Wed 24 Mar 2021

SMELLS LIKE TEEN SPIRIT

คุยกับ พงษ์สรวง ชุบ หรือ โน้ต Dudesweet ถึงแผนธุรกิจไร้กรอบ ที่ทำให้ Mischa Cheap เป็นแบรนด์ที่พาเขาหลุดพ้นจากชะตากรรมทางธุรกิจที่เคยเจ๊งเป็นวัฏสงสาร

     Mischa Cheap อ่านว่า มิจฉาชีพ

     เป็นชื่อบาร์แบบป๊อปอัพในย่านอารีย์ ชื่องานแฟชั่นวีคที่แหวกขนบแฟชั่นวีค ชื่อแบรนด์เสื้อยืดพิมพ์ลาย และชื่อแบรนด์น้ำหอมของ ‘พงษ์สรวง ชุบ’ หรือ ‘โน้ต Dudesweet’ อดีตนักเรียนศิลปะ นักวาดภาพประกอบ นักเขียน คอลัมนิสต์ นักออกแบบ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ เจ้าของนิตยสาร เจ้าของบาร์ และผู้ก่อตั้ง Dudesweet ปาร์ตี้ที่อยู่คู่กับคอดนตรีมาตั้งแต่ปี 2002 

     เดิมที CONT. ตั้งใจไปคุยกับพี่โน้ตสั้นๆ ถึงเรื่องน้ำหอมซึ่งได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น (The Catcher in the Rye) ของ เจ.ดี. ซาลินเจอร์ (J. D. Salinger)

     แต่ยิ่งคุยก็ยิ่งสนุก จนขอเปลี่ยนหัวข้อการเล่าเรื่อง จากเบื้องหลังการทำน้ำหอมกับแบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เป็นเรื่องธุรกิจฉบับพี่โน้ต Dudesweet และการทำแบรนด์ Mischa Cheap อย่างมีสัมมาอาชีพ หรือการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ

     จากคนที่อยากอยู่อย่างอยาก เมื่อคิดอยากทำอะไรก็ลงมือและเจ๊งเป็นวัฏสงสาร เป็นชะตากรรมทางธุรกิจที่เขายอมรับกับตัวเองมานับไม่ถ้วน พี่โน้ตเล่าว่าไม่นานมานี้เขาเพิ่งลองหัดใช้โปรแกรม Excel อย่างจริงจัง เพื่อการวางแผนที่รัดกุมสำหรับโปรเจกต์ที่จะเกิด 

     แต่คุณก็รู้ แผนการเงินไม่ใช่หนทางรอดเดียวของแบรนด์หรอก 

     วันหนึ่ง หลังจากตัดสินใจลุกขึ้นมาทำน้ำหอมกลิ่น unisex ซึ่งออกแบบทั้งเชิงคอนเซปต์และการเล่าเรื่อง หวังผลิตขายขำๆ 180 ขวด ขายในบาร์ ขายออนไลน์ และมีหน้าร้านเป็นร้านข้าวแกงปักษ์ใต้ แต่กลับดัน sold out ในเวลาต่อมา 

     ใครอาจจะคิดว่า นี่คือความโชคดีหรือเรื่องบังเอิญ เราขอเถียงสุดใจเลยว่าไม่ใช่

     หลังคุยกันร่วมสองชั่วโมง ตั้งแต่เรื่องความชอบขีดเขียน นิสัยรักหนังสือ ความเชื่อในการทำธุรกิจที่ผ่านมา ไปจนถึงตัวตนที่เปลี่ยนไปหลังทำน้ำหอมในเวลาสั้นๆ กระบวนการสร้างแบรนด์ Mischa Cheap ที่พี่โน้ตกำลังทำโดยไม่รู้ตัวนั้น เต็มไปด้วยแผนธุรกิจไร้กรอบ ที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในหลักสูตรสร้างผู้ประกอบการของสถาบันไหน ตั้งแต่การรู้จักตัวตนของตัวเองอย่างดี รู้ว่าจะทำของแบบไหนให้ใคร เพราะอะไร เพื่ออะไร อย่างไร 

     ทั้งหมดอยู่ในคำตอบของบทสนทนาด้านล่างนี้

     แต่ก่อนอื่นสำหรับท่านที่เดินผ่านไปผ่านมา บทสนทนาระหว่างเราและพี่โน้ตพร้อมให้บริการพ่อแม่พี่น้องแล้วนะคะ นั่งอ่านในห้องแอร์เย็นๆ อย่างนี้ถ้าได้น้ำหอมกลิ่น Prostitute สักฟืดคงชื่นใจ อ่านในอากาศร้อนก็ได้กลิ่นนะคะ น้ำหอมกลิ่นนี้เขาใช้ได้แบบ Everyday นอกจากจะหอมมากแล้วขวดยังสวยดูดีสมโต๊ะเครื่องแป้ง ถ้าสนใจลองอ่านคำบรรยายสรรพคุณน้ำหอมสุดคราฟต์แบรนด์นี้ก่อน

     “ช่วงนี้จัดปาร์ตี้ไม่ได้ เราเลยทำน้ำหอมกลิ่น unisex ขวดนี้ กลิ่นหลักเป็นกลิ่นกุหลาบป่าจางๆ แทรกกับกลิ่นเปลือกไม้เมืองหนาว ให้ความรู้สึกสดชื่น เบิกบาน และใจง่าย แต่ก็มีความเหงาๆ เหมือนคนอยากออกไปเจอเพื่อนแต่ไปไม่ได้ เป็นความเหงาที่ได้แรงบันดาลใจจากบุคลิกของ โฮลเดน คอลฟิลด์ (Holden Caulfield) จากหนังสือ The Catcher in the Rye ซึ่งอ่านเป็นรอบที่สี่ตอนอยู่แต่ในบ้าน” 

     ค่ะ จริงๆ น้ำหอมขายหมดตั้งแต่วันที่เราไปคุยกันแล้ว แต่ล็อตใหม่กำลังจะมา ใครสนใจทักไปจับจองกันได้ที่นี่ หรือ line @dudesweet ได้เลยค่ะ

ภาพจำของเราคือพี่โน้ตทำอะไรหลายอย่าง ซึ่งจุดเริ่มต้นของทุกอย่างมาจากการเขียน

     เราคิดว่าการเขียนเป็นสิ่งสำคัญของมวลมนุษยชาติ บุคคลสำคัญในโลกหลายคนก็ใช้การเขียนเปลี่ยนโลก ทำให้ตอนเด็กๆ เราฝันอยากเป็นนักเขียนของนิตยสาร แพรวสุดสัปดาห์ จบมาก็ได้งานทำที่นี่ เริ่มจากรับจ้างวาดภาพประกอบตั้งแต่ตอนเรียนแล้วมาเป็นกองบรรณาธิการ เป็นชีวิตที่มีความสุขมาก จากนิตยสาร แพรวสุดสัปดาห์ (2001) ก็ไปทำที่นิตยสาร LIPS (2002) แต่พอทำงานอยู่กองฯ นิตยสารแฟชั่นมากๆ เราก็พบว่าตัวเองไม่ได้ชอบแฟชั่นขนาดนั้น เลยไปทำงานที่ MTV เพราะชอบเพลงมากกว่า ได้ทำนิตยสาร MTV TRAX (2004) จนวันนึงรับจ๊อบออกแบบโลโก้ชิ้นนึงแล้วได้เงินเท่ากับเงินเดือนการเป็นนักเขียนประจำสองเดือน ก็เริ่มรู้สึกว่า ไอ้ห่า ทำไมกูฝันน้อยจังวะ

ฝันน้อยยังไง

     ก็ความฝันมันมีราคาค่าจ้างเพียงเดือนละหมื่นสอง แต่ก็ทำต่อแหละ จนได้สูงสุดก็สองหมื่นสี่ ทำนิตยสารไปเจ็ดปีก็เริ่มเบื่อ หมดแพสชัน แต่ความรู้เรื่องสิ่งพิมพ์ก็เป็นประโยชน์ติดตัวไปทั้งชีวิต ต่อมาเพื่อน (โต๋—นุติ์ นิ่มสมบุญ และ กัน—ภฤศิษฐ์ รัชไชยบุญ) ชวนเปิดบริษัทรับออกแบบ Slowmotion (2006) ระหว่างนั้นก็ใช้เงินเก็บที่ตั้งใจจะเอาไปเรียนต่อ ไปทำนิตยสารของตัวเองจนหมด

เป็นนิตยสารแบบไหน ถึงยอมทุ่มเงินเก็บหมดหน้าตักเพื่อทำมัน

     เป็นนิตยสารดนตรี ทำอยู่สองปี มีหนังสือออกมาเจ็ดเล่ม แล้วก็เจ๊ง 

     มันเริ่มจากช่วงที่ทำ Dudesweet (ปาร์ตี้สำหรับคอดนตรีพังก์ร็อก จัดครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน ปี 2002) ไปประมาณสองปี ตอนนั้นทำงานหนังสือ MTV ซึ่งเขียนได้แต่เรื่องวงแมสๆ แต่เราชอบดนตรีอินดี้เลยตัดสินใจทำหนังสือ SUPERWEET ของตัวเอง พอเริ่มทำเล่มที่สอง เพื่อน (ตุ๊ก—ชลธิดา เภกะนันทน์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ SUPERSWEET x moumi) ที่ลอนดอนมาช่วยทำสัมภาษณ์วงในอังกฤษที่เมืองไทยยังไม่มีซีดีขาย

ฟังดูดีมาก

     ยอดพิมพ์ประมาณ 3,000 ต่อเล่ม ขายหมดทุกเล่มนะ ตอนนั้นฝากขายที่ร้านหนังสือดอกหญ้ากับตามร้านเสื้อผ้าเป็นเรื่องเป็นราว แต่กระนั้นราคาขายเล่มละ 80 บาท ต้นทุนก็ 65 บาทแล้ว ยังมีเปอร์เซนต์ที่ต้องให้แผงหนังสืออีก ร้านขายหนังสืออีก

คุ้มเหรอคะ

     มันเป็น passion project สมัยวัยรุ่น ก็มีเพื่อนๆ มาซื้อโฆษณาบ้าง ทีละ 3,000-5,000 บาท แต่สุดท้ายตอนเลิกทำคำนวนได้ว่าขาดทุนห้าแสน ความฝันจะไปเรียนต่อก็จบลงตรงนั้น แต่ก็ดีใจที่ได้ทำ เพราะได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะเลย ที่ตลกดีคือ พวกซีนนักดนตรีในลอนดอนตอนนั้น เขาจะรู้จัก SUPERWEET กันหมด ประมาณว่านี่คือหนังสืออินดี้จากแดนไกล แล้วเขาอยากจะลงกัน วงใหญ่ๆ อย่าง The Killers ตอนไม่ดังยังเคยลงเลย นอกจากหนังสือแล้วยังมีเว็บไซต์ด้วย เป็นเว็บที่เขียนแบบ html 

เรียกว่าเป็นเว็บคอนเทนต์ที่มาก่อนกาล

     และเป็นเว็บที่อ๊องตลอดเวลาเพราะไม่มีใครทำเป็นเลย ก็คลำๆ กันไป ตอนนั้นบทสัมภาษณ์แปลภาษาไทยลงในเล่ม ส่วนในเว็บไซต์เป็นต้นฉบับภาษาอังกฤษ ระหว่างที่ทำหนังสือกันนั้น ตุ๊กซึ่งอยู่ที่ลอนดอนก็มีกิจกรรมจัดคอนเสิร์ตในชื่อ Supersweet Live! ในลอนดอน พวกนักดนตรีอินดี้ก็จะมากันเยอะ โอ๊ย เป็นงานเก๋ไก๋ของหนุ่มสาวอินดี้ในลอนดอนเลยล่ะ แม่นี่ก็ทำด้วยแพสชั่นเหมือนกัน พอคอนเสิร์ตเลิกไป ตุ๊กก็ทำแบรนด์เสื้อผ้าต่อ พอกลับมาเมืองไทยเขาก็จัดคอนเสิร์ตที่เมืองไทย ซึ่งก็เจ๊งเหมือนเดิม มันคงเป็นคำสาปมั้ง

คำสาปว่า?

     อะไรที่อยู่ในตระกูล Dudesweet ทุกอย่างจะไม่ทำเงินเลย 

     ไม่รู้เหมือนกัน นี่เป็นสิ่งที่พยายามแก้อยู่ ว่าจะทำอะไรให้ดีต้องมี strategy ก่อนเริ่ม หรือสนใจพวกรายละเอียดธุรกิจ เช่น ทำ excel ให้เป็น ที่ผ่านมาเราจะลุยทำไปก่อน ตัวเลขค่อยว่ากัน เพราะคิดว่าถ้าคนมันชอบ เงินก็คงกลับมาเองแหละ

แล้วเงินกลับมาจริงมั้ย

     ไม่จริงไง แล้วสมัยนี้คนมีความสนใจสั้นลง เพราะมันมีอะไรใหม่มาให้ชอบแบบรายวัน อย่างเราปล่อยอะไรออกมา คนอาจจะตื่นเต้นร้องอยากได้ๆ กันอยู่สองวัน แต่วันที่สามคือ อ้าว ลืมไปแล้วว่าจะซื้อ นี่คือตัวอย่างของการทำงานแบบไม่มีแผน

ตอนไหนที่เริ่มคิดว่าต้องมีแผนได้แล้ว

     48 ชั่วโมงที่แล้วก่อนมาคุยกันนี่แหละ 

     แต่ตอนนี้ก็เริ่มทำ excel เป็นบ้างแล้วนะ

Excel ที่ว่านี่คืออะไร งบการเงินหรือการทำคลังสินค้า

     ก็คือ Sum เท่ากับวงเล็บเปิด B7 ลากถึง B162 เพื่อที่จะรู้ว่าเราลงทุนไปเท่านี้ ต้องขายได้เงินเท่าไหร่ถึงจะโอเค สำหรับเราเจ้า excel นี่มันเป็นความมีระเบียบในชีวิต แต่ก็ทำได้แป๊บเดียว แล้วก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม คือทำไปก่อนแล้วค่อยว่ากัน

แปลว่าก่อนหน้านี้ เวลาพี่โน้ตจะทำอะไรสักอย่าง พี่โน้ตเริ่มคิดจากอะไร

     ปัญหาของเราคือเราไม่เคยคิดเรื่องเงินก่อนเลย ช่วงไหนที่มีเงินเราจะชอบคิด ‘เอาไปทำอะไรเล่นสักอย่างดีกว่า’ ซึ่งมันผิด มันควรจะเป็น ‘ช่วงนี้มีเงิน เอาไปทำอะไรสักอย่างให้มันงอกเงยดีกว่า’ 

     แต่การทำอะไรเพื่อสนุกสนานอย่างเดียวมันไม่ได้แล้ว อายุ 40 แล้ว มันต้องจัดการชีวิตให้เป็นระเบียบ น้องผู้ช่วยก็มาช่วยดู แต่สุดท้ายไม่มีใครห้ามเราได้สักคน พอเขาบอกพี่โน้ตมันเกินงบแล้วนะ เราก็จะบอกว่า เออ ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็ได้เงินมาเองแหละ แล้วก็ไม่เคยมา

ที่มาของชื่อแบรนด์ Mischa Cheap เป็นเพราะตั้งใจจะเปลี่ยนชื่อจาก Dudesweet เพื่อลบคำสาปอย่างที่บอกหรือเปล่า

     ไม่ใช่ มันยังคงเป็นแบรนด์ภายใต้ชื่อ Dudesweet อยู่ 

     จุดเริ่มต้นของชื่อ Mischa Cheap มาจากดราม่าบนเพจ Dudesweet เมื่อมกราคม 2020 ที่มีป้าคนหนึ่งอยู่ลอนดอน เขาจัดแฟชั่นโชว์ที่ดูไบ แล้วเอาเสื้อผ้าของดีไซเนอร์เพื่อนเราไปเดินโชว์ ซึ่งเพื่อนเราไม่รู้ตัว จนหกเดือนต่อมาเจอข่าวเขียนถึงเล็กๆ พอไปขุดกูก็ได้รู้ว่ากระทรวงวัฒนธรรมให้ป้ายืมชุด เพราะป้าไปบอกเขาว่าจะเอางานไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ปรากฏว่าดันเอาไปจัดงานเดินแฟชั่นโชว์ มีโลโก้ตัวเองขึ้น พร้อมใส่โลโก้กระทรวงวัฒนธรรมเยอะแยะไปหมด ซึ่งกระทรวงฯ เขาก็คงไม่รู้เรื่อง คุณป้าคนนี้ก็ตั้งตัวเป็นดีไซเนอร์ในกลุ่มแม่บ้านไทยในลอนดอน แล้วคนเขาก็เชื่อกันจริงจัง

     ระหว่างที่ขุดก็มีคนส่งข้อมูลมาหลังไมค์ว่า ป้าเคยติดต่อแม่นางแบบว่า ถ้าอยากให้ลูกไปเดินแบบที่ดูไบให้จ่ายค่าเดินแบบ 60,000 บาท ราคานี้ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบินและที่พักนะ เราก็เฮ้ย ทุกอย่างมันกลับตาลปัตร ปกติถ้าแบรนด์จะจัดแฟชั่นโชว์ แบรนด์จะเป็นคนจ่ายค่าเดินแบบและอื่นๆ ให้ แต่เจ๊กลับเรียกเงินจากคนที่อยากเป็นนางแบบ นี่มันมิจฉาชีพนี่หว่า เราก็ชอบไอเดียป้าเขามาก เลยได้แรงบันดาลใจ มาทำแฟชั่นโชว์ Mischa Cheap Fashion Week เมื่อเดือนกันยายน 2020 จัดเดินแฟชั่นโชว์กันกลางซอยอารีย์ โดยยืมชุดเพื่อนดีไซเนอร์มาให้ ใครอยากเดินจ่ายค่าเดินชุดละ 100 บาท (ย้อนชมบรรยากาศ Mischa Cheap Fashion Week 2020 ได้ที่ https://www.facebook.com/watch/?v=753249935546259)

นอกจากงดจัดปาร์ตี้อย่างที่เคยทำ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตพี่โน้ตแค่ไหน

     มากทีเดียว เพราะอาชีพหลักเราคือจัดปาร์ตี้ ช่วงโควิด-19 เราเริ่มหดหู่ แล้วเป็นคนที่ชอบทำอะไรตลอดเวลา พอหยุดทำปุ๊บมันก็เซ็ง ปาร์ตี้ก็ไม่ได้ เพื่อนก็ไม่ได้เจอ ตอนนั้นไม่รู้จะทำอะไรก็จัดบ้าน แล้วเจอ The Catcher in the Rye เลยหยิบมาอ่านเป็นรอบที่สี่ 

     The Catcher in the Rye เป็นหนังสือที่เราซื้อบ่อยมาก ประมาณสิบครั้งในชีวิต เพราะมันหายไปจากชั้นหนังสือตลอด เนื่องจากเวลามีน้องๆ มากินเหล้าที่บ้านแล้วถ้าคุยเรื่องหนังสือกันถูกคอ เราจะชอบยกให้ อีกเล่มที่ชอบยกให้คือ เวลา ของ ชาติ กอบจิตติ เล่มนั้นก็ประหลาดดี เพราะเรื่องที่เล่าทั้งหมดมาจากการที่พระเอกไปดูละครเวทีเรื่องหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เวลาในหนังสือนั้นยาวนานเหมือนทั้งชีวิต เป็นเรื่องที่เกิดในบ้านพักคนชรา

ทำไมต้องเป็น The Catcher in the Rye 

     The Catcher in the Rye เป็นเรื่องของเด็กผู้ชายอายุ 16 ปีชื่อโฮลเดน คอลฟิลด์ ความน่าสนใจคือเรื่องราวในหนังสือเกิดขึ้นภายในสองวัน เริ่มจากโดนไล่ออกจากโรงเรียนประจำ เขารู้สึกสับสนหดหู่ ไม่อยากกลับบ้านเดี๋ยวพ่อด่าแต่ก็ต้องกลับ ไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิตดี ก็เลยเดินไปเรื่อยๆ ในเมืองนิวยอร์กเพื่อประวิงเวลา ระหว่างทางก็เจอเพื่อนเก่า เจอผู้หญิงที่ชอบซึ่งกำลังเดตกับผู้ชายที่เหนือกว่ามันทุกอย่าง โดยทั้งหมดที่อ่านเป็นเรื่องที่มันบ่นอยู่คนเดียวในหัว

     ขณะที่ผู้อ่านติดตามเรื่องราวไปเรื่อยๆ ก็พบว่าในหัวมันต้องหนักมากๆ และเราจะรู้สึกโดดเดี่ยวไปกับมัน จนถึงซีนนึงที่โฮลเดนไปเปิดโรงแรมนอนตอนตีสี่เพราะไม่กล้ากลับบ้าน พนักงานกดลิฟต์ก็ชวนให้ใช้บริการโสเภณี พอโสเภณีมาถึงก็ไม่ได้ทำอะไรเพราะแค่อยากได้เพื่อนคุย แต่โสเภณีก็ไม่อยากคุยด้วย บอกถ้าจะเอาก็รีบๆ เอาเพราะนางรีบไป สุดท้ายโดนโสเภณีโกงเงิน แถมยังเรียกแมงดามากระทืบอีก เป็นจุดแตกหักของอารมณ์เราก็เอาอารมณ์ในซีนนั้นมาตั้งชื่อน้ำหอมว่า Prostitute

ตอนที่คิดจะทำน้ำหอม พี่โน้ตเริ่มจากโจทย์อะไร

     ช่วงมิถุนายน 2020 เป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักมาก คนจัดปาร์ตี้อย่างเราก็หมดหนทางทำมาหากิน ก็มานั่งทบทวนตัวเอง ว่ามีอะไรในศิลปะที่ยังอยากทำอีก ศิลปะเป็นเรื่องของ 5 ผัสสะ คือรส กลิ่น เสียง สัมผัส 

     ซึ่ง 4 ใน 5 ผัสสะเราเคยทำมาหมดแล้ว ก็เหลือแค่กลิ่นที่ยังไม่เคยลอง แล้วพอได้เข้าไปในโลกของกลิ่นก็ได้รู้ว่ามันเป็นศาสตร์ขั้นสูง มันยากกว่าที่คิด เนื่องจากกลิ่นเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ยากพอๆ กับแต่งเพลง ยากพอๆ กับการทำอาหารให้อร่อย 

     ก็เริ่มจากติดต่อโรงงานผลิตน้ำหอม พอไปถึงก็เจอโชว์รูมขนาดใหญ่ ผนังมีหัวน้ำหอมขวดเล็กๆ วางพรึ่ดอยู่ประมาณเจ็ดร้อยขวด จากนั้นก็เริ่มศึกษาแอ็กคอร์ดส์ (Accords) หรือการผสมกลิ่นตั้งแต่สองกลิ่นขึ้นไป ทำความรู้จัก 3-4 โน้ต (Note) ที่พอเข้าใจเพราะเคยดูหนังเรื่อง Perfume: The Story of a Murderer เรากับน้องที่ออฟฟิศก็ไปนั่งผสมเล่นกัน หยดละ 40 บาท หมดไปสามหมื่นกว่าบาท 

     เจ้าของโรงงานน้ำหอมก็บอกว่าจะมาหยดเล่นแบบนี้ไม่ได้ ต้องบอกมาว่าอยากให้คนได้กลิ่นแล้วนึกถึงอะไร เพราะกลิ่นจะเกิดภาพได้ก็ต่อเมื่อมันผสมกับประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งเรื่องราวชีวิตของแต่ละคนมันก็ไม่มีใครเหมือนกันเลย เขาจึงบอกให้เรากลับไปเขียนเรียงความมาก่อน

พี่โน้ตเขียนเรียงความเรื่องอะไร

     ตอนนั้นเราอยู่ในอารมณ์หดหู่อยู่แล้ว ถ้าอยากให้คนคิดถึงอะไร เราก็อยากให้คิดถึง Bangkok Friday Night ในตอนที่ยังที่ปาร์ตี้กันได้ เป็นความโหยหาความสนุกสนานที่เคยมี จึงออกมาเป็นกลิ่นหงอย ขมขื่นนิดนึง 

     อารมณ์ตอนปาร์ตี้เลิกแล้วร้านปิดไฟไล่แต่เรายังคาราคาซังอยู่ ซึ่งเป็นโมเมนต์ที่เราชอบที่สุดเลย เพราะเพลงที่เราชอบที่สุดในงานปาร์ตี้คือเพลงที่เขาเปิดตอนปาร์ตี้เลิก ดีเจหรี่เพลง ไฟสว่าง รังแตก คนคุยกันล้งเล้ง พลังถูกใช้ไปแล้วทั้งคืน

     พอตอบคนปรุงน้ำหอมว่าอยากได้กลิ่น Bangkok Friday Night เขาก็ถามต่ออีกว่า Bangkok ย่านไหน

ย่าน?

     เราเลือกย่านวงเวียน 22 เพราะทำให้คิดถึงตอนเที่ยวกลางคืนสมัยเรียนศิลปากร ชอบความรู้สึกการไปเที่ยวแบบเดินเข้าบาร์นั้นออกบาร์นี้ได้เพราะอยู่ละแวกเดียวกัน ซึ่งทุกเมืองที่ดีๆ ในโลกมักจะทำแบบนี้ได้ อย่างย่านอารีย์ก็มีความเป็นแบบนั้น 

     แล้วแสงกลางคืนของซอยนานา (เยาวราช) ก็สวยดีด้วย

     แต่คำถามของคนปรุงน้ำหอมต่อมาคือ ถ้าน้ำหอมนี้เป็นคน เขาจะเป็นใคร เราก็คิดถึงโฮลเดน คอลฟิลด์ มาเที่ยวกรุงเทพฯ

ทำไมต้องเป็นโฮลเดน คอลฟิลด์?

     เรากำลังอ่าน The Catcher in the Rye พอดี แล้วในฉากหดหู่ที่สุดของเรื่องคือฉากที่เจอโสเภณี

     ใน The Catcher in the Rye จะพูดถึงโสเภณีเรื่อยๆ เช่น เรียกพี่ชายตัวเองที่เป็นนักเขียนบทอยู่ฮอลลีวูดว่าเป็น Prostitute (โสเภณี) ดังนั้นโสเภณีในความหมายของ Mischa Cheap ไม่ได้หมายถึงคนขายตัวข้างถนน แต่หมายถึงเราทุกคน เพราะคนเราล้วนต้องขายบางสิ่งบางอย่างในตัวเองแลกอะไรสักอย่างเสมอ เช่น ยอมขายจรรยาบรรณเพื่อทำหนังโฆษณาเสื่อมๆ เป็นเรื่องของรักแลกเงิน

     ข้อดีของการใช้โฮลเดนเป็นแรงบันดาลใจคือเขาจะไม่มีหน้าตาหรือตัวตนให้เห็น เพราะผู้เขียน (เจ.ดี. ซาลินเจอร์) ห้ามไว้ไม่ให้เอาหนังสือของเขาไปทำหนัง เพราะทั้งคนเขียนและตัวละครในเรื่องนี้จะเกลียดหนังมาก ซึ่งไม่รู้ทำไม เพราะหนังสือเขียนตอนปลายยุค 50s ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด ดังนั้นผู้อ่านต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวกำหนดหน้าตาและน้ำเสียงตัวละครเอาเอง และในแง่นั้นมันก็เหมือนน้ำหอมที่มองไม่เห็น

     แต่กลิ่นจะไปกระตุ้นความทรงจำว่าคิดถึงปาร์ตี้มู้ดไหนที่เคยไป

การนำคาแรกเตอร์ตัวละครในหนังสือซึ่งผู้อ่านตีความหมายแตกต่างกันมาออกแบบกลิ่น จะทำให้งานยากขึ้นหรือเปล่า

     ตอนตอบคำถามนักปรุงกลิ่นข้อนี้ เราไม่ได้พูดชื่อโฮลเดนนะ เพราะถ้าฝรั่งรู้เขาก็อาจจะตีความอีกแบบ เนื่องจากมันเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กฝรั่ง แล้วเราก็โตกันมาคนละที่ คนละวัฒนธรรม ประสบการณ์ที่เจอต่างกัน ก็เลยไม่บอกเขาเรื่องหนังสือ แค่เขียนเล่าบุคลิกคนที่อยากให้เป็นว่าอายุเท่าไหร่ คืนนั้นปาร์ตี้ที่เขาไปเป็นแบบไหน ออกจากบ้านกี่โมง กลับบ้านกี่โมง คืนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง พยายามจูนให้เจอภาพเดียวกัน 

     เมื่อห้าปีที่แล้ว ตอนเราไปนิวยอร์กครั้งแรกคนเดียว วันนึงไปเดินเซ็นทรัลปาร์ค เราก็แอ๊บเป็นโฮลเดน คอลฟิลด์ เดินไปเรื่อยๆ ถามแท็กซี่ว่าเป็ดไปไหนตอนหน้าหนาวแบบที่โฮลเดนถามในหนังสือ แต่เดินสวมบทโฮลเดนได้สักพัก ก็นึกขึ้นได้ว่า เดี๋ยวนะ โฮลเดน คอลฟิลด์ เขาทำสิ่งเหล่านี้ตอนอายุ 16 แต่นี่กู 35 แล้วนะ ว้าไม่หนุกเลย ก็เลยเลิก 

หลังจากได้เรียงความของพี่โน้ต นักปรุงน้ำหอมก็ทำกลิ่นกลับมาให้เลือก กลิ่นแบบไหนที่ตกรอบแน่ๆ 

     กลิ่นที่โดดเด่นจนคนต้องทักถามกันทั้งออฟฟิศว่าฉีดอะไร น้ำหอมบางตัวเขาก็จงใจทำทุกอย่างให้เป็นเอกลักษณ์จัดๆ เราเคยดมน้ำหอม Angel ของ Thierry Mugler แล้วเวียนหัวไปครึ่งวัน คือกลิ่นมันเรียกร้องความสนใจมาก เกลียดไปเลย เรามีน้ำหอมไม่กี่ตัวที่เราเกลียดมากและจะไม่ทำแนวนั้นแน่ๆ ประมาณสองกลิ่น (นิ่งคิด) ห้า (นิ่งคิด) แปด (นิ่งคิดอีกครั้ง) จริงๆ น่าจะเกิน แต่หนึ่งในนั้นคือ CHANEL No. 5

     ส่วนเราอยากได้อะไรที่กลางๆ ไม่ตะโกนมากไป ซึ่งคนที่ชอบน้ำหอมมากๆ อาจจะคิดว่าน่าเบื่อเลย 

น้ำหอมกลิ่นกลางๆ จะสร้างความแตกต่างจากน้ำหอมที่มีอยู่ยังไง

     นี่แหละคือความสนุก ว่าจะทำน้ำหอมกลิ่นกลางๆ ยังไงให้คนรู้ว่ามันมาจากไหน หรือมีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ในความกลางนั้น อย่างน้ำหอมกลางๆ แต่ชัดเจนแบบที่เราชอบคือ Comme des Garcons มันจะไม่ตราตรึง แต่พอใช้เวลาอยู่กับคนนี้สักพักเวลาวันไหนอารมณ์ดีๆ จะจำกลิ่นนี้ได้

กลิ่น Prostitute แบบที่กลางๆ ออกมาเป็นยังไง

     เมื่อ Prostitute แทนการยอมขายวิญญาณเพื่อเงินทอง มีเรื่องของความรักมาเกี่ยว ก็เลยเอากลิ่นกุหลาบนำ ซึ่งกลิ่นกุหลาบที่โดดแปร๋นขึ้นมาในแว้บแรก จะติดอยู่ไม่นาน เป็นความตั้งใจให้กลิ่นกุหลาบนี้อยู่ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง พอความรักจางไปก็มาคิดตังค์กัน จึงกลายเป็นกลิ่นไม้ๆ กระดาษๆ แบบว่าจ่ายเงินฉันมา คุณเอาความรักฉันไปแล้วนี่

ตอนที่ทำน้ำหอม พี่โน้ตคิดภาพว่าคนแบบไหนจะใช้น้ำหอมกลิ่นนี้

     คนแบบโฮลเดน คอลฟิลด์ ที่รวยอยู่แล้วแต่เหงา หรือคนที่ไม่รวยแต่ไปปาร์ตี้หนักๆ อย่างเรา บางทียิ่งเจอคนเยอะยิ่งเหงา แต่ก็จะไม่ได้ต้องการอะไรหวือหวา ไม่ต้องการเข้าโซน VIP เพราะคนชอบไปกองกันอยู่ตรงนั้น ไม่ได้อยากเจอคนดัง เพราะเราเจอคนแปลกๆ มาทั้งชีวิตแล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่คนที่หลบอยู่มุมห้อง เป็นคนเข้าสังคมเป็น มีอะไรพูด มีอะไรคุย

พอน้ำหอมเสร็จแล้วพี่ขายยังไง

     ตอนที่ทำออกมา (กรกฏาคม 2020) ตอนนั้นเราเปิดป๊อปอัพบาร์ในซอยอารีย์ชื่อ Mischa Cheap เป็นบาร์ข้างถนน ทำเสร็จก็เอาไปขายที่บาร์ ใช้น้ำหอมเป็นตัวสร้างบทสนทนา ชวนลูกค้าคุย ก็กลายเป็นหนึ่งในกิมมิกของบาร์

ยังไง?

     คือเราเปิดบาร์มาก่อนชื่อ Third World Bar ที่สีลมซอย 4 แล้วเจ๊ง แต่ก็ได้บทเรียนว่าที่มันเจ๊งเพราะมันไม่มีอะไรเชื่อมเรากับคนแปลกหน้าได้ 

     บาร์ Mischa Cheap มันเป็นบาร์ข้างทางเล็กๆ และมีคนที่มานั่งคนเดียวเยอะ ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าเขาอยากมานั่งเงียบๆ หรืออยากมาหาเพื่อนคุย แต่บางจังหวะทั้งบาร์มีกันอยู่แค่สองคน ไม่คุยกันมันก็เขินๆ แล้วถ้าจะเริ่มคุยกับเขาการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาคุยกับคนไม่สนิท คุยเรื่องส่วนตัวก็มีข้อจำกัด คุยเรื่องตัวเองมากไปเขาก็อาจจะรำคาญ หรือคุยเรื่องเขามากไป เขาก็อาจจะหาว่าจุ้นจ้าน เราก็คุยเรื่องที่อยู่ในบาร์ แต่บาร์เรามันก็ขายแต่เหล้าห่วยๆ ไม่มีอะไรให้อวดอีก ก็เลยเอาน้ำหอมมาเป็นตัวสร้างบทสนทนา ไปนั่งเล่าๆๆๆ ว่าทำแบบนี้ แบบนั้นอย่างที่เล่าให้ฟัง พอเห็นอัธยาศัยกันจึงค่อยย้ายหัวข้อสนทนาไปสู่เรื่องอื่นๆ คือใช้เรื่องน้ำหอมเป็นตัว break the ice นั่นล่ะ แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องซื้อเพราะราคามันก็แพงอยู่ (1,490 บาท) แต่ถ้าเขาชอบก็ซื้อไป ทำมาแค่ 180 ขวดเอง บาร์เปิดอยู่สามเดือน ขายที่บาร์ได้ประมาณสามสิบขวด ห้าเดือนต่อมาหลังบาร์ปิดและโควิด-19 ระลอกสอง ชีวิตก็หดหู่ลูปเดิมอีก ก็เลยเอาที่เหลือมาขายออนไลน์ ปรากฏว่าขายดีว่ะ

นอกจากคอนเซปต์ของกลิ่น เราชอบดีไซน์ของขวดและกล่องมากๆ ขั้นตอนการทำงานเป็นยังไง

     ไม่ได้ดีไซน์รูปทรงขวดเอง เพราะถ้าขึ้นแบบใหม่ต้องผลิตหลักหมื่น เราเลือกขวดจากหลายร้อยแบบในโรงงาน แล้วดูว่าขวดหน้าตาแบบนี้ควรมีองค์ประกอบศิลป์แบบไหนจึงจะถูกต้อง ตอนแรกจะดีไซน์รกกว่านี้ แต่พอดีห้ามตัวเองทันว่าน้ำหอมกลิ่นมันกลางๆ ก็อย่าให้ดีไซน์ขวดมันโวยวายเกิน เพราะงานดีไซน์สไตล์เรามันจะรกๆ และไม่เคยมีตรงกลาง

     แต่ถ้าทำอันต่อไปจะดีไซน์เยอะๆ แล้วเพื่อความสาแก่ใจส่วนตัว นี่เพิ่งมีนายทุนสนใจจะมาลงทุนให้ เขาบอกจะมาช่วยสิ่งที่เราไม่ถนัดเท่าเขา เช่น พวกเรื่องแผนธุรกิจ ว่าจะทำยังไงให้ไปสู่คนวงกว้างได้มากกว่านี้ ซึ่งก็น่าสนใจเพราะความแมสเป็นกุญแจดอกเดียวในชีวิตเราที่เราไม่เคยหาเจอสักที

คิดมาตลอดว่าพี่โน้ตไม่อยากแมส

     ไม่ใช่ไม่อยากแมส แต่ไม่รู้ทำยังไง เราหาสิ่งนี้มาตลอด คลำทั้งตัว ค้นทั้งบ้านก็ไม่เจอ 

     ไม่ใช่ว่าอยากจะ niche นะเว้ย แต่มันไม่มีความรู้เรื่องนี้ มันปลดล็อกตัวเองไม่ได้ เลยคิดได้ว่าถ้าหาของตัวเองไม่เจอ ก็หาคนที่ทำเป็นมาช่วยน่าจะดี เขาก็มาบอกเราว่าอยากจะปั้นแบรนด์ Mischa Cheap บอกว่าให้ส่งไปขายที่เกาหลี เราก็ตื่นเต้น จริงเหรอๆ ทำยังไงอะ

เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น

     ตาเป็นประกายเลย เพราะทำ Dudesweet มา 20 ปี ไม่เห็นจะมีใครอยากมาเป็นนายทุนให้แบบนี้เลย

พอได้ข้อเสนอมาแบบนี้ ถือว่าอนาคตของ Mischa Cheap สดใสเลยไหม

     ก็ดีใจที่มีคนเห็นว่าของมันมีอนาคต แต่มันยังคุยกันไม่จบก็ยังไม่อยากฝันเฟื่องมาก แต่ถ้ามันเกิดขึ้นก็คงต้องเรียนรู้การยอมให้คนอื่นเขาเข้ามามีส่วนร่วมในแพสชั่นของเราให้เป็น เช่น เรามีหน้าที่ออกแบบกลิ่นและผลิตออกมาแค่นั้นพอ เรื่องการขายและธุรกิจ เขาจะเอาไปทำอะไรต่อ จะไปใส่ฟอนต์ Comic Sans ก็คงต้องปล่อย

จริงเหรอ พี่จะปล่อยได้จริงเหรอ

     นั่นแหละ เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกนะ ยอมปล่อยไปเสียบ้าง ไม่ต้องถือไว้ทุกอย่าง ไม่งั้นเราจะทำงานกับใครไม่ได้เลย

นอกจากการเข้ามาของนายทุน เรื่องไหนหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้รู้สึกอยากทำสิ่งนี้ต่อ

     พอเราเข้าไปในโลกน้ำหอม เราก็พบว่าประเทศนี้มีคนคลั่งน้ำหอมเยอะมาก แล้วพอได้เจอคนรู้จริง มันก็ลดอีโก้ตัวเองลงไป มันทำให้เรานึกถึงสมัยทำงานนิตยสาร ที่ บ.ก.จะสอนเราว่าผู้อ่านฉลาดกว่าเราเสมอ ถ้าเราเขียนหนังสือด้วยอีโก้ ไม่มีทางที่เราจะไปไหนได้ไกลหรอก ตายแน่ 

     เราทำน้ำหอม ปล่อยขายบนออนไลน์กระแสตอบรับก็ดีมาก เราก็คิดว่าของเราดีเลิศ แต่หลังจากนั้นก็มีคนที่รู้เรื่องน้ำหอมจริงๆ มาซื้อแล้วเอาไปรีวิวกันในกลุ่มของเขา ซึ่งเต็มไปด้วยศัพท์แสงแปลกๆ ที่เขาใช้กัน เราก็ต้องไปกูเกิลหาคำอธิบาย พอยิ่งศึกษาก็ยิ่งได้รู้ว่า เราไม่มีความรู้อะไรเลยนี่หว่า นั่นทำให้เรารู้สึกโหยหาความรู้เข้าไปอีก น้ำหอมเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้กันหลายปีมากๆ โลกของกลิ่นนี่คิดไปก็แปลกดี มันเป็นความซับซ้อนที่ใกล้ตัวมาก เพราะคนเราต้องหายใจตลอดเวลา ได้เริ่มเรียนรู้ก็เปิดโลกดีเหมือนกัน

ตอนทำเสื้อไม่ได้ให้ความรู้สึกแบบนี้?

     ทำเสื้อยืดมันมีอะไรท้าทาย? มันก็แค่ออกแบบลายแล้วสั่งโรงงาน เราไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มาพักหนึ่งแล้ว และเราว่าที่เรารู้สึกอืดอาดยืดยาด ถึงกับคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า จริงๆ ไม่ใช่หรอก มันเกิดจากความรู้หมด แล้วคนเราพอความรู้สึกอยากรู้หมด ชีวิตก็ไม่มีคุณค่า

จากวันแรกที่ทำโดยไม่รู้อะไร มาจนวันนี้ พี่โน้ตคิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปแค่ไหน

     จริงๆ มารู้สึกเปลี่ยนตอนที่มันได้เงิน รู้สึกว่าอาจจะมาถูกทาง ฟังดูงี่เง่านะ แต่เป็นความจริง ว่าเงินคือคำตอบว่ามึงมาถูกทางแล้ว การที่มันขายได้ คือมันถูกยอมรับจากคนจากตลาดว่าโอเคผ่าน แล้วราคาขายไม่ใช่เงินน้อยๆ ถ้าเขาซื้อไปแล้วเขาโอเค ก็น่าจะแปลว่าเราทำอะไรถูกสักอย่าง แต่ถ้าทำออกมาแล้วขายไม่ออก มันก็คือการลงโทษว่าอีโก้มึงเยอะไปหรือเปล่า วางลงบ้าง แต่ตอนนี้มันยังตอบไม่ได้หรอก เพราะเราทำมาน้อยมาก นอกจากนี้เรายังพบว่าอาชีพปรุงน้ำหอมเป็นอาชีพที่น่าเคารพนับถือมากอาชีพหนึ่ง เขาทำกันได้ยังไงวะ