Tue 30 Mar 2021

TRANSLATOR—WRITER

ชวน ‘เหน่ง—ดาวิษ ชาญชัยวานิช’ มาพูดคุยถึงประสบการณ์ 19 ปีในวงการนักแปล

     ช่วงปลายปี 2019 เราใช้เวลาหนึ่งเดือนไปกับการอ่านหนังสือเซต เพอร์ซีย์ แจ็กสัน (Percy Jackson) วรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซีห้าเล่มจบของ ริก ไรออร์แดน (Rick Riordan) ที่เล่าตำนานเทพปกรณัมกรีกได้เฟี้ยวและสนุกแบบสุดๆ ระดับที่เรายกขึ้นหิ้งให้อยู่เลเวลเดียวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ 

     ข้ามกลับมาปี 2021 เราเพิ่งอ่าน Fevre Dream เรือรัตติกาล หนังสือหนา 450 หน้าผลงานของ จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน (George R. R. Martin ผู้เขียน Game of Thrones) จบภายในระยะเวลาสี่วัน

     นอกจากจะเป็นการเอาชนะ #CONTREADINGCHALLENGE2021 ข้อที่ 7 ได้สำเร็จ (อย่าลืมไปเล่นกันนะจ๊ะ มีแจกหนังสืออยู่เรื่อยๆ รางวัลของคนทำดี) การอ่านที่ท้าทายพลังสมองภายใต้ระยะเวลาจำกัดเช่นนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อมาคุยกับ ‘พี่เหน่ง—ดาวิษ ชาญชัยวานิช’ นักแปลหนังสือมืออาชีพผู้เวียนว่าย (ไม่) ตายเกิดในวงการแปลมา 19 ปี และมีชื่ออยู่บนปกหนังสือที่เล่าไปในย่อหน้าเมื่อกี้กับอีกกว่า 60 เล่ม (ที่ถ้าให้ไล่รายชื่อคงอ่านไม่จบกันในวันนี้เป็นแน่)

     เราถามไถ่พี่เหน่งตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการเป็นนักแปล วิธีคัดเลือกต้นฉบับ กระบวนการทำงาน ความยากในการเลือกใช้คำ แปลดีหรือไม่วัดกันตรงไหน ไปจนถึงอีกสารพัดคำถามที่คนนอกอยากรู้

     และคนในก็อยากเล่า

รู้มาว่าพี่เหน่งไม่ได้เรียนจบสายภาษามาโดยตรง ทำไมถึงมาทำงานแปลหนังสือได้คะ

     ใช่ครับ ผมจบคณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจทำงานแปลเป็นหลัก แต่ช่วงมหาวิทยาลัยที่บ้านมีปัญหาด้านการเงิน เลยต้องทำงานพิเศษด้วยการสอนภาษาอังกฤษเด็ก ม.ปลายตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปี 1 วันหนึ่งมีผู้ปกครองของน้องที่เราสอน ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อยากให้ลองแปลบทความให้ เมื่อเห็นว่าทำได้เราก็เลยรับงานแปลบทความมาตั้งแต่ตอนนั้น

แปลว่าเป็นคนถนัดภาษาอังกฤษมาตั้งนานแล้ว

     จริงๆ ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษมาก่อน แต่เพราะตอน ม.ปลาย ผมเล่นกีตาร์ แล้วก็ชอบร้องเพลงฝรั่ง ตอนนั้นชอบ Bon Jovi มาก จนต้องไปหาคอร์ดกับเนื้อเพลงที่ถูกต้องมาร้องตาม จึงได้เรียนรู้ภาษาจากสิ่งที่เราชอบ

แล้วจากการแปลบทความเปลี่ยนมาแปลหนังสือได้ยังไง

     ต้องย้อนกลับไปช่วง ม.ปลาย เพื่อนแนะนำให้อ่าน ฤทธิ์มีดสั้น ของ โก้วเล้ง (Gu Long) ที่ น.นพรัตน์ แปล หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนชีวิต มุมมองความคิด และวิธีการมองโลกของผมเลย ทำให้เริ่มชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่ตอนนั้น พอช่วงใกล้เรียนจบมหา’ลัย ผมรู้สึกว่าแปลบทความมาเยอะแล้ว อยากลองแปลหนังสือบ้าง สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีอินเทอร์เน็ต กูเกิลหรือเฟซบุ๊กยังไม่มา ผมใช้วิธีไปเปิดดูหนังสือตามร้าน ดูเบอร์โทรกับที่ตั้งของสำนักพิมพ์ โทรไปถามว่าเขารับนักแปลมั้ย แล้วก็ขอเข้าไปเสนอพอร์ตโฟลิโองานแปลบทความให้พิจารณา

     ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกนะว่าสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับนักแปล เพราะเขาจะมีคนที่ไว้ใจให้ทำงานกันอยู่แล้ว ทำไมต้องมารับเด็กใหม่ๆ และเราเป็นใครก็ไม่รู้ โนเนม แถมยังเรียนไม่จบ จนได้ไปทำงานที่หนึ่งซึ่งมารู้ภายหลังว่าขึ้นชื่อเรื่องการหลอกเด็กจบใหม่มาทำงาน แล้วเบี้ยวค่าแปล 

หนังสือเล่มแรกๆ ที่ทำงานในฐานะนักแปลคือเล่มไหน

     วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Abu And The 7 Marvels ของ ริชาร์ด แมธิสัน (Richard Matheson) เล่มต่อมาคือ การ์ตูน สามก๊ก น่าจะมาจากสิงคโปร์หรือมาเลเซีย โดยหนังสือสองเล่มแรกนี้นอกจากจะแปลแต่ไม่ได้ตีพิมพ์แล้ว สำนักพิมพ์ก็ยังทำทีเหมือนจะไม่ยอมจ่ายค่าแรงด้วย ตอนเขาส่งเล่มที่สามมาให้ผมเลยทวงยับ ถ้าไม่ได้เงินของเก่าก็จะไม่แปลให้ สุดท้ายก็ทวงจนได้เงินครบ แล้วก็ได้พิมพ์ผลงานแรกออกมาจริงๆ คือ The Life and Adventures of Santa Claus วรรณกรรมคลาสสิกของ แอล. แฟรงก์ บอม (L. Frank Baum) คนเขียน The Wizard of Oz 

ตอนเห็นหนังสือที่เราแปลออกมาเป็นเล่มครั้งแรก รู้สึกยังไงบ้าง

     ดีใจและภูมิใจมากครับ วินาทีที่ได้เห็นหนังสือที่มีชื่อเราอยู่บนชั้นหนังสือนั้น รู้สึกเลยว่าชีวิตนี้จะไม่ทำงานเพื่อเงินอย่างเดียว แต่จะทำงานที่ให้ความรู้สึกอะไรแบบนี้ด้วย 

     เมื่อเร็วๆ นี้ผมกลับไปเปิดอ่านหนังสือเล่มนั้นอีกรอบ รู้สึกรับไม่ได้จริงๆ (หัวเราะ) อ่านแค่ภาษาไทยก็รู้แล้วว่าเราแปลผิดแน่ๆ ตอนนั้นเราคงเป็นเบบี๋ในวงการแบบสุดๆ ผมเลยหาเวลามาแปลใหม่ทั้งเล่มแล้วขายเป็นอีบุ๊ก ที่ทำแบบนี้ได้เพราะลิขสิทธิ์หนังสือของผู้เขียนเป็นสาธารณะไปแล้ว 

บรรยากาศหรือวิธีการทำงานแปลวรรณกรรมต่างจากตอนที่แปลบทความมั้ย

     ต่างเยอะครับ แปลบทความจบเร็วก็ได้เงินเร็ว ถ้าเป็นปัจจุบันบทความไม่ถึงสิบหน้า ผมแปลครึ่งวันก็เสร็จ ยาวหน่อย 20-30 หน้าก็ 2-3 วัน แต่ว่าแปลนิยายเล่มนึงเราใช้เวลา 30 วันขึ้นไป การจะแปลนิยายให้เสร็จภายใน 1-3 เดือน คุณต้องมีความต่อเนื่อง คุณต้องแปลวันละ 5-10 หน้าเป็นอย่างน้อย เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องแปล ไม่มีวันหยุดเลย การต้องทำแบบนี้ทุกวันมันเครียด ยิ่งทำก็ยิ่งล้า ช่วงหลังๆ คือไม่เป็นผู้เป็นคนเลย แต่เราก็ต้องลุยต่อไปจนกว่าจะเสร็จ เพื่อที่จะได้เงินค่าแปล (หัวเราะ) ถึงจะได้หยุดพักจริงๆ

     แต่ต่อให้การแปลบทความจะได้เงินเร็วกว่าแค่ไหน มันก็ไม่กระตุ้นอะไรในตัวเราเลย เพราะแค่หัวข้อทางวิชาการมันก็น่าเบื่อแล้ว ในขณะเดียวกัน การแปลนิยายอาจจะทำให้เราได้เจอเล่มที่ทำปฏิกิริยาบางอย่าง 

     เคยมั้ยครับเวลาอ่านหนังสือสักเล่มแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย เราอยากเขียนอะไรแบบนี้ออกมาบ้าง แต่ให้คิดเองก็คิดไม่ออก ถ้าเวลาแปลนิยาย แล้วเราได้เจอเล่มดีๆ มันเหมือนมีคนมาบอกเฉลยเลยว่าต้องเขียนยังไง เรารู้ main idea กับคอนเซปต์ของเขาแล้ว เราแค่คิดคำไทยออกมาให้ตรงตามต้นฉบับเท่านั้นเอง

     สมมติให้ผมเขียน เรือรัตติกาล ของลุงจอร์จที่เป็นคนเขียน Game of Thrones ผมก็เขียนไม่ได้หรอก ให้เวลา 10-20 ปีก็เขียนไม่ได้ มันเป็นของเขาจริงๆ แต่เวลาเราได้แปลงานของเขา เหมือนเขาแบ่งให้เรามีส่วนร่วม ที่เราทนทำแบบเหนื่อยแทบตาย มันก็มีความฟูลฟิลตรงนี้มาแลกกัน

แล้วเป็นไงมาไงถึงได้มาแปล เพอร์ซีย์ แจ็กสัน  

     เอาจริงคือไม่ได้ซับซ้อนหรืออลังการอะไรเลยครับ สำนักพิมพ์ติดต่อมาว่าสนใจแปลเล่มนี้ (Percy Jackson & the Olympians: The Lightning Thief เพอร์ซีย์ แจ็กสัน กับสายฟ้าที่หายไป) มั้ย ตอนนั้นเพอร์ซีย์ฯ ยังไม่ดังในสหรัฐฯ เท่าไหร่ แต่สำนักพิมพ์รู้มาว่าเป็นหนังสือที่ติด The New York Times Best Seller แล้วก็มีแววว่าจะได้ทำเป็นหนัง แต่แปลเสร็จก็ต้องรอไปอีกห้าปี เพราะสำนักพิมพ์อยากให้หนังเข้าก่อน 

     ตอนนั้นก็ไม่ทราบเลยว่าจะดังขนาดนี้ ผมบอกเลยว่าหนังสือที่จะดังได้ในต่างประเทศกับในไทยมันคนละปัจจัยกันเลย การที่หนังสือแปลสักเล่มจะดังขึ้นมาได้ นอกจากจะเป็นดวงของเล่มนั้นแล้ว มันอยู่ที่เคมีระหว่างนักแปลกับต้นฉบับด้วย นักแปลบางคนจับคู่กับนักเขียนบางคนออกมาแล้วรุ่ง เผลอๆ ผลงานเล่มนั้นอาจจะประสบความสำเร็จในไทยยิ่งกว่าที่ต่างประเทศก็ได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าให้นักแปลคนนั้นไปแปลงานของนักเขียนคนอื่น ต่อให้เป็นแนวเดียวกัน ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่เหมือนกัน เหมือนสำนวนหรือดวงชะตาไม่ต้องกัน

แต่เล่ม เพอร์ซีย์ฯ คนชมเยอะจริงๆ ค่ะว่าแปลสนุกมาก

     ต้องยกความดีความชอบให้คนเขียนเลยครับ ตอนแปลหนังสือทุกเล่มเราทำด้วยมาตรฐานเดียวกัน ต้นฉบับมายังไง เราได้ภาพตอนอ่าน ได้ความรู้สึก หรือได้อารมณ์ยังไง เราก็แปลไปแบบนั้น สิ่งเดียวที่นักแปลจะรับได้ในฐานะคำชมคือแปลออกมาได้อารมณ์เดียวกับต้นฉบับ

เซต เพอร์ซีย์ฯ ถือว่าเป็นผลงานสร้างชื่อเลยมั้ย

     ก็ถือว่าเป็นผลงานที่ทำให้คนรู้จักเลยแหละครับ เพราะดังเกินความคาดหมาย กลายเป็นว่าคนรู้จักชื่อนักแปลขึ้นมาเฉยเลย ถ้ารู้มาก่อนว่าจะดังขนาดนี้ จะไม่ใช้ชื่อ-นามสกุลจริงเป็นนามปากกาแน่นอน (หัวเราะ)

อยากรู้กระบวนการในการเลือกต้นฉบับมาแปลบ้าง

     ทางสำนักพิมพ์จะเป็นคนเลือกหนังสือมาให้ ซึ่งถ้าเขาเลือกให้เราแปลแสดงว่าเขาเห็นว่าเรื่องนี้เหมาะกับเรา 

หลังจากได้รับต้นฉบับมา พี่เหน่งมีแผนการทำงานอย่างไร

     แผนการทำงานแปลของผมค่อนข้างตายตัวครับ เริ่มจากเอาจำนวนหน้าทั้งหมดที่ต้องแปลหารด้วยจำนวนวัน สมมติต้นฉบับเล่มนึงมี 300 หน้า มีเวลาทำ 30 วัน ก็ต้องแปลทุกวัน วันละ 10 หน้า ถ้าคิดว่านี่โหดแล้ว ของจริงโหดกว่า เพราะบางเล่มหนากว่า 300 หน้า แต่สำนักพิมพ์ให้เวลา 30-40 วันเหมือนเดิม เพราะเขามีกำหนดจะออกให้ทันงานหนังสือ

     สำหรับวิธีการทำงาน ผมจะให้สำนักพิมพ์ซีร็อกซ์ต้นฉบับใส่กระดาษมาให้เลย เพราะจะได้มีที่ตั้งให้มันแปลง่ายๆ นั่งแปลงานทั้งวันเราต้องอยู่ในท่าที่สบายที่สุด จะวางกับโต๊ะคอยชะโงกดูไม่ได้ ต้องมีที่ตั้งให้เราแค่หันหน้าอย่างเดียว ขยับตัวให้น้อยที่สุด

ช่วยเล่าขั้นตอนการทำงานให้ฟังหน่อยได้มั้ย

     ก่อนแปลแต่ละครั้ง ผมจะอ่านต้นฉบับล่วงหน้าประมาณสิบหน้า เพราะเวลาอ่านก่อนเราจะมีคำหรือประโยคเหมาะๆ ผุดขึ้นมาในหัว จดโน้ตไว้ก่อน แล้วก็กลับมาแปลเลย ถ้าอ่านไปทั้งเล่มแล้วค่อยมาแปลใหม่คือลืมแน่นอน แต่ถ้าไม่อ่านเลยก็แปลไม่ได้ 

     เอาง่ายๆ อย่างคำว่า grandfather ถ้าเราไม่อ่านล่วงหน้า เราจะไม่รู้ว่านี่คือปู่หรือตา ซึ่งหลายคำมันมีความซับซ้อนกว่านี้ เพราะการแปลมันไม่ใช่ exact science มันเป็นศาสตร์และศิลป์ คำที่เขาเขียนมาไม่ใช่เฉลย หลายอย่างเราต้องดูบริบท ดูฉาก ดูว่าตัวละครทำอะไรกัน ดูว่าการสนทนาจะไปจบตรงไหน เราถึงจะเลือกคำที่ถูกต้องและแปลประโยคเริ่มต้นของบทสนทนานั้นได้ 

ระหว่างทาง ถ้าเจอคำที่ไม่รู้ พี่เหน่งทำยังไง

     เราจะขีดเส้นใต้คำที่ไม่รู้เอาไว้ เพื่อที่เวลาไปนั่งหน้าคอมพ์จะได้ไปรีเสิร์ชต่อ 

     มันจะมีคำที่เราไม่รู้สองแบบ 

     หนึ่งคือคำที่เราไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ก็ต้องเสิร์ชเน็ต เดี๋ยวนี้สบายมีกูเกิลมันดูรูปได้ สมัยก่อนไม่มีกูเกิล สิ่งที่นักแปลมีคือดิกชันนารี ผมใช้อยู่สามเล่ม อังกฤษ-ไทย อังกฤษ-อังกฤษ แล้วก็ต้องมี idiom อังกฤษ-อังกฤษด้วย เพราะ idiom คือ two-word verbs ที่เปิดในดิกฯ ธรรมดาไม่เจอ 

     สองคือคำที่เรารู้ว่ามันคืออะไร แต่ยังเลือกคำที่ดีๆ ไม่ได้ก็ต้องไปเปิดคลังคำ เสิร์ชเน็ตบ้าง หรือดูว่าเคยมีใครแปลคำนี้ว่าอะไรบ้าง

พี่เหน่งมีทำชีตคำไว้มั้ย

     ทำสำหรับทุกเล่มเลยครับ และก็จะโน้ตพวกวิธีการสะกดชื่อตัวละครแยกไว้อีกไฟล์นึงเลย แปลไปเรื่อยๆ บางทีมันเบลอนะ ถ้าเราไม่คอยกลับไปเช็กบ่อยๆ บางทีมีคำที่เราสะกดผิดแบบไม่รู้ตัว ผมบอกเลยว่า เราเชื่อสายตาตัวเองไม่ได้ ผมจะเช็กโดยการใช้เมาส์ไปไฮไลต์คำนั้น ก๊อปปี้ แล้วไปกดค้นหาในไฟล์ชีต เพื่อดูว่าเราสะกดถูกหรือเปล่า 

     นักแปลมือใหม่บางคนอาจคิดว่าสะกดผิดไม่เป็นไร เดี๋ยวมีบรรณาธิการหรือพิสูจน์อักษรตรวจทานให้ แต่สำหรับผมที่ทำงานมานานแล้ว คิดเสมอว่าถ้าเนื้อหาเกิดหลุดไปสู่นักอ่านเลยตั้งแต่ไฟล์เวิร์ดของเรา เราจะไม่อาย แต่มันมีแน่นอนครับ เพราะงานเขียน งานแปลเป็นงานปริมาณ เราต้องทำโดยที่ทวนแล้วทวนอีก ผมมีหลักการในการอ่านทวนสามรอบ คือแปลหมดย่อหน้านึง ปรู๊ฟของย่อหน้านั้น แปลหมดของทั้งวัน ปรู๊ฟอีกรอบ แปลหมดทั้งเล่ม ปรู๊ฟของทั้งเล่มอีกรอบ 

     ปรู๊ฟรอบแรกจะดูความเนียน มีคำซ้ำ ลักลั่น หรือเยิ่นเย้อมั้ย ส่วนรอบที่ 2-3 จะเป็นเรื่องตัวสะกด 

อย่างนี้พี่เหน่งต้องทำงานวันละกี่ชั่วโมง

     ทุกวินาทีที่มีสติสัมปัชชัญญะครับ (หัวเราะ) คือตื่นมาปุ๊บเริ่มจากการแปลก่อนเลยหนึ่งหน้า กินข้าวไปอ่านต้นฉบับไป นึกคำอะไรดีๆ ก็จดเอาไว้ ขึ้นมานั่งแปลต่อ ตอนบ่ายเครียดๆ ออกไปข้างนอกสักแป๊บนึง หยิบต้นฉบับติดมือไปอ่านด้วย กลับมาบ้านก็แปลต่อ 

     ช่วงเวลาเที่ยงคืนถึงตีสองจะเป็นช่วงเวลาที่ได้งานเยอะที่สุด เพราะว่าเราอยากนอนแล้ว ลุยเต็มที่ แปลเสร็จก็นอน ตื่นมาก็ทำแบบนี้ซ้ำๆ จนกว่าจะแปลเสร็จ

     ประเด็นคือ วันแรกๆ มันไหว แต่เดี๋ยวสักพักมันจะมีต้องไปธุระ สำนักพิมพ์นัดคุยงาน เพื่อนเครียดต้องไปปลอบใจ หรือมีนัดที่ยกเลิกไม่ได้ แล้ววันนั้นมันจะได้ไม่ถึง 10 หน้า พอได้ไม่ถึงโควตา สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีสองอย่าง คือหนึ่ง—วันต่อไปทำเยอะขึ้น กับสอง—เราต้องทำนานขึ้น ทำยังไงก็ได้ให้วันนั้นไม่ตกโควตา แต่ผมตกตลอด วันท้ายๆ ผมอัดแปลวันละ 30 หน้า เพื่อที่จะส่งงานให้ทัน 

ถ้าไม่ทันทำยังไง

     ไม่ว่าจะหัวเด็ดตีนขาดยังไงผมจะไม่ส่งงานเลยเดดไลน์สำนักพิมพ์ แต่ถ้ามันต้องมีอะไรสักอย่างเข้ามา เมื่อรู้ว่าเราทำตามเดดไลน์ไม่ได้ ผมก็ต้องรีบคุยกับสำนักพิมพ์เลย นักแปลหลายคนไม่บอกสำนักพิมพ์ คิดว่าเดี๋ยวหลังๆ พลังแฝงตื่นขึ้นมาก็ทำทัน มันไม่ทันหรอกครับ ยิ่งถ้าวันแรกๆ KPI ตก วันหลังๆ ยิ่งตกระนาวเลย 

     แปลหนังสือมา 60 กว่าเล่ม สารภาพว่ามีตกเดดไลน์บ้าง แต่จะสื่อสารกับสำนักพิมพ์ตลอดเวลา ผมจะขอเลื่อนแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันเลื่อนไม่ได้จริงๆ ก็จะพยายามสู้สุดใจให้มันทัน 

สภาพแวดล้อมมีผลต่อการทำงานมั้ย

     มีมากครับ (ตอบทันที) ถ้ามีคนก่อสร้างหรือหมาเห่าคือไม่ได้เลย งานแปลมันเครียดมาก เวลาแปลคือโมโหตลอดเวลา เหมือนเดอะฮัลค์ เมื่อไหร่จะหมดของวันนี้! แล้วมันยังเหลืออีกตั้ง 30 วัน อยากไปเที่ยวก็ไปไม่ได้! (หัวเราะ) 

     อีกประเด็นนึงคือเสียงที่อยากให้มีแต่มีไม่ได้ เคยพยายามจะเปิดเพลงฟังไปด้วยแปลไปด้วย ผลคือเผลอพิมพ์เนื้อเพลงลงไปในงาน ดังนั้น จะให้เสียงทีวีหรือเสียงเพลงอะไรมารบกวนสมองส่วนที่สร้างประโยคของเราไม่ได้เลย ดีที่สุดคือเปิดเพลงบรรเลง แต่เราก็ไม่ได้อยากฟังซิมโฟนีตลอดเวลา 

อะไรคือความยากของงานแปล

     เรื่องแรกคือปริมาณ มันเป็นงานที่เยอะในตัวอยู่แล้ว นึกแค่ว่าต้องเอาหนังสือเล่มนึงไปพิมพ์ใส่เวิร์ดให้ครบทุกตัวอักษร ก็เหนื่อยแล้ว แต่งานแปลยังมีพาร์ตของการพิมพ์ตัวอักษรเป็นอีกภาษา ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าต้องพิมพ์อะไร ต้องคิดก่อน รีเสิร์ชก่อน ความยากข้อสองคือเราต้องเลือกคำที่เหมาะสมให้ได้ และข้อสามคือความกดดัน 

     คนอ่านแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน บางคนก็คิดว่าทำไมเราแปลแบบนี้ เหมือนเขาไม่ถูกใจคำที่เราเลือกใช้ เขาจะมองว่าเราแปลไม่ดี แต่ในจุดของคนแปล เราไม่มีทางแปลให้ถูกใจคนอ่านทุกคนได้

     มีหลักการให้ยึดสองอย่าง หนึ่งคือเราซื่อตรงกับต้นฉบับและหลักการที่เราใช้หรือเปล่า ถ้าเราแปลคำนี้ด้วยการยึดหลักราชบัณฑิตยสถาน ถอดเสียงตาม audio books หรือ phonetics เราก็ต้องยึดหลักการที่เลือกไปตลอดทั้งเล่ม สำหรับวิธีการเลือกก็ขึ้นอยู่กับประเภทศัพท์อีกที เช่น ถ้ารู้ว่าหนังสือที่แปลมีโอกาสจะสร้างเป็นหนังหรือซีรีส์ ผมจะหา audio books มาแล้วถอดเสียงตาม เพราะมันมีสิทธิที่ผู้อ่านจะได้ดูหนังแล้วได้ยินเสียงเขาพูดออกมา 

     หลักที่สองคือ บ.ก.โอเคหรือเปล่า ถ้า บ.ก.โอเคก็คือจบ (หัวเราะ)

เรื่องมุกตลกเฉพาะกลุ่ม มีวิธีการแปลมีการทำให้สอดคล้องกับบริบทไทยมั้ย

     ต้องพยายามอย่างมากเลย อย่าง เพอร์ซีย์ฯ นี่เน้นมุกตลกทุกเล่ม แล้วจะทำมุกฝรั่งให้เป็นมุกไทย 100% ก็ทำไม่ได้ ต้องทำให้เหลือเค้าว่าภาษาอังกฤษมาจากคำว่าอะไร และต้องเป็นมุกที่คนไทยเก็ตได้ด้วย 

     ยกตัวอย่างจาก เพอร์ซีย์ฯ นะครับ มีตัวละครตัวนึงเป็นแซเทอร์ (Satyr) เป็นมนุษย์ครึ่งคนครึ่งแพะ เขามาแฝงตัวในโรงเรียน ทำตัวเป็นครูพละ ในห้องพยาบาลของเขามีโปสเตอร์เขียนว่า ‘Don’t let the cold get your goat’ คำว่า get your goat เป็นสแลงหมายถึงเล่นงาน แล้ว goat ก็คือแพะ เราจะแปลยังไงว่า ‘อย่าให้เป็นหวัดนะ’ แต่เราตัดคำว่าแพะไม่ได้ เพราะตัวละครเป็นแพะ โปสเตอร์มีแพะ ต้นฉบับก็มีแพะ สุดท้ายผมเลยแปลออกมาว่า ‘จะปล่อยให้ตัวเองเป็นหวัดทำแพะอะไร’ 

     อีกทั้งตัวละครอย่างเพอร์ซีย์เป็นโรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia) คือมองคำแล้วตัวอักษรลอยสลับกัน เขาอ่านคำพยากรณ์จาก ‘old god’ กลายเป็น ‘old dog’ ผมเลยแปลคำว่า ‘มหาเทพ’ เป็น ‘หมาเทพ’ ซึ่งกว่าจะคิดได้ก็ใช้เวลานานมาก 

เคยมีเรื่องไหนมั้ยที่เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นเลย แต่ต้องแปลเล่มนั้น

     มีแน่นอนครับ ก็ต้องหาข้อมูล หลักๆ ผมใช้กูเกิลเพราะเร็ว แต่มันหาไม่ได้ทุกอย่าง สุดท้ายต้องหาข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือเอา ตอนแปล เพอร์ซีย์ฯ ผมจะมีหนังสือเกี่ยวกับ mythology อยู่ 2-3 เล่ม ตอนแปล เรือรัตติกาล ก็ต้องไปหอสมุดแห่งชาติ ไปหาหนังสือที่เขียนเรื่องเรือโบราณ เพราะตัวต้นฉบับเขาบรรยายละเอียดมากๆ รีเสิร์ชแบบบ้าพลัง รู้มาว่าลุงจอร์จใช้ชีวิตในห้องสมุดเพื่อเขียนหนังสือเลย ถ้านักเขียนหมกตัวอยู่ในห้องสมุด นักแปลก็ต้องทำอย่างเดียวกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราหาข้อมูลได้ไม่ดีเท่าเขา เราก็ไม่สามารถแปลออกมาให้มันดีได้เท่าต้นฉบับ

งานแปลดีหรือไม่ดีวัดจากตรงไหน

     แปลไม่ดีในสายตานักอ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องรสนิยมความชอบส่วนตัว คนแปลอาจจะแค่เลือกคำไม่ถูกใจเฉยๆ ก็มี แต่ถ้ามองในแง่ของการทำงานแบบมืออาชีพ ถ้า บ.ก.สักคนบอกว่านักแปลแปลไม่ดี มันต้องเป็นจุดที่ผิดจังๆ จากซ้ายเป็นขวา ร้อยเป็นพัน อันนี้คือผิดจริง แก้ตัวไม่ได้ 

นักแปลแต่ละคนมีสำนวนเฉพาะของตัวเองได้มั้ย

     เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงในวงการแปลมานานมากครับ นักแปลรุ่นเก่าๆ บางท่านบอกว่านักแปลต้องไม่มีสำนวน ผมเข้าใจความหมายของเขานะ คือแปลทุกเล่มต้องไม่เหมือนกัน เพราะนักเขียนแต่ละคนมีสำนวน รสชาติ อารมณ์ที่ต่างกัน ถ้านักแปลไปยึดที่สำนวนตัวเอง ก็จะทำให้งานเขียนของเขาเสียแหละ 

     แต่จะบอกว่านักแปลไม่มีสำนวนเลยก็คงไม่ได้หรอก ประโยคเดียวกันให้นักแปล 10 คนมาแปลก็ย่อมไม่เหมือนกัน ตรงนี้เป็นเรื่องก้ำกึ่งระหว่างวิจารณญาณกับประสบการณ์มากกว่า

พี่เหน่งแปลได้กี่ภาษา

     ถนัดแค่ภาษาอังกฤษเลยครับ ส่วนตัวยังไม่เคยเจอนักแปลที่ทำได้หลายภาษานะ เพราะแค่ภาษาเดียวก็ยากมาก มีต้นฉบับให้แปลเยอะไปหมด สมมติว่าเชี่ยวชาญแค่ภาษาอังกฤษหรือญี่ปุ่นภาษาเดียวก็ทำได้ทั้งชีวิตแล้ว

แล้วเคยแปลงานจากไทยเป็นอังกฤษมั้ย

     ส่วนใหญ่เป็นงานบทความครับ แล้วก็เคยแปลหนังสือภาพของ ทรงศีล ทิวสมบุญ (นักเขียนและนักวาดการ์ตูน เจ้าของผลงาน ถั่วงอกและหัวไฟ) เป็นภาษาอังกฤษเพื่อที่เขาจะไปเสนอขายลิขสิทธิ์ให้ต่างประเทศ สนุกนะ เพราะตัวอักษรน้อย แล้วพอเป็นหนังสือภาพก็จะมีพื้นที่ให้เราได้ใช้เวลาไปกับการคิดคำสวยๆ 

     ส่วนตัวผมมองว่าแปลอังกฤษเป็นไทยง่ายกว่า เพราะเราไม่ใช่ english native คิดให้ตายยังไงก็เป็นภาษาอังกฤษแบบที่คนไทยพูด หลายคนเข้าใจว่าเป็นนักแปลต้องเก่งภาษาอังกฤษ จริงๆ ไม่ใช่เลย คนที่ทำงานแปลได้ดีกว่าคนอื่นคือคนที่เก่งภาษาไทย เพราะเขารู้ว่าจะจับภาพที่เกิดขึ้นในหัวเป็นภาษาไทยที่สละสลวยได้ยังไง 

ทุกวันนี้นอกจากหนังสือที่แปล อ่านหนังสืออย่างอื่นด้วยมั้ย

     แทบไม่ค่อยได้อ่านเลยครับ แค่เฉพาะเล่มที่แปลอย่างเดียวก็อ่านเยอะแล้ว สมมติหนังสือเล่มนึงมี 100% เวลานักอ่านอ่าน อาจจะเก็บเนื้อหาจริงๆ ได้สัก 50-60% เพราะมันจะมีช่วงที่เราอ่านเบลอๆ สมาธิหลุด หรือจำไม่ได้ว่าเมื่อกี้อ่านอะไรไป แต่สำหรับนักแปลคือต้องอ่านให้ได้ประมาณ 200% เพราะต้องอ่านให้ละเอียดทุกประโยค ทุกตัวอักษร สงสัยอะไรไม่ได้เลย นักแปลไม่ได้อ่านกว้าง แต่อ่านลึก เวลาแปลเสร็จก็อยากไปนอนดูซีรีส์ทั้งวันทั้งคืน

พอส่งต้นฉบับไปแล้วพี่เหน่งทำอะไรต่อ

     ใจจริงอยากจะเฉลิมฉลองเหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้แล้ว (หัวเราะ) แต่สิ่งแรกที่ผมทำคือออกกำลังกาย ทำงาน 30-40 วันร่างกายไม่ได้ขยับเลย วันแรกที่แปลงานเสร็จคือวิดพื้น ทำสมาธิ นี่คือสิ่งที่เราติดค้างร่างกายไว้ แปลงานได้เงินก็จริง แต่เวลาแปลจบแต่ละเล่ม ออฟฟิศซินโดรม บ่า ไหล่ หลังมาหมด เล่มหลังๆ เริ่มกังวลเพราะเป็นที่สายตาแล้ว คิดว่าอาจจะทำแบบนี้ต่อไปได้อีกไม่กี่เล่ม ที่ผมอยากทำจริงๆ คืออยากสอน อยากเปิดคอร์สการแปล เรามาอยู่ตรงนี้ได้ ขวนขวายก็ส่วนหนึ่ง แต่เป็นเพราะมีคนให้โอกาสด้วย วันหนึ่งที่รู้สึกว่าไปต่อไม่ไหวแล้ว ก็อยากส่งต่อโอกาสให้คนอื่นครับ 

จนถึงปัจจุบัน (มีนาคม 2021) แปลหนังสือมาแล้วกี่เล่ม

     66 เล่มครับ ผมเริ่มแปลประมาณปี 2002 นับถึงวันนี้ก็ 19 ปีแล้ว 

     แต่จริงๆ ผมอยากเป็นนักเขียนมากกว่านะ ตลอดเวลาที่แปลงานก็คิดแต่ว่า ไม่เป็นไร แปลเล่มนี้เสร็จ เราจะได้มีช่องทางติดต่อกับสำนักพิมพ์ แล้วค่อยส่งงานเขียนของเราให้เขาดู มันคือการเดินทางลัดไปสู่สิ่งที่เราต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งผิดพลาดที่ผมทำในชีวิตเลยนะ ถ้ามีคนมาถาม ผมอยากบอกกับทุกคนว่าให้คุณถามตัวเองก่อนว่าอยากเป็นนักแปลหรือนักเขียน ถ้าอยากเป็นนักเขียนมุ่งไปทางนักเขียนเลย อย่าเดินทางลัดแบบผม ผมลัดมาเกือบ 20 ปีแล้ว ไม่ถึงสักที (หัวเราะ) 

แต่พี่เหน่งก็เขียนหนังสือด้วย อยากรู้ว่าทำไมพี่เหน่งถึงตัดสินใจเขียน

     วันหนึ่งผมก็ฉุกคิดว่าถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ มีหวังได้เดินเข้าสู่หลุมศพโดยไม่มีงานเขียนสักเล่มแน่ๆ เลยรวบรวมสิ่งที่เขียนมาทำเป็นอีบุ๊กชื่อ ความรักของนักแปล เป็นหนังสือรวมประสบการณ์การแปล หลักการในการทำงาน เกร็ดต่างๆ มุมมองที่เรามีต่อการแปล ฯลฯ วินาทีที่กดพับลิชออกไป รู้สึกเหมือนส่งวิญญาณสักตัวไปผุดไปเกิด เขาไม่ตามหลอกหลอนเราแล้ว ไม่อย่างนั้นทุกทีที่แปลงานก็จะคิดในใจว่าเราอยากเขียนนี่นา ทำไมต้องมาแปลงานด้วย 

หลังจากเขียนหนังสือของตัวเองไปแล้ว ความรู้สึกเวลาทำงานแปลเปลี่ยนไปแค่ไหน

     ก็บรรเทาเบาบางลงครับ แล้วหลังจากนั้นมีผลงานอีกเล่มตามมาด้วยคือ ความเหงาของนักเขียน เป็นมุมมองในฐานะนักเขียน ผมมองว่านักแปลเป็นซับเซตของนักเขียน เวลาคุยกับคนต่างชาติ บอกว่าเราเป็น translator เขาจะนึกว่าเราเป็นล่าม ต้องบอกว่าเราเป็น writer แต่ผลงานล่าสุดคือเพิ่งแปลหนังสือของลุงจอร์จจบ เขาก็จะเข้าใจว่าเราเป็นนักเขียนที่แปลหนังสือ 

     ผมมองว่าตัวเองเป็นนักเขียนนะ เพราะผมไม่เคยเลิกเขียนเลย อย่างน้อยที่สุดคือบันทึกประจำวัน ผมเขียนด้วยมือตลอดทุกวันมาตั้งแต่ ม.5 เวลาไปไหนก็จะพกสมุดเล่มเล็กๆ ไปด้วย เอาไว้จดเวลาเจอสิ่งที่อิมแพคต่อเราทั้งด้านความคิดและความรู้สึก หลายครั้งเวลากลับไปอ่าน ไม่รู้เลยว่าเขียนออกมาได้ยังไง เราคิดสำนวนแบบนี้ออกมาได้ด้วยเหรอ

ช่วงโควิด-19 กระทบกับอาชีพบ้างหรือเปล่า

     ไม่เลยครับ แทบไม่รู้สึกว่ามีอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะเวลาแปลงานก็แปลอยู่บ้านเฉยๆ เคยพยายามจะไปทำริมทะเลเหมือนกัน เพราะงานแปลใช้แค่แล็ปท็อป เราควรจะไปทำงานในที่ที่เรามีความสุขได้ แต่ประเด็นคือมันไม่ได้งานน่ะสิครับ (หัวเราะ) ถ้าจะทำเป็นอาชีพและมีอาชีพเดียว แปลให้เร็วที่สุดดีกว่า สมมติว่าแปลงานเล่มนึงได้ 100,000 บาท แปลหนึ่งเดือนได้ 100,000 แปลสองเดือนเหลือเดือนละ 50,000 แปล 3 เดือนตกเดือนละ 33,000 มันจะทอนลงเรื่อยๆ ยิ่งแปลจบเร็ว รับเงินเร็ว ก็รับงานเรื่องอื่นได้ 

     จริงๆ ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงทำเงินด้วยนะ เพราะมีประชุมออนไลน์ใดๆ ก็จะมีคนส่งบทความมาให้แปล ถ้าอยากทำงานแปลให้ได้เงินเยอะจริงๆ แนะนำให้ไปเป็นนักแปลบทความหรือนักแปลซับไตเติลดีกว่า เพราะโปรเจกต์จบเร็ว ได้เงินเร็ว ไม่เครียดระยะยาว 

ถ้าอยากเป็นนักแปลต้องทำยังไง

     ถ้าอยากเป็นนักแปลหนังสือ ลองหาเรื่องสั้นหรือนิยายมาแปลเลย ถ้าอยากแปลซับไตเติล ก็ไปหาหนังหรือซีรีส์มาแปล ข้อดีของยุคนี้คืออะไรๆ ก็ทำเองได้ การแปลงานเก็บไว้ทำให้ได้ทั้งประสบการณ์และพอร์ตฯ พอถึงจุดนึงก็ลองไปติดต่อสำนักพิมพ์ 

     ปัจจัยที่สำคัญในการประสบสำเร็จด้านการงานมีสองอย่าง คือมีความสามารถกับมีโอกาส ซึ่งความสามารถเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ แต่โอกาสไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือเตรียมความสามารถเอาไว้ เพื่อที่วันนึงโอกาสเข้ามา เราจะได้จับไม่ให้มันหลุดมือไป ถ้าเราไม่พัฒนาทักษะ เกิดวันนึงมีโอกาสใหญ่เข้ามา แล้วเราพลาดเพราะความสามารถไม่ถึง มันน่าเสียดายนะ 

ในการฝึกฝนเพื่อจะเป็นนักแปลที่ดี พี่เหน่งมีคำแนะนำยังไงบ้าง 

     วิธีฝึกที่ดีคือการเขียนบันทึกประจำวัน คนที่เขียนหรือแปลได้ดี คือคนที่เชี่ยวชาญภาษาไทย มีช่วงต้นและจบประโยคที่ชัดเจน อ่านแล้วเห็นภาพ การที่จะทำแบบนี้ได้ก็ต้องเขียนบ่อยๆ บางคนอาจจะนึกไม่ออกว่าเขียนอะไร ให้นึกเอาไว้สามอย่าง อย่างแรกคือเรื่องราวอะไรก็ได้ที่ส่งผลกระทบต่อเราในวันนั้น สองคือคิดยังไงกับเรื่องนั้น และสามคือรู้สึกยังไงกับเรื่องนั้น คิดกับรู้สึกไม่เหมือนกันนะ ลองเขียนแล้วแยกมันดู จับความรู้สึกตัวเองออกมาให้ได้ เวลาเขียนไปเรื่อยๆ เป็นการฝึกให้เราฟอร์มประโยคที่สละสลวย ชัดเจน ลื่นไหล และช่วยเพิ่มคลังคำในหัว พอเริ่มเห็นแพตเทิร์นการเขียนของเราแล้ว ก็ลองไปเขียนแนวอื่นบ้าง บางทีอ่านอะไรที่ชอบมาก อาจจะลองเอาสำนวนแบบเขามาใส่ในบันทึกประจำวันบ้าง 

     ดูซีรีส์หรือหนังที่ชอบซ้ำบ่อยๆ จนจำเนื้อเรื่องและคำพูดตัวละครได้แล้วก็ลองเปิดซับฯ อังกฤษดู มันจะช่วยทำให้เรารู้ว่าเวลาฝรั่งพูดประโยคนั้นความหมายที่เขาจะสื่อคืออะไร วิธีนี้จะช่วยให้เราฉีกออกจากการแปล word by word ได้ 

คำถามสุดท้าย เราจะเชื่อใจคนแปลได้จริงๆ มั้ย

     เชื่อใจในความตั้งใจของเขาได้ แต่อาจเชื่อใจในผลลัพธ์ไม่ได้ อย่างผมก็ตั้งใจแปลให้ตรงตามต้นฉบับ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันทำได้ไม่เต็มร้อยหรอก มันแปลไม่ได้จริงๆ มันคนละชาติกัน ยังไงก็ไม่เหมือน แต่ว่าตลอดเวลาที่ทำงานแปลมา ส่วนใหญ่นักอ่านจะบอกว่าแปลได้ค่อนข้างอารมณ์เดียวกับต้นฉบับนะ ผมถือว่าโอเคแล้ว 

ถ้าเล่มนี้คนชมว่าแปลสนุก

     เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้นักเขียนครับ 

แล้วถ้าเขาบอกว่าแปลไม่สนุกล่ะ

     ก็ขอบคุณนะครับที่อ่าน (หัวเราะ)