Thu 25 Nov 2021

SUMMER DECEMBER

a part-time writer who spends most of her time writing

     ‘งานแรกของ ‘พัท’ อยู่ภายใต้การดูแลของ ‘คุณเจ๋ง’ เจ้านายที่แก่กว่าสิบปี ช่องว่างระหว่างวัยนำมาซึ่งความขัดแย้ง แต่ในขณะที่ค่อยๆ ใช้เวลาปรับตัวเพื่อทำงาน ใครบางคนกลับรู้สึกค่อยๆ รัก…มากขึ้นทีละนิด’

     นี่คือคำโปรยที่อยู่ในหน้าแรกของ ค่อยๆ รัก นิยายรักฟีลกู้ดว่าด้วยความรักในที่ทำงานที่โด่งดังไปทั่วโลกออนไลน์ การันตีด้วยยอดอ่านกว่าสองล้านครั้ง และฟีดแบ็กจากนักอ่านอีกกว่าสามหมื่นคอมเมนต์ใน readAwrite

     จะว่าไปแล้วนี่มันพล็อตคลิเช่เจ้านายสุดหล่อกับลูกน้องใหม่สุดน่ารักชัดๆ และดูเหมือนคนเขียนจะรู้ทันความคิดคนอย่างเรา เพราะทันทีที่เปิดเข้ามาในบทนำ เราก็เจอกับคำเตือนตัวอักษรสีแดงว่า ‘ความสัมพันธ์ในเรื่องถูกบอกเล่าโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง (ความรักในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องหอมหวาน และอยู่ในพื้นที่สีเทา)’

     อุ่ก รู้สึกเหมือนโดนต่อยท้องอย่างแรง

     ด้วยความอยากรู้ว่ามันดียังไง ทำไมถึงโด่งดังขนาดนั้น เราจึงตัดสินใจอ่านต่อ แถมความท้าทายอีกอย่างระหว่างอ่านเรื่องนี้คือเวลาที่กำลังนับถอยหลัง เนื่องจากตัวนิยายกำลังได้ตีพิมพ์กับทางสำนักพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้นจึงจะมีการปิดตอนเกิดขึ้น ซึ่งในวันที่เราเริ่มอ่านนั้นเหลือเวลาอีกประมาณห้าวันเท่านั้นกับความยาว 43 บท หยอดน้ำตาเทียมแล้วไปสู้เขาสิวะอีหญิง!

     แต่พออ่านไปสักพักเราก็ต้องไถหน้าจอขึ้นไปดูชื่อเรื่องอีกรอบว่าเราเข้ามาอ่านถูกเรื่องหรือเปล่า ทำไมมันมีแต่เรื่องงานวะเนี่ย เมื่อไหร่จะรักกัน (ทึ้งหัว) พอได้ถามเรื่องนี้กับ ‘summer december’ หรือ ‘คุณเม่อ’ ที่เหล่าแฟนนักอ่านเรียกกันก็ได้คำตอบพร้อมรอยยิ้มว่า 

     “เข้าใจเลย ทุกคนมีความอดทนมาก (หัวเราะ) จริงๆ ทุกความช้าในเรื่องมีความหมายหมดเลยนะ เราบอกได้เลยว่าถ้าคุณไม่อ่านเรื่องงาน คุณก็จะไม่เข้าใจความสัมพันธ์ว่าพวกเขารักกันได้ยังไง แลกเปลี่ยนอะไรกัน ความคิดแต่ละคนเป็นแบบไหน ทุกอย่างอยู่ในเรื่องราวที่เราไม่ได้มานั่งบอกว่าเขารู้สึกแบบนี้นะ เราแค่บอกว่าเขาทำอะไร”

     ด้วยความอดทนและเป็นคนชอบเอาชนะ เราจึงปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นก่อนเดดไลน์ได้สำเร็จ เมื่ออ่านจบถึงบทสุดท้าย เราก็เข้าใจเลยว่าทำไมบรรดานักอ่านถึงพากันอวยยศนิยายเรื่องนี้ และไม่รอช้ารีบทักไปชักชวนคุณเม่อมาพูดคุยกันถึงการเขียนเรื่องราวมหากาพย์ที่ทำให้ตาแห้งแห่งปี ฮาวทูเขียนให้ยาวได้ขนาดนี้ และอีกสารพัดเรื่องราวเบื้องหลังก่อนจะมาเป็น #เจ๋งพัท ที่ทุกคนรัก

ตอนนี้คุณเม่อทำงานเป็นนักเขียนเต็มตัวหรือเปล่า

     ไม่ใช่ค่ะ เราทำงานหลักอยู่ในฝั่งการตลาดกับโฆษณา แต่ก็มาเขียนเป็นงานอดิเรกที่จริงจังขึ้นเรื่อยๆ กำลังจะอายุ 26 ปีเร็วๆ นี้เลยถือว่าการเขียนนิยายเรื่องนี้เป็นการรวบรวมชีวิตเราในช่วงอายุ 25 ปีเอาไว้ 

เริ่มเขียนตั้งแต่อายุเท่าไหร่

     จริงๆ เริ่มเขียนแฟนฟิกชั่นศิลปินเกาหลีตั้งแต่อายุ 14-15 ปี แต่ว่าไม่ได้จริงจัง แค่เห็นเขาเขียนกันประกอบกับเรามีเรื่องอยากจะเล่า ก็เลยเริ่มเขียนบ้าง เขียนมาเรื่อยๆ มีหยุดพักไป 3-4 ปี แล้วเพิ่งกลับมาเขียนนิยายออริจินัลของตัวเองเมื่อต้นปี 2020 

ทำไมต้องเป็น ‘summer december’

     เราเกิดเดือนธันวาคมเลยเป็น december แล้วก็ชอบองค์ประกอบอย่างแดด ลม ต้นไม้ ความสดใสของฤดูร้อน ซึ่งก็คือ summer ปกติแล้วเดือนธันวาคมจะมีภาพลักษณ์เป็นหิมะเนอะ พอเอามารวมกับฤดูร้อนก็รู้สึกว่ามันขัดแย้งดี ดูเป็นเรา แล้วก็รู้สึกว่าเป็นนามปากกาที่เราจะชอบไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ความชอบในช่วงนึงแล้วหายไป 

ใช้มาตั้งแต่แฟนฟิกชั่นศิลปินเกาหลีเลยมั้ย

     ไม่ค่ะๆ ตอนนั้นยังตั้งไม่ค่อยเป็น บางทีก็เอาชื่อเมนมาตั้ง คยูฮยอนนี่ (หัวเราะ) พอเรามาเขียนตอนที่โตขึ้นก็เริ่มชัดเจนในตัวตนมากขึ้น เลยได้เป็นชื่อนี้ขึ้นมา 

ว่ากันว่าการจะเขียนหนังสือได้ดีส่วนหนึ่งมาจากการอ่านหนังสือเยอะ แล้วคุณเม่อล่ะเป็นนักอ่านด้วยหรือเปล่า

     เราชอบอ่านหนังสือมาก โตมากับนิทานเต็มบ้าน อ่านจนจำได้เลย แล้วเราก็อ่านหนังสือสืบสวนคดีฆาตกรรมตั้งแต่เด็ก อ่านแล้วก็กลัว นอนไม่หลับด้วย บางทีตอนรอแม่ซื้อของในห้าง เราก็เข้าไปยืนอ่านหนังสือรอในร้าน แต่แนวในการอ่านจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะอ่านเยอะ 

หนังสือเล่มไหนที่มีอิทธิพลกับชีวิตคุณเม่อบ้าง

     เราชอบ Blind Willow, Sleeping Woman ของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ส่วนตัวเราว่างานของมูราคามิอ่านค่อนข้างยาก แต่พอเป็นเรื่องสั้นกลับรู้สึกว่ามันโฟกัสง่าย เรื่องนี้ไม่เข้าใจ เรื่องหน้าอาจจะเข้าใจก็ได้ (หัวเราะ) ซึ่งอ่านๆ ไปก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ด้วยวิธีแปลหรือภาษาที่คอนเนกต์ มันเลยเกิดวิชวลขึ้นมา ทำให้เรารู้สึกว่าตัวหนังสือคือฟอร์แมตของความคิดสร้างสรรค์ที่เราชอบมากเลย ทำไมตัวอักษรที่มาเรียงเป็นเรื่องราวถึงพิเศษได้ขนาดนี้ เลยเป็นการจุดประกายว่าเราอยากเขียนให้ได้แบบนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนดูหนัง

งั้นนักเขียนคนโปรดคือมูราคามิด้วยมั้ย

     ก็ไม่เชิงขนาดนั้น จริงๆ เราไม่มีนักเขียนคนโปรด เพราะอ่านเยอะ อ่านหลากหลาย แต่ถ้าในงานด้านครีเอเตอร์คนโปรด เราชอบงานของ เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) เรารู้สึกว่าผลงานของเขามีตัวตนชัดเจน สีสันต่างๆ ที่เขาใช้ไม่ใช่แค่สวยเฉยๆ แต่มันมีความหมาย 

     แล้วก็ชอบ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ผู้กำกับ Little Women เวอร์ชั่นใหม่ เราชอบการตีความของเขา จริงๆ ตัวหนังสือก็ดีอยู่แล้ว แต่เขาทำให้มันโมเดิร์นในแบบที่ไม่ได้ฝืนและดึงเสน่ห์ออกมาได้ดี 

อยากรู้ว่าคุณเม่อไปหาไอเดียหรือวัตถุดิบในการสร้างสรรค์งานมาจากไหน

     จากชีวิตประจำวันประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เลย เราไม่มีความรู้ด้านการเขียนด้วยแหละว่าต้องเริ่มแบบไหน ตอนช่วงเริ่มเขียนเราได้ไปช่วยทำงานที่ร้านอาหารของลุงที่เบลเยียมแล้วรู้สึกว่าสนุกดี อยากเล่า งั้นเอามาใส่ในงานเขียนดีกว่า พอเขียนแล้วมีคนชอบก็เขียนมาเรื่อยๆ ส่วนงานนี้ (ค่อยๆ รัก) เราก็เอาประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นวัตถุดิบ แต่เอามาเรียงและสร้างการตัดสินใจใหม่ เพราะถ้าตัวละครมาเจอเรื่องเดียวกัน บางทีคนนี้คงไม่เลือกแบบเรา พอตัดสินใจหนึ่งครั้งมันก็เกิดเป็นผลลัพธ์ใหม่ แล้วเราค่อยต่อเติมเข้าไปอีก

แปลว่าจะไม่ค่อยมีเรื่องที่ไกลตัว

     ยังๆ เราคิดว่ามันเป็นความสามารถพิเศษมากสำหรับคนที่เป็นนักเขียนเต็มตัวในการที่จะรีเสิร์ชในเรื่องที่ไกลตัว เช่น เรื่องการแพทย์ หรืออื่นๆ เราว่าเขาสุดยอดมากเลย แต่เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น ด้วยความที่เราก็มีงานประจำ เลยเอาเรื่องชีวิตประจำวันนี่แหละ

แต่จริงๆ ก็ไม่ง่ายเท่าไหร่นะคะ

     อันนั้นก็จริง (หัวเราะ) คือพอคิดเป็นชิ้นๆ น่ะมันง่าย อย่างเมื่อกี้เราลงจากมอเตอร์ไซค์ แล้วพี่คนขับหันมาฉีดแอลกอฮอล์ใส่มือเรา เราก็รู้สึกว่าหื้ม นี่มันบริการอะไร จากนั้นเขาก็บอกว่าฝากกดดาวให้ผมด้วยนะครับ แล้วพอเหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นในชีวิตเราเยอะๆ มันสนุกมาก แต่พอต้องเอามาร้อยเรียงใหม่ก็ยาก

จากการเขียนแฟนฟิกชั่นศิลปินเกาหลีมาก่อน พอต้องมาเขียนออริจินัลคาแรกเตอร์ของตัวเอง มีความยากง่ายต่างกันยังไง

     สมัยที่เขียนแฟนฟิกเนื้อเรื่องจะวนๆ เราคงไม่ให้เขาไปเรียนอันนั้น ไปเป็นอาชีพนู้น หรือหน้าตาแบบนี้ อีกอย่างคือเราติดภาพ เขียนไปเรื่อยๆ แล้วมันจะตัน เพราะงั้นการได้ออกจากแฟนฟิกมาเขียนออริจินัลคาแรกเตอร์เลยสนุกตรงที่ไม่มีขีดจำกัด เราจะให้เขาสูงเท่านี้ก็ได้ ตัวเล็กก็ได้ หรือชนชาติไหนก็ได้ มันอิสระมากขึ้น อีกความสนุกของแฟนฟิกก็คือคอมมูนิตี้นักอ่านที่ให้ความรู้สึกอีกแบบนึง ซึ่งเราว่าแต่ละอย่างก็มีเสน่ห์ต่างกัน ทุกวันนี้ก็ยังมีโปรเจกต์ที่ชวนเราไปเขียนแฟนฟิกอยู่นะ 

ก่อนที่จะเริ่มเขียนเจ๋งพัท คุณเม่อวางพล็อตนานมั้ย หรือเขียนไปวางไป

     เราเคยไปอ่านเจอที่หนึ่งเขาบอกว่า ‘คิดถึงตัวละครของเราให้มากพอก่อนที่จะเริ่มเขียน’ เราก็ใช้เวลาประมาณห้าเดือนคิดเรื่องนิสัยใจคอ ความเป็นมาต่างๆ คิดไปเปลี่ยนมาจนมันเริ่มนิ่งเราถึงจะเขียนบทนำได้ ซึ่งบทนำมีหลายเวอร์ชั่นมาก จนเรารู้สึกว่าอันนี้แหละที่มันจะโยงไปสู่เรื่องในอนาคตได้ เพราะแต่ละจุดต้องมีสิ่งที่มากกว่าเหตุการณ์ตอนนั้น บทนำบางเวอร์ชั่นคือเครียดมาก แม้เนื้อเรื่องเราจะพูดเรื่องเครียดๆ อย่างการทำงาน แต่โทนจะเล่าผ่านความพัทอะ บอกไม่ถูก (หัวเราะ)

อยากรู้ว่าตัวละครในเรื่องได้แรงบันดาลใจมาจากไหน

     มาจากคนรอบตัว จากตัวเราด้วย ปนๆ กันไป บางทีเราก็อยากจะเป็นในสิ่งนั้นให้ได้ เช่น อยากมีเจ้านายแบบคุณเจ๋ง อยากทำงานกับคนแบบนี้ เลยเอาความอยากมาเขียน หรือเราเคยเจอเรื่องแบบน้องพัท พอชีวิตมันผ่านจุดนั้นจนหัวเราะกับมันได้แล้ว ก็เอามาเขียนได้ 

เรื่องไหนที่เอามาจากประสบการณ์ของตัวเอง

     ไม่ได้เป็นเรื่องโดยตรง แต่อย่างตอนที่พัทร้องไห้ในห้องน้ำ เราก็เคยเจอเหตุการณ์นั้น ความรู้สึกของเด็กที่ทำงานแรกแล้วไปร้องไห้ในห้องน้ำ คือมันไม่รู้จะทำไงแล้วอะ (หัวเราะ) ง่วงก็ง่วง หิวก็หิว ตื่นมายังไม่ทันรู้เรื่องอะไรทำไมต้องมาโดนด่าด้วยวะ เช็ดน้ำตาเสร็จก็ออกมาทำงานต่อ แล้วอีกเรื่องที่อินสไปร์จากชีวิตจริงคือการกินนู่นกินนี่ กับการไปเที่ยวต่างๆ พอได้มาเขียนเรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึงประสบการณ์เหล่านั้น 

ฉากไหนที่คิดว่าเขียนยากบ้าง

     ช่วงที่คุณเจ๋งเริ่มตกตะกอนความคิดตัวเองก็ยาก แต่ถ้าให้เลือกจริงๆ ช่วงท้ายเล่มที่เล่าข้ามไปหลายๆ ปี อันนั้นรู้สึกว่าเขียนยากที่สุดในเรื่องเลย เพราะเราจะ skip เวลายังไงให้ไม่ทิ้งคนอ่าน ถ้าเราเขียนยืดเกินมันไม่มีประเด็นที่จะเล่า แต่ถ้าข้ามเหตุการณ์ใหญ่ๆ คนอ่านก็จะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราไม่สามารถเล่าว่าเมื่อปีที่แล้วที่พวกเขาไปเที่ยวด้วยกัน แล้วสองปีต่อมาเกิดเรื่องแบบนี้ เราเลยต้องเขียนสามหมื่นคำเพื่อไล่เหตุการณ์ เลือกเดือนเด่นๆ แล้วเชื่อมเรื่องทั้งหมด แต่เอาจริงๆ เรื่องนี้ยากหลายตอน (หัวเราะ) เพราะมันมีทุกเรื่องเลยทั้งเรื่องงาน ความสัมพันธ์ ครอบครัว และเพื่อน 

ทำยังไงให้คนนอกวงการมาร์เก็ตติงเข้าใจสิ่งที่ตัวละครพูดในเรื่อง

     อันนี้เป็นอีกส่วนที่ยาก เราไม่สามารถทำตัวเป็นหนังสือมาร์เก็ตติงที่อธิบายว่า engagement คืออะไร แล้วเขียนลงไปในนิยาย ต้องหาวิธีเล่าให้มันอยู่ในเนื้อเรื่อง เพราะเวลาคนในเรื่องพูดกัน เขาจะเข้าใจกันอยู่แล้ว แต่คนอ่านอาจจะไม่เก็ต ก็จะมีการใส่เชิงอรรถข้างล่าง แต่หลายๆ อย่างเราจะพยายามเล่าให้เกิดความเข้าใจในเนื้อเรื่องไปเลย มันก็ยังโอเคอยู่เพราะตัวละครเราเขาใช้ภาษาที่ค่อนข้างกันเอง เหมือนบรรยายความคิดตัวเองในหัว อันนี้ก็จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น

มีวิธีการยังไงในการเขียนคาแรกเตอร์คุณเจ๋งที่โตกว่าคุณเม่อสิบกว่าปี

     เหมือนเราโชคดีตรงที่เราทำงานแล้วได้รู้จักคนที่หลากหลายและได้สัมผัสแนวคิดของคนที่อยู่ระดับบริหาร แล้วก็เรียนรู้จากการอ่าน การเทคคอร์สด้วย อีกอย่างคือเราชอบจิตวิทยา มันช่วยเชื่อมทุกอย่างในหัวเรา ทำให้เราสามารถจินตนาการคนที่อายุมากกว่า และคิดว่าถ้าเขาอยู่ในตำแหน่งนั้น เขาจะคิดหรือตัดสินใจยังไง เป็นการสร้างคาแรกเตอร์จากองค์ความรู้ที่เรามี

แบ่งเวลาจากงานประจำมาเขียนยังไง

     อดหลับอดนอนเยอะเหมือนกันนะช่วงนั้น เพราะเราเป็นคนงานเยอะมากๆ มีหลายตำแหน่ง หลายอาชีพ เราจะแบ่งเวลาโดยการใช้เวลาเดินทางคิดถึงนิยาย เพราะเวลาเราอินมากๆ มันจะอยู่ในหัวเราตลอด ประชุมงานเสร็จก็มานั่งร้านกาแฟเขียนต่อ เรียกว่าใช้ทุกเวลานอกเหนือเวลางานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แล้วก็ทำเช็กลิสต์สิ่งสำคัญที่สุดในแต่ละวัน ซึ่งถ้าทำพวกนี้เสร็จจะให้รางวัลตัวเองด้วยการเขียนนิยาย จริงๆ มันเหนื่อยมากนะ แต่เรามีความสุขและสนุกกับมัน

ชอบไอเดียการครอสจักรวาลมาก อยากรู้ว่าต้องวางแผนนานมั้ย

     โอ้โห วางยาวมาก อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ยากมากของเรื่องนี้ จริงๆ เราเริ่มเขียนเจ๋งพัทก่อนจ๊าบเจน (the chemistry) เขียนไปได้นิดนึงก็รู้สึกว่ายังไม่ได้ว่ะ นั่งเขียนแล้วก็ตัน อยู่ๆ ก็นึกขึ้นมาว่าคุณเจ๋งต้องมีน้องชื่อจ๊าบ มาจากไหนไม่รู้เลย (หัวเราะ) ใช้เวลาคิดพล็อตจ๊าบหนึ่งวัน เรื่องมีอยู่ว่าจ๊าบแอบชอบเจน แต่เจนมีแฟนแล้ว นั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่อง ก็แพลนว่าเขียนเรื่องจ๊าบก่อนแล้วกัน เพราะไทม์ไลน์ยาวแต่เล่าสั้นและกระชับ 

     ระหว่างนั้นเราก็คิดของคุณเจ๋งต่อ ถ้าจ๊าบเจอเหตุการณ์นี้ คุณเจ๋งก็ต้องแบบนี้ แต่เราจะทวิสต์ให้เป็นอีกแบบ พอมาเขียนคุณเจ๋งมันเลยเป็นชาลเลนจ์ในการเขียนว่าเขาต้องไปโผล่ตรงนั้น แล้วเหตุการณ์อะไรจะทำให้เขาไปอยู่ที่นั่นกับจ๊าบได้ ก็คิดๆๆๆ มันเลยกลายเป็นความสนุกในการเขียน เริ่มเข้าใจแล้วว่าเวลาคนเขียนจักรวาลแบบมาร์เวลเขาคงคิดทำนองนี้มั้ง 

ตอนนั้นเขียนเสร็จแล้วอัพเลยมั้ย

     ใช่ๆ เขียนเสร็จ อ่านทวน แล้วก็อัพ พออัพแล้วเราก็จะนึกถึงตอนต่อไปเลย 

ก็คือไม่ได้เขียนล่วงหน้าไว้แล้วค่อยๆ ลง

     มันไม่ทัน (หัวเราะ) เราพยายามไม่ทิ้งช่วงนาน มีช่วงที่หายไปเพราะเราต้องทำงานจริงๆ เพราะยังไงเราก็จะให้งานเป็นที่หนึ่ง แต่เราจะพยายามอัพให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ปกติก็ประมาณ 7-10 วัน

ช่วงที่กระแสนิยายเริ่มดีมาก มีความกดดันมั้ย

     เคยเห็นมีมคู่มือรับมือกับการเป็นคนดังปะ คือเรารู้สึกเหมือนในมีมนั้นเลย แบบต้องทำยังไงวะ (หัวเราะ) สำหรับเรายอดเฟฟ (favorite) สามสี่หมื่นกับยอดอ่านหลักล้านคือเยอะมากเลย มีช่วงนึงคือเขียนเสร็จต้องอ่านแล้วอ่านอีก กลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ เพราะเราคาดหวังคนอ่านสักห้าร้อย แต่มันดันขึ้นมาเป็นพันเป็นหมื่น ก็ต้องพัฒนาจิตใจให้แข็งแกร่ง บางทีจะเจอคอมเมนต์แปลกๆ ก็จะพยายามไม่เก็บมาคิดมาก เพราะสุดท้ายแล้วอันไหนเป็นการติเพื่อก่อ เราก็รับฟังและนำมาปรับแก้ แต่บางคนคือแค่ไม่ถูกใจ อันนี้ไม่เข้าท่าละ มันเป็นเรื่องที่คุณต้องจัดการตัวเอง 

     ชื่อเสียงหรือความดังในการอยู่บนโลกออนไลน์มันก็มาพร้อมเรื่องแบบนั้น ช่วงแรกๆ เลยจะเป็นความกดดันในความกลัวว่าเรื่องจะไม่ไปถูกใจคนอื่น แต่ไปๆ มาๆ เราก็เริ่มทำความเข้าใจ เพราะมันคือฟิกชั่น เราไปอ่านเรื่องอื่นเราก็ไม่ได้ถูกใจทุกอย่าง แต่เราต้องเคารพเขา ดังนั้นถูกใจไม่ถูกใจไม่ว่า เคารพกันในสิทธิเสรีภาพที่แต่ละคนมีก็พอ

ในฐานะนักเขียนออนไลน์ คอมเมนต์จากนักอ่านมีผลแค่ไหน

     มากเลย บางทีเวลาเขียนเราก็ไม่รู้เรื่องของเราเป็นยังไง จะสนุกมั้ย เพราะเราอ่านเรื่องของเราแล้วไม่สนุกเลยสักตอนเลยก่อนจะอัพ อ่านแล้วเครียด เราเลยเฝ้ารอว่าคนที่มาอ่านเขาจะรู้สึกยังไง จะคิดยังไง 

นักเขียนจำนักอ่านได้จริงมั้ย

     จำได้จริง บางคนเมนชั่นคุยด้วยบ่อยๆ หรือมีเอกลักษณ์ในการคอมเมนต์ เช่น หามีมแปลกๆ มาแปะ ก็จำได้ เวลาอ่านก็ใจฟู (ยิ้ม)

อยากรู้ว่าระหว่างปีครึ่งที่เขียนเรื่องนี้มีช่วงไหนเคยหมดไฟหรือเปล่า

     มีช่วงที่เหนื่อยกับการทำงานมากๆ กับตอนที่เราว่างแล้วคิดไม่ออกก็มี งานแบบนี้พูดยากเนอะ เพราะมันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ อยู่ๆ วันนึงมีเวลาว่างแต่เขียนไม่ได้สักคำก็มี เราต้องทำความเข้าใจว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ อารมณ์เหมือนซื้อหุ้น ใน cycle ก็ต้องมีขึ้นมีลงบ้าง มันไม่ได้ขึ้นอย่างเดียวตลอดเวลา พยายามไม่หงุดหงิดมาก เพราะสุดท้ายมันไม่มีทางออก เราก็จะไปทำอย่างอื่น ทำอาหาร ทำขนม หรือเล่นกับแมว ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกโอเคขึ้น 

ซึ่งนี่ก็เป็นนิยายเล่มแรกที่ได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ใช่มั้ยคะ

     ใช่ค่ะๆ เขาติดต่อมาตอนที่เขียนได้ประมาณ 8-9 ตอน แบบทักมาใน private message ใน readAwrite ตอนนั้นคนอ่านยังไม่เยอะเลย จริงๆ แนวที่เราเขียนเหมือนจะมีเยอะในตลาด แต่ไม่ค่อยมีเรื่องที่ลงลึกเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน เขาก็ชวนว่าลองส่งสำนักพิมพ์มั้ย เราเลยลองส่งไปแบบไม่ได้คิดอะไร จนผ่านไปสองเดือนเขาก็ตอบกลับมาว่าผ่านการพิจารณา 

คุณเม่อได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำรูปเล่มยังไงบ้าง

     สำนักพิมพ์ให้โอกาสในการเลือกนักวาดและให้เราบรีฟกับนักวาดปกเอง เราก็อยากได้คนที่อ่านงานเราด้วย เพราะเขาจะเข้าใจตัวละครของเราดี ในส่วนของต้นฉบับจะมีบรรณาธิการตรวจการใช้ภาษา แล้วส่งมาถามว่าแก้แบบนี้ได้มั้ย บางทีเขาก็แก้มาสวยเกินไป หรือบางคำเราไม่รู้จัก เราก็ต้องขอแก้เป็นคำที่เรารู้จักเพราะดูเป็นเรามากกว่า

     เราเข้าไปมีส่วนในการดีไซน์สายคาดหน้าปกร่วมกับนักวาดที่เป็นรูปตึกแล้วสีท้องฟ้าเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน แล้วก็มีส่วนในการเลือกทำของแถมด้วย เช่น บรีฟกับนักวาดว่าที่คั่นหนังสือรูปตัวการ์ตูนคุณเจ๋งอยากให้เขาทำท่าชูเลข 1 จากเพลง Back at one แล้วน้องพัทชูเลข 2ต่อให้ 

ได้ข่าวว่าตัวนิยายจะถูกดัดแปลงไปทำเป็นซีรีส์ด้วย

     จริงๆ ทางสำนักพิมพ์มีคอนเนกชั่นอยู่แล้ว เลยถามว่าสนใจมั้ย เราเองก็อยากลองทำดู อีกทั้งค่ายนี้เคยติดต่อเรามาตั้งแต่ช่วงกลางเรื่องซึ่งยังไม่ดังขนาดนี้ มันเลยแสดงว่าเขาอ่านงานเราจริงๆ ไม่ใช่ติดต่อมาเพราะเรื่องนี้ดัง 

     เราเรียนฟิล์มมาก่อนก็เลยอยากเห็นเหมือนกันว่าถ้าทำออกมาในรูปแบบซีรีส์จะเป็นยังไง เราอยากเห็นนิยายโตในแง่ของคอนเทนต์ แล้วค่ายที่เราตอบตกลงไปก็มีคุณภาพงานที่โอเค

แล้วจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างซีรีส์ด้วยมั้ย

     ไม่รู้ว่าเขาจะให้มีส่วนร่วมด้วยมั้ย แต่อยากมีนะ (หัวเราะ) ไม่ได้อยากเข้าไปตัดสินใจทุกอย่าง แค่อยากเป็นส่วนหนึ่ง เราอยากรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น หรือจะเป็นยังไง 

เห็นว่าแฟนนักอ่านบางคนไม่อยากให้ทำเป็นซีรีส์ เพราะอยากให้เจ๋งพัทมีชีวิตอยู่ในจินตนาการของเขา

     จริงๆ ก็เข้าใจเขานะ เพราะเขาคงเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อซีรีส์ที่ทำมาจากนิยายวาย พอเห็นว่าคนต่อต้านเยอะ เราเลยมีความรู้สึกว่า วงการนี้แม่งทำอะไรกับคนดูไว้วะ แค่มีประกาศว่าจะทำซีรีส์แล้วคนต่อต้านขนาดนี้ เพราะเราไม่ค่อยดูซีรีส์วายเท่าไหร่ พอไปรีเสิร์ชดูก็เพิ่งรู้ว่ามันมีเยอะมาก ก็เข้าใจความกลัวของนักอ่าน หวังว่าเรื่องของเราจะทำได้แตกต่างค่ะ

สมัยนี้นักอ่านค่อนข้างตระหนักในเรื่องปัญหาสังคมและศีลธรรม อยากรู้ว่าในฐานะนักเขียนต้องทำการบ้านเยอะขึ้นมั้ย

     ต้องตระหนักกับสิ่งที่เราเขียน ติดตามข่าวสาร และรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ แต่ก็มีจุดยืนของตัวเองชัดเจน เช่น ในเรื่องเจ๋งพัทมันเป็นความสัมพันธ์แบบเจ้านาย-ลูกน้อง หลายคนด่าไปแล้วทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าเป็นยังไง ทั้งที่เราไม่ได้เล่าเลยว่าเขาใช้หน้าที่การงานหรืออำนาจในทางมิชอบ เพราะสุดท้ายเราเขียนเรื่องนี้มาเพื่อจะบอกว่า จริงๆ ลูกน้องไม่ควรอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้านายด้วยซ้ำ ทุกคนควรจะมีสิทธิและเสียงในฐานะมนุษย์เท่ากันถึงจะทำงานคนละตำแหน่ง 

     เราว่าทั้งนักเขียนและนักอ่านต้องมี empathy ต่อกัน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ควรจะคุยกันดีๆ เพราะเราเห็นว่ามันมีการโจมตีทั้งที่ไม่เข้าใจเยอะ แบบเปิดมาแล้วแหกเลย เพราะงั้นต้องตระหนักรู้ทั้งสองฝ่าย

คิดว่านิยายวายหรือฟิกวายที่เราเขียนมีผลต่อคอมมูนิตี้ของ LGBTQ+ มั้ย

     มีผลทั้งในด้านดีและไม่ดี หลายๆ อย่างที่เป็นการ stereotype ก็ทำร้ายคนในคอมมูนิตี้ เพราะทุกคน (ที่อ่าน) จะมีภาพจำว่า คนเป็นรุกก็ต้อง masculine ส่วนคนเป็นรับก็ต้อง feminine เท่านั้น ถ้าไม่ใช่ตามภาพจำก็อาจจะรับไม่ได้

     สิ่งที่ทำร้ายอีกอย่างคือเรายอมรับความหลากหลายที่เกิดขึ้นในนิยายได้ พอเกิดขึ้นในชีวิตจริงดันบอกว่ามันคนละเรื่องกัน เพราะยังติดกับความเชื่อเก่าๆ ที่บอกว่า เขาไม่ใช่เกย์ เขาเป็นผู้ชายที่รักกัน แล้วคิดว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องแคร์กับปัญหาที่เกิดขึ้นในคอมมูนิตี้ ทั้งที่ความจริงแล้วคุณเอา identity ของเขามาเป็นความสุขให้กับตัวเอง แต่พอมันเกิดปัญหา คุณไม่แคร์พอที่จะใจดีกับเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์คนนึงด้วยซ้ำ

หลังจากเจ๋งพัทจบลง คิดว่างานต่อไปจะเขียนยากขึ้นมั้ย

     ตอนแรกคิดว่าจะยากขึ้น แต่เรารู้สึกว่ามันจะไม่ยากขึ้นแล้ว เพราะเราจะไม่เขียนอะไรแบบนี้แล้ว หมายความว่าถ้าเจ๋งพัทจะเป็นที่สุดของเราแล้วจริงๆ เรื่องอื่นก็จะไม่เทียบเท่าเรื่องนี้ หรือเขียนมาเพื่อเอาชนะเรื่องนี้ เราจะเขียนเพราะเราอยากเขียน ไม่ตั้งความหวังว่าคนอ่านจะต้องเยอะเท่าเดิมหรือเยอะกว่าเดิม เราจะทำก็ต่อเมื่อเรามีความสุขที่จะทำ อาจจะเพราะเราไม่ได้ทำอาชีพนักเขียนเต็มตัว เราเลยไม่จำเป็นต้องคาดหวังกับผลลัพธ์สูงสุดของมัน เพราะงั้นเราอยากให้ตัวเองเอนจอยก่อน คนอ่านจะได้เอนจอยตามไปด้วย

วางแผนไว้บ้างมั้ยว่าสักวันหนึ่งจะออกมาเป็นนักเขียนเต็มตัว

     เคยคิดแต่คงทำไม่ได้ เพราะว่าเราใช้วัตถุดิบในการเขียนจากชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นนักเขียนเต็มตัว วัตถุดิบอาจจะน้อยลง ประกอบกับพอไม่ได้มองการเขียนเป็นงาน เรารู้สึกสนุกกับมันมากกว่า

     เรื่องค่าตอบแทนก็ด้วย ถ้าเป็นนักเขียนอย่างเดียว เราต้องมากำหนดว่างานนี้ต้องออกให้ได้กี่เล่ม ถ้าเราต้องคาดหวังเงินในการใช้ชีวิตจากมัน มันจะเป็นงานเขียนที่เราไม่ได้รักอีกต่อไป ซึ่งส่วนนี้อาจจะมีหลายคนทำได้ แต่เราคงทำไม่ได้

พอพูดเรื่องค่าตอบแทนแล้ว อันนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณเม่อมีไอเดียเรื่องสหภาพนักเขียนด้วยหรือเปล่า

     ตอนนั้นเรามีโอกาสไปพูดในงานของ Amnesty International Thailand (องค์กรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน) แล้วไปเจอน้องคนนึงที่ทำงานเกี่ยวกับการขับเคลื่อนพวกนี้ เขาเลยเสนอไอเดียเรื่องการเปิดสหภาพนักเขียน เนื่องจากตอนนี้ปัญหามันเยอะ ทั้งปัญหาค่าตอบแทนต่างๆ เช่น เวลาส่งหนังสือไปตามสายส่ง เขาก็หักค่า GP เยอะ เรื่องรายได้นักเขียนที่น้อยมาก ซึ่งคนที่จะตายไม่ใช่แค่นักเขียน แต่ยังมีคนเบื้องหลังด้วย โยงไปที่ปัญหาหนังสือราคาแพง เราไม่ได้จะไปกดดันสำนักพิมพ์ให้ลดราคาหนังสือ แต่เราอยากกดดันรัฐบาลว่า เราก็เป็นกลุ่มแรงงานหนึ่งเหมือนกัน เราผลิตงานที่สามารถส่งออกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่ทำไมกระทรวงวัฒนธรรมไม่สนับสนุนเรา

     ตอนนี้เลยมีการทำโพลสำรวจขึ้นมา พอเรามาเขียนเรื่องนี้ทำให้มีคนมาติดตามในทวิตเตอร์เยอะมาก เราเลยอยากใช้สปอตไลต์ตรงนี้มาใช้ในการกระจายข่าว หลังจากเราโปรโมตฟอร์มไปแล้ว ก็จะมีการคัดกรองว่าแต่ละคนที่มาตอบเป็นใครบ้าง (นักเขียน นักอ่าน หรือคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในวงการ) เอามาจัดเป็นสัดส่วน หาจุดร่วมว่าอะไรเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายๆ คนเห็นเหมือนกัน พอได้ความเห็นมากขึ้นก็จะทำให้เป้าหมายของเราชัดขึ้น 

     เรามองว่าถ้าสหภาพนักเขียนเป็นจริงขึ้นมา เราก็จะได้เห็นนักเขียนคุณภาพหน้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีโอกาสได้ shine ขึ้นมา แล้วก็งานเขียนที่เราเขียนเราได้เงินเท่านี้ ถ้าวันหนึ่งส่งออกได้ รายได้ที่เข้ามาก็อาจจะมากขึ้น 

ตั้งแต่วันแรกที่เขียนงานจนถึงวันนี้ คิดว่าตัวเองมีการเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

     จริงๆ ก็เปลี่ยนไปตามอายุ อย่างงานเขียนช่วงมหาวิทยาลัยจะมีความซับซ้อนทางด้านอารมณ์ พอโตขึ้นก็มีความซับซ้อนในเนื้อเรื่อง การงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว มันมีความโตขึ้นตามเรา แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือ งานเขียนทุกชิ้นยังยึดตามประสบการณ์ชีวิต 

ไหนๆ CONT. ก็เป็นเพจที่พูดเรื่องการอ่าน ถ้าคุณเจ๋งกับน้องพัทเข้าร้านหนังสือ คิดว่าทั้งคู่จะเดินไปโซนไหน

     ตรงนี้อาจจะสปอยล์ ใครยังอ่านไม่จบกดปิดนะคะ (หัวเราะ) ตอนนี้พวกเขากำลังทำบ้านกันอยู่ก็น่าจะไปดูโซนเกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน แต่ถ้าเอาตามนิสัย คุณเจ๋งน่าจะไปดูหนังสือทำอาหารกับพวก non-fiction ส่วนน้องพัทก็ไปดูหนังสือการเงินกับพวกพัฒนาตัวเอง

แล้วพี่จ๊าบล่ะคะ (คำถามโดยน้องฝึกงานที่นั่งเป็นเอฟซีพี่จ๊าบมาตั้งแต่เริ่มสัมภาษณ์)

     เราว่าจ๊าบน่าจะไปดูมังงะ พวก Concept book ของหนัง ไม่ก็หนังสือรวมผลงานของผู้กำกับ

ขอขอบคุณ ร้าน co-incidence.process.coffee สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่