนั่นละ”

— มัตสึดะ อาโอโกะ

จากหนังสือ ไม่เชื่องแล้วไปไหน
บท ชีวิตของคุซุฮะ

     “Let’s be monster together!” คือประโยคที่ ‘มัตสึดะ อาโอโกะ’ (Matsuda Aoko) เซ็นให้ฉันในวันที่เรามีนัดสัมภาษณ์กัน

     ถือเป็นการพูดคุยกับนักเขียนต่างชาติคนแรกในชีวิตของฉันเลยก็ว่าได้ นอกจากสมุดจดคำถามแล้ว ฉันยังแอบพกความประหม่าจำนวนหนึ่งติดกระเป๋าไปด้วย

     อย่างคร่าวๆ มัตสึดะ อาโอโกะ คือนักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่นผู้แต่งเรื่อง ไม่เชื่องแล้วไปไหน หนังสือรวมเรื่องสั้นที่เธอหยิบยกตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่นมาเล่าใหม่ให้ร่วมสมัยผ่านเลนส์ของสตรีนิยม ชักชวนให้ผู้อ่านลองจินตนาการว่าถ้าเหล่าตัวละครในเรื่องเล่ามีตัวตนในยุคนี้ พวกเขาและเธอจะใช้ชีวิตอย่างไร

     ด้วยความที่เป็นชาวไทยผู้ไม่มีความรู้เรื่องตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่นเลยสักนิด ตอนแรกฉันก็กังวลว่าจะเข้าใจเนื้อเรื่องไหมนะ แต่ปรากฏว่าไม่มีอะไรซับซ้อนเลย อาจเพราะตัวละครในตำนานพื้นบ้านของไทยก็พบเจอชะตากรรมไม่ต่างจากของญี่ปุ่น จึงรู้สึกเชื่อมโยงได้ไม่ยาก

     แล้วอยู่ๆ ในบ่ายวันหนึ่งที่อุณหภูมิข้างนอกน่าจะทะลุ 40 องศา ฉันก็มานั่งตรงข้ามมัตสึดะในร้านกาแฟไล-บรา-รี่ ส่วนหนึ่งของ Candide ร้านหนังสืออิสระย่านคลองสาน เพื่อพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ และมุมมองที่เธอมีต่อแวดวงสิ่งพิมพ์ญี่ปุ่นในปัจจุบัน

     บทสนทนาทั้งหมดนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีคุณมีน—เกวลิน ลิขิตวิทยาวุฒิ ผู้แปล ไม่เชื่องแล้วไปไหน ที่มาเป็นล่ามเฉพาะกิจให้กับการสื่อสารครั้งนี้

     ว่าแล้วก็ขอชวนทุกคนไปรู้จักกับมัตสึดะ อาโอโกะ ให้มากขึ้น

อยากรู้ว่าอะไรทำให้คุณสนใจเรื่องการอ่านการเขียน

     ฉันเป็นคนขี้อายมากค่ะ ไม่ค่อยกล้าคุยกับคนอื่น เลยมีหนังสือเป็นเพื่อนตั้งแต่เด็ก ฉันชอบอ่านวรรณกรรมเด็กกับหนังสือภาพมากๆ พอคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าชอบอ่านหนังสือก็เห็นว่าเป็นเรื่องดี ปล่อยให้อ่านอย่างอิสระ ไม่เคยมาห้ามว่าอันไหนไม่ควรอ่าน ส่งเสริมให้อ่านทุกอย่างที่อยากอ่าน

     ฉันชอบอ่านงานของนักเขียนผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ อย่างคุณแอสตริด ลินด์เกรน (Astrid Lindgren) เป็นนักเขียนสวีเดน ตัวละครเด็กผู้หญิงของเขาจะมีความสดใส แอบซนนิดๆ และมีพลังมากๆ ค่ะ (ในที่นี้หมายถึงตัวละคร Pippi Longstocking—กองบรรณาธิการ) แล้วก็ชอบเล่ม Mary Poppins (โดย P. L. Travers) ฉันชอบที่ตัวละครหน้านิ่งๆ ไม่แสดงความรู้สึก มีความน่าสนใจมากค่ะ

     มองย้อนกลับไป ฉันคิดว่าการอ่านที่ผ่านมาเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างตัวตนของฉันในวันนี้ มันช่วยทำให้ฉันกลายเป็นคนไม่ยอมอยู่ใต้กรอบของปิตาธิปไตย และไม่ยอมนิ่งเฉยเมื่อถูกเอาเปรียบค่ะ

แล้วคุณเริ่มต้นอาชีพนักเขียนได้อย่างไร

     พอชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก การอ่านการเขียนเลยเป็นธรรมชาติของฉันค่ะ ถึงขั้นเคยเขียนความใฝ่ฝันในอนาคตไว้ในเรียงความสมัยเรียนมัธยมต้นว่า ‘นักเขียนนวนิยายหรือนักแปล’

     ฉันออกผลงานเล่มแรกในปี 2013 ช่วงอายุสามสิบต้นๆ ปีนี้ก็ครบรอบ 10 ปีพอดี ตลอดช่วงเวลา 10 ปีก็ไม่ได้เขียนอย่างเดียว มีทำงานแปลด้วย รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่รักมานานขนาดนี้

อยากทราบแรงบันดาลใจของการเขียน ไม่เชื่องแล้วไปไหน คุณสนใจในตัวนิทานพื้นบ้านเป็นทุนเดิมหรือเปล่า ถึงหยิบเรื่องนี้มาดัดแปลง

     อย่างที่บอกว่าชอบอ่านตั้งแต่เด็ก แล้วเรื่องที่ฉันชอบเป็นพิเศษคือเรื่องเล่า ตำนานพื้นบ้าน และเรื่องผีค่ะ  อีกทั้งฉันเกิดและเติบโตที่เมืองฮิเมจิ (จังหวัดเฮียวโกะ ภูมิภาคคันไซ) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดตำนานผีนับจาน (เรื่องราวของโอคิคุ สาวใช้ผู้งดงาม เธอถูกเจ้านายหลอกว่าทำจานล้ำค่าหายไปหนึ่งใบ หลังจากนับแล้วนับอีก โอคุคิก็ยอมรับในความสะเพร่าของตัวเอง เจ้านายบอกว่าจะให้อภัยหากเธอยอมมาเป็นภรรยาลับของเขา แต่โอคิคุไม่ยอม เขาจึงจับเธอโยนลงบ่อน้ำ) เลยรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับเธอมาตลอด

     พอโตขึ้นมาก็เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมผีผู้หญิงในเรื่องเล่าต่างๆ ถึงต้องเจอกับอะไรที่เลวร้าย ถูกใส่ร้าย ถูกฆ่า ถูกข่มขืน หรือทำร้ายต่างๆ ขณะเดียวกันสังคมก็สร้างกรอบว่าผู้หญิงต้องสวย น่ารัก ยิ้มแย้มตลอดเวลา ทำงานบ้าน แต่งงาน มีลูก เหมือนว่าความเป็นผู้หญิงถูกกดไว้ในกรอบเหล่านี้ ฉันจึงมีความรู้สึกร่วมและคิดว่าถ้าจะเขียนให้ตัวละครผู้หญิงในเรื่องเล่ามีชีวิตในปัจจุบัน พวกเธอจะออกมาเป็นแบบไหน เลยกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้ค่ะ

ถ้าให้เลือกเรื่องที่ชอบที่สุดในเล่ม คุณจะเลือกเรื่องไหน

     จะมีสองเรื่องค่ะ เรื่องแรกที่ชอบคือ ผู้เป็นที่รัก เล่าถึงตำนานผีเลี้ยงลูก เรื่องนี้มันพอดีตรงจุดที่ว่าถ้าผีเลี้ยงลูกยังมีตัวตน ก็คงจะเป็นพี่เลี้ยงเด็กนี่แหละ เป็นจุดที่ลงล็อกพอดีกับการอยู่ร่วมกันของผีและคน 

     ส่วนอีกเรื่องคือ ชีวิตของคุซุฮะ เล่าถึงผู้หญิงที่กลายเป็นจิ้งจอก ฉันว่ามันคือการบอกเล่าชีวิตของผู้หญิงญี่ปุ่นทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายในเรื่องสั้นเรื่องเดียว เป็นชีวิตของผู้หญิงที่ทนอยู่ในกรอบปิตาธิปไตยมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งเธอรู้ตัวว่าทั้งหมดมันไม่ใช่ตัวตนของเธอนี่นา 

งานเขียนของคุณมักจะเชื่อมโยงกับเรื่องเพศ อำนาจ และความหลากหลายทางอัตลักษณ์ อยากรู้ว่าในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันมองเรื่องเหล่านี้ยังไง

     เมื่อก่อนคำว่า ‘เฟมินิสต์’ มีภาพลักษณ์ที่ลบมากๆ ต้องเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรง มีความโหวกเหวกโวยวาย แม้จะมีผู้หญิงหลายคนที่เชื่อในหลักการ แต่ก็ไม่กล้าบอกว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ จนกระทั่งการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย มันช่วยเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงกล้าพูดกันมากขึ้น เห็นว่าคนอื่นมีความคิดแบบเดียวกัน และเริ่มกล้าบอกว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์

     ที่ญี่ปุ่นจะมีโมเดลที่สังคมพยายามคีปเอาไว้ว่า ผู้ชายต้องทำงาน ส่วนผู้หญิงต้องแต่งงาน มีลูก ดูแลบ้านและครอบครัว แต่ปัจจุบันหลายคนมองว่ามันไม่จำเป็นแล้ว เริ่มคิดว่าระบบสังคมแบบนี้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พวกเขาอยู่กันอย่างยากลำบาก 

     ฉันมองว่าปัญหาหลักในเรื่องนี้คือบรรดาลุงๆ นักการเมืองทั้งหลายที่มีอำนาจในการจัดการระบบให้อยู่ง่ายสำหรับคนในประเทศทุกเพศทุกวัย แต่ดันไม่ยอมทำ เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้ผลประโยชน์อะไร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่ญี่ปุ่นเริ่มมีนักการเมืองผู้หญิงมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี และยังคงต้องดูกันต่อไปค่ะ

ไม่เชื่องแล้วไปไหน ได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกทั้งในญี่ปุ่นและการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เรื่องนี้ทำให้คุณรู้สึกอย่างไร และคำชมคำวิจารณ์นี้จะมีผลต่อเล่มต่อไปหรือเปล่า

     ตอนรู้ว่าจะได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ เอาจริงๆ ค่อนข้างแปลกใจ เพราะเรื่องเล่าในญี่ปุ่น พวกตำนานต่างๆ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองบางทียังไม่รู้ต้นเรื่องเลยว่าเป็นยังไง พอแปลเป็นภาษาอังกฤษไปสู่ผู้อ่านกลุ่มที่ไกลจากญี่ปุ่นไปอีก มันจะโอเคไหม แม้จะมีแบ็กกราวนด์ต่างกัน แต่ฟีดแบ็กกลับไปในทิศทางที่รู้สึกร่วมและเชื่อมต่อได้ ทำให้ฉันรู้สึกว่าความเป็นผู้หญิงมันสากลมากๆ ไม่มีพรมแดนเลย รู้สึกดีใจมากๆ ค่ะ

     เพียงแต่เวลาเขียนงานชิ้นใหม่ ฉันจะเขียนโดยไม่สนใจคำวิจารณ์ของงานในอดีต เพราะฉันเขียนสิ่งที่เชื่อว่าตัวเองควรเขียนออกมาโดยไม่ได้รับอิทธิพลจากอะไรค่ะ

ในฐานะที่คุณเป็นนักเขียนนักแปล อยากรู้ว่าคุณมีมุมมองต่อวงการสิ่งพิมพ์ญี่ปุ่นในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

     ช่วงหลังมานี้มีความเปลี่ยนแปลงในวงการสิ่งพิมพ์ค่อนข้างเยอะ เมื่อก่อนญี่ปุ่นจะมีสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่กี่สำนักพิมพ์ แต่แนวโน้มช่วงหลังมานี้ คนที่เคยทำงานสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มักจะแยกตัวออกมาเป็นอิสระ เปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ เพิ่มขึ้นเยอะมาก ทั้งในแง่ของหนังสือเฟมินิสต์และหนังสืออื่นๆ ด้วย 

     อย่างสำนักพิมพ์เฟมินิสต์แห่งหนึ่งที่ฉันสนิทด้วย เขาเคยทำงานในสำนักพิมพ์ใหญ่มาก่อน ตอนนั้นเขาพยายามเสนอหนังสือเฟมินิสต์ แต่การอธิบายให้ผู้ใหญ่เข้าใจ จนถึงชยอมตีพิมพ์ได้นั้น เป็นเรื่องยุ่งยากลำบากมาก เธอบอกว่าตอนนี้พอมีสำนักพิมพ์ของตัวเองก็ไม่ต้องเหนื่อยเรื่องเปล่าประโยชน์โดยไม่จำเป็นอีกแล้ว เธอดีใจมากค่ะ

     แต่พอช่วงหลังมีคนออกมาทำสำนักพิมพ์เล็กเพิ่มขึ้น กระแสเฟมินิสต์เริ่มบูม คนที่มาทำหนังสืออิสระด้านนี้ก็มีมากขึ้น ประกอบกับมีกลุ่มคนอ่านให้ความสนใจ พอสำนักพิมพ์ใหญ่เห็นว่าหนังสือแนวนี้ขายได้ เลยหันมาเริ่มพิมพ์บ้าง ก็แปลกๆ เนอะ แต่ก็เข้าใจว่าเขาทำตามเทรนด์

หนังสือจากสำนักพิมพ์อิสระขายดีในญี่ปุ่นหรือเปล่า

     ผลงานของสำนักพิมพ์อิสระมีคนอ่านจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว จะบอกว่าเป็นตลาดเล็กก็ใช่ค่ะ แต่ที่ญี่ปุ่นคือไม่ว่าจะเป็นหนังสือจากสำนักพิมพ์เล็กหรือใหญ่ พวกนักวิจารณ์จะอ่านหมด และเขียนรีวิวให้ตลอด ถ้าหนังสือดีจริง ไม่ว่าจะมาจากที่ไหนก็ขายได้เหมือนกัน 

     แม้แต่ในหนังสือพิมพ์ที่เป็นโลกของผู้ชาย ช่วงหลังๆ ผู้หญิงก็เข้าไปทำงานเยอะขึ้นมาก แล้วผู้หญิงเหล่านี้พยายามผลักดันผลงานเฟมินิสต์ หรือผลงานของสำนักพิมพ์อิสระที่ตีพิมพ์งาน LGBTQ+ ต่างๆ พอคนเห็นก็จะตามไปอ่านกัน 

แปลว่าเปอร์เซ็นต์คนอ่านหนังสือของญี่ปุ่นยังสูงอยู่ใช่ไหม

     เรื่องที่คนญี่ปุ่นอ่านหนังสือไม่เปลี่ยนไปหรอกค่ะ แต่หากพูดจากสิ่งที่เห็นในภาพรวม ฉันคิดว่าปัจจุบันมีคอนเทนต์วิดีโอมากมายในเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และอื่นๆ ทำให้ปริมาณการอ่านหนังสือลดลง เมื่อก่อนเหมือนจะมีรสนิยมอย่างปัญญาชนว่าอย่างน้อยควรอ่านผลงานมีชื่อไว้บ้าง แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้วค่ะ

ช่วงหลังมานี้ สังเกตเห็นว่าผลงานของนักเขียนญี่ปุ่นที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษเป็นนักเขียนหญิงเสียส่วนใหญ่ คุณคิดว่าสิ่งนี้สะท้อนอะไร หรือเป็นเพราะช่วงหลังมานี้ นักเขียนที่เล่าเรื่องน่าสนใจในญี่ปุ่นเป็นผู้หญิงด้วยหรือเปล่า

     ช่วงหลังๆ หลายคนอาจมองว่านักเขียนผู้หญิงญี่ปุ่นบูม แต่จริงๆ แล้วทุกคนเขียนมาตลอด เขียนมานาน เพียงแต่ยุคสมัยที่เสียงของพวกเธอถูกเพิกเฉยและไม่ได้รับการยอมรับมันนานมาก ผลงานของนักเขียนหญิงญี่ปุ่นในปัจจุบันก็น่าสนใจค่ะ แต่ผลงานของนักเขียนหญิงญี่ปุ่นสมัยก่อนถ้าเอามาอ่านตอนนี้ก็น่าสนใจมากเหมือนกันค่ะ

อยากให้คุณช่วยแนะนำนักเขียนและผลงานที่ชอบเผื่อให้คนไทยไปตามรอยสักหน่อยค่ะ

     เล่มแรกชื่อว่า Diary of a Void ของ เอมิ ยากิ (Emi Yagi) เล่าเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานในออฟฟิศที่มีแต่ผู้ชาย และทำงานหนักมาก จนวันหนึ่งเธอทนไม่ไหวเลยโกหกว่าท้อง พอเป็นคนท้องแล้วก็ไม่ต้องไปเสิร์ฟกาแฟ ทำงานล่วงเวลา มีเวลาให้ตัวเองเต็มที่เป็นเวลา 9 เดือน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นที่พูดถึงในช่วงนี้แล้วก็มีแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วด้วยค่ะ

     อีกเรื่องชื่อ Maboroshi no Akai Mi ของ โมโมโกะ อิชิอิ (Momoko Ishii) เขาเป็นนักแปล Winnie-the-Pooh ฉบับญี่ปุ่น เธอแปลวรรณกรรมเยาวชนและบางครั้งก็เขียนหนังสือ แต่เรื่อง Maboroshi no Akai Mi เป็นนวนิยายที่เธอเขียนขึ้นตอนอายุย่างเข้า 70 ปี เป็นเรื่องมิตรภาพระหว่างเธอกับเพื่อนผู้หญิงที่ดีที่สุดคนหนึ่งซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อตอนสมัยสาวๆ เป็นหนังสือที่ดีมาก แสดงให้เห็นถึงความเป็นเพื่อนหญิงพลังหญิง