Mon 22 May 2023

THE GOOD BAD HUMAN

บทสนทนากับ ‘เบนซ์—ธนชาติ ศิริภัทราชัย’ ในวันที่ Imposter Syndrome hits me very hard

     หนึ่งในความทรงจำเกี่ยวกับงานหนังสือของเราที่เด่นชัดที่สุดคือมีนาคม 2014 ปีที่สำนักพิมพ์แซลมอนออกหนังสือ New York 1st Time นิวยอร์กตอนแรกๆ 

     คงเหมือนใครอีกหลายคนที่ได้ดูคลิป Bangkok 1st Time: ตอนโดนคนไทยด่าครั้งแรก แล้วรู้สึกชอบใจในความตลกร้าย จึงตัดสินใจว่าจะต้องดั้นด้นไปซื้อหนังสือเล่มที่โปรโมตท้ายคลิปให้จงได้

     หากจะให้นิยามบูธสำนักพิมพ์แซลมอนในวันนั้น ใช้คำว่าบูธแตกคงไม่เกินจริง ตอนที่เราไปถึง หนังสือหมดเกลี้ยงทั้งชั้น มีฝูงนักอ่านยืนรออย่างกระวนกระวาย เด็กขายก็คงอยากร้องไห้เต็มแก่ ทันใดนั้นก็มีแสงสีทองเรืองรองส่องมาแต่ไกล น้องสตาฟฟ์ผู้ชายเข็นรถที่มีแพ็กหนังสือเล่มที่ว่าแหวกว่ายมากลางดง ก่อนจะถูกช่วงชิงไปจ่ายเงินอย่างรวดเร็ว โดยมีมือของเราเป็นหนึ่งในนั้น

     สำหรับเด็กมัธยมปลายที่อ่านแต่นิยายแจ่มใสมาทั้งชีวิต การอ่านหนังสือเล่มนี้เปลี่ยนโลกเราไปตลอดกาล 

     ไม่คิดไม่ฝันว่าแค่เรื่องราวครั้งแรกในนิวยอร์กกับเรื่องเล็กๆ อย่างการตัดผมหรือไปซักผ้า มันจะเขียนเป็นหนังสือได้ด้วย 

     หลังจากอ่านจบ เราพลิกไปดูชื่อนักเขียนอีกครั้ง

     เบนซ์—ธนชาติ ศิริภัทราชัย 

     เวลาต่อมาชื่อนี้ก็เริ่มปรากฏอยู่บนปกหนังสือบ่อยขึ้น มีทั้งหนังสือท่องเที่ยวในอเมริกา หนังสือคอนเซปต์ที่จิกกัดสังคมในเวลานั้นๆ หนังสือรวมเรื่องสั้นเอาแต่ใจ และความธนชาติที่เราคุ้นเคยในตัวอักษรก็ไปโลดแล่นเป็นภาพเคลื่อนไหว ปรากฏอยู่บนหนังโฆษณาของแซลมอนเฮาส์ จนกลายเป็นไวรัลอยู่บ่อยครั้ง ก่อนจะกลับมาสู่รูปแบบหนังสือบันทึกประสบการณ์ในฐานะผู้กำกับอย่าง FULL-TIME DIRECTOR, PART-TIME LOSER และ FILMMAKER, FAILMAKER บันทึกกำ (กับ)

     แม้ภายนอกธนชาติจะดูประสบความสำเร็จไปทุกทาง เป็นนักเขียนก็ดัง เป็นผู้กำกับก็ดี แต่เขาก็มักแสดงออกผ่านทางโซเชียลมีเดียบ่อยๆ ว่ารู้สึก Self-doubt สงสัยในความสามารถของตัวเองอยู่เสมอ

     หลังจากเอาชีวิตรอดในรัชดาซอยสามมาถึงตึกออฟฟิศอย่างปลอดภัย เรากดลิฟต์ไปชั้นห้า เปิดไฟเปิดแอร์ในห้องประชุม ไม่ถึงห้านาทีดี ธนชาติเปิดประตูเข้ามา ถือแก้ว BEAMS มานั่งฝั่งตรงข้าม 

     บทสนทนาว่าด้วยการเป็นนักเขียน ผู้กำกับ และมนุษย์ที่สงสัยในความสามรถตัวเองก็เริ่มต้นโดยไม่มีเสียงสั่งแอ็กชั่น

รู้สึกยังไงบ้างที่ New York 1st Time นิวยอร์กตอนแรกๆ มีอายุ 9 ขวบแล้ว

     เก่ามากเลยเนอะ บางวันครึ้มๆ ใจก็ไปเปิดอ่าน รู้สึกอิจฉาและทึ่ง ขณะเดียวกันก็อายเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เล่นมุกอะไรของมึง แต่มันคือวัยแหละ บางทีเราก็โตขึ้นกว่าหนังสือที่เคยเขียน 

     ในแง่หนึ่งก็รู้สึกว่าทำไมเราในตอนนั้นมันกล้าจังเลย ไม่กลัวเลยเหรอ อยู่ดีๆ ก็ออกไปถ่ายรูปตอนเที่ยงคืนตีหนึ่ง ถ่ายแฟลชใส่คนแปลกหน้าที่กำลังเมาๆ แล้วอยู่ดีๆ จะไปอลาสก้าคนเดียวทำไม ไม่รู้จักใครเลย ทำไมสบายใจที่จะไปเจอคนแปลกหน้าขนาดนั้น หรืออย่างหน้าปก ทำไมถึงกล้าเอาตัวเองขึ้นปกแล้วแต่งตัวเป็นเลขหนึ่งวะ 

     เราเชื่อว่าถ้าเป็นตัวเองในตอนนี้คงไม่ทำแบบนั้น อาจจะเป็นประโยชน์ของนักเขียนก็ได้มั้งที่เราได้เขียนอะไรบางอย่าง บันทึกไว้เป็นจริงเป็นจังแล้วไปตีพิมพ์ พอมีโอกาสกลับไปอ่านเลยรู้สึกเหมือนอ่านไดอารี่

ภาพหน้าปกฉบับแรกคือตั้งกล้องถ่ายเองหรือมีใครถ่ายให้

     มีเพื่อนไปช่วยถ่าย

ประเด็นคือมีชุดแบบนี้ขายด้วย

     นั่นน่ะสิ งงเหี้ยๆ (หัวเราะ) หลังจากคุยกับกองฯ ว่าจะตั้งชื่อ New York 1st Time ล้อมาจาก The New York Times ก็มานั่งคิดกันว่าอยากให้ปกเป็นวิวนิวยอร์ก วันหนึ่งระหว่างวิ่งๆ อยู่ก็คิดว่าน่าจะมีเลขหนึ่งเนอะ เลยเสิร์ชหา ‘number one mascot’ แล้วมีจริงๆ เราก็สงสัยว่ามันใช้ในวาระไหนวะ สรุปว่าเอาไปใช้เวลาเชียร์เด็กเล่นกีฬา สมมติลูกเล่นฟุตบอลใส่เสื้อเบอร์ 1 ไรงี้ เราเห็นแล้วชอบก็เลยเอาไอเดียไปเสนอสำนักพิมพ์ พอเขาโอเคก็ซื้อมาถ่าย

ถ้าย้อนกลับไปตอนยังอยู่นิวยอร์ก คุณไปเรียนด้านการถ่ายภาพและวิดีโอ ขณะเดียวกันก็เป็นนักเขียนด้วย คิดว่าช่วงเวลาในตอนนั้นเป็นการแสวงหาตัวตนหรือปล่า

     อาจจะใช่ก็ได้นะ ตอนเข้าคณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์แรกๆ เราอยากทำโฆษณา เพราะอ่าน a day เล่มพี่ต่อ ฟีโนมีน่า (ธนญชัย ศรศรีวิชัย) ที่เขียนหน้าปกว่า เขาคือผู้กำกับโฆษณาอันดับหนึ่ง ไอดอลของเด็กยุคเราเลย (ตอนนี้ก็อีกประเด็นนะ…) แต่ไปๆ มาๆ ได้ลองทำหนังสั้น ได้ออกกองกับเพื่อนๆ คณะ ก็รู้สึกชอบ เลยเบนเข็มไปเข้าฟิล์ม แล้วเราก็ชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียน เลยสมัคร a team junior พอเข้าไปทำก็รู้สึกสนุก เอนจอยกับการเขียน พอกลับมาที่คณะก็ลองไปทำละครเวที เป็นฝ่ายเขียนบทกับฝ่ายไฟ ก็ชอบอีก 

     พอเรียนจบก็จับพลัดจบผลูได้ไปทำหนังใหญ่อยู่กับพี่เจ้ย—อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จากอยากทำงานด้านโฆษณากลายเป็นได้ทำหนังอาร์ตเฉยเลย ก็ชอบนี่หว่า แล้วไปๆ มาๆ ได้ไปเรียนต่อด้าน lens-based art ซึ่งเป็นสาย fine art มากๆ ทำงานวิดีโอ หรือซีรีส์ภาพถ่ายส่งแกลเลอรีและมิวเซียม

     เราไม่รู้ว่าชอบอะไรกันแน่ พอไปเรียนที่นิวยอร์กเลยลองทำให้หมด ไปเขียน ไปถ่ายรูป แล้วเราไปอยู่ในเมืองที่ไม่มีใครรู้จักเราเลย เป็นคนตัวเล็กๆ ในนั้นมาก กลายเป็นว่ามันมีอิสระมากขึ้น เรากระโจนใส่ทุกอย่าง ตอนนี้เราเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร จากการฟิลเตอร์ผ่านประสบการณ์ เรารู้แล้วว่าอาณาเขตที่เราไม่สบายตัวมันเป็นยังไง เช่น ไม่ค่อยถนัดงานคอนเซปชวล ไม่ได้ชอบปาร์ตี้คนเยอะ คือเข้าสังคมเพื่องานทำได้ แต่ไม่สามารถทำทุกวันได้ 

แล้วมาร่วมงานกับสำนักพิมพ์แซลมอนได้ยังไง

     รู้จักกับแบงค์—ณัฐชนน มหาอิทธิดล (ผู้ก่อตั้งและอดีตบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน) ตอนไปฝึกงาน a team junior ซึ่งเอาจริงๆ รุ่นเราออลสตาร์เยอะนะ มีแบงค์ มีเคน–นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ (บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว The Standard)

     ช่วงที่ไปอยู่นิวยอร์กเราลองไม่คบเพื่อนคนไทยเลย ไม่อยากอยู่กับความคุ้นชินเดิมๆ สรุป ก็เลยเหงา เลยเขียนเล่าในเฟซบุ๊กเรื่อยๆ จำได้ว่าเขียนเรื่องไปตัดผมที่บาร์เบอร์ครั้งแรก แบงค์อ่านแล้วบอกว่าสนุกดีว่ะ พอคนแบบเราไปเจอเรื่องเล็กๆ ในต่างประเทศก็สนุกได้เนอะ นอกจากความเป็นนิวยอร์กแล้ว ความเป็นเราที่แบงค์บอกว่าไม่ใช่ typical นักเรียนนอกเท่ๆ ใช้ชีวิตดีๆ แต่เป็นเด็กแหยๆ ไม่ได้เจ๋งมาก พอไปเจอเมืองโคตรคูลก็ยิ่งสนุก เขียนหนังสือเลยสิ ก็เลยได้รวมเล่มเป็นเรื่องราวครั้งแรกในนิวยอร์ก

เคยคิดมั้ยว่าจะได้ออกหนังสือเล่มแรกในวัยเท่านั้น ด้วยเรื่องแบบนี้

     รู้ว่าอยากออกหนังสือ แต่ไม่รู้ว่าจะได้ออกเร็วขนาดนี้ สมัยก่อนเราอ่านหนังสือพี่ก้อง—ทรงกลด บางยี่ขัน พี่เอ๋ นิ้วกลม แล้วรู้สึกพวกเขาช่างดูเป็นผู้มีปัญญา มันคงไกลจากเรามาก 

     เอาจริงๆ ก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน ยิ่งมันประสบความสำเร็จตั้งแต่เล่มแรก เหวอเหมือนกันนะ ขณะเดียวกันก็เป็นแรงกดดัน เมื่อออกเล่มแรกแล้วมันขายดีเหี้ยๆ มันเร็วมากๆ ก็ช็อก พอเขียนเล่มต่อไปมันเลยไม่เพียวแล้ว ไม่ใช่ไม่จริงใจนะ แต่ตอนเล่มแรกเราอยากเขียนอะไรก็เขียน จะเจ๊งยังไงก็ช่าง กูอยากเขียนแบบนี้ พอเล่มสองเราดันคิดแล้วว่าจะหนีจากเล่มแรกยังไง 

     เราไม่ชินกับการเป็นที่สนใจและเป็นที่พูดถึง เราทำตัวไม่ถูก ถ้าอ่านเล่มสอง (The Real Alaska อลาสก้าล้านเปอร์เซ็นต์) จะเห็นว่าเราเล่นมุกกวนส้นตีนเยอะมาก ทำตัวเลวกับคนอ่าน อำนั่นอำนี่ อาจจะเพราะเราไม่ชินกับการเป็นที่รักมั้ง 

รู้สึกยังไงตอนได้รับฟีดแบ็กแรกๆ

     รู้สึกอยากกลับเมืองไทยไปดูจังเลย แต่กลับไม่ได้ เพราะกำลังขอวีซ่า residency ต้องอยู่ที่นั่น เลยให้ป๊ากับแม่ไปแล้ววิดีโอคอลมาหา 

     พอมีฟีดแบ็กจากคุณผู้อ่านว่าอ่านหนังสือเราแล้วอยากย้ายประเทศ บางคนไปสอบได้ทุนไปเรียนต่อ ไปทำวิจัย ไปเป็น au pair ฟังแล้วมันเป็นพลังใจมากๆ เราบอกคนอ่านหลายคนเลยว่าตอนนี้พวกแกควรจะเขียนหนังสือบ้าง ชีวิตแกสนุกกว่าเราตอนนี้อีก รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้คุยกับคนอ่าน รู้สึกดีที่เราส่งผลกระทบกับชีวิตเขาไม่มากก็น้อย อันนี้แม่งเป็นไดรฟ์ในชีวิตเหมือนกันที่ทำให้อยากเขียน 

เมื่อกี้บอกว่าทำวีซ่า residency อยู่ แล้วทำไมถึงตัดสินใจกลับไทย

     ตอนที่ทำคลิปลุงเนลสันก็ไม่คิดว่าจะดังหรือมีคนแชร์เยอะ รู้แค่ว่ามันเป็นเซนส์ตลกที่เราชอบ พอมีคนคอนเนกต์เยอะก็รู้สึกว่ามันมีคนชอบแบบเรา ความตลกร้าย หน้าตายๆ มีความคอนทราสต์จัดๆ 

     ช่วงที่กลับมาจากอลาสก้าก็ได้กลับมาทำแซลมอนเฮาส์กับพี่วิชัย (วิชัย มาตกุล) ก็รู้สึกว่าสนุกดีนะ วงการสื่อบ้านเราในตอนนั้นยังไม่ค่อยมีแบบนี้ด้วย เราเลยอยากกลับมาทำ ซึ่งพอทำงานสื่อเราก็รู้ว่าการรู้อินไซต์คนในพื้นที่ของประเทศนั้นๆ มันสำคัญ เรื่องบรรยากาศของสังคม เรื่องอารมณ์ การคอนเนกต์กับคน แล้วถ้าทำที่อเมริกา เราไม่มีทางรู้เท่าคนพื้นที่เลย 

     จริงๆ ตอนนั้นเราได้ข้อเสนอเป็นครีเอทีฟของ National Geographic เป็นรายการเกี่ยวกับจิตวิทยาด้วย แต่เราพอรู้เส้นทางว่าการเป็นครีเอทีฟให้บริษัทใหญ่ เราเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ ขณะเดียวกันถ้ากลับมาไทยคือเหมือนจะเปิดอีก genre นึงให้ประเทศเลย เรารู้สึกว่ามันสร้าง matter ในวงกว้างมากกว่า 

     อีกอย่างก็เป็นเรื่องครอบครัว เราอยู่ห่างจากพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก พ่อไปทำธุรกิจที่อุบลฯ แล้วเขาส่งเรามาเรียนที่กรุงเทพฯ อยู่กับญาติ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เรียนธรรมศาสตร์ พอจบมาก็ยังจะไปเรียนโทที่นิวยอร์กอีก คือไกลจากเขาไปเรื่อยๆ เราน่าจะไม่เคยอยู่กับพ่อแม่เกินสามเดือนเลย ถ้าเราเลือกทางนั้น ก็คงต้องห่างกันตลอดกาล 

     เราทิ้งวีซ่าไปเลย ตอนนั้นได้ O-1 Visa เป็น Artist Visa อยู่ได้สามปีทำงานศิลปะอย่างเดียว พอครบสามปีก็ apply green card ได้ แล้วก็ต่อไปเป็น citizen ซึ่งบางทีใช้ชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลคุณประยุทธ์นานๆ พอมองย้อนกลับไปถึงการตัดสินใจคราวนั้น ก็นึกเหี้ยกับตัวเองเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ก็ยังเคารพการตัดสินใจเดิมของเราอยู่นะ

ด้วยความที่เขียนหนังสือมาหลายแบบ คุณมีการจดบันทึกไว้หรือเปล่า ทำไมจำเก่งจัง

     เราเขียนไดอารี่ แต่ไม่ได้เขียนละเอียด อีกอย่างคือเราเป็นคนไม่ปล่อยวางและยึดติดกับอดีตพอสมควร เพราะฉะนั้นเปิดรูปมาเถอะ เรารู้หมดเลยว่าตอนนั้นรู้สึกยังไง เศร้า เหงา ทุกข์ ยินดี กล้อมแกล้มในใจ ไม่อยู่กับปัจจุบันแค่ไหน เราจำได้หมด เพราะฉะนั้นมันจะเอากลับมา revise ได้ง่าย  

     ส่วนถ้าเกี่ยวกับงานกำกับ มันเป็นสิ่งที่เราต้องลงดีเทลอยู่แล้ว เราจำได้ถึงขนาดที่ว่าไปถ่ายโรงงานไหนแล้วอยากเปลี่ยนหน้าต่าง เพราะถ่ายแล้วรู้สึกว่ามันไทยเกินไป เราอยากให้มันออกมาเป็นอินเดีย 

     แต่ขณะเดียวกันในเล่ม FULL-TIME DIRECTOR, PART-TIME LOSER และ FILMMAKER, FAILMAKER บันทึกกำ (กับ) เราทำมันทุกวันจนเป็นอาชีพ มันธรรมดาซะจนรู้สึกปกติ ไม่หวือหวาเหมือนไปเที่ยว จริงๆ ไม่ต้องสนุกก็ได้ แต่มันน่าสนใจพอหรือเปล่า

     80 เปอร์เซ็นต์ของนักอ่านเราเป็นคนทำงานสายวิทย์ หมอ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ หรือคนที่ทำอาชีพมีสาระ อ่านหนังสือเราเยอะมาก เราก็เลยเข้าใจว่า อ๋อ เพราะมันดูไกลจากตัวเขา ชีวิตเขาอาจจะเครียด เขาอาจจะต้องการอะไรไร้สาระมาแบ่งเบาสมอง 

พอหนังสือทั้งสองเล่มนี้เล่าเรื่องกำกับทั้งคู่ คุณมีวิธีการเล่าให้มันแตกต่างยังไง

     ต้องบอกว่าเนื้อแกนของมันเป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ทำงาน แต่สิ่งที่ต่างออกไปเป็นเรื่องท่าทีกับน้ำเสียงมากกว่า 

     เล่ม FULL-TIME DIRECTOR, PART-TIME LOSER เราเพิ่งก้าวเข้าสู่งานกำกับ มันเป็นเฟิสต์ไทม์มากๆ เล่าตั้งแต่ไปทำงานกับพี่เจ้ย ไปกั้นรถ จนถึงเปิดแซลมอนเฮาส์แรกๆ ความยังไม่รู้อะไรหลายๆ อย่าง ทำให้ทุกเรื่องคล้ายๆ New York 1st Time นิวยอร์กตอนแรกๆ เวอร์ชั่นผู้กำกับ ทุกอย่างแม่งอะไรวะเนี่ยไปหมดเลย เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องชาเลนจ์ แล้วช่วงแรกๆ เรายังโนเนมอยู่ เครดิตก็น้อย การไปเจอลูกค้าหรือทำโปรเจกต์สักอย่าง มันไม่ใช่การที่ อ๋อ แซลมอนเฮาส์เหรอ ทำสิๆ แต่เป็น อะไรของมึงเนี่ย ตลกเหรอ ไหนจะเรื่องงบประมาณ ในตอนนั้นเรียกได้ว่าอัตคัด ใช้เพื่อนมาเล่น ดีไอวายโลเคชั่นในรัชดาซอยสามแทบจะครบทุกมุม 

     แต่พอเป็น FILMMAKER, FAILMAKER บันทึกกำ (กับ) เราเริ่มมีชื่อในอุตสาหกรรมนี้บ้างแล้ว คนเริ่มเชื่อเรามากขึ้น มีงานที่ชาเลนจ์มากขึ้น แต่มันไม่เคยง่ายขึ้นเลยสำหรับเรา เพราะงานใหญ่ขึ้น งบประมาณมากขึ้น เขาก็จะเคี่ยวกับเรามากขึ้นเป็นธรรมดา หรือในแง่ creativity จะทำยังไงให้มันหนีจากงานแนวเดิมๆ ของเรา ถือเป็นความชาเลนจ์ด่านสอง 

     ส่วนทำงานง่ายขึ้นมั้ย มันไม่เคยง่ายขึ้นเลย เป็นคำสาปของงานสายนี้

ในเล่ม FILMMAKER, FAILMAKER คุณยกให้เรื่องไหนเป็นเรื่องที่เฟลที่สุด

     มันไม่ได้เฟลสุดๆ ในแง่ไม่สำเร็จ แต่บางทีเราก็เลินเล่อกันไป อย่างบทที่เล่าเรื่องการถ่ายฉากซอมบี้ พี่นักแสดงต้องใส่คอนแทกต์เลนส์ให้ตาไม่เป็นมนุษย์ ซึ่งมีให้เลือกสองแบบคือตาขาวล้วนกับตาขาวแล้วมีจุดดำเล็กๆ ถ้าใช้ตาขาวล้วน เวลาใส่จะมองเห็นได้ลดลง ถ้ายอมให้มีจุดดำนิดนึง อันนี้จะมองเห็นชัดทุกอย่าง 

     แต่เราอยากให้หนังดีมากๆ เลยขอให้เขาใส่แบบขาวล้วน เทปแรก แอ็กชั่น นักแสดงวิ่งๆๆๆ ชนกล้องปั้ก แล้วมันคือช็อตแรกของวัน ไม่ว่าหนังจะสมบูรณ์แค่ไหน แต่ไม่มีอะไร compromise ได้ถ้าเทียบกับชีวิตคน มันสอนเรามากๆ เลย หลังจากนั้นมาถ้ามันเสี่ยงกับคนถ่าย เราไม่เอาสวยก็ได้ เราเอาปลอดภัย 

     เนื้อหาในเล่มแรกจะมีความผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรง มันจะฉิบหายวายป่วงแค่ไหน จะตากแดดร้อนแค่ไหน กูจะเอาให้ได้ แต่พอเป็นเล่มนี้เรามองมิติเยอะขึ้น เรามองว่าถ้าช็อตนี้ไม่ได้ที่เราต้องการ 100% แต่มันเลิกเร็วขึ้นสามชั่วโมง ให้ทุกคนกลับไปมีเวลาแฮปปี้ เรายอมนะ ไม่เป็นไร เราขอแค่ 85% ก็ได้ ขอให้บรรยากาศในกองมันดี 

     เราอยากได้ 100 ในเล่มแรก แต่เล่มสองไม่เป็นไร เพราะมันมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว มันมีช็อตสำคัญที่ต้อง 100 แต่มีอีกหลายช็อตที่ไม่ต้อง 100 ก็ได้ มันใช้เพื่อเล่าเรื่องไวๆ ไม่ต้องสวยเนี้ยบก็ได้ แต่ทำให้บรรยากาศกองดีขึ้น

ก่อนหน้าที่จะเขียนเล่มนี้ คุณเขียนเรื่องสั้นไปสองเรื่องซึ่งได้ผลตอบรับในทิศทางบวกด้วย พอกลับมาเขียนเล่มที่เป็นเรื่องเล่าจริงๆ จากตัวเรา รู้สึกแตกต่างจากเดิมมั้ย

     กดดัน (ตอบทันที) เพราะเราเป็นคนทำโฆษณา ไม่ได้ออกไปเที่ยวไหนเลย แต่ละเล่มที่ผ่านมาไปนิวยอร์ก อลาสก้า แต่นี่เราอยู่รัชดาซอยสาม แล้วงานที่เราทำมันสนุกพอมั้ยก็ไม่รู้ สำหรับเราตอนนี้การเขียนน็อนฟิกชั่นยากกว่า เล่มต่อไปที่จะเขียน เลยว่าจะเป็นฟิกชั่น

     ตอนที่เขียนฟิกชั่นเล่มแรก (You Sadly Smile in the Profile Picture) ใจมันเต้นเหมือนตอนเขียน New York 1st Time เลย เพราะมันเป็นพื้นที่อิสระ ไม่มีกรอบมาครอบ อยากเขียนอะไรก็เขียน แล้วเราสนุกมาก  

     เอาเข้าจริง การเขียนเรื่องสั้นแบบ plot based อาจจะไม่วรรณศิลป์มาก ถ้าไปอ่านก็จะรู้ว่ามันทื่อสุดๆ ประธานกริยากรรม ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร เจออุปสรรคอะไร objective คืออะไร แล้วแก้ยังไง ผลลัพธ์เป็นยังไง เรียนรู้อะไร เหมือนเอาพล็อตหนังมาไว้ในนี้ เขียนจบสองเล่มคือในหัวโล่งหมดละ เอามาใช้จนหมดแม็ก

ในฐานะนักเขียนที่ออกหนังสือเยอะและประสบความสำเร็จ ในฐานะผู้กำกับที่ทำงานสนุกจนลูกค้าเชื่อใจ ทำไมคุณยังรู้สึก Self-doubt อยู่

     มันเป็นภาวะประจำตัวจริงๆ นะ งานเขียนมันโดดเดี่ยว ช่วงที่เขียนไม่ออกคือไม่ออกเลย แล้วคนอาจจะคิดว่าออกหนังสือมาเป็นตั้ง เป็นการการันตีว่าเราทำได้ มันไม่ใช่เลย คิดอยู่บ่อยๆ ว่าหรือที่ผ่านมามันแค่ฟลุ๊กวะ (หัวเราะ) imposter syndrome hits me very hard เขียนอันนี้ซ้ำเล่มนี้ เล่าแบบนี้ก็เหมือนเล่มนั้น มันเลยยิ่งกดดัน 

     หากจะหาสักคำที่อธิบายความเป็นเราได้ เราว่า Self-doubt ก็มีส่วน คนภายนอกมองเข้ามา ธนชาติก็ดูประสบความสำเร็จดีนี่นา เขียนหนังสือ ทำแซลมอนเฮาส์ ทำมาเป็นแอ๊บมีความทุกข์ มีคนเคยเขียนด่าว่า ‘เป็นอีลีท ชีวิตสุขสบายแล้วทำเป็นเนิร์ดดี้ มีความซัฟเฟอร์’ ซึ่งก็งงว่าทำไมเขาถึงคิดว่าชีวิตเราดีขนาดนั้นเลยหรอ 

     ไอ้การงานโฆษณาที่เราคิดว่าดีนักดีหนา ได้คิดหนังสนุก กวนๆ มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์คือไปเจอลูกค้าแล้วโดนเขายิงเละ ไม่เชื่อ ไม่ซื้อ ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดเขานะ แต่พอปิดคอม ออกจากห้องประชุม ก็อดแซดกับตัวเองไม่ได้ว่าความพยายามสองเดือนล่มสลายหายไปเลย งานแซลมอนเฮาส์ที่เห็นหรือแชร์กันคือไอเดียที่รอดออกมาเป็นส่วนน้อย เพราะฉะนั้นมันเลยเกิดเป็นภาวะตั้งคำถาม และเคลือบแคลงใจกับตัวเอง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเราเป็นคนที่ผูกคุณค่าตัวเองกับงานด้วยมั้ง

     เราเคยขับรถเส้นราชพฤกษ์จากบางแคไปสุดนนทบุรี วนไป-กลับหลายรอบมาก เพราะไม่อยากนั่งอยู่ในห้องเปล่าๆ แต่ก็ไม่พร้อมจะออกไปเจอเพื่อน แค่อยากให้มีอะไรเคลื่อน เราทำเพราะอยากรู้ว่าจะทำสิ่งนั้นได้หรือเปล่า 

     มันมีบางวันที่เราเขียนหนังสือ เขียนลบๆ อยู่แบบนั้น สุดท้ายไม่ได้อะไรเลยก็มี หรืออย่างเล่ม Dear Portland ก่อนถึงเดดไลน์ส่งต้นฉบับสองอาทิตย์ เราบอกแบงค์เลยว่าขอไม่ออก รู้สึกไม่สนุกพอ ตอนแรกเขียนเป็นเท็กซ์ยาวปกติ แล้วความรู้สึกไม่ใช่มันเกิดจากเล่มที่ผ่านๆ มา มันเกิดการเปรียบเทียบ แต่แบงค์ก็เชียร์อัพ ให้กำลังใจว่าสนุกแล้ว สุดท้ายเลยออกมาเป็นรูปแบบบูลเล็ต 

     ช่วงที่เรายังแอ็กทีฟเฟซบุ๊กแล้วเขียนสเตตัส ประมาณว่าญาติพี่น้องคนอื่นเขาไปไกลถึงไหนแล้ว เรายังต้องนั่งแก้สีเขียวของโปรดักส์ในวิดีโอตอนตีสาม เศร้ากับชีวิต ควย หน้าหี แม่เย็ด แม้จะเขียนให้ดูสบถเล่นๆ  แต่เรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ มันเหมือนเป็นการแปรรูปความทุกข์มาเป็นความขำขื่นกับตัวเอง 

     ยิ่งอยู่ในจุดที่เป็นเบนซ์ ธนชาติที่ดูประสบความสำเร็จ ไม่น่ามีความทุกข์ไรเลย แต่จริงๆ เราก็ต้อง hold แรงกดดัน เปราะบาง และตั้งคำถามกับตัวเองไม่ต่างจากคนอื่น 

เหมือนยิ่งสูงยิ่งหนาว

     เราว่าความไม่มั่นคงและอ่อนไหวเป็นภาวะปกติของมนุษย์ พอเป็นช่วงที่ดาวน์มากๆ เรามีอาการ panic attack เพราะคิดว่าจะทำงานแบบไหนดีที่ยังใหม่ ไม่ซ้ำทางครั้งที่แล้ว และยังดีอยู่ อาการที่ว่าคือจะนอนแล้วเด้งขึ้นมา เพราะรู้สึกหัวใจจะวาย ต้องแอดมิตครั้งนึงเพราะคิดว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ หมอก็มาตรวจดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอาอุปกรณ์มาจิ้มๆ ตรงอก สุดท้ายเลยได้รู้ว่าร่างกายไม่ได้เป็นอะไร แต่มันเป็นภาวะทางจิต เพราะเราเครียดกับตัวเองเกินไป 

แล้วแก้ปัญหานี้ยังไง

     เราละวางพวกนั้น ทำงานที่เราอยากทำ อย่างชิ้น คุณแวน ถามว่ามันใหม่มั้ย มันก็คือการนั่งสัมภาษณ์ mockumentary เหมือนลุงเนลสันเมื่อสิบปีก่อน ไม่ได้ใหม่ แต่ไม่คิดมากละ อยากทำก็ทำ แล้วสุดท้ายมันก็คอนเนกต์กับคนเป็นล้าน เราเลยรู้สึกว่าท้ายสุดทำงานที่เราอยากทำ ทำสิ่งที่สนุกกับกระบวนการ แล้วมันส่งเสียงกับเรา ก็เชื่อแล้วทำไปเถอะ 

สุดท้ายนี้ ถ้าสมมติมีเด็กเดินมาสองคนในงานหนังสือ คนนึงบอกอยากเป็นผู้กำกับ อีกคนบอกอยากเป็นนักเขียน คุณมีอะไรจะแนะนำเขามั้ย

     ได้แต่บอกว่าลองทำดู มันคลิเช่เนอะ บางทีแกอาจจะอยากเป็นผู้กำกับเพราะดังดี เท่ดี ได้ออกหนังสือ เดินพรมแดง อันนี้ก็โอเคถ้าจะเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นอินสไปร์เบื้องต้น แต่ถ้าลองไปลงเนื้องานกับมันจริงๆ จะรู้ว่ามันมีความลำบากตรากตรำ ต้องง้อคนอื่น เจอชาวบ้าน เปิดเสียงดังใส่ ถ่ายช็อตนึง 7-8 ชั่วโมง ซึ่งลูกค้าอาจจะตัดออกก็ได้ สิ่งที่คาดหวังตอนเป็นบท อาจจะไม่เกิดขึ้นในโลกจริงก็ได้ แกจะประนีประนอมกับความรู้สึกตัวเองยังไง แฮนเดิลกับทุกข์ของอาชีพนี้ได้มั้ย ถ้าแฮนเดิลได้เพราะความอยากทำมันมากกว่า นั่นคือเหมาะที่จะเป็น

     ถ้าอยากเป็นนักเขียนก็จะบอกเหมือนกันว่าให้เขียนเลย มันเป็นสื่อที่เริ่มต้นได้ง่ายที่สุด การลองทำไม่ใช่แค่การค้นหาว่าเราชอบอะไร แต่ยังรู้ว่าแกไม่ชอบอะไรด้วย จะได้ค่อยๆ ตัดชอยส์ออก แต่มันไม่ใช่ว่าจะตัดจนเหลือข้อเดียว ฉันเจอแล้ว! (กำมือแล้วชูขึ้น) ฉันจะทำอันนี้ไปเรื่อยๆ แต่มันจะเจอว่าเราชอบ area นี้ เหมือนเราที่ชอบงานสื่อสารสร้างสรรค์ ถ่ายภาพ ละครเวที กำกับภาพยนตร์ เขียนหนังสือ แล้วในยุคนี้มันสลับกันทำได้หมดเลย ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ

     คร่าวๆ ก็ลองทำ แล้วเตรียมรับความทุกข์ ลองชั่งน้ำหนักว่าเรารับมือกับมันได้มั้ย ถ้ารับได้ก็ทำต่อเลย