Thu 11 Jan 2024

LIVE YOUR DREAM 

ความรัก ความฝัน และความพยายาม ก่อนจะมาเป็น ‘ต่าย ขายหัวเราะ’ 

     หากใครเกิดหลัง พ.ศ. 2532 แล้วถูกตั้งชื่อหรือมีเพื่อนชื่อว่า ‘ปังปอนด์’ สามารถตั้งสมมติฐานได้ทันทีว่าพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่สักคนน่าจะรู้จัก ปังปอนด์ แน่นอน

     สำหรับคนไม่รู้จัก ปังปอนด์ เป็นการ์ตูนขนาดยาว เล่าเรื่องราวของเจ้าหนูผมสามเส้น ที่ส่งให้ชื่อของ ต่าย—ภักดี แสนทวีสุข ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในนักวาดที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเมืองไทย 

     เราวัดจากอะไรน่ะเหรอ

     กล่าวคือนอกจากการ์ตูนเป็นเล่มจะขายดีแล้ว ปังปอนด์ ยังถูกดัดแปลงเป็นแอนิเมชั่นส่งออกไปอีกหลายประเทศ รวมถึงชื่อของเจ้าหนูคนนี้กลายเป็นชื่อเล่นของเด็กไทยอีกหลายคน

     แต่ก่อนจะมาปักธงบนยอดเขาแห่งนี้ ต่ายก็ไม่ต่างจากมนุษย์คนอื่นที่ต้องใช้ความรักและความพยายาม เจอคำติ โดนปฏิเสธงาน ต้องฝึกฝนสารพัด

     ในวาระครบรอบ 50 ปี ขายหัวเราะ เราจึงชวนต่ายมาพูดคุยถึงก้าวแรกในการเดินทางสายการ์ตูน การทำงานร่วมกับ บ.ก.วิธิตในฐานะผู้ช่วยฯ การสร้างตัวละครอย่างปังปอนด์ และการอยู่ในวงการการ์ตูนมาร่วม 40 ปีให้อะไรกับเขาบ้าง

I

     ต่ายเติบโตมาในแฟลตตำรวจพร้อมกับพี่สองคนและน้องอีกสองคน 

     พูดง่ายๆ คือต่ายเป็นลูกคนกลาง

     เขาเล่าว่าตัวเองเป็นคนชอบขีดชอบเขียนแต่เด็ก มีวีรกรรมที่ตราตรึงใจคือการวาดการ์ตูนล้อเลียนพ่อบนฝาผนังบ้าน โดยเป็นฉากพี่น้องห้าคนวิ่งหนีพ่อ และฉากพี่น้องรวมใจกันต่อสู้กับพ่อ ตามประสาเด็กที่ชื่นชอบการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่

     ต่ายขลุกอยู่กับการวาดและเขียนมาเรื่อยๆ โดยไม่เคยคิดเอาจริงเอาจัง เพราะในสมัยนั้น นักเขียนการ์ตูนไม่ใช่อาชีพที่จะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ความคิดของเขาก็เปลี่ยนไปเมื่อสูญเสียพ่อผู้เป็นเสาหลักของบ้าน

     “พอพ่อตายก็ค่อนข้างเคว้ง พี่น้องต้องแยกย้ายกันไปเพื่อลดปริมาณค่าใช้จ่าย เรามีพี่น้องห้าคน น้องสองคนไปอยู่กับยายที่นครพนม พี่ชายไปเรียนช่างกล พี่สาวกำลังจะจบ มศ.3 พอจบแล้วก็วางแผนจะเป็นพนักงานโรงงาน ส่วนเราไม่รู้จะไปไหน กำลังเรียน มศ.1 แม่เลยให้อยู่กรุงเทพฯ ต่อ

     “จากเดิมที่แม่เป็นแม่บ้าน เคยทำขนมกับขายของนิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องออกไปหางานทำ ขณะเดียวกันเราก็เรียนไม่เก่ง จะตกไม่ตกแหล่ อุตส่าห์ได้อยู่กรุงเทพฯ ทั้งทีก็ต้องมีเป้าหมายอะไรสักอย่าง ในเมื่อเขียนการ์ตูนเป็นอย่างเดียว เลยตั้งเป้าจะเป็นนักเขียนการ์ตูน”

     ต่ายฝึกวาดการ์ตูนโดยมีอาวัฒน์ (วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ) อาจุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) และตัวละครดังอื่นๆ อย่างของดิสนีย์เป็นต้นแบบ พร้อมกันนั้น เขาก็เขียน จี้ หนังสือการ์ตูนที่มีเนื้อหาแซวเพื่อนในห้อง โดยวาดเป็นช่องๆ เหมือนการ์ตูนแก๊กแล้วแจกให้เพื่อนเวียนกันอ่าน 

     หลังเรียนจบ ม.ต้น ต่ายเรียนต่อระดับ ปวช.ที่พณิชย์สันติราษฎร์ในแผนกการขาย พอฟังถึงตรงนี้เราก็ยกมือถามเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในเมื่ออยากเป็นนักเขียนการ์ตูน ทำไมไม่ไปเรียนด้านการวาด

     “สมัยนั้นการทำงานในห้างถือว่าเพลย์เซฟ ค่อนข้างมั่นคง เราเลยอยากเป็นพนักงานขาย แต่ก็ไม่ได้ทิ้งการ์ตูนไปนะ ยังคงฝึกอย่างตั้งใจ ซึ่งการฝึกมากๆ ทำให้เราได้วิญญาณของมัน เราเอาภาพของอาจุ๋มจิ๋มเข้ามาในหัว แล้วเราก็เหมือนได้วิญญาณของเขา มองเห็นองค์ประกอบของงาน แยกออกมา แล้วมาปรับเป็นของตัวเอง เราอาจจะไม่เก่งเรื่องลายเส้น แต่อารมณ์ร่วมในการวาดการ์ตูนของเรา น่าจะไม่แพ้ใคร”

     ขณะร่ำเรียนและฝึกฝนอยู่นั้น ต่ายเกิดไอเดียอยากหารายได้เสริม ช่วงนั้นกระแสการ์ตูนเล่มละบาทกำลังมาแรง เขาจึงหันไปเอาดีด้านนี้ชั่วคราว แต่พอไปยื่นต้นฉบับ เขาก็รู้เลยว่าฝีมือการวาดของตัวเองยังห่างไกลกับคำว่าใช้ได้อยู่นัก ต่ายจึงทุ่มเทฝึกฝนอย่างหนัก เวลาผ่านไปเกือบปีในที่สุดโรงพิมพ์สุภาก็ตอบรับผลงานชิ้นแรกของเขา

     “เขาคงเห็นแก่ความพยายามเลยรับซื้อไว้หนึ่งเรื่อง โห ดีใจมาก เดินยิ้มตั้งแต่หน้าสุภาไปถึงป้ายรถเมล์ ระยะทางสั้นนิดเดียว แต่เรารู้สึกว่ามันนานมาก”

     400 บาทคือรายได้จากน้ำพักน้ำแรงในการเขียนการ์ตูนเป็นครั้งแรกของต่าย เขาเล่าพร้อมรอยยิ้มว่าเอาเงินที่ได้มานั้นไปแบ่งกับแม่คนละ 200

     จากนั้นต่ายก็ส่งงานไปอีก 2-3 เรื่อง ไม่นานโรงพิมพ์ก็หยุดรับงาน เป็นเวลาเดียวกับตอนที่ต่ายรู้สึกว่ามันถึงเวลาของการ์ตูนตลกแล้ว 

     แน่นอนว่าสำนักพิมพ์ที่เขาพุ่งตัวไปยื่นต้นฉบับก็คือบรรลือสาส์น

     “ทุกทีเวลาไปเสนองานที่โรงพิมพ์ เราจะเดินวน ไม่กล้าเข้า ท่องในใจว่า ‘ผมเอาต้นฉบับการ์ตูนมาเสนอครับ’ แต่ขายหัวเราะ เป็นที่แรกที่กล้าเดินเข้าไปเลย ไม่คิดมากแล้ว จังหวะแรกที่ผลักประตูเข้าไป… ล็อก! (หัวเราะ)

     “พนักงานเห็นเราก็บอกว่า บ.ก.ไม่อยู่ เราเลยกลับไปรอที่บ้าน กลับมาอีกทีตอนบ่าย ได้เจอคุณวิธิต (วิธิต อุตสาหจิต คนเดียวกับ บ.ก.วิติ๊ดนั่นเอง) ระหว่างเขานั่งดูงาน เราก็ยิ้มอย่างเดียว ถามคำตอบคำ จำได้เลยว่าวันนั้นเป็นวันอังคาร คุณวิธิตบอกให้เรากลับมาอีกทีวันพฤหัสบดี พอกลับมาเขาก็บอกว่ารับไว้เจ็ดหน้านะ”

     นอกจากได้เงินแล้ว บ.ก.ยังช่วยชี้แนะว่าแก๊กไหนดี แก๊กไหนพัฒนาต่อได้ ทำให้ต่ายมีกำลังใจเขียนการ์ตูนมาส่งอย่างต่อเนื่อง 

     “เพราะดูแล้วเขาน่าจะรับไม่อั้น (หัวเราะ)”

II

     หลังเรียนจบ ปวช.ที่พณิชย์สันติราษฎร์ ต่ายก็ต่อ ปวส.แผนกโฆษณาที่วิทยาลัยพณิชยการพระนคร และเป็นที่แห่งนี้เองที่เขาได้เรียนรู้เรื่องการวางองค์ประกอบ การเขียนคำโฆษณา ซึ่งช่วยให้ต่ายพัฒนาการวาดการ์ตูนได้ดียิ่งขึ้น

     เมื่อถึงฤดูกาลฝึกงาน ต่ายก็ได้โอกาสไปฝึกวิชาในฝ่ายศิลป์ของบริษัทเอเจนซี่โฆษณา Far East (ปัจจุบันคือ Far East Fame Line DDB) 

     “พอไปแล้วเขารู้ว่าเป็นนักเขียนอยู่ ขายหัวเราะ เราก็ตกใจ เพราะตอนนั้นการ์ตูนยังไม่ได้รับความนิยมขนาดนั้น พอหลังๆ เราเริ่มมีชื่อเสียง เขาก็เอาการ์ตูนเราไปติดบอร์ดแล้วบอกคนอื่นว่า ‘ไอ้ต่ายมันเคยอยู่ที่นี่นะ’” 

     หลังจากเรียนจบ ต่ายตั้งใจว่าจะเกณฑ์ทหารให้เสร็จก่อน แต่บังเอิญมีคนแนะนำให้ลองไปสมัครบริษัทเอเจนซี่โฆษณา White Castle เขาเลยลองไปดู ซึ่งก็ได้งานจริงๆ 

     ส่วนการเกณฑ์ทหาร…

     “ไม่ผ่าน เพราะผอมมาก วัดหน้าอกแล้วไม่ถึงเกณฑ์ 

     “จริงๆ เราไม่ได้คิดมาก ถ้าติดก็ไปเป็น แต่ยังหวังว่าจะได้เขียนการ์ตูนต่อ รู้มาว่า ต้อม (สุพล เมนาคม นักวาดเจ้าของตัวละคร ไก่ย่างวัลลภ) ก็ติดทหารแล้วเขียนการ์ตูนส่งมา

     “เราก็ทำงานตอนกลางวัน เขียนการ์ตูนตอนกลางคืน อยู่จนครบปีแล้วเปลี่ยนไปทำที่บริษัท Hattrick เป็นออฟฟิศเล็กๆ อยู่อีกประมาณหนึ่งปี แล้ว บ.ก.วิธิตก็ชวนมาทำงานเป็นผู้ช่วยฯ เพราะตอนนั้นเริ่มขยายทีม ขายหัวเราะ แล้ว” 

     หน้าที่ผู้ช่วยฯ ของต่ายคือการจัดหน้าให้ ขายหัวเราะ มหาสนุก หนูจ๋า และ เบบี้ โดยมีที่ทำงานเป็นห้องที่เป็นส่วนต่อขยายมาจากโรงพิมพ์ มีโต๊ะทำงานสองตัว และคนทำงานสองคน เพราะนักเขียนจะทำงานที่บ้านแล้วค่อยมาส่งงานที่บริษัทอีกที ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ต่ายได้พบกับ ต้อม, นิค (นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์) และ เฟน (อารีเฟน ฮะซานี) 

     เมื่อถามว่าสนิทกับเพื่อนนักเขียนไหม ต่ายก็เล่ายิ้มๆ ว่าด้วยความเป็นคนขี้อาย เขาก็อยากอยู่คนเดียว แต่โดนชวนไปกินข้าวไปนู่นไปนี่ด้วยกันบ่อยๆ เลยกลายเป็นสนิทกันโดยปริยาย และสนิทกับต้อมมากเป็นพิเศษ

     ขณะเดียวกัน เมื่อถามถึงความสัมพันธ์กับ บ.ก.วิธิต ต่ายรีบปัดเลยว่าไม่สนิทกับ บ.ก.สักนิดดดด ที่เขียนแซวใน บอกอทะลุโลก เป็นความสนิทในใจล้วนๆ  

     “บ.ก.วิธิตตัวจริงเป็นยังไง”

     “แกเป็นคนไม่ค่อยยิ้ม ตั้งใจทำงาน แล้วก็รักงานที่ทำ ต้นฉบับของคนที่ส่งมา แกอ่านหมดนะ แล้วก็ตั้งใจคอมเมนต์ด้วย บางครั้งเราแอบเอางานนักเขียนใหม่มาวางแทนในเล่ม แกรู้หมด แล้วบอกว่าไม่ได้ เพราะในเล่มมีแพตเทิร์นอยู่ นักเขียนเก่าต้องวางตรงนี้ นักเขียนใหม่วางตรงนี้ ไอ้เราก็นึกว่าจะปล่อยฟรี กะจะคุมเกมสักหน่อย” 

     นอกจากงานผู้ช่วยฯ แล้ว ต่ายก็ทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนควบคู่ไปด้วย โดยเขายอมรับว่าช่วงแรกๆ ยังวาดไม่สวย แต่เน้นการวาดลายเส้นแบบเล่นอารมณ์ ซึ่งต่ายเชื่อว่าคนอ่านจำตัวการ์ตูนของเขาได้จากเส้นที่ไม่ได้สวยเนี้ยบ แต่ดึงอารมณ์ร่วมออกมานี่แหละ

     ด้านมุกตลก ต่ายบอกว่าใช้มุกแบบ ขายหัวเราะ ดั้งเดิม แต่นำมาปรับกับเหตุการณ์ เช่น ตรุษจีน สงกรานต์ ลอยกระทง พร้อมๆ กับการหาข่าวจากหนังสือพิมพ์มาเขียน

     “ตอนแรกก็กลัวเหมือนกันว่าเขาจะไม่รับ กังวลว่ามันเครียดเกินไป ถ้าไปอยู่ในหนังสือพิมพ์อาจจะได้ แต่ ขายหัวเราะ เป็นการ์ตูนตลกหลากหลาย เปิดปุ๊บขำปั๊บ ซึ่งพอดีว่าช่วงนั้นเราจัดหน้าเอง ได้เห็นแก๊กคนอื่นเยอะ เลยเอามาผสมกับแนวทางของตัวเอง ค่อยๆ ใส่ไปทีละหน่อย จนคนอ่านเริ่มชิน บางคนก็บอกว่าดีเหมือนกันนะ อ่านแก๊กแล้วได้รู้ข่าวด้วย”

III

     ต่ายไม่ใช่คนที่นั่งอยู่กับที่แล้วจะได้งาน เขามักจะออกไปนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ข้างนอก พร้อมๆ กับเฝ้าดูผู้คนที่เดินผ่านไปมา เมื่อคิดแก๊กได้ก็จะรีบจดไว้ หรือบางทีเห็นใครน่าสนใจก็ถือวิสาสะดัดแปลงเป็นคาแรกเตอร์ฉบับต่าย ขายหัวเราะ 

     “แล้วปังปอนด์มีที่มาจากไหน” เราถามถึงการ์ตูนชุดที่ทำให้ชื่อของต่ายกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจนถึงทุกวันนี้

     ต่ายเล่าย้อนไปถึงการทำงานของ มหาสนุก นิตยสารการ์ตูนอีกเล่มของเครือบรรลือสาส์นที่จะต่างกับ ขายหัวเราะ ตรงที่จะให้นักเขียนคิดเรื่องสั้นของตัวเอง อย่างนิคเขียนเรื่อง เรียกข้าว่าพญายม ส่วนต้อมเขียน แก๊งจอมป่วน 

     “ตอนนั้นเราเขียน สองเกลอ ซึ่งเป็นเรื่องของเรากับเพื่อน พอเป็นเรื่องที่สองก็อยากเขียนอะไรที่ไม่เกี่ยวกับตัวเองบ้าง เลยเลือกตัวละครเด็กน้อยอายุ 0-1 ขวบที่ยังพูดหรือสื่อสารไม่ได้ ก็เป็นโจทย์ให้เราคิดว่าจะทำยังไงให้คนขำ เรียกได้ว่าหาความลำบากให้ตัวเอง (หัวเราะ)

     “กว่าจะเริ่มเขียนก็ต้องไปเปิดตำราเลี้ยงเด็ก ดูอุปกรณ์ รถเข็นเด็ก ขวดนม เวลาเห็นคนอุ้มลูกก็ไปยืนมอง ขาเขายื่นออกมาแบบนี้ ดูเพื่อให้มันเข้าใจอารมณ์ ให้ภาพมันซึมเข้าไปในหัว แล้วก็เขียนเป็นเล่มแรกขึ้นมา”

     ไอ้ตัวเล็ก คือการ์ตูนเรื่องดังกล่าว เล่าถึงครอบครัวนักเขียนการ์ตูนที่มีลูกชายจอมแสบมาพร้อมผมบนหัวสามเส้นที่ชื่อว่า ‘ปังปอนด์’ ซึ่งต่ายบอกว่าเคยได้ยินคนพูดชื่อนี้แล้วคิดว่าแปลกดี เพราะสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีชื่อสองพยางค์ เลยตัดสินใจนำมาตั้งเป็นชื่อตัวละครหลักเสียเลย

     หลังจากออกสู่สายตานักอ่านครั้งแรกในปี 2532 ไอ้ตัวเล็ก ก็ได้เสียงตอบรับในเชิงบวกเรื่อยมา มีการรวมหลายๆ ตอนจาก มหาสนุก เป็นเล่มแยก ปรากฏว่าขายดี มีนักอ่านเรียกร้องเยอะ จนต่ายต้องปรับวิธีการทำงานมาเขียนเล่มแยกโดยเฉพาะ

     “โชคดีว่างานฝั่งกองบรรณาธิการมีคนมาช่วยเยอะขึ้น มีผู้ช่วย บ.ก.คนใหม่มา เราก็ค่อยๆ เฟดออกมาเขียนการ์ตูนอย่างเดียว” 

     ช่วงนั้นต่ายต้องเขียน ไอ้ตัวเล็ก ไปพร้อมๆ กับเป็นนักเขียนรายสัปดาห์ให้ ขายหัวเราะ ซึ่งเขาเล่าว่าการเขียนเรื่องสั้นกับแก๊กให้ความรู้สึกแตกต่างกัน

     “สำหรับเรา เขียนเรื่องสั้นสนุกกว่านะ แต่แก๊กมันได้งานเยอะกว่า เขียนหนึ่งหน้าก็ถือว่างานเสร็จ พอเป็นเรื่องสั้นมันต้องเขียนหลายหน้า ต้องเขียนให้ครบเราถึงจะสบายใจว่างานเสร็จแล้ว”

     หลังจากปั่น ไอ้ตัวเล็ก ในหน้ากระดาษไม่กี่ปี ต่ายก็ได้มีไอ้ตัวเล็กในชีวิตจริงกับเขาบ้าง 

     แน่นอนว่าชื่อลูกชายคนแรกจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากปังปอนด์

     ต่ายยอมรับว่าเขาไม่อยากให้คนอื่นรู้เยอะว่าปังปอนด์คนนี้คือลูกของนักเขียน เพราะไม่อยากให้คนอื่นมาโฟกัสที่ตัวเด็ก อยากให้ลูกได้เติบโตเป็นตัวของตัวเอง แต่เมื่อเข้าวัยอนุบาลเริ่มพูดได้ เจ้าหนูปังปอนด์ตัวจริงดันไปบอกครูเองเลยว่าตัวเองเป็นปังปอนด์…

     “เขาภูมิใจว่าเขาคือปังปอนด์ ตอนเด็กๆ ที่โรงเรียนจะมีช่วงให้ผู้ปกครองแนะนำอาชีพ เขาก็คะยั้นคะยอให้เราไป แต่เราไม่คิดว่าจะมีใครอยากรู้จักอาชีพนักเขียนการ์ตูนหรอก จนแม่เขาต้องบอกว่าเลิกยุ่งกับพ่อเถอะ พ่อเป็นมนุษย์ต่างดาว (หัวเราะ) ตอนนี้ลูกๆ ก็ใช้ชีวิตปกติดี”

     “หลังจากนั้นกลายเป็นว่าพี่ต่ายเป็นคนตั้งชื่อให้เด็กหลายคนในประเทศว่าปังปอนด์เลยนะ” เราบอก

     “ก็กลายเป็นอย่างนั้นไป” ต่ายตอบยิ้มๆ

IV

     นอกจากความนิยมในฐานะหนังสือ เจ้าหนูปังปอนด์จาก ไอ้ตัวเล็ก ยังได้ไปโลดแล่นบนจอโทรทัศน์ในรูปแบบแอนิเมชั่นด้วย ซึ่งถือว่าเป็นคาแรกเตอร์ตัวแรกที่สร้างสรรค์โดยบริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น 

     ต่ายเผยว่ารู้สึกดีที่เห็นตัวละคร 2D กลายเป็น 3D แต่เขาคงไม่กล้าเคลมว่านี่เป็นความสำเร็จของตัวเองเพียงคนเดียว 

     “แรกๆ เราจะมีส่วนร่วมในพาร์ตดีไซน์ แต่หลังๆ มีทีมงานมีฝีมือหลายคนจนเราไม่ต้องทำอะไรแล้ว”

     ปังปอนด์ กลายเป็นแอนิเมชั่นไทยที่โกอินเตอร์ไปตีตลาดถึงประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ จีน มาเก๊า และฮ่องกง กอนจะนำพารางวัลมากมายกลับมาให้ต่ายผู้ให้กำเนิดคาแรกเตอร์ ทั้งการ์ตูนแอนิเมชั่นดีเด่นสำหรับเยาวชน ปี 2545-2546, ได้รับเลือกไปตีพิมพ์บนตราไปรษณียากรไทย เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2546 และได้รับตำแหน่งยุวทูตมากมาย เรียกได้ว่าเป็นตัวละครขวัญใจเด็กๆ สมัยนั้นเลยก็ว่าได้

     ความโด่งดังของต่ายในวันนั้นอาจเทียบได้กับอินฟลูฯ ที่มีผู้ติดตามมากมายในโลกโซเชียล แต่ในยุคที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวล้ำนำสมัยอย่างทุกวันนี้ ช่องทางเดียวที่จะติดต่อกับนักเขียนได้คือการเขียนจดหมาย

     หากใครเคยอ่าน ไอ้ตัวเล็ก คงจะจำได้ว่าในหน้าหลังๆ จะมีช่วง Q&A ให้แฟนๆ ส่งคำถามเข้ามา แล้วต่ายจะเป็นคนตอบ ความน่ารักนี้เริ่มต้นจากการเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าคุยกับคนต่อหน้า บ.ก.วิธิตเลยชวนให้เขาทำพาร์ตตอบจดหมายแฟนๆ นักอ่าน

     “ปรากฏว่ามันโอเค เหมือนเราคุยกับเพื่อนในโลกจินตนาการ เพราะไม่เห็นหน้า แล้วคุยเป็นตุเป็นตะ มีการแซว มีการแกล้ง กลายเป็นว่าคนชอบพอๆ กับแก๊กที่เราเขียนเลย”

     วิธีการเลือกว่าจะตอบคำถามไหน ต่ายจะดูก่อนว่ามีอันไหนไม่ซ้ำบ้าง หรือถ้าซ้ำเขาจะพยายามคิดคำตอบใหม่ๆ ส่วนมากก็จะถามเรื่องอายุ วันเกิด ถามสารทุกข์สุกดิบ หรือกระทั่งปังปอนด์มีผมสามเส้นจริงไหม 

     “แล้วสรุปปังปอนด์มีผมสามเส้นจริงหรือเปล่า”

     “…”

     ถ้าใครที่ไม่เคยถูกตอบกลับเลยไม่ต้องน้อยใจไป เพราะต่ายบอกว่ามีคนส่งจดหมายมาเป็นกระสอบ แต่ด้วยความที่ห้องทำงานของนักเขียนการ์ตูนสร้างใหม่บ่อย ทุบนั่นเติมนี่ ทำให้จดหมายบางฉบับหายสาบสูญไป อย่างไรก็ตาม ต่ายก็พยายามเก็บจดหมายที่แฟนๆ ส่งมาให้อย่างดีที่สุด

V

     จากเด็กที่เคยวาดการ์ตูนตามนักเขียนใน ขายหัวเราะ สู่นักเขียนที่กลายเป็นต้นแบบให้นักวาดรุ่นหลังอีกมาหมาย ในวาระครบรอบ 50 ปี เราขอให้ต่ายบอกความในใจถึงการ์ตูนหัวนี้สักเล็กน้อย

     “ก็ดีใจนะที่เขาอยู่มาได้นานขนาดนี้ สามารถต่อยอดไปทำอย่างอื่นได้ และยังคงทำ ขายหัวเราะ ถึงแม้จะเปลี่ยนรูปแบบมาเน้นออนไลน์มากขึ้น แต่ดีเอ็นเอยังคงอยู่” 

     และคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนคนหนึ่งจะทำอาชีพเดิมมากว่า 36 ปี เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามถึงเหตุผลที่ต่ายทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนมาได้อย่างยาวนานถึงปัจจุบัน อย่างล่าสุดต่ายเพิ่งออกผลงาน LIFE OF TRY ชีวิตต่ายขายหัวเราะ ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การ์ตูนเรื่องนี้จะพาทุกคนไปบุกสมองของต่าย สำรวจวิธีคิดมุกฮาอันเป็นเอกลักษณ์ และเขาผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะมาเป็นต่าย ขายหัวเราะ อย่างทุกวันนี้

     “คงเป็นเพราะมันเป็นอย่างเดียวที่เราทำได้ อย่างเดียวที่เรามีความสุข อย่างเดียวที่เราใช้เพื่อมีส่วนร่วมกับคนอื่น หมายถึงตอนที่พ่อตายแล้วเคว้ง ไม่รู้ว่าจะทำประโยชน์ยังไงให้ครอบครัว แล้วเราก็เอาสิ่งนี้มาเป็นอาชีพได้ 

     “ถึงแม้ตอนนี้จะเขียนไม่ได้เยอะเท่าแต่ก่อน แต่เรายังมีเรื่องราวในหัวอีกเยอะ”