JANE AUSTEN
เรื่องราวของนักเขียนผู้เป็นต้นแบบนิยายรัก ที่ชอบเสียดสีความสัมพันธ์ในยุคสมัยตัวเอง
เรื่อง: วณัฐย์ พุฒนาค
ภาพ: NJORVKS
“It is a truth universally acknowledged, that a single man in possession of a good fortune must be in want of a wife.”
“เป็นความจริงที่ยอมรับกันทั่วสากลโลกว่า ชายโสดผู้เป็นเจ้าของสินสมบัติอันมั่งคั่งย่อมอยู่ในฐานะที่ต้องการภรรยา”
ประโยคเปิดของวรรณกรรมเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่สุดของงานเขียนนั้นๆ หลายครั้งที่ประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวสามารถพาเราไปยังเรื่องราวที่เหลือได้อย่างมหัศจรรย์ ประโยคเปิดของ Pride & Prejudice ที่ยกไปในข้างต้นก็นับเป็นหนึ่งในถ้อยคำทรงพลังที่สุดประโยคหนึ่งของโลก
ประโยคที่แค่เราอ่านก็รู้สึกเหมือนได้กลับไปสู่บรรยากาศในนิยายพาฝัน พาไปยืนอยู่ในยุคที่ผู้หญิงสวมใส่ชุดคอร์เซต และเรื่องใหญ่ของชีวิตคือการหาหาคู่ครอง
ในนิยายที่เราอาจจะเรียกเหมาๆ ว่าเรื่องน้ำเน่า แต่ยุคสมัยและเรื่องราวความงอนง้อของมิสเตอร์ดาร์ซี่ ความวุ่นวายของตระกูลเบนเนตต์ในการ ‘หาผัว’ ให้กับลูกๆ นิยายที่เขียนขึ้นเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้วได้กลายมาเป็นรากฐานของละครทีวีที่ผู้ชมยังคงอินกันอย่างไม่รู้จบ
นั่นสินะ เป็นธรรมดาของโลกไหมที่ชายผู้ร่ำรวยต้องอยากมีภรรยา แล้วเป็นเรื่องธรรมดาไหมที่หญิงสาวต้องแต่งงาน มีผัวที่ดี—และรวย
จากประโยคที่ (อ่านทุกวันนี้ก็ยัง) แสบคันนั้น ถ้าเราอ่านทั้งเรื่อง ก็จะรู้ว่าชายร่ำรวยอาจจะไม่ได้เป็นฝ่ายต้องการเมียเป็นหลัก แต่การหาชายร่ำรวยที่ยังโสดให้ลูกสาวต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญซึ่งสร้างความวุ่นวาย
นัยหนึ่ง เจน ออสเตน (Jane Austen) กำลังเสียดสีชีวิตและสภาพสังคมที่บังคับกะเกณฑ์ผู้หญิงด้วยการแต่งงาน ผู้หญิงแทบจะไม่มีอิสรภาพในชีวิต และไม่มีเป้าหมายอื่นนอกจากการหาผัวดีๆ สักคน
แล้วอย่างซับซ้อน ผู้เขียนอย่างออสเตนก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น ผู้หญิงของศตวรรษที่ 19 เป็นนักเขียนอาชีพที่เขียนงายภายใต้นามปากกาที่ไม่ได้ปกปิดว่าตนเองเป็นผู้หญิง ทั้งที่ในยุคก่อน ผู้หญิงไม่ค่อยถูกยอมรับในอาชีพการเขียน และมักต้องมีนามปากกาที่คล้ายกับชื่อของผู้ชาย เช่น จอร์จ อีเลียต (George Eliot) หรือพี่น้องตระกูลบรองเต้ (Brontë Sisters) แต่เจน ออสเตน ก็ลงชื่อในหนังสือว่า By a Lady แถมเธอก็ไม่ได้แต่งงานตามครรลองของยุคสมัย—ซึ่งทั้งการทำมาหากินและการไม่แต่งงานนับเป็นเรื่องใหญ่มาก
ออสเตนนับได้ว่าเป็นนักเขียนดังคนหนึ่ง ดูได้จากการถูกตีพิมพ์ผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยในแง่ของยอดพิมพ์นั้น ตัวเลขพื้นฐานของยุคก่อนคือราวๆ 500 เล่ม แต่ยอดพิมพ์งานของออสเตนคือ 750 เล่มขึ้นไป อย่าง Emma ซึ่งถือเป็นช่วงพีคๆ ของเธอมียอดพิมพ์สูงถึง 2,000 เล่ม และแน่นอนว่าในเวลาต่อมา นิยายของเจน ออสเตน ก็ได้กลายเป็นรากฐานของนิยายรักโรแมนติกที่ยังยืนยงอยู่จนทุกวันนี้ และตัวเธอเองก็ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเขียนที่นักอ่านรักมากที่สุดคนหนึ่งด้วย
ธรรมดานารีต้องมีผัว
เจน ออสเตน ที่ไม่แต่งงาน และความเป็นสาวสังคมในชนบท
อันที่จริง แค่เรานึกภาพเจน ออสเตน ในฐานะผู้หญิงที่มีชีวิตก่อนยุควิกตอเรีย (Victorian era) ซึ่งนอกจากจะมีการศึกษาจนอ่านออกเขียนได้แล้ว ยังเขียนนิยายสำคัญๆ ไว้ถึงหกเรื่อง แถมทั้งหกเรื่องนั้นพูดถึงชีวิตที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางและอ่านสนุก งานเขียนของออสเตนแทบจะกลายเป็นต้นแบบของนิยายพาฝันทั่วโลก นิยายของเธอถูกนำมาทำเป็นหนังและละครอย่างไม่รู้จบ แค่นี้เราก็ควรจะทึ่งไปกับพลังของเจ้าแม่นิยายรักคนนี้แล้ว
ออสเตนมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1775-1817 เป็นยุคของอังกฤษที่เรียกว่ารีเจนซี (Regency era) เป็นรอยต่อไปสู่ยุควิกตอเรีย ที่เป็นรากฐานของสังคมสมัยใหม่ในเวลาต่อมา เป็นยุคที่เริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไปสู่สังคมสมัยใหม่ เป็นจุดเริ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส
สำหรับออสเตนเอง ทั้งตัวนิยายและชีวิตของเธอนับได้ว่ามีความล้ำยุคล้ำสมัย คือในยุคนั้นผู้หญิงโดยทั่วไปถูกกำกับความเป็นหญิงในชุดคอร์เซต เป้าหมายสำคัญในชีวิตของผู้หญิงสมัยนั้นอยู่ที่การมีสามีดีๆ รวยๆ ซึ่งก็ไม่ได้นับว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ถือว่าเป็นหนทางดูแลชีวิตตัวเองและเลื่อนสถานะทางสังคมให้กับครอบครัว
นิยายส่วนใหญ่ของออสเตนมักมีฉากเป็นพื้นที่ชนบทของอังกฤษ ว่าด้วยความสัมพันธ์ของพวกผู้ดี (gentry) กับพวกสามัญชน ชาวบ้าน (commoner) และได้รับอิทธิพลมาจากชีวิตส่วนตัวของเธอ
ออสเตนเกิดในครอบครัวขนาดกลางๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่นอร์ทแฮมป์เชียร์ พ่อเป็นอธิการโบสถ์ประจำเมือง เธอเป็นลูกคนที่สองจากพี่น้องแปดคน ออสเตนเป็นลูกสาวคนรอง มีพี่สาวเพียงคนเดียวคือแคสซานดรา (Cassandra) ที่น่าสนใจคือทั้งคู่ไม่ได้แต่งงาน
ครอบครัวของออสเตนถือเป็นปัญญาชน พ่อของเธอค่อนข้างส่งเสริมให้ลูกๆ รักในการเรียนรู้และการอ่านเขียน ออสเตนและพี่สาวนับว่าเป็นผู้หญิงที่ได้รับการศึกษา ทางบ้านส่งเธอไปเรียนที่เมืองออกซ์ฟอร์ดกับครูที่เฉพาะเจาะจง ก่อนจะกลับมาเรียนที่บ้านและถูกส่งไปเรียนโรงเรียนประจำสำหรับผู้หญิงที่เมืองเรดดิ้ง
ในแง่สถานะทางสังคม ครอบครัวของออสเตนถือได้ว่ามีความก้ำกึ่ง คือเกิดมาในครอบครัวผู้มีอันจะกิน เป็นเจ้าของที่ดิน เป็นครอบครัวของบาทหลวงบ้านนอก จะบอกว่าเป็นชนชั้นกลางก็ว่าได้ แต่ในแง่ชีวิตส่วนตัว ถ้าเราดูจากชีวิตหลังพ่อของเธอตาย ออสเตนก็หารายได้จากการเขียน ซึ่งก็มีความพยายามประเมินกันว่าเป็นเงินเท่าไหร่ โดยดูจากหลักฐานเท่าที่มีหรือการจ่ายภาษี จนประมาณกันว่าทั้งชีวิตการเขียนของออสเตนน่าจะทำเงินได้ราว 575 ปอนด์ (ราว 45,000 ปอนด์ หรือเกือบสองล้านบาท) ในอัตราปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้น ช่วงกลางๆ ของชีวิตที่ไม่ได้แต่งงานก็นับว่าเธอไม่ได้จะสบายอะไรมากนัก ต้องดิ้นรนพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ในช่วงชีวิตของออสเตนนับว่ามีสีสัน เพราะต่อให้เป็นเหมือนหญิงสาวจากหมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็เป็นผู้มีอันจะกินและมีวงสังคม ออสเตนได้เดินทางไปยังเมืองใหญ่อย่างบาธและลอนดอนบ่อยครั้ง แถมยังใช้ฉากของเมือง รวมถึงเรื่องราวความสัมพันธ์รอบๆ ตัวเป็นวัตถุดิบสำคัญในงานเขียนด้วย
เมื่อไม่แต่งงาน ก็ต้องมีการงาน
ว่าด้วยการเป็นนักเขียนที่ไม่ง่าย
ประเด็นสำคัญของหญิงสาวในยุคนั้นคือการไม่แต่งงานนี่แหละ คำว่าสาวทึนทึกนั้นเจ็บปวดยิ่งกว่าสิ่งใด และการแต่งงานเป็นวิธีที่จะมีชีวิตต่อไปของผู้หญิงที่สำคัญมาก เพราะสมัยนั้น พื้นที่นอกบ้าน พื้นที่ของการทำงานไม่ใช่โลกของผู้หญิง เจน ออสเตน เลยเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่พิเศษ เพราะเธอไม่ได้แต่งงาน
สำหรับชีวิตส่วนตัวเท่าที่ยังพอมีหลักฐาน ออสเตนเหมือนจะเคยตกลงปลงใจแต่งงานกับญาติหนุ่มห่างๆ แต่แล้วก็เปลี่ยนใจในวันรุ่งขึ้น มีเรื่องเล่าจำนวนหนึ่งบอกว่าเธอน่าจะตกหลุมรักใครสักคนที่เสียชีวิตไปตั้งแต่อายุยังน้อย และเธอก็เลือกที่จะไม่รักและแต่งงานกับใครอื่นอีก
ชีวิตของออสเตนนับว่าผกผันอยู่พอประมาณ ความผกผันแรกเกิดขึ้นในปี 1801 พ่อของเธอเกษียณจากการเป็นบาทหลวงและตัดสินใจย้ายไปเมืองบาธ โดยตรงนี้มีหลักฐานจำนวนหนึ่งระบุว่าด้วยเงื่อนไขด้านการเงินของครอบครัว ทำให้ครอบครัวออสเตนตัดสินใจย้ายออกจากคฤหาสน์ที่แฮมป์เชียร์ หลังจากนั้น บ้านและสินทรัพย์ของครอบครัวออสเตนก็ค่อยๆ มีขนาดเล็กลง
ความสาหัสของชีวิตค่อยๆ เด่นชัดเมื่อพ่อเสียชีวิตในปี 1805 เธอเองพร้อมแม่และพี่สาวใช้ชีวิตกับมรดกที่เหลือเพียงน้อยนิดที่เมืองบาธ โดยออสเตนไม่ชอบเมืองบาธเลย ช่วงที่อยู่ที่นี่เธอเขียนหนังสือเล่มเดียวคือ The Watsons และเขียนไม่จบ (นิยายสำคัญอย่าง Pride & Prejudice ซึ่งใช้ชื่อแรกว่า First Impressions เขียนขึ้นในช่วงที่เธออยู่บ้านเดิมที่แฮมป์เชียร์) ภายหลังนักวิจารณ์นิยาม The Watsons ว่าให้ภาพความยากลำบากทางเศรษฐกิจของผู้หญิงในยุคนั้นที่ไม่มีอิสระและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ชีวิตช่วงหลังพ่อเสียชีวิตของออสเตนและแม่นับว่าระหกระเหินพอสมควร ที่บาธก็มีการเช่าบ้านที่เล็กลง เป็นพื้นที่แบ่งเช่ากับพื้นที่อื่นๆ หรือการย้ายออกจากเมืองบาธในปี 1805 ไปพักผ่อนชั่วคราวอยู่หลายที่ กระทั่งในปีต่อมา (1806) พี่ชายคนหนึ่งคือ แฟรงก์ หรือ ฟรานซิส วิลเลียม (Francis William) เพิ่งแต่งงานเลยชวนไปอยู่ด้วยที่เซาท์แธมป์ตัน (Southampton) คือภาพชีวิตของออสเตนในช่วงนั้นไม่ได้ลำบากแบบชัดเจน ยังเป็นผู้มีอันจะกินอยู่ แต่ดูจากลักษณะการโยกย้ายและความเป็นอิสระด้านการเงินก็น่าจะตึงมือ กับอีกส่วนคือบรรยากาศที่อาจจะไม่เอื้อให้เขียนงาน กระทั่งจังหวะชีวิตของเธอเป็นใจในปี 1808
ปีนั้นออสเตนและแม่ได้ย้ายไปอยู่กับเอ็ดเวิร์ด ออสเตน ไนต์ (Edward Austen-Knight) พี่ชายอีกคนที่ได้รับการอุปการะจากเศรษฐีผู้มั่งคั่ง หลังจากอยู่กันสักพัก พี่ชายก็มั่นคงและร่ำรวยพอที่จะมอบที่อยู่เป็นกระท่อมน้อยที่แฮมป์เชียร์ให้—อันที่จริงก็เป็นคฤหาสน์ย่อมๆ แบบชนบท ที่นี่เองที่ออสเตนมีเวลาและความสงบมั่นคงพอที่จะกลับไปทบทวนต้นฉบับเก่าๆ และเริ่มได้ตีพิมพ์ผลงาน ได้ค่าเรื่องในฐานะนักเขียนจริงจัง
ออสเตน นักเขียนสายโปรดักทีฟ
นักเขียนหญิงไร้นามที่นักอ่านรัก แต่ไม่รู้จัก
ออสเตนเป็นคนที่ทำงานเขียนมาโดยตลอด งานสำคัญๆ ของเธอที่เขียนเสร็จในช่วงแรก ได้แก่ Sense & Sensibility โดยตอนแรกเขียนเป็นนวนิยายแนวจดหมายแล้วใช้ชื่อว่า Elinor and Marianne กับอีกเรื่องก็คือ Pride & Prejudice ผลงานสำคัญสองชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่อยู่บ้านเดิม ตั้งแต่ตอนที่พ่อยังมีชีวิต แถมพ่อเธอยังเป็นคนส่งจดหมายและต้นฉบับไปเสนอการตีพิมพ์ด้วย แต่ถูกปฏิเสธ
ออสเตนเขียนนวนิยายจบเล่มแรกตอนอายุ 20 ต้นๆ และจนอายุ 25 ปี ก็เขียนนิยายได้ถึงสามเรื่อง (เรื่องสุดท้ายในช่วงแรกคือ Northanger Abbey) ออสเตนเขียนนิยายมาเรื่อยๆ อย่างช่วงอยู่บาธก็เขียน แต่เขียนได้ไม่ดี ช่วงที่อยู่กับพี่ชายก็วุ่นๆ เน้นเดินสายเยี่ยมญาติ ถึงอย่างนั้น เธอก็ขายลิขสิทธิ์ได้ อย่าง Northanger Abbey ขายได้สิบปอนด์แต่ไม่ได้พิมพ์
จนมาได้บ้านที่ชอว์ตัน (Chawton) แฮมป์เชียร์ในปี 1809 ที่นี่เองที่เจนได้ทบทวนเป้าหมายและมีเวลา ความมั่นคง ความสงบ ประกอบกับความต้องการด้านการเงิน ในตอนนั้นเธอจึงเริ่มเอาต้นฉบับเก่าๆ มาทบทวน ประกอบกับว่า เฮนรี่ (Henry) พี่ชายที่เป็นนายธนาคารเข้ามาช่วยเป็นผู้จัดการ ทำหน้าที่ต่อรองและติดต่อกับสำนักพิมพ์ให้ แน่นอนว่าผลงานที่เขียนเสร็จชิ้นแรกๆ อย่าง Sense & Sensibility และ Pride & Prejudice เป็นงานเขียนสองเล่มที่เธอนำกลับมาปรับปรุงเพื่อส่งสำนักพิมพ์ก่อน ในที่สุด Sense & Sensibility ก็ได้ตีพิมพ์ในปี 1811 เรียกได้ว่ารักผลงานชิ้นนี้จริง เพราะเขียนเสร็จตอนอายุ 21 ปี มาพิมพ์จริงตอนอายุ 36 ปี
Sense & Sensibility ได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกจากนิตยสารวรรณกรรมแนวหน้าของอังกฤษทั้ง Critical Review และ Quarterly Review อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นสถานการณ์การเป็นนักเขียนหญิงก็ยังไม่ได้ดีนัก แต่เป็นหนึ่งในไม่กี่ทางที่ผู้หญิงชนชั้นกลางจะใช้หาเงินเล็กๆ น้อยๆ ได้ และหลายๆ ชิ้นในช่วงนั้น ออสเตนก็ตีพิมพ์โดยไม่ได้ระบุชื่อ แต่ระบุเพศว่าโดย ‘สุภาพสตรีคนหนึ่ง’
หลังจากผลงานชิ้นแรก ออสเตนก็เหมือนว่าทำอาชีพนักเขียนเต็มตัว ค่อยๆ เติบโตและมีชื่อเสียงอย่างเงียบๆ จากนามปากกาไร้ตัวตน ออสเตนลงมือเขียนงานชิ้นใหม่ๆ ทยอยตีพิมพ์ผลงานที่เขียนเสร็จแล้ว เธอได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นที่ 2 คือ Pride & Prejudice ในปี 1813 (และเป็นช่วงที่เขียน Mansfield Park ซึ่งตีพิมพ์เป็นลำดับต่อมาในปี 1814) ช่วงนี้น่าจะนับได้ว่าเป็นช่วงฮิตของออสเตน คือในปีเดียวกันทั้ง Sense & Sensibility และ Pride & Prejudice ก็ได้พิมพ์ครั้งที่สอง และด้วยลูปการทำงานคล้ายๆ กัน คือพอพิมพ์เสร็จก็ลงมือเขียนเล่มใหม่ ในช่วงสองเล่มแรกติดลม เธอก็เขียน Emma และตีพิมพ์ในปี 1815 แล้วในปี 1816 Mansfield Park ก็ได้ตีพิมพ์ครั้งที่สอง แล้วในช่วงนี้เธอก็เขียน Persuasion เอาไว้ ผลงานที่ว่ากันว่ามีความซับซ้อนมากที่สุด แต่น่าเสียดายเพราะเมื่อเขียนเสร็จในปี 1816 เจน ออสเตน ก็เสียชีวิตในปี 1817 กลายเป็นว่า Persuasion และ Northanger Abbey ถูกตีพิมพ์ในปีเดียวกับที่เธอเสียชีวิต
ถ้าเราดูลำดับการเขียนและการพิมพ์งาน (ซึ่งสั้นอย่างน่าเศร้า) นับจากผลงานตีพิมพ์ชิ้นแรก นับว่าความฝันในการเป็นนักเขียนของออสเตนเป็นจริง เธอเป็นนักเขียนที่ค่อนข้าง ‘โปรดักทีฟ’ มีผลงานติดอันดับขายดีคนหนึ่ง ออสเตนดังขนาดว่ามกุฎราชกุมาร—ต่อมาคือพระเจ้าจอร์จที่สี่ ก็อ่านงานและพูดถึงงานของเธอ
งานวิจารณ์ส่วนใหญ่ชื่นชมผลงานของออสเตนในแง่ของความสนุก บันเทิง การให้ความคิด และการถ่ายทอดชีวิตในครอบครัวที่มีความสมจริง ผิดกับงานน้ำเน่าในยุคก่อน หนึ่งในบทวิจารณ์สำคัญคืองานวิจารณ์ของเซอร์ วอลเตอร์ สกอตต์ (Sir Walter Scott) กวี นักวิจารณ์ และนักวิชาการด้านวรรณกรรมคนสำคัญ ที่วิจารณ์ Emma ว่า ‘นักเขียนไร้นามผู้นี้’ เป็นผู้เชี่ยวชาญที่หาตัวจับยากของนวนิยายสมัยใหม่ และเป็นผู้ที่วางรากฐานของสัจนิยมแบบใหม่
ช่วงท้ายของชีวิตออสเตนนับว่าน่าเสียดาย เพราะเธอไม่เป็นที่รู้จัก ต้องรอหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว และพี่ชายตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือของเธอในชื่อจริง ภายหลังโลกถึงรู้จักเจน ออสเตน และนิยายของเธอเป็นหนึ่งในกลุ่มงานที่ไปเกี่ยวข้องกับการวิจารณ์วรรณกรรม เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในการวิจารณ์อย่างจริงจัง
แน่นอนว่าเจน ออสเตน เป็นนักเขียนที่มีผลงานสำคัญและเป็นคนที่มีใจรักการเขียน จากหลักฐานเท่าที่หลงเหลือไม่มากอย่างเช่นจดหมาย พบจดหมายที่ออสเตนเขียนถึง แฟรงก์ (Frank) ผู้เป็นพี่ชาย เกี่ยวกับการขายลิขสิทธิ์ Pride & Prejudice แล้วได้เงินมา 250 ปอนด์ โดยข้อความของเธอเต็มไปด้วยความยินดีและมีนัยว่าเธอรอเวลานี้มานาน เหมือนกับว่าออสเตนนั้นรู้ว่างานเขียนของเธอต้องถูกใจผู้อ่าน และเธอเองสามารถเดินไปในเส้นทางของนักเขียน ใช้ความสามารถในการเลี้ยงดูตัวเองได้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องโดดเด่นอย่างสำคัญของยุคสมัย เพราะถ้าเราดูแกนของเรื่องก็จะรู้สึกว่าแค่อ่านก็สนุกแล้ว เช่น Sense & Sensibility ที่พูดถึงสองศรีพี่น้องที่คนหนึ่งใช้เหตุผล อีกคนใช้อารมณ์นำ Pride & Prejudice พูดถึงหนุ่มสายซึนที่มาก่อนกาลและสาวผู้ดื้อรั้นผู้อ่านไม่ทะลุความซึน
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านเรื่องราวของออสเตนทั้งหมด ก็พบว่าชีวิตของเธอไม่ได้ลำบากขนาดนั้น คือแม้ออสเตนจะเป็นคนที่ดูเหมือนระหกระเหินอยู่บ้าง แต่ก็นับว่าเป็นชนชั้นที่มั่งคั่งและมีอันจะกิน ทั้งเธอเองก็มีครอบครัวที่คอยสนับสนุน เข้าใจความรักในการเขียน ไม่งั้นคงอยู่เป็นโสด และพี่ๆ ของเธอก็คงไม่เสนอที่อยู่ รวมถึงช่วยให้ออสเตนทำตามความฝันได้
อันที่จริง การได้อ่านเรื่องราวของเจน ออสเตน ก็ดูจะสนุกและน่าสนใจไม่แพ้นิยายของเธอ
ชีวิตของออสเตนมีความแข็งแกร่ง สัมพันธ์กับมิติทางชนชั้นและเพศสถานะของความเป็นหญิงในบริบทสังคมอังกฤษได้อย่างน่าทึ่ง ชีวิตอันแน่วแน่ของออสเตนจึงซ้อนลงในภาพของตัวละครหญิงในนิยายของเธอได้อย่างใกล้เคียง ดังนั้นตรงนี้จึงดูจะย้อนกลับมาที่ว่า ทำไมนิยายของเจน ออสเตน จึงยังไม่ตายและไม่มีวันตาย
นิยายของเธอเล่าเรื่องพื้นฐานที่แม้จะจบลงด้วยการแต่งงาน แต่เธอกำลังให้เสียงและภาพของผู้หญิงที่ดิ้นรนอย่างมีสีสัน มีเส้นทางเฉพาะตัว ตัวละครของออสเตนล้วนเป็นผู้หญิงที่มีความแน่วแน่มั่นคง ต้องการมีเส้นทางชีวิตเป็นของตัวเอง พยายามสู้และเลือกเส้นทางของตัวเองเหมือนกับเธอเสมอ
พร้อมกันนั้น เราจึงย้อนกลับไปยังอำนาจของบทเปิดที่เราพูดถึงแต่ต้นว่า ทำไมวลีว่าเป็นสัจธรรมของโลกและพูดเรื่องการแต่งงานจึงได้จับใจนัก
ถ้าเราอ่านงานของออสเตนดีๆ งานของเธอคือการยั่วล้อ ล้อเลียนสังคมชนชั้น สังคมที่ผู้หญิงต้องดิ้นรนอยู่เสมอ การเป็นคนที่ไม่ใช่ผู้ลากมากดี ชีวิตที่กำหนดผู้คนผ่านฐานันดรและการแต่งงานที่เธอทำได้อย่างแสบสัน
แม้ว่าเราจะกลับมาอ่านในอีกหลายร้อยปี สัจธรรมดังกล่าว—การล้อว่าคนรวยๆ ต้องอยากมีเมีย—ก็ยังคงจริง แต่ก็ไม่จริงเสมอไป เพราะบางทีก็คนทั่วไปต่างหากที่กำลังไล่หาคนรวยๆ รวมทั้งภาพความวุ่นวายของสังคมที่ว่าด้วยการรักษาและไต่เต้าทางสังคมผ่านความรักและการแต่งงาน ข้อกำหนดของสังคมที่มายุ่งกับหัวใจของเราอยู่เสมอ
เรื่องราวที่ออสเตนบรรยายไว้คือภาพของผู้คนที่ดิ้นรนอยู่ใน ‘สัจธรรมของจักรวาล’ (truth universally acknowledged) ที่เราเองก็รู้ว่ามันปลอม แต่เราก็อาจต้องดิ้นรนไปกับสังคมรอบตัวของเราต่อไป—ด้วยความแน่วแน่ มั่นคง และมั่นใจในตัวเองแบบออสเตนและเหล่านางเอกในนิยายของเธอ
แด่ออสเตน นักเขียนหญิงผู้รู้จักตัวเอง หนึ่งในผู้วางรากฐานที่พาเราไปเรียนรู้เรื่องความรักและหัวใจ ที่ผ่านไปหลายร้อยปีก็ยังสดใหม่อยู่เสมอ
อ้างอิง
• dergipark.org.tr/tr/download/article-file/186844
• britannica.com/biography/Jane-Austen
• janeaustendetectives.com/blog/recent/about-jane-austen-her-later-life-and-literary-career
• npr.org/2017/07/25/538609475/the-enduring-legacy-of-jane-austens-truth-universally-acknowledged
• hampshireculture.org.uk/jane-austen-200/about-jane-austen
• bankunderground.co.uk/2019/08/02/jane-austens-income-insights-from-the-bank-of-england-archives