Thu 24 Jun 2021

TO INFINITY AND BEYOND

คุยกับ SOLIS และ MOONLIT สำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งโดยทีมนักอ่านผู้คลั่งไคล้นิยายไซไฟ และอยากให้หนังสือที่เรารักมีฉบับแปลภาษาไทย

     ถ้าพูดถึงคำว่า ‘นิยายไซไฟ’ (Science Fiction) คุณนึกถึงอะไร

     สามคำแรกที่ผุดขึ้นในหัวของเราคือ วิทยาศาสตร์ อวกาศ อนาคต ก่อนจะตามมาด้วยความรู้สึกว่า น่าจะอ่านยาก และ เหมือนหนังสือเรียน ทำให้ทุกครั้งเวลาอยากลองอ่านนิยายแนวนี้ทีไรก็จะเผลอถอดใจก่อนทุกที

     เราจึงขออนุญาตจบบทความลงตรงนี้ (เดี๋ยวววว)

     แม้ความสัมพันธ์ของเรากับนิยายไซไฟจะอยู่ในระดับผิวเผินสุดๆ ขนาดเรียกว่าคนรู้จักยังอาย แต่สำหรับ ‘แอม—น้ำพราว สุวรรณมงคล’ และ ‘นัน—สวิณี แสงสิทธิชัย’ นิยายไซไฟคงเป็นเหมือนเพื่อนซี้สุดสนิทที่ยังมีมุมมองสนุกๆ ให้ไปค้นหาอีกเพียบ

     นอกจากบทบาทนักอ่านผู้คลั่งไคล้นิยายไซไฟที่ทั้งคู่เป็นเหมือนกันแล้ว แอมและนันยังร่วมกันปลูกปั้น SOLIS สำนักพิมพ์นิยายไซไฟมาตั้งแต่ปี 2017 รวมถึง MOONLIT สำนักพิมพ์นิยายสยองขวัญที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2021 ด้วย

     ดังนั้นเพียงแค่เราเอ่ยถามประโยคแรกว่าไซไฟคืออะไรกันแน่ ดวงตาของพวกเธอก็เปล่งประกายวิบวับ 

     ในฐานะตัวแทนคนไม่สนิทกับไซไฟ เราหวังว่าบทสนทนาต่อไปนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้จักกับไซไฟมากขึ้น และเมื่ออ่านจบแล้ว ก็แอบหวังอีกนิดว่าคุณอาจจะหาหนังสือไซไฟมาลองอ่านสักเล่มแบบเราบ้าง

GET ON BOARD

เข้าใจมาตลอดว่านิยายไซไฟต้องเป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์มากๆ ล้ำโลก และพูดเรื่องอนาคตสุดๆ อยากรู้ว่าจริงๆ แล้วไซไฟคืออะไรกันแน่

     แอม: จริงๆ พี่อยากจะหักล้างอันนี้ให้หมดเลย พี่เรียนสายศิลป์มาตั้งแต่เด็กจนโต แต่ก็สามารถอ่านไซไฟรู้เรื่องได้ ไม่อยากให้จำกัดว่าต้องเป็นคนเก่งวิทยาศาสตร์เท่านั้นถึงจะอ่านไซไฟได้ และนอกจากคำว่าไซไฟ มันมีคำว่า Speculative Fiction คือสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เหมือนกับ What If 

     สมมติว่าให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้หญิง แล้วทหารทุกคนเป็นผู้หญิงหมดเลย มันก็เป็นสถานการณ์ what if รูปแบบหนึ่ง เป็นการทดลองทางความคิด ซึ่งเรื่องที่สมมติอาจจะเกี่ยวกับสังคม เพศ เฟมินิสต์ ชนชั้นก็ได้ มันก็จะไม่ใช่วิทยาศาสตร์แล้ว แต่เรายังถือว่ามันเป็นไซไฟอยู่ 

     นัน: ส่วนพี่อยู่วงการ non-fiction ด้วย ซึ่ง อ.ณัชพล บุญประเสริฐกิจ ที่อยู่อักษรจุฬาฯ (ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) บอกว่า เดี๋ยวนี้ทุกคนชอบคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็น objective คือเป็น fact ที่ยากและน่ากลัว แต่ความจริงแล้ววิทยาศาสตร์สามารถเล่าเรื่องสังคม วัฒนธรรม กระทั่งตัวเลขก็ถือว่าเป็นภาษาได้ เพราะมันสามารถแสดงให้เห็นสภาวะและบริบททางสังคม ณ ช่วงเวลาที่เกิดสูตรหรือแนวคิดนั้นขึ้นมา ตัวเลขที่นิวตันคิดขึ้นมาล้วนมาจากธรรมชาติ แปรออกมาเป็นตัวเลขเพื่อหาความจริง และทำหน้าที่สื่อสารได้

     ดังนั้นไซไฟไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่บริสุทธิ์ มันคือ element ส่วนหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตก็ได้ 

ไซไฟกับแฟนตาซีต่างกันยังไง

     แอม: พี่มองว่าถ้าเป็นไซไฟ มันจะต้องมีพื้นฐานจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง แม้ปัจจุบันเราจะยังประดิษฐ์ไทม์แมชชีนไม่ได้ แต่ในทางทฤษฎีเราก็ต้องคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราเดินทางเร็วกว่าแสง ทะลุแบล็กโฮล จะทำให้ย้อนเวลามาได้ ซึ่งถ้าเทียบกับแฟนตาซีอย่าง The Lord of The Rings อันนั้นเขาอาจจะสร้างโลกของเขาขึ้นมาเอง มันไม่มีอยู่จริง

     ในแง่วรรณกรรมเราอาจแบ่งไซไฟได้สองแบบ อย่างแรกคือ Hard Sci-Fi เป็นไซไฟสายแข็งเลย เวลาพูดถึงไซไฟโดยรวม คนส่วนมากจะนึกถึงอันนี้ เช่น งานเขียนของ ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov นักเคมีชาวอเมริกันผู้โด่งดังในฐานะนักเขียนนิยายไซไฟ) เหมือนเราต้องนั่งยาน คำนวณแรงหนีศูนย์ถ่วง ความเร็วแสง ฯลฯ

     นัน: Hard Sci-Fi เป็นหนังสือที่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์แล้วค่อยเติมความเป็นนิยายเข้าไป มันจะสายแข็งแบบนั้นเลย แล้วพอพูดถึงไซไฟปุ๊บ ทุกคนจะคิดว่าทุกเล่มเป็นฮาร์ดหมด แต่ความจริงก็มีเล่มที่อ่านง่าย สนุกอีกเยอะมาก

     แอม: ยกตัวอย่างเช่น Jurassic Park อันนี้ทั้งสนุกและเข้าใจง่ายด้วย เราไปเจอแมลงที่อยู่ในก้อนอำพัน นำไปสกัดเอาดีเอ็นเอแล้วโคลนนิ่งไดโนเสาร์ออกมา อธิบายแบบนี้ชาวบ้านอย่างเราก็รู้เรื่อง ซึ่งนี่คือไซไฟแบบที่สอง บางคนเรียกว่า Soft Sci-Fi นะ เพราะมันตรงกันข้ามกับ Hard หรือเรียกว่า Speculative ก็ได้

     นัน: เอาจริงๆ หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังดูไซไฟอยู่ ประตูไปไหนก็ได้ของ โดราเอมอน ก็คือประตูวาร์ป ไซไฟอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ในห้องทดลอง

ถ้าพูดถึงไซไฟที่อ้างอิงความเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งฮาร์ดและซอฟต์ไซไฟต้องอยู่บนพื้นฐานความจริงแค่ไหน หรือนักเขียนสามารถเสกขึ้นมาได้เลย

     แอม: อันนี้แล้วแต่คนจริงๆ ยกตัวอย่างเล่มล่าสุดที่เพิ่งอ่านจบซึ่งเป็นของ แอนดี เวียร์ (Andy Weir) คนเขียนเรื่อง The Martian ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงนะ แต่เขาสมมติว่าโลกนี้มีสสารคล้ายแร่ธาตุไวเบรเนียม แล้วก็เอาสสารนั้นไปสร้างยานอวกาศ ซึ่งขั้นตอนการสร้างยาน การยิงยานออกไป ทุกอย่างตรงตามความจริงหมดเลย มีแค่สสารสมมติที่ไม่มีอยู่จริง 

     นัน: พี่อ่าน Semiosis ของ ซู เบิร์ค (Sue Burke) แล้วชอบมาก เขาจบชีววิทยาด้านพืชแล้วก็มาเขียนไซไฟเรื่องพืช ด้วยความที่เราจบสายวิทย์-คณิตฯ มา เรารู้ว่าในเซลล์ของต้นไม้หรือคนทั่วไปจะมีสิ่งที่ผลิตพลังงานเรียกว่าไมโตรคอนเดีย แต่คุณนักเขียนบอกว่าที่ต้นไม้ของเขามีความคิด เพราะไมโตรคอนเดียกลายพันธุ์เป็นสมองของต้นไม้ มันก็มีพื้นฐานความจริงนิดนึง ที่เหลือคือการตั้งขึ้นมา

     แอม: ไซไฟมันกว้างมากเลย เราสามารถมองไซไฟเป็นแนว (Genre) หรือ Plot Device ในการเขียนก็ได้ ถ้ามองเป็น Genre มันก็จะมีดิสโทเปีย, ยูโทเปีย, ไซเบอร์พังก์, Space Opera, Steampunk ฯลฯ

     ถ้ามองเป็นการสร้างพล็อต ไซไฟสามารถเอาไปใส่โรแมนติก สยองขวัญ หรือลึกลับได้เหมือนกัน สมมติว่าเราอยากเขียนเรื่องโรแมนซ์ แล้วให้พระเอกกับนางเอกย้อนอดีตมาเจอกันด้วยไทม์แมชชีน มันก็กลายเป็นไซไฟได้ 

อยากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น ทำไมทั้งคู่ถึงชอบอ่านไซไฟ

     แอม: ตอนเด็กๆ พี่ไปดูหนังเรื่อง Alien เจอฉากที่มันโผล่มาจากท้องคนแล้วชอบมาก รู้สึกสนุกจังเลย มีมนุษย์ต่างดาวด้วย (หัวเราะ) ช่วงแรกๆ จะไล่ดูจากหนังก่อน แล้วค่อยขยับไปอ่านหนังสือ แต่ด้วยความที่พี่เรียนโรงเรียนธรรมดา ภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง ก็อ่านง่ายๆ ก่อน เน้นอ่านเอาสนุก เริ่มจาก Jurassic Park จากนั้นก็จะเน้นเรื่องที่ไปอวกาศหรือมีมนุษย์ต่างดาว พอโตขึ้นก็ได้อ่านไซไฟหลายแบบ แล้วกลายมาเป็นติ่งไซไฟอย่างทุกวันนี้

     นัน: พี่ชอบดู Transformers ชอบอะไรก็ได้ที่ตีกันพังๆ มีตึกถล่ม ส่วนถ้ามาชอบอ่านไซไฟจริงๆ ก็ตอนรู้จักพี่แอม เราว่ารสนิยมการอ่านมันระบาดได้อะ 

     แอม: นี่ทฤษฎีใหม่ใช่มั้ย รสนิยมการอ่านระบาดได้ (หัวเราะ)

มีเหตุผลอะไรที่ทำให้อ่านมาได้ถึงตอนนี้ ไซไฟมีเสน่ห์ตรงไหน

     แอม: อ่านมาถึงขนาดนี้ยังไม่เจอมุกซ้ำเลยนะ มันมีอะไรใหม่ๆ ตลอดเลย

     นัน: ทุกคนไปเอาความคิดมาจากไหนกันก็ไม่รู้

     แอม: เหมือนกับว่ามันเป็นจินตนาการที่กว้างมาก นักเขียนแต่ละคนก็ตีความไม่เหมือนกัน ตั้งแต่สมัยที่คุณอาซิมอฟยังมีชีวิต เขาก็ตั้งกฎของหุ่นยนต์ขึ้นมา พอตอนนี้มีไซไฟใหม่ๆ ก็มีมุกแปลกๆ เพิ่มขึ้นด้วย อย่างคุณโนแลน (คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษ-อเมริกัน) ก็ทำเรื่อง Tenet ที่ย้อนไปย้อนมา

     นัน: เราว่ามันขึ้นกับสังคมด้วย สังคมมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์มันก็เปลี่ยนไป คนที่เรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือนักเขียนก็มีเรื่องสนุกๆ หรือ raw material ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น กลายเป็นว่ามุกแม่งบึ้มเข้าไปใหญ่ และนำมาบิดได้อีกเยอะมาก 

     แอม: ถ้าเป็นสมัยโบราณหน่อย ลองนึกภาพ Star Wars หรือ Star Trek นางเอกก็อาจจะต้องใส่กระโปรงสั้นๆ ไปยืนเป็นผู้ช่วยพระเอก “เอ้ากัปตันไปสิคะ เดี๋ยวฉันคอยบอกให้ว่าไปพิกัดไหน” เพราะสมัยนั้นผู้หญิงยังไม่ค่อยมีบทบาท แต่ปัจจุบันอย่างใน Star Trek กัปตันกลายเป็นผู้หญิงไปแล้ว มันทำให้เราดูได้ยาวนาน คิดอยู่ว่าถ้าไปถึงรุ่นหลาน เรื่องเพศอาจจะลื่นไหลกว่านี้อีก กัปตันอาจจะเป็น Non-Binary ไปแล้ว

GO FOR LAUNCH

ทำไมวันนึงถึงลุกมาเปิดสำนักพิมพ์ SOLIS ทั้งๆ ที่บ้านเราก็มีสำนักพิมพ์ไซไฟอยู่บ้างแล้ว

     แอม: แต่ก่อนพี่เคยมีความฝันอยากเป็นนักแปล เพราะอ่านหนังสือมาเยอะ แต่พอได้สัมผัสวงการนักแปลจากคนรอบตัวก็รู้เลยว่ามันยากมาก คนอย่างเราทำไม่ได้แน่ๆ ดังนั้นเมื่อเราทำสิ่งนั้นไม่ได้ แต่ยังอยากทำหนังสืออยู่ เราก็เลยคิดว่าเอาวะ ก่อนตายขอลองสักตั้ง ชีวิตนี้อยากจะทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ 

     หนังสือที่พี่ทำคือหนังสือที่อ่านมานานแล้วชอบมากๆ ใจนึงคืออยากให้หนังสือที่เราชอบมีคนมาอ่านด้วยกัน มาคุยกัน สนุกกัน อยากให้มีคอมมูนิตี้นี้เกิดขึ้น ที่เมืองนอกมีคอมมูนิตี้ไซไฟที่ใหญ่มาก มีงานที่คล้ายๆ กับ Comic-Con เลย พี่อยากให้เมืองไทยมีพื้นที่แบบนี้ให้คนคอเดียวกันได้มาคุยกัน เป็นความฝันว่าสักวันหนึ่งอยากจะทำให้ได้ 

     จริงๆ ไม่อยากพูดว่าพี่เป็นคนที่รู้เรื่องไซไฟเยอะนะ พี่เป็นคนมาทีหลังเลย มันจะมีกลุ่มของคนอ่านไซไฟในเมืองไทยที่เขาเซียนมากๆ อ่านงานคลาสสิกเยอะ พี่ถือว่าตัวเองเป็นนักอ่านคนหนึ่งที่ริมาเปิดสำนักพิมพ์ ปัจจุบันก็ไม่คิดว่าตัวเองเชี่ยวชาญเรื่องนี้เป็นพิเศษ ยังมีคนเก่งกว่าเราเยอะ 

ทั้งคู่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์โซลิสร่วมกันหรือเปล่าคะ

     แอม: ไม่ใช่ค่ะๆ พี่เปิดสำนักพิมพ์ขึ้นมาก่อน ตอนแรกก็ทำคนเดียว แล้วช้ามาก ตอนหลังได้น้องนันมาช่วยเป็นบรรณาธิการ 

     นัน: พี่แอมจะเป็นคนเลือกเรื่องมาทำเพราะเขาอ่านเยอะ ส่วนเราจะเป็นบรรณาธิการที่คอยตรวจแก้ต้นฉบับ เรียกว่าเป็น Managing Editor ถ้าให้เรียกตำแหน่งอย่างกว้างสุดน่าจะเป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์

     แอม: แต่จริงๆ คือนางทำทุกอย่าง (หัวเราะ) 

นอกจากอยากแปลเรื่องที่พี่แอมอ่านแล้วชอบ โซลิสมีหลักการอะไรในการเลือกหนังสือมาพิมพ์อีกมั้ย

     แอม: หนังสือทุกเรื่องที่ทำเราต้องอ่านแล้ว เวลาทำสำนักพิมพ์มันจะมีระบบเอเจนซี่หนังสือ เขาจะส่งตัวอย่างมา บางเรื่องยังไม่มีตัวเต็มให้เราอ่าน ต้องลองผิดลองถูก ถ้าเราซื้อมาทำอาจจะปังเลยก็ได้ แต่เราไม่ทำแบบนั้น เพราะเราเป็นนักอ่าน เราอยากจะอ่านให้จบ อยากรู้ว่ามันเป็นยังไง

     นัน: สมมติถ้ามันดีมาครึ่งเรื่องแล้วตอนจบมันปิ้ว นักอ่านผิดหวังเลยนะ ซึ่งในฐานะนักอ่าน ถ้ามันไม่ได้กลมกล่อมทั้งเล่ม เราก็ไม่อยากทำแบบนั้น เราอ่านทุกเล่มที่สนใจจนจบและรู้ว่าต้องไปในเวย์ไหน มันอาจจะกินเวลาตรงนี้ ทำให้จำนวนหนังสือออกมาน้อยเพราะมัวแต่เลือกอยู่นั่นแหละ (หัวเราะ) และมันก็เป็นความเสี่ยงนะ เพราะมันทำให้เราช้ากว่าคนอื่น 

เคยโดนชิงตัดหน้ามั้ยคะ ตั้งใจจะซื้อแต่เขาขายที่อื่นไปแล้ว

     แอม: พี่น่ะอกหักไม่รู้ตั้งกี่รอบแล้ว อีกอย่างคือสำนักพิมพ์เราเล็กด้วย ถ้าเป็นเรื่องดังๆ เราคงสู้ราคาไม่ไหว แต่ก็เป็นความโชคดีของเราด้วย เพราะว่าไซไฟไม่ใช่แนวที่ดังในไทย ลิขสิทธิ์เลยไม่แพงมาก อยู่ในระดับที่สำนักพิมพ์อย่างเราสู้ได้ 

พอตัดสินใจได้แล้วว่าเอาเล่มนี้ มีวิธีเลือกนักแปลยังไง

     แอม: ส่วนมากนักแปลก็เป็นคนที่รู้จักกัน แล้วก็เป็นคนที่ชอบแนวเดียวกัน บางเล่มนักแปลเป็นคนเสนอมาก่อนเลย เหมือนทุกคนทำงานด้วยแพสชั่น

     นัน: หลักการสำคัญคือต้องเอาคนที่ชอบเรื่องนั้นไว้ก่อน ก็ค่อนข้างหายากนะ ต้องบอกก่อนว่าหนังสือมันเป็นแนวนี้ โทนแบบนี้ เราอยากได้คนที่ appreciate ในต้นฉบับ แต่ความโชคดีคือนักแปลของเราเป็นคนชอบอ่านไซไฟกันอยู่แล้ว

ทำไมทำหน้าปกเป็นรูปวาด

     แอม: ถ้าไปดูหนังสือไซไฟภาษาอังกฤษสมัยก่อนจะรู้สึกว่าหน้าปกเหมือนหนังสือเรียน พี่เลยอยากจะสื่อว่าไซไฟเป็นเรื่องอ่านสนุก มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์น่าเบื่อนะ เลยเอารูปแบบใหม่มาทำดู เป็นกราฟิกบ้าง รูปวาดบ้าง 

ส่วนใหญ่งานไซไฟจะมาจากฝั่งอเมริกากับยุโรปเป็นหลักหรือเปล่า ไม่ค่อยเห็นงานจากฝั่งเอเชีย

     แอม: งานไซไฟของนักเขียนเอเชียรุ่นใหม่มีเยอะอยู่นะคะ พี่อาจจะไม่ได้รู้ด้านนี้เยอะนะ แต่พี่สนใจไซไฟญี่ปุ่น เท่าที่พี่เคยจับมา Hard Sci-Fi ของเขาขนาดแปลเป็นภาษาอังกฤษมาแล้วยังอ่านยากเลย อาจจะเพราะประเทศเขาเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยีหรือเปล่าก็ไม่รู้ 

     แล้วก็ตอนนี้ไซไฟจีนมาแรงมากอย่าง ดาวซานถี่ ของ หลิว ฉือซิน (Liu Cixin) ก็ถูกดัดแปลงไปฉายในเน็ตฟลิกซ์ด้วย ด้านเกาหลีก็มีหนังเรื่อง Space Sweeper (2021) ที่โปรดักชั่นเหมือนฮอลลีวูดเลย ส่วนในสหรัฐฯ ก็มีนักเขียนไซไฟชาวมาเลเซียกำลังดังอยู่เหมือนกัน

ที่ไซไฟทางญี่ปุ่นหรือฝั่งตะวันตกบูมมากๆ เป็นเพราะบ้านเมืองเขาให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ด้วยหรือเปล่า

     แอม: พี่ว่าน่าจะมาจากวัฒนธรรมมากกว่า เด็กฝรั่งบางคนโตมากับของเล่นเลโก้ หยอดสารในหลอดทดลอง หรือดู Star Trek ทางด้านญี่ปุ่นก็ดู กันดั้ม กันตั้งแต่เด็ก มันก็คือหุ่นยนต์ เป็นวิทยาศาสตร์ 

     ถ้าถามถึงเมืองไทย คงไม่เกี่ยวว่าบ้านเราไม่ได้ชอบวิทยาศาสตร์ แต่โดยรวมบ้านเรายังไม่มีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงเท่าเขา คำถามเลยไม่ใช่ว่าทำไมเมืองไทยไม่อ่านไซไฟ แต่ทำไมเมืองไทยยังอ่านหนังสือน้อยอยู่ 

     นัน: เป็นที่วัฒนธรรมกับสื่อแหละ 

     แอม: พี่ไม่อยากจะโทษว่าเด็กไทยไม่อ่านหนังสือ แต่เป็นเพราะหนังสือของเรายังน้อยอยู่หรือเปล่า เรามีหนังสือที่น่าสนใจจำนวนมากพอจะให้เขาอ่านหรือยัง 

ไซไฟแนวไหนกำลังมาแรงช่วงนี้

     แอม: พี่ว่าปีนี้ Afrofuturism มาแรง คือไซไฟที่เป็นคนผิวดำ แต่ไม่ใช่จากสหรัฐฯ นะ อันนั้นจะเป็นแนวคนที่ถูกคนผิวขาวกดขี่ แต่อันนี้จะเป็นไซไฟที่มาจากแอฟริกาจริงๆ เอาวัฒนธรรมชนเผ่าของเขามาเล่า เหมือนเรื่อง Binti ของ เนดี โอโคราฟอร์ (Nnedi Okorafor) ที่พี่เคยอ่าน เรื่องคร่าวๆ คือนางเอกเป็นเด็กผู้หญิงในแอฟริกา เขาต้องนั่งยานเพื่อไปเรียนที่ดาวอื่น แต่วัฒนธรรมของเขาจะต้องพอกตัวด้วยดินจากบ้านเกิด ซึ่งลักษณะการเขียนคือเขาพยายามจะใส่วัฒนธรรมชนเผ่าแอฟริกาลงไป ก่อนหน้านี้เราจะไม่ค่อยเห็นกัน 

     จริงๆ อาจจะไม่ใช่แค่แอฟริกาอย่างเดียว ไซไฟที่ไม่ใช่กระแสหลักอย่างพวกอเมริกันหรือยุโรปก็ได้รับความนิยมนะ อีกเล่มที่พี่ชอบมากคือ Ninefox Gambit ของ ยุน ฮาลี (Yoon Ha Lee) คนนี้เป็นนักเขียนเกาหลี-อเมริกัน เป็นแนวไซไฟยิงกันในอวกาศ ก่อนไปสู้ก็จะมีการประชุม กินข้าวกันก่อน แล้วโรงอาหารในยานก็เป็นสไตล์เกาหลี มีตะเกียบ มีสาหร่าย 

     ตอนนี้เนื้อเรื่องของไซไฟมันกว้างมาก เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราไม่เบื่อไซไฟ 

อยากรู้ว่าปริมาณคนในคอมมูนิตี้ไซไฟไทยเยอะมั้ย 

     แอม: มีกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อ ‘Thai Sci-Fi Group’ ก็มีสมาชิกหลักพันนะ แต่ส่วนมากในกรุ๊ปก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ่านแนวนี้มานาน แล้วงานที่ทุกคนชื่นชอบก็จะเป็นงานคลาสสิก ซึ่งแต่ละคนในคอมมูนิตี้คือสายแข็งมาก เขาจะโพสต์คุยกันในกรุ๊ปตลอด เช่น ‘ได้ข่าวว่านักเขียนคนนี้จะออกเรื่องใหม่แล้วนะ’ แล้วก็จะมีชาวไซไฟมาเขียนตอบกันแบบละเอียดมาก คนนี้เคยเขียนเรื่องสั้นลงนิตยสารนี้ แปลโดยคนนี้ พี่เชื่อว่าเราสามารถส่งเขาไปแข่งแฟนพันธุ์แท้ได้เลย (หัวเราะ)

นัน: เนิร์ดตาแตกอะ ความรู้แน่นจริงๆ

แปลว่าไม่ค่อยมีคอมมูนิตี้ที่รวมคนรุ่นใหม่เหรอคะ

     แอม: มีอยู่แต่ยังไม่รวมกันเป็นกลุ่ม เพราะว่าคนรุ่นใหม่ใช้ทวิตเตอร์มากกว่า ขณะที่คนรุ่นพี่ยังใช้เฟซบุ๊ก มันจะมีเป็นกรุ๊ปไว้คุยๆ กัน แต่ทวิตเตอร์มันแยกกันหมด เลยดูไม่เป็นกลุ่มก้อน

     นัน: คนรุ่นใหม่ก็มีไปเปิดเพจในเฟซบุ๊กนะ แต่จำนวนคนในแต่ละเพจก็อาจจะน้อย เพราะเขายังหากันไม่เจอ 

LAND ON THE MOON

ทีนี้อยากรู้ว่าจากที่ทำโซลิสซึ่งไซไฟจ๋ามาก อยู่ดีๆ ต้นปีที่ผ่านมาก็เปิดสำนักพิมพ์ MOONLIT ที่เล่นกับอารมณ์และด่ำดิ่งลงไปในจิตใจของมนุษย์ได้ยังไง มันดูคนละแนวกันมากเลย

     แอม: ถ้าจะตอบว่าเป็นเพราะชอบก็คงน่าเกลียดเนอะ (หัวเราะ) โซลิสมันเป็น Niche Sci-Fi แต่ยังมีแนวอื่นที่เราชอบอีก ก็เลยเปิดมูนลิทขึ้นมาเป็นพี่สาวน้องสาว คิดว่าถ้ามีเรื่องไหนที่ชอบก็คงเอามาใส่ในมูนลิท 

     ถ้าไซไฟคือสิ่งที่เราไม่รู้แล้วต้องไปหาคำตอบจากข้างนอกตัวเรา เช่น ไปในอวกาศเพื่อหาคำตอบว่าหลุมดำอยู่ที่ไหน ไปที่ใต้ทะเลเพื่อดูว่ามันมีก๊อดซิลลาหรือเปล่า แต่คำว่าสยองขวัญ Horror Psychological มันคือสิ่งที่อยู่ในตัวเรา อยู่ในใจเรา ซึ่งจริงๆ มันก็น่ากลัว แทนที่เราจะไปหาสิ่งที่อยู่ข้างนอก ตอนนี้เราต้องไปหาคำตอบในตัวว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจากอะไร ความมืดมิดในใจมนุษย์นี่แหละที่น่ากลัว

     จริงๆ มันคือขั้วตรงข้ามเลยนะ เราเลยเล่นกับโลโก้ด้วย โลโก้โซลิสจะเป็นรูปพระอาทิตย์ ส่วนมูนลิทจะเป็นพระจันทร์ 

มูนลิทออกมากี่เล่มแล้ว

     แอม: เยอะมากค่ะ ตั้งหนึ่งเล่ม (หัวเราะ) ตอนนี้ยังจับทิศทางหนังสืออยู่ อยากจะทำหลายๆ แนว ต้องพูดก่อนว่าสยองขวัญของพี่ไม่ใช่ผีแหกอก เราก็ยังไม่รู้ว่าคนชอบแบบไหน เล่มแรกที่ออกมาชื่อ เวเคนเฮิร์สต์ ภาพพิพากษา (Wakenhyrst) เป็นแนวโกธิค ปราสาทมืด ย้อนยุค มีเกร็ดประวัติศาสตร์ เล่นกับความวิปริต โรคจิต ลึกลับในจิตใจคน แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์สังคมสมัยนั้นด้วย เราพยายามจะหาหลายๆ อย่างที่น่าสนใจมาไว้เล่มเดียวกัน เล่มนี้ตัวเอกเป็นผู้หญิง ส่วนเล่มที่กำลังทำอยู่ตัวเอกเป็นผู้ชายก็จะเน้นความแอ็กชั่นมากขึ้น กำลังแปลอยู่ ใกล้เสร็จแล้ว

คิดว่าไซไฟก็เฉพาะเจาะจงแล้ว แนวของมูนลิทไม่ยิ่งแคบลงอีกเหรอคะ

     นัน: พี่ว่าความวิปลาสหรือความหลอนเป็นเรื่องที่คนไทยชอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขียนเองหรือหนังสือแปล 

ช่วง 2-3 ปีมานี้ หนังสือแปลมาแรงมาก ทั้งโซลิสและมูนลิทมีนักอ่านเพิ่มขึ้นมั้ย

     นัน: ถ้าพูดว่าคนมาอ่านหนังสือของเราเยอะขึ้นเพราะกระแสนิยายแปลหรือเปล่า สำหรับพี่ตอบได้เลยว่าไม่ใช่ เพราะเขาไปอ่านนิยายแปลจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน แล้วก็เป็นแนวฟีลกู้ด หรือจีนโบราณ สำนักพิมพ์ที่แปลทางตะวันตกแบบเราจะยาก ต้องพยายามเข็นเลยแหละ 

ตอนนี้สำนักพิมพ์ทำหนังสือแปลเป็นหลักใช่มั้ยคะ

     แอม: ต้องยอมรับความจริงว่าตอนนี้หนังสือขายได้ด้วยชื่อของนักเขียนฝรั่ง แต่ก็มีแฟนนิยายไซไฟส่งต้นฉบับมาเหมือนกัน พี่ก็ต้องขอโทษเขาทั้งน้ำตาเลย ใจจริงอยากพิมพ์มาก อยากให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย แต่ด้วยเศรษฐกิจ มันเลยยากมาก 

     นัน: ถ้ามีเงินก็ทำไปแล้ว พูดจริงๆ

นักเขียนที่ดังที่ต่างประเทศทำให้ขายในไทยง่ายขึ้นมั้ย

     นัน: จริงๆ มีหลายปัจจัยมาก แต่การที่นักเขียนมีชื่อเสียงในต่างประเทศ ไม่ได้การันตีว่าหนังสือแปลภาษาไทยจะดัง

     แอม: ถ้าหนังสือถูกทำเป็นหนังก็จะช่วยเรื่องยอดขายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เสมอไป

โควิด-19 กระทบกับสำนักพิมพ์ไหม

     แอม: พูดจริงๆ พี่ไม่รู้ว่าจะเข็นสำนักพิมพ์ไปได้นานแค่ไหน เพราะเศรษฐกิจก็ไม่ดี แต่เราไม่มีลูกให้ต้องดูแล ก็ทำให้มันพออยู่ตัว 

     เคยพูดเอาไว้ว่าพี่จะเป็นเหมือนดาวตก ถึงแม้พอตกลงมาแล้วจะหายไป แต่ระหว่างที่มันอยู่บนท้องฟ้า ก็จะสว่างเจิดจ้าให้คนเห็น ก่อนที่มันจะเจ๊ง (หัวเราะ) 

     ขอเล่าเรื่องนึง ตอนนั้นไปขายหนังสือที่บูท แล้วมีคุณแม่มาซื้อ โอลด์แมนส์วอร์ (Old Man’s War ของ จอห์น สกัลซีย์ (John Scalzi) เรื่องราวเมื่อมนุษย์โลกขยายถิ่นฐานไปดาวดวงอื่นและต้องแย่งชิงพื้นที่ในเอกภพ องค์กรทหารจึงยื่นข้อเสนอให้ประชาชนวัยเกษียณเข้าร่วมสนามรบเพื่อแลกกับชีวิตใหม่) เล่มสามหรือสี่นี่แหละ เขาบอกว่าก่อนหน้านี้ลูกชายไม่อ่านหนังสือเลย แต่พออ่านหนังสือของเราแล้วชอบมาก ตอนนี้ลูกชายกำลังหัดเขียนหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์อยู่ พี่ก็ยิ้มๆ ใส่ถุงให้เสร็จสรรพ พอเขาเดินออกไป (ทำท่าเช็ดน้ำตา) โมเมนต์นั้นคือรู้สึกเลยว่าเจ๊งก็ยอม 

     ยังคุยกับนันว่าช่วงโควิด-19 เราก็ลดจำนวนเล่มที่ตีพิมพ์หนังสือแต่ละครั้งให้น้อยลงแล้วกันเนอะ เดี๋ยวหาวิธีสู้กันต่อไป แต่พี่ก็ไม่อยากให้หนังสือแพง เพราะยิ่งพิมพ์เยอะก็ยิ่งถูก และถ้าลดจำนวนพิมพ์ก็ไม่อยากให้ราคาขายเกินเล่มละ 300 บาท หนังสือฝรั่งสวยๆ เล่มหนาๆ เดี๋ยวนี้ไม่แพงเลย เพราะเขาพิมพ์ economy of scale เราอาจจะสู้เขาไม่ได้ พี่ก็พยายามหาวิธี อาจจะมีส่วนลดถ้าซื้อในเพจ พี่จะพยายามให้ถึงที่สุดที่จะทำให้ราคาหนังสือจับต้องได้ 

RETURN TO EARTH

ในฐานะที่อ่านนิยายไซไฟมานาน มีเรื่องไหนมั้ยที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นจริงบนโลก แต่ดันเกิดขึ้นแล้ว

     นัน: มันเป็นได้ทั้งแง่สังคมและแง่วัตถุเลย สำหรับพี่คือเล่ม เมล็ดฝันวันสิ้นโลก (Parable of the Sower) (1993) ของ อ็อกเทเวีย อี. บัตเลอร์ (Octavia E. Butler) นักเขียนเป็นผู้หญิงผิวดำ พ่อแม่เคยเป็นทาสมาก่อน แต่เขาได้รับการศึกษาแล้วก็รักวิทยาศาสตร์ เขาเขียนเรื่องนี้โดยสมมติให้ประเทศสหรัฐฯ ในอนาคตมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ประธานาธิบดีในเรื่องก็หาเสียงด้วยการบอกว่าจะ ‘Make America Great Again’ ซึ่งต่อมาอีกยี่สิบกว่าปี ทรัมป์ก็พูดคำนี้ออกมา คนเลยคิดว่าสิ่งที่คุณอ็อกเทเวียเขียนเป็นการทำนายอนาคตหรือเปล่า ก็เลยเกิดเหตุการณ์ Octavia Hype ในสหรัฐฯ มีคนเอาไปทำหนังสือการ์ตูน ละครเวที แล้วก็อีกหลายอย่าง ยิ่งพอเล่มสอง Parable of the Talents (1998) เขาเขียนถึงประธานาธิบดี แล้วมันเหมือนกับซ้อนภาพทรัมป์ลงไปได้เลย ป้าอ็อกเทเวียคงลุกจากหลุมแล้วชี้หน้าบอกทุกคนว่ากูบอกมึงแล้ว (หัวเราะ)

     แอม: มีคนพูดเหมือนกันว่าตอนนี้โลกเรากำลังพุ่งเข้าสู่ไซไฟ อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น พี่เกิดมาในรุ่นที่โทรศัพท์บ้านต้องหมุน แล้วก็ใช้เพจเจอร์ ตอนเด็กๆ เวลาพ่อแม่มารับช้าก็ต้องไปหาตู้โทรศัพท์สาธารณะ หยอดเหรียญ “ฮัลโหล อีกสิบนาทีเดี๋ยวไปรอป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียนนะ” ขณะที่ตอนนี้พี่มีหลานวัยอนุบาล แกจะมีบัตรคล้องคอเหมือนพนักงานเลย แตะที่ประตูหน้าโรงเรียนแล้วมันจะเด้งมาเครื่องผู้ปกครองเลยว่าลูกคุณเข้าโรงเรียนแล้ว บางทีก็ดูได้เลยว่าเด็กอยู่ในห้องแล้วจริงๆ ตอนเที่ยงก็มีบอกว่าอาหารกลางวันของลูกคุณมีอะไรบ้าง โภชนาการเป็นแบบนี้ คุณแม่ไม่ต้องกลัวนะคะ โลกเรามันมาถึงจุดนี้แล้วอะ 

แล้วอ่านนิยายวิทยาศาสตร์มาเยอะขนาดนี้ เชื่อเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติมั้ยคะ

     แอม: ทางนี้คือโคตรกลัวเลยค่ะ (หัวเราะ) กลัวกับเชื่อเหมือนกันมั้ยนะ

     นัน: บางคนจะบอกว่าเรื่องผีคือควอนตัม แต่สำหรับพี่ไม่มีควอนตัมอะไรทั้งนั้น ผีคือผี เชื่อแบบไร้ข้อกังขา กลัวด้วย ไม่มีเหตุผล พี่เชื่อว่ามีผีแน่ๆ (เน้นเสียง) แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์บางคน อย่างการทดลองแมวในตู้ของชโรดิงเจอร์ เราจะรู้ว่าแมวตายหรือไม่ตายก็ต่อเมื่อเราเปิดกล่องดู เช่นเดียวกัน เราจะรู้ว่ามีผีหรือไม่ก็คือต้องตายเท่านั้น (หัวเราะ)

     แอม: เวลาดูหนังผีฝรั่งกลับมาบ้านก็จะปกติ ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นหนังผีไทยคือต้องลืมตาสระผมอะ มีนักเขียนไซไฟฝรั่งหลายคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังนับถือพระเจ้า มันก็คิดได้หลายแง่ เรากำลังพูดถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มันเป็นแค่ทฤษฏี 

มีคนเคยพูดว่าเราไม่ควรเอาสิ่งที่ชอบมาเป็นงาน คิดเห็นยังไงกับประโยคนี้

     แอม: มันก็มีข้อดีกับข้อเสียนะคะ แต่ก่อนพี่เป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะมาก อ่านทุกวันวันละสองเล่ม แต่พอทำสำนักพิมพ์ นี่คือช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่อ่านหนังสือน้อยที่สุด เพราะเราต้องดูต้นฉบับตัวเอง หนังสือหนึ่งเล่มต้องอ่านสิบรอบ มันก็จะมีอะไรตลกๆ อีก เช่น เวลาเราอ่านหนังสือเพื่อความบันเทิง ทำใจโล่งๆ เลยนะ แต่พออ่านๆ ไป เอ๊ะ สำนวนนี้มันต้องแปลเป็นไทยยังไง มันเหมือนหัวติดอยู่กับการทำงาน บางทีโทรหานันเลย นันถามพี่จะทำเหรอ พี่ก็บอกว่าเปล่า พี่สงสัยเฉยๆ (หัวเราะ) อันนี้คือข้อเสีย ก็เข้าใจเลยแหละว่าทำไมเขาถึงบอกว่าไม่ควรเอาสิ่งที่รักมาทำ เพราะมันจะสูญเสียความสนุกส่วนหนึ่งไป 

     ส่วนข้อดีคือเหมือนมันปลดล็อก ในที่สุดก็ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ สมมติพี่เดินออกไปข้างนอกแล้วถูกรถบรรทุกชน พี่ก็คงไม่เสียดายแล้ว แต่ก็ยังตายไม่ได้ เพราะยังเหลือหนังสือสนุกๆ ที่อยากทำอีกเยอะเลย 

     นัน: ส่วนของพี่คือไม่มีเลย อาจจะเป็นเพราะอดีตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเลยยกคำพูดนั้นไม่ได้ อดีตเราเคยเจอสิ่งที่แย่กว่านี้ พอได้มาทำอยู่กับสิ่งที่เรารักทุกวัน เลยรู้สึกว่ามันโชคดีมากเลยนะ