Tue 07 Dec 2021

ROMPBOY x KAIHUAROR SPECIAL EDITION

โลกการ์ตูนของ ‘บู้ Slur’ และเส้นทางการพา ‘Rompboy’ มาพบรักกับ ‘ขายหัวเราะ’ สู่เสื้อผ้าคอลเลกชั่นในฝัน

     “เหมือนจีบผู้หญิงที่เราเล็งมานาน เธอสวย มีคาแร็กเตอร์ แล้ววันหนึ่งผมก็จีบติด แถมมารู้ทีหลังว่า โห เธอเป็นคนดี เป็นคนเก่งด้วยว่ะ ผมยิ่งฟิน การที่ Rompboy ได้ทำโปรเจกต์ร่วมกับ ขายหัวเราะ เป็นฟีลแบบนี้เลย” 

     Rompboy คือแบรนด์เครื่องแต่งกายซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่วัยรุ่นไทยมาเกือบแปดปีของ ‘บู้—ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์’ มือเบสวง Slur นอกจากความเรียบง่ายแต่สอดแทรกรายละเอียดที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นแบรนด์ที่ขายหมดไว ผลิตจำนวนจำกัด มีคอลเลกชั่นใหม่ๆ ทั้งที่เป็นออริจินัล และไปคอลแล็บกับแบรนด์อื่นๆ ให้แฟนคลับได้สนุกและตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ

     คอลเลกชั่น ‘Rompboy x ขายหัวเราะ Special Edition’ ที่เปิดให้สั่งจองผ่านอินบอกซ์ของเพจ Rompboy ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (และกำลังจะปิดพรีออร์เดอร์ในวันพุธที่ 8 ธันวาคมนี้แล้ว) สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนๆ ทั้งสองด้อมไม่น้อย แต่ถ้าถามว่าใครตื่นเต้นและมีความสุขกับโปรเจกต์นี้มากที่สุด คำตอบคือนายห้างของ Rompboy ที่บอกว่าตัวเขาในวัยเด็กคือโอตาคุตัวจริง

     เขาซื้อหนังสือการ์ตูนทุกวันวันละหนึ่งเล่ม, รู้จักและอ่านการ์ตูนที่มีขายเมื่อ 20 ปีที่แล้วแทบทุกเรื่อง, เคยวาดการ์ตูนขายเพื่อน, คลั่งไคล้ Nike Air Max 95 เพราะ ‘มุโต้ ยูกิ’ จากการ์ตูนเรื่อง Yu-Gi-Oh!, ชอบสีเหลืองเพราะเสื้อของ ‘โนบิตะ’ จาก Doraemon, ‘มิตสึรุ อาดาจิ’ และ ‘โอซามุ เท็ตสึกะ’ คือนักเขียนการ์ตูนในดวงใจ และหลงใหลในความสนุกฉับไวกับลายเส้นเรียบง่ายของ ขายหัวเราะ และ มหาสนุก

     ข้างต้นคือความ ‘อิน’ และแรงบันดาลใจในชีวิตเพียงส่วนหนึ่งที่บู้ได้จากโลกการ์ตูน ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่าทำไมการที่ Rompboy ได้ทำคอลเลกชั่นพิเศษกับขายหัวเราะจึงเป็นโมเมนต์วิเศษที่เติมเต็มชีวิตของเขา

     นี่เป็นบทสัมภาษณ์ที่เราแทบไม่ต้องโยนคำถามอะไรมากนัก เพราะแค่ชวนเขานึกถึงการ์ตูนในวัยเด็กที่หลอมตัวตนให้เป็นอย่างทุกวันนี้ จนกระทั่งได้โอกาสทำโปรเจกต์ในฝันกับแบรนด์การ์ตูนในดวงใจ

     เขาก็พรั่งพรูความสุขออกมาไม่รู้จบ

คุณผูกพันกับหนังสือการ์ตูนขนาดไหน

     ตอน ม.1 ผมได้ค่าขนม 50 บาท สมัยก่อนข้าวเปล่าบวกกับข้าวหนึ่งอย่างราคา 10 บาท ถ้าสองอย่างจะเพิ่มเป็น 13 บาท ผมยอมกินอย่างเดียว ซื้อน้ำอีก 2-3 บาท เก็บไว้ขึ้นรถเมล์อีก 3.50 บาท แล้วจะเหลือเงินพอดีเป๊ะไว้ซื้อการ์ตูนหนึ่งเล่ม ตั้งใจซื้อเก็บทุกวันวันละเล่ม ตอนนั้นการ์ตูนเล่มละ 35 บาท ถ้าหนาหน่อยก็ 40 บาท อย่าง C-KiDs กับ BOOM (นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่ตีพิมพ์แบบคละเรื่อง) ก็ซื้อนะ ดีที่ว่าราคาถูกกว่าการ์ตูนเล่มหน่อย 

     ผมคิดว่าตัวเองน่าจะรู้จักการ์ตูนเมื่อ 20 ปีที่แล้วทุกเรื่อง อ่านทุกสำนักพิมพ์ วิบูลย์กิจ, สยามอินเตอร์คอมิกส์ หรือ NED Comics รวมถึงการ์ตูนไทยอย่าง ขายหัวเราะ และ มหาสนุก แต่อันนี้ไม่ต้องซื้อเอง เพราะแม่จะซื้อมาวางไว้ที่ร้านตัดผมสำหรับบริการลูกค้าอยู่แล้ว

     นึกๆ ดูแล้วที่ชอบอ่านก็เพราะตอนเด็กผมชอบวาดการ์ตูน ช่วงประถมผมเคยวาดออกมาเป็นเล่มแล้วเอามาขายเพื่อนด้วยนะ 

ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าคุณวาดการ์ตูนด้วย

     เรื่องนี้ไม่เคยเล่าเลย วาดด้วยดินสอ ใช้เวลาวาดเป็นเดือน แต่เอามาขายเพื่อนแค่สิบบาท (หัวเราะ) แล้วก็ไม่ได้เอาไปซีร็อกซ์ขายนะ ที่ขายเพื่อนคือออริจินัลทั้งหมด ทุกวันนี้ไม่มีเหลือเก็บไว้ดูเลย

การ์ตูนที่วาดเป็นแนวไหน

     ตอนนั้นเป็นช่วงประถม ผมจะอินกับ Slam Dunk และ คินดะอิจิ (CONT: เดี๋ยวนะ คุณอ่านคินดะอิจิตั้งแต่ประถมเลยเหรอ?) ใช่ๆๆๆ จำได้ว่าผมอ่าน Dragon Ball จบ แล้วเพื่อนก็แนะนำว่าถ้าอยากแอดวานซ์กว่านี้ต้องอ่าน คินดะอิจิ ผมจำตอนนึงได้แม่นมากคือ ตัวละครนั่งรถไฟเหาะแล้วหัวขาด นอนไม่หลับเป็นสัปดาห์ (หัวเราะ) 

     คินดะอิจิ อินสไปร์ผมมาก การ์ตูนที่เขียนตอนนั้นเลยมีเนื้อเรื่องเป็นคดีลึกลับ แต่ลายเส้นแบบ Dragon Ball โคตรผู้ชายต่อยกัน (หัวเราะ) 

ถึงคุณจะบอกว่าอ่านทุกเรื่อง แต่มีแนวการ์ตูนที่ชอบเป็นพิเศษไหม

     ผมชอบงานของมิตสึรุ อาดาจิ มาก เวลาอ่านจะรู้สึกว่าเชี่ย ทำไมการ์ตูนรักแม่งเท่ขนาดนี้วะ คืออาดาจิเป็นคนเขียนการ์ตูนลายเส้นคลีนๆ แล้วทุกเรื่องจะมีความรักเป็นพอยต์หลักเสมอ อย่างเรื่อง Katsu! เล่าถึงกีฬาชกมวย เขาก็จะเอามาบวกกับความรัก แต่ไม่ใช่ความรักเปิดเผยแบบการ์ตูนตาหวาน อาดาจิจะเล่าความรักแบบซับซ้อน ตัวละครหน้าตาย ไม่ยอมบอกรักกัน ค่อยๆ สานสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ แต่คนอ่านดูออกแล้วนะว่าตัวละครพวกนี้รักกัน 

     อีกเรื่องคือ H2 เรื่องนี้ก็เข้มข้นมาก เล่าเกี่ยวกับกีฬาเบสบอล เล่ายาวเป็นมหากาพย์เลย หรืออย่าง Rough เรื่องนี้ก็สนุกมาก เกี่ยวกับกีฬาว่ายน้ำ แต่ก็จะมีความรักสอดแทรกอยู่ในเรื่องตลอด ผมถูกจริตกับสไตล์การเล่าเรื่องของเขามาก

     นักเขียนอีกคนที่ชอบคือโอซามุ เท็ตสึกะ ผมมองว่างานของเขาไทม์เลส ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย การ์ตูนของเท็ตสึกะก็ยังไม่เชย ชอบที่สุดคือ Black Jack การ์ตูนของเขาจะติดหม่นๆ แต่ลายเส้นสว่างสดใสคล้ายๆ กับ Doraemon ซึ่งผมอินกับ Black Jack มากกว่านะ เพราะผมรู้สึกว่ามันซับซ้อนและมีมิติมากกว่า

     Dragon Ball ก็ผูกพันนะ กลับจากโรงเรียนก็ต้องมานั่งวาดดราฟต์เบจิต้าทุกวัน… เอาจริงถ้าคุยกันเรื่องการ์ตูนผมเล่าได้เรื่อยๆ ทั้งวันเลย (หัวเราะ)

เท่าที่ดูจากรายชื่อแล้ว คุณดูสนใจการ์ตูนที่โตกว่าวัยนิดนึงนะ

     ใช่ๆๆๆ ไม่ค่อยแมส คือผมอ่านการ์ตูนแมสเยอะก็จริง Yu-Gi-Oh!, Naruto หรือ Shaman King ผมก็อ่าน แต่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ผมชอบการ์ตูนที่มันลึกซับซ้อนหน่อยๆ อย่าง ชั่วโมงเรียนพิศวง, ต้องรอด หรือ สุภาพบุรุษทรชน ชอบการ์ตูนที่ลายเส้นเชยๆ หน่อย แต่เรื่องเข้มข้น ดราม่า ไม่ต้องบู๊มากก็ได้

การ์ตูนที่อ่านส่งผลกับตัวคุณในปัจจุบันยังไงบ้าง

     มันทำให้ผมเป็นคนไม่มีขอบเขตในการทำงาน ไม่ว่าจะเสื้อผ้าหรือวงดนตรี ผมจะเริ่มต้นด้วยการปล่อยให้ความคิดมันไหลไปก่อน ปล่อยเซอร์เลย เหมือนการ์ตูนที่ใช้จินตนาการนำมาก่อน แล้วขอบเขตจะค่อยๆ ตามมาทีหลัง เช่น ผมอยากทำกางเกงตัวหนึ่ง ทรงเซอร์มาก ผมก็ค่อยมาถามว่ากางเกงตัวนี้จะเน้นขายหรือเปล่า ถ้าอยากขายก็ต้องตีกรอบมันลงมาหน่อย แต่จุดเริ่มต้นเราจะคิดใหญ่ไว้ก่อน 

     การ์ตูนบางเรื่องก็ส่งผลกับความชอบหรือเซนส์แฟชั่นของผมทุกวันนี้ อย่าง Nike Air Max 95 ที่ยูกิใส่ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นรองเท้ารุ่นที่ผมชอบมาก ผมชอบใส่สีเหลืองเพราะชอบโนบิตะ แม้แต่ไลฟ์สไตล์ วิธีพูด การเล่นมุก ผมก็ติดมาจากตัวละครของอาดาจิ คือเราไม่ได้ตั้งใจให้เป็น แต่มันคงอยู่ในจิตใต้สำนึก มันคือซอฟต์พาวเวอร์ของแท้เลย

แล้วกับ ขายหัวเราะ คุณผูกพันในแบบไหน

     ผมเห็นคุณค่าใน ขายหัวเราะ กับ มหาสนุก ตลอด มันเป็นการ์ตูนที่บอกเล่าเรื่องราวในสังคมตอนนั้น ตอนเด็กๆ ผมจะเจอกับเรื่องการเมือง IMF ค่าเงินบาทลอยตัว แล้วพอเห็นจากการ์ตูนก็ต้องไปถามพ่อว่า IMF คืออะไร เป็นการอัพเดตโลกไปในตัว

     จุดหนึ่งที่ผมชอบก็คือมันอ่านได้แบบไวๆ ผมว่ามันเหมือนดู TikTok นะ อ่านแค่ไม่กี่วิฯ ไม่กี่ช่องก็สนุกแล้ว ไม่ต้องอ่านยาวๆ มันมีจังหวะให้เรา play-pause จะหยุดอ่านแค่แก๊กเดียวก็ได้ อีกเรื่องคือลายเส้นของนักเขียน ขายหัวเราะ รุ่นเก๋าๆ อย่างอาจุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) หรืออาวัฒน์ (วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ) ผมมองว่าคือสิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้ นี่คือความคลาสสิก ผมเลยดีใจมากๆ ที่โปรเจกต์นี้ได้ใช้ลายเส้นคลาสสิกของ ขายหัวเราะ 

โปรเจกต์ระหว่าง Rompboy กับ ขายหัวเราะ เกิดขึ้นได้ยังไง

     ผมเคยบอกแฟน บอกคนที่บ้านไว้ตั้งนานแล้วว่า ผมอยากทำเสื้อผ้าให้ ขายหัวเราะ ถ้าได้ทำจริงมันจะเติมเต็มผมมากๆ แล้วผมก็พับไอเดียนี้เก็บไว้ลึกๆ เลย เพราะคิดว่าเขารุ่นใหญ่แล้วคงไม่มาทำกับเราหรอก 

     วันหนึ่งผมไปเห็นโปรเจกต์ร่วมกันระหว่าง ขายหัวเราะ กับนิตยสาร บ้านและสวน ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าทำอะไรออกมาบ้าง แต่สิ่งที่ผมรู้คือ เฮ้ย ขายหัวเราะ เขาก็คอลแล็บกับคนอื่นได้นี่หว่า ผมก็เลยเอาวะ เขียนอีเมลเอง เขียนแบบบ้านๆ เลยว่าเราคือใคร สนใจอยากทำเสื้อผ้าด้วย แล้วผมก็แทนชื่อตัวเองในเนื้อความว่า ‘บู้’ ด้วยนะ เพราะผมอินมาก ปรากฏว่าคุณนิว (พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหารกลุ่มบริษัท บันลือกรุ๊ป) ตอบกลับมาว่าสนใจอยากทำด้วย โห แม่งคือฝันที่เป็นจริงเลย

กังวลไหมกับการมาเจอทีม ขายหัวเราะ ครั้งแรก คิดภาพไว้ยังไง

     ผมจินตนาการไว้ว่าต้องเจอผู้หลักผู้ใหญ่คอนเซอร์เวทีฟแน่ๆ จะคุยรู้เรื่องมั้ยวะ แล้ววันนั้นทีมกราฟิกดีไซเนอร์ น้องผู้ช่วยของผมติดภารกิจกันหมดเลย ลุยเดี่ยว ไม่ได้พกโน้ตบุ๊กหรือไอแพด ไปตัวเปล่า มีแต่ไอเดียที่เราคิดไว้ในหัว

     ไปถึงก็เจอคุณนิวกับพี่นก (โชติกา อุตสาหจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บันลือกรุ๊ป) เอาจริงวันนั้นพวกเขาคงไม่รู้หรอกว่าตกลงผมจะทำอะไรกันแน่ เพราะไอเดียที่มีมันยิ่งกว่าภาพสเกตช์ เป็นก้อนเมฆใสๆ มีแต่ความอยากทำ แต่ทุกคนโอเคกับผมหมดเลย ขายหัวเราะ เป็นทีมที่น่ารักมาก กรอบที่ผมคิดไว้มันทลายไปหมดเลย โดยเฉพาะพี่นก เขามีความวัยรุ่นและให้เกียรติผมมาก บอกให้ผมลุยเลย เขาจะซัพพอร์ต อารมณ์เหมือนผมจะไปต่อยกับเพื่อนแล้วไม่ห้าม เดี๋ยวจะไปซื้อนวมให้ด้วย (หัวเราะ)

ไอเดียที่ยิ่งกว่าภาพสเกตช์มันเป็นยังไง

     ตอนที่รู้ว่า ขายหัวเราะ สนใจร่วมงานด้วย ไอเดียผมกระฉูดไปหมดเลย ผมอยากทำรองเท้าให้ ขายหัวเราะ คิดไว้แล้วว่ากล่องใส่รองเท้าจะรวมตัวการ์ตูนที่ชอบ เปิดกล่องมาอาจจะมีโมเดลตัวการ์ตูน ป้ายรองเท้าต้องเป็นแบบนี้ insole ของรองเท้าต้องเป็นลายนี้ มันฟุ้งมาก อยากทำเสื้อ อยากทำ tote bag ผมยอมใช้ไอเทมฮิตๆ ของ Rompboy ทั้งหมด จะไม่กั๊กเลย ปกติถ้าทำกับแบรนด์อื่นเราอาจจะมีกั๊กบ้าง เช่น ผมจะไม่ทำรองเท้า ไม่ทำกระเป๋ารุ่นนี้นะ เพราะมันเป็นสินค้าขายดี แต่สำหรับ ขายหัวเราะ ขอแค่รีเควสต์มา ผมทำให้หมดเลย 

     เสียดายว่า ขายหัวเราะ ติดสัญญา ผมเลยทำรองเท้าไม่ได้ ทำได้แค่เครื่องแต่งกาย ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะผมก็สนุกอยู่ดี ไอเดียยังมีอีกเยอะ แล้วทีม ขายหัวเราะ ก็ไฟเขียว ให้ผมทำอะไรก็ได้เลยด้วย ไม่มีขอบเขต

แต่กลุ่มลูกค้าของ Rompboy กับ ขายหัวเราะ ซึ่งเราเดาว่าเป็นคนละกลุ่มกัน ก็ถือเป็นกรอบและโจทย์ใหญ่ในโปรเจกต์ชิ้นนี้หรือเปล่า

     ใช่ ค่อนข้างต่างกัน ตรงนี้แหละคือปัญหาให้แก้ 

     ผมคิดแบบแย่ที่สุดคือ คนที่ชอบ ขายหัวเราะ ไม่รู้จัก Rompboy เลย และเด็กวัยรุ่นที่ซื้อ Rompboy ก็ไม่รู้จัก ขายหัวเราะ แล้ว หรือรู้จักแต่ไม่เคยอ่าน ไม่รู้ว่ามันสนุกยังไง มัน OG (original) ยังไง ผมก็ต้องหาทางเชื่อมคนสองกลุ่ม เลยคิดถึงเสื้อผ้าอเมริกันวินเทจกับลายสกรีนแบบที่ผมชอบ เป็นลายที่คนเห็นแล้วจะนึกถึงความฮาวายเอี้ยน นึกถึงเสื้อทหารที่เคยเห็นตามร้านมือสอง แล้วเอามารวมกับลายเส้นคลาสสิกของ ขายหัวเราะ ทำซิลลูเอต (silhouette หรือรูปทรงเสื้อผ้า) แบบสมัยใหม่ให้เป็นโอเวอร์ไซส์ 

     ผมทำทุกอย่างให้จับต้องได้ง่าย คงไม่กล้าเสี่ยงทำแจ็กแก็ตหรือถุงเท้า เพราะไม่รู้ว่าแฟนๆ ขายหัวเราะ จะเป็นกลุ่มแบบไหน ผมจึงเลือกทำไอเทมที่คนทั่วไปมองแล้วเก็ตว่าแบบนี้สวย แล้วก็เป็นเสื้อผ้าที่ใส่ง่าย ใส่ได้ทุกคน

ทำไมต้องเจาะจงใช้ลายเส้นคลาสสิกของ ขายหัวเราะ

     ผมอยากทำให้มันขลัง มันต้องไม่เด็กจนเกินไปและอย่างน้อยลูกค้าของผมต้องโอเค สมมติผมใช้ตัวการ์ตูนรุ่นใหม่อย่างปังปอนด์ ก็อาจจะไม่เข้ากับกลุ่ม Rompboy หรือแม้แต่กลุ่มคนอ่าน ขายหัวเราะ ที่น่าจะอายุรุ่นเดียวกับผม ก็อาจจะมองว่าเด็กเกินไป ผมอายุ 36 ปี ปกติผมไม่ชอบใส่เสื้อลายการ์ตูนเลย แต่เสื้อคอลเลกชั่นนี้ผมใส่ได้ ไม่เขิน

     กลับกันผมก็ไม่อยากเอาตัวการ์ตูนของอาวัฒน์มาวางเพียวๆ แปะโลโก้ Rompboy แบบนี้ผมไม่ทำ แล้วเด็กๆ ก็คงเข้าไม่ถึงตัวการ์ตูนเหล่านี้ด้วย 

     สุดท้ายก็เป็นการรวมกันระหว่างตัวการ์ตูนคลาสสิก การวางเท็กซ์และกราฟิกให้มีความสากล คือผมจะไม่ทำแบบ ‘ไท้ยไทย’ เพราะไม่อยากให้ลูกค้าเห็นแล้วรู้สึกชอบนะ แต่ไม่อยากซื้อ เราอยากให้มันเป็นไอเทมที่สวยจนกลุ่มลูกค้าตรงกลางที่ไม่ได้มาจากฝั่ง ขายหัวเราะ หรือ Rompboy ก็รู้สึกอยากซื้อด้วย

ตอนเห็นลายเส้นที่ทีม ขายหัวเราะ ส่งมา คุณรู้สึกยังไง

     โห กรี๊ดเลย ยิ่งพอเอามาจัดวางจนออกมาเป็นเสื้อก็ยิ่งกรี๊ด เรารู้สึกว่ามันถูกต้องมากๆ แล้วผมไม่ยุ่งกับลายเส้นเลยนะ ไม่ปรับอะไรทั้งสิ้น มีแค่ไกด์ไลน์ให้ก่อนวาดจริง เสนอแนะเรื่องสีกับเทกซ์เจอร์นิดหน่อย แต่ลายเส้นผมไม่ยุ่งเลย เราอยากให้มันเป็นออริจินัลมากที่สุด

คุณดูฟินกับคอลเลกชั่นนี้มากๆ เลย อยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไรถ้าคุณได้คอลแล็บกับการ์ตูนญี่ปุ่นที่ชอบ

     จริงๆ ผมได้ offer มาเยอะเลยนะ ทั้ง Dragon Ball ทั้ง Naruto จากค่าย Pixar กับ Disney ก็มี วงดนตรีต่างประเทศหลายวงก็เคยมีเอเจนต์เสนอลิขสิทธิ์มา แต่ผมเป็นคนที่ว่าถ้าเสื้อวง Nirvana มันสวยอยู่แล้ว ผมไม่กล้าไปแตะนะ หรือ Carnival ทำเสื้อกับ Dragon Ball แล้วออกมาดีมากๆ ผมไม่ทำดีกว่า ผมขอเลือกสิ่งที่ผมเห็นภาพ ทำได้ดี ซึ่ง ขายหัวเราะ คือโปรเจกต์ที่ผมมีภาพในหัว ผมสนุก ผมอิน 

     ผมโชคดีที่ว่าพอทำ Rompboy แล้วมีฐานแฟนคลับอยู่บ้าง เลยมีหลายแบรนด์อยากร่วมงานกัน แต่แบรนด์ที่ผมจะเลือกคอลแล็บด้วยคือแบรนด์ที่เห็นภาพชัด ถ้าเขามีภาพ แพสชั่นเขามาเต็ม ผมจะทำด้วย แต่ถ้าเขาไม่มีฝัน อะไรก็ได้แล้วแต่คุณบู้เลย แบบนี้ผมไม่ทำ 

     แต่เคส ขายหัวเราะ ต่างกันนะ เพราะผมเป็นฝ่ายติดต่อไปเอง ผมมีภาพชัด ผมรู้ว่าจะทำอะไร อย่างก่อนหน้านี้มีอีกแบรนด์ที่ผมติดต่อไปขอคอลแล็บก็คือ ธนบดีชามไก่ เพราะผมอยากทำ homeware แล้วก็ชอบความ OG ของชามไก่อยู่แล้ว ผมติดต่อโรงงานไปเลยแล้วบอกว่า “พี่ ผมอยากขายชามว่ะ”

แล้วเขางงไหม

     งงจัดเลย (หัวเราะ) แต่พอดีว่าทางเขาก็เป็นคนหัวใหม่ เป็นทายาทรุ่นสองรุ่นสามแล้ว เขาก็ไฟเขียวให้ผมทำ ตอนนี้คอลเลกชั่นนั้นขายหมดไปแล้ว 

มีแบรนด์ OG เจ้าไหนอีกไหมที่คุณอยากเสนอตัวไปคอลแล็บกับเขาอีก

     เอาง่ายๆ ถ้าแบรนด์ไหนที่มีความ OG มากๆ นะ เตรียมตัวไว้เลย เดี๋ยวเจอผมแน่ (หัวเราะ) 

8 ปีที่คุณทำ Rompboy ได้คอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ มาหลายต่อหลายครั้ง มองเห็นข้อดี-ข้อเสียบ้างไหม

     ข้อดีของการทำคอลแล็บคือ มันมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ยิ่งถ้าเป็นแบรนด์ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแบรนด์ แลกเปลี่ยนวิชวล ได้ความสดใหม่ และอาจจะทำให้ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ ส่วนจะได้มากได้น้อยแล้วแต่โชค 

     ข้อเสียก็มีอยู่นะ ผมคิดว่าการทำคอลแล็บที่บาลานซ์ไม่ดี เทไปแบรนด์หนึ่งมากเกินไป อีกแบรนด์ก็จะเสียตัวตนไปเลย ผมเคยทำคอลแล็บครั้งหนึ่งแล้วมันเบี้ยวมาก เสียตัวตนของแบรนด์ไปเยอะ แล้วสุดท้ายลูกค้าของเราก็ไม่ซัพพอร์ตคอลเลกชั่นนั้น เพราะมันไกลตัวพวกเขาเกินไป 

     อีกเรื่องคือการทำคอลแล็บบ่อยเกินไปจะทำให้ทิศทางของแบรนด์ส่าย หนักกว่านั้นคือพอกลับมาทำคอลเลกชั่นของตัวเอง ลูกค้าดันไม่ซื้อ เพราะมองว่ามันไม่พิเศษ มันธรรมดาเกินไป 

แล้วไอเทมแต่ละชิ้นในคอลเลกชั่นพิเศษกับ ขายหัวเราะ มีความพิเศษยังไง

     เสื้อยืดมีสามลาย ประกอบไปด้วยเสื้อลายชนพื้นเมืองชาย-หญิง สีดำกับสีขาว เสื้ออะโลฮ่าแบบยุค 70s เป็นแนวฮาวายเอี้ยน ใช้ลายเส้นผู้หญิงใส่บิกินี่ของอาวัฒน์ ลงตัวมากๆ ผมคิดมานานแล้วว่าลายเส้นของอาวัฒน์เข้ากับความเป็นฮาวายเอี้ยนสุดๆ แล้วก็มีสเวตเตอร์สองสีที่ใช้นางเงือกของอาวัฒน์มาผสมผสานกับลูกโลก เหยี่ยว สมอเรือ เป็นสไตล์เสื้อนาวิกโยธินของสหรัฐฯ 

     สุดท้ายคือผมอยากเอาแก๊กติดเกาะมาทำอะไรสักอย่างให้แตกต่างจากคนอื่น เลยทำเป็นลายปักลงบนกางเกงขาสั้นที่เป็นไอเทมฮิตของเรา ซึ่งค่าปักแพงมาก น่าจะเป็นหนึ่งในไอเทมของ Rompboy ที่ต้นทุนแพงระเบิด จะปักเป็นลายให้กระจายเป็น repetition เสมอกัน แล้วแต่ละจุดเป็นติดเกาะคนละแบบ เป็นเกาะที่มีคนโวยวายแล้วมีปลาฉลามว่ายรอบๆ อีกจุดเป็นติดเกาะแบบเหงาๆ กางเกงสีกากีลิงก์กับหมวกสีเดียวกันซึ่งก็ปักลายติดเกาะ แต่คนละเนื้อหา ใส่ด้วยกันแล้วแมตช์แน่นอน เราคิดแบบ total looks ให้คุณใส่แล้วไม่เคอะเขิน 

     ความพิเศษอีกอย่างคือหนังสือการ์ตูนเล่มพิเศษที่ทำให้ Rompboy โดยเฉพาะ เนื้อหาด้านในมีทั้งบทความ มีการ์ตูนตามสไตล์ ขายหัวเราะ ซื้อครบ 2,000 บาทก็จะได้แถมไปด้วย ไม่มีวางขาย

     ผมว่าถ้าตัดเรื่องแฟนของ Rompboy หรือ ขายหัวเราะ ไปเลย นี่เป็นเสื้อผ้าที่สวยงาม ใส่ได้ทุกเพศทุกวัยจริงๆ ผู้ใหญ่ใส่ได้ วัยรุ่นใส่ได้ เด็กก็ใส่ได้

คุณเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า คุณไม่ได้มีความรู้ด้านธุรกิจ ก็เลยใช้ใจในการทำแบรนด์ Rompboy มาตลอด แล้วการคอลแล็บกับแบรนด์ในดวงใจครั้งนี้มันเติมเต็มคุณมากแค่ไหน

     เป็นครั้งที่ผมชุ่มฉ่ำหัวใจ เหมือนจีบผู้หญิงที่เราเล็งมานาน เธอสวย มีคาแร็กเตอร์ แล้ววันหนึ่งผมก็จีบติด แถมมารู้ทีหลังว่า โห เธอเป็นคนดี เป็นคนเก่งด้วยว่ะ ผมยิ่งฟิน การที่ Rompboy ได้ทำโปรเจกต์ร่วมกับ ขายหัวเราะ เป็นฟีลแบบนี้เลย 

     ที่สำคัญคือจะมีโพสต์โปรโมต ซึ่งทาง ขายหัวเราะ จะวาดตัวการ์ตูนใส่เสื้อผ้าของ Rompboy อันนี้โคตรฟิน ดีใจมาก เหมือนตอนนี้ผมได้ทุนคืนมาหมดแล้ว รายได้หรือผลตอบรับหลังจากนี้คือกำไรล้วน

ในฐานะที่คุณเติบโตมากับ ขายหัวเราะ จนวันหนึ่งได้มาทำโปรเจกต์ร่วมกัน คุณอยากเห็น ขายหัวเราะ เติบโตไปในทิศทางไหน

     (นิ่งคิด) ผมว่าโปรเจกต์นี้น่าจะจุดประกายให้ ขายหัวเราะ ได้ทำเมอร์แชนไดส์ดีๆ ออกมาอีก และอาจจะทำให้ ขายหัวเราะ ได้ออกไปร่วมงานกับแบรนด์อื่นๆ ได้ทำโปรเจกต์มันๆ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจว่านี่คือมรดก มันมีคุณค่า มีเอกลักษณ์ 

     ผมหวังเล็กๆ ว่าเด็กๆ อาจจะเห็นไอเทมที่เราทำวันนี้แล้วรู้สึกว่า ขายหัวเราะ เท่ว่ะ คืออะไรวะ แล้วตามไปอ่าน ผมว่าเด็กยุคใหม่ดูออกแหละว่าอะไรคือ OG อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่า 

     ทุกวันนี้ ขายหัวเราะ เป็นมากกว่าการ์ตูนแล้ว มีคอนเทนต์ออนไลน์ มีขายใน NFT ยิ่งอนาคตกำลังจะมี Metaverse ผมว่าสื่ออย่างการ์ตูนจะมีบทบาทมากในโลกใบนั้น ถ้า ขายหัวเราะ กระโจนเข้าไปตรงนี้ได้ก่อน พวกเขาจะไปได้ไกลมากๆ 

     อาจจะไปถึงการเป็นการ์ตูนที่ให้แรงบันดาลใจกับเด็กอีกรุ่นหนึ่ง เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดึงดูดคนต่างชาติเข้ามาทำความรู้จักกับประเทศเรา เหมือนกับที่การ์ตูนญี่ปุ่นเคยสร้างแรงบันดาลใจให้ผม 

     ดูรายละเอียดและพรีออร์เดอร์ ‘Rompboy x Kaihuaror: Thai Classic Comic special edition’ ได้ที่เพจ Rompboy หมดเขตวันพุธที่ 8 ธันวาคม 2564