Thu 24 Sep 2020

HORROR = SEXY

ค้นหาที่มาที่ไป และแรงบันดาลใจที่ทำให้ Untitled Case เป็นรายการพ็อดแคสต์ที่ทำให้เรื่องลึกลับกลายเป็นเรื่องเซ็กซี่สำหรับผู้ฟัง

     ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจในการฟังพ็อดแคสต์ โดยเฉพาะรายการจากเหล่าผู้ผลิตสัญชาติไทย คุณอาจเคยผ่านตา Untitled Case กันมาบ้าง

     แต่ถ้าคุณไม่เคยฟัง ผมขออนุญาตนำถ้อยคำเปิดรายการของพวกเขามาบรรจุไว้ในย่อหน้าถัดไป

     “ทฤษฎีสมคบคิด เรื่องลึกลับ สัตว์ประหลาด ฆาตกรรม ความลี้ลับที่หาสาเหตุไม่ได้ เรื่องเล่าจากเคสจริงที่น่ากลัวกว่าฟิกชั่น สวัสดีครับ ผมยชญ์ บรรพพงศ์ ผมธัญวัฒน์ อิพภูดม นี่คือรายการ Untitled Case”

     หากคุณยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่ารายการนี้เกี่ยวกับอะไร ผมขออธิบายต่อเล็กน้อยว่า Untitled Case เป็นรายการที่หยิบเอาเรื่องลึกลับมาผลัดกันเล่าตามธีมของแต่ละตอน บ้างก็เป็นเรื่องของฆาตกรต่อเนื่อง บ้างก็เป็นเรื่องของลัทธิ บ้างก็เป็นเรื่องของสัตว์หรือตัวประหลาด ทั้งหมดทั้งมวลถูกนำมาเล่าผ่านโฮสต์รายการสองคน—ยชญ์ บรรพพงศ์ และธัญวัฒน์ อิพภูดม 

     Untitled Case กระจายเสียงอย่างเป็นทางการผ่านช่องทางต่างๆ ของ Salmon Podcast ราวกลางเดือน 2019 ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีดี พวกเขาพาตัวเองเข้าสู่ Top 10 ของพ็อดแคสต์ยอดนิยม จนตอนที่เขียนบทความอยู่นี้ พวกเขามีกลุ่มผู้ติดตามที่คอยให้กำลังใจอย่างอบอุ่นราว 3,000 คน 

     นอกจากนี้ ยชญ์กับธัญยังนำความหลงใหลในเรื่องลึกลับของตัวเองมาแปลงเป็นเรื่องเล่าในรูปแบบของตัวอักษร ผลัดกันเล่าผลัดกันเขียนจนได้ Untitled Case: Human Horror ชมรมคนหัวลุก หนังสือที่รวมเรื่องราวของมนุษย์ที่มีพฤติกรรมแปลกๆ ออกวางจำหน่ายไปในช่วงกลางเดือนกันยายน

     พูดได้ว่าในเวลาขวบปี ชายหนุ่มสองคนนำความชอบในเรื่องลึกลับของตัวเองมาเผยแพร่สู่ผู้คนรวมๆ กันแล้วหกสิบกว่าเรื่อง—นับรวมทั้งวิธีการพูดและวิธีการเขียน

     ผมจึงสนใจใคร่รู้ ไม่ต่างจากที่พวกเขาสนใจใคร่รู้ ว่าเหตุฆาตกรรมหรือเรื่องลึกลับบางอย่างเกิดขึ้นได้ยังไง ผมเองก็สงสัยว่ายชญ์กับธัญเสพและย่อยเรื่องเหล่านี้ด้วยวิธีไหน แล้วอะไรดลใจให้พวกเขาชอบเรื่องที่ไม่มีคำตอบพวกนี้เหลือเกิน

ฟัง

    ไม่ใช่ อกาธา คริสตี้ และไม่ใช่ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่เป็นผู้ชักพาให้ยชญ์-ธัญหลงใหลในวงกตของการสืบสวน แต่เป็นยอดนักสืบจากญี่ปุ่นอย่าง เอโดงาว่า โคนัน และ คินดะอิจิ ฮาจิเมะ ที่เป็นผู้จูงมือพวกเขาเข้าสู่โลกสุดพิศวง

     ยชญ์: “พี่ชายผมชอบอ่าน ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน พอพี่ซื้อ ผมก็อ่านตาม แล้วตอนนั้นมันมีเรื่องอื่นๆ ที่ก็สนุกเหมือนกันอย่าง โรงเรียนนักสืบ Q, คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา พวกนี้จะเป็นการ์ตูนที่ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่า เรื่องลึกลับ สืบสวนสอบสวน มันเซ็กซี่ดี”

    ครับ ยชญ์-ธัญชอบให้คำจำกัดความเหตุฆาตกรรม หรือสารพัดเรื่องที่เล่าใน Untitled Case ด้วยคำว่า เซ็กซี่

     ธัญ: “เราก็อ่านการ์ตูนแบบเดียวกับยชญ์ แต่พอโตขึ้นมาหน่อย เราก็ไปอ่าน คินดะอิจิ ยอดนักสืบ ซึ่งเป็นนิยายที่ดูจริงจังขึ้น แล้วเขาเขียนหลายเล่มมากๆ เราก็ตามอ่านทุกเล่มเลย สนุกดี คือพวกนิยายแนวฆาตกรรมสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นจะหักมุมเก่ง มีวิธีการฆ่า หรือความตายที่ดูบิดเบี้ยวประมาณหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น จัดแสดงศพยังไงให้มันดูน่ากลัว แล้วพอโตขึ้น เราก็ค่อยรู้ตัวว่าชอบหนังแนวสยองขวัญ แต่ว่าเป็นคนที่ใจไม่ค่อยดี”

     ยชญ์: “หมายถึงจิตใจไม่ค่อยสะอาดเหรอ”

     ธัญ: “ใช่ ไม่ค่อยสะอาด (หัวเราะ) ไม่ใช่เว้ย!”

    ครับ และสองคนนี้ก็ชอบยิงมุกใส่กันตลอดเวลาด้วย

     ธัญ: “เรากลัวพวกหนังที่มีฉาก Jump Scare (ฉากในหนังสยองขวัญที่มักถูกตัดต่อมาเพื่อให้คนดูตกใจ หรือที่คอหนังมักเรียกกันง่ายๆ ว่าฉากตุ้งแช่) เลยเลี่ยงๆ ไปชอบหนังแนวฆาตกรรมที่เลือดเยอะๆ หรือนำเสนอแบบนิ่งๆ แทน

     “จุดเปลี่ยนของเราคือช่วงเรียนรัฐศาสตร์ เราชอบดูหนังอยู่แล้วก็เลยไปตามดูว่าพวกเด็กเรียนภาพยนตร์เขาจะดูอะไรกัน แล้วก็มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งบอกว่า ถ้าชอบหนังญี่ปุ่น มึงต้องดูหนังของผู้กำกับ 3-4 คนนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ คิโยชิ คุโรซาวา ที่เคยกำกับเรื่อง Cure กับ Kairo การดูหนังของเขาทำให้เห็นเลยว่าหนังผีไม่ต้องมีตุ้งแช่ก็ได้ ผีมาเงียบๆ ค่อยๆ เดินก็ได้ เราเสพติดหนังแนวนี้มาตลอด จนถึงช่วงอัดพ็อดแคสต์นั่นแหละที่รู้สึกตัวว่า เราชอบอะไรแบบนี้มานานแล้ว”

     ยชญ์: “ของผมมีเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย คือตอนมหา’ลัย ผมเรียนทางด้านกราฟิกดีไซน์ ซึ่งมันไม่ต้องมานั่งพินิจพิเคราะห์การคิดงานอะไรขนาดนั้น เหมือนคิดอะไรได้ปุ๊บ ผมก็แค่ลงมือทำไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นผมก็ต้องการอะไรบางอย่างที่มันคลอไประหว่างทำงาน ก็เลยเลือกฟัง The Ghost Radio กับ The Shock คืออาจจะเป็นเรื่องลี้ลับคนละแบบ แต่ก็สนุก ทำให้หัวใจหรือร่างกายเราระทึกขึ้นมาได้เหมือนกัน ผมมั่นใจมากว่าตอนปี 2017-2018 ผมฟังทุกคลิปเลย พูดเรื่องไหนมาผมอ๋อหมดเลยนะ”

     CONT.: “เคยโทรไปมั้ย”

     ยชญ์: “ไม่เคย ผมไม่เคยเจอผี ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องผีด้วย แต่ว่าชอบฟัง”

     CONT.: “ความสนุกของเรื่องทำนองนี้อยู่ตรงไหน”

     ยชญ์: “สำหรับผมมันคือมู้ดแอนด์โทน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ พ็อดแคสต์ หนัง ถ้ามู้ดแอนด์โทนแข็งแรง เวลาเราดู-อ่าน-ฟังก็จะสนุกมาก”

     ธัญ: “ของเราคือวิธีการเล่า บางเรื่องคนชอบมากเลยนะ แต่เราดูไปแค่ประมาณ 10-20 วิฯ ก็ไม่ดูต่อแล้ว เพราะมันไม่ดึงดูดเรา กลับกันถ้าเป็นซีรีส์แบบ Mindhunter ที่พูดถึงการศึกษาเหตุฆาตกรรมและตัวฆาตกร ต่อให้ซีรีส์จะนิ่งขนาดไหน แต่วิธีการเล่าทำให้เราอยากดูต่อ”

     CONT.: “เพราะมันเซ็กซี่?”

    ครับ อย่างที่บอกไปว่าพวกเขาชอบใช้คำว่าเซ็กซี่ มาดูกันว่าความเซ็กซี่ในบริบทนี้คืออะไร

     ธัญ: “เวลาเรามองอะไรบางอย่างเซ็กซี่ ไม่ได้หมายความว่าเรารู้สึกอะไรอย่างนั้นกับมันนะ แต่มันคือความรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างในเรื่องนี้ที่น่าค้นหา มีอะไรบางอย่างในเรื่องนี้ที่อยู่ลึกลงไปมากกว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้า ความเซ็กซี่ในเรื่องลึกลับสำหรับเรา เลยหมายถึงว่าเรื่องนั้นน่าสนใจและน่าดึงดูด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพวกความซับซ้อนในใจคนจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดเราได้บ่อยมาก”

     ยชญ์: “แต่ความเซ็กซี่ของผมกับพี่ธัญก็ไม่เหมือนกันนะ คือความซับซ้อนในจิตใจก็เป็นหนึ่งในความเซ็กซี่ที่ผมรู้สึกว่ามันน่าดึงดูด เพียงแต่ถ้าลงรายละเอียดกันจริงๆ ผมจะชอบเรื่องราวที่มีวิทยาศาสตร์ มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างพี่ธัญจะชอบอะไรที่มันลึกลับซับซ้อน ลึกเข้าไปในจิตใจคน ความดำเมี่ยม โหดเหี้ยม เลือดๆ”

     ธัญ: “ความดึงดูดของคนเรามันไม่เหมือนกัน อย่างยชญ์อาจจะรู้สึกว่าเรื่องเวียร์ดๆ น่าดึงดูดมาก แต่อย่างเราคือพวกลัทธิจะดึงดูดมากๆ เลย เช่น องค์กรนี้อยู่เบื้องหลังโลกหรือเปล่า ทำไมลัทธินี้ถึงทำให้คนเปลี่ยนตัวเองได้ เราชอบอะไรแบบนี้ มันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก”

พูด

     ยชญ์กับธัญทำงานที่เดียวกัน แต่คนละแผนก

     ยชญ์เป็นก๊อปปี้ไรเตอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประจำเอเจนซี่ Salmon. LAB ส่วนธัญเป็น Strategic Content Editor ประจำสำนักข่าว The MATTER

     ย้อนกลับไปเมื่อ Salmon Podcast กำลังตั้งไข่ ยชญ์เป็นหนึ่งในผู้คนที่ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียว่าอยากให้พ็อดแคสต์สถานีนี้มีรายการอะไรบ้าง

     เรื่องลึกลับ ทฤษฎีสมคบคิด คือสิ่งที่ยชญ์บอกกลางที่ประชุม

     ทีมงานตบโต๊ะดังปึง บอกให้ยชญ์ไปลองลิสต์ประเด็นมา

     ยชญ์เข้าใจว่าเขาจะได้เป็นเพียงแค่คนเขียนสคริปต์ และหาเรื่องมาให้พิธีกรดำเนินรายการเล่า ส่วนทีมงานเข้าใจว่าให้ยชญ์นี่แหละเป็นหนึ่งในพิธีกรดำเนินรายการ เมื่อรู้ตัว ยชญ์จึงไม่พาตัวเองไปผจญภัยเพียงลำพัง เขาเดินไปหาธัญที่ทำงานอยู่ห้องฝั่งตรงข้าม ชวนมาจัดรายการร่วมกัน เพราะรู้ว่าธัญเป็นหนึ่งในคนที่ชอบเรื่องราวของสัตว์ประหลาด ฆาตกรรม

     วิธีการทำงานของยชญ์-ธัญ คือให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนเซ็ตธีมประจำตอน จากนั้นแยกย้ายกันไปหาข้อมูล แล้วค่อยมาเล่าสู่กันฟังตอนที่อัดเสียง หรือพูดได้ว่า ไม่มีการบอกกันก่อนว่าใครจะเลือกเรื่องไหน (แต่เพื่อความชัวร์ ทั้งคู่ก็จะส่งเรื่องไปให้โปรดิวเซอร์ดูก่อน จะได้ไม่ซ้ำกัน)

     แน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้เสียงในการประกอบอาชีพเป็นหลัก พอต้องมาจัดพ็อดแคสต์ การหาเสียงของตัวเองให้เจอก็เป็นเรื่องยาก แต่ด้วยความคิดว่าอยากเล่าให้สนุก และคัดจากเรื่องที่ตัวเองสนใจ ทำให้การปรับจูนไม่ใช่เรื่องยากเท่าไร สิ่งที่ยากคือการจะเล่าเรื่องด้วยแนวคิดแบบไหนมากกว่า

     ธัญ: “Untitled Case คือการเอาเรื่องที่มีอยู่แล้วมาเรียบเรียงใหม่ แต่เราจะไม่เล่าแค่ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างแล้วก็จบ หรือเรื่องประมาณว่าเกลียดคนนี้แล้วไปฆ่า จะไม่หยิบมาเล่า เรื่องที่เราจะเล่ามันต้องมีอะไรมากกว่านั้น ต้องมีอิมแพกต์สักอย่างกับสังคม น่ากลัวอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องชวนผู้ฟังคิดอีกหน่อย เราเลยจะไม่อ่านแค่พฤติกรรมของเขา แต่จะพยายามขุดคุ้ยเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปด้วย

     “เราคิดว่านี่เป็นอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่นนะ อย่างพวกการ์ตูนต่อสู้กัน ช่วงก่อนที่พวกพระเอกจะฆ่าปีศาจ จะชอบมีการแฟลชแบ็กว่าปีศาจพวกนี้โตมายังไง ทำไมถึงกลายเป็นแบบนี้ไปได้ เลยทำให้เรารู้สึกว่าเวลาจะตัดสินว่าคนไหนดีหรือเลว เราต้องดูแบ็กกราวนด์ของเขาด้วย

     “อีกอย่างคือเราเรียนรัฐศาสตร์ ด้วยวิชาที่เรียนก็จะมีการชวนให้เรามองว่ามีอะไรรายล้อมสิ่งที่เป็นประเด็นสังคมอยู่บ้าง สมมติเราทำสิ่งหนึ่งไป สิ่งสิ่งนั้นถูกกำกับด้วยวัฒนธรรมหรือโครงสร้างทางสังคมยังไงบ้าง เพราะฉะนั้นเวลาจะตัดสินว่าคนนั้นทำผิด เราจะพูดแค่ว่าเขาทำผิดไม่ได้ เราต้องมาดูว่าวัฒนธรรมเกี่ยวข้องมั้ย สังคมเกี่ยวข้องมั้ย คือตัวแปรเต็มไปหมดเลย เราเลยคุยกับยชญ์ว่าจะเล่าเรื่องแค่มุมเดียวจบไม่ได้ เพราะนั่นจะไม่ต่างอะไรกับการนำเรื่องน่ากลัวมาขายแล้วก็ทิ้งคนฟัง มันดูไม่ค่อยรับผิดชอบเขาเท่าไร แล้วเราก็รู้สึกผิดกับตัวเองด้วยว่า เฮ้ย มึงมาขายเรื่องน่ากลัวแล้วก็จากไป มึงไม่ได้ช่วยให้คนคิดอะไรต่อเลยเหรอวะ

     “เราเลยจะไม่ตัดสินว่าคนคนนั้นดีหรือเลว เราไม่มีทางรู้ว่าเขาดีหรือไม่ดี เพราะเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ ไปหาข้อมูล ดูว่ามันพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ว่ายังไงบ้าง แล้วก็รวบรวมข้อมูลมาให้ผู้ฟัง จากนั้นก็ให้เขาไปตัดสินเอาเอง”

     ยชญ์: “เราตั้งต้นว่าจะเล่าเรื่องจริง เพราะงั้นสิ่งที่ต้องทำให้ได้อย่างแรกก็คือเล่าเรื่องจริง ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าจริงแท้แค่ไหน แต่เราก็พยายามทำให้มันจริงที่สุด เพราะงั้น source ที่เอามาเล่าก็สำคัญมากๆ ก็เปิดอ่านเยอะๆ เลย ทั้ง The Guardian, The Atlantic, The New Yorker แล้วค่อยมานั่งเช็กว่าแต่ละที่เล่าแตกต่างกันแค่ไหน เราจะเชื่ออันไหนดี ถ้าสมมติว่าสุดท้ายแล้วก็ยังไม่ชัวร์ เราก็แค่อ้างอิงว่าเอาข้อมูลมาจากไหน ทำยังไงก็ได้ให้โปร่งใสที่สุด ทำให้เขารู้ว่าเราไม่ได้เติมแต่งเรื่องเอง”

     ธัญ: “มันจะมีพวกเว็บไซต์ที่ชื่อแปลกๆ สมมติเช่น veryhorror.com คือเห็นชื่อก็รู้เลยว่าเฟคนิวส์แน่ๆ แต่ว่าในเรื่องนั้นก็จะมีอะไรบางอย่าง มันมีชื่อฆาตกร มีชื่อของเหตุการณ์อยู่ เราก็เอาชื่อนี้ไปเสิร์ชแล้วก็ดูต่อว่าพวกสำนักข่าวที่เป็นทางการพูดถึงเรื่องพวกนี้ด้วยหรือเปล่า หรือพวกหนังสือพิมพ์ในอดีตรายงานเรื่องนี้มั้ย ถ้าเสิร์ชเจอก็จะเอามาเล่า เพราะมันมีอ้างอิงชัดเจน เราตั้งโจทย์ให้กับตัวเองว่าจะไม่เอาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือไม่ได้มาเล่า ไม่งั้นมันเหมือนเอาเรื่องมาหลอกคนดู ไม่แฟร์กับคนฟังเท่าไร”

     ยชญ์: “พี่ธัญเคยพูดว่า เราเล่าเรื่องน่ากลัว แต่ก็ต้องรับผิดชอบเรื่องที่เราเล่าด้วย การรับผิดชอบที่ดีที่สุดคือ ต้องทำให้คนไม่เห็นความข้างเดียว ให้คนเห็นว่าภายใต้การนองเลือด มันมีอะไรอยู่เบื้องหลัง มีอะไรที่ทับซ้อนอยู่ เราต้องทำให้คนเข้าใจเหตุการณ์นี้มากขึ้น เลยคิดว่าถ้าจะเล่าก็ต้องเล่าให้ได้หลายมุมมากที่สุด พยายามที่จะเข้าใจให้ได้มากที่สุด”

     CONT.: “แล้วกับเรื่องที่ก้ำกึ่งว่าจะจริงหรือแต่งอย่างทฤษฎีสมคบคิดล่ะ มีหลักการยังไง”

     ธัญ: “มู้ดแอนด์โทนในการพูดเป็นเรื่องสำคัญ สมมติถ้าเราบอกว่า (ประโยคถัดจากนี้ ขอให้คุณผู้อ่านอ่านด้วยน้ำเสียงจริงจัง) ทฤษฎีนี้มีมนุษย์ต่างดาวมาลักพาตัวคนไป คนก็จะคิดว่าเราพูดเรื่องจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเราเล่าว่า (ประโยคถัดจากนี้ ขอให้คุณผู้อ่านอ่านด้วยน้ำเสียงทีเล่น) เฮ้ย ยชญ์ แม่งมีทฤษฎีหนึ่ง น่าสนใจมากเลยเว้ย”

     ยชญ์: “แล้วผมก็จะเดาออกว่าถ้าพี่ธัญจั่วหัวมาอย่างนี้ มึงเล่นแล้วล่ะพี่ (หัวเราะ) มึงไม่จริงจังแล้วล่ะ ก็จะขำขันกันไป”

     ธัญ: “ด้วยความที่จัดกันสองคน อีกคนเลยต้องรู้ว่ามู้ดแอนด์โทนของอีกฝั่งเป็นยังไง ถ้าพูดแบบนี้ก็ต้องรู้แล้วว่าเอามู้ดแอนด์โทนลงมาหน่อย ไม่จริงจัง กำลังสนุกๆ อยู่นะ

     “แต่เราก็จะย้ำเสมอว่า ต่อให้พูดถึงทฤษฎีสมคบคิด แต่เราไม่ได้ชักจูงให้คนเชื่อสิ่งเหล่านี้นะ ไม่ได้ชักจูงว่ามีมนุษย์กิ้งก่าจริงๆ มีมอธแมนจริงๆ นะเว้ย เราแค่จะบอกว่ามันมีสิ่งเหล่านี้ เพราะบางคนไม่เชื่อในความจริงที่เป็นกระแสหลัก เขาเลยไปเชื่อในความจริงกระแสรอง ซึ่งก็สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง เช่น คนเขาปฏิเสธความจริงหรือเปล่า คนเขาไม่ยอมรับความจริงเพราะว่าอะไร”

     CONT.: “รวมถึงเรื่องผีด้วยมั้ย”

     ธัญ: “เราคิดว่าผีมันตอบโจทย์อะไรบางอย่างที่ในสังคมให้ไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นความแฟนตาซีก็ได้นะ เวลาคนเราต้องการพักผ่อน ก็อาจอยากได้อะไรที่แฟนตาซี แล้วผีมันก็หลุดพ้นจากเหตุผลข้อจำกัดต่างๆ เช่น ทะลุบ้านได้ แช่งคนได้ หลอกคนได้ ซึ่งเราไม่ได้มองว่าผีคือเรื่องงมงายนะ ส่วนหนึ่งอาจจะถือว่างมงายก็ได้ แต่เราคิดว่าในสังคมที่ค่อนข้างหดหู่ ผู้คนจะต้องการเรื่องทำนองนี้เยอะ เพราะความแฟนตาซีมันจะมาเติมเต็มเราได้”

     CONT.: “เรื่องของลัทธิล่ะ”

     ธัญ: “ลัทธิถือเป็นเรื่องที่มีความเซ็กซี่ นั่นก็คือทำไมคนถึงเชื่อลัทธิพวกนี้ ถ้ามองจากปัจจุบัน เราก็จะเห็นปลายทาง อย่างลัทธิโอมชินริเกียว ก็จะเห็นว่ามีการเอาแก๊สซารินไปปล่อยในรถไฟใต้ดินจนคนตายเยอะมาก หรือโจนส์ทาวน์ที่พาคนไปตั้งเมืองใหม่ในต่างประเทศ แล้วบอกให้คนฆ่าตัวตาย ซึ่งคนก็ฆ่าตัวตาย

     “ถ้ามองแค่ปลายทางก็อาจรู้สึกว่าคนพวกนี้เชื่อง่ายดีนะ แต่หน้าที่ของเราคือต้องไปดูระหว่างทางว่าทำไมคนถึงยอมเชื่อลัทธิพวกนี้ได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องงมงาย มันมีเรื่องทางสังคม เรื่องของสภาพเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวมั้ย เพราะลัทธิสามารถโน้มน้าวผู้คนได้หลายอย่าง ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะเขาไม่พอใจกับสังคม ไม่พอใจกับรายได้ เงินเดือน เศรษฐกิจ สิ่งนี้จึงเหมือนเป็นปัญหา ถ้าเราหยิบมาพูด ก็จะเน้นประเด็นว่าในใจคนเรามันมีความอ่อนแออยู่ แล้วคนในลัทธิพวกนี้ก็ชักจูงใจคนได้เก่งมาก เวลาหยิบมาพูด เราก็จะ take it serious ประมาณหนึ่ง

     ยชญ์: “สิ่งที่ต้องนึกถึงอีกอย่างคือ เราอยู่คนละยุคกับลัทธิ เราต้องคิดว่าตัวเองอยู่ในบริบทสภาพแวดล้อมของไทม์ไลน์นั้นด้วย เราถึงจะเข้าใจคนที่เชื่อในลัทธินั้นๆ

     “อีกอย่างคือ ผมก็จะเชื่อไปเลยว่าคนเหล่านั้นเขาเชื่อจริงๆ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่มีหน้าที่ไปตัดสินความเชื่อของเขา เราจะไปบอกว่าความเชื่อของเขามันไร้สาระไม่ได้ เว้นเสียแต่ถ้าปลายทางมีการนองเลือดเกิดขึ้น เราก็ค่อยหยิบเรื่องนั้นมาถกกันต่อ”

     ธัญ: “สิ่งที่พยายามทำเวลาพูดเรื่องลัทธิหรือความเชื่อในสมัยใหม่ คือการคิดว่าลัทธิไม่ได้เท่ากับเลวร้ายเสมอไป ยิ่งคนยุคใหม่มีลัทธิน่ารักๆ เช่น เบคอน หรือลัทธิที่เชื่อว่าโพนี่เทลจะมาปลดแอกให้ทุกคนในโลกใบนี้มีความสุข หรือแม้แต่เรื่องที่แมสๆ อย่างแม่มดเองก็ตาม เรากับยชญ์พยายามเสนอตลอดว่าแม่มดทุกวันนี้ไม่เหมือนภาพจำในอดีตที่น่ากลัว เป็นยายแก่ๆ เอาเด็กไปต้มในหม้อกินแล้ว แม่มดในยุคสมัยนี้เป็นสิ่งที่เยียวยาคนได้ แถมยังดูเป็นการรวมตัวของคนที่ต้องการคอนเนกชั่นบางอย่างที่ในสังคมไม่มีให้ พวกเขาเลยมารวมตัวกัน เป็นแม่มดที่มาร้องเพลงด้วยกัน พูดคุยกัน หรือว่าแลกเปลี่ยนปัญหาจิตใจกัน อย่างยชญ์เองก็เคยเล่าเรื่องแม่มด 4.0 ที่ทำเรื่องวิธีส่งพลังใจให้กัน เราก็คิดว่าเออว่ะ อันนี้แหละ เป็นสิ่งหนึ่งที่เราพยายามจะทำผ่าน Untitled Case คือทำให้เห็นว่าลัทธิหรือเรื่องเล่าต่างๆ มันมีหลายเฉด”

อ่าน

     จากที่ตอนแรก Untitled Case ถูกวางเอาไว้ว่าจะปล่อยสี่ตอนต่อเดือน ในเวลาไม่นานก็ถูกปรับเป็นหกตอนต่อเดือน

     ข้อดีก็คือ ผู้ฟังได้สนุกรูหูกับเรื่องเล่าลึกลับกันมากขึ้น

     ข้อเสียก็คือ ยชญ์กับธัญต้องไปหาเรื่องมาเล่ากันมากกว่าเดิม

     และนั่นเป็นเหตุให้บางครั้ง อารมณ์ของพวกเขาต้องสั่นคลอน

     ธัญ: “เมื่อก่อนเวลาเสพเรื่องเหล่านี้มันคือเพื่อความบันเทิง เสพเพื่อความสนุก มีเวลาว่างก็จะดูหนังดูซีรีส์แนวนี้ แต่พอต้องมาเป็นคนเล่าเรื่องเอง เราเสพเพื่อความบันเทิงไม่ได้แล้ว ต้องมาคิดต่อว่าจะเอาไปเล่ายังไงดี จะทำให้ผู้ฟังคิดยังไงต่อได้บ้าง บางครั้งเลยทำให้เราจิตตกไปเลย

     ถ้าคุณเคยฟัง Untitled Case ก็จะคุ้นชินกับวัฒนธรรมการให้กะโหลก อันมีความหมายว่าเรื่องเล่านั้นน่ากลัวหรือเปล่า ยิ่งกะโหลกมากเท่าไรยิ่งแปลว่าต้องเตรียมใจให้พร้อม

     สำหรับเรื่องราวในย่อหน้าถัดไปนี้ ยชญ์กับธัญบอกว่าให้คนละหนึ่งกะโหลก และผมก็ขอเพิ่มให้อีกหนึ่ง รวมกันเป็นสามกะโหลก!

     ธัญ: “เรื่องที่ทำเราจิตตกมากที่สุด คือตอนทำธีมคดีที่ยังปิดไม่ได้ เราตั้งใจจะเล่าคดีที่มีชื่อว่าแบล็กดาห์เลีย โดยคดีนี้ ผู้หญิงถูกฆ่าและแบ่งออกเป็นสองท่อน เราหาข้อมูลมาเตรียมทำสคริปต์เรียบร้อยแล้วนะ แต่ก็เลิก รู้สึกว่าไม่ไหวว่ะ มันโหดเกินไป โอเคแหละ มันเหมาะที่จะเล่า แต่ขนาดตัวเราเองยังคิดว่ามันน่ากลัวเกินไป แบล็กดาห์เลียจึงเป็นคดีที่เรากลัวที่จะเล่า และยังไม่พร้อมที่จะเล่ามากที่สุด”

     CONT.: “อะไรทำให้คุณกลัวขนาดนี้”

     ธัญ: “วิธีจัดการกับศพมั้ง คือเรื่องนี้มันเริ่มจากการที่มีคนไปเจอศพอยู่บนลานสนามหญ้าทั่วไป ซึ่งศพถูกแบ่งออกเป็นสองท่อนใช่มั้ย แต่เท่านั้นยังไม่พอ เครื่องในของผู้ตายหายไปหมดเลย เลือดก็ไม่มีอยู่เลย บริเวณอวัยวะเพศก็ถูกทำร้าย แถมยังถูกกรีดปากให้เป็นเหมือนรอยยิ้ม ตอนอ่านเราก็นึกถึงภาพคนที่กำลังสูบเลือดมนุษย์ออกจากศพ เอาพวกเครื่องในตับไตไส้พุงออกมาล้าง นำไปจัดแสดงข้างๆ ทางเดิน แล้วทำมิดีมิร้ายกับศพอีกเยอะ เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าคนเรามันต้องโหดขนาดไหนวะ ต้องจิตใจดำมืดขนาดไหน คิดแล้วก็กลัว ไม่กล้าเล่า

     “คือพอต้องเป็นคนเล่าเรื่อง เราต้องคิดเยอะประมาณหนึ่ง เพราะขนาดเราเองยังหดหู่ขนาดนี้ ถ้าเล่าแล้วมันไปจี้จุดคนฟัง เราก็กลัวเหมือนกัน เราเลยต้องรอบคอบให้มากขึ้น พอรอบคอบก็จะคิดมากขึ้น แล้วก็จะกลายเป็นอินและดำดิ่งไปกับมัน ซึ่งบางทีก็ไม่ไหว ต้องพักก่อน”

เขียน

     ด้วยอาชีพหลักของทั้งคู่เกี่ยวกับการขีดๆ เขียนๆ (ธัญเคยร่วมเขียนพ็อกเก็ตบุ๊กมาแล้วหนึ่งเล่ม ใน B SIDE หนังสือกึ่งสารคดีว่าด้วยเรื่องราวหลากมิติของวง BNK48) เมื่อได้รับคำเชิญชวนจากสำนักพิมพ์แซลมอนให้นำ Untitled Case มาเล่าในรูปแบบของตัวหนังสือก็คงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรสำหรับพวกเขา

     ทั้งคู่: “ยาก!”

    เอ้า…

     ยชญ์: “เวลาทำงาน ผมเขียนอย่างมากก็ครึ่งหน้าเอสี่ แล้วก็แทบไม่เคยเขียนอะไรจริงๆ จังๆ ด้วยซ้ำ ประกอบกับตอนแรก ผมคิดว่ามันคงไม่ต่างจากตอนทำสคริปต์พ็อดแคสต์ ปรากฏว่าเขียนไป ก็โดนทีมกองบรรณาธิการคอมเมนต์มาว่ายังขาดอะไรไปบ้าง ก็ต้องค่อยๆ ปรับจูน จนพบว่าสิ่งที่เราควรเพิ่มคือความเป็นตัวเองแบบที่เราทำในพ็อดแคสต์นั่นแหละ เพราะตอนแรกผมพยายามเขียนให้อ่านรู้เรื่อง มันเลยทำให้ขาดอารมณ์ร่วมไปหน่อย

     “นอกจากนี้ ผมคิดว่าวิธีการเสพของพ็อดแคสต์กับหนังสือก็ไม่เหมือนกัน อย่างพ็อดแคสต์ เขาฟังแล้วก็นึกตามเรื่องที่เราเล่าไปเรื่อยๆ แต่พอเป็นหนังสือ คนอ่านจะเลื่อนสายตาไปที่ไหนก็ได้ ดังนั้นวิธีการเล่าเรื่องก็อาจจะต้องมีอะไรบางอย่างที่สะกดให้เขาอยู่กับเราได้ตั้งแต่บรรทัดแรกๆ”

     ธัญ: “ความยากของเราคือน้ำเสียง แม้ว่าเวลานำเสนอข่าวใน The MATTER จะใส่น้ำเสียงเข้าไปได้ แต่การเขียนหนังสือ Untitled Case มันต่างกัน ความยากของมันคือ จะเขียนให้คนที่ไม่รู้เรื่องพวกนี้อ่านแล้วเข้าใจได้ยังไง สมมติจะพูดถึงฆาตกรจักรราศี (Zodiac Killer) เราจะทำให้คนที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนรู้เรื่องได้ด้วยวิธีไหน เราต้องอธิบายแบ็กกราวนด์มากน้อยเท่าไร การเขียนเรื่องพวกนี้มันจะมากกว่าแค่การรายงาน อย่างเวลาเขียนข่าว เราก็จะบอกแค่ว่าคนนี้ทำอะไร ใส่ข้อมูลพวก Who, What, Where, When, Why ให้ครบ แต่ Untitled Case ต้องลงลึกกว่านั้น แถมยังต้องคิดด้วยว่าเรื่องนี้สำคัญกับผู้คนยังไง เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันผู้อ่านยังไงบ้าง

     “ความท้าทายอย่างหนึ่งของเราคือ เขียนยังไงให้ผู้อ่านรู้ว่าสิ่งนี้มันใกล้ตัว เขาสามารถจินตนาการไปต่อได้ สิ่งนี้แหละที่จะทำให้มันไม่เหมือนข่าว เพราะข่าวจะบอกแค่สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงนั้น แต่กับการเขียนหนังสือเล่มนี้ เราจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้กับชีวิตประจำวันของคุณ บางทีคนข้างบ้านคุณอาจเป็นแบบนี้ก็ได้”

     CONT.: “ฟังดูเหมือนทักษะการเล่าเรื่องคือสิ่งที่จำเป็นในการทำ Untitled Case”

     ทั้งคู่: “ก็ใช่”

     CONT.: “แต่ก็ดูเหมือนคุณได้บางอย่างจากการฟังและอ่านเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน”

     ยชญ์: “ถ้าไม่นับการเขียนหนังสือ หรือรายการ Untitled Case อาชีพของผมจะมีการทำสไลด์เพื่อขายงานลูกค้า ดังนั้นศาสตร์ของการไม่สปอยล์ก่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ซึ่งมันก็คือสิ่งสำคัญของเรื่องลึกลับเหมือนกัน เราไม่ควรรู้เลยว่าเรื่องนั้นมีพล็อตทวิสต์หรือเปล่า จุดพีคของมันคืออะไร กับการทำสไลด์ก็เหมือนกัน เราจะทำยังไงให้ลูกค้าดูแล้วอินไปเรื่อยๆ แล้วพอถึงจุดหนึ่ง เราก็ค่อยปล่อยหมัดฮุกให้เขาพีคไปกับเรา สำหรับผม การฟังเรื่องลึกลับจึงเหมือนได้เรียนรู้การเล่าเรื่องอย่างน่าพิลึก”

     ธัญ: “เราคิดว่ามันคือศาสตร์ของการเล่าเรื่องให้คนเข้าใจ เราไม่สามารถเผยแพร่เรื่องที่คนไม่รู้บริบทแล้วหวังให้เขาเข้าใจได้ เราทำงานข่าว จริงๆ ข่าวก็ต้องให้แบ็กกราวนด์ผู้อ่านหรือผู้ชมประมาณหนึ่งว่านายเอคือใคร สมมติเราบอกว่านายเอฆ่าคนนะ ถ้าเราใส่บริบทว่านายเอเป็นผู้นำลัทธิอะไรบางอย่างก็จะดูมีความน่าสนใจมากขึ้น เราต้องทำให้มันมีรายละเอียดแบบนั้น ในวงการข่าวไทยมักจะลืมอะไรแบบนี้ มักจะลืมการให้บริบทกับคนที่ไม่เคยเข้าใจข่าว หรือไม่ทำให้เขารู้ว่าสิ่งนี้มันสำคัญกับคนยังไง ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ ก็เลยเอามาประยุกต์ใช้กับการทำข่าวทำคอนเทนต์ในทุกวันนี้”

     CONT.: “เอาจริงๆ แล้ว การเสพเรื่องลึกลับ ฆาตกรต่อเนื่อง สัตว์ประหลาด ผีสางนางไม้ มันให้อะไรพวกคุณบ้าง”

     ทั้งคู่: “ความบันเทิง”

     ธัญ: “คือจะเรียกว่าบันเทิงได้มั้ย แต่สำหรับเราที่เป็นคนชอบอะไรแบบนี้ มันก็ได้ความบันเทิง ชุบชูใจประมาณหนึ่ง แต่…เรียกว่าชุบชูใจได้เปล่าวะ”

     ยชญ์: “ก็ได้แหละ แต่พี่ก็ต้องเตรียมรับเสียงว่าเป็นโรคจิตด้วย”

     ธัญ: (หัวเราะ) “โอเค มันก็ได้ความบันเทิงแหละ แต่ก็ทำให้เราเข้าใจมนุษย์และสิ่งต่างๆ มากขึ้นด้วยนะ”

     ยชญ์: “ของผมคือความรู้รอบตัว การจะเล่า Untitled Case ให้ดี หรือการเสพเรื่องพวกนี้ให้สนุก มันอาจจะเหมือนการอ่านหนังสือยากๆ เล่มหนึ่งที่เราอาจจะต้องมีแบ็กกราวนด์ มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของแต่ละพื้นที่ ถ้าเรารู้เรื่องพวกนี้ เราก็จะอิน และรู้สึกสนุกไปกับมันมากขึ้น มันเหมือนยิ่งเรารู้เรื่องนี้ เราก็ยิ่งเข้าใจโลกมากขึ้น”

     CONT.: “มีเรื่องไหนที่พวกคุณติดตามแล้วยังค้างคาใจจนถึงทุกวันนี้มั้ย”

     ธัญ:เหตุการณ์ยูเอฟโอในเมืองฟีนิกซ์ที่สหรัฐอเมริกา คือเวลาเราเล่าเรื่องยูเอฟโอ มันชอบมีฟุตเทจที่ดูแล้วรู้ว่าปลอม แต่เหตุการณ์นี้ คนในเมืองเห็นพร้อมกันเป็นร้อย แล้วเป็นแสงไฟที่ถูกบันทึกได้ในช่วงเวลาเดียวกัน สื่อรายงานพร้อมกัน แต่ยังไม่สามารถอธิบายได้จนถึงวันนี้ว่ามันคือยูเอฟโอหรืออะไรกันแน่ เราคิดว่าอันนี้แหละคือยูเอฟโอที่จริงที่สุดแล้ว ชัดเจนที่สุดแล้วว่ามันมีอะไรแปลกๆ อยู่บนท้องฟ้า แต่เราไม่สามารถนิยามได้ว่าคืออะไร”

     ยชญ์: “ของผมคือเนสซีกับบิ๊กฟุต”

     ธัญ: “มันก็คลี่คลายแล้วเปล่าวะว่าปลอม”

     ยชญ์: “เฮ้ยพี่ ปลอมอะไร เนสซีอาจจะมีจริงก็ได้”

     ธัญ: “มีคนบอกว่าเห็นคนใส่เสื้อแบบบิ๊กฟุตแล้วเดินโชว์ให้เพื่อนดู ก็คลี่คลายแล้วนี่ไงว่าปลอม”

     ยชญ์: “…ผมเกลียดพี่ว่ะ แต่บิ๊กฟุตมันน่าสนใจเปล่าวะ มันอาจจะมีจริงก็ได้นะ อาจจะเป็นลิงก็ได้ คือถ้ามันถูกคลี่คลายมาว่าเป็นลิงพันธุ์ยักษ์ ผมก็โอเคนะ คือผมชอบสัตว์ ชอบพวกสปีชีส์แปลกๆ ถ้ามีการค้นพบผีเสื้อสายพันธุ์ใหม่ ผมก็รู้สึกว่าน่าสนใจ อยากรู้”

     CONT.: “แล้วถ้าเฉลยออกมาว่า อ๋อ ไม่มีจ้า”

     ยชญ์: “ก็คงโกรธ และอาจจะน้อยใจบ้าง”

     ธัญ: “เนสซีกับบิ๊กฟุตมันก็ไม่มีจ้าไง”

     ยชญ์: “ไม่เป็นไร ผมทำใจได้ โตแล้ว” (หัวเราะ)