Wed 10 Feb 2021

MADE BY MOM, FOR EVERYONE.

คุยกับ ‘สุภลักษณ์ อันตนนา’ คุณแม่ลูกสองและเจ้าของสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือสนุกๆ เพื่อความสุขของพ่อแม่ลูก

     “ขนาดแก่แล้วยังอ่านสนุกและได้ความคิดกับความรู้สึกดีๆ กลับมา”

     เพราะประโยคที่พี่แหม่ม—วีรพร นิติประภา ทิ้งท้ายถึงหนังสือนิทานเด็กสามเล่มที่เลือกมาแนะนำในโปรเจกต์ 31DAYS31READERS ของพวกเราเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกอยากกลับไปอ่านนิทานอีกครั้ง สวมบทบาทเป็นเด็กที่เปิดหนังสือนิทานภาพสวยตรงหน้า โดยไม่สนใจว่ามันจะเกี่ยวกับอะไร ใครเป็นคนเขียน หรือชนะรางวัลอะไรมา

     ผมลองทำมันจริงๆ ในบ่ายวันหนึ่ง ระหว่างที่ ทราย—สุภลักษณ์ อันตนนา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ SandClock Books เดินไปสั่งกาแฟ เพราะหนังสือนิทานกองโตสีสันจัดจ้านที่เธอนำมา เย้ายวนให้ผมต้องถือวิสาสะหยิบมาเปิดอ่านเองทีละเล่ม 

     แน่นอนว่าผมไม่พลาดที่จะหยิบ แม่จ๋าอย่าโมโห และ พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด นิทานสองเล่มที่พี่แหม่มเคยแนะนำไว้ขึ้นมาอ่าน

     นอกจากภาพวาดที่น่ารัก เรื่องราวของตัวละครที่สนุกชวนให้พลิกอ่านต่อ ผมพบว่าเมื่อกลับมาใช้สายตาแบบผู้ใหญ่ ความสนุกก็เปลี่ยนไปเป็นความประทับใจ ที่มีผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งพยายามพาเด็กออกไปเที่ยวโลกกว้าง ปล่อยให้เด็กเรียนรู้ผ่านการผจญภัยไปกับตัวละคร 

     ไม่มีคำสอน ไม่มีแง่คิดสอนใจ ไม่มีเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าใดๆ รออยู่ท้ายเล่ม

     หนังสือเล่มใหญ่อีกสองสามเล่มวางอยู่ไม่ไกลมือ แม้ยังไม่ได้เปิดอ่าน แต่สายตาก็พอจะมองเห็นว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก (Parenting) ซึ่งเป็นหนังสือขายดีอีกกลุ่มหนึ่งของ SandClock Books 

     ผมไม่เคยอ่านหนังสือเลี้ยงลูกมาก่อน ไม่ใกล้เคียงกับการมีลูกด้วยซ้ำ ไม่รู้เลยว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่อ่านอะไรกัน  แต่มั่นใจว่ามันจะต้องซับซ้อนและยากไม่ต่างกับการเรียนหนังสือแน่ๆ 

     ไหนๆ ทรายก็เดินถือกาแฟกลับมาที่โต๊ะแล้ว ให้เธอเล่าด้วยตัวเองน่าจะดีกว่า ทั้งเรื่องราวที่มาของสำนักพิมพ์ มุมมองการเลือกต้นฉบับ และสิ่งที่ได้จากการคลุกคลีกับหนังสือเลี้ยงลูกและนิทานเด็ก ในฐานะที่เธอเป็นบรรณาธิการผู้เริ่มต้นก่อร่างสร้างสำนักพิมพ์ (ซึ่งมีอายุ 5 ขวบเท่ากับลูกคนโตของเธอ) ไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงดูลูกน้อยทั้งสองคนให้เติบโตอย่างมีความสุข

จุดเริ่มต้นของ SandClock Books ต้องย้อนกลับไปไกลแค่ไหน

     คงต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่ธุรกิจของพ่อแม่คือโรงงานเข้าเล่มไสกาว ซึ่งอยู่ในเครือธุรกิจของคุณลุง คือโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ นอกจากงานเข้าเล่มให้ภาพพิมพ์ ก็จะมีลูกค้าอย่างสำนักพิมพ์ดังๆ สมัยก่อน เช่น ดอกหญ้า ประพันธ์สาส์น ณ บ้านวรรณกรรม สามัญชน นิตยสารอย่าง GM หรือ THE BOY ส่งมาเข้าเล่มที่บ้านเรา พอเข้าเล่มไสกาว ตัดสามด้านเสร็จ หนังสือก็จะมาวางอยู่ที่โต๊ะพ่อกับแม่ เราก็มีเพื่อนเป็นหนังสือนี่แหละ สมัยนั้นดอกหญ้าจะมีวรรณกรรมเยาวชน เทพนิยายจากประเทศต่างๆ นวนิยายจากนักเขียนดังๆ เยอะ เราก็ได้อ่านฟรีมาโดยตลอด 

     เราว่าเพราะได้หยิบจับ ได้อยู่กับหนังสือเยอะๆ ก็เลยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เลือกเรียนด้านภาษา ในคณะอักษรศาสตร์ เอกญี่ปุ่น ได้เรียนพวกวิจารณ์วรรณกรรม ได้อ่านวรรณกรรม วรรณคดีในระดับที่ลึกขึ้นอีกหน่อย แต่ตอนเรียนจบยังไม่รู้จะทำอะไรดี ก็เลยไปสมัครแอร์โฮสเตส

อะไรที่ดึงให้กลับมาใช้ชีวิตกับตัวหนังสืออีกครั้ง

     ช่วงที่เราเป็นลูกน้องคนอื่นมาได้ระยะหนึ่งมั้ง หลังจากเป็นแอร์โฮสเตส ก็ไปทำมาร์เก็ตติ้งให้บริษัทญี่ปุ่น แล้วก็ไปเรียน MBA ที่เบอร์ลิน จนกลับมาไทยก็เลือกมาทำงานกับภาพพิมพ์ มีพี่ชายเป็นเจ้านาย เราเสนอตัวว่าอยากทำ Sales & Marketing ให้ ตอนนั้นก็เป็นคนเปิดเพจเฟซบุ๊ก ทำ PR ดูแลลูกค้า เป็นคนดีลกับสำนักพิมพ์หลายๆ แห่ง ก็เหมือนเป็น AE (Account Executive) คนหนึ่งเลย 

     ช่วงท้ายๆ ก่อนจะทำงานครบ 5 ปี เราไปเที่ยวญี่ปุ่น ไปเดินดูร้านหนังสือของเขาแล้วรู้สึกว่า หนังสือเลี้ยงลูกกับหนังสือเด็กบ้านเขาเจ๋งจัง มีแบบนี้ด้วยเหรอ เพราะเราอยู่ในวงการหนังสือมาสักพัก ก็พอจะรู้ว่ามีอะไรหรือไม่มีอะไรในตลาดบ้านเราบ้าง 

ตลาดหนังสือเลี้ยงลูกบ้านเราสมัยก่อนเป็นยังไง?

     มักจะเป็นหนังสือแปลมาจากสหรัฐฯ ซึ่งก็จะขาดบริบทแบบเอเชียและฝั่งยุโรป หรือไม่ก็เป็นหนังสือที่ทำมานานแล้วสมัยรุ่นแม่เราอ่าน ไม่ได้อัพเดต อาร์ตเวิร์กดีไซน์กับวิธีการเล่าอาจจะน่าเบื่อไปหน่อยสำหรับยุคนี้ เราคิดว่าถ้าได้ลองทำ ก็อยากทำได้สนุกกว่านี้ ยิ่งเราอยู่ในสายงานโรงพิมพ์ ได้เห็นดีไซน์หนังสือประเภทอื่นๆ ที่ทำออกมาแล้วสนุก ตอนนั้น Openbooks Openworld ก็ทำหนังสือดีๆ เยอะ a book ก็ทำหนังสือสวย ก็คิดว่าแล้วทำไมวงการแม่และเด็กจะทำหนังสือสนุกและหน้าตาสวยงามบ้างไม่ได้

แล้วคุณทำยังไงต่อ

     ก็ลองติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เอง ตอนนั้นเราก็ใช้วิธีหว่านแห ทยอยติดต่อไปหลายเจ้าเลย บางเล่มมีคนซื้อไปแล้วบ้าง บางสำนักพิมพ์ก็ยังไม่ยอมรับเราบ้าง เพราะเราไม่เคยทำหนังสือเองเลยสักเล่ม บางเจ้าเราก็บินไปหาถึงญี่ปุ่น เขาก็รับนามบัตรไว้ ขอไปคิดก่อน บางเจ้าก็บอกว่า ให้เราไปทำหนังสือแปลญี่ปุ่นมาให้ครบ 10 เล่มก่อนแล้วค่อยกลับมาคุยกันใหม่ 

     จนมาเจอหนังสือชื่อ พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น เวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น ที่คิโนะคูนิยะ สาขาอิเซตัน เรายืนอ่านแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย มันอ่านง่ายนะ สนุก ในไทยยังไม่ค่อยมีแนวนี้ด้วยก็เลยลองติดต่อสำนักพิมพ์ที่ญี่ปุ่นไป ก็โชคดีที่เขาไม่ปฏิเสธเรา แล้วก็กลายเป็นเล่มแรกของสำนักพิมพ์ SandClock Books

คุณมองเห็นอะไรจากหนังสือเล่มนี้

     เห็นตัวเองในวัยเด็ก เล่มนี้เป็นแนวฮาวทูว่าด้วย 66 ประโยคที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก แล้วบางประโยคมันเป็นประโยคที่แม่เคยพูดกับเราตอนเด็ก ตอนนั้นพ่อแม่หรือผู้ใหญ่อาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำหรับเราคำพูดมันทำให้สะเทือนใจ หรือรู้สึกแย่กับตัวเองได้นะ พอได้อ่านเล่มนี้ก็ยิ่งตอกย้ำกับเราว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เด็กหลายคนก็อาจจะโดนแบบนี้ เราเลยอยากช่วยเด็กๆ อยากให้พ่อแม่เขาได้อ่านแนวจิตวิทยาในการเลี้ยงลูก

     จริงๆ มีอีกเล่มหนึ่งที่ติดต่อไปก่อน แต่เขาติดต่อกลับมาหลังจากนั้นก็คือ Bringing up Bébé เลี้ยงลูกแบบผ่อนคลายสไตล์คุณแม่ฝรั่งเศส เป็นบันทึกประสบการณ์ของคุณแม่ชาวอเมริกันที่ไปเลี้ยงลูกในประเทศฝรั่งเศส สองเล่มนี้มีแนวคิดคล้ายๆ กันอย่างหนึ่งคือ เราควรปฏิบัติต่อลูกในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ต่างกันก็แค่ culture บางอย่างของฝรั่งเศส เช่น การฝากลูกไว้กับพ่อ แล้วให้แม่ไปปาร์ตี้กับเพื่อนบ้าง พ่อแม่ฝากลูกแล้วไปเดตกันบ้าง คือนักเขียนเขาพยายามบอกว่า แม่ก็ต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ว่าแม่ต้องอยู่กับลูกตลอดเวลา เราอ่านแล้วก็รู้สึกว่า เออ บ้านเขาเลี้ยงลูกชิลล์ดีนะ พ่อแม่ไม่ต้องเป็นเทวดา หรือเป็นทาสรับใช้ลูกทั้งวันก็ได้

หนังสือบันทึกประสบการณ์คุณแม่ในต่างประเทศน่าสนใจยังไง

     เราว่ามันสนุกนะ อย่างแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่กับแม่ที่ลูกยังเล็กมากๆ เด็กนอนแทบทั้งวัน เราจะเชียร์ให้เขาอ่านพวกบันทึกประสบการณ์ก่อน เพราะคุณยังมีเวลาอ่าน และมันก็เปลี่ยนทัศนคติของคุณได้เลย เพราะก่อนมีลูก วิถีชีวิตของคุณคือ working woman คุณอาจไม่เคยสนใจเรื่องการตั้งครรภ์ หรือการเลี้ยงเด็กมาก่อน ดังนั้นการรู้อะไรแบบนี้ก่อนคลอดลูกก็จะช่วยปรับวิธีคิด มองภาพรวมออก อ่านแล้วตาสว่างวาบว่า เฮ้ย มันมีวิธีเลี้ยงลูกมากมายขนาดนี้เลยเหรอ อีกโลกหนึ่งเขาปล่อยให้เด็กกินเอง เล่นโคลน คลุกดิน พ่อแม่ลาคลอดกันได้เป็นปีแถมมีเงินเดือนให้ มีหน่วยงานรัฐมากมายที่ซัพพอร์ตชีวิตคนเป็นแม่ หรือที่เยอรมนี มีสไลเดอร์ในสนามเด็กเล่นสูงเท่าตึก 2-3 ชั้น แล้วแม่ก็นั่งจิบกาแฟรอลูกอยู่ข้างล่าง ปล่อยให้ลูกเล่นเองก็มี 

     เรื่องเล่าแบบนี้มันทำให้คนอ่านเก็ตว่า ทำแบบนี้ก็ได้นะ วิธีเลี้ยงลูกมีหลายสไตล์ ซึ่งเราว่าการเปิดโลกของคุณพ่อคุณแม่สำคัญมาก เพราะวันแรกที่คุณอุ้มลูกกลับมาบ้าน คุณจะยังเงอะๆ งะๆ ปู่ย่าตายายมาบอกให้คุณทำอย่างนั้นอย่างนี้เท่าที่ประสบการณ์เขามี แต่พอคุณได้อ่านบันทึกประสบการณ์ของคนอื่น คุณจะค่อยๆ เข้าใจว่า อ๋อ คุณก็มีจุดยืนและเลือกวิธีการเลี้ยงลูกในแบบของคุณเองได้เหมือนกัน 

ในฐานะที่คุณก็เป็นแม่ การอ่านหนังสือเลี้ยงลูกจากหลายๆ ประเทศ มันส่งผลต่อการเลี้ยงลูกอย่างไรบ้าง

     ก็มีบ้าง ในแง่เทคนิคก็อย่างเช่นลูกนอนยาวได้ตั้งแต่เล็กๆ ลูกกินข้าวเองได้ ลองจัดบ้านด้วยแนวคิดที่ปล่อยให้เขาสำรวจบ้านเองได้ ในแง่จิตใจก็ปล่อยวางได้มากขึ้น ไม่หวั่นไหวกับกระแสการตลาดในวงการแม่และเด็กมากเกินไป พออ่านเยอะๆ แล้วเราพบว่า ก็แล้วแต่คุณจะเลี้ยงนั่นแหละ แต่ละบ้านก็มี culture เป็นของตัวเอง มีข้อจำกัดต่างกัน บางบ้านอาจจะไม่ปล่อยให้ลูกดูทีวี บางบ้านอาจจะหยวนๆ บางบ้านอาจมีภาระ จำเป็นต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย การไปฟันธงบอกว่าวิธีไหนถูกหรือผิดคงไม่แฟร์เท่าไหร่ วิธีไหนที่คุณใช้แล้วเวิร์ก ไม่เครียด ยังยิ้มได้ วิธีนั้นถือว่าโอเคแล้ว หนังสือที่เราทำทุกเล่มจะไม่บังคับให้คุณต้องทำอะไร แค่บอกเป็นแนวทาง ให้คุณเลือกไปปรับใช้เอง

     แต่เราว่าแนวคิดหลักที่แทบทุกเล่มสมัยนี้พูดเหมือนกันคือ เราต้องปฏิบัติกับลูกเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง เมื่อเขาเริ่มทำอะไรได้เอง เริ่มมีความคิด ความเห็นเป็นของตัวเอง ก็ต้องค่อยๆ ปล่อยให้เขามีชีวิตของตัวเอง แม้แต่เรื่องหนังสือนิทาน เราคิดว่าพอถึงจุดหนึ่ง พ่อแม่ก็ควรจะค่อยๆ ปล่อยให้ลูกได้เลือกหนังสือที่เขาสนใจอยากอ่าน เขาอาจจะเผลอเลือกหยิบหนังสือที่มีเนื้อหาผู้ใหญ่หรือล่อแหลมบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าพออ่านจบปุ๊บ เขาจะกลายเป็นคนไม่ดี ตอนสมัยประถมเราก็เคยเผลอหยิบ เทพธิดาโรงแรม หรือนิตยสาร GM มาอ่านนะ พอเปิดไปหน้าหลังๆ เจอเนื้อหาผู้ใหญ่ก็ตกใจนิดนึง เปิดโลกเลย (หัวเราะ) แต่มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้สังคม มองเห็นความหลากหลาย แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ เป็นหน้าที่ของสังคมที่ต้องผลิตหนังสือและเนื้อหาที่มีคุณภาพด้วย 

     อีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าได้จากการอ่านหนังสือแนวนี้คือ ได้รู้ว่าในประเทศที่มีสวัสดิการรัฐที่ดี พ่อแม่จะมีตัวช่วยเยอะมากๆ มีสถานรับเลี้ยงเด็กที่คุณภาพสูง ห้องสมุดทุกมุมเมือง สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นเจ๋งๆ รัฐควบคุมดูแลบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด แม่เลี้ยงเดี่ยวก็มีเงินช่วยเหลือพิเศษ มีคนจากภาครัฐตระเวนเยี่ยมตามบ้าน ติดตามดูคุณแม่และการเติบโตของเด็ก พอเริ่มทำหนังสือแนวนี้ได้ 4-5 เล่มก็คิดว่า พ่อแม่และเด็กๆ ที่นั่นช่างโชคดีจริงๆ

ตอนที่เริ่มทำมั่นใจแค่ไหนว่าหนังสือที่ไม่ค่อยมีในไทยมาก่อนจะขายได้

     เล่มแรกนี่ไม่มั่นใจเลย เราเอาต้นฉบับ พูดกับลูกฯ ไปให้คนรอบตัวทดลองอ่านเยอะมาก แทบทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าจะดีเหรอ ขายไม่ได้หรอก มันก็บั่นทอนใจเราไปครึ่งหนึ่ง แต่เราคิดว่ายังไงก็ต้องมีก้าวแรก เราเป็นคนชอบลอง ยิ่งทำคนเดียว ไม่มีหุ้นส่วน ไม่มีนายทุนก็เลยไม่ต้องไปถกเถียงกับใคร แค่มีพี่ชายเจ้าของโรงพิมพ์เป็นที่ปรึกษา ทุกอย่างคือตัวเราเองทั้งหมด มันอาจจะผิดก็ได้ แต่เราก็ทำไปตามสไตล์ของเรา ถ้าเสี่ยงมากเกินไปก็ยั้งไว้ก่อน

     ตอนเล่มแรก เราเลยเลือกเปิดตัวหนังสือบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ให้คนพรีออร์เดอร์ โดยที่เราโพสต์ปกกับเนื้อในบางส่วนให้คนลองอ่านก่อน ให้เขาเห็นว่าเล่มนี้อ่านง่าย ลองซื้อโฆษณาในเฟซบุ๊กเอง ตอนนั้นลองไม่กี่ร้อยบาท ปรากฏว่ายอดแชร์เยอะมาก อินบ็อกซ์ถล่มทลาย แต่ก็เป็นเฟซบุ๊กในสมัยนั้นนะ โพสต์อะไรไปคนก็ยังเห็น หลังจบพรีออร์เดอร์ก็ส่งเข้าร้านหนังสือ ได้รีปรินต์ แล้วก็พอดีกับช่วงงานสัปดาห์หนังสือฯ เลยไปฝากตามบูทสำนักพิมพ์ซึ่งก็เป็นลูกค้าของภาพพิมพ์นั่นแหละ จังหวะมันพอดีทุกอย่าง เล่มนั้นเลยประสบความสำเร็จประมาณหนึ่ง

สำนักพิมพ์ของคุณเริ่มเข้าที่เข้าทางหรือยัง หรือตอนที่ปล่อยเล่มแรกๆ ออกไปมีฟีดแบ็กอย่างไรบ้าง?

     เริ่มเข้าที่แล้ว พอทำไปสักพักก็จะค่อยๆ เข้าใจสไตล์การทำงานของตัวเอง อย่างเราชอบทำงานคนเดียว และเลือกที่จะเป็นแม่ full-time ดังนั้นพวกงานบัญชี งานแพ็กของส่งก็จะให้ outsource จัดการทุกอย่าง โชคดีมากๆ ที่มีแอดมินเก่งๆ มาช่วยทำงานประสานงานกับลูกค้า 

     ส่วนในแง่ของโมเดลธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอ่าน มักจะมีคุณแม่ทักอินบ็อกซ์มาคุยกับเราเรื่อยๆ บ้างก็พูดคุยเรื่องลูก บ้างก็แนะนำหรือถามถึงต้นฉบับจากต่างประเทศว่าเรามีแพลนจะทำหนังสือเล่มนี้ไหม วงการแม่ลูกอ่อนช่วงตีสองตีสามเป็นช่วงที่คึกคักมากเลยนะ ปั๊มนมไป คุยปรึกษากันไป ขายหนังสือไป (หัวเราะ) เราก็เลยเก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ จนพบว่า อ๋อ คนที่อ่านสำนักพิมพ์เราส่วนใหญ่มีพฤติกรรมประมาณไหน มักมีลูกเล็กไม่กี่ขวบ เป็นคุณแม่ที่ชอบอ่านหนังสือ จากที่เคยเล็งไว้ว่าจะทำหนังสือประเภทอื่นๆ สำหรับผู้ใหญ่ เราก็กลับมาโฟกัสให้ตรงจุดสำหรับแม่และเด็กมากขึ้น

ในยุคที่กรุ๊ปเฟซบุ๊กหรือกรุ๊ปไลน์ของคุณแม่มีเต็มไปหมด เพจสอนเลี้ยงลูกก็มีไม่น้อย หนังสือเลี้ยงลูกยังจำเป็นอยู่หรือเปล่า

     ถ้านับเฉพาะแนวฮาวทู ไม่นับแนวบันทึกประสบการณ์ เรามองว่าหนังสือแต่ละเล่มถูกเขียนขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ ต่อให้เราผ่านการเลี้ยงลูกมาแล้ว จะให้เขียนเองก็คงไม่ได้แบบนี้ แต่ผู้เขียนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นหมอ พยาบาล หรือคุณครู เขาสั่งสมประสบการณ์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กอยู่ตลอด เจอเคสมากมาย และยังมีทีมบรรณาธิการเก่งๆ คอยตรวจสอบสิ่งที่เขียนอีกด้วย 

     เราว่าเพจที่ทำคอนเทนต์ดีๆ ก็ยังอ่านได้นะ แต่เราว่าบางเรื่องที่ต้องฝึกลูกในระยะยาว เช่น ฝึกให้ลูกนอนยาว หรือฝึกให้ลูกกินเอง การเลี้ยงดูแนวมอนเตสซอรี เรื่องแบบนี้มันก็มีวิธีการและลำดับ มีสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าทำแบบนี้แล้วไม่ได้ผล หรือทำแล้วผลออกมาอีกแบบหนึ่ง เราต้องแก้ยังไง ถ้ามีข้อจำกัดแบบนี้ต้องปรับตรงไหน หนังสือมันจะลงลึกในระดับนั้น แล้วภาพประกอบหรือสีสันในเล่มก็ช่วยทำให้เข้าใจมากขึ้นด้วย 

การทำหนังสือเลี้ยงลูกพร้อมๆ กับการเลี้ยงลูกจริงๆ ส่งผลซึ่งกันและกันยังไงบ้าง

     อย่างแรกเลยก็คือ การมีลูกทำให้เราตัดสินใจออกจากงานประจำในโรงพิมพ์มาทำหนังสือ (หัวเราะ) ตอนลูกทั้งสองคนยังเล็กๆ สำนักพิมพ์เราก็ยังออกหนังสือน้อยมาก ปีละ 2-3 เล่มเอง เพราะเราอยากทุ่มเวลาไปกับลูก 

     เราว่า SandClock Books มันคือตัวเรา เติบโตไปพร้อมๆ เรากับลูก อย่างตอนนี้ลูกอายุ 3 ขวบกับ 5 ขวบ เรื่องป้อนนมลูก หัดกินข้าวก็จะพ้นไปจากความสนใจของเราแล้ว เรามีเวลามากขึ้น หลังๆ มานี้ก็เริ่มสนใจนิทาน เพราะอ่านกับลูกๆ แทบทุกวัน ไม่แน่ว่าในอนาคตก็อาจจะตีพิมพ์หนังสือแนววรรณกรรมเยาวชนด้วย เพราะเราคิดว่าถ้าในตลาดมีหนังสือเด็กที่ดี วรรณกรรมเยาวชนที่ดีเยอะๆ มันจะช่วยส่งเสริมความคิดความอ่านของเด็กได้มากขึ้น

     จริงๆ ก็ยังมีหนังสือแนวอื่นๆ ที่ทำเพราะเราสนใจเอง เช่น วิชาครัวตัวเบา สไตล์แม่บ้านญี่ปุ่น (Kitchen Management) ว่าด้วยเรื่องการจัดครัว ซึ่งขายดีมากในญี่ปุ่น หรือล่าสุดเรื่องที่เราสนใจและกำลังทำต้นฉบับอยู่ก็คือเรื่องแคมป์ปิ้งสไตล์ญี่ปุ่น จะว่าไปก็ถือเป็นสำนักพิมพ์ที่เอาแต่ใจพอสมควรเลย (หัวเราะ)

พอคุณขยับมาทำนิทานและวรรณกรรมเด็ก วิธีการเลือกต้นฉบับเปลี่ยนไปไหม

     ไม่เปลี่ยนนะ เพราะตอนทำแนว Parenting หรือแนวฮาวทู ถ้าเราชอบเล่มไหนก็ติดต่อซื้อลิขสิทธิ์มาทำเลย ซึ่งเราเองก็ซื้อหนังสือเด็กมือสองจากต่างประเทศมาอ่านกับลูกเยอะมาก พออ่านให้ลูกฟังหลายๆ เล่มเข้าก็รู้สึกเหมือนตอนทำหนังสือฮาวทูเลี้ยงลูก เฮ้ย ทำไมเล่มนี้สนุกจัง บางเล่มลูกก็หยิบมาอ่านวันหนึ่งเป็นสิบกว่ารอบก็มี บางเล่มมีแปลไทยแล้ว บางเล่มยังไม่มีคนทำ แล้วเนื้อหาก็ค่อนข้างแปลกไปจากที่เคยอ่าน ลายเส้นหรือตัวละครวาดได้สวยและประณีตมาก เล่าเรื่องก็สนุก 

     อย่างเล่ม รถไฟแปรงสีฟัน ออกเดินทางแล้วจ้า! เป็นหนังสือสอนเด็กแปรงฟัน โดยเขาใช้วิธีเล่าว่าแปรงสีฟันคือรถไฟแล่นเข้าไปในปาก แล้วก็จอดตามสถานี หรือฟันแต่ละส่วน โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องปวดฟัน ไม่ต้องขู่เรื่องฟันผุ แต่สอนให้เด็กเห็นกระบวนการในการแปรงฟัน แค่นี้ก็สนุกแล้ว เราเลยเข้าใจว่านิทานก็มีวิธีสื่อสารได้หลายทาง หรืออย่างบางเล่มก็สามารถพูดถึงเรื่องที่ปกติคนจะไม่ค่อยพูดกับเด็ก เช่น ความตาย ซึ่งเร็วๆ นี้กำลังจะตีพิมพ์นิทานเรื่อง คิดถึงนะครับแม่ ก็เป็นนิทานที่เกี่ยวกับความตายของแม่ พูดถึงวิธีจัดการอารมณ์ตัวเองเมื่อคนที่เรารักที่สุดตายจากไป หรืออย่างเรื่องความโกรธ (ยื่นหนังสือให้) แม่จ๋าอย่าโมโห นิทานที่ว่าด้วยเหตุการณ์หลังแม่ตวาดใส่ลูก

(ลองพลิกอ่าน) เนื้อหามันค่อนข้างหม่นเหมือนกันนะ เด็กๆ เขาเอนจอยกับเนื้อหาแบบนี้ด้วยเหรอ

     เด็กก็จะสนุกในแบบของเขา ซึ่งเป็นความเข้าใจเนื้อหาในเลเวลที่ต่างกับเรา เด็กแต่ละวัยแม้จะอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ก็อาจจะตีความหนังสือไม่เหมือนกัน ได้รับอรรถรสแตกต่างกัน ส่วนคนเป็นแม่อ่านจบแล้วก็มักจะน้ำตาซึม 

     จริงๆ เคยมีวัยรุ่นทวีตถึง แม่จ๋าอย่าโมโห ด้วย เพราะเขาอ่านแล้วเหมือนได้รำลึกถึงวัยเด็กที่โดนแม่ตวาด แล้วคนก็รีทวีตกันเยอะมาก เพราะทุกคนมีประสบการณ์ร่วม อ่านแล้วนึกถึงตัวเอง ซึ่งก็เป็นจุดเปลี่ยนของเราด้วยว่า อยากทำนิทานสองแบบ แบบแรกคือเด็กอ่านเอาสนุกไปเลย กับอีกแบบที่เด็กก็อ่านสนุก แต่สื่อสารบางประเด็นที่สำคัญซึ่งคนมักไม่พูดถึงให้นักอ่านวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ได้ฉุกคิด เพราะในวันหนึ่งพวกเขานี่แหละที่จะไปเป็นพ่อแม่คน 

     ว่าแต่คุณมีลูกหรือยังคะ? 

ยังครับ 

     คือพอคุณมีลูก คุณจะเหมือนได้เกิดใหม่เป็นอีกคน เป็นมนุษย์คนใหม่ที่คอยกังวลกับสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ เจ้าเด็กน้อยที่อยู่ข้างๆ เขาจะคอยมองคุณ เฝ้าสังเกตพฤติกรรม แอบดูสีหน้าเรา เช็กอารมณ์เราตลอดเวลา แล้วถ้าเขาโกรธเขาก็จะรู้วิธีตอบโต้ ทำยังไงถึงจะทิ่มแทงใจดำของคุณ (หัวเราะ) 

     คุณจะได้ตระหนักรู้จักตัวเองมากขึ้นว่า คุณทำงานประดิษฐ์ได้ห่วยแตกมาก คุณสมาธิสั้นมาก มันคือการกลับไปรื้อตัวตนข้างใน เราเคยทำอะไรไว้กับพ่อแม่ หรือมี trauma (บาดแผลในจิตใจ) อะไรในใจ มันกลับมาหมดเลย ไม่เชิงเป็นการสอน แต่เราว่าการที่นิทานมีแง่มุมต่างๆ หลากหลาย เช่น เรื่องความซื่อสัตย์กับการเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง คิดอะไร รู้สึกอย่างไรก็จงกล้าพูดออกไป ล้มได้ก็ลุกขึ้นใหม่ได้ ทุกแง่คิดในนิทานของเด็ก มันทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราได้ย้อนเวลากลับไปสำรวจตัวเองอีกครั้ง แล้วหาทางไปต่อ

การทำหนังสือให้เด็กอ่านต้องใส่ใจเรื่องไหนเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า

     เราเชื่อว่านิทานเด็กที่เราเลือกมา นักเขียน นักวาด ทีมงานที่ทำต้นฉบับเขาคิดมาหมดทุกอย่างแล้ว ประเทศเหล่านี้เขาทำกันมานาน มีผู้เชี่ยวชาญ ทุกจุดคิดมาแล้วว่าต้องเล่าอะไร วาดอะไร ซ่อนอะไรตรงไหน พื้นที่กระดาษและเนื้อหาในแต่ละหน้าต้องเป็นอย่างไร วางตรงไหนถึงจะพอดีกับจังหวะการอ่าน ดังนั้นทั้งอาร์ตเวิร์ก ฟอนต์ ขนาดรูปเล่ม กระดาษ ถ้าเป็นนิทานเด็กเราจะเคารพต้นฉบับเดิมแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ มาแบบไหนเราก็จะทำให้ออกมาแบบนั้น ที่ปกหนังสือเราจึงไม่ค่อยมีคำโฆษณานอกเหนือไปจากที่ต้นฉบับมี ส่วนหนังสือฮาวทูผู้ใหญ่ หรือหนังสือประเภทอื่นๆ เราจะนำมาปรับดีไซน์ให้สนุก และเข้ากับคนไทยมากขึ้น 

     เราโชคดีมากที่ได้เจอคนร่วมงานที่ดี เราเป็นแค่คนที่เลือกหนังสือ แต่คนที่ทำให้หนังสือออกมามีคุณภาพก็คือ นักออกแบบ นักแปล บ.ก. แม่ๆ ผู้อ่านทุกคนที่ฟีดแบ็กหลังไมค์มาหาเราเรื่อยๆ ว่าเล่มนี้สนุกตรงไหน บางเล่มไม่โอเคตรงไหน รวมถึงโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ (หัวเราะ) ขอไทอินไปด้วย 

แสดงว่านอกจากเนื้อหาแล้ว สเปคหนังสือก็สำคัญ?

     ใช่ อย่างการทำปกแข็ง เราเลือกทำแบบนี้เพราะมันทำให้หนังสือทนทานที่สุด เด็กอ่านนิทานเล่มหนึ่งไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่อ่านครั้งเดียวแล้วเก็บเข้าตู้ไปเลย เขาอ่านทีหลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้ง ปกแข็งจึงตอบโจทย์มากๆ แถมยังช่วยให้เด็กกางหนังสือได้มากกว่า 180 องศา เวลาคุณครูอ่านให้เด็กหลายๆ คนฟัง พี่น้องนั่งขนาบซ้ายขวาของแม่แล้วอ่านไปพร้อมกัน ก็จะมองเห็นภาพได้ชัดเจนทุกคน ซึ่งถ้าไม่ได้ทำเป็นปกแข็ง เปิดหนังสือได้ไม่สุด เนื้อหาบางส่วนก็จะถูกบีบเข้าสันด้านใน เด็กเล็กก็คงไม่มีแรงมากพอจะง้างหนังสือ 

     อีกเรื่องคือเวลาเก็บหนังสือก็จะไม่หักงอ เก็บได้นานในสภาพดี ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ เป็นคุณค่าหนึ่งที่คนเป็นแม่ก็พร้อมจะลงทุน แต่จริงๆ ปกอ่อนก็มีข้อดี แลกกับราคาที่ต่ำลง น้ำหนักเบากว่า ถ้าเรามีเงินทุนมากกว่านี้ก็อยากทำทั้งสองเวอร์ชั่นให้คนอ่านได้เลือก 

หนังสือเด็กบ้านเราถือว่าราคาสูงไหมเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

     ก็แพงนะ คือถ้าเทียบมูลค่าราคาต่อเล่มก็เกือบเท่านิทานของต่างประเทศเลย แต่ถ้าเทียบกับค่าครองชีพบ้านเรา ราคาหนังสือนิทานปกแข็งบางเล่มเกือบเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำหนึ่งวัน ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ค่าแรงขั้นต่ำหนึ่งชั่วโมงอยู่ที่ประมาณ 900 เยน แต่ราคานิทานของเขาอยู่ที่ประมาณ 900-1,400 เยน ทำงานหนึ่งชั่วโมงก็ซื้อนิทานให้ลูกได้หนึ่งเล่มแล้ว

     ในฐานะคนเป็นแม่ เรามองว่าไม่จำเป็นต้องซื้อนิทานทุกเล่มที่วางตลาด หรือที่คนอื่นรีวิวแนะนำก็ได้ คือราคาของการมีลูกนั้นสูงมาก มันก็วกกลับมาที่เรื่องรายได้ของประชาชน สภาพเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคมเรา ดังนั้นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือ ภาครัฐต้องหามาตรการมาซัพพอร์ต ทั้งประชาชนและสำนักพิมพ์ผู้ผลิตเนื้อหา 

ถ้ามองจากมุมของประชาชนและสำนักพิมพ์ คุณคาดหวังให้รัฐสนับสนุนอะไรบ้าง

     อย่างน้อยรัฐต้องเลือกโฟกัสให้ถูกจุด ค่าผลิตหนังสือหนึ่งเล่ม ครึ่งหนึ่งหมดไปกับค่ากระดาษ ประเทศเราต้องนำเข้ากระดาษเยอะมากในราคาแพง ผู้ผลิตกระดาษในบ้านเราก็มีน้อยเลยกลายเป็นธุรกิจที่ผูกขาด พอคนมีกำลังซื้อน้อย นิทานเลยถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพง ทำให้ยอดขายต่ำ ก็เลยต้องผลิตจำนวนน้อย พอผลิตน้อยก็แลกมากับราคาต่อหน่วยที่แพง ทุกอย่างมันเลยเป็นวงจรอุบาทว์

     ที่สำคัญที่สุดคือ พื้นที่สาธารณะ อย่างห้องสมุดที่เพิ่งสร้างตรงราชดำเนิน คุณมีงบประมาณในการสร้าง มีงบทำให้ตึกสวยงาม แต่เมื่อพูดถึงงบซื้อหนังสือกลับไม่มี ต้องรอรับบริจาค หนังสือดีๆ ก็ไปไม่ถึงห้องสมุด เข้าไม่ถึงประชาชนที่รายได้ต่ำ ถ้าอยากลดความเหลื่อมล้ำ อยากพัฒนาสังคมจริงๆ รัฐต้องสร้างห้องสมุดประจำหมู่บ้านทั้งประเทศ มีห้องสมุดสำหรับเด็ก มีมุมนิทานที่ใครๆ ก็เข้ามาใช้ได้ ยิ่งถ้าให้คนในท้องถิ่นจัดการกันเองได้จะดีมากๆ เพราะปัญหาในทุกวันนี้คือการทำนุบำรุงห้องสมุด การทำให้มันมีชีวิตชีวา การสร้างบรรณารักษ์ที่รักหนังสือและเข้าใจเด็ก เราอยู่ในยุคที่พ่อแม่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีคุณหมอ คุณครู ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็กมากมาย ทุกคนในชุมชนควรจะได้ช่วยกันเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด แทนที่จะรอให้ส่วนกลางเป็นคนเลือก

     จะเอาห้องสมุดไปตั้งในสวนสาธารณะแบบสวนลุมพินีก็ได้ คนมาออกกำลังกายก็แวะยืมหนังสือกลับไปอ่านได้ ลองคิดดูว่าถ้ามีห้องสมุดดีๆ ทั่วประเทศ ยอดขายหนังสือมันจะไปต่อได้อีกไกล สำนักพิมพ์ก็อยากแข่งกันทำหนังสือดีๆ ป้อนตลาด ต้นทุนการผลิตก็จะต่ำลง เราว่าทุกอย่างมันมีผลต่อกันและกัน

คุณเริ่มต้นทำหนังสือด้วยความอยากทำ แต่ถึงตอนนี้คุณมองว่าคาแรกเตอร์ของสำนักพิมพ์คืออะไร

     ในแง่ธุรกิจเราอาจจะไม่ได้คิดละเอียด แค่รู้สึกว่ามันเติบโตเรื่อยๆ แต่โมเมนต์ที่เราได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับคุณแม่ฝรั่งเศส เราก็คิดว่า ดีจัง เลี้ยงลูกชิลล์ขึ้นเยอะเลย ไม่ต้องมาพะวง แล้วเราก็มีชีวิตเป็นของตัวเองได้ด้วย เราอยากทำหนังสือที่ทำให้พ่อแม่มีความสุข ไม่ใช่หนังสือที่กดดันแม่มากเกินไป ทุกอย่างเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ อ่านแล้วเครียด

     ถ้าสรุปคีย์เวิร์ดสำคัญของสำนักพิมพ์เราก็คือ แม่ต้องมีความสุข ได้ใช้ชีวิตชิลล์ๆ เคารพลูกในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความคิดและความรู้สึกเป็นของตัวเอง คนอ่านต้องสนุก และเราก็ต้องสนุกที่จะทำด้วย เวลาที่ได้รับฟีดแบ็กจากแม่ๆ ในแง่ที่ว่า ซื้อนิทานที่เล่าถึงร้านขนมปัง แล้วเขากับลูกก็ลองทำขนมปังกัน เวลาโพสต์รูปกิจกรรมแล้วเขาแท็กเรามา เราดีใจที่หนังสือมันถูกต่อยอดไปอีก

ทำไมถึงใช้ชื่อ SandClock นอกจากเหตุผลเรื่องชื่อเล่นของคุณ

     อย่างที่บอกไป สำนักพิมพ์นี้มันเหมือนเป็นช่วงเวลาของเรา ทุกอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เปลี่ยนความสนใจไปตามกาลเวลา อนาคตเราอาจจะทำหนังสือที่พูดถึงการดูแลตัวเองในวัยชราก็ได้ มีคนบอกเราด้วยว่า โลโก้สำนักพิมพ์ต้องค่อยๆ เปลี่ยนด้วยนะ ให้ทรายจากด้านบนไหลลงมาด้านล่างมากขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งก็คงหมดเวลาของเรา